Warning: Cannot modify header information - headers already sent by (output started at /var/www/marshomme.com/wp-content/plugins/wp_mgr_id/wp_mgr_id.php:1) in /var/www/marshomme.com/wp-includes/feed-rss2.php on line 8
ผลประโยชน์ – Marshomme https://marshomme.com Fri, 17 Jan 2020 09:27:40 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.2.20 https://marshomme.com/wp-content/uploads/2019/10/logo2_icon-90x90.png ผลประโยชน์ – Marshomme https://marshomme.com 32 32 เมื่อ ‘ผลประโยชน์’ มาก่อน ‘ความรู้สึกแฟนซีรีส์’ #(2) https://marshomme.com/lifestyle/1071/ Mon, 29 Oct 2018 16:07:00 +0000
สิ่งที่ค้างคาใจหลายท่านอยู่ตอนนี้ ดิฉันเชื่อว่าเป็นปมปัญหาว่าทำไมผู้จัดซีรีส์ถึงไม่จัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มผลิต เพราะการทำซีรีส์แบบมืออาชีพ ไม่ได้สักแต่ว่าผลิตให้เสร็จๆ แต่มันมีกระบวนการทางการตลาดอยู่หลายขั้นตอน ตั้งแต่การหาสปอนเซอร์มาไท-อินในซีรีส์ ให้นักแสดงได้ถือได้ใช้ผ่านซีนในซีรีส์ การวางตารางเพื่อโปรโมตซีรีส์ กิจกรรมพิเศษอื่นๆ ไปจนถึงงานจ้างออกอีเวนต์ ซึ่งในทางที่ถูกต้อง นักแสดงนำควรไปออกงานพร้อมกันทั้งหมด เนื่องจากในช่วงเวลาที่ต้องการเพิ่มฐานแฟนคลับและโปรโมตซีรีส์ ควรเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ส่วนบางงานจะได้เงินมากเงินน้อย หรือบางงานฟรี ก็เป็นไปตามความเหมาะสมไป) ไม่ใช่กะปริดกะปรอยงานนี้ไป 2 คน งานนี้ไป 5 คน แฟนซีรีส์ก็เหมือนคนกำลังฉี่แต่ฉี่ไม่สุดสักทีแทนที่จะได้ฟินแบบเต็มอิ่ม

ทำไมต้องเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ด้วย?

ก็ในเมื่อผู้จัดหน้าใหม่ๆ ไม่ได้มีเครือข่ายรายการมากมายเหมือนแกรมมี่ ช่องสาม ช่องเจ็ด การเซ็นสัญญาระยะสั้นๆ ถือว่าเซฟ เคสนี้จะเกิดที่ GrammyTV ยากสักหน่อย เพราะบริษัทนั้นมีรายการที่สามารถเอาเด็กไปต่อยอดทำโน่นทำนี่ได้อีกเยอะ ผู้จัดการส่วนตัวนักแสดงก็ไม่กล้า ‘เยอะ’ ใส่ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเกิดกับผู้จัดอิสระเสียส่วนใหญ่

ถ้าคุณๆ ไปดูรายชื่อนิยายวายที่ถูกซื้อและเตรียมผลิตออกมาในปีหน้า จะเห็นว่าผู้จัดอิสระทั้งนั้นเลยค่ะ สิ่งที่ผู้จัดอิสระหรือหน้าใหม่จะต่อรองกับบรรดาผู้จัดการเขี้ยวลากดินไม่ได้เลยก็หนีไม่พ้นเรื่องการเป็นต้นสังกัดหรือเจ้าของเด็กแม้จะเป็นช่วงเวลาหนึ่ง (ปกติถ้าทำสักสองซีซั่นก็น่าจะอยู่ที่ 1-3 ปี) ถ้าผู้จัดเปิดโมเดลลิ่งเอง เหมือนที่ COPY A ทำ (ผู้สร้าง Make It Right 1-2) ก็คงไม่มีปัญหา แต่เคสของ 2Moons2 กับ ‘บังเอิญรัก’ ไม่ใช่แบบนั้น


