Warning: Cannot modify header information - headers already sent by (output started at /var/www/marshomme.com/wp-content/plugins/wp_mgr_id/wp_mgr_id.php:1) in /var/www/marshomme.com/wp-includes/feed-rss2.php on line 8
วาดรูป – Marshomme https://marshomme.com Fri, 06 Mar 2020 16:44:00 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.2.20 https://marshomme.com/wp-content/uploads/2019/10/logo2_icon-90x90.png วาดรูป – Marshomme https://marshomme.com 32 32 ความรัก โรคซึมเศร้า และงานศิลปะของ ‘พงศกร มหาเปารยะ’ https://marshomme.com/interview/431508/ Fri, 06 Mar 2020 16:44:00 +0000

“ตอนนี้ จะพูดว่ากำลังค้นหาตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะว่าอายุเยอะแล้ว ลองทำมาทุกอย่างแล้ว แต่ว่าตอนนี้กำลังเริ่มต้นที่จะทำงานในแนวใหม่ ซึ่งเป็นงานที่อยากทำมานานแล้ว คือการเป็นจิตรกร วาดรูปสีน้ำมัน”

‘แต๊งค์’ พงศกร มหาเปารยะ อัพเดทชีวิตให้เราฟังในวันนี้ หลังจากที่เขาเคยตกเป็นข่าวดังกรณีดรามาในโซเชียลมีเดีย กับ ‘อีฟ อัญวีณ์’ อดีตแฟนสาว เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ข่าวของเขาเงียบหายไปภายในเวลาไม่นาน วันนี้แต๊งค์มีเรื่องราวใหม่ในชีวิต เขานัดหมายเราที่บ้านพ่อแม่-กรณ์ และวรกร จาติกวณิช ในซอยเย็นอากาศ ที่ร่มรื่นด้วยเงาไม้ใหญ่ ดูสงบ และอบอุ่น

ตัวเขาเองก็ดูสงบ และดูมีความสุขกับงานใหม่ที่เขากำลังทำอย่างจริงจัง เขาโชว์ผลงานภาพเขียนสีน้ำที่จัดวางไว้ใกล้โถงนั่งเล่น และในพื้นที่ใกล้ลานจอดรถ บางส่วนของภาพเหล่านั้นจะถูกนำไปจัดแสดงใน ‘Out of the Darkness’ นิทรรศการครั้งแรกของเขา ที่แกลเลอรี Woof Pack Bangkok ซอยศาลาแดง 1 ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม ถึง 5 เมษายน 2563


มีแรงจูงใจอะไรให้คุณหันมาจับงานวาดภาพ

คือจริงๆ ผมชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ ตอนเด็กๆ ชอบวาดรูปการ์ตูน ภาพลายเส้น พอโตขึ้นมาก็ได้ลองมาสัมผัสกับงานของอาจารย์หรือศิลปินที่เขาทำงานสีน้ำมัน มีความรู้สึกว่า งานเขาดูมีคุณค่า และดูแพง เราเลยอยากจะเรียนรู้ ก็เริ่มจากการสอนตัวเอง ดูในยูทูบ และได้รับการชี้แนะจากอาจารย์บางท่าน อย่างอาจารย์ศักดิ์วุฒิ (วิเศษมณี) ซึ่งเป็นไอดอลของผมเลย และคุณแม่ก็ชอบ มีผลงานของอาจารย์ศักดิ์วุฒิเก็บเรื่อยมา

คุณเริ่มต้นกับการทำงานศิลปะอย่างไร

ถ้าพูดตรงๆ ก็คือ เริ่มเพราะว่าผมว่าง (หัวเราะ) ว่างจากการที่งานในวงการบันเทิง อย่างงานพิธีกร งานแสดง เดี๋ยวนี้มันยากขึ้น เพราะเด็กสมัยใหม่เยอะขึ้น ช่องต่างๆ รายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน พออยู่ว่างๆ เลยคิดว่า ควรจะทำอะไรเพื่อเป็นการต่อยอดหรือพัฒนา อีกอย่างทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ จะได้เป็นการกระตุ้นตัวเองไปด้วย

จะมีการจัดแสดงผลงานที่ Woof Pack เร็วๆ นี้ด้วย

เป็นความโชคดีของผมด้วยครับ เพราะจริงๆ แล้วศิลปินที่ทำงานเหล่านี้ ถ้าไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนจริงๆ แล้วเป็นเรื่องยากมากที่จะได้มีงานจัดแสดงโชว์ในแกลเลอรีที่มีคนรู้จักเยอะ ที่ผมโชคดีเพราะว่าน้องสาว (กานต์ จาติกวณิช) ทำงานอยู่กับเจ้าของแกลเลอรี ซึ่งคือคุณเจย์ สเปนเซอร์


งานที่จัดแสดงเป็นอย่างไร

งานภาพสีน้ำมันครับ เป็นงานของผมคนเดียว ถ้าพูดถึงคอนเซ็ปต์งานจะค่อนข้างกว้าง เพราะเป็นงานแรกของผม และผมไม่อยากผูกมัดตัวเองว่าตัวเองเป็นศิลปินแนวนี้ ก็เลยเปิดกว้างไว้ก่อน อยากจะให้คนได้เห็นว่าผมเข้ามาในวงการนี้แล้ว และมีฝีมือระดับหนึ่ง ซึ่งผมอยากจะโชว์สแตนดาร์ดของตัวเองก่อน ในอนาคตค่อยไปเจาะจงว่ามีแนวทางของตัวเอง

คุณใช้เวลานานแค่ไหนในการทำงานครั้งนี้

ค่อนข้างจะรีบอยู่เหมือนกันครับ เพราะว่าผมเพิ่งตกลงกับน้องสาวและพี่เจย์ เมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว และตกลงกันว่าเราจะไม่ใช้งานที่ผมเคยทำมาแล้ว นั่นคือต้องเป็นงานใหม่ทั้งหมด ผมต้องทำงานใหม่ทั้งหมด

ระหว่างทำงานศิลปะ คุณรู้สึกอย่างไร

ความจริงผมชอบนะ ผมชอบศึกษา ชอบเรียนรู้อยู่แล้ว และงานสีน้ำมันนี่ผมคิดว่า ภาพวาดสีน้ำมันของอาจารย์และศิลปินทั้งหลายยังน้อยไป ไม่ครบทุกรูปแบบ ถ้าเราไปดูงานสีน้ำของฝรั่งหรือชาติยุโรป เขาจะมีงานสีน้ำมันที่เป็นโมเดิร์น เป็นงานร่วมสมัยที่เมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครทำ งานสีน้ำมันในไทยส่วนใหญ่เป็นงานคลาสสิก ลายไทย หรือวิจิตรศิลป์ไปเลย งานร่วมสมัยมีค่อนข้างน้อยมาก

