Warning: Cannot modify header information - headers already sent by (output started at /var/www/marshomme.com/wp-content/plugins/wp_mgr_id/wp_mgr_id.php:1) in /var/www/marshomme.com/wp-includes/feed-rss2.php on line 8
หนัง – Marshomme https://marshomme.com Tue, 28 Dec 2021 16:29:49 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.2.20 https://marshomme.com/wp-content/uploads/2019/10/logo2_icon-90x90.png หนัง – Marshomme https://marshomme.com 32 32 Squid Game เล่นลุ้นตาย และอีก 4 เกมโชว์วัดสันดานมนุษย์ https://marshomme.com/scoop/532127/ Fri, 01 Oct 2021 11:00:00 +0000
          รวมหนังและซีรีส์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ “พฤติกรรมมนุษย์” ในแง่มุมต่าง ๆ ที่อยู่ก้นบึ้งของผู้คน Mars Homme รวบรวมหนังที่การันตีได้ว่า ทุกเรื่องถูกท้าทายและตั้งคำถามในความเป็นมนุษย์ขั้นสุด ไล่ตั้งแต่ซีรีส์ที่ฮิตสุด ๆ ทาง Netflix อย่างเรื่อง Squid Game เล่นลุ้นตาย, The Platform , Alice in Borderland , All the God Will และ 13 เกมสยอง


Squid Game – เล่นลุ้นตาย

          ถึงจะมีคนจำนวนมากพยายามบ่นว่าซ้ำบ้าง เดาได้บ้าง ตรรกะป่วยบ้าง หรือจบห่วยบ้าง แต่อย่างไรก็ตามถ้าเราพิจารณาความรู้สึกในฐานผู้ดูของเราดีๆ การดูซีรีส์เกาหลีขนาดความยาว 9 ตอน ทาง Netflix เรื่อง Squid Game ก็จะปฏิเสธได้ยากว่า ซีรีส์ที่เกี่ยวกับเกมโชว์ที่ผู้เล่นต้องเอาชีวิตเข้าแลกเรื่องนี้ มันเป็น “ซีรีส์เพื่อความบันเทิง” ที่ตอบโจทย์ด้านความบันเทิงอย่างค่อนข้างจะครบถ้วน และสมบูรณ์แบบ


          โดยแน่นอนว่า นอกจากความลุ้นระทึกกับเรื่องราวการสมัครใจเข้าไปเพื่อเล่นเกมโชว์ แบบรวมพลคนติดหนี้ใน Squid Game ที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินรางวัลที่พวกเขาหวังว่ามันจะเปลี่ยนชีวิตห่วยๆ พังๆ ให้กลายเป็น “ปัง” ขึ้นมาได้ อีกมิติหนึ่งเรื่องราวของ Squid Game ก็ทำหน้าที่สะท้อนธาตุบางอย่างในตัวมนุษย์ ออกมาได้เราได้เห็นแบบที่ไม่ต้องการการตีความอะไรมากมาย 


                   “คนโง่เป็นเหยื่อของคนฉลาด”
                   “ความโลภเป็นเหตุให้คนทำได้ทุกอย่าง”
                   “เพื่อเงินเราอาจจะไม่สามารถไว้ใจใครได้”

        เกมต่าง ๆ ที่เราเห็นในเรื่องล้วนแล้วแต่ออกแบบมาได้อย่างน่าสนใจ ทั้ง เกมเออีไอโอยู,เกมแกะน้ำตาล,เกมลูกแก้ว ไปจนถึงเกมสะพานกระจก ล้วนแล้วแต่ทำให้เราได้กลับมาสะท้อนใจไม่น้อย


         การได้ดูหนังที่พูดถึงเกมโชว์ การการเล่นเกม ที่ถ่ายทอดออกมาด้วยภาพที่ค่อนข้างโหด เลือดสาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเรื่องราวนั้นมันสามารถสะท้อน และเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์จริง เรื่องราวจริง ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้ มันคือเนื้อหาที่เราสามารถพูดได้ละครับว่าทำออกมากี่ทีก็ชวนติดตาม ทำมากี่ทีก็สะเทือนใจ เพราะเรื่องราวเกมโชว์เหล่านั้นมัน “สะท้อนสันดานของมนุษย์” ออกมาได้ดีจริง ๆ


The Platform – ชนชั้นสูงชนชั้นล่าง

         ถ้าจะพูดถึงเกมที่สะท้อนภาพความสูงต่ำ เหลื่อมล้ำแบบชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ชนชั้นต่ำ ในสังคมได้ดีที่สุดเกมหนึ่งก็คงจะเป็นเกเลิฟท์มรณะ จากหนังเรื่อง “The Platform”


         The Platform เป็นหนังวิทยาศาสตร์ สยองขวัญ สะท้อนสังคม ที่เล่าเรื่องของกลุ่มคนที่ถูกจับมาใช้ชีวิตอยู่ในห้องขังที่มีการออกแบบระบบการให้อาหารที่พิสดารที่สุดที่เราเคยดูมาในภาพยนตร์ โดยผู้เล่นแต่ละคนจะถูกแบ่งออกเป็นคู่ ๆ แต่ละคู่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในชั้นความสูงที่แตกต่างกันออกไป โดยในแต่ละวัน ทางผู้จัดเกมจะมีการเสิร์ฟอาหารจำนวนมากให้ผู้เล่นทุกคน ในแต่ละชั้นกินตามลำดับ ตั้งแต่ชั้น 1 ที่อยู่ด้านบนสุด และชั้นที่ 132 ที่อยู่ด้านล่าสุด


          แล้วชนชั้นล่างจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าแม้แต่เศษอาหาร ก็ยังไม่หลงเหลือมาแม้แต่น้อย จากพวกที่อยู่สูงกว่า


Alice in Borderland – เกมโพธิ์แดง เกมวัดความเป็นคน

        Alice In Borderland คือซีรีส์ญี่ปุ่นอีกเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบในวันที่ Squid Game ของเกาหลีเริ่มมีการเผยแพร่ผ่านทาง Streaming คงเพราะเนื้อเรื่องของเกม รวมไปถึงเรื่องความพยายามเอาตัวรอดของผู้เล่นเกม ซึ่งในเชิงสะท้อน “สันดานมนุษย์” เกมที่ผู้เขียนมังงะต้นฉบับของ Alice in Borderland ออกแบบมามันก็ทำหน้าที่ได้ดีเหลือเกิน


          เกมใน Alice in Borderland ถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามเครื่องหมายบนไพ่ โพธิ์ดำคือความแข็งแร่ง,ความหลามตัดคือเกมใช้สมอง,ดอกจิกคือเกมของความร่วมมือ และโพธิ์แดงคือเกมจิตวิทยา ซึ่งเกมโพธิ์แดงใน Alice in Borderland นี่และครับที่รีดเค้นสันดานของผู้เล่นออกมาได้อย่างน่าสะเทือนใจเหลือเกิน


