Warning: Cannot modify header information - headers already sent by (output started at /var/www/marshomme.com/wp-content/plugins/wp_mgr_id/wp_mgr_id.php:1) in /var/www/marshomme.com/wp-includes/feed-rss2.php on line 8
fashion – Marshomme https://marshomme.com Tue, 04 Jan 2022 18:26:42 +0000 en-US hourly 1 https://wordpress.org/?v=5.2.20 https://marshomme.com/wp-content/uploads/2019/10/logo2_icon-90x90.png fashion – Marshomme https://marshomme.com 32 32 Prada Collection Spring/Summer 2022 คอลเลคชั่นผู้ชายที่ต้องเหลียวหลัง https://marshomme.com/fashion/531905/ Fri, 25 Jun 2021 03:24:00 +0000
        Miuccia Prada (มิวซิอา ปราด้า) และ Raf Simons (ราฟ ซิโมน) เพิ่งเผยโฉม Collection Spring//Summer 2022 ที่ร่วมกันออกแบบ Raf Simons ร่วมงานกับ Prada ในฐานะ Co Creative Director ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เผยถึงพลังของความสัมพันธ์อันแนบแน่นในคอลเลคชั่น Spring/Summer Collection Show 2022  โดยโชว์จะจัดขึ้นในเมืองซาดิน ประเทศอิตาลี  ทั้งนี้ยังเป็นการสนับสนุนมูลนิธิ MEDSEA ในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทางทะเล


        ความหลงใหลในรูปทรงและแสงเงาของ Raf Simons โดดเด่นอย่างมากในคอลเลคชั่นนี้ เผยให้เห็นถึงรายละเอียดที่สดใสมีชีวิตชีวาที่ชัดเจนในการทำเสื้อผ้าแต่ละชุด คอนเซปท์ในการทำงานคอลเลคชั่นนี้ ดูเหมือนว่าในขณะที่เราก็กําลังไล่ตามข้อกําหนดทั้งเสื้อและกางเกง a sense of the utopian แนวคิดเรื่องความหวัง, พลังบวก การปลดปล่อยตัวเองสู่ธรรมชาติ, ไปทะเล, มันคืออิสรภาพ มันคือ Utopian มันคือความต้องการพื้นฐานที่แท้จริง ความต้องทางสติปัญญาก็เช่นกัน


        ซึ่งจะเห็นนายแบบใน romper ผ้าฝ้ายสีถ่านและ ชุดกะลาสีสีขาว ในขณะที่บางชุดมี bucket hat เป็นเครื่องประดับ กางเกงกระโปรง (Skort) เป็นที่โดดเด่นอย่างมากที่เคยเห็นจากในคอลเลคชั่นของผู้หญิง Spring//Summer 2017


        นอกนั้นจะเป็น Ready to wear hoodie ลายดอกไม้สีเขียวมะนาวและออกไปทางสีม่วง แล้วภาพก็ตัดมาที่นายแบบเดินริมทะเล Raf Simons อธิบายว่า       
        “ความสนุกคือความรู้สึกพื้นฐานอย่างหนึ่ง เหมือนความทรงจําของเด็กที่ได้ไปทะเล เป็นความสุขที่ธรรมดาและแท้จริงที่สุด ในความเรียบง่ายมันมีบางอย่างที่มี ความหมายและไร้กาลเวลาเช่นกัน”


Source : https://daman.co.id/

]]>
สายแฟและคนเล่นกล้องฟิลม์ต้องจัด “Balenciaga Film Camera” https://marshomme.com/fashion/531637/ Fri, 22 Jan 2021 08:11:00 +0000
มีใครให้มากกว่านี้ไม เมื่อแบรนด์แฟชั่นอย่าง Balenciaga ออกมาผลิตกล้องฟิลม์ในนามของแบรนด์ตัวเองเชื่อเถอะ!ว่าต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ ส่วนความเก๋เปรี้ยวจะขีดสุดแค่ไหนเรารีวิวให้ดู

สาวกแบรนด์ Balenciaga และคนรักกล้องฟิลม์ไม่ควรพลาดเริ่มตั้งแต่บอดี้ของกล้องกันเลย ความ Luxury เริ่มตั้งแต่ปรากฎชื่อแบรนด์ Balenciaga บนตัวกล้องและที่เลนส์ทุกครั้งที่ยกกล้องขึ้นมาถ่ายก็มีความเป็นสายแฟแล้ว มาพร้อมกับเลนส์ระยะ 38-80 mm F 2.8

ส่วนหน้าปัดมีการตั้งค่าเป็นแบบดิจิทัลที่ผสานความเป็นกล้องวินเทจกับกล้องรุ่นใหม่ที่เป็นแบบดิจิทัลรวมกันกล้องรุ่นนี้เป็นผลงานของดีไซน์เนอร์ชาวเกาหลี Dongjae Koo

เก๋สุดตรงช่องใส่ฟิลม์ที่โชว์ม้วนฟิลม์ขนาด 35 mm ISO 400 สีนีออนสุดจี๊ด มีให้เลือกถึง5 สีเหลือง ชมพู น้ำเงิน เขียว และสีม่วงส่วนสีของกล้องผลิตมาแค่ 2 สีคลาสสิค คือสีขาวและสีดำ

สำหรับเงินในกระเป๋าใครที่ร้อนรุ่มอยากเปย์หนักอดใจไว้สักนิด ทางแบรนด์ยังไม่เผยให้รู้ถึงราคาว่าจะแน่นแค่ไหนรวมทั้งยังไม่บอกวันเวลาที่จะวางจำหน่ายก็เช่นกัน…

