Warning: Cannot modify header information - headers already sent by (output started at /var/www/marshomme.com/wp-content/plugins/wp_mgr_id/wp_mgr_id.php:1) in /var/www/marshomme.com/wp-includes/feed-rss2.php on line 8
การเมือง – Marshomme https://marshomme.com Mon, 20 Jan 2020 11:31:58 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.2.20 https://marshomme.com/wp-content/uploads/2019/10/logo2_icon-90x90.png การเมือง – Marshomme https://marshomme.com 32 32 ‘เมซูต เออซิล’ อดีตนักเตะทีมชาติเยอรมัน กับวาทกรรมล้ำเส้นจีน https://marshomme.com/scoop/270799/ Fri, 10 Jan 2020 16:19:00 +0000
ถ้าจะเปรียบเทียบนักกีฬาไทยกับนักกีฬาตะวันตก น่าจะมีเรื่องของทัศนะและการแสดงตัวตนทาง ‘การเมือง’ นี่แหละที่เป็นข้อแตกต่าง แม้จะต้องผ่านด่านวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการ ‘บูลลี’ ที่สาหัส แต่นักกีฬาตะวันตกก็ถือเป็นความชัดเจนในการแสดงออกทางความคิด

เมซูต เออซิล อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมัน (ตั้งแต่รุ่นเยาวชน U19 ปี 2006 จนถึงกรกฎาคม 2018) เคยเลือกข้างและแสดงทัศนะเรื่องการเมืองบ่อยครั้ง ระหว่างเป็นนักเตะมีชื่อเสียงในทีมชาติเยอรมัน เช่นเมื่อปี 2012 เขาเคยตอบคำถามเกี่ยวกับสัญชาติและเชื้อชาติของตนเอง


“ทำไมเราต้องคิดกันแต่เรื่องพรมแดน เส้นแบ่งชนชาติด้วยล่ะ ผมอยากให้ทุกคนวัดกันที่ความสามารถของนักฟุตบอล ฟุตบอลเป็นกีฬาสากล ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรากเหง้าของตระกูลเลย” สำหรับตัวเขาเองนั้น เป็นลูกชายคนที่สองของครอบครัวชาวเติร์กที่มีพี่น้องสี่คน และมีพ่อเป็น ‘แรงงานรับเชิญ’ ของเยอรมนีตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1960s แม้จะถือกำเนิดที่เมืองเกลเซนเคียร์เชนของเยอรมนี แต่ก็ถือสัญชาติตุรกีมาตลอด จนกระทั่งอายุครบ 18 ปี เขาก็เลือกเอาดีบนเส้นทางอาชีพนักเตะด้วยการเปลี่ยนสัญชาติเป็นเยอรมนี และมีโอกาสได้เข้าร่วมทีมชาติ

เมซูตร่ำเรียนที่บ้านเกิดจนถึงเกรด 10 ก่อนจะผละจากการเรียนมาเป็นนักฟุตบอล มีไอดอลเป็นนักเตะทีมชาติฝรั่งเศส นั่นคือ ซิเนดีน ซิดาน ปกติเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชนแล้วเขามักเป็นคนประหม่าและขี้อาย

จากรีล แมดริด ถึงเอฟซี อาร์เซนอล

เมซูต เออซิลก้าวออกจากทีมแวร์เดอร์ เบรเมนในเยอรมนี ไปเป็นผู้เล่นของรีล แมดริดที่สเปนในเดือนสิงหาคม 2010 ด้วยราคาซื้อขายราว 600 ล้านบาท ร่วมเล่นเป็นตัวหลักของทีม ซึ่งมีคริสเตียโน โรนัลโดอยู่กองหน้า บุกทำประตู 121 ประตู ทุบสถิติของลีก ส่วนเมซูตนั้นก็ได้รับคำชมในฐานะกองกลางตัวชง

รีล แมดริดมีชัยในการแข่งขันฤดูกาล 32 ครั้งจาก 38 ครั้ง และเกือบสามปีกับทีมนี้ เมซูตลงสนาม 159 ครั้ง ทำประตูได้ 27 ประตู ก่อนตัดสินใจลาออกจากทีม


กันยายน 2013 เมซูต เออซิลตกปากรับข้อเสนอจากเอฟซี อาร์เซนอล และย้ายเข้าสังกัดในช่วงวันสุดท้าย ค่าตัวของเขาตามข่าวระบุว่าราว 2 พันล้านบาท นับเป็นราคาซื้อที่แพงที่สุดของเอฟซี อาร์เซนอล และเป็นราคาขายที่แพงที่สุดของรีล แมดริด

สัญญาระหว่างเมซูต เออซิลกับเอฟซี อาร์เซนอลจะสิ้นสุดลงในปี 2021


ความสัมพันธ์ระหว่างนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมนี กับประธานาธิบดีแห่งตุรกี

ภาพร่วมช็อตของประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน และเมซูต เออซิล ที่ปรากฏในสื่อเมื่อช่วงกลางปี 2018 แม้จะเป็นภาพธรรมดา แต่ในความเห็นของสาธารณชนกลับมองว่ามีนัยซ่อนเร้น

ประเด็นสำคัญของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ มันเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งในตุรกี ที่หลายฝ่ายมองว่าแอร์โดอันหาเสียงกับเออซิล เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากชาวเติร์กที่อยู่ในเยอรมนี

เมซูต เออซิลเก็บงำคำตอบของตนเองอยู่นาน ก่อนจะบอกเล่าความในใจผ่านทวิตเตอร์ (@MesutOzil1088) “ผมเข้าใจว่าบางทีในบางวัฒนธรรมอาจเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะผู้นำทางการเมืองกับตัวบุคคล แต่ในกรณีนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นจะออกมาอย่างไร ผมก็ถ่ายรูปนี้อยู่ดี”

หลังจากทีมชาติเยอรมนีตกรอบในเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียในปีนั้น เมซูต เออซิลก็ประสบกับมหกรรมการ ‘บูลลี’ ครั้งใหญ่ทั้งจากสื่อและโลกออนไลน์ เพียงเพราะเจ้าตัวเป็นคนให้ข่าวเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติในทีมและในชาติ


“ตอนที่ผมลุกจากเก้าอี้ในสนาม มีคนเยอรมันตะโกนไล่หลังผม ‘กลับไปประเทศของแกเลย เหี้ยเอ๊ย’ ‘แม่ง’ ‘ไอ้หมูเติร์กสกปรก’ อะไรพวกนี้” พร้อมกับตัดพ้อว่าเพื่อนร่วมทีมไม่ได้ยื่นมือเข้าปกป้องเขาเลยแม้สักคน

อีกภาพและข่าวของดาวเด่นสโมสรอาร์เซนอลกับประธานาธิบดีแห่งตุรกี เป็นภาพระหว่างพิธีแต่งงานระหว่างเมซูต เออซิล กับอามีน กึลเซ-นางแบบและนางงามมิสเวิลด์ ตุรกี ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมโฟร์ ซีซันส์ ในอิสตันบูล มีแขกเข้าร่วมกว่า 300 คน แต่กลับไม่มีมุสตาฟา เออซิล-พ่อของเจ้าบ่าวไปร่วมงาน

และภาพล่าสุดที่เมซูต เออซิลถ่ายร่วมกับแอร์โดอันปรากฏเป็นข่าวช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ครั้งนั้นเขาได้รับเชิญเป็นแขกร่วมโต๊ะรับประทานอาหารในวาระสิ้นสุดวันถือศีลรอมฎอน เมซูตเดินทางไปอิสตันบูลพร้อมกับภรรยา

“สำหรับผมแล้ว เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือการเลือกตั้ง แต่มันเป็นเรื่องการแสดงความเคารพต่อผู้นำประเทศของครอบครัวผม”