         ไม่ว่าจะเป็นเกมหมาป่ากับลูกแกะ ที่ให้ผู้เล่นทั้งหมดเปลี่ยนกันเป็นหมาป่าซึ่งเป็นผู้ล่า หรือลูกแกะผู้ถูกล่า เกมที่ผมว่าทำให้ใครก็ตามที่ต้องเผชิญ ถึงขึ้นหัวใจสลายได้ง่ายๆ ไปจนถึงเกมหลักของ Alice in Borderland ที่เรียกว่า “เกมล่าแม่มด” เกมที่ทำให้คนที่เคยเป็นเพื่อนกัน เคียงบ่าเคียงไหล่กัน กลายเป็นไม่ไว้ใจกัน และหันมาทำร้ายกันได้ง่ายๆ


All the God Will – ร่วมมือหรือเอาตัวรอด

         All The God Willเกมเทวดาฆ่าไม่เลี้ยง คือหนังที่สร้างมาจากมังงะในชื่อเดียวกัน ซึ่งไม่ว่าจะการ์ตูนต้นฉบับ หรือฉบับภาพยนตร์ เรื่องราวของเกมเทวดาก็ตั้งคำถามถึง “สันดานของมนุษย์” ไม่ต่างกัน


         ไม่ว่าจะเกมดารุมะ,แมวกวัก,ตุ๊กตาล้มลุก,หมีขาว หรือ ตุ๊กตาแม่ลูกดก ทุกเกมที่เกิดขึ้นใน All the God Will มีเงื่อนไขที่ไม่น่าไว้วางใจอยู่ตรงที่ ผู้เล่นไม่มีทางรู้เลยว่าเกมที่กำลังเล่นอยู่จะมีผู้รอดกี่คน จะรอดเฉพาะคนที่ชนะ,ทุกคนที่ร่วมมือกัน หรือทุกคนที่ยังเหลืออยู่ ดังนั้น ภาพที่เราได้เห็นแทบจะทุกครั้งในการเล่นเกมของตัวละครใน All the God Will ก็คือการถกเถียงกันของผู้เล่นว่า ใครควรจะเป็นคนจบเกม ถ้ายอมให้เพื่อจบ เพื่อนจะรอดคนเดียวมั้ย ไอ้เงื่อนไขบ้าๆ นี่ละที่วัดอะไรต่อมิอะไรได้มากเหลือเกิน


13 เกมสยอง – เพื่อเงินเราทำได้ทุกอย่าง

        ในหมวดหนังไทย ที่ปนไปทั้งความสยองขวัญ ระทึกขวัญ สั่นประสาท เชิงจิตวิทยา งานของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เรื่อง13 เกมสยอง เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ติดอยู่ในความทรงจำของคไทยหลายๆ คน


         หนังเล่าเรื่องราวของตัวละครที่ชื่อ “ภูชิต” มนุษย์เงินเดือนที่กำลังจนตรอกในเรื่องของรายได้ โดนไล่ออกจากงาน,หนี้สินล้นพ้นตัว,ล้มเหลวในความรัก ฯลฯ แล้วจู่ “ภูชิต” ก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เมื่อมีสายโทรศัพท์ปริศนา ยื่นของเสนอให้แกเข้าร่วมเล่นเกม เพื่อเงินรางวัล 100 ล้านบาท


        ใน13 เกมสยอง ภูชิต ต้องเอาชนะเกมไปทีละเกมทีละเกม เพื่อรับเงินรางวัลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ดีกรีความยากของเกมก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเงาตามตัว ตั้งแต่ฆ่าแมลงวัน,ทำให้เด็กร้องไหน,กินสิ่งปฏิกูล ไปจนถึงเกมที่ทำให้ผู้เล่นแทบจะต้องก้าวข้ามความเป็นมนุษย์ไปเลยและทุกเกมใน 13 เกมสยองมันตั้งคำถามกลับมาที่เราคนดูว่า “เพื่อเงินเราจะยอม ทำได้ทุกอย่างจริง ๆ หรือ?” 


        เรียกว่าตั้งแต่ 13 เกมสยอง จนถึง Squid Game จะว่าไปแล้วในมุมของผู้ชมสายบ่น เขาก็ไม่ผิดที่จะมีความรู้สึกว่า “อีกแล้ว…เกมอีกแล้ว” เพราะ หนังทำนองนี้มันไม่ได้มีเท่าที่ว่ามาในนี้ เรื่องของเกมโชว์แห่งความตายแบบนี้มันถูกหยิบมาทำ หยิบมาเล่าแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะวงการบันเทิงฝั่งญี่ปุ่น 


         แต่ถ้าเราลองมองให้ลึกลงไปในคำว่า “อีกแล้ว” ว่ามันมีสาเหตุที่น่าสนใจของการทำซ้ำที่ว่านี้ ไม่ว่าลักษณะการเล่นเกมในเรื่องจะถูกสร้างสรรค์ออกมาแตกต่างกันแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่เราเห็นอยู่ได้บ่อย ๆ ในหนังทำนองนี้ก็คือ “พฤติกรรมขอมนุษย์” โดยเฉพาะฝั่ง “สันดานเลว” ที่แต่ละเรื่องก็ต่างมีตัวละครที่เมื่อเข้าตาจน พวกเขาก็จะเผย “สันดาน” ที่ว่าออกมาให้เห็น และการขยายภาพ “สันดานมนุษย์” ที่ความจริงในสังคมมักจะมีอยู่แบบหลบๆ ซ่อน ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในเรื่อง กับการได้เห็นหายนะของเจ้าของสันดานที่ว่านั้น มันช่างเป็นภาพที่ผมว่าเรายินดีจะดูซ้ำแล้วซ้ำอีกแบบไม่มีเบื่อจริง ๆ

โดย จีนViewfinder
Source : Netflix

]]>
หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล “ความปากกล้าของผมเกิดขึ้นจากการได้ลองและได้ล้ม” https://marshomme.com/interview/959/ Tue, 06 Aug 2019 16:09:00 +0000

บริษัทพร้อมมิตรโปรดักชั่น ที่เคยผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไทยและละครโทรทัศน์มาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่นัดหมายของเรากับ ‘คุณชายอดัม’ โอรสวัย 33 ปีของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา เป็นอาคารโล่ง และดูเงียบเหงา เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้ผลิตผลงานภาพยนตร์หรือละครเหมือนในอดีตอีกแล้ว

บริเวณชั้นสองของอาคารที่เรานั่งสนทนา มีหุ่นในชุดเครื่องแต่งกายโบราณ และบอร์ดแสดงสถานที่ บรรยากาศคล้ายพิพิธภัณฑ์ คุณชายอดัมเล่าว่า ยังคงใช้สถานที่แห่งนี้สำหรับการประชุมงานในบางโอกาส แต่ก็นานๆ ครั้ง ส่วนตัวเขานั้นยังคงใช้บ้านพักเป็นสถานที่ทำงานเป็นหลัก

“ผมทำบ้านเป็นออฟฟิศครับ ผมชอบออฟฟิศแย่ๆ รกๆ อุปกรณ์กล้องเต็มไปหมด และมีเตียงอยู่ข้างๆ ออฟฟิศ ตื่นขึ้นมาก็ลุกเดินมาทำงานได้ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ออฟฟิศทำหนังไหนที่ไม่มีเตียงอยู่ข้างๆ ที่ทำงาน ผมว่ามันผิดนะ”