ผมพยายามทำเป็นงานร่วมสมัยนั่นละครับ เพราะผมอยากจะดึงรูปแบบการทำงานของฝรั่ง สไตล์ของเขามา เพื่อที่ว่า อย่างน้อยเราก็เป็นคนไทยที่มีงานแบบเขาในเมืองไทยบ้าง คือผมไม่ได้อยากเป็นเหมือนเขานะ แต่เราอยากจะทำให้คนไทยมีงานแบบหลากหลายบ้าง งานศิลปะควรที่จะมีความหลากหลาย

ลักษณะงานของคุณเป็นแบบไหน สดชื่น แจ่มใส หรือว่าทุกข์ เศร้า

มันก็มาจากมืดๆ นิดหนึ่งละครับ (หัวเราะ) แต่ว่ามันเป็นสไตล์ของผมอยู่แล้ว ตรงที่ผมชอบเล่นคอนทราสต์ เน้นแสงไปที่ตัวซับเจ็กต์ ตัวแบ็กกราวนฺด์จะมืด ซึ่งมันมีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวผมนิดหนึ่ง แต่ว่าผมพยายามไม่ผูกมัดตัวเองอยู่กับความมืด


ศิลปะที่ทำ มันช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าได้ด้วยไหม

อืมม์… ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด มันมีอยู่ แต่ถ้าคุณเป็นมือกีตาร์วงบอดี้ สแลม คุณไม่สามารถทำให้มันเป็นดนตรีบำบัดได้ (หัวเราะ) เพราะว่าคุณทำเป็นงาน คุณเล่นทุกวัน ทั้งๆ ที่เครียด งานศิลปะก็เหมือนกัน ถ้าเกิดคนทำมันเป็นงานอดิเรกหรือไปเรียนกับนักจิตบำบัด มันก็มีครับ แต่สิ่งที่ผมทำอยู่มันเป็นงาน ที่ผมต้องเต็มที่กับมัน จริงจังกับมัน เพราะฉะนั้นผมจะไม่ใช้มันมาบำบัด

แต่ถามว่า การทำงานมันช่วยบำบัดไหม มันช่วยครับ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร มันช่วยดึงเราจากความมืดอยู่แล้ว นี่เป็นงานที่เผอิญว่าเป็นศิลปะ

ที่มาของชื่อนิทรรศการ ‘Out of the Darkness’ เป็นอย่างไร

เป็นชื่อที่คุณแม่กับน้องสาวช่วยกันคิดครับ และผมก็คิดว่ามันตรงกับชีวิตของผมในบางแง่ (หัวเราะ) ในช่วงที่ผ่านมา พูดตรงๆ ผมมีมรสุมชีวิตเล็กน้อย เกี่ยวกับเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น

เรื่องความรักใช่ไหม

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ครับ จริงๆ ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะ…อ่อนไหว ในเรื่องของการคบหากับใครสักคน ซึ่งที่ผ่านมาค่อนข้างจะผิดหวังในเรื่องของความรัก อาจจะเป็นเพราะว่าหลายๆ อย่าง มองย้อนกลับไปแล้วเราเห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง บางสิ่งบางอย่างเราพยายามแก้ไขแล้ว แต่ว่ามันยังต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ (ยิ้ม)

ซึ่งล่าสุดที่ผ่านมาน่าจะเป็นประเด็นสาธารณะนิดหนึ่ง เพราะมีการใช้ในเรื่องของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในสื่อสังคมออนไลน์ที่ผม…เรียกว่าอะไร…ขาดสติ (หัวเราะ) และโพสต์อะไรตามอำเภอใจ ด้วยความรู้สึก ด้วยอารมณ์ที่มันอัดอั้นตันใจ และเราอยากจะเคลียร์ปัญหากับคนรักของเรา พอมันกดดันมากๆ เข้า ไม่รู้จะทำอย่างไร เราก็เลยปล่อยไปหมดในนั้น ข้อหนึ่งเลยปัญหาส่วนตัวก่อนก็คือว่า ผมพยายามติดต่อเขาไม่ได้ เพราะเขาปิดกั้นการติดต่อ ผมเลยใช้สื่อตรงนั้นในการติดต่อกับเขา ในการสื่อถึงเขา ทำให้เราลืมนึกถึงคนอื่นๆ ไป ลืมนึกถึงสังคมที่มองเข้ามา ลืมนึกถึงคนที่รักเรา เช่น คุณพ่อคุณแม่ น้องๆ และอาจจะมีคนที่รักเรา ปลาบปลื้มเรา เขาอาจจะผิดหวังกับสิ่งที่ผมได้สื่อออกไปตอนนั้น

พอผมได้สติ ผมก็ขอโทษ และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ได้พยายามแก้ไขเท่าที่จะทำได้ แต่ว่าคนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากครอบครัวของผมแล้ว ยังมีครอบครัวของอดีตแฟนผมด้วย ซึ่งมันเป็นอะไรที่ไม่โอเคเลย ถ้าให้พูดถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากนั้นที่เป็นปัญหาสำหรับผม มันก็ยังมีอีก (ยิ้ม) แต่ผมได้พยายามทำเต็มที่แล้ว

ในส่วนที่หลายๆ คนอาจจะไม่ได้เห็นหลังจากโพสต์นั้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผมตัดสินใจไปทำการรักษา เพราะผมคิดว่าผมมีปัญหาในเรื่องของโรคผลกระทบทางจิตใจ หรือซึมเศร้า ผมเคยรักษามานานแล้ว คุณหมอเคยวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่เราต้องรักษา ผมเดินทางไปพบหมอ และได้ยามารับประทานเป็นประจำ

ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นปัญหาชีวิตที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนขนาดนั้น แต่พอมาถึงจุดที่เราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว มันเลยเป็นเรื่องที่ผมต้องมานั่งทบทวน และสุดท้ายผมก็เข้าไปแอดมิทครับ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ


อาการของโรคเป็นอย่างไรบ้าง

ในเมืองไทยจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสมัยก่อนหรือปัจจุบันก็ตาม หลายคนยังมองว่าโรคที่เกี่ยวกับจิตเวช หรือซึมเศร้าเป็นโรคของคนที่มีจิตใจอ่อนแอ หลายคนมองอย่างนั้นว่า ถ้าเราผ่านมันไปได้ หรือทำจิตใจให้เข้มแข็ง รักตัวเองให้มากๆ เราก็จะหายจากโรคนี้ได้

