“แต่เดิมนั้น มนุษย์มิได้มีธรรมชาติเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งมิได้แบ่งเป็นสองเพศอย่างทุกวันนี้ ทว่าพวกเขามีสามเพศ คือ ชาย-ชาย หญิง-หญิง และชาย-หญิง ที่เกิดจากการรวมกันระหว่างเพศทั้งสอง…”
นั่นคือเรื่องเล่าจากปากคำของ ‘อริสโตฟาเนส’ ตัวละครจากงานเขียนอันลือลั่นของนักปรัชญาชาวกรีกผู้โด่งดังนาม ‘เพลโต’ — Symposium คือชื่อของงานเขียนชิ้นนั้น มันเป็นปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก ไต่ระดับมาตั้งแต่การอ้างถึงความรักซึ่งมาในรูปแบบของเทพเจ้า จนไปถึงเรื่องราวสุดแสนโรแมนติกของแนวคิด ‘เพศภาวะ’ (gender) ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคสมัยที่การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มบุคคล ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ (หรือที่รู้จักกันในนาม LGBT ซึ่งเป็นตัวอักษรย่อของเลสเบี้ยน, เกย์, ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ) ยังไม่เข้มข้นเท่าทุกวันนี้
เรื่องโรแมนติกของอริสโตฟาเนสเกิดขึ้นด้วยเหตุที่ว่า เพราะมนุษย์เหล่านี้มีพลังมากเกินไป และมักรังควานปวงเทพอยู่เสมอ เทพซีอุส (ราชาแห่งทวยเทพทั้งมวลตามตำนานกรีก) จึงหาทางกำราบพลังของพวกเขาลง ด้วยการจับมนุษย์มาผ่าแยกออกจากกันเป็นสองส่วน
“หลังจากมนุษย์ถูกตัดแบ่งร่างกายออกเป็นสอง (ชาย-หญิง) แต่ละส่วนยังคงโหยหาอีกซีกที่หายไปของตน เมื่อมาประสบพบกัน ต่างพุ่งเข้ากอดรัดและกระหวัดซึ่งกันและกันไว้ ประหนึ่งว่าจะหลอมรวมเข้าด้วยกันอีกครั้ง ทั้งสองปิ่มว่าจะขาดใจด้วยความปรารถนาและโหยหา ด้วยไม่ต้องการจะแยกจากกันอีก”
นี่คืออุปมาซึ่งแสดงให้เห็นภาพชัดที่สุดของความรักในปัจจุบัน ยุคสมัยที่กรงขังนามร่างกายของมนุษย์กำลังถูกฉีกออกด้วยหัวใจหาใช่ฝ่ามือ มนุษย์ผู้มีความรักเปี่ยมล้นกำลังโบยบินไปในโลกกว้างเพื่อตามหาอีกซีกหนึ่งของตัวเองที่ขาดหาย โดยไม่สนใจข้อแม้และบรรทัดฐานของสังคมอันล้าสมัยซึ่งครอบเอาไว้ด้วยกฎข้อห้ามเคร่งครัดของแนวคิดสองเพศ (ชาย-หญิง) เพียงเท่านั้น คำสาปของซีอุสกำลังสิ้นสุด โลกกำลังเปลี่ยนไป มันไม่ได้เป็นสีขาวและสีดำ ไม่ได้มีเพียงเพศหญิงและชายอย่างเดิมอีกแล้ว โลกมีความหลากหลาย และมีสีสันมากมายราวสายรุ้ง มายาคติอันน่ารังเกียจ มรดกตกทอดเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ภายใต้วลีที่ว่า ‘หญิงเป็นควายชายเป็นคน’ จะโดนกลบฝังลงไปลึกสุดหยั่งอยู่ในหลุมที่มีชื่อว่า ‘เสรีภาพ’
เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหน จะเป็นชาย เป็นหญิง ชายผู้มีหัวใจเป็นหญิง หรือหญิงผู้มีหัวใจเป็นชาย เราทุกคนก็ล้วนมีศักดิ์ศรีของความเป็น ‘มนุษย์’ เท่าเทียมกัน
History of Homosexuality
ประวัติศาสตร์ฉบับย่นย่อของรักร่วมเพศ
ปี 1979 โลกต้องอึ้งเมื่อ BBC พยายามทำสารคดีเจาะลึกไปยังการทดลองของนายแพทย์คนหนึ่ง…
ดร. จอห์น มันนี นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน พยายามพิสูจน์สมมุติฐานของเขา ผ่านฝาแฝดเพศชายสองคนที่มีอายุเพียงไม่กี่เดือน แฝดคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุจนอวัยวะเพศพิการ พ่อแม่ของเขากลัวว่ามันจะกลายเป็นปมด้อยเมื่อเขาเติบโตขึ้น มันนีจึงเสนอทางเลือกด้วยการผ่าตัดอัณฑะทั้งสองข้างของแฝดคนที่ประสบอุบัติเหตุทิ้งไปเพื่อกำจัดแหล่งสร้างฮอร์โมนเพศชาย ‘บรูซ’ คือชื่อของเด็กชายคนนั้น เขาจะไม่เปลี่ยนเป็นหนุ่มเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ได้รับการเลี้ยงดูเหมือนผู้หญิง เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘แบรนดา’ ต้องรับฮอร์โมนเพศหญิงอีกหลายปีนับจากนี้