ประเด็นใหม่ กับวาทกรรมล้ำเส้นจีน

จากทวิตเตอร์ของเมซูต เออซิล ซึ่งมีฟอลโลเวอร์กว่า 24.5 ล้านบัญชี เขาได้โพสต์ข้อความเป็นภาษาเตอร์กิชที่สื่อแอบเหน็บแนมว่ามีความเป็นกวีและดราม่า กล่าวถึง “เสียงที่เงียบของพี่น้องชาวมุสลิม” ที่เขาเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเลิกคุกคามชนเผ่าอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงของจีน

หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนนำข้อเขียนของเมซูตมารายงานต่อว่า ผู้คุกคามพยายามจะแยกชาวมุสลิมออกจากความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา “มีการเผาคัมภีร์กุรอาน สั่งปิดมัสยิด ปิดโรงเรียน จับผู้ชายที่เคร่งศาสนาไปกักขัง และบังคับให้ผู้หญิงมุสลิมแต่งงานอยู่กินกับชายชาวจีน ทุกวันนี้ชาวมุสลิมต้องนิ่งเงียบ ไม่ส่งเสียง ทั้งที่กำลังถูกทอดทิ้งให้ทุกข์ทรมาน”

เว็บไซต์ Dongqiudi ที่เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลของจีน ออกมาตอบโต้ความเห็นของเมซูต “อิสรภาพทางความคิดเห็นย่อมต้องมีขอบเขต และควรจะให้ความเคารพต่ออธิปไตยของแต่ละชาติในโลก” ข้อความที่นักฟุตบอลวัย 31 ปีผู้นี้โพสต์ลงสื่อโซเซียลนับว่าเป็นการทำร้ายความรู้สึกของชาวจีน และถือเป็นการสร้าง ‘ข่าวปลอม’


เอฟซี อาร์เซนอลไม่เออออห่อหมก

Özil Tieba เว็บไซต์แฟนคลับของเมซูต เออซิลในจีน ออกมาแสดงจุดยืนเช่นกันว่า “เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ของชาติแล้ว งานอดิเรกส่วนตัวถือว่าไม่สำคัญ”

ส่วนเอฟซี อาร์เซนอล ต้นสังกัดของเมซูต แสดงความเห็นออกตัวว่า “ทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวของเออซิล ในฐานะสโมสรฟุตบอล อาร์เซนอลยึดกฎระเบียบที่จะไม่ไปก้าวก่ายเรื่องทางการเมือง”

สำหรับสโมสรแล้ว ประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่และสำคัญ มีชาวจีนกว่า 5 ล้านคนเป็นแฟนของเอฟซี อาร์เซนอล จึงเกิดความหวั่นเกรงว่าอาจถูกรัฐบาลจีนตอบโต้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับทีมบาสเก็ตบอล ร็อกเก็ต ที่นักเล่น-ดารีล มอรีย์ ออกมาแสดงจุดยืนเข้าข้างกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง ทำให้มีปัญหากับสปอนเซอร์ในจีน อีกทั้ง CCTV ของรัฐก็มีมาตรการลงโทษด้วยการหยุดเผยแพร่การถ่ายทอดการแข่งขัน NBA


ปฏิกิริยาเอาตัวออกห่างจากเมซูตของอาร์เซนอล เป็นเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ สโมสรอาร์เซนอลในจีนมีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนเยอะมาก ในจำนวนนั้นรวมถึงเครือร้านอาหาร

และลมตีกลับจากฝ่ายจีนเริ่มปรากฏชัดขึ้น เมื่อ CCTV ได้ถอดโปรแกรมถ่ายทอดสดแมตช์การแข่งขันระหว่างเอฟซี อาร์เซนอล กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ออกไป โดยไม่ชี้แจงเหตุผล ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่จะมีตามมาหรือไม่นั้น ยังไม่มีสื่อไหนรายงาน

ด้านเมซูต เออซิล เจ้าของวาทกรรมล้ำเส้นจีนนั้น ถูกสื่อของเยอรมนีย้อนถาม ว่าทำไมประธานาธิบดีคนโปรดของเขาถึงนิ่งเงียบจนผิดสังเกต ต่อกรณีชาวอุยกูร์-พี่น้องร่วมศาสนาในจีน

และเป็นไปได้หรือไม่ว่า เหตุเพราะจีนกำลังวางแผนลงทุนโปรเจ็กต์ ‘ถนนสายไหม’ ที่ตุรกีก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ผลประโยชน์?


เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์

]]>
‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ กับสองทศวรรษบนบัลลังก์อำนาจ https://marshomme.com/scoop/953/ Fri, 06 Sep 2019 16:59:00 +0000
สองเส้นทางนำไปสู่การเมือง ทางหนึ่งเริ่มต้นจากข้างล่าง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาในท้องถิ่น สะสมความไว้วางใจและประสบการณ์ จากนั้นค่อยๆ ก้าวขึ้นไปจับประเด็นใหญ่ และในตำแหน่งที่สูงขึ้น หนทางนี้ดูเหมือนจะเป็นวิถีคลาสสิก ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลในกรุงมอสโกกำลังพยายามใช้เป็นแนวทาง และพวกเขาประสบความสำเร็จได้เมื่อสองปีก่อน โดยกวาดคะแนนเสียงในเขตเมืองต่างๆ เพื่อเป็นบันไดก้าวสู่สภาของเมือง จากตรงนั้นเหลือเพียงอีกก้าวเดียวก็สามารถเข้าสู่สภาของชาติได้แล้ว

เส้นทางที่สองไม่ได้เริ่มจากเบื้องล่าง แต่เริ่มจากข้างบน ด้วยระบบเส้นสาย เหมือนเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว วันที่ 9 สิงหาคม 1999 ตอนที่บอริส เยลต์ซินประกาศผ่านรายการถ่ายทอดสดทางทีวี แต่งตั้งวลาดิเมียร์ ปูตินขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของรัสเซีย ตราบถึงทุกวันนี้อดีตหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับยังคงเป็นที่ไว้วางใจของเยลต์ซินไม่เปลี่ยนแปลง

ข่าวตอนนั้นสร้างความตระหนกให้กับชาวรัสเซียนไม่น้อยทีเดียว แทบทุกคนรู้จักชื่อของปูติน เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย และผู้อำนวยการหน่วยราชการลับภายในประเทศ (FSB) เป็นคนมีอำนาจ แต่น้อยคนจะรู้จักตัวตนจริงๆ เขา อาชีพการงานของเขาในหน่วยงานราชการลับไม่เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน เป็นที่เปิดเผยก็เพียงว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในปีเตอร์สเบิร์กและมอสโก คลุกคลีอยู่กับงานฝ่ายความมั่นคง เขาเป็นทุกอย่าง ยกเว้นนักการเมือง แล้วจู่ๆ ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินก็คว้าตัวเขามารับตำแหน่งสำคัญเพื่อสืบทอดแทนตน

แต่หากมองย้อนกลับไป เส้นทางการก้าวสู่จุดอำนาจสูงสุดของปูตินดูคล้ายจะเป็นกระบวนการเฟ้นหา ปูทางไว้ล่วงหน้า กลุ่มผู้มีอำนาจรอบตัวของเยลต์ซินที่ป่วยกระเสาะกระแสะในตอนนั้น มองหาผู้สืบทอดอำนาจที่อยู่ในกรอบและไม่ก้าวก่ายพวกตน ปูตินเป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้น เพราะอย่างน้อยก็เป็นที่ประจักษ์ว่าเขามีความจงรักภักดี อย่างอื่นที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสื่อในสังกัดและผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของพรรค จากนั้นก็สร้างภาพให้ปูตินเป็น ‘ผู้นำที่แข็งแกร่ง’ ในพรรครัฐบาล

