โดย เบญจกาย

ในระหว่างที่ดิฉันชื่นมื่นกับมิสยูนิเวิร์สคนใหม่ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศไทยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพอย่างสมศักดิ์ศรี แต่ก็แอบเสียดาย ‘นิ้ง-โศภิดากาญจนรินทร์’ มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ อยู่ไม่น้อยเช่นกัน ใครจะดราม่าเรื่องชุด เรื่องดอกไม้อยู่ก็เชิญตามสบายค่ะ ไทยแลนด์แดนดราม่า พูดตามตรงดิฉันว่านิ้งสวยและเธอทำได้ดีที่สุดแล้ว มัวแต่สาละวนเรื่องดราม่าก็ดันลืมไปว่า ประเทศไทยเพิ่งมีมิสเตอร์เกย์เวิลด์ ไทยแลนด์ คนใหม่ล่าสุดอย่าง ‘นัท-ชโยดม สามิบัติ’ เช่นกัน ระหว่างที่นัทกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อขึ้นเวทีประกวดระดับนานาชาติที่สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในเดือนพฤษภาคมนี้

ดิฉันโทรจิกมิสเตอร์เกย์เวิลด์ ไทยแลนด์ 2019 มาคุยถึงการเตรียมสู้ศึกในครั้งนี้ว่าพร้อมมั้ย (มีกะเทยหลายนางบอกฮีเป็นความหวังเดียวของไทยตอนนี้ที่จะได้ ‘มง’ ระดับนานาชาติ) ปัจจุบันนัทชโยดม ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด หรือบริษัทผลิตยางรถยนต์ชื่อดังนั่นแหละค่ะ โดยนัทดูแลในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางรถจักรยานยนต์ (แหม งานแม้นแมนมั่กๆ ค่ะ) ภายใต้ความสำเร็จในหน้าที่การงานของนัทที่มีอยู่ มีพื้นฐานมาจากความเข้าใจของครอบครัวที่เป็นแรงสำคัญที่ทำให้นัทมายืนอยู่ตรงนี้ และเป็นที่มาของแคมเปญ #loveyourgaysonที่ใช้ในการประกวด ซึ่งจะยกระดับให้ใหญ่ขึ้นเมื่อต้องขึ้นเวทีนานาชาติ

Q : ตัดสินใจประกวดมิสเตอร์เกย์เวิลด์ ไทยแลนด์ได้อย่างไรคะ
A : จริงๆ ผมมีเพื่อนที่สมัครประกวดปีที่แล้วครับ ชื่อว่าฟลุค เป็นเพื่อนที่ยิม แต่ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจนะครับ จนกระทั่งวันหนึ่งไปเข้ายิม ได้ยินคนในยิมพูดถึงทอย (ภัครพงษ์ ขวยเขิน มิสเตอร์เกย์เวิลด์ ไทยแลนด์ คนที่แล้ว) ในแง่ลบกันเยอะมาก เมาท์กันไม่ดีเลย ไม่สมตำแหน่งบ้าง ผมเลยเกิดความสงสัยว่า จริงๆ เวทีนี้เขาทำงานอย่างไร เลือกคนแบบไหน ในเมื่อผมอยากจะรู้จริงๆ ก็ต้องสมัครเองเลยดีกว่า จะได้รู้ว่าคุณสมบัติคนที่จะเป็นมิสเตอร์เกย์เวิลด์ ไทยแลนด์ควรจะเป็นอย่างไร ทำไมปีที่แล้วคนนี้ได้ ทำไมมีกระแสว่าคนไม่ชอบ เราฟังจากคนอื่นมามันไม่แฟร์กับกองประกวดเลยมาลองสมัครเองครับ

Q : กระแสที่เราได้ยินมามีอะไรบ้างคะ สาวมากใช่มั้ย
A : โอ้โฮ ผมว่าถ้าผมเป็นทอย แล้วได้ยินเวลาคนพูดถึงแบบนั้น คงเศร้ามาก คือการเมาท์ในยิมหลังวันที่ประกวดเสร็จนี่พูดกันแรงมาก ‘ตุ๊ดมาก อ้วน ขี้เหร่ ไม่น่าได้เลย’ ซึ่งต้องสารภาพตามตรงว่า ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้ติดตามข่าวการประกวดมิสเตอร์เกย์เวิลด์ ไทยแลนด์ว่าเป็นอย่างไร คุณสมบัติการคัดเลือกผู้ชนะเป็นอย่างไร เราแค่ได้ฟังฟีดแบ็กหลังจากที่การประกวดเสร็จไปแล้วครับ

Q : ขนาดได้ยินฟีดแบ็กที่ค่อนข้าง negative เราก็ยังตัดสินใจประกวด?
A : สิ่งแรกคือเกิดความสงสัยก่อนว่า อ้าวถ้าเขาไม่ดี ทำไมคณะกรรมการเลือกคนนี้ให้ได้รางวัลล่ะ หลังจากนั้นจึงค่อยไปดูคลิปย้อนหลัง เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่า จริงๆ มันไม่ใช่การเฟ้นหานายแบบที่รูปร่างหน้าตาดี คนที่ได้จริงๆ มีหน้าที่ที่ต้องทำ สำหรับผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่านั้น ผมเลยคิดว่า ในทางกลับกัน ทำไมคนที่คิดว่าตัวคุณโอเค คุณหน้าตาดี คุณหุ่นดี คุณคิดว่าคุณทำได้ ทำไมคุณไม่ไปสมัคร เพราะว่าจริงๆ ในฐานะมิสเตอร์เกย์เวิลด์ ไทยแลนด์ คุณไปเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้น มันก็ไม่ใช่แค่ว่าคนที่ประกวดหรือกองประกวดได้เกย์ โฮโมเซ็กชวลไบเซ็กชวลเลสเบี้ยน ทุกคนในประเทศไทยจะได้สิทธิ์นั้น พูดง่ายๆ คือเขาไปทำงานแทนเรา ไม่ว่าจะทำได้ดีหรือไม่ดี ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลยแล้วดีแต่พูด ตอนนั้นเลยเกิดความคิดว่า เอ๊ย เราลองไปสมัครบ้างดีกว่า