ตอนนี้คุณชายทำอะไรอยู่บ้าง

เยอะอยู่ครับ ตอนนี้ผมเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับฯ ผู้จัดทั้งละคร ซีรีส์ หนัง มีหมด แต่ทำเป็นงานอิสระ ซึ่งตอนนี้ก็มีซีรีส์ ‘ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ ซีซันที่สาม เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ 12 กรกฎาคมนี้ทาง Monomaxxx ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉพาะ แล้วยังมีงานโปรดิวเซอร์หนังเรื่อง ‘Classic Again’ ซึ่งรีเมคหนังเก่าเรื่อง ‘The Classic’ ของเกาหลี และซีรีส์ที่กำลังจะทำอีกเรื่องหนึ่ง แต่อันนี้ยังบอกไม่ได้ครับ ความลับทางราชการ (ยิ้ม)

อีกตำแหน่งคือ เป็นผู้บริหารอยู่ที่ Viu ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ตอนนี้น่าจะรู้จักกันดีแล้ว เพราะมีซีรีส์เกาหลีเยอะ และยังมีซีรีส์ไทยอีกชุดใหญ่เลย มีผู้บริหารอีกชุดหนึ่งดูแลด้านคอนเทนต์ เรื่องการผลิตออริจินอล ซีรีส์ด้วย ด้านการซื้อ-ขายคอนเทนต์ด้วย ก็ดูทั้งไทยและช่วยในต่างประเทศ

นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีงานจัดรายการวิทยุคลื่นความคิด 96.5 MHz ในเครือข่ายขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) และไปช่วยงานฟรีอีกเยอะมากครับ เป็นกรรมการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ ไปช่วยเป็นเลขานุการธุรกิจภาพยนตร์ที่ สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ตั้งขึ้นมา งานอะไรที่ช่วยเหลือวงการได้ ถึงฟรีก็ไปช่วยอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติของผม เขาก็ส่งไปสู้รบปรบมือด้านวิชาการในเวทีดีเบต เวทีเสวนา สายที่ไม่ต้องมีความป๊อปปูลาร์หรือความมีชื่อเสียงมาเกี่ยวนะครับ ผมลุยหมด

แบ่งเวลาเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวอย่างไร

ผมไม่แบ่งครับ ความจริงตารางงานเต็มทุกวัน เสร็จงานนี้แล้วต่อด้วยงานนั้น จนกระทั่งเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง กลับมานั่งเขียนบทต่อถึงตีสาม แล้วคิดงานต่อ ก่อนจะดูหนังหรือละครเพื่อศึกษางาน หลังจากนั้นก็นอน เจ็ดหรือแปดโมงก็ตื่นละ ผมทำงานเจ็ดวัน ทั้งสัปดาห์ จนกระทั่งมันเต็ม แล้วตัวเองน็อค ถึงจะได้หยุดพัก

ธุรกิจบันเทิงบนแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปอย่าง Viu ที่คุณชายทำหน้าที่บริหารอยู่มีความยากง่ายอย่างไร

ไม่ยากนัก สิ่งที่สำคัญคือ รู้ว่าเรากำลังทำให้ใคร แพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มจะมีสเกลของมันอยู่ สเกลระดับโลกอย่าง Netflix หรือ Amazon ระดับ Region อย่าง Viu หรือ iFlix ระดับประเทศก็ไลน์ทีวี, Hollywood HD, Doonee หรือ AIS Play แต่ละที่แตกต่างกัน การวางกลยุทธ์ก็จะคนละแบบ การวางกลยุทธ์ของ Monomaxxx ซึ่งเน้นไปทางผู้ชายก็จะมีงานแบบที่เห็น มีสาวๆ หน้าอกใหญ่ๆ มีหนังมีซีรีส์ Viu มีซีรีส์เกาหลี ซึ่งเป็น best friend ของผู้หญิง มีงานประเภทที่สาวๆ ดูแล้วชอบ พวกติ่งเกาหลีชอบ พวกติ่งซีรีส์ไทยชอบ ส่วนไลน์ทีวีก็เป็นไทยเหมือนกัน มีจีเอ็มเอ็ม มีรายการทีวี มีรายการวาไรตี้ดีๆ มีงานที่เหมาะกับพวก first jobbers ทั้งกลุ่มในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ดังนั้นการบริหารงานจึงไม่ยากครับ เพราะเรารู้ว่าต้องการสื่อถึงใคร และในสื่อนี้เราได้ของมาตอบสนองเขาจริงหรือไม่ ถ้ามันตอบสนองเขาปุ๊บ พอเขาดูจบเราจะมีอะไรให้เขาดูต่อ เขาบันเทิงไหม หรือไม่บันเทิงเพราะอะไร หาทางแก้ได้ไหม ง่ายแค่นี้จริงๆ นะครับ พื้นฐานมันไม่ได้มีอะไรมาก จริงๆ มันมีรายละเอียดปลีกย่อย แต่รายละเอียดปลีกย่อยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณเริ่มฟัง ฟังเสียงผู้ชม ไม่ใช่แค่ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แต่ดูตัวเลขที่เกิดขึ้น มีอะไรที่มันขึ้นและลง แล้วเราก็เอาไปวิเคราะห์หลังจากนั้น วิเคราะห์เสร็จแล้วก็ไปทำความเสี่ยงด้วย ไม่ใช่วิเคราะห์แล้วจบ ถ้าวันนี้ผลออกมาดี และถ้าเราทำแบบนั้นล่ะ จะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ก็ต้องมีความเสี่ยง ต้องพร้อมที่จะเจ๊งด้วยนะ ถ้าไม่เจ๊งเราจะไม่นำหน้า เราจะไม่โต

Viu เพิ่งเปิดครบรอบปีที่สอง ตอนนี้เราขึ้นมาอยู่อันดับท็อปของตลาดได้ เพราะเราฟังและเราปรับตัว เราเข้าใจคนดู บางทีคนอยู่บนหอคอยงาช้างหรือผู้บริหารใหญ่ๆ เขาไม่เข้าใจหรอก เห็นกันมานักต่อนักแล้ว “เรามีเงิน เรามีทุกอย่างนี่ ไม่ขาดทุนน่ะ เรามีดารา มีทุกอย่างให้เลือกสรรเลย มีคนเก่งๆ เยอะแยะมากมาย มีผู้จัด มีผู้กำกับ มีทุกอย่าง จะเจ๊งได้ไง” ถ้าคุณมีทุกอย่างแล้ว คุณจะสงสัยไหมครับ ผมเคยสงสัยไง ผมเลยตั้งคำถาม ก็เลยมา… นอกเหนือจากทำงานเป็นผู้กำกับฯ แล้ว ที่วันหนึ่งเคยของานเขา “ขอโทษนะครับ งานผมน่าจะโอเคนะครับ น่าจะขายได้นะครับ ให้เงินผมที” ลองผมเปลี่ยนมาสวมหมวกอีกใบดู ผมก็เลยมาสมัครทำงานที่ Viu ก็เลยได้เข้าใจในส่วนของหมวกคนที่เป็นคนจ่ายด้วย และส่วนของหมวกที่เป็นคนขอด้วย

ในส่วนของคอนเทนต์มีมาจากทางไหนบ้างครับ

มีจากเกาหลีครับ จากฝั่งเพื่อนร่วมงานที่ดูแลการซื้อคอนเทนต์ อย่างของผม เวลาต่างประเทศจะใช้ของไทย ผมก็ช่วยดูแล