แต่จริงๆ แล้วมันก็เหมือนกับอาการป่วยทางกายนั่นแหละ อาการป่วยทางใจนี่มันค่อนข้างจะซีเรียส ถ้าเราศึกษามันจริงๆ ว่า เวลาเราเป็นแผลที่ใจ เราต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มันเหมือนกับแบบว่า เราได้รับบาดแผลทางใจแล้วเราไปหาคนที่เราไว้ใจได้เช่นคุณพ่อคุณแม่ แต่เขากลับบอกเราว่า เดี๋ยวมันก็หาย เวลาจะช่วยให้เราลืมเอง เดี๋ยวมันก็โอเค อดทนไว้ บางทีมัน…แรกๆ มันก็โอเคละครับ แต่บ่อยๆ ไปเราไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เหมือนเราขาหักแล้วเดินไปหาเขา แล้วเขาบอกว่า โอ๊ย…มันอยู่ในขา เดี๋ยวมันก็หายเอง

คุณเริ่มรู้ตัวเมื่อไหร่ว่ามีอาการแบบนั้น

ถ้านึกย้อนไปก็…น่าจะเป็นตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ ผมว่าผมมีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกแปลกๆ อย่างเช่น ผมเคยมีประวัติทำร้ายตัวเอง แต่ตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจ เพราะเหมือนทะเลาะกับแฟนมา บางคนเขามีความรุนแรงในแบบต่างๆ แต่ผมไม่เคยกระทำอะไรรุนแรงกับคนอื่น บางทีผมเศร้าหรือกดดันมากๆ ผมก็มาลงกับตัวเอง

แล้ววิธีทำร้ายตัวเองมันมีหลายอย่าง ไม่ใช่ว่าเราจะฆ่าตัวตายหรือกินยานอนหลับ แต่บางทีแค่เราจมอยู่กับความทุกข์ นั่งฟังเพลงเศร้าๆ อยู่คนเดียว ไม่ยอมออกไปเจอใคร นั่นก็เป็นการทำร้ายตัวเองอย่างหนึ่ง ซึ่งผมเป็นอย่างนั้นมาตลอด ก็แหม…พูดยาก (หัวเราะ)

สาเหตุหลักๆ น่าจะมาจากเรื่องความรักหรือเปล่า

ใช่ครับ คือ…มันเป็นที่กระบวนการความคิดของตัวเองด้วย ถ้าจะให้ผมพูดเชิงลึกจริงๆ แล้วมันเป็นทั้งทางกายภาพและทางจิตใจด้วย ทางร่างกาย บางทีสมองของเราทำงานผิดปกติ โรคนี้เป็นเรื่องของการทำงานของสมอง ของการหลั่งสารเคมีบางอย่างที่มันทำงานผิดปกติไป ตรงนี้มันช่วยได้ด้วยการรับประทานยาที่ได้จากคุณหมอ ในเรื่องของจิตใจเราก็ต้องไปบำบัด เพื่อเรียนรู้วิธีที่จะต่อสู้กับสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เราเกิดอาการซึมเศร้า

บางคนจะมีความทุกข์ทรมานมากกับการหาทางออกไม่ได้ในความคิด เพราะเขาจะคิดวนๆ อยู่อย่างนั้น เหมือนกับว่าเขาตัดใจไม่ได้ และเขาพยายามคิด ยิ่งเป็นคนฉลาดหรือหัวไวมันจะยิ่งทรมาน เพราะว่าเราแก้ปัญหาทุกอย่างให้คนอื่นได้ แต่ทำไมแก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ เราพยายามจะหาทางออกที่สมบูรณ์แบบสำหรับเรา สำหรับเขา สำหรับทุกคน แฮปปี้ แต่บางทีเราบังคับคนอื่นไม่ได้ แล้วมันทำให้เราตัน เราบังคับบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ อย่างเช่นความรัก หรือว่าความตาย บางทีก็ทำให้เราช็อก


นอกจากยาแล้ว คุณยังมีวิธีรับมือกับอาการของโรคซึมเศร้าอื่นอีกไหม

ผมเป็นคนไม่ดื่มเหล้า คน-บางทีเวลาเครียดเขาดื่มเหล้า เขาออกไปสังสรรค์ ไปเจอเพื่อน ไปเที่ยว แต่ด้วยความที่ผมดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ ผมก็เลยติดอยู่กับบ้าน แต่ก่อนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็รอให้ใครสักคนเข้ามาช่วย ผมไขว่คว้าหาสิ่งที่เรียกว่าความรักนั่นละ คือใครก็ได้เข้ามาอยู่เป็นเพื่อนที ช่วยพาผมออกไปจากตรงนี้ที ซึ่งทุกๆ ครั้งกลายเป็นว่าเราเอาชีวิตไปฝากไว้กับเขา เอาความสุขไปฝากไว้กับเขา เราพึ่งพาเขาเกินไป พอถึงเวลาที่เขาตัดเรา บางทีคนเราก็มีเบื่อ หรือว่าเขาอาจจะตัดสินใจเลือกทางใหม่ๆ มันก็โทษใครไม่ได้ แต่คนที่เสียหายหนักหรือเจ็บหนักก็คือเรา เพราะว่าเราไม่เคยเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ทุกครั้งผมไปหาคุณหมอ หลายที่มาก เขาก็บอกว่าเราต้องรักตัวเอง ต้องรู้จักอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ ที่ผ่านมาผมก็พยายาม ครอบครัวก็พูดเหมือนคุณหมอ แต่ตอนนี้ทุกคนเริ่มที่จะเห็นแล้วว่า บางทีปล่อยผมให้ช่วยตัวเองอยู่คนเดียวก็ไม่ได้ (ยิ้ม) ครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญ บางทีถ้าเกิดผมต้องการใครสักคนมาเติมเต็ม ถ้าไว้ใจไม่ได้ เพราะว่าเป็นคนนอกไง ไว้ใจไม่ได้ แต่คนที่ไว้ใจได้แน่นอนคือครอบครัวของเรา

ตอนนี้ครอบครัวผมเริ่มมีส่วนเข้ามาเติมเต็มในชีวิตของผมมากขึ้น จากแต่ก่อนที่ค่อนข้างจะห่าง และทุกคนใช้ชีวิตเหมือนครอบครัวปกติ ที่ลูกโตแล้ว ทำงาน มีแฟน แยกกันอยู่ แต่ทีนี้พอเขารู้ว่าผมมีอาการไม่สบาย ที่จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือ ตอนนี้ทุกคนเข้าใจ และพยายามช่วยผม ซึ่งผมพบว่ามันเป็นอะไรที่ดีมากๆ ได้รับความเข้าใจจากคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น และผมมีกำลังใจมากขึ้นจากครอบครัว จากแต่ก่อนที่ผมไม่กล้าที่จะแสดงความอ่อนแอ คือต้องพยายามเก็บเอาไว้คนเดียว เพราะไม่คิดว่าเขาจะเข้าใจเรา ทุกวันนี้ผมออกกำลังกาย คุณแม่ก็พูดคุย ชวนผมทานข้าวมากขึ้น