การก้าวขึ้นมาเป็นนักการเมืองคนใหม่ของวลาดิเมียร์ ปูตินนั้นมีสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศช่วยหนุน-สองวันก่อนหน้าที่เยลต์ซินจะประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ กลุ่มนักรบอิสลามจากสาธารณรัฐเชเชน (เชชเนีย) ได้บุกโจมตีดาเกสถาน-สาธารณรัฐเพื่อนบ้านในภูมิภาคคอเคซัสเหนือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเชเชนครั้งที่สอง ที่จบลงพร้อมกับการยึดครองเมืองหลวงกรอซนืยสำหรับมอสโก นอกจากนั้นยังมีการวางระเบิดก่อความไม่สงบในประเทศอีกเป็นระลอก

กระทั่งในวันสิ้นปี 1999 ที่บอริส เยลต์ซินประกาศลงจากตำแหน่ง และแต่งตั้งวลาดิเมียร์ ปูตินเป็นผู้สืบทอดนั้น คะแนนความนิยมของปูตินก็ดีขึ้นตามลำดับ จาก 31 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคม 1999 พุ่งสูงถึง 84 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมกราคม 2000 ส่งผลให้การลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในเดือนมีนาคม 2000 แทบปราศจากคู่แข่ง

ทว่าแววความสำเร็จของวลาดิเมียร์ ปูตินในทางการเมืองยุคเริ่มต้นนั้นยังไม่แจ่มจรัส ปี 1999 ยังมีคู่แข่งในทางการเมืองและสื่อ เครมลินยังไม่สามารถยึดครองพื้นที่ทางการเมืองได้แบบเบ็ดเสร็จ ในช่วงนั้นศัตรูทางการเมืองรายสำคัญของทีมเยลต์ซินคือ นายกรัฐมนตรีเยฟกินี พริมาคอฟ และพรรคคอมมิวนิสต์

หลังจาก ‘ระบอบปูติน’ ผ่านมาสองทศวรรษ ทุกอย่างเปลี่ยนไป พื้นที่ทางการเมืองถูกปัดกวาด ควบคุม และแทบไม่มีพื้นที่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่เหยียบย่างลงสนาม เพราะเครมลินได้เข้ามาแทนที่การแข่งขันทางการเมืองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยการเลียนแบบ โดยมีปูตินเป็นผู้ควบคุมเกม ใครที่ก่อนเคยนึกภาพไม่ออกว่าผู้ชายคนนี้เข้ามาสู่เส้นทางการเมืองได้อย่างไร ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า ไม่มีใครนึกภาพออกว่าหากปราศจากปูตินแล้วจะเป็นอย่างไร และแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปูตินให้นึกเห็นภาพ

แต่ปูตินก็ยังต้องร่วงโรยตามวัย ปีหน้าเขาจะครบ 68 ปี เท่ากับเยลต์ซินตอนที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และถึงแม้ว่าปูตินจะแข็งแรง สุขภาพดีกว่าประมุขคนก่อนหน้า แต่อย่างช้าที่สุดเขาก็ต้องวางมือ ถอดตำแหน่งภายในปี 2024 หากปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นใครจะมาเป็นผู้สืบทอดแทนเขา จะหาใครสักคนเหมือนเขาตอนที่เยลต์ซินเฟ้นหาหรือไม่

หรืออาจจะเป็นฝันร้ายสำหรับเครมลิน หากผู้สืบทอดคนนั้นจะเป็นนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ที่ทำงานไต่เต้าขึ้นมาจากข้างล่าง ได้รับคะแนนสนับสนุนจากประชาชน และเป็นคนนอกรัศมีความไว้เนื้อเชื่อใจของเครมลิน

เหมือนเช่นทุกวันนี้ที่นักการเมืองฝ่ายค้านกำลังรุกคืบ สร้างฐานกำลังขึ้นในกรุงมอสโก แม้การเลือกตั้งเขตย่อยจะมีเครมลินเป็นผู้คุมเกม แต่ก็ไม่วายถูกคนรุ่นใหม่จากพรรคฝ่ายค้านเก็บโกยคะแนนเสียงไปได้

“ประธานาธิบดีเข้มแข็ง ประเทศก็เข้มแข็ง” เคยเป็นคำขวัญติดปากของปูติน ทว่ายามนี้เขาคงรู้สึกคล้ายคนทำสวน ที่เฝ้าถนอมรักษาสนามหญ้าให้สดเขียว ฉ่ำชื่นตามานานกว่า 20 ปี บัดนี้เขาต้องมาหงุดหงิด หัวเสียกับการเมืองวัชพืชของคนรุ่นใหม่ในชุดอัศวินขี่ม้าขาว เข้ามาจ้องทำลายผลงานสร้างของเขา

การกำจัดวัชพืชไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ

เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์

]]>
ตำแหน่งใหม่ และแฟนคนใหม่วัยอ่อนกว่า 24 ปีของ ‘บอริส จอห์นสัน’ https://marshomme.com/scoop/957/ Fri, 09 Aug 2019 11:20:00 +0000
ช่วงสัปดาห์ปลายเดือนที่ผ่านมา โชเฟอร์ขับรถจากัวร์คันสีเงินพาบอริส จอห์นสัน พร้อมขบวนนำของสก็อตแลนด์ ยาร์ดมุ่งหน้าสู่พระราชวังบัคกิงแฮม โดยมีสื่อมวลชนบนเฮลิคอปเตอร์คอยบันทึกภาพถ่ายทอดให้ผู้ชมเฝ้าติดตามกันในสำนักงาน ห้องนั่งเล่นในบ้าน หรือตามคาเฟ่แบบสดๆ

บอริส จอห์นสันเข้าพบสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อรับการประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร

ณ จุดนี้ นับว่าความฝันของเขาบรรลุเป้าเรียบร้อยแล้ว – ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กน้อย คำถามประเภท “โตขึ้นแล้วอยากเป็นอะไร” ตอนนั้นเขาให้คำตอบว่า “พระราชาของโลก” ก็นับตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วละที่เขาฉายแววเป็นคนกระหายอยากในอำนาจ มักใหญ่ใฝ่สูง และมีความทะเยอทะยาน อย่างน้อยตำแหน่งใหม่ในฐานะผู้นำรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรก็เติมเต็มความฝันวัยเด็กได้เกินกว่าครึ่งแล้ว

ระหว่างการเขียนผิดและการโกหก

บอริส จอห์นสัน บุตรชายของครอบครัวฐานะมั่งคั่ง มีโอกาสได้ร่ำเรียนในโรงเรียนชั้นนำ ตั้งแต่อีตันจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จากนั้นก็เริ่มงานอาชีพนักหนังสือพิมพ์ ครอบครัวฝากฝังให้ไปทำงานกับ The Times หนังสือพิมพ์แถวหน้าของอังกฤษ แต่เขาก็รักษาตำแหน่งงานไว้ได้แค่ผ่านพ้นปี เพราะเขียนคำกล่าวอ้างผิดๆ ลงในบทความของตนเอง

ปีต่อมาจอห์นสันได้เป็นคอลัมนิสต์ของ Daily Telegraph จากนั้นเดินทางไปทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวที่กรุงบรัสเซลส์ และเริ่มกลายเป็นที่รู้จักของใครๆ ในสภาอียูว่าเป็นนักข่าวที่ชอบเขียนเรื่องโกหก แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานที่เทเลกราฟก็พูดเรื่องโกหกกับเขาเป็นประจำ อย่างเช่น จอห์นสันปรักปรำสหภาพยุโรปว่าเริ่มดำเนินการให้มี ‘ตำรวจกล้วย’ ออกกฎหมายห้ามผลิตชิพรสกุ้ง หรือคณะกรรมาธิการมีแผนสร้างหอคอยบาเบลความสูง 3 กิโลเมตรสำหรับเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป… ทั้งหมดนั้นล้วนไม่จริง แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมของอังกฤษก็ยังปักใจเชื่อ