ซึ่งของไทยทางคุณชายก็ผลิตเองด้วย

ใช่ครับ เราผลิตเอง ความจริงเราเรียนรู้จากเกาหลี เพราะเรามีคอนเทนต์จากเกาหลีเยอะ พอมีเยอะเราก็เริ่มศึกษาว่าเราชอบเพราะอะไร หรือคนดูชอบเพราะอะไร เรามักพูดว่าเราอยากเป็นอย่างเกาหลี ไอ้คำว่าอยากเป็นอย่างเกาหลี ภาษาชาวบ้านน่ะคืออะไร คืออยากได้เงินเท่ากับเกาหลีเหรอ ถ้าอยู่ดีๆ ผมยื่นเงินให้ซีรีส์ละ 350 ล้านบาท ให้ทำละครสิบตอนจบ เชื่อไหมครับว่าเราจะไม่ได้ ‘Game of Thrones’ ทั้งๆ ที่นี่คือราคาที่ ‘Game of Thrones’ ทำ นี่คือราคาที่ ‘Boardwalk Empire’ ทำ เราจะไม่ได้เท่ากับ ‘Descendants of the Sun’ ต่อให้เราได้เงินเท่าเขานะ คุณมีเงินซื้อดาราได้ทั่วโลกแล้ว แต่คุณทำไม่ได้เพราะอะไร

ผมเห็นหลายโปรเจ็กต์ที่ได้เงินเยอะแล้วพัง นี่ไงเราเลยเริ่มศึกษา เราเป็นผู้กำกับฯ เรารู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น โปรดิวเซอร์เราก็เคยเป็นมาแล้ว เราเคยคุมเงินมาก่อน และเรายังเป็นคนดูแลแพลตฟอร์ม เราก็เรียนรู้ว่า เรื่องนี้ประสบความสำเร็จเพราะอะไร นั่งดูสิ ดูด้วยตาเปล่าก่อน สนุกไหม เออ…ซีรีส์นี้สนุก มีแบบนี้แบบนั้น ตัวละครมีเสน่ห์แบบนี้ไง เราก็เรียนรู้ พอเราเริ่มเรียนรู้ เราก็คิดว่า เอาประสบการณ์ตรงนี้ ผนวกกับข้อมูล มารวมกัน แล้วเอาไปยื่นให้คนทำหนังที่มีไฟ มีแรง มีความปรารถนาอยากจะทำ ไม่ใช่ใครก็ได้ด้วยนะ ต้องเป็นคนที่มีความปรารถนาอยากจะผลักดันตัวเองไปข้างหน้า ไประดับเอเชียได้ไหม พอที่จะทำเป็นสินค้าส่งออกได้ไหม เพราะถ้าเราจะผลักดันตัวเองไปทำอย่างนั้น เราก็ต้องคิดวิธีใหม่ และเราต้องสร้างตลาดใหม่ ตลาดของเราคืออะไร โลกออนไลน์ ซึ่งไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย

ก่อนหน้านี้เมื่อราวหก-เจ็ดปีที่แล้ว คุณชายเคยให้สัมภาษณ์ว่า คอนเทนต์ในโลกออนไลน์มีสีเทาเยอะ ทุกวันนี้ยังมีอยู่ไหม

ยังมีอยู่เยอะครับ คือคอนเทนต์น่ะครับ ปัจจุบัน…ผมจะใช้คำว่าอะไรดี มันไม่มีขาวกับดำ คือมันไม่มีสูตรสำเร็จว่าหนึ่ง-ประสบความสำเร็จได้ด้วยอะไร สอง-เล่าเรื่องแล้วคนชอบเพราะอะไร สาม-การลงทุนพวกนี้ ลงทุนแล้วมีคนดูแน่นอน มีเรตติ้งแน่นอน ทุกอย่าง-ในเชิงธุรกิจนะ มันไม่ได้มีความชัดเจนตลอดเวลา ถ้ามีผู้รู้เขาคงชนะแล้ว

แต่ถ้าโดยส่วนตัวของผม คำว่าสีเทาในการเล่าเรื่องก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ประเทศไทยเล่าเรื่องที่ผู้ร้ายเป็นคนดี คนดีเป็นผู้ร้าย เรื่องของความไม่ซ้ายก็ขวา แต่ผมรู้สึกว่าโลกของสื่อสำหรับผม…เราต้องเล่าเรื่องของสังคมที่ซับซ้อนขึ้น เราจะเห็นว่ายุคหลังๆ มันดีขึ้นมาก เพราะว่ามีการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนขึ้น ผู้ร้ายมีมิติขึ้น ผู้ร้ายสามารถเป็นคนดี หรือคนดีสามารถเป็นผู้ร้ายได้ มีเหตุและผล นั่นคือในเชิงการเล่าเรื่อง มันก็ยังเป็นสีเทา

คุณชายเรียนรู้อะไรบ้างจากการทรานสฟอร์มของ analog มาเป็น digital สู่แพลตฟอร์มที่หลากหลายในทุกวันนี้

ผมน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ได้เรียนรู้เลยมั้งครับ เพราะผมเริ่มทำ FuKDuK เมื่อสิบเอ็ดปีที่แล้ว FuKDuK เป็นอินเตอร์เน็ตทีวีเจ้าแรกๆ ของเมืองไทย สมัยพี่จอห์น (วิญญู วงศ์สุรวัฒน์) ยังทำอินเตอร์เน็ตทีวีรวมกลุ่มกัน ยังไม่แตกเป็น spokedark TV รุ่นนั้นเลย ตั้งแต่ยังไม่มีเฟซบุ๊ก ผมเรียนมาตั้งแต่ต้น ผมพูดมาตั้งแต่ต้นว่าโลกเราจะไปสู่ยุคที่…อะไรที่จะสบายกว่า เราไปน่ะ แค่ว่ามันจะเมื่อไหร่ และผมยังยืนยันเหมือนเดิมว่าความหลากหลายมันไปได้ไกลขึ้น ทีนี้ขั้นตอนต่อไปคือเราสื่อสารกับประชากรโลกได้หรือยัง เรามีพื้นที่เปิดแล้ว ตอนนี้เราเปิดให้คนไทย ไปทางไหนเราก็เจอคนไทย คำว่า “ยูทูเบอร์” กลายเป็นอาชีพไปแล้ว

เมื่อสิบปีที่แล้วผมบอกว่าเราจะทำสื่อลงออนไลน์ ทุกคนขำ มันเป็นอาชีพได้จริงเหรอ ทุกวันนี้ถ้าถามเด็กๆ ว่าอยากเป็นอะไร ส่วนใหญ่จะบอกว่าอยากเป็นยูทูเบอร์ อยากเป็นเกมแคสเตอร์ อยากเป็นแคสเตอร์ใน Bigo Live โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราไปถึงคนได้ทั้งประเทศแล้ว ขั้นตอนต่อไป เราแข่งในประเทศไม่พอ เราต้องเริ่มแข่งในสเกลเอเชีย สเกลโลก ด้วยภาษาของเรานะ ด้วยวิธีการของเรานะ ไม่ใช่เราจะกระโดดไป เมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้ว เราพยายามจะทำตัวเองเป็นฮอลลีวูด แล้วสุดท้ายเราพยายามทำตัวเป็นเกาหลี เป็นจีน เราไม่พยายามทำตัวเป็นไทย ที่สามารถสื่อสารกับทั้งโลกได้บ้าง นี่แหละเป็นปัญหา