Q : หลังจากที่ไปสมัครแล้วความรู้สึกเราเปลี่ยนไปบ้างมั้ย เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ได้ยินคนเมาท์มอยในยิม
A : ความรู้สึกเปลี่ยนไปเยอะมากครับ เพราะตั้งแต่วันที่ออดิชั่น ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการประกวด ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการแข่งขัน ทุกคนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ไปทำงานด้วยกัน แต่อาจจะเป็นคนละประเด็น คนละความถนัด ตัวอย่างเช่นในการประกวดผู้เข้าประกวดจะมีสิ่งที่ต้องทำเรียกว่าโซเชียลแคมเปญ คือให้ทุกคนออกแบบกิจกรรมเพื่อสังคมขึ้นมา เพื่อยกระดับหรือว่าพัฒนาคุณภาพชีวิตของ LGBT ในประเทศไทย ทุกคนมีวัตถุประสงค์เดียวกันหมด คืออยากให้ LGBT ในประเทศไทย มีเสรีภาพ มีความเท่าเทียม มีความสุข แต่ว่าอาจจะมองคนละด้าน คนละประเด็น จึงทำให้การประกวดไม่ได้เป็นการคอนเทสต์ แต่เป็นการร่วมกันทำงาน ทำในเรื่องที่ถนัด สำหรับผมนะครับสนุกมาก แล้วกรรมการก็ไม่ได้น่ากลัว ทุกคนมาคอยแนะนำ เอ๊ย อันนี้ไม่ดี อันนี้ถ้าปรับปรุงจะดีขึ้น กลายเป็นว่าเราเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอเพื่อน เจอคนกลุ่มใหม่ๆ ความรู้สึกที่ได้ยินฟีดแบ็กที่ไม่ดีก็หายไปเลย

Q : ตอนนั้นคิดมั้ยว่าเราจะได้เข้ารอบลึกๆ จนได้ตำแหน่งมาครอง
A : ไม่คิดครับ แต่หลังจากได้รางวัลแล้ว ค่อยมานั่งอ่านที่คนเขียนคอมเมนต์ว่าคนนี้เป็นตัวเก็งมาก่อน คนนี้สมมง แต่ผมต้องบอกก่อนเลยว่า ตั้งแต่วันที่ออดิชั่นน่ะไม่เคยคิดเลย เพราะพอเข้าไปออดิชั่นแล้ว อย่างที่บอกครับว่า มันไม่ได้เป็นการออดิชั่นเหมือนกับการค้นหาดารา นายแบบ ที่เอาทุกคนมายืนเรียงกันแล้วดูว่าใครดูดีที่สุด ทุกคนต่างกันหมด มาด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่วิธีการนำเสนอต่างกัน ผมก็แค่รู้สึกว่า พอพรีเซ็นต์ในแบบของเรา เรื่องที่เราสนใจ แล้วกรรมการให้โอกาส เราก็ทำเรื่องนั้นไปเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับคนอื่นนะครับ ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นตัวเก็งหรือโดดเด่น เพียงแต่คิดว่า เอ๊ย ถ้ายังมีโอกาส ต้องก้าวต่อไปเรื่อยๆ ผ่านรอบนี้ไปแล้วแสดงว่าผมยังมีโอกาสทำต่อ

Q : โซเชียลแคมเปญที่นัทนำเสนอคืออะไร?
A : โซเชียลแคมเปญของนัทเป็นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวครับ ใช้ชื่อว่า #Loveyourgaysonหลายๆ คนที่เข้ามาประกวดจะมีปัญหาที่เป็นด้านลบ เช่น เป็นคู่รักที่อยากมีลูก แต่ไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ เป็นคนที่ใช้ชีวิตกับเอชไอวี เป็นคนที่มีปัญหาใช้ชีวิตคู่รักผลเลือดต่าง ฯลฯ ตอนที่ผมเริ่มแนะนำโซเชียลแคมเปญ หนักใจมาก เพราะว่าผมมีความสุขกับชีวิตดี ไม่ได้มีปัญหาอะไรที่ต้องมาต่อสู้ เพราะเราคิดว่าชีวิตเรามีความสุขแล้ว กลายเป็นว่า สมมุติผมไปดึงเอาบางปัญหาที่ผมไม่ได้รู้สึกจริงๆ ขึ้นมา มันจะไม่จริง อย่างถ้าผมบอกว่าจะรณรงค์เรื่องเอชไอวี แต่ว่าเรารู้ว่าเราไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง สิ่งที่ทำมันจะไม่จริงใจ ผมคุยกับคณะกรรมการครับ กรรมการแนะนำว่าให้ทำเรื่องที่เรารู้สึกว่ามีความสุขในการทำ ผมเลยเลือกเอาเรื่องพ่อแม่กับลูกที่เป็นเกย์ เพราะมองที่ชีวิตตัวเองแล้วรู้สึกว่า ส่วนหนึ่งที่การศึกษาเราดี มีโอกาสทำงานที่ดี ได้ใช้ชีวิตมีความสุขมาตลอด เพราะพ่อแม่เราสนับสนุนและรักเราในแบบที่เราเป็นก็ดึงหัวข้อที่เป็นความสุขเป็นบวกมามองในทางตรงกันข้ามว่า แล้วคนที่เขาไม่ได้มีโอกาสอย่างเรา เขาจะเจออะไรในชีวิตบ้างนะ จากนั้นจึงเริ่มการทำรีเสิร์ช อ่านรีเสิร์ชที่เป็นในเรื่องของครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งทำให้ผมตกใจเลยว่า ถ้า LGBT ที่พ่อแม่ไม่ยอมรับจะมีผลกระทบเยอะมาก เช่น สุขภาพร่างกาย การเจ็บป่วยจะมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น สุขภาพจิตใจจะแย่ มีภาวะเครียด ซึมเศร้า ไปจนถึงฆ่าตัวตาย มีความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดสูง ความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ค่อนข้างสูง และโอกาสในการประสบความสำเร็จในชีวิตจะค่อนข้างน้อย เพราะว่าเขามีความ commitment ที่ต่ำ ผมก็ดึงมาเป็นประเด็น แล้วทำแคมเปญที่สื่อสารกับพ่อแม่ที่มีลูกเป็น LGBT ว่าคุณต้องเข้าใจนะว่าการเป็นเกย์มันไม่ได้เป็นตราบาป ไม่ได้เป็นคำสาป ลูกคุณทำให้คุณมีความสุขได้ เพียงแต่ว่าคุณต้องเข้าใจและภูมิใจในตัวเขาก่อน ก็เลยออกมาเป็นแคมเปญ Love Your Gay Son ครับ