และดูเหมือนว่าแบรนดาจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้หญิงจริงๆ
มันนีสรุปว่า ‘คนเราเหมือนผ้าขาว การจะเป็นชายหรือหญิงนั้นอยู่ที่การเลี้ยงดู’
หลายปีต่อมามันนีก็ต้องพบว่าเขาคิดผิด! –สุดท้าย แบรนดาตัดสินใจเลือกดำเนินชีวิตเป็นเพศชายอีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เดวิด’ และแต่งงานกับหญิงคนหนึ่ง เขารับการผ่าตัดอีกครั้งโดยครั้งนี้เขาเลือกเอง ด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายเทียมขึ้นมา
แต่ในที่สุด เขาก็ฆ่าตัวตาย
แม่ของเขายกความผิดทั้งหมดไปที่มันนี ที่ทำให้ชีวิตลูกชายของเธอไม่มีความสุข
คำถามก็คือ หากบรูซ, แบรนดา หรือเดวิด มีจิตใจที่จะเป็นหญิงมาตั้งแต่ต้น โศกนาฏกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่?
…
‘เด็กชาย’ ‘เด็กหญิง’ ‘นาย’ ‘นาง’ ‘นางสาว’
ใช่หรือไม่ว่าเราล้วนโดนแปะป้ายคำนำหน้าเหล่านี้มาตั้งแต่เกิด นี่คือแนวคิดหนึ่งซึ่งฝังรากลึกในวิถีชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนาน มันเริ่มต้นมาจากการที่ใครบางคนเริ่มจัดหมวดหมู่สิ่งของต่างๆ โดยกำหนดขึ้นมาตามลักษณะการใช้งาน หรือลักษณะทางกายภาพ — แน่นอน แนวคิดเช่นนี้มีคุณูปการใหญ่หลวง มันทำให้เราจดจำเรื่องราวต่างๆ แบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกจากกันได้ง่ายมากขึ้น
แต่สำหรับมนุษย์ผู้เชื่อว่าตัวเองมีเจตจำนงเสรี (free will) มีอิสรเสรีในการเลือกที่จะเป็นอะไรก็ได้ มันดูเหมือนจะง่ายเกินไปที่จะจำกัดพื้นที่ของหัวใจเอาไว้ในกรงขังแห่งร่างกายด้วยเพศชายและหญิงเพียงเท่านั้น มนุษย์มีความหลากหลาย และมีอิสระที่จะรัก ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเลือกรักเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันในนาม ‘รักร่วมเพศ’ (homosexual) ก็ตาม…
รักร่วมเพศ แท้จริงแล้วปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ตั้งแต่ยุคแรกๆ ก่อนที่แนวคิดทางศีลธรรมของเพศสองเพศที่โดนประดิษฐ์ขึ้นในภายหลังจะรุ่งเรือง การดึงดูดทางเพศและความต้องการทางเพศระหว่างผู้ชายด้วยกันมีมาอย่างยาวนาน โดยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรย้อนไปไกลถึงยุคกรีก ต่อเมื่อศาสนาต่างๆ เข้ามากำหนดรูปแบบทางวัฒนธรรมขึ้นใหม่ ในบางวัฒนธรรมก็กลับมีการตรากฎหมายออกมา โดยถือว่าการร่วมเพศทางทวารหนักเป็น ‘อาชญากรรมฝืนธรรมชาติ’ ที่ผู้ฝ่าฝืนจะต้องโทษรุนแรง ด้วยการเผาไฟทั้งเป็น (เพื่อชำระบาป!) –หรือแม้แต่ในศาสนาพุทธเอง รักร่วมเพศก็ยังถูกนำไปอธิบายร่วมกับความเชื่อเรื่องกรรม โดยมีคำอธิบายว่า เพศที่สามนั้นเป็นคนมีกรรมมาแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้จึงเกิดมาผิดเพศ — ในยุโรป ยุคที่คริสต์ศาสนามีอำนาจทางสังคมอย่างสูง พฤติกรรมชายรักชายถูกมองว่าเป็นบาป ในตำนานการสร้างโลกของคริสต์ มีการกล่าวอ้างว่า เกย์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าลงโทษมนุษย์ด้วยไฟบรรลัยกัลป์ มนุษย์ควรมีเซ็กซ์เพื่อเหตุผลในการสืบพันธุ์เท่านั้น เลยไปไกลจนถึงขั้นชาย-หญิงเองก็ห้ามร่วมรักกันทางทวารหนัก ห้ามช่วยตัวเอง หรือออรัลเซ็กซ์ให้แก่กัน เป็นต้น — ต่อมาในศตวรรษที่ 19 การแพทย์ก็อธิบายว่า รักร่วมเพศคือผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่ต้องได้รับการบำบัด — จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 20 นั่นแหละ นักวิชาการถึงเริ่มอธิบายว่า รักร่วมเพศไม่ใช่โรคจิต แต่เป็นวิถีชีวิตที่ต่างไปจากชายหญิง แต่แนวคิดนี้ก็หาได้ทำให้อะไรดีขึ้น