แล้วเรื่องความรักนี่เข็ดไปเลยหรือเปล่า

ไม่หรอกครับ เพราะว่ามันเป็นของที่เข็ดไม่ได้ (หัวเราะ) เราแค่ต้องเข็ดกับตัวเอง ที่ว่ามันมีคบ มันก็มีเลิกกันเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ว่าเราอย่าไปทำอย่างที่เคยเกิดขึ้นมา ที่เคยพลาดเท่านั้นเอง นอกจากเราจะต้องพัฒนาตัวเองในเรื่องของการคบหากับแฟน เวลาที่เลิก เราต้องพัฒนาวิธีการที่เราจะรับมือกับมันด้วย ซึ่งบางที ประสบการณ์ก็สอนว่าถ้าเรารอให้ถึงตอนนั้นแล้วรับมือ แก้ไข มันไม่ทัน เราต้องแก้ไขก่อน เราต้องรู้จักป้องกันตัวเองจากการที่เริ่มคบกับคนที่เราต้องมั่นใจว่า เขาสามารถรับมือกับส่วนที่เราต้องการให้เขารับมือให้ได้


แต่เชื่อว่าความรักก็ยังคงมีอยู่ใช่ไหม

ผมเชื่อในความรักเสมอ ความรักกับความดีมันมาคู่กัน ผมก็ไม่ใช่คนดีมากนะ แต่ผมคิดว่าถ้าเกิดเราเป็นคนที่ดีได้ มันจะมีความสุขตามมา อะไรที่มันไม่ดีเราพยายามละเสีย พยายามไปในทางที่ดีให้ได้มากที่สุด ผมเชื่อว่าความดีนี่แหละที่ทำให้เรามีความสุข มันไม่ใช่ความเก่ง หรือเงินทอง หรือการเอาชนะใครได้ แม้กระทั่งการมีแฟน บางทีมันไม่ได้ทำให้เรามีความสุขได้ในตอนสุดท้าย

บางทีผมต้องการที่จะมีคนรัก เพื่อที่ว่าผมต้องการจะแสดงความดี ผมต้องการที่จะได้เป็นคนดี ซึ่งถ้าเกิดเรามีคนรัก มันช่วยให้เราสามารถเป็นคนดีได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้น

คุณเคยบวชมาก่อน และเคยเปลี่ยนความตั้งใจจากเดิมที่จะบวชช่วงสั้นๆ กลายเป็นครองผ้าเหลืองนานถึงสองปี ตอนนั้นคุณมีความคิดอะไรอยู่

ตอนนั้นผมอยากจะบวชให้คุณพ่อคุณแม่นั่นละครับ แต่ว่าตอนนั้นคบกับคุณแตงโม (ภัทรธิดา ‘นิดา’ พัชรวีระพงษ์) คบกันได้สองปีแล้ว ผมมีความสุขกับเขามาก และคิดว่า…คือผมก็มองไปถึงการแต่งงานทุกครั้งที่คบกับทุกคนน่ะครับ ถ้าเกิดบวชซะ เราจะได้ทำหน้าที่ของเราเรียบร้อย แล้วเมื่อไหร่ที่อยากจะแต่งก็แต่งได้เลย ผมตั้งใจจะไปบวชเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ อาจจะสักเดือนหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้ว (ถอนหายใจ ยิ้ม) ความรักไปไม่รอด คือเลิกกับคุณแตงโมตอนนั้น ก่อนที่จะเข้าบวชไม่กี่วัน

พอเข้าไปบวชปุ๊บ เราไม่มีอะไรรออยู่แล้ว เลยคิดว่ายังไม่อยากรีบสึก อยู่ตรงนั้นผมก็สบายดีนะครับ เพราะผมไม่เคยได้ศึกษาทางธรรมจริงๆ จังๆ แต่ว่าผมคลุกคลีกับวัดมาตลอด เพราะว่าคุณพ่อเป็นคนธรรมะธัมโม เข้าวัดตลอด แต่ตัวผมเองไม่เคยอ่านธรรมะ ไม่เคยรู้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง พออยู่ในวัด ด้วยความที่ผมชอบเรียนชอบศึกษาอะไรใหม่อยู่แล้ว มันมีทั้งพระ ทั้งญาติโยมที่เข้ามาสนทนาธรรมด้วย มันเป็น challenge ซึ่งมันดีนะ เราเรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะว่าทุกคำสอนดีหมด และใช้ได้จริงหมด ขอเพียงแค่เราเปิดใจ และจัดสรรดูว่าคำสอนไหนเหมาะกับเราเท่านั้นเอง

มันทำให้ผมอยากที่จะเรียนรู้ทั้งหมด เพราะเวลามีคนเข้ามาถาม คนที่เขามีความทุกข์ คือมีคนส่งข้อความมาในอินบ็อกซ์ เฟซบุ๊กเยอะมาก ผมนั่งตอบทุกคน เป็นพระสายคีย์บอร์ด (หัวเราะ) คุณแม่ไม่เห็นด้วยหรอกครับ ทำไมพระเล่นโซเชียล (หัวเราะ) แต่ว่าถ้าเกิดเข้าไปย้อนดูในข้อความที่ผมตอบคนอื่นๆ ผมค่อนข้างที่จะภูมิใจนะครับ เพราะผมได้ช่วยคนเยอะมาก และมันเป็นอะไรที่ดียิ่งกว่านั้นตรงที่ว่า เมื่อวันหนึ่งผมล้มลง เมื่อปลายปีที่แล้ว มีหลายคนมากเลยที่เข้ามาบอกว่า ตอนที่ผมบวช ผมเคยช่วยเหลือเขา ผมเคยให้คำแนะนำ เคยชี้ทางสว่างให้เขา ผมไม่ได้เป็นคนชี้ ผมใช้แนวทางของพระพุทธองค์ไปบอกเขาอีกที แล้วเขาสามารถพ้นความทุกข์จากตรงนั้นมาได้ เขากลับมาช่วยผม เป็นกำลังใจให้ผม เขาเตือนให้ผมนึกได้ว่าผมมีค่าในตัวเอง ด้วยตัวผมเองโดยไม่ต้องมีใคร ผมสามารถทำดีให้กับใครก็ได้ มันเลยทำให้ผมลุกขึ้นได้ครับ