Q : แสดงว่านัทเปิดตัว (come out) กับคุณพ่อคุณแม่แล้วท่านรับได้ใช่มั้ย?
A : จริงๆ ผมจะไม่มีโมเมนต์การเปิดตัวว่าเป็นเกย์นะ เคยกลับไปถามคุณแม่นะครับ แม่บอกว่า ก็ผมเป็นลูกเขา เขารู้เอง ไม่ต้องมาบอก ยกตัวอย่างเช่นผมเรียนโรงเรียนชายล้วน เรียนคณะวิศวกรรม ซึ่งเพื่อนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย สมมุติว่าพาเพื่อนกลับไปเที่ยวบ้าน เขาก็รู้ว่านี่คือเพื่อน แต่ถ้าเป็นแฟน เขาก็รู้ แต่เขาจะไม่พูดนะครับ แล้วเขาจะมีความสุขไปกับเรา ช่วงที่เรามีแฟน ตอนปิดเทอม ผมพาแฟนกลับไปเที่ยวบ้าน เขาจะดูแลเหมือนเป็นลูกคนหนึ่ง ผมถามแม่ว่า แม่รู้ตั้งแต่เมื่อไร แม่บอกว่า ด้วยความที่เราเป็นลูกของแม่ เราทำอะไรแม่จะรู้ เพียงแต่ว่าแม่จะแกล้งไม่รู้ หรือไม่บังคับให้เป็นในสิ่งที่เราไม่อยาก แม่บอกว่าแม่เลือกแล้วว่าถ้าลูกมีความสุขแม่ก็ปล่อยไป ครอบครัวผมจะซับซ้อนหน่อย เพราะว่าพ่อกับแม่ผมเลิกกันตอนผมเป็นวัยรุ่น หย่ากัน พ่อไปมีครอบครัวใหม่ ทีนี้ผมอยู่กับแม่ พอแม่โอเพ่น แม่ยอมรับ พ่อก็จะไม่มีปัญหา เหมือนกับว่าถ้าอยู่กับแม่แล้วโอเคที่เป็นอย่างนี้ พ่อขอแค่ว่าลูกตั้งใจเรียนนะ ไม่ติดยาเสพติด ไม่ทำตัวเกเร กลายเป็นว่าพ่อแม่ยอมรับแล้วสนับสนุนให้เราทำให้เต็มที่ไปเลยในสิ่งที่เราอยากจะเป็นครับ

Q : แต่ในชีวิตจริงของคนอื่นไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะบริบทแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน เราจะรณรงค์ให้พ่อแม่คนอื่นๆ เข้าใจอย่างไร
A :
ผมต้องบอกอย่างนี้ครับว่า บ้านผม คุณพ่อเป็นจีน มีอากงเป็นจีนแท้ๆ มาจากเมืองจีนเลย แต่ว่าย่าเป็นคนไทย มีความอึดอัดใจไหม เคยคุยกับพ่อแม่ ท่านบอกว่า ถามว่าจะไปภูมิใจหรือบอกใครว่าลูกผมเป็นเกย์นะ ผมภูมิใจ ดีใจ มันคงไม่ขนาดนั้น เขาอาจจะภูมิใจในเรื่องอื่น เช่น ภูมิใจที่เราเป็นเด็กเรียนเก่ง เป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ เรียบร้อย ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงาน ไม่มียุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เขาไม่ได้ภูมิใจที่เราเป็นเกย์ แต่เขาแค่มีความสุขกัน เพราะฉะนั้นถ้าถามผมนะครับ ก่อนที่จะเปลี่ยนใจพ่อแม่ ต้องดูที่พฤติกรรมของตัวคนที่เป็นลูกก่อน ผมไม่บอกนะว่าเป็นเกย์ต้องเป็นคนดีก็พอ เพราะต่อให้คุณไม่ได้เป็นเกย์ คุณก็ควรจะต้องเป็นคนดี แต่โดยพื้นฐานเลยคุณทำตัวให้ดี ให้พ่อแม่เขารู้สึกว่า เขาไว้วางใจเราได้ เขาพึ่งพาอาศัยเราได้ในยามจำเป็น พอเวลาที่เขาปล่อยให้เราไปใช้ชีวิตเขาจะได้ไม่ต้องเป็นห่วง อันนี้ข้อแรกนะครับ