เคส 2Moons เกิดจากการที่ผู้ได้รับสิทธิ์ในลิขสิทธิ์นิยาย ผู้จัด และผู้จัดการดารา ไม่สัมพันธ์กัน ผู้จัดออกทุน ผู้จัดการดาราเป็นต้นสังกัดนักแสดง ผู้ได้รับสิทธิ์ในลิขสิทธิ์นิยายนั้นยิ่งไม่ชัดเจน ว่าใครได้สิทธิ์แต่แรก บางสายรายงานว่าผู้จัดการนักแสดงได้รับลิขสิทธิ์แต่แรก แล้วเริ่มหาผู้ลงทุน แต่ภายหลังที่มีปัญหาก็เลยยกสิทธิ์ให้ผู้จัดไปทำเวอร์ชั่นใหม่ แต่เด็กยังเป็นของตัวเองอยู่ แต่อีกสายหนึ่งรายงานว่า ผู้จัดได้ลิขสิทธิ์มาแต่แรก เพียงแต่คอนโทรลเด็กไม่ได้ เลยวีนกันวงแตก ซึ่งต้นเหตุปัญหาได้เขียนไปหมดแล้ว

สมัย 2Moons กำลังดัง เราจึงได้เห็นการเดินสายพร้อมกัน 6 คนของนักแสดงนำบ้างในบางงาน แต่เราจะได้เห็นภาพการออกงานเป็น 5 : 1 มากกว่า ไม่ต้องแปลกใจค่ะ เพราะผู้จัดการมาคนละสาย แต่ทุกคนสมประโยชน์แล้ว เด็กดังมีแฟนคลับล้นแล้ว ก็แยกย้ายทางใครทางมัน 5 คนไปทำเพลงเป็นบอยแบนด์ในนาม SB FIVE ส่วนอีกหนึ่งหนุ่มเซ็นเข้าสังกัดใหญ่ และโดนสั่งห้ามไม่ให้รับงานที่เป็นคู่จิ้นอีกต่อไป แฟนคลับบ้านเดี่ยวคงไม่รู้สึกอะไร แต่แฟนคลับหมอป่า-วาโย ใจสลายนะคะ แล้วผู้จัดซีรีส์ล่ะ คืนทุนแล้วหรือยัง? ไม่มีเสียงตอบจากหมายเลขที่ท่านเรียกค่ะ ช่วงปลายปีก่อนเราจึงได้ยินข่าววีนแตกกันเรื่องทำ Photobook ที่ผู้จัดซีรีส์จะทำออกขาย แต่ทำไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เป็นต้นสังกัดของนักแสดงไง เจ็บแล้วจบมั้ยคะ

ครั้นพอจะเริ่มทำ 2Moons2 มันก็ต้องเริ่มแคสติ้งนักแสดงใหม่ทั้งหมดด้วยเหตุฉะนี้ ผู้จัดเจ้าเดิมและผู้กำกับหน้าใหม่ยืนยันผ่านโซเชียลมีเดียมาแล้วว่า 2Moons2 จะเริ่มใหม่ตั้งแต่ภาคแรกค่ะ ไม่ได้มาเริ่มเล่มสองเหมือนที่หลายคนเข้าใจ ส่วนใครจะมาสวมบทบาทเป็นหมอป่า-วาโย, มิ่ง-คิท, โฟร์ท-บีม นั้น โปรดติดตามตอนต่อไป 2Moons2 จึงกลายเป็นเคสแรกในประวัติศาสตร์ซีรีส์ไทยที่ซีซั่น1 และ 2 ใช้นักแสดงกันคนละชุด กระชากความรู้สึกของแฟนซีรีส์มากยิ่งนัก (Love Sick ก็มีเปลี่ยนตัวนักแสดงนะ หลายท่านอาจกำลังแย้งในใจ ใช่ค่ะมีการเปลี่ยนตัว แต่บทที่เปลี่ยนมันคือบทเพื่อนโน่ ซึ่งเป็นบทรองนะคะ ไม่ใช่ตัวแสดงหลัก)

แล้วเหตุการณ์ก็มาซ้ำรอยเดิมที่ ‘บังเอิญรัก’

ไม่ต้องถามนะคะ ว่าผู้จัดซีรีส์ได้จับเด็กเซ็นสัญญาไว้หรือไม่ ถ้าเซ็นคงไม่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้จัดการนักแสดงวีนแตกกันผ่านสื่อออนไลน์แบบนี้