เวลานี้ คุณมองเห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า

จริงๆ ชัดเจนขึ้นครับ แต่ว่าตัวผมเองน่ะผมไม่ต้องการมองตัวเองให้ชัดเจน คือหลายๆ คนต้องการเคลียร์ ต้องการเห็นภาพตัวเองในอนาคต ต้องการมีแผนการเพื่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยในการรับมือกับปัญหาได้ แต่ตัวผมเองชอบเรียนรู้ ชอบผจญภัย ชอบเดินทาง

เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่ผมมองก็คือ ข้อผิดพลาดของตัวเองในอดีต และจะไม่ทำอีก จะพยายามไม่ทำให้ครอบครัวต้องเสียใจซ้ำๆ และจะไม่ทำให้คนที่รักเราต้องหลุดลอยหายไปอีก อนาคตผมมองไม่เห็นตัวเองที่แน่นอนหรอกครับ ผมรู้แต่ว่า ไม่ว่าอะไรจะเข้ามาผมต้องทำให้ดีขึ้น

และจะใช้อดีตเป็นบทเรียนสำหรับการใช้ชีวิตต่อไปใช่ไหม

ถูกครับ (ยิ้ม) บทเรียนเยอะเหลือเกิน เจอมาเยอะมาก มันก็เหนื่อยแล้ว จริงๆ ตอนนี้ถ้าเกิดคว้าอะไรได้ ถูกใจ คุยกันรู้เรื่อง แต่งงานแล้ว (หัวเราะ)




เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์

]]>
‘พัทธ์ ยิ่งเจริญ’ จิตรกรผู้ไม่ติสต์และเป็นมืออาชีพแบบเต็มตัว https://marshomme.com/interview/267225/ Thu, 09 Jan 2020 09:35:00 +0000



“ทุกคนเคยวาดรูปครับ วิชาศิลปะเด็กๆทุกคนต้องเรียน เพียงแต่ว่าพอถึงช่วงเวลาหนึ่งทุกคนจะหยุดกันไป เพียงแต่ผมไม่หยุด ผมวาดรูปมาตลอด แล้ววันหนึ่งมันก็เลยกลายเป็นอาชีพ”

หลายคนน่าจะเคยมีโอกาสได้ไปเยือนถนนพระอาทิตย์ ถนนเก่าแก่แห่งมหานครกรุงเทพ นอกจากใกล้สถานที่สำคัญหลายๆแห่งทั้งป้อมพระสุเมรุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือตรอกข้าวสาร ยังเต็มไปด้วยร้านอาหารอร่อย และน่านั่งหลายร้าน แล้วแต่ไลฟ์สไตล์และแนวที่ชอบของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร

แต่ถ้าใครมาแล้วยังไม่รู้ว่าร้านไหนน่าสนใจอยากขอแนะนำร้าน ‘ครัวนพรัตน์’ ร้านอาหารเล็กๆที่อยู่บริเวณหัวมุมโค้งป้อมพระสุเมรุ ที่นอกจากรสชาติอาหารจะอร่อยถูกปากทั้งชาวไทยและต่างชาติแล้ว เรายังจะเพลิดเพลินกับงานจิตรกรรมที่สวยงามตระการตา ที่เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากจิตรกรดาวโรจน์อย่าง ‘พัทธ์ ยิ่งเจริญ’ หนุ่มน้อยจิตรกรไฟแรงที่ทั้งวาดภาพสวย ทั้งมีทัศนคติสวยๆและน่าสนใจ เพราะเขาบอกกับเราว่าเขากำลังพิสูจน์ว่าเขาคือ ‘จิตรกรมืออาชีพ’ ให้โลกใบนี้ได้เห็นอยู่ในทุกวันนี้


แนะนำตัวพัทธ์ ยิ่งเจริญ

‘พัทธ์ ยิ่งเจริญ’ครับ อายุ 25 ปีย่าง 26 ปี อาชีพศิลปินอิสระ และมีอาชีพเสริมเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยศิลปากรครับ

เดินทางไหนถึงได้เป็นจิตรกร

ผมวาดรูปเก่ง ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ก็มองว่าอยากทำอาชีพเกี่ยวกับศิลปะ เพียงแต่ว่าตอนเด็กๆยังไม่รู้หรอกว่ามีอาชีพจิตรกร หรือจิตรกรมันเป็นยังไง มองแค่ว่าศิลปะที่มันเป็นอาชีพได้ มันมีอะไรบ้าง สถาปนิกหรือมันฑณศิลป์อะไรพวกนี้ตั้งใจแต่เด็กแล้วล่ะครับว่าเราจะดำรงชีพด้วยศิลปะ พอโตมาก็โฟกัสไปที่ด้านศิลปะเต็มตัวเลย แม้ว่าที่บ้านจะมีเปรยอยู่บ้างว่าอยากให้เรียนสายวิทย์ อยากให้เป็นหมอ อะไรเหล่านั้น แต่มันเหมือนมีภาพใหญ่ในใจเราอยู่ประมาณหนึ่งแล้วว่าเราอยากเรียนสายจิตรกร เรียนสายสามัญมาจนจบม.6 แล้วก็สอบเข้าคณะจิตรกรรมแบบที่ไม่ได้เลือกทางเลือกอื่นไว้เลยแล้วก็สอบติดจนเรียนจบ ก็ได้เป็นจิตรกรเลย เพราะบังเอิญได้เซ็นสัญญากับห้องจัดแสดงภาพที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน จากนั้นได้รับการทาบทามจากอาจารย์ที่สอนที่คณะตั้งแต่เรียนจบเลยได้เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยด้วยอาจจะมีไปทำงานดีไซน์บ้าง ไปช่วยทำลายเสื้อ ไปออกแบบบ้าน แต่ว่ามันก็จะเป็นงานที่เรารับเป็นจ๊อบๆเพื่อเพิ่มประสบการณ์มากกว่า สุดท้ายเราก็เลือกสายงานจิตรกรที่เราเดินทางมาตลอดเช่นเคย

เทคนิคจิตรกรรมด้านไหนที่ถนัดที่สุด

ที่ถนัดที่สุดจะเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันเพราะใช้อยู่ด้วยในปัจจุบัน แต่ในการเรียนจิตรกรรมเราต้องเรียนทุกอย่างทั้งหมดมาก่อน เพราะฉะนั้นก็จะสามารถทำได้ทุกๆเทคนิคที่ใช้เยอะที่สุดจะเป็นสีน้ำมันกับอะคริลิคดรอว์อิ้งมีบ้างแต่ไม่เยอะเท่าไหร่ ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำงานมากกว่า เช่นเก็บข้อมูล เก็บรายละเอียด เพราะงานจริงๆที่ใช้จะเป็นสีน้ำมันเป็นหลัก