แม้จะเขียนข่าวเท็จหลายต่อหลายเรื่อง แต่กลับไม่มีผลกระทบอะไรกับงานอาชีพของเขา ปี 1994 จอห์นสันได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าคอลัมนิสต์สายการเมืองของ Daily Telegraph

ต้นปี 2000 ขณะจอห์นสันอายุ 35 เขาได้รับข้อเสนอตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร The Spectator ในช่วงเวลานั้นเองที่เขาเริ่มมีบทบาททางการเมือง และรู้สึกตัวในขณะนั้นเองว่า เขาอยากเป็นนักการเมืองมากกว่านักข่าว เมื่อแรงจูงใจมีเพิ่มมากขึ้น วันหนึ่งเขาก็ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนในสังกัดพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากลอนดอนเปรียบเสมือนฐานที่มั่นของพรรคแรงงาน-พรรคใหญ่อันดับสองของอังกฤษ ที่ผูกขาดตำแหน่งนายกเทศมนตรีมายาวนาน ทว่าจอห์นสันก็ทำได้สำเร็จอย่างเหลือเชื่อ

ช่วงปีทอง

ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ระหว่างปี 2008-2016 น่าจะถือเป็น ‘ปีทอง’ ของบอริส จอห์นสัน แต่ระหว่างที่เป็นพ่อเมืองนั้นเขายังคงฟุ่มเฟือยด้วยคำพูดที่ยิ่งใหญ่และทำการเมืองเชิงสัญลักษณ์มากมาย เช่นให้การสนับสนุนโครงการใหญ่มูลค่านับล้านอย่างเคเบิลคาร์เหนือแม่น้ำเทมส์ที่ไร้ประโยชน์ หรือสะพานในสวนที่ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้ก่อสร้าง

ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเขามักผิดนัดบ่อยครั้ง คำสัญญาว่าจะสร้างที่อยู่อาศัยเป็นสังคมสงเคราะห์ก็ไม่เกิดขึ้นจริง นอกจากนั้นเขายังกล่าวเท็จเรื่องสถิติอาชญากรรมในวัยรุ่นว่ามีปริมาณลดลง ทั้งที่ความจริงแล้วเพิ่มสูงขึ้น เขาเน้นย้ำว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสอดส่องทั่วกรุงลอนดอนมากขึ้น แต่จำนวนเจ้าหน้าที่กลับลดน้อยลง

เมื่อพ้นตำแหน่งนายกเทศมนตรี จอห์นสันได้ที่ทางใหม่ในรัฐสภาอังกฤษ และผันตัวเองเข้าไปอยู่ในฝ่ายสนับสนุน Brexit

ปี 2016 จอห์นสันได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ

บอริสติดดิน เอื้อมถึง สัมผัสได้

ทำไมบอริส จอห์นสันกลายเป็นที่รักใคร่ของชาวอังกฤษ ทั้งๆ ที่ประวัติของเขาดูด่างพร้อย เป็นคนมีเงื่อนงำ ชอบโป้ปด

ชาวลอนดอนเคยรักใคร่เมื่อครั้งเขาเป็นนายกเทศมนตรี นั่นเพราะเขามักมีเรื่องราวดีๆ นำเสนอผ่านวิทยุและโทรทัศน์สม่ำเสมอ หรืออาจเพราะ ‘บอริส ไบค์’ จักรยานสำหรับประชาชนยืมใช้ที่พร้อมให้บริการแทบทุกหัวมุมถนน หรือเพราะเขาเคยไปร่วมรายการรถโชว์ Top Gear กับเจเรมี คลาร์กสัน-พิธีกรคนดัง แล้วพูดจาได้น่าฟังแถมยังตลก หรืออาจจะเป็นเพราะความตรงไปตรงมา ความบูดบึ้ง ความมีเสน่ห์ หรือผมทรงไม้กวาดของเขา เวลาบอริส จอห์นสันพูด คล้ายกับว่าเขากำลังเขย่าต้นไม้ใหญ่ และผู้ฟังคล้ายจะล้มฟุบได้โดยไม่รู้ตัว

จอห์นสันเป็นคนมีคาแรกเตอร์ ที่ชาวอังกฤษเรียกแค่ชื่อ ‘บอริส’ อย่างนิยมชมชอบ เขาดูเป็นคนติดดินธรรมดาๆ ที่เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วกลายเป็นนักการเมืองที่แปลก มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากนายกรัฐมนตรีคนเก่าๆ ของอังกฤษ

และเพราะแรงดึงดูดใจในแบบของเขานี่เอง ที่ทำให้ผู้คนพากันลืมความผิดพลาดของเขา และพร้อมยกประโยชน์ให้เขา


ชีวิตส่วนตัวที่ยังไม่ลงตัว

นอกจากเรื่องราวทางการเมืองแล้ว บอริส จอห์นสันยังมีเรื่องราวชีวิตส่วนตัวเป็นประเด็นให้นักข่าวสายกอสสิปได้เกาะติดอีกด้วย

จอห์นสันแต่งงานครั้งแรกเมื่อปี 1987 กับอัลเลกรา มอสทีน-โอเวน แล้วหย่าร้างกันเมื่อปี 1993 ในปีเดียวกันนั้นเขาแต่งงานใหม่อีกหนกับทนายความ-มารินา วีเลอร์ และมีทายาทด้วยกันสี่คน บุตรชายสอง-บุตรสาวสอง

ปี 2009 เฮเลน แม็คอินไทร์ ให้กำเนิดบุตรสาวชื่อสเตฟานี แล้วมีข่าวซุบซิบหลุดออกมาว่า พ่อของเด็กคือบอริส จอห์นสัน ที่ครั้งนั้นยังครองสภาพแต่งงานกับวีเลอร์อยู่ ข่าวยังล้วงลึกอีกว่า จอห์นสันน่าจะยังมีบุตรนอกสมรสเพิ่มเติมอีกคนหนึ่งด้วย

เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 จอห์นสันและวีเลอร์กลายเป็นข่าวอีกครั้งว่า พวกเขาแยกทางกันแล้ว และจะหย่าร้างกันอย่างเป็นทางการ

ล่าสุดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จอห์นสันเริ่มสัมพันธ์รักใหม่กับแคร์รี ซีมอนด์ส-ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง เวลาที่จอห์นสันตอบคำถามสื่อเรื่องการพบรักกับแฟนใหม่ เขาให้คำตอบที่วิจารณ์ตนเองไปในตัว “ผมใช้เวลาครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเอง กับการคุยกับใบหน้าตัวเอง”

เธอเป็นหญิงงาม วัยอ่อนกว่าเขา 24 ปี แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา และหากว่าเรื่องราวการหย่าร้างกับภริยาคนเก่าเสร็จสิ้นแล้ว บุคคลทั้งสองก็สามารถเข้าพิธีแต่งงานได้

และพร้อมจะเข้าไปใช้ชีวิตคู่อยู่ที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง สตรีท

เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์

]]>
“การเมืองที่ชูบุคคลเป็นเทพเจ้าควรจบได้แล้ว!” คุยกับนักการเมืองรุ่นใหม่ ‘เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์’ https://marshomme.com/interview/1112/ Fri, 28 Sep 2018 10:43:00 +0000
เหมือนกับคนจำนวนมาก แม้จะเป็นลูกนักการเมืองมีชื่อผู้คร่ำหวอดในวงการอย่าง ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ ทว่าชายหนุ่มวัย 29 ปีชื่อ ‘เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์’ ก็เคยมองแบบไร้เดียงสาว่า ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ คือส่วนกลาง และไม่เคยมองเห็นความเหลื่อมล้ำที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

7 ปีในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะย้ายมาอยู่อาศัยในอีกซีกโลกที่ต่างกันสุดขั้วทั้งด้านภูมิศาสตร์และการปกครองอย่างจีน ชายหนุ่มค่อยๆ สะสมคำถาม จดเก็บ บันทึกมันลงเงียบๆ ไว้ภายใน แล้วระเบิดออกมาเป็นแรงขับด้วยหวังจะเปลี่ยนแปลงประเทศของตัวเองหลังกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ประมาณ 2-3 ปี

“ผมเป็นแค่หนึ่งในตัวประกอบของนโยบาย เป็นคนที่หมุนไปตามวงจรเหล่านี้เท่านั้น แต่ถ้าผมอยากเปลี่ยนแปลงอะไร ผมจะไม่สามารถกำหนดทิศทางได้เลย”

นั่นเองที่เมื่อมีโอกาส เขาก็ตัดสินใจกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองตามรอยผู้เป็นพ่อ ในฐานะทีมโฆษกของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในยุคที่ภูมิทัศน์การเมืองไทยหลังการปกครองโดยคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งยืดเยื้อยาวนานมามากกว่า 4 ปี กำลังเต็มไปด้วยการก้าวเข้ามาของ ‘คนรุ่นใหม่’

วังวนน้ำเน่าของผู้มาก่อน ของการโดนกลั่นแกล้งหยามเหยียดและตัดสินจากการที่เห็นแค่นามสกุล เขตรัฐเคยเจอมาแล้ว และบนคำถามที่ว่า กับแค่คำว่ารุ่นใหม่มันจะเป็นอะไรได้มากกว่าการเป็นแค่กิมมิกและไก่อ่อน เขตรัฐก็บอกว่า ถึงเขาจะเป็นไก่อ่อน แต่เขาก็เป็นไก่อ่อนที่มาพร้อมฝูงไก่อ่อนตัวอื่น และพร้อมท้าชนทุกสถาบัน

ทำไมอยู่ ๆ คุณถึงกระโจนเข้าสู่สนามการเมือง

เมื่อก่อนผมเป็นคนหนึ่งที่มองว่า ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ คืออำเภอเมือง ผมมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำ แต่ผมมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย พอได้ไปทำงานวิจัย มันทำให้เราได้เห็นพื้นที่บางพื้นที่ ซึ่งนักเรียนบางคนไม่มีรองเท้าใส่ไปเรียน นักเรียนบางคนต้องปะกางเกง ครูต้องขึ้นเขาไปสอนใช้เวลา 3 ชั่วโมง โรงเรียนมีครูแค่ 3 คน ผมไปเห็นอะไรแบบนี้แล้วมันสะอึก นอกจากนั้นไม่พอผมยังได้เห็นปัญหาในระบบการศึกษาอีกเยอะมาก ซึ่งในฐานะอาจารย์ โอกาสที่เราจะเข้าไปแก้ไขตรงนั้นก็จะมีแค่การเข้าไปถกในวงวิชาการ ถกกันเยอะมาก ใช้ทฤษฎีถกกันว่าควรทำอย่างไร สิ่งไหนที่ถูกที่ดี แล้วมันเป็นวงจร วิ่งวนไปวนมาเป็นวงกลม ไม่ไปไหนเหมือนเดิม ซึ่งปัญหาสุดท้าย ทุกคนก็รู้ว่าอยู่ที่ระบบ ถ้าไม่อยู่ที่ระบบก็ชี้กันไปมาว่า อยู่ที่ฝ่ายรัฐ ฝ่ายราชการ การศึกษาอยู่ที่บุคลากร คือชี้นิ้วกันไปมา แล้วมันไม่จบ ซึ่งมันทำให้ผมพบว่า ผมเป็นแค่หนึ่งในตัวประกอบของนโยบาย เป็นคนที่หมุนไปตามวงจรเหล่านี้เท่านั้น แต่ถ้าผมอยากเปลี่ยนแปลงอะไร ผมจะไม่สามารถกำหนดทิศทางได้เลย ผมเลยตัดสินใจลุกออกมา และเข้าสู่งานการเมือง ซึ่งกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ปัญหาสำคัญที่คุณอยากเปลี่ยนแปลงในเรื่องการศึกษาคืออะไร

การศึกษาของเรา เราอาจจะยังเข้าใจผิดในหลายๆ อย่าง เช่น วิชาคณิตศาสตร์ เราให้ท่องสูตรคูณ แต่จริงๆ แล้วคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มันควรจะติดทักษะการคิดอย่างเป็นระบบและเหตุผลให้เรา ประวัติศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ก็เช่นกัน เราควรจะอ่านแล้วนำมาวิเคราะห์ ไม่ใช่อ่านทื่อๆ แล้วคิดว่านั่นคือความเป็นจริง การศึกษาของเราตอนนี้คือกลไกเหล่านี้มันหายไป กลายเป็นว่าทักษะที่ควรจะได้มาแต่ละรายวิชามันไม่ติดออกมา มันได้แค่สิ่งที่เราท่องจำเวลาอ่าน แล้วคิดว่านั่นคือความรู้ ความจริง ยึดตรงนั้นเป็นหลักว่ามันคือโลก ผมเลยคิดว่าจริงๆ แล้วการที่ทักษะพวกนี้มันหายไปปัญหาก็คือระบบการศึกษา กลายเป็นว่าเรื่องของทักษะกลับอยู่ในโรงเรียนอาชีวศึกษา ในโรงเรียนเกษตร เป็นวิชาช่างที่ใช้หาเลี้ยงชีพ ผมเลยมองว่าตรงนี้มันน่าสนใจที่เราจะชูมันขึ้นมาในระดับหนึ่ง

ในภาวะที่ประเทศถูกแช่แข็งทางการเมืองด้วยรัฐประหารมากว่าสี่ปี คุณมองเห็นปัญหาอะไรบ้าง

เห็นสิครับ (หัวเราะ) คือหลักๆ เลยมันทำให้กระแสการโฟกัสของคนเปลี่ยน ด้วยความขัดแย้งที่ผ่านมา มันมืดไปหมด มันทำให้คนหนีจากการเมืองไปพอสมควร คนหลายคนหันหลัง มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ข่าวสารการเมืองที่เมื่อก่อนเป็นข่าวที่ขายดีดันขายไม่ออกกับคนรุ่นใหม่ กลับกลายเป็นว่ามันเป็นเรื่องที่เขารังเกียจ คำว่านักการเมือง มันกลายเป็นลบไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะพูดหรือจะเสนออะไรก็ตาม เขาจะไม่รับ เขาไปติดตามอย่างอื่นที่มันสบายสมองเขามากกว่า ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่นะ เพราะจริงๆ แล้ว เราในฐานะประชาชน เราควรใส่ใจเรื่องนี้ เพราะมันเป็นเรื่องของเรา ผมรู้สึกว่านี่คือปัญหาที่ผมต้องเข้ามาช่วยในระดับหนึ่งด้วยการสร้างพื้นที่ให้คนที่เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่ได้รับผลกระทบกับความขัดแย้งเข้ามาช่วยกัน