โลกเปิดแล้วนะ อินเตอร์เน็ตเปิดแล้ว อย่างเรื่องราวของ 13 หมูป่า คนติดตามกันทั้งโลก นั่งติดหน้าจอให้กำลังใจเด็กทั้งสิบสามคน ทั้งโลกเชื่อมถึงกันด้วยภาษาของเรา ด้วยวัฒนธรรมของเราได้ หรือชิพกับเดล-สองพี่น้อง ทำไมอเมริกันถึงคิดคอนเซ็ปต์ให้เข้าถึงวัฒนธรรมไทย หรือ ‘แอมฟิเบีย’ การ์ตูนเรื่องล่าสุดที่ลงดิสนีย์ แชนเนล นางเอกเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน สอนสัตว์ประหลาดกินลาบ ใช่ไหมครับ นี่คือเราเล่าเรื่องของเราเองไปสู่โลกได้ แล้วทำไมเราไม่เล่า เราแค่ต้องหาภาษาภาพ ไม่ใช่ภาษาพูด ตอนนี้เรากำลังบอกว่าปัญหาของเราคืออุปสรรคเรื่องภาษาพูด ไม่ใช่ เราดูซีรีส์เกาหลี ฝรั่ง หรือจีนได้ คนอินโดฯ ดูซีรีส์ไทยได้ ไม่ใช่เรื่องของภาษาพูดแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของภาษาภาพ หรือภาษาการเล่าเรื่อง ที่เรายังขาด เรายังไม่ได้เรียนรู้เพียงพอ ยังไม่เก่ง

ต้องเรียนตามตรงว่าเรายังตามหลังคนต่างชาติเยอะ ในเรื่องของการผลิตสื่อ เรื่องของการสร้างงานที่ดี เรามีไอเดีย เรามีคนเก่ง แต่ในจำนวนที่น้อยเกินไป ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่เก่ง เวลาไปเจอโลกกว้างแล้วเราเหมือนฝุ่นละอองเล็กๆ ในอากาศ ซึ่งเราต้องทำตัวเองให้เหมือนเม็ดทรายได้แล้วนะ (หัวเราะ) ยังไม่ต้องพูดถึงการเป็นขวดโหลนะ เป็นเม็ดทรายก่อน ขอขยายตัวหน่อย ก็ต้องเรียน ต้องศึกษา ต้องพยายาม

การปรับตัวของอุตสาหกรรมบันเทิง จำพวกหนัง ละคร ซีรีส์ หรือเพลงในบ้านเราต่อจากนี้ มีแนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางไหน

ไปหาอะไรที่สนุกครับ ไปหาอะไรที่คนชอบ คำว่าคนชอบเป็นอะไรที่ไม่เคยนิ่งสักวัน วันนี้ชอบแบบหนึ่ง พรุ่งนี้ชอบอีกแบบหนึ่ง ไม่มีการคาดการณ์ที่ชัดเจน และมุ่งไปทิศทางไหน เพราะว่าสิ่งใดที่ดีจะดึงดูดคน สิ่งใดที่ทำแล้วดูสนุกมันจะดึงคนเข้ามา คำว่าสนุกในที่นี้ก็พูดยาก จำกัดความได้ยาก

ตอนนั้นที่บ้านผมทำ ‘โหมโรง’ ใครจะคิดว่ามันสนุกล่ะ ไม่มีใครคิดว่าหนังดนตรีไทยจะสนุก แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งก็มีงานแบบ ‘บุพเพสันนิวาส’ ‘เมีย 2018’ โผล่ขึ้นมา หรือมี ‘ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น’ มี ‘แนนโนะ- Girl from Nowhere’ คนไทยจะคิดอะไรแบบนี้ได้เหรอ กึ่งๆ ‘Black Mirror’ เลยนะ หรือ ‘Home Stay’ เรื่องเป็นไซไฟมากๆ เลย เราจะคิดอย่างนั้นได้ยังไง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ งี้ เรื่องเกี่ยวกับโกงข้อสอบ แต่ไปจีน คนดูมหาศาล พี่บาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) กลายเป็นไอดอลของคนทั้งประเทศในเวลาอึดใจหนึ่ง จาก ‘เคาท์ดาวน์’ มาเป็น ‘Bad Genius’ (ฉลาดเกมส์โกง)

ถ้าถามว่ามันจะมุ่งไปทิศทางไหน มันไร้ทิศทางอยู่แล้ว เพราะว่าการไร้ทิศทางเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าเป็นภาษาของผมจะเรียกว่า Free Market คือ ณ วันหนึ่งสมัยที่มันยังมีทิศทาง มีคนคุมมันได้ แล้วเราก็จะไม่มีทางเข้าไปในอุตสาหกรรมได้เลย ตาสีตาสาเดินเข้าไป ผมอยากเสนอหนัง ผมมีไอเดีย ผมมีความคิด ผมเข้าไม่ได้ เข้าไม่ถึงตัว จะไปเอาเงินได้ไง สิบล้านยี่สิบล้านมาทำหนัง แต่ทุกวันนี้ความไร้ทิศทางมันทำให้เกิดตลาดเสรีที่แท้จริงว่า ถ้าคุณทำคอนเทนต์แล้วคนชอบ มันมีคนซื้อ มีคนทำ ถ้าคุณไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ถ้าไม่ได้ด้วยกลก็เอาด้วยเกมส์ต่างๆ ที่คุณสามารถหยิบมาใช้ได้ อาวุธมันหลากหลายขึ้น ที่จะทำให้งานของคุณประสบความสำเร็จ

ดังนั้น มันไร้ทิศทางมากๆ และก็ไม่ต้องคาดเดา ปล่อยมัน เหมือนความสนุกของมันคือ ไม่คาดเดาในเรื่องของคอนเทนต์ ไม่ต้องคาดเดาในเรื่องของละคร เพลง หรือหนัง มันอาจจะมีอะไรดีๆ ขึ้นมา อาจจะมีเพลงรักเจ๋งๆ ขึ้นมา อย่างเพลง ‘Papaya’ ที่วง Babymetal ของญี่ปุ่นร้องกับพี่กอล์ฟ-ฟักกลิ้งฮีโร่ นี่คือสิ่งที่เป็นความไร้ทิศทาง แล้วมันสนุกว่า มีไอดอลเกิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด อะไรก็ตามที่สามารถเกิดขึ้นได้มันก็เกิดขึ้น มันมีความกล้าที่จะเกิดขึ้น

หมายความว่ามันจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนทำมากขึ้นด้วยไหม

ความเสี่ยงมันมีอยู่แล้วตลอดครับ การทำหนังทำละคร พ่อแม่สอนผมมาตั้งแต่วันแรกว่ามันคือการพนันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ต้องเข้าคาสิโนเลยครับ ทำหนังเถอะ เพราะไม่รู้หรอก อยู่ดีๆ ฝนตกคนก็ไม่ดูหนังแล้ว แค่ฝนตกคนก็ไม่ออกจากบ้านแล้ว ตอนที่หนัง ‘ตำนานนเรศวรมหาราช 3’ ฉายน่ะตรงกับวันเคอร์ฟิวอะครับ ทำไงล่ะ รัฐบาลบอกเคอร์ฟิว หนังฉายจะได้ตังค์ยังไงละ