ความรู้ทางจิตวิทยาและศาสนานี่เอง ที่นำไปสู่การสร้างวาทกรรมเรื่อง ‘ผิดเพศ’ ขึ้นมา จนกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักที่สร้างมายาคติให้แก่เพศที่สามมาจนถึงปัจจุบัน
แม้กระนั้น หลังจากเพศที่สามโดนรังเกียจเดียดฉันท์อย่างหนักหน่วงมาหลายทศวรรษ พวกเขาก็ได้รับการยอมรับตามกฎหมายในที่สุด พวกเขามีกลุ่มสังคมเป็นของตัวเอง มีบทบาทสำคัญในแวดวงต่างๆ ทั้งบันเทิง ศิลปะ และการเมือง
อเมริกากลายเป็นหัวหอกของโลกอีกครั้ง ด้วยการปลดแอกเพศที่สามสู่การยอมรับของสังคม ปี 1955 องค์กรสิทธิทางการเมืองของเกย์และเลสเบี้ยนแห่งแรกที่มีชื่อว่า The Daughters of Bilitisถูกก่อตั้งขึ้น ชุมชนรักร่วมเพศเกิดการรวมกลุ่ม และนำเอาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นพลเมือง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มาเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ ขบวนการนี้พยายามที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่ชีวิตของเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศภายใต้โครงสร้างที่มีอยู่เดิม โดยการเคลื่อนไหวผ่านชื่อย่อ LGBT ใช้ธงสีรุ้งเป็นสัญลักษณ์ รวมตัวกันอย่างแข็งขัน ก่อนขยับขยายไปทั่วโลก และกำลังเฝ้ารอเวลาให้โลกเปิดรับความหลากหลายอย่างแท้จริง
ในขณะที่เราต้องเฝ้ารอกันอีกพักใหญ่ให้โลกปรับตัว และยอมรับความหลากหลายทางเพศได้แบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมบริโภคนิยมสมัยใหม่ ก็ได้เปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ได้มีที่ทางของตัวเองมากขึ้น โดยการสร้างนิยามการเป็น ‘ผู้บริโภค’ ขึ้นมา เกย์จะได้พบเจอความสุขในบาร์ที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ เกิดเวทีการประกวดประชันความงามต่างๆ ในหมู่ของสาวข้ามเพศ กลุ่มทอมดี้จะรู้สึกว่าตนมีความสุขเมื่อพบคนรักในงานปาร์ตี้ที่จัดขึ้นสำหรับตัวเอง การตลาดที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย LGBT เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการยอมรับความหลากหลายที่มนุษย์จะสามารถแสดงออกทางเพศอย่างเสรีมากขึ้น
หัวข้อต่อไป เราจะโฟกัสไปยังกลุ่ม ‘ทอมดี้’ หรือ ‘เลสเบี้ยน’ กลุ่มหญิงรักหญิงที่ดูเหมือนหน้าประวัติศาสตร์จะละเลยมาโดยตลอด ทั้งในแง่ของบทบันทึก หรือเรื่องเล่าเชิงวรรณกรรม จนกระทั่งไดอารี่ของนักเขียนสาวตลอดกาลอย่างเวอร์จิเนีย วูล์ฟ ซึ่งพรรณนาถึงความรักที่มีต่อเพื่อนสาวนามวิตา แซควิลล์-เวสต์ ถูกตีพิมพ์ขึ้น นั่นคือเบาะแสแรกของความรักระหว่างหญิงกับหญิงที่พอจะสามารถสืบย้อนกลับไปได้ เพราะก่อนหน้านั้นเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยปรากฏขึ้นเลยจนกระทั่งศตวรรษที่ 20 เรื่องราวของพวกเธอเงียบกริบราวความว่างเปล่า
ในขณะที่เรามีบทบันทึก และเรื่องเล่าของชายรักชายอยู่มากมาย ทำไมเรื่องราวของหญิงรักหญิงจึงคล้ายไม่เคยมีอยู่ แต่กลับมาเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลในทศวรรษนี้…?