ข้อที่สอง อย่างที่บอกไปว่า #Loveyourgaysonเป็นการสื่อสารโดยตรงไปถึงพ่อแม่ สิ่งที่อยากให้เข้าใจคือ อย่าคิดว่ามันเป็นตราบาป อย่าคิดว่าเป็นกรรมเก่าจากชาติก่อน คือเวลาที่คุณมีลูก คุณไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่า เขาจะเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง ตัดสินใจว่าจะมีก็มี อันนี้ไม่นับคนที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์นะครับ แค่เข้าใจว่าเพศมันไม่ได้มีแค่ชายกับหญิง ถ้าลูกคุณมีความสุขก็แค่นั้นแหละ คือลูกของคุณจริงๆ ผมต้องบอกอย่างนี้ครับว่า #Loveyourgaysonเราให้ความสำคัญ เพราะคนที่เป็นเกย์เองหาข้อมูลในเรื่องการใช้ชีวิตได้หลายช่องทาง อยากได้ข้อมูลเรื่องเอชไอวี คุณอยากได้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว การใช้ชีวิต ยาเสพติด กฎหมาย มีเว็บไซต์หมด แต่คนที่เป็นพ่อแม่แล้วมีลูกที่เป็นเกย์ บางทีเขาไม่ได้อยากจะมีปฏิกิริยาที่เป็นลบ แต่เขาไม่รู้จะคุยกับใคร ไม่รู้จะปรึกษาใคร ซึ่งตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันจะเป็นคอมมิวนิตี้ที่พ่อแม่ที่รู้แล้วว่าลูกเป็น LGBT สามารถลองเข้ามาหาข้อมูลได้ว่าครอบครัวอื่นเขาอยู่กันได้นะ เขามีความสุข ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดแปลกไปแล้วสำหรับสังคมปัจจุบัน การเปลี่ยนความเชื่อคนมันยากครับ ต้องค่อยๆ ทำ แล้วก็ต้องมีตัวอย่างให้เห็นด้วย

Q : เรียนจบที่ไหนมา
A :
ผมเรียนจบ ม.ปลาย ที่จังหวัดมหาสารคาม โรงเรียนสารคามพิทยาคมครับ แล้วมาต่อปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ

Q : ค้นพบตัวเองตั้งแต่เด็กหรือเปล่าคะ
A :
เวลามีคนถามคำถามนี้ ผมจะตอบยากมาก แต่ผมว่าผมเกิดมาเป็นอย่างนี้ คือตอนเด็กๆ อาจจะช่วงประถม ผมอาจจะยังไม่รู้ หรือถ้าเพื่อนล้อ ผมอาจจะเริ่มคิดว่าเราจะต้องเป็นอย่างอื่นหรือ เราจะต้องไปเตะบอลหรือ แต่ว่าผมก็โตขึ้นมาเป็นอย่างนี้ครับ มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องค้นหาหรือค้นพบ ผมโตขึ้นมาเป็นอย่างนี้ แล้ววันหนึ่งผมก็รู้ว่า เอ๊ย เราชอบคนแบบนี้ ไม่ชอบคนแบบนี้ เราชอบกิจกรรมนี้ ไม่ชอบกิจกรรมนี้ครับ

Q : แล้วเราจะรณรงค์อย่างไรให้เขาภูมิใจในสิ่งที่เขาเป็นและในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็เข้าใจลูกด้วย
A :
สำหรับตัวผมเอง เนื่องจากพ่อกับแม่ไม่มีปัญหา แต่ผมเชื่อว่าเด็กที่เป็น LGBT หลายๆ คนจะมีปัญหากับสังคม เพราะพ่อแม่ก็จะไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกลูก เพราะมัวแต่คำนึงถึงหน้าตาของตัวเองในสังคม ตอนที่เป็นเด็กๆ ผมเจอเหมือนกัน เช่นเวลาที่เราตามแม่ไปร้านเสริมสวย แล้วจะมีป้าๆ อาซิ่ม อาม่า มาล้อว่าลูกเป็นตุ๊ดหรือเปล่า? ซึ่งอันนี้เป็นข้อดีมากและเป็นพลังมาสู่ผม เพราะแม่ผมจะไม่ยอม แม่จะออกตัวแรงเลยว่า ’ถ้าลูกฉันเป็นเกย์แล้วเดือดร้อนอะไรเป็นก็ลูกฉัน พวกเธอไม่มีสิทธิ์ ถ้าฉันไม่เดือดร้อน คนอื่นไม่ต้องมาเดือดร้อนด้วย’ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่า เอ๊ย การที่เราเป็นอย่างที่เราเป็นมันไม่ผิดนะ อันนี้ข้อแรกนะครับ ข้อที่สอง อาจจะเป็นโชคดีด้วย เพราะว่าผมค่อนข้างเป็นเด็กเรียบร้อย แล้วเรียนเก่ง สมมุติว่าถ้าใครจะมาล้อว่าลูกเป็นตุ๊ด พ่อแม่เขาก็จะมีจุดขาย ‘แล้วอย่างไรล่ะ ลูกฉันเรียนเก่ง ลูกฉันสอบได้ที่หนึ่ง สอบได้ห้องคิง ลูกฉันได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ’ เขาจะมีจุดขายของเขา ผมคิดว่าสำคัญมากสำหรับสังคมไทยนะ คนที่เป็น LGBT เอง แล้วมีชีวิตที่มีเสถียรภาพแล้ว มั่นคงแล้ว ควรจะต้องออกมาเปิดตัวให้วัยรุ่น ให้เด็กรุ่นต่อๆ ไปเห็นว่าเราใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง ได้อย่างมีความสุข สมมุติผมไม่มาประกวดมิสเตอร์เกย์เวิลด์ฯ ผมก็อยู่แบบแอบๆ แล้วผมจะไปบอกใครได้ว่าการเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ขนาดเราก็ยังแอบเลยถูกไหม แต่อันนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่คุณจะเลือกที่จะเปิดหรือไม่เปิดนะ มันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ชีวิตคน แต่ว่าใครที่เปิดได้ และคิดว่าเป็นตัวอย่าง เป็น inspiration ให้เด็กรุ่นใหม่ได้ ให้วัยรุ่นไปจนถึงวัยเด็กๆ ได้ ควรจะให้เขาได้เห็นว่ามีคนอย่างเราที่มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตอยู่ในสังคมจริงๆ ซึ่งอันนี้แหละที่จะเป็นตัวอย่างให้ทั้งเด็ก แล้วให้ทั้งพ่อแม่ทั่วไปเห็นว่าเรื่องนี้มันปกติ ผมคิดว่าในสังคมหลายๆ ประเทศครับ เช่น ที่สวีเดนซึ่งผมไปเรียนปริญญาอยู่ 6-7 ปี ทุกคนทำเป็นเรื่องปกติ เราเห็นหมอที่เป็นเกย์ เห็นนายทหารระดับสูงที่เป็นเกย์ เห็นรัฐมนตรีที่มีคู่สมรสเป็นเพศเดียวกัน เห็นท่านทูตที่มีคู่สมรสเป็นเพศเดียวกัน แล้วก็เดินทางไปใช้ชีวิตในประเทศต่างๆ มันทำให้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่เห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทีนี้ถ้าเราไม่เปิด เราก็ไม่รู้จะเปลี่ยนความคิดคนอื่นอย่างไร ผมพยายามจะพูดตลอดว่า เปลี่ยนความเชื่อคนยากมาก วิธีเดียวที่เปลี่ยนความเชื่อคนได้ คือทำให้เขาเห็นว่ามันมีจริงๆ มันทำได้จริงๆ ครับ