ถามว่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไหม ถ้าคุณเข้ามาทำงานด้านนี้แล้ว คุณก็อยู่ในความเสี่ยงโดยปริยายตั้งแต่ต้นครับ ทำอาชีพอื่นรวยและมั่นคงกว่านี้เยอะ อาชีพคนทำหนังไม่มั่นคงครับ มันมีอิสรภาพที่เราจะได้สนุกกับมัน อิสรภาพในการเล่า ในการพูด ในการทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ ผมอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นผมทำซีรีส์เกี่ยวกับญี่ปุ่นแล้วขาย แล้วผมก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นค่อยทำ เราได้ค้นพบของใหม่ แต่ความเสี่ยงมีไหม – มี ความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว มันก็เป็นน้ำหนักที่ต้องดูกันไป

จากคนทำหนัง วันหนึ่งมานั่งในตำแหน่งผู้บริหาร คุณชายเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรของตัวเองที่ชัดเจนบ้าง

ไม่เห็นครับ ผมยังอยากทำหนัง และก็ถูกค่ายหนังปฏิเสธเหมือนเดิม ก็ยังทำหนังอยู่ครับ ไม่เห็นความแตกต่างอะไร เราแค่เห็นปัญหา แล้วเข้าไปแก้ เราเห็นตั้งแต่ตอนเป็นผู้กำกับฯ ตอนเขียนบท ตั้งแต่ตอนทำทีวีแล้ว ที่มาทำอินเตอร์เน็ตทีวีก็เพราะว่า ระบบไม่ได้เอื้อให้มีอิสรภาพในการทำงาน ระบบทุนนิยมไม่มีอิสรภาพ ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองนะ แต่ว่าระบบทุนนิยมนี่อันตรายกว่าอิสรภาพทางการเมือง เพราะว่าการเมือง…เวลาเราพูดถึงการเมือง เราโดนบล็อก แต่ถ้าพูดถึงอิสรภาพของทุนนิยมที่คุณจะเล่าอะไรก็ได้ที่ขาย แล้วทุกคนบอกว่าทุกอย่างไม่ขายยกเว้นอันนี้ โอ…มันแย่กว่าหรือเปล่า ผมไม่ได้เป็นฝ่ายซ้ายนะ แต่ทุนนิยมนี่มันไม่มีอิสรภาพ

ผมไปหาอินเตอร์เน็ต เพราะมันมีอิสรภาพในการเล่าอะไรที่เป็นตลาด ขนาดเล่าตลาดยังเล่าไม่ได้เลยตอนนั้น ผมก็ย้ายมา ขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อที่จะแก้ปัญหาเดิมนั่นละครับ ว่าเราจะมีอิสรภาพในการเล่าเรื่องที่ดียิ่งขึ้น ตอบโจทย์ตลาดได้หลายแบบยิ่งขึ้น ก็ย้ายมาเพื่อทำความเข้าใจ เรียนรู้ และการได้ทำงานหลายๆ ตำแหน่ง…ผมเคยเป็นผู้บริหาร PPTV ผมไปอยู่ในช่องทีวีเลย ก็ได้รู้เลยว่ากลไกมันเป็นอะไร กลไกทำไมวุ่นวาย ทำไมมันไม่เปิด มันไม่เกิด ทำไมมันอยู่เรตติ้งเท่านี้ อยากรู้ก็ต้องไปนั่งเอง ผมเข้าไปนั่งแล้วเห็นตัวเลขจริง ปัญหาจริง right in your face เลย กระแทกหน้า เลือดกบปาก เราก็เห็นจริง แล้วเราได้ลองแก้ปัญหาจริง เราจะได้รู้ว่าสิ่งที่เราพูดน่ะ แก้ได้จริงหรือไม่ได้จริง แล้วการเป็นผู้บริหารมันช่วยตรงนี้ ช่วยให้เราไม่ปากกล้า ความปากกล้าของผมเกิดขึ้นจากการได้ลองและได้ล้ม และการล้มตรงนี้มันทำให้หนังของผมหนาขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ และผมพูดในสิ่งที่ผมประสบมาแล้ว

ไลฟ์สไตล์ของคุณชายเป็นอย่างไร

ชิลล์ๆ ครับ สนุก ผมเอ็นจอยชีวิตง่ายมาก ถ่ายรูป เจออะไรก็เล่า ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวเล่น หากมีโอกาสก็อยากไปหาอะไรกินอร่อยๆ ดูหนังทุกคืน อ่านหนังสือ อ่านวิกิพีเดีย ถ้าผมสนใจอะไรผมเปิดวิกิพีเดียก่อนเลย ผมชอบเซิร์จ อย่างผมอยากได้ตุ๊กตาพะยูน ผมก็ไปเซิร์จหาว่าจะซื้อได้ที่ไหน ปรากฏว่าทั้งเอเชียนี่หายากมาก มีก็แต่ตุ๊กตามานาตี คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามานาตีกับพะยูนต่างกัน มานาตีมีสามพันธุ์ พะยูนมีหนึ่งพันธุ์ อะไรพวกนี้ผมอ่านจากวิกิพีเดีย อ่านแล้วถึงได้รู้ว่า Dugong หรือพะยูนเป็นอย่างนี้ อีกสามประเภทเรียกว่ามานาตี ที่เหลือสูญพันธุ์หมดแล้ว และสัตว์พันธุ์นี้มันใกล้เคียงกับอะไรบ้าง พบว่ามันเหมือนช้าง มันมีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับช้าง แต่เป็นช้างที่อยู่ในน้ำ

ผมอ่านโน่นอ่านนี่แล้วสนุกไปกับชีวิต หรือถ้าว่างเมื่อไหร่ก็เที่ยวผับกินเหล้าเมาบ้าบอ กินร้านอิซะกายะ บาร์ เธค ไปเที่ยวรูท 66 เหมือนคนปกติทั่วไปแหละครับ ผมเอ็นจอยกับชีวิต ไลฟ์สไตล์ไม่จำเป็นต้องมีอะไรหวือหวาก็ได้ และถ้ามีโอกาสผมอยากไปดำน้ำมาก ไม่ได้ลงน้ำดำน้ำนานมากแล้ว คิดถึงทะเล คิดถึงโลกใต้น้ำ แต่ว่าด้วยความยุ่งของชีวิตทำให้ไม่ค่อยได้ไป จริงๆ ได้ไปทะเลบ่อย ถ้าอยากไปก็ได้ไป แต่การลงไปดำน้ำมันต้องหาสตางค์ระดับหนึ่ง ซึ่งชีวิตผมไม่ได้มีเงินเยอะขนาดนั้น ครอบครัวผมก็ไม่สบายกันหลายคน ต้องช่วยกันดูแล การไปเที่ยวแบบนั้นก็เริ่มลืมมากขึ้น แต่ก็ยังเที่ยวเฮฮาสนุกสนานอยู่ ส่วนใหญ่จะขอมีเวลานอนมากขึ้นเท่านั้นเอง