เคสของ ‘บังเอิญรัก’ อาจจะต่างกับ 2Moons2 อยู่นิดหน่อยก็ตรง แม้ซีรีส์จะดัง แต่ผู้จัดการนักแสดงยังอยากให้นักแสดงในสังกัดของตนแสดงซีรีส์ต่อ เพราะนั่นคือพอร์ตที่ดีกับนักแสดง และเอาไปต่อยอดทำเงินได้อีกมากมาย แต่ปัญหาก็คือผู้จัดการนักแสดงแบ่งออกเป็น 6 : 1 : 1 จะเรียกว่ามาจากสามสังกัดก็ว่าได้ 2ใน 3 นั้นสนิทสนมกันดี จึงไม่มีปัญหาใดๆ ยกเว้นหนึ่งเดียวในสมการนี้

มันก็เลยเกิดกรณีด่ากันผ่านโซเซียลมีเดียไง ว่าพวกมากรวมหัวกันกีดกัน เพื่อกำจัดเด็กของตัวออกจากซีรีส์ เวลาออกงานก็ไปแค่ 7 ขาด 1 เป็นอย่างนี้อยู่หลายงาน ซึ่งดิฉันก็ไม่ทราบนะคะ ว่าทำไมไม่เซ็นสัญญากันสักหน่อย (หรือว่าเซ็นแต่ควบคุมไม่ได้ ก็ไม่ทราบ) อย่างน้อยในช่วงการโปรโมตซีรีส์ก็ให้ผู้จัดเป็นคนคุมคิว ออกงานจะได้ภาพที่ออกมาก็จะมีเอกภาพหน่อย ให้แฟนคลับซีรีส์ได้จิ้นได้ฟินกันให้หนำใจแล้วหลังจากซีรีส์จบจะนัดตบกันหลังตึกสยามพารากอน ดิฉันก็จะไปช่วยเป็นกรรมการให้ค่ะ นัดมาได้เลย

ล่าสุดก่อนเขียนต้นฉบับนี้เสร็จ เห็นข้อความในโซเชียลสะบัดบ๊อบใส่กันอย่างเป็นทางการ รอยร้าวที่เกิดขึ้นคงยากที่จะประสานได้ ก่อนจะจบเรื่องนี้ อยากเล่าเคส ‘เมียวิศวะ’ให้ฟังสักหน่อย เมื่อต้นปีทีมผู้จัดประกาศรายชื่อนักแสดงชุดหนึ่ง ซึ่งสร้างกระแสในโลกโซเชียลได้มากทีเดียวยังไม่ทันเปิดกล้อง แฟนคลับก็มาแล้วค่ะคุณขา มองเห็นอนาคตแล้วใช่มั้ยว่าผลประโยชน์มันมากขนาดไหน แต่ยังไม่ทันได้เปิดกล้อง นักแสดงชุดแรกก็สลายม็อบไปคนละทาง ข่าวลับแจ้งมาว่า ผู้จัดซีรีส์ต้องการให้เด็กเซ็นสัญญาประมาณ 4 ปี เพื่อเตรียมไว้สำหรับการผลิต โปรโมต และกิจกรรมอื่นๆ ที่จะตาม แต่ผู้จัดการนักแสดงไม่ยอมค่ะ โดยให้เหตุผลว่านี่คือการขโมยนักแสดงในสังกัดของตน

ใครผิดใครถูกไปตรองดูนะคะ แต่ที่สรุปได้แน่นอนก็คือ ผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อนความรู้สึกแฟนซีรีส์ค่ะ

]]>
เมื่อ ‘ผลประโยชน์’ มาก่อน ‘ความรู้สึกแฟนซีรีส์’ #(1) https://marshomme.com/lifestyle/1073/ Fri, 26 Oct 2018 13:40:00 +0000

Text : เบญจกาย


ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา วงการซีรีส์วายในบ้านเรามีเรื่องฉาว! สองเรื่องติดๆ กันค่ะ ตั้งแต่ ‘เดือนเกี้ยวเดือน 2’ ที่ซัดกันในโลกออนไลน์อย่างเมามันส์ ต่อด้วย ‘บังเอิญรัก เดอะซีรีส์’ ซึ่งซีซั่นแรกยังไม่ทันจบบริบูรณ์ดี ก็มีเรื่องวีนกันจนซีรีส์แตก ส่อแววว่าภาคสองจะไม่มีนักแสดงนำที่ชื่อ ‘เซ้นต์-ศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา’ ผู้รับบท ‘พีท’ อีกต่อไป