ที่มาของพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในร้านครัวนพรัตน์

ตอนเปิดร้าน (ครัวนพรัตน์) เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตพอดี ก็เลยตกแต่งร้านด้วยธีมนั้น แล้วมีความคิดว่าอยากเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ตลอดช่วงปีนั้น เพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยเขียนเลยครับ ตอนเปิดร้านเราคิดว่าจะทำชั้นล่างกับชั้นสองเป็นที่จัดแสดงภาพแบบหมุนเวียน เป็นการผสมกันระหว่างร้านอาหารกับห้องแสดงภาพ ปีแรกเราก็ชวนพี่ๆน้องๆที่รู้จักกันมาร่วมแสดงงาน พอพ้นปีแรกไปแล้วผมเองก็ค่อนข้างยุ่ง ทั้งงานที่มหาวิทยาลัย และงานที่ห้องแสดงภาพอื่นๆ เลยไม่ได้มีเวลาเข้ามาดู ไม่ได้หมุนเวียนภาพในร้าน พอหมดปีหนึ่ง ผมเลยคืนงานที่เอามาหมุนเวียนให้เจ้าของเขากลับไป แล้วผมมาแต่งผนังอีกฝั่งเอง เพราะไอเดียเก่ามันยุ่งยากเกินไป เราไม่มีเวลามาดูแลตรงนี้ เลยวาดภาพถาวรขึ้นมาอีกฝั่งหนึ่ง ที่เหลือก็เอางานเก่าๆของตัวเองมาตกแต่งไว้มีคนถามถึงภาพในหลวงพอสมควรครับ ทั้งคนที่ผ่านไปผ่านมา ลูกค้าใหม่ ลูกค้าประจำ จนกระทั่งนิตยสารหรือสื่อออนไลน์ต่างๆให้ความสนใจในช่วงปีสองปีแรก พอหลังจากช่วงปีสองปีแรกก็ยังมีให้ความสนใจมาเรื่อยๆครับ เพียงแต่ว่าช่วงหลังผมไม่ค่อยได้อยู่ที่ร้าน

ความโดดเด่นในงานจิตรกรรมของตัวเองคืออะไร

ในการสร้างสรรค์งานที่เอาไว้จัดแสดงตามงานต่างๆ ความโดดเด่นของผมมันอาจจะอยู่ที่การใช้เนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์มาอ้างอิง ซึ่งมีค่อนข้างเยอะพอสมควร การผสมเรื่องราวเกี่ยวกับปกรณัมต่างๆ ประวัติศาสตร์ พระคัมภีร์ รวมถึงเรื่องราวร่วมสมัยเข้าด้วยกัน แล้วเล่าออกมา เป็นคนชอบเรื่องเก่าแก่ ชอบเรื่องประวัติศาสตร์พวกนี้ครับ ก็เลยมีกลิ่นพวกนี้อยู่ในงานของเรา


คิดว่าอะไรคือลายเซ็นในงานจิตรกรรมของตัวเอง

ผมคิดว่ามันคือ ‘ความตรง’ งานของผมส่วนใหญ่จะเป็นการวิพากษ์แบบไม่อ้อมค้อมเท่าไหร่ เป็นเชิงเปรียบเทียบแต่ไม่ได้แรงขนาดถึงขั้นรับไม่ได้ ไม่ได้เขียนภาพประวัติศาสตร์แบบสวยๆงามๆอย่างเดียว แต่เราเลือกเขียนภาพประวัติศาสตร์ที่ตรงแล้วก็มีเรื่องราวที่ดูเหมือนมีความรุนแรง แต่ไม่ได้ถึงขนาดที่จะดูไม่ได้อะไรขนาดนั้น มันจะมีความมืดมนหน่อยๆอยู่ในงาน มีความดาร์คนิดๆ แต่ไม่ได้ถึงขั้นด่ากราด มันเป็นทัศนคติของผมเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่ผมแสดงมันออกมาผ่านงานศิลปะของตัวเองงานของผมผมจะใช้การหยิบยืมภาพจากประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แล้วมาใช้ เช่น ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ภาพเขียนในอดีต แล้วเอามาประกอบเข้ากันใหม่ ในทางศิลปะจะใช้คำว่า Appropriation artที่เป็นการค้นเข้าไปในกล่องข้อมูลในอดีตแล้วไปนำข้อมูลมาใช้ ผมจะใช้เรื่องที่มีอยู่แล้วมาประกอบกันในแนวทางของผมเอง

งานแบบไหนที่เราไม่เคยคิดจะสร้างสรรค์ขึ้นมาเลย

ถ้าเป็นการว่าจ้าง ถ้าคุยกันรู้เรื่องทั้งผู้จ้างและตัวผมเองก็โอเค ผมสามารถทำให้ได้ในทุกๆขอบเขตนะครับ เพราะผมเองก็เคยทำงานมาทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่ภาพเหมือน ภาพทางศาสนา ภาพต่างๆนานา แต่งานที่จะไม่รับส่วนใหญ่คืองานที่ผู้จ้างมีทัศนคติไม่ตรงกับตัวเราเช่น มีทัศนคติเกี่ยวกับศาสนาที่เราไม่เห็นด้วย เราก็จะไม่เอา หรือถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ถ้ามีทัศนคติแบบสุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งแล้วเรารู้สึกว่ามันเกินไป เราไม่ได้มีความคิดแบบนั้น เราก็จะไม่ทำ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นงานที่ผมคิดเอง ผมจะไม่ทำเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ผมไม่ค่อยวาดภาพเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ไม่ใช่ผมไม่สนใจนะแต่ผมไม่มีประเด็นอะไรที่จะวิพากษ์อยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่ในบริบทแบบนั้น เราไม่ไปแตะเราก็โอเคอยู่แล้ว บางทีมันหาสัญญะหรือท่าทีในการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ยากพอสมควร เพราะศาสนาพุทธในไทยเราจะมีขอบเขตในการพูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างแคบ พอสื่อสารไปแล้วอาจเกิดปัญหา ผมเลยคิดว่าเรื่องแบบนี้เลี่ยงได้เลี่ยงดีกว่า หรือเรื่องที่มันเป็นการเมืองแบบสุดโต่งก็จะเลี่ยงเหมือนกัน แต่ไม่ถึงขั้นไม่พูดเลย แต่จะใช้วิธีการอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบแฝงเอาไว้ในงานของเรามากกว่า