]]>
‘เคนโซ ทากาดะ’ ดีไซเนอร์นักสู้ ผู้สร้างชื่อก้องโลกจาก ‘ศูนย์’ https://marshomme.com/fashion/531470/ Tue, 06 Oct 2020 12:10:00 +0000

เดือนตุลาคมเมื่อสองปีก่อน เคนโซ ทากาดะยังง่วนอยู่กับการทำงาน บนชั้นหกของอาคารเก่าแก่บนถนนแซเฟรส์ ขณะนั้นเขาอายุย่างเข้า 79 ปีแล้ว แต่ปฏิเสธที่จะวางมือจากงาน ในห้องด้านข้างผู้ร่วมงานของเขาก็ขะมักเขม้น “ผมชอบทำงาน” เขาบอกเหตุผล และโปรเจ็กต์ที่เขากำลังทำอยู่นั้นคือการออกแบบน้ำหอมให้กับบริษัทเครื่องสำอาง Avon


เวลาพูดเล่าถึงชีวิตการทำงาน เคนโซมักจะกล่าวถึงการสร้างสรรค์ที่เขาชื่นชอบ นั่นคือ สี มันคือภาษาที่เขาเข้าใจมานาน ก่อนที่เขาจะเดินทางออกจากถิ่นกำเนิดมาสร้างชื่อ มาก่อร่างสร้างบริษัทใหญ่โตในฝรั่งเศส ภาษาของสีช่วยให้เขาก้าวพ้นอุปสรรคต่างๆ ได้ดีมาตลอด

เคนโซ ทากาดะ เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1939 ที่เมืองฮิเมจิ จังหวัดโอซากะ เขาเคยเล่าว่าตนเองใฝ่ฝันมาตั้งแต่วัยเยาว์ที่จะเติบใหญ่เป็นนักออกแบบเสื้อผ้า หรือไม่ก็จิตรกร ส่วนอาชีพอื่นใดนอกเหนือจากนั้นนั้นเขานึกไม่ออก แต่การร่ำเรียนด้านการออกแบบเสื้อผ้าในญี่ปุ่น ต้องใช้เวลาเรียนถึงห้าปี และมีสอนในสถาบันที่ล้วนมีแต่ผู้หญิงเท่านั้น ที่สำคัญ พ่อแม่ของเขายังไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของเขา แต่ก็ห้ามไม่สำเร็จ เคนโซ ทากาดะเป็นผู้ชายคนแรกที่เรียนจบจาก Bunka Fashion College จากนั้นเริ่มงานอาชีพสไตลิสต์ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว


ปี 1965 เคนโซ ทากาดะขึ้นเรือบรรทุกสินค้ามุ่งหน้าสู่ยุโรปจุดหมายปลายทางในฝันของเขายามนั้นคือกรุงปารีสในกระเป๋าของเขามีเงินติดตัวอยู่เพียงน้อยนิดอีกทั้งยังพูดหรือฟังภาษาฝรั่งเศสไม่ได้การเดินทางใช้เวลาหนึ่งเดือนก่อนเรือบรรทุกจะจอเทียบท่าที่เมืองมาร์เซย์  จากนั้นเขานั่งรถต่อไปยังปารีส เมืองปลายทางที่ดูซึมเซา ครึ้มเย็น ผิดแผกไปจากภาพที่เขาเคยรู้จัก

ชีวิตในกรุงปารีสช่วงเริ่มต้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก  แต่เคนโซทากาดะก็บากบั่นจนผลักดันตนเองขึ้นเป็นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นคนแรกของฝรั่งเศสละม้ายคล้ายคลึงกับเส้นทางอาชีพของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ปี1970 เขามีโอกาสได้นำเสนอผลงานแฟชั่นโชว์ครั้งแรกและกวาดเสียงชื่นชมได้ดี นิตยสาร Elle ตีพิมพ์ผลงานโชว์ของเขาเป็นภาพปก ความสำเร็จแรกเกิดขึ้นความสำเร็จครั้งถัดไปก็ตามมาอย่างรวดเร็ว


ในปีเดียวกันนั้น เคนโซเปิดบูติกชื่อ Jungle Jap ในกาเลอรี วิเวียนน์ (ต่อมาในปี 1985 เปลี่ยนเป็นบูติก Jean-Paul Gaultier) ปี1971 เขาส่งผลงานไปแสดงทั้งในนิวยอร์กและญี่ปุ่น แต่ปีถัดมาแฟชั่นโชว์ของเขารีบร้อนจนเกินไปทำให้ต้องหยุดชะงัก ขณะเดียวกันเขายังได้รับรางวัลจาก Fashion Editor Club of Japan

ปี1976 บูติก KENZO แห่งแรกได้เปิดอย่างเป็นทางการ พร้อมสำนักงานที่ถนนปลาซ เดส์ วิกตัวร์ในปารีสที่ซึ่งปัจจุบันยังเป็นแฟล็กชิปสโตร์ของ KENZO ถึงตอนนั้นเคนโซ ทากาดะเริ่มเข้าใจกระแสแฟชั่นแบบตะวันตกมากขึ้น และเริ่มใช้ดราม่าเข้าช่วยเพื่อเรียกกระแส อย่างปี 1978-1979 ที่เขากางเต็นท์ละครสัตว์จัดโชว์ และออกแบบชุดโปร่งใสให้นักแสดงขี่ม้ารวมทั้งตัวเขาเองยังขึ้นหลังช้างในช่วงฟินาเล่

แฟชั่นหลากสีสันและสนุกสนานของเคนโซเกิดจากการผสมผสานสีและลวดลายที่แปลกใหม่บ่อยครั้งเขามักตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้ใบไม้เชื่อมต่อกันตลอดเวลา  โดยได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางของตนเอง อย่างที่เรียก “อิทธิพลแบบเอเชียผสมความสมัยใหม่ของยุโรป”