Q : แล้วเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศว่าอย่างไรบ้าง
A :
ผมต้องบอกก่อนว่า ด้วยความที่บริษัทของผมเป็นบริษัทฝรั่งเศส เขาจะมีความ diversity สูงมาก diversity ในที่นี้คือเขาไม่ได้ทรีตเพศไหนเพศหนึ่งเป็นพิเศษ เขาไม่ได้ให้สิทธิพิเศษที่เราเป็นเกย์ หรือว่าคุณเป็นผู้หญิงแล้จะต้องได้ที่จอดรถพิเศษกว่าคนอื่น diversity คือทุกคนเท่ากัน คุณเก่งก็มีสิทธิ์ที่จะขึ้นมาตำแหน่งสูง คุณไม่เก่งก็มีสิทธิ์ที่จะโดน complaint ตอนที่ประกวดนายผมก็เฉยๆ นายบอกแค่ว่า ถ้ายูคิดว่ายูจัดการเรื่องเวลาได้ ไม่กระทบกับเรื่องงาน ยูก็ทำไป แล้วทุกคนจะคอยให้กำลังใจว่ายังโอเคใช่ไหม อยากให้ช่วยอะไรไหม เพราะช่วงที่ทำแคมเปญ ผมทำงานหนักมากจริงๆ เหมือนกับตอนทำทีสิสเรียนปริญญาโทเลย ไม่ได้ทำเล่นๆ นะครับ แล้วพอถึงวันที่ผมได้ตำแหน่ง วันรุ่งขึ้นไปทำงาน ทุกคนก็มายืนรอที่โต๊ะ มายืนล้อมเราที่โต๊ะ แล้วทุกคนก็ตบมือแสดงความยินดี จากนั้น CEO เดินมาจับมือ บอกดีใจด้วยนะ มีอะไรที่ใน next step ที่จะให้เขาช่วยได้ก็ขอให้บอก ซึ่งอันนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า ผมภูมิใจในบริษัทฯ ที่เขาเคารพใน diversity ของคน ของทุก gender ครับ

Q : ความรู้สึกของเรา ก่อนและหลังการประกวด รวมทั้งของพ่อและแม่ และคนอื่นๆ ด้วย เป็นอย่างไรบ้าง
A :
ผมจะพูดกับพี่ออด ซึ่งเป็นผู้จัดการกองประกวดบ่อยๆ ว่าขอบคุณมิสเตอร์เกย์เวิลด์มาก เพราะว่าพ่อแม่ผมหย่ากัน ตั้งแต่ผมยังเป็นวัยรุ่น ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่จะมีรูปพ่อแม่และผมอยู่ในเฟรมเดียวกัน ครั้งแรกคือรับปริญญาตรี ปริญญาโท 2 ใบ ก็ไม่ได้ไปร่วม ครั้งที่สองคือตอนบวช แล้วก็ครั้งนี้ครับ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราจะรางวัล แต่บอกคุณพ่อว่าวันนี้วันประกวดนะ ส่วนแม่ก็อยู่ด้วยกันอยู่แล้ว แล้วทั้งสองคนมาให้กำลังใจ เพราะว่าผมทำแคมเปญเรื่องพ่อแม่ แล้วทั้งสองท่านก็อยากจะมาแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่แค่การพูดว่า เอ๊ย ฉันมีพ่อแม่ที่รักฉัน ชีวิตเลยดี แต่พ่อมาจากมหาสารคาม แม่ก็มา พอประกาศรางวัลปุ๊บ ทุกคนก็ไม่รอพิธีกรเลย ทุกคนวิ่งขึ้นมาบนเวที เพื่อที่จะมาถ่ายรูปกับเรา ความรู้สึกสำหรับผม พอผมต้องกลับสู่ชีวิตปกติ ผมยังเชื่อว่าพ่อแม่เขารู้สึกภูมิใจ เขารักเรา เคารพเราอย่างที่เราเป็น แล้วเราสร้างความภาคภูมิใจให้เขา ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่คนคนหนึ่งได้ทำงานจากทำเพื่อตัวเอง ขึ้นมาเป็นการทำงานในระดับประเทศ ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองครับ

Q : เตรียมยกระดับแคมเปญนี้ในระดับนานาชาติด้วยใช่มั้ย เพื่อการประกวดในบนเวทีระดับโลก
A :
คือตอนที่ทำเรื่อง #Loveyourgaysonนะครับ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดก็คือแคมเปญนี้สเกลมันจะใหญ่พอไหม เพราะเป็นเรื่องของครอบครัวใช่ไหมครับ แต่หลังจากที่ติดตามข่าวในสังคม LGBT ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นเด็ก 10 ขวบโดนพ่อทรมานจนบาดเจ็บสาหัส เพราะว่ารับไม่ได้ที่ลูกเป็นเกย์ สุดท้ายเรื่องครอบครัวดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่มันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะครอบครัวเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ผมคิดตลอดว่าเรื่องแฟมิลี่มันเป็น small topic แต่มันมี issue ใหญ่ คือเด็กที่มีปัญหาจากระดับครอบครัว เขาจะไปสร้างปัญหาได้ใหญ่โตมาก เขาจะสร้างปัญหาที่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเรื่องการฆ่าตัวตาย ก็ไม่ใช่แค่ว่าคนตายแล้วจะจบ แต่ปัญหามันจะกระทบไปในระดับสังคม เรื่องยาเสพติด เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เรื่องสุขภาพ เพราะฉะนั้นผมก็เลยยังยืนยันว่าคงจะทำในเรื่องครอบครัวเหมือนเดิม แต่ว่าอาจจะทำในสเกลที่เพิ่มความเข้าใจ เช่นในพื้นที่อื่นของโลกครับ บางทีอาจจะเป็นความไม่เข้าใจของครอบครัวที่มาจากกรอบทางศาสนา กรอบจากความเชื่อ กรอบจากสังคมวัฒนธรรม การเมือง ทำอย่างไรที่จะให้เขามีความเข้าใจ ผมมีความเชื่อว่าพ่อแม่ตัดสินใจมีลูกอย่างไรต้องมีความรักลูกเป็นพื้นฐาน แต่ปัจจัยของสังคมอื่นๆ ที่เข้ามาทำให้ความรัก ความรู้สึกนั้นมีกำแพง ต้องทลายกำแพงนั้นให้ได้ครับ

Q : ปัญหาในครอบครัวอาจนำไปสู่ปัญหาในบริบทอื่นๆ อาทิ ในโรงเรียนที่มีการ bully กันก็มีส่วนผลักดันให้เกิดปมปัญหาในชีวิตต่อเกย์เด็ก ทั้งโรคซึมเศร้า ทำร้ายร่างกาย เราจะผลักดันหรือยกระดับไปแก้จุดนั้นด้วยได้หรือไม่ อย่างไร
A :
เรื่องนี้ ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าเด็กที่เป็นโฮโมโฟเบีย แล้วไป bully เพื่อนในโรงเรียน ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจของครอบครัวเหมือนกัน ผมคิดว่าอยากจะทำ #Loveyourgaysonให้เป็นจริง ไม่ใช่แค่ชุมชนสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเกย์ด้วยซ้ำ แต่พ่อแม่ทั่วไปที่มีลูกด้วย เพราะกว่าคุณจะรู้ว่าลูกคุณเป็นชายจริงหญิงแท้ หรือเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ จะต้องผ่านในช่วงวัยรุ่นไปแล้วใช่ไหมครับ ผมอยากให้พ่อแม่พวกเขารู้ว่าเขาควรจะต้องมีความรู้ในเรื่อง Gender ในเรื่อง Sexuality ที่ดีพอ เพราะต่อให้คุณมีลูกที่ไม่ได้เป็น LGBT ลูกคุณต้องเข้าใจว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ 2 เพศ แล้วไม่ว่าคนอื่นเขาจะแตกต่างจากคุณอย่างไร การที่คุณไปรังแกเขา มันไม่ใช่สิ่งที่ใครจะทำได้ ซึ่งสิ่งนี้มาจากความเข้าใจในครอบครัว มาจากการอบรมสั่งสอน อย่างครอบครัวผม แม่จะมีเพื่อนที่เป็นเพศทางเลือกเยอะ มีป้าๆ ที่เป็นกะเทย สมัยก่อนเราเรียกกันแบบนี้ แต่ว่าทุกคนก็เป็นครูอาจารย์ เป็นคนดี แล้วแม่ก็ไม่ได้ไปดีไฟน์ว่าคนอย่างนี้คบไม่ได้ หรือว่าไม่ได้ห้ามลูกอย่าไปเลียนแบบป้าเขานะ อย่าไปเป็นแบบป้าคนนี้นะ ซึ่งการหล่อหลอมแบบนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า เราต้อง respect เขา เราต้อง respect ทุกคนในสิ่งที่เขาเป็น เพราะฉะนั้นสุดท้ายในเรื่องของการรังแก การ bully กันในโรงเรียน การดูแลของครูอาจารย์ การออกกฎที่เข้มงวด การใช้กฎหมายบังคับ มันก็เป็นแค่การบังคับปลายเหตุ ถ้าใครได้ดูคลิปไวรัลล่าสุดตอนนี้ครับ ที่มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งไปรังแกเพื่อนที่มาจากซีเรีย ซึ่งอันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของเพศด้วยซ้ำ แต่ว่ามันมาจากอะไรล่ะ? ทำไมเด็กคนนี้มองว่าการที่ไปทำร้ายคนอื่นเป็นเรื่องปกติ สุดท้ายก็คือครอบครัวนั่นแหละ พ่อแม่ที่บอกว่าคนที่ต่างจากเราผิด ศาสนาต่างจากเราผิด เชื้อชาติต่างจากเราผิด และไม่ควรจะได้อยู่ร่วมกับเรา สิ่งนี้มาจากความเชื่อ คือการปลูกฝังจากครอบครัวทั้งนั้นเลยครับ