เคยเจอผลกระทบเกี่ยวกับงานของตัวเองบ้างไหม

มีบ้างแต่น้อยครับ ที่เจอในการแสดงงานส่วนใหญ่ เป็นเรื่องการตีความคนละแบบกันกับที่เราคิดหรือสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไป ผมเคยโดนชายผิวสีคนหนึ่งเดินมาคุยกับผมในงานแสดงภาพว่าเขาคิดว่างานของผมคืองานเหยียดผิว เพราะผมเขียนภาพประติมากรรมกรีกที่เป็นคนผิวขาว ทำให้เขาไม่สบายใจ เพราะเราเป็นเอเชียที่ไปวาดภาพเกี่ยวกับประติมากรรมกรีก เพราะเขามองว่าประติมากรรมกรีกนั้นจริงๆแล้วพูดถึงความหลากหลายของชนชาติมากกว่าการจะพูดถึงแต่คนผิวขาว จะเป็นเรื่องเข้าใจผิดมากกว่า แต่ไม่เคยเจอที่แบบขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยกับงานของเราแบบตรงข้ามเลยอันนี้ยังไม่เคยมีครับ อาจเพราะเราอ่านประวัติศาสตร์ ทัศนคติ หรือกรอบความคิดทางสังคมมาเยอะอันไหนหลีกเลี่ยงได้เราก็หลีกเลี่ยง เราเข้าใจว่าบางเรื่องเมื่อถูกพูดถึงในที่สาธารณะการตีความของคนที่มีความเชื่อต่างกันมันอาจจะส่งผลที่มันรุนแรงได้


นอกจากศึกษาศิลปะแล้ว เรายังศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมด้วย?

งานรองของผมที่เป็นงานสอน ผมก็สอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จิตรกรรม แล้วก็เทคนิคจิตรกรรมโบราณด้วยครับ คือถ้าไม่ได้เป็นจิตรกร ผมว่าทางที่ผมชอบอีกทางคือเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ผมจะชอบเกี่ยวกับความคิดเชิงปรัชญาสังคม หรือด้านประวัติศาสตร์ แต่มันก็ยังอยู่ในสาย comparative art (ศิลปะเชิงเปรียบเทียบ)สุดท้ายมันจะย้อนกลับไปเริ่มต้นที่ศิลปะอยู่ดีครับ เพราะศิลปะที่ผมชอบมันเป็นศิลปะโบราณ แล้วจิตรกรโบราณเค้าไม่ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับตัวเขา เขาเขียนเรื่องเกี่ยวกับปกรณัม ศาสนา อะไรพวกนี้มากกว่า เวลาเราเห็นเราจะอยากเข้าใจงานชิ้นนั้นๆที่เราชอบ เราก็ต้องเข้าใจในเนื้อหาที่เขาสื่อออกมา กลายเป็นที่มาให้เราต้องย้อนกลับไปอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องที่เขาพยายามจะสื่อสาร รวมทั้งบริบทเกี่ยวกับตัวเขาด้วย มันเลยกลายเป็นว่าเราอ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่สุดท้ายต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆ เช่น ปริภูมิของประวัติศาสตร์ วรรณคดี วรรณกรรม ต่างๆ นานา

งานศิลป์ระดับโลกที่เป็นแรงบันดาลใจ

มันเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงอายุครับ แต่ละช่วงมีจิตรกรที่ผมจะชอบมากๆ เช่นตอนเด็กๆจะเป็น William-Adolphe Bouguereau เป็นชาวฝรั่งเศส คนนี้เป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็กเลย งานของเค้าจะสวยมากแต่อาจจะไม่ได้ลึกซึ้งเท่าไหร่ จะเน้นทักษะที่สูงมาก พอโตมาอีกหน่อยผมจะชอบย้อนกลับไปอีกเช่นงานของ venetian school, Titian หรือ Tintorettoแล้วศิลปินร่วมสมัยที่ชอบก็มีหลายคนครับทั้งสายประติมากรรม หรือสาย painting อย่าง Francis baconมันเหมือนการกินอาหารครับ เราอาจจะชอบหลายๆเมนู แต่ละช่วงแต่ละเมนูเราก็จะมีการชอบที่ไม่เหมือนกัน บางทีเราชอบรสเปรี้ยว บางอย่างเราชอบรสกลมกล่อม ศิลปะก็จะคล้ายๆ กันครับ


ในฐานะจิตรกรมองสังคมไทยกับศิลปะไปในทิศทางใด

สำหรับผมมองว่ามันอยู่ที่มุมมองของคำว่าศิลปะ มากกว่าการที่เราจะมองว่าอะไรเป็นศิลปะ หรืออะไรไม่เป็น ทีนี้ถ้าเราตีความศิลปะแคบๆว่ามันคือผลงานที่แสดงในห้องแสดงภาพที่เป็นบริบทของศิลปะเท่านั้น มันก็จะมีท่าทีเฉพาะที่เหมือนกับว่าเราต้องเข้าไปทำความเข้าใจมัน แต่ถ้าเกิดว่าเรามองว่างานศิลปะเป็นเรื่องของความกระหายในการสร้างสรรค์ ถ้าเราไม่ได้แบ่งแยกว่าศิลปะเป็นพื้นที่เฉพาะ ผมว่ามันก็ไม่ได้ยากในการที่จะทำความเข้าใจ ศิลปะจริงๆแล้วมันคล้ายๆกับการสื่อสารด้วยไวยากรณ์หนึ่ง หรือรูปแบบภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้นเอง เวลาเราเข้าไปในห้องแสดงภาพต่างๆ เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่ามันมีไวยากรณ์เฉพาะ มีภาษาเฉพาะที่เราต้องทำความเข้าใจ การปรับตัวเหล่านี้นั่นแหละครับที่มันต้องใช้การศึกษาทำความเข้าใจ ในลักษณะเดียวกันกับที่เราศึกษาเรื่องมารยาททั่วไปในพื้นที่ทางสังคมต่างๆนั่นแหละครับ แค่ทุกวันนี้เรายังไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจมันมากพอ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราเข้าใจมันยาก โดยเฉพาะงานศิลปะที่มันไม่เกี่ยวกับเรา แต่ถ้าเป็นงานศิลปะที่มันใกล้เคียงกับวัฒนธรรมของเราเอง เราจะเข้าถึงมันง่าย ไม่ใช่ว่าศิลปะจะยากเสมอไป ผมมองว่าศิลปะมันคือภาษาหนึ่งที่ศิลปินใช้สื่อสารกับสังคม