ปี 1983 เคนโซหันมาจับแฟชั่นบุรุษ พร้อมแตกไลน์เป็น KENZO Studio, KENZO Jungle, KENZO Jeans และแฟชั่นสำหรับเด็ก ก่อนจะมีไลน์น้ำหอมแบรนด์ KENZO ตามออกมาในปี 1988 เริ่มแรกเป็นน้ำหอมสำหรับสตรีออกแบบฝาปิดขวดเป็นรูปทรงกลีบดอกกุหลาบ ปี 1991 น้ำหอมสำหรับบุรุษขวดแรก KENZO pour Homme ออกแบบขวดเป็นรูปทรงต้นไผ่ และยังมีน้ำหอมภายใต้ชื่อ KENZO ออกมาอีกเรื่อยๆ

ปี 1993 เคนโซขายแบรนด์ KENZO ให้กับกลุ่ม LVMH ในราคา 482 ล้านฟรังก์ (ราว 2,500 ล้านบาท) ทว่ายังคงครอตำแหน่งเชฟดีไซเนอร์อยู่จนกระทั่งถึงปี 1999 ขณะอายุได้ 60 ปี และผ่านการทำงานในฐานะดีไซเนอร์มา 30 ปี เขาจึงถอนตัวออกจากแบรนด์ KENZO และโลกแฟชั่น เพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและการเดินทาง


ในมุมชีวิตส่วนตัว เคนโซ ทากาดะเคยใช้ชีวิตคู่อยู่กับซาวิเยร์ เดอ คาสเทลญา (Xavier de Castella) นานหลายปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในปี 1990 เขาพบซาวิเยร์ครั้งแรกในงานดินเนอร์ปาร์ตี้ฉลองวันเกิดของปาโลมา ปิกัสโซ-ลูกสาวของปาโบล ปิกัสโซ ซึ่งมีคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์กับชายคนรัก-ฌากส์ เดอ บาสเชอร์ร่วมอยู่ด้วย และซาวิเยร์นั้นนั่งตรงข้ามกับเขา

“ตอนแรกเห็นเขา ผมนึกถึงนักแสดงชื่อคลินต์ อีสต์วูด เขาชอบลูบหนวดเวลาที่รู้สึกเขินอาย” เคนโซเคยเล่าระหว่างให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia หลังจากนั้นทั้งสองค่อยๆ สานความสัมพันธ์ ก่อนจะร่วมกันออกแบบรังรักขนาดใหญ่ด้วยกันในปี 1987

เคนโซ ทากาดะได้ชื่อว่าเป็นดีไซเนอร์ขี้อาย เก็บตัว และพูดภาษาฝรั่งเศสแบบขาดๆ เกินๆ เขาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปารีสต่อไปแม้จะถอนตัวออกจาก KENZO แล้ว และมีบ้านพักหลักอยู่ในโมนาโค อพาร์ตเมนต์บนชั้นสามของอาคารใกล้บาสติลญ์ในกรุงปารีส พื้นที่ขนาด 1,200 ตารางเมตรนั้น เขากับคาสเตลญาเคยออกแบบให้เป็นที่พักสไตล์ญี่ปุ่นร่วมกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วเคนโซต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตามลำพังนานถึง 20 ปี ก่อนจะขายต่อให้กับปาสคาล เบรต็อง-โปรดิวเซอร์รายการทีวีฝรั่งเศสในราคา 12 ล้านยูโร ส่วนตัวเขาเองย้ายไปอยู่อดีตบ้านเรือขนาด 250 ตารางเมตร


ปี 2004 ชื่อของเคนโซ ทากาดะหวนกลับเข้ามาในสื่อและโลกแฟชั่นอีกครั้ง เมื่อเขานำเสนอแบรนด์ Gokan Kobo (สตูดิโอสัมผัสที่ห้า) สองปีถัดมาเขาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Takada by Kenzo Takada เป็นแบรนด์เครื่องเรือน ชุดเครื่องนอน เก้าอี้ เครื่องถ้วยชาม เสื้อผ้าสตรี และแฟชั่นชุดว่ายน้ำ แต่เนื่องจากความสำเร็จไม่ถึงเป้าหมายเขาจึงยุติธุรกิจนี้ไปในปี 2007

และเพราะเขายังมีสิทธิในชื่อแบรนด์ KENZO แม้จะขายกิจการให้กับ LVMH ไปแล้ว เขาจึงทำงานออกแบบร่วมกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ต่างๆ มากมาย จนกระทั่งถอนตัวอย่างถาวรจาก KENZO ในปี 2010 เคนโซหันมาเริ่มงานจิตรกรรม วาดภาพพอร์เทร็ตให้กับแกลเลอรีศิลปะในกรุงปารีส


ต่อจากนั้นยังทำงานออกแบบตกแต่งภายในให้กับโรงแรม เรือคาตามารัน รวมถึงเครื่องประดับภายใต้ชื่อแบรนด์ 10 Royale by Kenzo Takada

“ผมเดินทางเยอะ ชอบไปนวด ดูนิทรรศการศิลปะ แล้วกลับบ้านไปนั่งทำงานนิดหน่อย ไม่ทุกวันหรอก แต่ก็สม่ำเสมอ” เคนโซ ทากาดะเคยให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อสองปีก่อน

และหากเขาไม่เสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมาเสียก่อน โลกนี้ก็คงยังมีผลงานออกแบบของดีไซเนอร์วัยกว่า 80 ปีให้ชื่นชมต่อไป


เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์

photo by ig : Kenzo takada

อ้างอิง :
https://www.faz.net/aktuell/stil/mode-design/trauer-um-kenzo-takada-ein-leben-fuer-die-farben-16986037.html
https://www.kleinezeitung.at/service/nachrufe/5877054/Er-schuf-eine-Weltmarke_Modeschoepfer-Kenzo-Takada-an-Covid19
https://www.kleinezeitung.at/service/nachrufe/5877054/Er-schuf-eine-Weltmarke_Modeschoepfer-Kenzo-Takada-an-Covid19

]]>
Fashion Instinct มาร์ค-มรุวุตม์บูรณศิลปิน https://marshomme.com/lifestyle/983/ Wed, 19 Jun 2019 15:49:00 +0000

เคยคุยกับเพื่อนสนิทในวงการนักเขียนหลายท่านว่า “หล่อนคิดว่าอาชีพไหนกะเทยเยอะสุด” ทุกคนมักจะออกความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “วงการแฟชั่น” ค่ะ (แต่อันนี้อิชั้นก็ขอเถียงนะคะ วงการบันเทิงเองก็มิใช่น้อย ทั้งที่เปิดตัวและบรรดาเหล่าน้องแอ๊บทักษอรทั้งหลายที่แอ๊บเนียนสนิทมิดชิดมากค่ะ)

อ่ะ ในเมื่อหลายท่านยกนิ้วให้วงการแฟชั่นยืนหนึ่ง อิชั้นก็ขอคุยกับดีไซเนอร์และไฮโซตัวจริง ‘มาร์ค-มรุวุตม์บูรณศิลปิน’ ที่หลายๆ ท่านรู้จักกันดีในฐานะทีมดีไซเนอร์แบรนด์Asavaแล้ว ทุกวันนี้มาร์คยังรับบทบาทเป็น Personal Stylist ให้กับ ‘เต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก’ อีกด้วย ด้วยความเป็นคนอัธยาศัยดี คุยเก่ง (พอๆ กับการแต่งตัว) ทำให้มาร์คสนิทสนมกับคนในวงการแฟชั่นและบันเทิงมากทีเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่ง มาร์คจัดว่าเป็นคนเก่าคนแก่ของวงการแฟชั่น เพราะเจ้าตัวยอมรับเองว่า “มาร์คทำงานเป็นดีไซเนอร์มาได้ประมาณ 18-19 ปีแล้วครับ นับง่ายๆ เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2000 ครับ พอกลับมาจากอเมริกาก็เริ่มทำงานเลย”

Q : ตอนไปเรียนที่อเมริกานี่คือตั้งใจว่าจะเรียนแฟชั่นเลยใช่มั้ยคะ
A : ไม่ครับ ตอนแรกไปเรียนเป็น interior design ครับ แต่พอเรียนไปได้ประมาณสักเทอมหนึ่ง คิดว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เออไม่ใช่เป็นอะไรที่ไม่เป็นตัวเอง ซึ่งตัวเราสนใจแฟชั่นมาตั้งแต่เด็กๆ คิดว่าชอบวาดเขียนอะไรอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เลยขอที่บ้านว่าจะเปลี่ยนเมเจอร์มาเป็นเรียนแฟชั่นดีไซน์นะ โชคดีที่คุณพ่อคุณแม่เนี่ยสนับสนุนตลอดว่าอยากจะเรียนอะไร อยากจะทำอะไร ให้ไปคิดดูให้ดีๆ เป็นสิ่งที่ตัวเองถนัด ตัวเองรัก เขาจะสนับสนุนให้ทำตรงนั้น

Q : ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนเมเจอร์มาเป็นแฟชั่นดีไซน์นี่ ซีนของแฟชั่นในยุค 90s ที่เราโตมาส่งอิทธิพลกับเราด้วยใช่หรือไม่
A : คือเรื่องความสนใจเรื่องแฟชั่นเนี่ย ต้องบอกว่า จริงๆ มันเริ่มจากไหน มาร์คไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน แต่มาร์คคิดว่าน่าจะเริ่มมาจากการที่เราเป็นคนชอบอ่าน ชอบดู ชอบพวกนิตยสารแฟชั่นมาตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าตอนเด็กๆ ที่บ้านชอบพาไปสนามหลวง สมัยก่อนมันไม่ได้เป็นแบบนี้นะ จะเป็นพวกตลาดนัด ขายหนังสือเก่า แล้วเราก็ไปเห็นหนังสือ Vogue ก็ซื้อมา เป็นนิตยสารแฟชั่นเล่มแรกที่ซื้อ ก็พอเปิดดูก็ร้อง เฮ้ย ข้างในมันสวย แทนที่ตอนเด็กๆ เราจะไปดูพวกหนังสือการ์ตูน กลายเป็นว่าไปขอคุณพ่อคุณแม่ซื้อหนังสือ Vogue ซื้อหนังสือแฟชั่นเล่มอื่นๆ เอากลับมาบ้านมาพลิกดู เหมือนกับเราหลงใหล เราชอบกระบวนการทั้งหมด ชอบที่มีนางแบบมาใส่เสื้อผ้าดีไซเนอร์ มีช่างภาพ มีช่างแต่งหน้า คิดว่าตรงนั้นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ตัวเองชอบเสื้อผ้า ชอบแฟชั่น สนใจแฟชั่น