ในแง่ของโครงสร้างทางการบริหารประเทศที่คล้ายจะโดนคณะรัฐประหารริบไปล่ะ

ผมไม่ใช่คนความจำสั้น ผมยังจำได้ดีในวันที่เขาจะยิงกันอยู่แล้ว ผมยังจำได้ว่าประเทศต้องถูกแช่แข็งเพราะอะไร มันก็เพราะเราทะเลาะกัน เพราะเราไม่ฟังกันแล้ว ณ วินาทีนั้น เราพร้อมที่จะฆ่ากัน การแช่แข็งนี้ผมมองว่าเป็นกรรมการเข้ามาหยุดความขัดแย้งให้มันหายไป แต่พวกเราก็ลืม ให้ผมเทียบ เหมือนเด็กสองคนต่อยกัน แล้วมีกรรมการมาห้าม กรรมการก็จับแยก ทำไปทำมาสักพัก ไอ้เด็กนี่จะต่อยกรรมการแทน

แล้วพอถึงจุดนี้ทำไมเราถึงต้องมีการเลือกตั้ง

ผมมองว่าถึงจุดหนึ่งมันต้องมีขอบเขตสำหรับสิทธิเสรีภาพของประชาชน คนไทยส่วนใหญ่เขาอยากแสดงออกถึงความคิดของเขา แล้วในภาวะที่ถูกแช่แข็ง เขาทำได้ยาก การที่เราจะทำงานนโยบายที่จะขับเคลื่อนประเทศ เราไม่สามารถให้คนแค่กลุ่มหนึ่งมาทำเท่านั้น แล้วประชาธิปไตยจริงๆ มันก็ต้องฟังเสียงข้างน้อยด้วยนะ เช่น ที่สหรัฐอเมริกา มีเดโมแครตกับรีพับลิกัน มีฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่เมื่อถึงเวลา ถ้ามีนโยบายที่มันโดน ฝ่ายค้านเขาก็จะช่วยสนับสนุนเหมือนกัน แต่กลับมาที่ไทย ช่วงก่อนที่เราจะฟัดกันแหลกเนี่ย ไม่ว่านโยบายจะดีแค่ไหน เราไม่สนใดๆ ทั้งสิ้น เราตั้งป้อมที่จะทะเลาะกันอย่างเดียว และคนที่เสียผลประโยชน์คือประชาชน ดังนั้น ทำไมต้องมีการเลือกตั้ง เพราะตอนนี้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเท่าที่ควร การที่เราเปิดให้มีการเลือกตั้ง มันคือจุดแรกที่เราจะได้ฟังเสียงของประชาชน

กลัวไหมว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งอีกครั้ง

ถ้ามัวแต่กลัวเราก็จะไม่ได้ทำอะไร คือมันจะวนเป็นลูปเดิม ทีนี้เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านั้น และเราต้องมองให้เห็นว่า ณ ตอนนี้ ถ้ายังขัดแย้งต่อเราจะไม่ไปไหน เราต้องเปิดใจให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาใจเราบอดกันพอสมควรเหมือนกัน

พอมีหนทางที่เป็นรูปธรรมไหม

คนส่วนใหญ่เขาไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งนะครับ คนส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่คนส่วนใหญ่ก็อยู่นิ่งๆ และปล่อยให้ความขัดแย้งมันเกิด ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากทำคือการสื่อสารกับพลังเงียบเหล่านั้นว่า คุณต้องเข้ามาช่วยกัน คุณต้องแสดงให้เขาเห็นว่า พวกคุณนี่แหละที่จะหยุดความขัดแย้งเหล่านี้ แต่ถ้าถามว่ารูปธรรมคืออะไร มันก็ต้องเริ่มต้นด้วยการลงมือทำ ต้องก้าวออกมา และสิ่งที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยกำลังทำคือการทำให้สมาชิกพรรครู้สึกเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง

ในภูมิทัศน์การเมืองไทยตอนนี้ แต่ละพรรคที่เปิดตัวไปแล้วได้มีการนำเรื่องของ ‘คนรุ่นใหม่’ มาเป็นตัวชูโรงพอสมควร มันเกิดอะไรขึ้น

มองไปที่โครงสร้างสังคมนะครับ ดูที่เจเนอเรชั่นอย่างเบบี้บูมเมอร์รุ่นก่อนๆ ตอนนี้คนพวกนั้นก็อายุเยอะกันมากแล้วนะครับ (หัวเราะ) และถ้าผมจำไม่ผิด อีก 2-3 ปี เรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แปลว่า 2 ใน 6 ของประชากรจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่ตามเกณฑ์คือ 65 ปี แต่ช่องว่างที่ดึงเราออกจากกันมันเยอะมาก กลายเป็นในช่วงที่เราขัดแย้งกันสิบปี มันทำให้แทบจะไม่มีบุคลากรใหม่ๆ เข้าไปในวงการการเมืองเลย มีแต่คนกลุ่มเดิมที่มีอายุที่ยังอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น และยังคงฟัดกันแบบนั้นต่อไป ดังนั้น ช่วงนี้มันเป็นช่วงที่มันเปิด และด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ปิดช่องให้คนที่เคยมีคดีต่างๆ เช่น เคยทุจริต มีคดีอาญา ถูกฟ้อง ไม่สามารถเข้ามาได้ ตรงส่วนนี้แหละครับที่คอยกรองบุคลากรเก่าๆ ที่เคยทำความผิดเอาไว้ไม่ให้เข้ามา ทำให้มันเปิดช่องว่างให้แก่คนรุ่นใหม่ที่อยากทำประโยชน์ให้ส่วนรวมได้เข้ามา

ด้วยอายุที่ยังไม่ถึง 30 ปี คุณคงเป็นคนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการถูกปรามาสว่าเป็นไก่อ่อนทางการเมืองไม่ได้

จะปรามาสก็ปรามาสได้นะครับ ผมก็ไม่ปฏิเสธนะ (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่า มันควรจะจบได้แล้วกับการทำการเมืองที่ชูบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมาเป็นเทพเจ้า ตามความเป็นจริงมันไม่มีใครคนใดเป็นเทพเจ้าหรอก ไม่มีใครรู้หมดทุกสิ่ง ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากจะชูคือ ชูความมีส่วนร่วม ชูความเป็นทีม ชูคนจริงๆ เลิกได้แล้วกับการชูเขตรัฐให้ขึ้นมา และเขตรัฐต้องเป็นนักการเมืองที่เก่งที่สุด ทำได้ทุกอย่าง เพราะมันไม่ใช่ความเป็นจริง เรื่องจริงคือผมมีทีม ผมก็จะยกทีมของผมขึ้นมา คุณปรามาสผมได้ แต่ผมมาเป็นทีม ไก่อ่อนมันอาจจะอ่อน แต่ถ้ามันมาหลายตัวมันก็พร้อมจิกนะครับ

การขาดประสบการณ์ไม่ใช่จุดอ่อน?