ตอนนี้เจอตุ๊กตาพะยูนหรือยัง

เจอแล้วครับ อยู่บน e-Bay มีคนแนะนำในเฟซบุ๊กว่าหาซื้อตุ๊กตาพะยูนได้ทาง e-Bay ผมชอบครับ มันน่ารักๆ ผมมีตุ๊กตาอยู่เต็มบ้าน ผมสะสมของเล่นเยอะครับ บ้านเต็มไปด้วยของเล่น ตอนนี้มีปืน เขาเรียก Nerf Gun ผมมีอยู่ห้าสิบกว่ากระบอก วันดีคืนดีก็ชวนเพื่อนๆ มายิงกันที่ออฟฟิศผม ยิงกันยับเลย เป็นสงครามกลางเมืองย่อมๆ ก็สนุกดี คือผมก็ยังคิดเหมือนเด็กอยู่นะครับ ไม่ได้คิดเหมือนผู้ใหญ่ ยังไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่น่ะเป็นด้วยความรับผิดชอบดีกว่า แต่สมองต้องเป็นเด็ก ถ้าสมองไม่เป็นเด็กเราจะไม่คิดอะไรใหม่ๆ คิดอะไรต้องมีข้อจำกัด

ผมยังคิดเหมือนเด็กครับ ตุ๊กตา การ์ตูนผมอ่านหมด ทั้งการ์ตูนไทย ฝรั่ง อะนิเมะ มังงะญี่ปุ่น ผมติด ‘เบอร์เซิร์ก’ (Berserk) มาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันก็ยังไม่จบเสียที คือผมสนุกกับทุกอย่าง เอ็นจอยกับชีวิตมาก ทุกวันมีความสนุกอยู่แล้ว เพราะความเครียดก็มี เลยหาความสนุกกับการปลูกต้นไม้หน้าบ้าน สนุกกับเครื่องตัดหญ้าใหม่ (หัวเราะ) สนุกกับการนั่งทำกูเกิล โฮม คือยังสนุกกับอะไรที่ปัญหาอ่อนได้ทุกวันละครับ
ผมไม่ได้เป็นคนซีเรียสอะไรขนาดนั้น เป็นคนบ้าๆ บอๆ ด้วยซ้ำ


เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์

]]>
การหวนคืนสู่จอเงินอีกครั้งของผู้ชายเซ็กซี่ มีปากกว้าง ‘มิก แจ็กเกอร์’ https://marshomme.com/scoop/961/ Fri, 02 Aug 2019 13:33:00 +0000
ข่าวล่าสุดจากมิก แจ็กเกอร์ออกมาก่อนวันเกิดครบรอบปีที่ 76 ของเขาว่า ขาร็อกแห่งตำนานจะคืนสู่จอเงินอีกครั้งหลังจากห่างหายมานานถึง 18 ปี คราวนี้เขาได้รับบทบาทเศรษฐีนักสะสมงานศิลปะ ในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Burnt Orange Heresy’ ของผู้กำกับฯ ชาวอิตาเลียน-กุยเซปเป คาโปตอนดิ ที่ดัดแปลงบทจากนิยายชื่อเรื่องเดียวกันของชาร์ลส์ วิลล์ฟอร์ด นักเขียนอเมริกัน และจะเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองเวนิศ วันที่ 7 กันยายนที่จะถึง

แจ็กเกอร์และวง The Rolling Stones วางแผนจะตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตทั่วสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากแจ็กเกอร์-นักร้องนำ ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ทำให้วงร็อกของอังกฤษต้องเลื่อนการแสดงออกไป ส่วนการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘The Burnt Orange Heresy’ นั้น แจ็กเกอร์เทคิวให้กับกองถ่ายก่อนหมายนัดของแพทย์

นอกเหนือจากงานดนตรีแล้ว แจ็กเกอร์ยังเคยทำงานในฐานะนักแสดงหลายครั้ง ผลงานแสดงเรื่องสุดท้ายของเขาเมื่อปี 2001 คือ ‘The Man from Elysian Fields’ ภาพยนตร์แนวคอมเมอดี้จากฝีมือการกำกับฯ ของจอร์จ ฮิคเกนลูเปอร์

วง The Rolling Stones เคยมีผลงานเพลงฮิตในอดีตอย่าง Satisfaction และ Brown Sugar วางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะทัวร์คอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน สืบต่อจากทัวร์ ‘No-Filter’ ที่พวกเขาเริ่มตระเวนแสดงในยุโรปในปี 2017

ร้องและเล่นด้วย

มิก แจ็กเกอร์ได้รับบทนำครั้งแรกคู่กับแอนิตา พาลเลนเบิร์กในภาพยนตร์เรื่อง ‘Performance’ (1968) กำกับการแสดงโดยนิโคลัส เริก มีเพลงประกอบ Memo from Turner ที่มักถูกนำมาเปิดซ้ำๆ เวลาจะกล่าวถึงความสามารถด้านดนตรีของแจ็กเกอร์ ตามด้วยภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องราวของอาชญากรในออสเตรเลีย ‘Ned Kelly’ (1970)

แวร์เนอร์ แฮร์โซก-ผู้กำกับฯ ชาวเยอรมัน เคยชักชวนแจ็กเกอร์ไปรับบทกัปตันเรือในภาพยนตร์คัลท์ของเขาเรื่อง ‘Fitzcarraldo’ (1982) ที่ไปถ่ายทำกันในป่าดงดิบของอเมริกาใต้ แต่ถ่ายทำไปได้เพียงบางส่วน แจ็กเกอร์ต้องหยุดการทำงานกลางคันเพื่อไปตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลกกับวง The Rolling Stones ทำให้แฮร์โซกต้องหานักแสดงคนอื่นมารับบทแทน กระนั้นก็ยังนำฟุตเทจที่ถ่ายทำไปแล้วมาใช้ในหนังสารคดี ‘Mein liebster Feind’ (1999) ของเขา ที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงและทรหดระหว่างผู้กำกับฯ และนักแสดงอย่างเคลาส์ คินสกี้

เสียงชื่นชมที่แจ็กเกอร์ได้รับจากนักวิจารณ์มาจากผลงานภาพยนตร์ไซ-ไฟเรื่อง ‘Freejack’ (1992) ซึ่งใช้เพลง Ruthless People ที่แจ็กเกอร์เคยแต่งและร้องไว้เมื่อปี 1987 มาเป็นเพลงประกอบ นอกเหนือจากงานแสดงแล้ว แจ็กเกอร์ยังทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง ‘Enigma’ (2001) และเป็นคนแต่งเพลงประกอบให้กับภาพยนตร์รีเมคเรื่อง ‘Alfie’ (2004) อีกด้วย

ผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ Old Habits Die Hard ของแจ็กเกอร์ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำในปี 2005

แวมไพร์กระหายเซ็กซ์

เมื่อปี 2012 คริสโตเฟอร์ แอนเดอร์เสน-นักเขียนอเมริกันวัยเกษียณ มีผลงานหนังสืออัตชีวประวัติของมิก แจ็กเกอร์ออกมา ชื่อเล่ม ‘Mick: The Wild Life and Mad Genius of Jagger’ เล่าถึงวีรกรรมด้านทางเพศของแจ็กเกอร์ ซึ่งน่าจะเคยมีสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าถึง 4,000 คน และกับผู้ชายอีกประปราย