แนวทางอาชีพจิตรกรแบบมืออาชีพ

กรณีของผมมันค่อนข้างจะมีตารางเวลาหรือว่าระเบียบในชีวิตค่อนข้างชัดเจน เพราะผมทำงานกับห้องแสดงภาพที่กำหนดให้ว่าเราต้องแสดงงานปริมาณเท่าไหร่ ในแต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน แต่ละปี ที่ไหนอย่างไรเขาจะจัดการให้เราหมด หน้าที่ของผมมีแค่จัดระเบียบตัวเองให้สามารถทำงานให้ได้คุณภาพและตรงตามเวลาที่เขากำหนดมาให้ ดังนั้นมันจะมีระเบียบการทำงานที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมชัดเจน เราเลยต้องทำงานตามระเบียบนั้น และทำให้มันดีที่สุด อย่างที่ผมบอกแหละครับไม่ว่าเราจะอยากทำหรือไม่อยากทำ ถ้าเรามัวแต่อ้างว่าเราไม่อยากทำ เพราะงานมันจะออกมาไม่ดี เราเลยไม่ทำดีกว่า ให้มองอาชีพอื่นที่เขาไม่สามารถเลือกที่จะไม่ทำเพราะไม่อยากทำได้ อย่างหมอหรือทนายความเขาก็คงไม่อยากผ่าตัดหรือว่าความตลอดเวลา เพียงแต่มันเป็นเงื่อนไขในอาชีพที่เขาประกอบอยู่นั่นเอง เราจะจัดระเบียบตัวเองอย่างไรเพื่อให้งานของเราเสร็จสมบูรณ์ได้ 100% เท่านั้นเองครับ ส่วนเรื่องรายได้นั้นมากน้อยขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละคนครับ ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกัน เอาเป็นว่า ณ ปัจจุบันผมก็มีรายได้ที่ค่อนข้างจะโอเค ขนาดที่ว่าเลี้ยงชีพได้แล้วก็ไม่ได้ลำบากหรือไปทำอาชีพอื่นเสริม

หลักการใช้ชีวิตของอาชีพจิตรกร

ผมคิดว่าจริงๆแล้วมันก็ไม่ใช่แค่จิตรกรหรอกครับ อาจรวมไปถึงอาชีพศิลปิน ที่โดยทั่วไปนั้นเราเป็นนักสื่อสาร เพียงแต่การสื่อสารของเรานั้นใช้ภาษาที่มันแตกต่างออกไปจากคนอื่นแค่นั้นเอง และประเด็นการสื่อสารของเราก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นรูปธรรมมากนัก บางทีมันเป็นประเด็นในเชิงศิลปะ ความงาม ความรู้สึก หรือความจริงในทัศนะของศิลปิน ซึ่งมันอาจไม่ใช่ความจริงทางสังคมเหมือนนักข่าว แล้วเราก็มีหน้าที่ มีขอบเขตในการทำงานค่อนข้างชัดเจน เพราะฉะนั้นสำหรับผม จิตรกรมีพันธะทางอาชีพในการสื่อสารประเด็น สื่อสารความจริงที่เราเชื่อต่อสังคม และเราควรทำหน้าที่ของเราให้ดี


คิดยังไงกับคำว่า ‘ศิลปินเข้าใจยาก’ หรือ ‘ติสต์’

ส่วนตัวผมเองไม่ค่อยถูกทักเรื่องนี้ เพราะผมเป็นจิตรกรที่ไม่ได้แยกตัวเองออกจากคนอื่นๆ ผมอยู่ในสังคมปกติ มีเพื่อนต่างอาชีพ และผมไม่ได้รู้สึกตัวเองแปลกแยกหรือแตกต่างจากใคร เพียงแต่ผมเรียนจบด้านศิลปะมา และผมก็รู้สึกว่าคนที่เรียนกับผมมาก็มีจำนวนน้อยนะที่ดูแปลก ส่วนใหญ่ก็ปกติเหมือนเราๆนี่แหละครับ ผมว่าคำว่า ‘ติสต์’ มันถูกเอาไปใช้แบบตีความกว้างเกินไป แล้วบางครั้งเราจะนิยามสิ่งที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าติสต์ไว้ก่อน อย่างบางคนจะถึงวันแสดงงานทำงานไปได้แค่ครึ่งเดียวและบอกไม่มีอารมณ์ทำ อันนี้ไม่ใช่ติสต์ มันคือไม่มีความรับผิดชอบ ผมว่าเราต้องแยกกันให้ชัด แต่ว่าศิลปะมันก็มีบางแง่มุมครับที่มันเข้าใจยาก บางแง่มุมที่มันเป็นนามธรรมมันไม่สามารถอธิบายได้

ความสุขในอาชีพจิตรกร

จริงๆความสุขในการทำงานของผมมันจะอยู่ที่กระบวนการทำงานมากกว่าครับ ผมอาจจะมีความสุขประมาณหนึ่งเวลาได้เปิดงานแสดงหรือได้จัดแสดงผลงาน แต่ผมกลับรู้สึกว่าความสุขจริงๆของผมมันอยู่ในกระบวนการการทำงานของผมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงของการค้นคว้าหาข้อมูล หรือช่วงที่กำลังทำผลงานแต่ละชิ้นอยู่ มันเหมือนเวลาเราเล่นเกมหรือต่อโมเดล มันเป็นกิจกรรมที่มีกระบวนการยาวๆเป็นระยะเวลา 10 วันหรือ 1 เดือน ช่วงเวลานั้นเราจะลืมทุกอย่างเลย แล้วพอเราทำเสร็จ เราจะรู้สึกอยากทำชิ้นใหม่ เหมือนเราอยากเล่นเกมๆใหม่อีก มันจะมีความสุขกับกระบวนการทำงานไปเรื่อยๆครับ ผมเชื่อว่าความสุขของจิตรกรเกือบทุกคน มันก็น่าจะอยู่ตรงนี้แหละ

จิตรกรฝากถึงจิตรกรในอนาคต

ผมเชื่อว่าคนทุกคนอาจจะมีครอบครัวที่มีอิทธิพลในชีวิตอยู่แล้วส่วนหนึ่งไม่ว่าจะมากจะน้อย เราไม่มีทางเป็นตัวเราเองร้อยเปอร์เซ็นต์ จริงๆแล้วไม่ว่าเราจะชอบอะไรก็แล้วแต่นะครับ พยายามอย่าหยุดทำ เว้นแต่ว่าเราพอใจอยากจะหยุดไปเอง ทุกคนเคยวาดรูปครับ วิชาศิลปะเด็กๆทุกคนต้องเรียน เพียงแต่ว่าพอถึงช่วงเวลาหนึ่งทุกคนจะหยุดกันไป เพียงแต่ผมไม่หยุด ผมวาดรูปมาตลอด แล้ววันหนึ่งมันก็เลยกลายเป็นอาชีพ ผมคิดว่าวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือถ้าเราไม่อยากหยุดทำอะไรก็ตาม ก็พยายามทำมันต่อไป ทำมันไปเรื่อยๆ ทำมันอย่างจริงจัง แล้ววันหนึ่งมันจะกลายเป็นอาชีพได้


ขอบคุณสถานที่: ครัวนพรัตน์

]]>