การขาดประสบการณ์อาจจะเป็นจุดแข็งก็ได้นะครับ ดาบมีสองคม คนที่มีประสบการณ์มากอาจมาพร้อมอีโก้ก็ได้ เขาอาจจะไม่พร้อมรับฟังใคร เพราะมาพร้อมอคติที่เยอะมาก แต่ผมมาแบบใสๆ เลยนะ (หัวเราะ) ผมพร้อมจะรับฟัง มาพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว มาพร้อมที่จะปรับตัวตามสภาพใหม่ ผมมองว่าเป็นจุดแข็งด้วยซ้ำ

กลัวไหมว่า คำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ จะเป็นแค่กิมมิกที่ไม่สามารถส่งผลใดๆ ก็ตามในเชิงปฏิบัติ

ผมรู้ตัวดีว่าผมทำงานหนักขนาดไหนในการทำการบ้าน ในการพูดคุยกับคนเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเข้าไป คนอื่นผมไม่รู้ แต่สำหรับผม ผมไม่กลัวเลย ในส่วนของพรรครวมพลังประชาชาติไทย เราก็กำลังจะเปิดสโมสรเยาวชน ซึ่งผมเป็นประธานคณะกรรมการทำงาน ที่จะเปิดพื้นที่ให้เยาวชนอายุ 15-25 ปี เข้ามาเสนอความคิดเห็น และให้ผมเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขา เพราะอีก 5-10 ปี เขาพวกนี้นี่แหละครับที่จะมีบทบาทมากในการกระเพื่อมการพัฒนาของประเทศ เราก็ต้องเอาเขาเข้ามามีสิทธิ์มีเสียงในวันนี้เลยว่า เขาอยากได้โลกแบบไหน

คุณคิดอย่างไรกับ ‘ระบบอาวุโส’ โดยเฉพาะในเชิงการเมือง

ถ้ามองด้วยอคติมันก็ดูแย่ อาจจะเป็นผู้ใหญ่ไม่ฟังเด็ก ผู้ใหญ่เป็นไดโนเสาร์ แต่ผมไม่ได้มองว่ามันมีแบบนั้นแบบเดียว เพราะมันมีอย่างอื่นที่สวยงามด้วยไง มันมีแง่ที่ผู้ใหญ่เขาต้องการจะดูแลเพราะเป็นห่วงจริงๆ เขาพร้อมที่จะปกป้อง พร้อมจะให้คำแนะนำ พร้อมจะสอน ให้ข้อคิดเราจริงๆ นี่คือข้อเท็จจริงที่เราไม่พูดถึงกันเลย เพราะเราแค่พูดว่าระบบซีเนียร์มันแย่ ใช่ มันมีความแย่ในตัวของมันอยู่สำหรับผู้ใหญ่ที่ใจบอด กับผู้ใหญ่ที่ใจแคบ คือพูดง่ายๆ ว่า วุฒิภาวะไม่ได้มาตามอายุนะครับ บางคนอายุเยอะแล้ว แต่ยังคิดไม่ได้ นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามีวุฒิภาวะนะ แต่ในชีวิตของผมที่ผ่านมา ผมค่อนข้างได้เจอผู้ใหญ่ที่มีความคิดที่เป็นคนรุ่นใหม่น่ะครับ เขาเปิดใจรับฟังผม เขาให้โอกาสผม และผมก็อยากมอบต่อโอกาสนี้ให้แก่คนอื่น ให้เข้ามาเจอผู้ใหญ่ที่มีความคิดเป็นคนรุ่นใหม่ในพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ไม่ได้มองว่าการไต่ไปตามลำดับขั้นโดยใช้อายุเป็นตัวตัดสินมันเป็นปัญหา?

ผมไม่มองว่าเป็นอุปสรรค ผมมองว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ อายุน้อยเหล่านี้จะได้เก็บเกี่ยววิชา ถามว่าเด็กจบใหม่เข้าใจบริบท วัฒนธรรมความเป็นประเทศไทยจริงๆ ที่มีมานานขนาดนี้หรือเปล่า คุณรู้หรือเปล่าว่าประเทศไทยมีนอกกรุงเทพฯ ด้วย คุณเข้าใจความคิดคนต่างจังหวัดหรือเปล่า สำหรับตัวผมเอง ตอนออกมาจากมหาวิทยาลัยแรกๆ ผมไม่เข้าใจนะ ผมเพิ่งมาสัมผัส และผมเพิ่งรู้จัก ถามว่าเด็กที่คิดว่าตัวเองเก่ง ร้อนวิชา จริงๆ แล้วเด็กเก่งขนาดไหน เด็กก็ต้องถามตัวเองเหมือนกันนะครับว่า ใจเราปิดหรือเปล่า หรือเราไปมัวแต่มองว่าเสียงเราไม่ดัง ต้องถามว่าสิ่งที่เราพูดมันเป็นไปได้หรือไม่ และคุณพร้อมจะนำเสนอในแง่ที่ดี ที่ไม่ก้าวร้าว และพร้อมมานั่งคุยกับผู้ใหญ่ดีๆ หรือเปล่า

ในฐานะทีมโฆษกพรรค ด้วยความที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยจัดตั้งขึ้นมาโดยมีแกนนำ กปปส. อย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ มันจะกลายเป็นการละทิ้งประชาชนบางกลุ่มที่อาจไม่ได้เห็นด้วยกับ กปปส. มาตั้งแต่ต้นหรือเปล่า

ผมไม่ใช่ กปปส. นะครับ (หัวเราะ) ถามว่ากลัวไหม ถ้ากำนันสุเทพอยู่ในพรรคแล้วจะถูกมองเป็น กปปส. หรือมองเป็นฝั่งสีเหลือง ผมค่อนข้างไม่กังวลนะครับ คือที่สำคัญที่สุด ถ้าเกิดว่าเราไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองที่อยู่ในวงการมา 40 กว่าปี เด็กอย่างผม คนธรรมดาอย่างผมเนี่ย ก้าวแรกก็ตายแล้วนะครับ แต่ถ้าเกิดผมมีอาจารย์ที่คอยให้คำแนะนำ ผมกลับมองว่ามันเป็นความเข้มแข็งด้วยซ้ำ ไม่ใช่จุดอ่อน

พรรคอื่นมีเยอะแยะทำไมคุณถึงเลือกรวมพลังประชาชาติไทย

ตัวต่อพรรคเองถ้าเรามองไปที่ผู้ร่วมจัดตั้งพรรค เรามีคนจากหลายฝ่ายนะครับ ตำรวจ ทหาร พยาบาล หมอก็มี อาจารย์ก็มี นักศึกษายังมี อายุน้อยที่สุดสำหรับผู้ร่วมจัดตั้ง ถ้าผมจำไม่ผิด คือ 22 ปี ผมอยากให้มองถึงเรื่องตรงนี้มากกว่า ประเด็นหลักๆ เลยคือเรามีสมัชชาเพื่อเลือกผู้บริหาร เลือกปาร์ตี้ลิสต์ เลือก ส.ส. แบ่งเขตกันก่อนภายในพรรค คือถ้าคุณไม่ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก แล้วคุณเลือกกันเอง มันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยนะครับ เราต้องการจะเปลี่ยนสถาบันทางการเมืองให้เป็นของประชาชนจริง ๆ

อีกประเด็นคือเรื่องความเป็นไทย ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมาหลายคนมักเอากรอบคิดทฤษฎีของประเทศอื่นมาครอบ ซึ่งยิ่งครอบยิ่งหงุดหงิด เพราะผมก็เคยครอบมาแล้ว (หัวเราะ) ผมก็เคยเอาเสรีนิยมประชาธิปไตยเข้ามาตีกรอบกับประเทศไทย แล้วคิดไม่ออกว่าทำไมเราไปไม่ได้สักที มองว่าเราด้อยพัฒนา ขาดตรงนู้นตรงนี้ แต่เราดึงตัวเองกลับไป และมองว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกาที่ผมเคยไปอยู่มา เขาถูกสร้างขึ้นมาจากโครงสร้างสังคม ประชากร และประวัติศาสตร์ของเขา เขามีการเหยียดสีผิว เขามีการจับคนผิวสีมาเป็นทาส เพราะฉะนั้นเขาต้องใช้ของพวกนี้ในการที่จะดึงระดับความเท่าเทียมของมนุษย์ขึ้นมาให้เท่ากัน เขาจึงมีเสรีภาพที่สูง ในขณะเดียวกันภายใต้ความเสรีที่ใครก็ตามสามารถเรียกร้องสิทธิได้เนี่ย มันก็ต้องถูกบีบให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่เข้มงวดที่สุด ผมเคยเห็นมาแล้วนะครับ ตำรวจอเมริกาถ้าต้องยิงเขายิงเลยนะครับ ตำรวจไทยนี่ยังใจดีมาก ย้อนกลับมาในประเทศไทย เราก็ต้องถามว่าคนไทยพร้อมจะเคารพกฎหมายขนาดไหน พร้อมจะอยู่ในกรอบขนาดไหน อันนี้เราก็ต้องถามตัวเองด้วยว่ากฎหมายเราเข้มงวดมากพอหรือยัง