มองเผินๆ ทั้งสองกรณี เหมือนจะต่างกัน แต่เบื้องลึกที่ไม่ลับที่สุดนั้น ‘เหมือนกันทุกประการ’ มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ระหว่างใครน่ะหรือ? ถ้าไม่ใช่ ‘ผู้จัด’ และ ‘ผู้จัดการนักแสดง’

แล้วปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

เรื่องผลประโยชน์เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใครมาเนิ่นนานมากแล้ว แต่เคสของซีรีส์วายในบ้านเรา มันมาปะทุในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งไม่ได้มีแค่กรณีของซีรีส์ทั้งสองเรื่องที่เกริ่นไปเท่านั้น หลายเรื่องที่ไม่เป็นข่าวก็มีอยู่มาก เพียงแต่เรื่องพวกนั้นเขาตบตีกันก่อนจะเริ่มผลิต แล้วก็วีนกันวงแตกไปก่อนแล้ว เลยไม่มีดราม่าในโลกออนไลน์ให้เราได้เสพ เช่น ซีรีส์เกี่ยวกับเมียวิศวะ เป็นต้น

ก่อนจะแตะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อยากปูพื้นฐานความเข้าใจบางเรื่อง ให้คุณๆ ได้เข้าใจสักเล็กน้อยค่ะ เดี๋ยวพอเข้าประเด็นปุ๊บ จะได้ไม่ต้องมานั่งอธิบายอะไรให้ยืดยาวอีก

การทำซีรีส์หรือละคร ในยุคก่อนที่โซเชียลมีเดียจะบูมเหมือนในทุกวันนี้ นักแสดงส่วนใหญ่จะเซ็นสัญญาอยู่ 2 แบบ คือสัญญาระยะสั้น (เฉพาะในช่วงที่ต้องผลิตและโปรโมตละคร อาจจะแค่ 1-2 ปี ก็แล้วแต่จะตกลงกัน) และสัญญาระยะยาว หรือการเซ็นเพื่อเป็นนักแสดงในสังกัดของช่อง/บริษัท/ค่ายละคร โดยต้นสังกัดก็ต้องมีสิ่งที่จูงใจ อาทิ มีงานละครอย่างต่อเนื่องปีละกี่เรื่อง ก็แล้วแต่จะตกลง ความแตกต่างของการเซ็นสัญญาทั้งสองแบบนั้นต่างกันพอสมควร ถ้าเป็นสัญญาระยะสั้น นักแสดงอาจจะมีโมเดลลิ่ง หรือมีผู้จัดการส่วนตัวดูแลอยู่แล้ว แต่ยินดีร่วมงานกับผู้ผลิตหรือต้นสังกัดที่ผลิตซีรีส์หรือละครเรื่องนั้นๆ โดยผลประโยชน์ก็ตกลงกันไปว่า การรับงานจะต้องหักเงินเข้าผู้ผลิต (ต้นสังกัด) กี่เปอร์เซ็นต์ ผู้จัดการส่วนตัวได้กี่เปอร์เซ็นต์ และนักแสดงได้กี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนสัญญาระยะยาวดูจะง่ายกว่า เพราะเป็นการผูกสมัครรักใคร่เข้าเป็นนักแสดงในสังกัด เซ็นกันยาวๆ เริ่มต้นที่ 5 ปี หลังจากจบสัญญา ถ้าแฮปปี้ก็อยู่ต่อ ถ้าไม่แฮปปี้ก็ค่อยว่าย้ายสังกัด (เราจึงได้เห็นดาราช่อง 3 ช่อง 7 แกรมมี่ และค่ายอื่นๆ ย้ายสลับกันไปมาเป็นว่าเล่นไงล่ะ)

แต่เคสที่มีปัญหาเสมอคือสัญญาระยะสั้น เพราะเมื่อตลาดทีวีดิจิตอลและแอพพลิเคชั่นอย่าง LineTV เปิดโอกาสให้มีผู้จัดหน้าใหม่ๆ ได้จำนวนมาก มันก็กลายเป็นช่องทางในการหารายได้จากตัวเด็กในช่วงเวลาหนึ่งๆ ไปด้วย ไม่ต้องแปลกใจเลยค่ะว่าทำไมถึงมีนักแสดงรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายกว่าแต่ก่อนโดยที่ป้าแก่พ่อเฒ่าอย่างเราก็ตามไม่ทัน