Q : เตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ไปแค่ไหนแล้ว ฟิตหุ่น กรูมมิ่งตัวเอง เป็นต้น
A :
ต้องเรียนตามตรงนะครับว่า ก่อนออดิชั่นผมเป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง เป็นมนุษย์ออฟฟิศ เช้าไปออฟฟิศ เลิกงานก็กินข้าวกับเพื่อน กลับบ้าน นี่คือชีวิตปกติ จนตัดสินใจออดิชั่นแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่ผมจะพูดกับกรรมการตลอดว่า การที่บุคลิกภาพ หรือรูปร่างหน้าตาเราดูดี มันเป็นเหมือนบ้านที่มีประตูสวยๆ คนเห็นก็อยากเข้าไป แต่เมื่อเข้าไปแล้วอินทีเรียจะดีไหม เราก็ยังไม่รู้นะ แต่อยากลองเข้าไปดูจัง บ้านหลังนี้ข้างนอกดูสวยใช่ไหมครับ ประเด็นนี้บนเวทีไทย ผมบอกได้เลยว่ามีความสำคัญน้อยมาก เพราะว่าบนเวทีไทย กรรมการรู้จักเรา เขามีเวลาอยู่กับเรานานมาก เขาสามารถมองเราได้ทุกด้าน แต่ถามว่าบนเวทีนานาชาติ เรามีเวลาแค่ 7 วัน ที่จะอยู่ในกองประกวด สมมุติว่ามีคนประมาณ 40 คน แล้วเราจะต้องเลือก 3 คน 5 คน เพื่อมานั่งคุยด้วย สุดท้ายต้องมองจากคนที่บุคลิก หน้าตา รูปร่างดูดี ดูโดดเด่น แต่ในช่วงที่เตรียมตัวประกวดสำหรับเวทีไทย ผมใช้วิธีง่ายๆ คือออกกำลังกายเยอะขึ้น วางแผนเรื่องการกิน มี personal trainer ที่เข้ามาช่วยดูแล ซึ่งตอนนั้นคุยกันเคลียร์มาก เจอกันแค่ 12 ครั้ง ในช่วงเวลา 4 เดือน ประมาณสัปดาห์ละครั้ง อาทิตย์เว้นอาทิตย์ แต่ค่อนข้างจะมีวินัยจริงจัง

Q : เกย์คอมมิวนิตี้ในไทยไม่เข้มแข็งมาแต่ไหนแต่ไร ถ้ามีโอกาสได้ผลักดัน เราจะทำอะไรเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่ง
A :
อันนี้ต้องตอบยาวนะครับ ผมจะย้อนเท้าความไปสมัยเรียนปริญญาโทที่สวีเดน ปีแรกที่ผมไปเรียนต่อโทที่สวีเดน มีโอกาสได้ไปดูงานไพรด์ ซึ่งเป็นงานไพรด์ที่ใหญ่มาก สิ่งที่ผมเห็นซึ่งมันแปลก แล้วมันทำให้เรามีความฮึกเหิมและภาคภูมิใจในความเป็นเกย์ของเราก็คืองานไพรด์ที่สวีเดน เขาจะมีขบวนที่เอาคนแต่ละอาชีพมาเดิน เป็นหมอ เป็นพยาบาล นักดับเพลิง ทหาร ตำรวจ นักการเมือง มีแม้กระทั่งบาทหลวง มาเดินแล้วก็ใส่ชุดยูนิฟอร์มของตัวเอง ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกว่านี่แหละที่เป็นเสรีภาพจริงๆ ไม่มีการตีกรอบเหมือนเมืองไทยที่ถ้าสมมุติว่าเราเจอหมอที่เป็นเกย์หรือเจอพระที่เป็นเกย์ เราจะตีกรอบแล้วว่าต้องไม่ดีแน่เลยใช่ไหมครับ ผมรู้สึกว่าความภาคภูมิใจ มันโดนแสดงออกมาในกิจกรรมไพรด์ของเขา ซึ่งเกิดจากการร่วมไม้ร่วมมือของเกย์คอมมิวนิตี้ในประเทศเขามากมายที่มารวมตัวกัน นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำ อันที่สอง คนที่ชมข้างทางครับ ผมแปลกใจมาก เพราะได้เห็นคุณครูที่เขาจะจูงเด็กตัวเล็กๆ มาชมงานไพรด์ ที่สวีเดนในระดับอนุบาลครูคนหนึ่งจะดูแลเด็กประมาณ 5-6 คนผมก็สงสัยว่าอ้าวคุณพาเด็กมาดูแบบนี้ไม่กลัวเหรอว่าเด็กจะเลียนแบบ ครูอธิบายว่า ไม่เห็นจะเป็นไรเลย การได้มาเห็นด้วยตัวเอง เด็กจะได้เข้าใจว่าถ้าวันหนึ่งเขาโตขึ้นเป็น straight ไม่ได้เป็นเกย์ เขาจะได้รู้ว่ายังมีเพื่อนที่เป็นเกย์แล้วไม่มีสิทธิ์ใดๆ ที่เราจะไปกีดกันเขา แต่ถ้าเขาจะโตขึ้นแล้วเป็นเกย์ เขาก็จะได้เห็นว่ามีตัวอย่างที่ดีที่ประสบความสำเร็จ