Q : พอเลือกเรียนแฟชั่นแล้ว ตอนนั้นวางแผนไว้เลยไหมว่า จะกลับมาเป็นดีไซเนอร์ หรือว่ามาเปิดแบรนด์ของเราเอง
A : ไม่ได้คิด จริงๆ อาชีพแฟชั่นดีไซเนอร์มาทีหลังนะ อย่างที่บอกครับว่า ตอนแรกไม่คิดว่าแฟชั่นดีไซน์มันจะเป็นอาชีพได้ ตอนเด็กๆ อยากเป็นหมอ และอีกหลายอาชีพ แต่มาสนใจศิลปะช่วงเริ่มขึ้น ม.4-ม.5 ตอนที่มันต้องเลือกเรียนสายวิชาชีพนอกจากวิชาหลักด้วย ก็ตัดสินใจว่ามาทางด้านศิลปะครับ แล้วตอนที่เปลี่ยนเมเจอร์แล้วก็แฮปปี้มากเลย ได้มาเรียนแฟชั่น นอกจากนี้ที่เมืองนอกมันได้แต่งตัวอิสระ ไม่ต้องใส่ยูนิฟอร์ม มีพิพิธภัณฑ์ มี activity มันเป็นซีนที่สร้างแรงบันดาลใจให้เรามาก ตอนนั้นไม่ได้วางแผนอะไรเลย ใช้ชีวิตให้เต็มที่ พอเรียนจบก็เลยถือโอกาสไปฝึกงานอยู่ปีหนึ่ง ฝึกหลายๆ ที่ครับ ที่แรกไปฝึกงานกับดีไซเนอร์นิวยอร์ก ที่จบจาก Saint Martin เขาเป็นเพื่อนกับ Alexander Mcqueen มีเปิดร้านของตัวเองชื่อเวว่า ที่ซานฟรานนะครับ แล้วที่นิวยอร์กมาร์คก็ฝึกงานกับดีไซเนอร์ชื่อ Richard Tyler ตอนนั้นดังเหมือนกันใน New York Fashion Week แต่ตอนนี้เขาไม่ได้ทำแบรนด์ของเขาเอง

Q : แทรกนิดหนึ่ง ตอนที่เราไปเรียนนิวยอร์ก เรา come out แล้วใช่ไหม
A : come out นี่คือ come out กับที่บ้านใช่มั้ย

Q : ไม่ คือเรารู้ตัวเราเองว่าเราเป็นเกย์
A : เรื่องรู้ตัวนี่รู้ตั้งแต่เด็กๆ เลยว่า ชอบเด็กผู้ชาย

Q : ประเด็นนี้อยากจะถามว่า LGBT ซีนในนิวยอร์กตอนช่วงยุคที่เราไปเรียนหนังสือเป็นอย่างไรบ้าง
A : คือสังคมอเมริกัน มาร์คว่าเขาค่อนข้างเปิด มีเสรีภาพมาก แล้วทุกคนจะค่อนข้างมีความเป็นปัจเจกชนมาก และด้วยความที่นิวยอร์กเป็นเมืองค่อนข้างใหญ่ จะมีพวก clubbing มีย่านที่เป็นเกย์วิลเลจเลย เป็นถนนที่จะมีเฉพาะชาว LGBTQ ตอนกลางคืนเราก็จะแต่งตัวสวยๆ ไปเที่ยวอะไรกัน เต้นรำกัน เหมือน culture ที่นิวยอร์ก gay community จะค่อนข้างใหญ่ครับ แต่จริงๆ ที่นิวยอร์กมาร์คจะอยู่แค่ประมาณปีสองปี แต่มาร์คจะใช้เวลาเรียนจริงๆ อยู่ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งซานฟรานซิสโกนี่ก็จะมี gay community ที่ค่อนข้างใหญ่เหมือนกัน แต่จะเป็นคนละแบบ LGBT ที่ซานฟรานจะเป็นคนค่อนข้างมีอายุหน่อย แล้วก็จะมีแก๊งเสื้อหนัง แก๊งมอเตอร์ไซค์ แก๊งหมี แต่ที่นิวยอร์กจะคละๆ กันไป มีหลากหลายเชื้อชาติ

Q : พอกลับมาเมืองไทยนี่มาเริ่มทำงานกับแบรนด์ดังๆ เลยหรือเปล่า
A : ตอนเรียนจบใหม่ๆ หลังจากฝึกงานไปได้ระยะหนึ่งก็ตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อ หรือจะเที่ยว แต่เผอิญตอนนั้นเป็นอีสุกอีใสที่นิวยอร์ก ป่วยหนักมาก นอนอยู่ที่คอนโดประมาณ 2-3 อาทิตย์ คือคิดถึงบ้านมาก พอหายแล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ต้องมาต่อวีซ่า ก็เลยตัดสินใจกลับมาเมืองไทย ช่วงแรกๆ ก็คิดนะว่า เอ๊ะจะทำอะไรกับชีวิตดี จะไปสมัครงานเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ต่อ หรือว่าทำแบรนด์ของตัวเอง ปรึกษากับที่บ้าน ได้คำแนะนำว่า อยากให้ลองทำงานดูก่อน ทำงานกับบริษัทดูก่อน จะได้รู้ว่าวงการแฟชั่นไทยมันเป็นประมาณไหน เป็นอย่างไร ตอนนั้นไปคุยกับ 2-3 ที่ครับ แล้วพอดีช่วงนั้นที่ About Cafe ของพี่เหมี่ยว (เกล้ามาศ ยิบอินซอย) เขาชวนให้ไปทำงาน art mart จะมีเป็นแฟชั่นโชว์ของยังดีไซเนอร์มาโชว์งานผลงาน เราเลยเอาเสื้อที่เราทำตอนเรียนจบไปโชว์ที่ art mart ได้เจอกับพี่ตือ(สมบัษรถิระสาโรช) พี่โต (วิทยา มารยาท) แล้วก็อีกสัก 3-4 คน เขามาเห็นงานเราแล้วชอบ เลยแนะนำให้ไปสมัครที่ AIIZ ครับ เข้าไปคุยกับที่ AIIZ ณ ตอนนั้น ช่วงยุค 90s AIIZ จะดังมาก เลยได้ไปทำตรงนั้นนะครับ