ตัวเลขดังกล่าวมาจากคำบอกเล่าของคาร์ลา บรูนี-ซาร์โกซี อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของฝรั่งเศส “ฉันเป็นหนึ่งในจำนวนราวสี่พันคนของเขา ฉันคิดว่าเขาน่าจะเหมือนดอนฮวน” แต่จะพูดไปแล้ว เมื่อนำจำนวน 4,000 มาหารกับจำนวน 40 ปีที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในวงการ ผลลัพธ์เท่ากับ 100 ต่อปี หรือสัปดาห์ละ 2 เท่านั้น

“ผมรักใครไม่เคยยาก แต่ไม่เคยคลั่งรัก” เป็นประโยคคำพูดของแจ็กเกอร์ “ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยมีอารมณ์ความรู้สึกกับใครสักเท่าไหร่”

เซ็กซ์ สำหรับเขาแล้วหมายถึงความเป็นไปได้ในการเติมพลังและทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย “ผมคิดว่าเขาค่อนข้างโดดเดี่ยวมากกว่า” คีธ แบดเจอรี-อดีตคนขับรถของแจ็กเกอร์เล่าเรื่องเจ้านาย “คนเราอาจจะมีเซ็กซ์เจ็ดคืนในสัปดาห์ก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังขาดความรู้สึกบางอย่างในชีวิต”

ในหนังสือเล่มดังกล่าว มีคำยืนยันจากคลารา บรูนี-ซาร์โกซีว่า แจ็กเกอร์ถือเป็น ‘ชายแก่’ ที่มีดีเรื่องบนเตียง หรือจากปากของลูเซียนา โมราด-นางแบบสาวบราซิเลียน ซึ่งเป็นแม่ของลูกคนหนึ่งของแจ็กเกอร์ “เขาเป็นตาเฒ่าที่เซ็กซี่มากๆ”

มีลูกคนที่ 8 ตอนอายุ 75

จนถึงปัจจุบัน มิก แจ็กเกอร์มีลูกทั้งหมด 8 คนจากภรรยา 5 คน หลาน 4 คน และเหลนอีกหนึ่งคน ลูกชายคนสุดท้องจากภรรยาคนล่าสุดอายุเพิ่งสองขวบเศษ ในขณะที่ลูกสาวคนโตอายุ 49 ปีแล้ว

‘แครีส’ ลูกสาวคนแรกจากมาร์ชา ฮันต์ คลอดเมื่อปี 1970

‘เจด’ ลูกสาวคนที่สองจากเบียงกา แจ็กเกอร์ คลอดเมื่อปี 1971

‘เอลิซาเบธ’ ‘เจมส์’ ‘จอร์เจีย’ และ ‘แกเบรียล’ จากเจอร์รี ฮอลล์ คลอดระหว่างปี 1984-1997

‘ลูคัส’ ลูกชายจากลูเซียนา โมราด คลอดเมื่อปี 1999

และ ‘เดเวอโรซ์ อ็อคตาเวียน บาซิล’ ลูกชายคนสุดท้องจากเมลานี แฮมริก คลอดเมื่อเดือนธันวาคมปี 2016

แม้แจ็กเกอร์จะมีความสัมพันธ์กับใครหลายคน แต่เขาเข้าพิธีแต่งงานและใช้ชีวิตคู่เพียงสองครั้งเท่านั้น ระหว่างปี 1971-1980 กับเบียงกา เปเรซ-โมรา มาเซียส และระหว่างปี 1990-1999 กับเจอร์รี ฮอลล์

เมลานี แฮมริก ภรรยาวัย 31 ปีคนล่าสุด เป็นนักบัลเลต์ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับแจ็กเกอร์มาตั้งแต่ปี 2014 หลังจากลอรา ‘ลูแอนน์’ แบมโบรห์ หรือ L’Wren Scott (ชื่อที่ใช้ในงานอาชีพสไตลิสต์และแฟชั่น ดีไซเนอร์) เสียชีวิตจากการอัตวิบาตกรรมไปไม่นาน

ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ Daily Mail ระบุว่า เมลานีและแจ็กเกอร์ใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันในนิวยอร์ก และรักใคร่กันดีเหมือนกับช่วงแรกที่เพิ่งพบรักกัน




เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์

]]>
ทำความรู้จัก Jason Momoa จากภาพยนตร์ Aquaman https://marshomme.com/scoop/1030/ Wed, 26 Dec 2018 12:40:00 +0000
500 ล้านเหรียญดอลลาร์ คือตัวเลขที่ภาพยนตร์เรื่อง Aquaman โกยรายได้จากทั่วโลก แถมยังเป็นการสร้างสถิติใหม่ของค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์ในประเทศจีนที่ทำรายได้สูงสุดเฉพาะรายได้ในจีนอยู่ที่ 209.5 ดอลลาร์

ขณะที่ต้นทุนในการสร้างอยู่ที่ 160 ล้านดอลลาร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายสำนักบอกว่า Aquaman ถือเป็นการกู้หน้าของหนังแนวฮีโร่ในจักรวาลดีซี

Mars Homme พาไปทำความรู้จักกับ Jason Momoa นักแสดงกล้ามบึกที่รับบทเอกของเรื่อง หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับเขา เพราะเคยรับบท Khal Drogo ในเรื่อง Games of Thrones


Jason Momoa ชื่อเต็มของเขาคือ Joseph Jason Namakaeha Momoa เกิดวันที่ 1 สิงหาคม ปี 1979 ใน Honolulu เกาะฮาวาย เจสันเป็นลูกชายของช่างภาพและจิตรกรชาวฮาวาย Coni Lemke และ Joseph Momoa เขาเติบโตมาในรัฐ Lowa และถูกทาบทามเข้าสู่วงการถ่ายแบบในปี 1998 ก่อนที่จะคว้ารางวัล Won Hawaii’s Model Of The Year 1999 And Hosted The Miss Teen Hawaii Contest

เจสันย้ายกลับไปอยู่ที่ฮาวายอีกครั้ง เพื่อถ่ายทำซีรีส์เรื่อง Baywatch หลังจากซีรีส์จบเขาใช้ชีวิตด้วยการเที่ยวรอบโลกอีกประมาณ 2-3 ปี กระทั่งในปี 2011 เขาได้ย้ายไปที่ลอสแอนเจลิส พร้อมกับเส้นทางสายนักแสดงกับผลงานที่สร้างชื่ออย่าง Ronon Dex ในซีรีส์ Stargate : Atlantis ในปี 2004 และชื่อของเจสันปรากฏอีกครั้งจากการเข้าชิงรางวัล Emmy ทางช่อง HBO ในปี 2010 จากเรื่อง Games of Thrones


แม้จะเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดง แต่ชีวิตหลังม่านของเขารับบทบาทเป็นคุณพ่อลูกสองผู้อ่อนโยนและชอบทำกิจกรรมกับลูกๆ ต้องยกให้กับความเป็นคุณพ่อแฟมิลี่แมนตัวจริง

ข้อมูลจาก
https://brandinside.asia
https://daradaily.com
Instagram :prideofgypsies

]]>