พอมาถึงวันตัดสิน คำถามตัดสินที่เป็นคำถามรับมงเลย ผมก็ได้รับคำถามนี้ว่า คิดว่าเมืองไทยควรจะมีเกย์ไพรด์ไหม? ผมก็บอกว่าเมืองไทยควรจะต้องมี แต่ว่า context อาจจะต่างไปจากหลายประเทศ ไพรด์เนี่ยมันไม่ได้เป็นงานรื่นเริงแล้ว มันเป็นการเฉลิมฉลอง แต่ในประเทศถ้าจะมีจริงๆ เป็นแค่การเรียกร้อง เราไม่รู้จะฉลองอะไร เพราะเรายังไม่มีเลย แต่ถามว่าจนแล้วจนรอดถึงทุกวันนี้ ทำไมเรามี G-Circuit ซึ่งเกย์จากครึ่งโลกมารวมตัวกัน ทำไมเรามี White Party เรามีสารพัด แดนช์ปาร์ตี้ที่เกย์ทั่วโลกจะต้องมา แต่พอเราจัดงานที่เป็นเกย์คอมมิวนิตี้หรือเกย์อีเวนต์จริงๆ เพื่อจะเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องความเท่าเทียม หรือแค่เพื่อประกาศตัวว่ามีเกย์อยู่ในเมืองไทยนะ เราไม่เคยจัดสำเร็จเลย อันนี้น่ากลัวมากนะ ผมถึงบอกว่าผมไม่โทษรัฐบาลเลยถ้าไม่มีกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน เพราะผมเห็นมูฟเมนต์ที่มาจากการเรียกร้องของกลุ่มเกย์เองน้อยมาก ยิ่งพอเรามาทำงานในมิสเตอร์เกย์เวิลด์ไทยแลนด์นะครับ เห็นคนอยู่ไม่กี่คน แล้วก็ไปทุกที่ ไปเรียกร้องทุกเรื่อง ผมว่ากลุ่มนี้แค่หลักร้อย ในขณะที่เกย์ไทยจริงๆ ผมว่าหลักล้าน แต่เราเห็นคนหลักร้อยที่ไปขอให้รัฐทำนั่นทำนี่ ไปงานเอชไอวี ไปงานกฎหมาย แล้วถ้ามันไม่มีงานไพรด์ก็ไม่แปลกใจนะ เพราะว่าเราไม่เคยแสดงพลังให้เห็นว่าเราเป็นกลุ่มคนที่มีตัวตนจริง มีพลัง มีศักยภาพที่จะเคลื่อนไหวให้สังคมดีขึ้น เพียงแต่ว่าสังคมก็ต้องให้สิทธิ หรือให้เสรีภาพกับเราบ้าง ก็ขออนุญาตใช้จังหวะนี้นะครับ บอกเลยว่าถ้าเกย์คอมมิวนิตี้ไหน ชุมชนไหน ที่คิดว่าผมพอจะช่วยอะไรได้ พูดอะไรได้ ก็บอกมาได้เลย ผมคิดว่ามันจำเป็นมากที่เกย์คอมมิวนิตี้ในไทยแลนด์จะต้องมาจับมือกัน ไม่ใช่พอพูดถึงเกย์เมืองไทย ทุกคนจะคิดถึงแต่สงกรานต์ งานG-Circuit งาน White Party ซึ่งมันไม่ใช่ เราก็ยังมีอย่างอื่นที่น่าสนใจอีกเยอะ

Q : ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้ามาประกวดมิสเตอร์เกย์เวิลด์ไทยแลนด์ปีหน้าว่า ควรเตรียมตัวอย่างไร
A :
บอกเลยนะครับว่า เวทีนี้ ภาพลักษณ์ รูปร่างหน้าตา แค่ 30% อีก 70% เป็นเรื่องของทัศนคติ ทัศนคติในที่นี้ ไม่ใช่ว่าคุณเก่ง คุณมีดีกรี คุณภาษาดี แล้วก็จะได้ตำแหน่ง แต่ทัศนคติในที่นี้ หมายถึงคุณมีความพร้อมและมีความตั้งใจที่จะเป็นตัวแทนของ LGBT ที่จะยกระดับพัฒนาศักยภาพของ LGBT ในไทย คือผมเชื่อว่าสุดท้ายต่อให้ไม่เก่งมาก ภาษาไม่ดีมาก แต่ถ้ามีความพร้อมที่จะทำงานจริงๆ มันพัฒนาได้ครับ แต่ถ้าเก่งถ้าดี แต่มาแบบไม่ตั้งใจทำงาน อันนี้ไม่โอเค เพราะว่าการที่เราอาสาเข้ามา มันเหมือนการสอบเอนทรานซ์ ที่เรามาแย่งที่ของคนอีก 80 คน ซึ่งถ้าเขามีโอกาสได้ทำงาน เขาอาจจะทำได้ดีไม่แพ้เรา เพราะฉะนั้นผมอยากได้คนที่พร้อมตรงนี้จริงๆ มา อยากมาทำงาน ไม่ใช่มาเพราะว่าต้องการรางวัล มาเพราะสนุก เสร็จแล้วพอคุณได้สิทธิ์ที่จะเป็นกระบอกเสียงให้พวกเรา คุณก็ไม่ได้ทำอะไร ขอบคุณครับ