Q : ทำอยู่นานไหมคะ
A : อยู่ประมาณ 2 ปีครับ ทาง AIIZ เห็น potential ของเราว่าเออ ภาษาได้นะครับ แล้วก็สนใจแฟชั่น เขาเลยให้ไปทำเป็นบายเออร์ให้กับแบรนด์ Kookai ก็ทำมาอีกประมาณสักปีหนึ่งครับ

Q : แล้วหลังจากนั้นก็มาร่วมงานกับ Asava เลย
A : ยังครับ คือตอนทำ AIIZ ได้มีโอกาสรู้จักกับพี่ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพชื่อดัง รู้จักพี่คณฑีที่เป็นสไตลิสต์ ร่วมกันถ่ายแคมเปญของ AIIZ กันมาเป็นประจำอย่างต่อเนื่องเลย พี่เขาแนะนำว่าแบรนด์ Senada กำลังหาแฟชั่นดีไซเนอร์อยู่ เลยมีโอกาสได้เข้าไปคุยกับพี่รี่(ชนิดา ปรีชาวิทยากุล) เจ้าของแบรนด์ Senada ครับ คุยถูกคอกันมาก เห็น vision กันว่าค่อนข้างตรงกัน ไปทำอยู่ที่ Senadaนานเหมือนกันนะ ประมาณ 5 ปี ครับ ช่วงนั้นเรียกว่าเป็นช่วงที่ทำให้คนรู้จักมาร์คด้วยครับ เพราะว่า Senada จะโชว์กับ Elle Fashion Week ทุกปี ช่วงนั้นพี่ฟอร์ด (กุลวิทย์ เลาสุขศรี) เป็น บ.ก. ได้ทำโชว์ตรงนั้น คนเริ่มรู้จัก ทำอยู่กับพี่รี่ได้ประมาณ 5 ปี ได้ไปทำกับทางกรมส่งเสริมการส่งออก เป็นยังดีไซเนอร์ ตรงนั้นเลยจุดประกายให้ทำแบรนด์ของตัวเอง ชื่อ Spooknic ครับ แต่ทำอยู่ได้ประมาณ 3 ปีกว่า ก่อนจะเลิกทำ

Q : การทําแบรนด์ของตัวเองนี่ยากไหม
A : การทําแบรนด์ของตัวเองค่อนข้างลำบากครับ ตอนนั้นเริ่มจากอยากทำ แล้วก็ทำเองหมดเลย หาผ้า รันวัน ไปหาช่างเอง ส่งของเอง ทำ Invoice เอง ทำเรื่องตัวเลขด้วย ซึ่งในความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ การจะทำแบรนด์ มันต้องมีทีมที่คอย support ทำเรื่องตัวเลข วิ่งทำบัญชี คือมันมีหลายเรื่องที่ต้องทำ ที่จะทำให้แบรนด์มันอยู่รอด ยิ่งเป็นแบรนด์เล็กๆ ครับ มันไปได้ถึงจุดหนึ่ง แต่พอคนต้องการซื้อมากขึ้นแล้วเราทำไม่ทัน เสื้อผ้ามันขายไม่ได้ จะมีเป็นปัญหาเกิดขึ้น จำได้ว่าตอนนั้นมีเรื่องการเมืองด้วย พิษการเมืองเข้ามา สาขาที่ Zen มีชุมนุม ต้องปิดไปนาน แล้วโดนเผา แบรนด์ก็เลยต้องหยุดไป เป็นช่วงจังหวะพอดีที่พี่หมูกลับมาจากที่นิวยอร์ก พี่หมู (พลพัฒน์ อัศวประภา) ซึ่งเรารู้จักกันตั้งแต่ที่นิวยอร์กนัดเจอกัน นัดคุยกันบอกว่า แกอยากทำแบรนด์เสื้อผ้า อยากให้มาช่วย ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มสตาร์ตทำ Collection ให้กับพี่หมู

Q : ในฐานะดีไซเนอร์ เรา study เทรนด์หรือหา inspiration อย่างไร
A : ดีไซเนอร์จริงๆ มันทำหลายอย่างนะ มาร์คว่ามันคล้ายๆกับสไตลิสต์ด้วย คือเป็นเหมือนกับคนทำเสื้อผ้าแหละ สำหรับมาร์คนะ เราจะต้องส่ง Message อะไรไปให้กับคนที่เข้ามาดูเสื้อผ้าอย่างนี้ เข้าใจว่าเราต้องการสื่อสารอะไร เสื้อผ้าเนี่ยมันจะเป็นออกมาเป็นแนวไหน คือมันเป็นปกตินั่นแหละ มันเหมือนกับการชอบเสื้อผ้า สนใจเสื้อผ้า เพียงแต่เราจะต้องสนใจว่าเรื่องผ้าด้วย เราต้องศึกษาว่าผ้าแบบนี้เนี่ยมันจะทำเสื้อผ้าสไตล์ไหนขึ้น ทำกับดีไซน์อะไรแล้วมันถึงจะดูแบบสวย ขายได้ ส่วนเรื่องเทรนด์เราคงต้องตามจาก Fashion Magazine ตลอดว่า ดีไซเนอร์เมืองนอกตอนนี้เขาทำอะไร เทรนด์เป็นประมาณไหน โชคดีที่นอกจากทำเสื้อผ้าแล้ว เรายังเป็นคนที่แต่งตัวด้วย เลยรู้สึกเหมือนไม่ได้ตามเทรนด์ เหมือนตอบสนองความชอบส่วนตัวมากกว่า