ขณะเดียวกันผมก็เคยไปอยู่ที่จีนมา ภายใต้กรอบที่เรามักมองว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเผด็จการ ผมกลับรู้สึกว่าผมไปอยู่แล้วผมมีความสุข กลับรู้สึกว่าคล่องตัว สามารถขยับขยายทำอะไรได้มากกว่าตอนอยู่อเมริกาด้วยซ้ำ ผมรู้สึกว่าผมเป็นส่วนหนึ่งมากกว่า อาจจะเพราะหน้าตาผมคล้ายๆ คนจีนหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ) แต่มันก็ทำให้ผมสนใจนะครับว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศจีน ผมก็เลยไปศึกษาประวัติศาสตร์จีนและพบว่า ตอนที่จีนนำระบบสังคมนิยมเข้ามา ในตอนแรกเขามีความคิดที่จะเอาของโซเวียตเข้ามาทั้งดุ้น ปรากฏว่ามันไม่ตรงกับบริบทของประชากรในประเทศเขา เขาก็เปลี่ยน ดึงแต่ของที่มันใช่ออกมา อันไหนที่ทำแล้วใช้ไม่ได้เขาเอาออก เขาไม่ได้ก๊อปปี้มาวางทั้งดุ้น ไม่ได้เอามาตรฐานของคนอื่นมาวัด สุดท้ายมันกลายเป็นระบบสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์เป็นแบบจีน และทำให้จีนเป็นจีนทุกวันนี้ ที่กำลังจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกอยู่แล้ว สิ่งนี้กระตุกให้ผมคิดว่า ถ้าเกิดเมืองไทยสามารถหาอัตลักษณ์ของตัวเองได้ เรื่องความเป็นสากล ความเป็นนานาชาติ ความทันสมัยไม่จำเป็นต้องเอามาตรฐานของต่างชาติมาวัดเรานะครับ ไม่ควรเอามาตรฐานต่างชาติมานำ แต่เราต้องหาความเป็นไทยที่มันเป็นสากล ความเป็นไทยที่ร่วมสมัย ที่มันสามารถนำเราไปสู่การเป็นสากลโลก

แล้วรูปธรรมของประชาธิปไตยที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทยเป็นตัวนำคืออะไร

สถาบันพระมหากษัตริย์คือหนึ่งในนั้น เพราะหลายร้อยปีมาแล้วเราไม่เคยขาดสถาบัน คุณธรรมก็ใช่ ที่ผ่านมาเราไปลืมว่าศาสนานี่แหละที่สอนให้เราเป็นคนดี ลองมองคนไทยง่ายๆ จากแก่นนะครับ ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนกลัวบาปที่สุด อะไรก็อย่าทำเลย เพราะมันบาปนะ แค่ไอ้ความกลัวบาปเนี่ยมันหยุดให้เราทำความชั่วได้แล้วนะ

ดูจะอนุรักษนิยมเกินไปหน่อยหรือเปล่า

ถ้าจะมองให้มันโบราณ มันก็คงโบราณครับถ้ามองอย่างมีอคติ แต่ถ้าจะมองให้เห็นแง่บวกมันก็มีแง่บวก ทีนี้ผมเลือกมองในแง่บวก ผมรู้สึกว่าถ้ามองในแง่บวก แล้วขยายมันออกมา มันจะมีประโยชน์มากกว่าไปมองแบบแคบๆ แล้วไปด่า ไปดูถูก ถ้าแบบนั้นผมคงทำอะไรต่อไม่ได้ จะให้ผมบอกว่าอย่างไร ศาสนาเป็นเรื่องงมงายเหรอ ผมไปสัมผัสเอง ผมก็ไม่คิดว่ามันงมงายนะ ถึงเวลาผมเครียดขึ้นมา ศาสนาก็เป็นที่พึ่งทางจิตใจของผมได้ ศาสนาก็กันผมออกจากการทำชั่ว การทำผิด เพราะมันทำให้ผมรู้สึกในใจว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นบาป มันก็เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทย มันอาจดูเป็นเรื่องตลก แต่ว่ามันมีอยู่จริงไงครับ

ในอนาคตที่จะถึงซึ่งกำลังจะมีเลือกตั้ง คุณอยากเห็นภูมิทัศน์การเมืองไทยคลี่คลายไปในทิศทางไหน

งั้นวาดฝันเลยนะครับ (หัวเราะ) ผมอยากเห็นคนไทยถอดสีเสื้อ ผมไม่อยากเห็นความขัดแย้งแล้ว ผมอยากเห็นการเมืองที่ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล นโยบายอันไหนหรือกฎหมายฉบับไหนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมอยากให้เขาร่วมมือช่วยกันทำ ผมไม่อยากเห็นการเมืองแบบเดิมๆ ที่ฝ่ายค้านตั้งเป้าแต่จะค้าน แต่จะด่า หรือรัฐบาลที่คิดแต่จะดันงบ ผมอยากเห็นประเทศเดินไปด้วยกัน

คิดว่าเป็นไปได้ไหม

จะได้หรือไม่ได้มันก็อยู่ที่ประชาชนคนไทยด้วยนะครับ เพราะประชาชนคือหัวใจที่จะเข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันทำ เราจะพาเขาเข้าไปในสภาผ่านกลไกพรรค

ถามแบบซื่อ ๆ ว่า ทำไมประเทศไทยถึงเป็นประเทศที่ไม่พัฒนาเสียที

ผมว่าพวกเราคนธรรมดาต้องเริ่มถามตัวเองกันดูว่าที่ผ่านมาเราช่วยส่วนรวมขนาดไหน ที่ผ่านมาเวลามีความขัดแย้ง มีอะไรไม่ดี เรานั่งอยู่เฉยๆ ดูอย่างเดียว วิจารณ์อย่างเดียวหรือเปล่า พวกเราเอง เคยคิดที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งหรือเปล่า เคยคิดที่จะเข้ามาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า หรือว่าเรารอจนกระทั่งมันไม่เหลืออะไรแล้ว เราถึงจะออกมา ทำไมเราไม่เริ่มตั้งแต่วินาทีที่มันสร้างได้ล่ะ เราต้องเลิกชี้นิ้ว เลิกวิจารณ์อย่างเดียว พูดมันง่าย ทำมันยากครับ เราต้องเริ่มทำกันแล้วครับ เราต้องถามกันบ้างแล้วว่าที่ผ่านมาเรามีส่วนมากน้อยแค่ไหนกับการที่ประเทศยังไม่พัฒนา กับความติดขัดเหล่านี้

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร

โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าผมไม่มีขอบ เมื่อเข้ามาทำงาน ผมไม่ได้เล็งว่าผมต้องเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ผมเล็งแค่ว่าผมจะสามารถทำอะไรได้บ้างในฐานะพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงระบบ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของผมมันก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวตอนนี้ผมยังมองไม่เห็นขอบของมัน ผมรู้สึกว่าผมสามารถผลักไปได้เรื่อยๆ ผมไม่อยากสร้างขีดจำกัดให้แก่ตัวเองว่า เป้าหมายเรามีแค่นี้ และเราจะทำแค่นี้


]]>