หลายท่านอาจกำลังคิดอยู่ว่า การทำซีรีส์วายนี่กำไรมันเป็นกอบเป็นกำขนาดนั้นเลยหรือ? ขนาดละครดังๆ ยังยอดโฆษณาตกเลย คุณคิดถูกค่ะ รายได้จากการขายโฆษณาทางทีวีไม่ได้ดีเท่าไหร่ เผลอทำได้ก็แค่เสมอตัว เพราะพฤติกรรมการชมละคร/ซีรีส์ เปลี่ยนจากการดูตามช่วงเวลาออนแอร์ไปสู่การดูผ่านมือถือ และจะดูเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ เม็ดเงินโฆษณาจะเทไปสู่ LineTV และบรรดาแพลตฟอร์มที่เป็น contents provider อื่นๆ อย่างเป็นกอบเป็นกำ

เมื่อกำไรจากโฆษณาหด แต่ช่องทางการทำกำไรอื่นๆ ยังมีอยู่ สิ่งเดียวที่ผู้จัดซีรีส์วายจะต้องทำให้ได้ก็คือการสร้างฐานแฟนคลับสาววายให้กับนักแสดง หรือการปั้นให้เป็นคู่จิ้นที่มีคนเลิฟมากๆ ก่อนจะไปหารายได้จากการพาเด็กออกอีเว้นต์แทน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะคะ ว่า micro influencer จะมีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้ามากกว่าดาราดังๆ หลายท่าน ยิ่งคู่จิ้นคู่ไหนแฟนคลับเยอะ เวลาออกงานทีสามารถยึด #hashtag ในทวิตเตอร์ได้เป็นหมื่นเป็นแสน ราคาค่าตัวก็ไม่แพงเท่าดาราบิ๊กเนมที่แสนจะเรื่องเยอะ อานิสงส์ในการประชาสัมพันธ์ก็จะไปตกอยู่กับเจ้าของสินค้าหรือเจ้าของงานอีเว้นต์โดยปริยาย (ใครที่ไม่เคยเห็นศักยภาพของสาววาย กรุณาเดินออกจากถ้ำมาชมโลกกว้างบ้าง แล้วจะเข้าใจ) เพราะบรรดาแฟนคลับสาววายนี้ พวกเธอจิตใจงดงามมาก เวลานักแสดงบอกให้ช่วยติด #hashtag อะไร พวกนางจะช่วยด้วยความเต็มใจและเต็มที่ เพราะสาววายต่างรู้สึกแบบเดียวกันว่า ขอบคุณเจ้าของสินค้าและเจ้าของงานที่สนับสนุนนักแสดงที่ตัวเองรัก

คุณเริ่มเห็นเค้าลางของปัญหาแล้วใช่มั้ยคะว่าจะเกิดอะไรขึ้น? ในลำดับต่อไป

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผู้จัดการส่วนตัว(หรือโมเดลลิ่ง) ไม่ยอมเซ็นสัญญากับผู้จัดซีรีส์ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม แค่ยินยอมให้นักแสดงร่วมแสดงกับซีรีส์นั้นๆ ได้ ปัญหาที่จะตามมาก็หนีไม่พ้น เมื่อซีรีส์ออนแอร์แล้ว นักแสดงดังแล้ว แฟนคลับทะลักทะล้น นักแสดงก็พร้อมที่จะเฉิดฉิ่งไปทางใครทางมันได้ (หากผลประโยชน์ไม่ลงตัว) โดยมองข้ามความรู้สึกของแฟนซีรีส์ไปอย่างไม่มีเยื่อใย (ถ้าเป็นซีรีส์ที่มีภาคเดียวจบคงไม่มีปัญหาค่ะ แต่นิยายวายสมัยนี้ เขียนกัน 3-4 เล่มจบ แล้วแยกไปแต่งนิยายอีกเหลายเรื่อง เพื่อรองรับการจิ้นตัวละครอื่นๆ ด้วย การทำซีรีส์แค่ภาคเดียวมันก็เลยรองรับความฟินได้ไม่เต็มร้อย โดยเฉพาะคนที่เคยอ่านนิยายมาก่อน)

หลายท่านอาจจะกำลังนึกตามอยู่ว่า ทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ? ทำไมผู้จัดยอม เดี๋ยวครั้งหน้าจะมาแจกแจงให้ฟังค่ะ เรื่องมันยาว

]]>