Q : มีคนเมาท์บอกว่า เวลาออกงาน คุณมาร์คแต่งตัวแรง
A : ไม่แรงหรอกครับ เรียกว่าเป็นคนชอบแฟชั่นมากกว่า แล้วชอบเขียนอะไรเกี่ยวกับแฟชั่น ซึ่งเคยเขียนให้ Elle อยู่พักหนึ่ง มาร์คเขียนเป็นคอลัมน์เล็กๆ จริงๆ มาร์คเริ่มทำบล็อกมาก่อนด้วย ตอนทำบล็อกใหม่ๆ มีเพื่อนมาทักว่า ‘มาร์ครู้ไหมว่ามาร์คเหมือนไบรอัน บอย’ เราก็บอกว่าใครคือไบรอัน บอย เขาส่งลิงก์มาให้ดู เราก็กดไปดู เออหน้าคล้ายนะ มีความเป็นเอเชีย เป็นกะเทยขี้แต่งตัวเหมือนกัน แต่ความพิเศษของเขาคือ Content ของนางจะมีความขี้เล่นอยู่ส่วนหนึ่ง แบบดัดจริต มีความ Bitchy แต่ก็แบบร้ายๆ แต่เออมันตลก ตอนนั้นเหมือนกับจุดประกายไบรอัน บอยเนี่ย ก็เลยเขียนบล็อกจริงจัง เหมือนเป็นเน็ตไอดอลยุคแรกๆ มีคนเชิญไปออกงานบ้าง เวลาเราไปงานก็ให้เกียรติงานเนอะ เราแต่งตาม Dress Code ที่เขากำหนด

Q : ด้วยความที่เราเป็นดีไซเนอร์และชอบแต่งตัว เวลาเราซื้อของ เราจะเลือกจากอะไรเป็นอันดับแรก ดีไซน์ หรือชื่อแบรนด์
A : การซื้อของของมาร์คจะดูจากความชอบเป็นหลักครับ ถ้าชอบเสื้อตัวนี้ก็ซื้อ จริงๆ มาร์คไม่ค่อยติดดีไซเนอร์ ติดแบรนด์อะไรเท่าไร เพราะมาร์คเดินช้อปทุกที่ อีกอย่างหนึ่งคือมาร์คเป็นคนชอบซื้อ และด้วยงานคือการเป็นดีเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ แล้วตอนที่กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ มาร์ครับจ๊อบเป็นสไตลิสต์ด้วย ด้วยงานต้องมีพร็อพมีอะไรเยอะ ฉะนั้นก็เหมือนกับการไปซื้อของของเรา มันเลยกลายเป็นว่าซื้อเยอะกว่าคนอื่นเขา เพราะว่าจะซื้ออะไรทีก็เป็นข้ออ้างด้วยนะว่า จริงๆ ถึงเราไม่ได้ใช้เอง เราเอาไปเป็นพร็อพในสไตลิสต์ได้ และนอกจากนี้รสนิยมส่วนตัวดันชอบเสื้อผ้าผู้หญิง เราออกแบบเป็นเสื้อผ้าผู้หญิง แล้วก็มีใส่ด้วย มีใส่พวกเสื้อผ้าผู้หญิง แต่ไม่ถึงกับแต่งหญิงนะ จริงๆ เมื่อก่อนเราจะ hangout กับพวกพี่อาร์ต อารยา จีน กษิดิศ ซึ่งเขาแต่งหญิงกันอยู่แล้ว มันเลยเหมือนเราแต่งตัวแรง แต่จริงๆ แต่งธรรมชาตินะ

Q : ตอนนี้วงการแฟชั่นบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับยุค 90s ที่เราเป็นเด็กๆ
A : แฟชั่นมันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง มาร์คว่ามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แหละ ตอนนี้แฟชั่นมันมาถึงจุดที่เรียกว่าเป็น Street Fashion จริงๆ เรื่องของเพลง เรื่องของไลฟ์สไตล์ มีเรื่องของคนผิวสีด้วย อย่างตัวดีไซเนอร์ Virgil Abloh ที่มาเป็นดีไซเนอร์ให้กับ Louis Vuitton พื้นฐานมาจากยังดีไซเนอร์ที่เป็น Streetwear หรือว่า Alessandro Michele ที่มาทำงานให้กับ Gucci เขามาจากสายที่มันเป็นเพลงที่ค่อนข้างเป็น Streetwear มาร์คเลยคิดว่าแฟชั่นมันมาทางด้านนี้เยอะ เออมันใส่สบาย แต่ว่าราคามันก็ไม่น้อยครับ ทำไมมันถึงเป็นของ luxury ได้ เพราะว่าเนื่องด้วยดีไซน์ เนื่องด้วยวัสดุการใช้ มันก็ต้องพิเศษกว่าของปกติอย่างอื่นอยู่แล้ว มาร์คว่ามันเหมาะสมตามราคานะครับ คือเขาไม่ได้แบบอยู่ดีๆ ตั้งขึ้นมาให้มันสูง เพื่อที่จะให้มันดีดตัวเองออกมาว่าเป็นดีไซเนอร์ มาร์คว่าแฟชั่นตอนนี้มันเปลี่ยน มันเป็น Streetwear แล้ว แล้วตอนนี้มันก็อาจจะมีเรื่องของ Sustainable Fashion มีเรื่องแฟชั่นอะไรที่ใส่ได้นาน แล้วก็รีไซเคิลได้ เป็นแฟชั่นรักโลก

Q : ย้อนกลับไปถามเรื่องส่วนตัวนิดหนึ่ง เห็นว่าตอน ม.ปลาย มีแก๊งเพื่อนสาวนี่คือตอนนั้นทำไมเราไม่คบผู้ชาย ทั้งๆ ที่เรียนโรงเรียนชายสห
A : เรียนสหครับ เรียนสหก็เป็นแบบผู้ชายผู้หญิง คือเรื่องรสนิยมทางเพศ จริงๆ รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กๆ และเป็นคนค่อนข้างเปิดเผย ซึ่งมันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือรู้ตัวตั้งแต่เด็ก มันชัดเจน แล้วชอบคบกับเพื่อนผู้หญิง เพราะเราชอบทำกิจกรรมชอบวี้ดว้าด เราเป็นตัวของเรา เราไม่รู้สึกว่าเราแปลกประหลาด แต่ความจริงเนี่ย เรายังอยู่ในสังคมที่เป็นเขาเรียกเป็น heterosexual อยู่ เป็นสังคมที่เป็นชายหญิงอยู่ เมืองไทยมันจะมีกรอบตรงนี้อยู่เยอะว่า เป็นผู้หญิงต้องดูเป็นอย่างนี้ ต้องผมยาว ผู้ชายก็ต้องตัวสูงใหญ่ หรือ Looking เป็นผู้ชาย ทีนี้เราเป็นอย่างนี้ แต่เรารู้ตัวนะว่าลุคที่เราไม่เหมือนคนอื่น เราดูเป็นกะเทย แต่ก็ไม่ใส่ใจ

Q : แต่ในเมืองไทยเราต้องถือว่า LGBT เมืองไทยโชคดีกว่าประเทศอื่นๆ เยอะนะ
A : จริงๆ โชคดีกว่า เราสามารถแสดงตัวตน แล้วสังคมไม่ได้แอนตี้ แม้จะยังมีกลุ่มคนที่ต่อต้านอยู่ก็ตาม ซึ่งมันเป็นสิทธิ์ของเขา แต่นี่เป็นสิทธิ์ของเราเหมือนกันที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงของเราออกมา

Q : วางตัวอย่างไร
A : เราก็ต้องดูกาลเทศะ

Q : แต่ในวงการแฟชั่นก็ LGBT เยอะมากอยู่แล้ว
A : เยอะมากอยู่แล้ว แฟชั่นดีไซเนอร์เนี่ย 90% คือเป็นแบบนี้ ยังไม่รวมสไตลิสต์กับพวกช่างภาพอีก

Q : นายแบบนางแบบอีกล่ะ
A : จริง ส่วนใหญ่มันก็จะมาเป็นแนวนี้ เรื่องปกติเนาะสำหรับวงการแฟชั่น

Q : คำถามสุดท้าย ในอนาคตวางแผนตัวเองไว้อย่างไรบ้างครับ จะกลับไปทำแบรนด์ของตัวเองอีกไหม หรือว่าจะผันตัวเองไปเป็นแฟชั่นบล็อกเกอร์บลาบลาบลา
A : ในอนาคตของมาร์คก็คิดว่า คงอยู่ในวงการแฟชั่นไปเรื่อยๆ คือด้วยเนื้องานของการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ตอนนี้เกือบ 20 ปีแล้ว ค่อนข้างจะนานนะครับ แต่คิดว่าคงไม่มีคำว่าประสบความสำเร็จแบบเต็มร้อย คือทุกวันนี้มาร์คคิดว่ามันยังมีอะไรใหม่ๆ ที่เราสามารถจะเรียนรู้ได้อีก แฟชั่นมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วตอนนี้มันเหมือนกับเป็นช่วง timing ใหม่แล้วล่ะ มี New Generation มา แล้วเราเหมือนกับเป็นอีก Generation หนึ่ง ซึ่งเราคอยดูอยู่ คอยให้คำปรึกษากับน้องๆ รุ่นใหม่

Q : สมมุติจะให้คุณมาร์คฝากคำแนะนำถึงเด็กยุคใหม่ที่อยากจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ เขาควรจะต้องเตรียมตัวหรือเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ดีในอนาคต
A : มาร์คว่านะครับ อยากฝากให้กับแฟชั่นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ที่สนใจแฟชั่นว่า passion สำคัญกว่า ความชอบมันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง คือใครๆ จะชอบอะไรก็ได้ มันเป็นเรื่องง่าย แต่มาร์คว่า passion มันลึกกว่านั้น การที่มี passion ให้กับแฟชั่น คือไม่ว่าจะเป็นสไตล์ จริงๆ มันไม่มีผิด ไม่มีถูก ให้เรารู้สไตล์ของเรา แล้วเราก็ไปทางนั้น ทำให้มันดีที่สุด จริงใจกับมัน ให้ใจกับมัน ให้เวลากับมัน แล้วก็ต้องอดทน เพราะว่างานแฟชั่นดีไซน์ มันไม่ใช่เห็นว่า เอออยู่กับสิ่งสวยหรูนะ เห็นเขาไปออกงาน ใช้ไลฟ์สไตล์สนุกสนาน แต่ในความเป็นจริงเนี่ย เราพอกลับมาที่ทำงาน เราอยู่กับช่าง เราต้องคุยกับช่าง กับลุงๆป้าๆ ที่เย็บเสื้ออยู่เนี่ย อยู่กับเขาเกือบทุกวัน จะจัดการอย่างไรให้เขาทำเสื้อผ้าออกมาให้เราสวยๆ ให้มันดูมี value มันไม่ง่ายนะ อยากให้ถามตัวเองดูก่อนว่า เราชอบมันจริงๆ ถ้าชอบจริงๆ ก็ go ahead เลย

]]>