เหมือนกับคนจำนวนมาก แม้จะเป็นลูกนักการเมืองมีชื่อผู้คร่ำหวอดในวงการอย่าง ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ ทว่าชายหนุ่มวัย 29 ปีชื่อ ‘เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์’ ก็เคยมองแบบไร้เดียงสาว่า ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ คือส่วนกลาง และไม่เคยมองเห็นความเหลื่อมล้ำที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
7 ปีในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะย้ายมาอยู่อาศัยในอีกซีกโลกที่ต่างกันสุดขั้วทั้งด้านภูมิศาสตร์และการปกครองอย่างจีน ชายหนุ่มค่อยๆ สะสมคำถาม จดเก็บ บันทึกมันลงเงียบๆ ไว้ภายใน แล้วระเบิดออกมาเป็นแรงขับด้วยหวังจะเปลี่ยนแปลงประเทศของตัวเองหลังกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ประมาณ 2-3 ปี
“ผมเป็นแค่หนึ่งในตัวประกอบของนโยบาย เป็นคนที่หมุนไปตามวงจรเหล่านี้เท่านั้น แต่ถ้าผมอยากเปลี่ยนแปลงอะไร ผมจะไม่สามารถกำหนดทิศทางได้เลย”
นั่นเองที่เมื่อมีโอกาส เขาก็ตัดสินใจกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองตามรอยผู้เป็นพ่อ ในฐานะทีมโฆษกของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในยุคที่ภูมิทัศน์การเมืองไทยหลังการปกครองโดยคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งยืดเยื้อยาวนานมามากกว่า 4 ปี กำลังเต็มไปด้วยการก้าวเข้ามาของ ‘คนรุ่นใหม่’
วังวนน้ำเน่าของผู้มาก่อน ของการโดนกลั่นแกล้งหยามเหยียดและตัดสินจากการที่เห็นแค่นามสกุล เขตรัฐเคยเจอมาแล้ว และบนคำถามที่ว่า กับแค่คำว่ารุ่นใหม่มันจะเป็นอะไรได้มากกว่าการเป็นแค่กิมมิกและไก่อ่อน เขตรัฐก็บอกว่า ถึงเขาจะเป็นไก่อ่อน แต่เขาก็เป็นไก่อ่อนที่มาพร้อมฝูงไก่อ่อนตัวอื่น และพร้อมท้าชนทุกสถาบัน
ทำไมอยู่ ๆ คุณถึงกระโจนเข้าสู่สนามการเมือง
เมื่อก่อนผมเป็นคนหนึ่งที่มองว่า ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ คืออำเภอเมือง ผมมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำ แต่ผมมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย พอได้ไปทำงานวิจัย มันทำให้เราได้เห็นพื้นที่บางพื้นที่ ซึ่งนักเรียนบางคนไม่มีรองเท้าใส่ไปเรียน นักเรียนบางคนต้องปะกางเกง ครูต้องขึ้นเขาไปสอนใช้เวลา 3 ชั่วโมง โรงเรียนมีครูแค่ 3 คน ผมไปเห็นอะไรแบบนี้แล้วมันสะอึก นอกจากนั้นไม่พอผมยังได้เห็นปัญหาในระบบการศึกษาอีกเยอะมาก ซึ่งในฐานะอาจารย์ โอกาสที่เราจะเข้าไปแก้ไขตรงนั้นก็จะมีแค่การเข้าไปถกในวงวิชาการ ถกกันเยอะมาก ใช้ทฤษฎีถกกันว่าควรทำอย่างไร สิ่งไหนที่ถูกที่ดี แล้วมันเป็นวงจร วิ่งวนไปวนมาเป็นวงกลม ไม่ไปไหนเหมือนเดิม ซึ่งปัญหาสุดท้าย ทุกคนก็รู้ว่าอยู่ที่ระบบ ถ้าไม่อยู่ที่ระบบก็ชี้กันไปมาว่า อยู่ที่ฝ่ายรัฐ ฝ่ายราชการ การศึกษาอยู่ที่บุคลากร คือชี้นิ้วกันไปมา แล้วมันไม่จบ ซึ่งมันทำให้ผมพบว่า ผมเป็นแค่หนึ่งในตัวประกอบของนโยบาย เป็นคนที่หมุนไปตามวงจรเหล่านี้เท่านั้น แต่ถ้าผมอยากเปลี่ยนแปลงอะไร ผมจะไม่สามารถกำหนดทิศทางได้เลย ผมเลยตัดสินใจลุกออกมา และเข้าสู่งานการเมือง ซึ่งกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ปัญหาสำคัญที่คุณอยากเปลี่ยนแปลงในเรื่องการศึกษาคืออะไร
การศึกษาของเรา เราอาจจะยังเข้าใจผิดในหลายๆ อย่าง เช่น วิชาคณิตศาสตร์ เราให้ท่องสูตรคูณ แต่จริงๆ แล้วคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มันควรจะติดทักษะการคิดอย่างเป็นระบบและเหตุผลให้เรา ประวัติศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ก็เช่นกัน เราควรจะอ่านแล้วนำมาวิเคราะห์ ไม่ใช่อ่านทื่อๆ แล้วคิดว่านั่นคือความเป็นจริง การศึกษาของเราตอนนี้คือกลไกเหล่านี้มันหายไป กลายเป็นว่าทักษะที่ควรจะได้มาแต่ละรายวิชามันไม่ติดออกมา มันได้แค่สิ่งที่เราท่องจำเวลาอ่าน แล้วคิดว่านั่นคือความรู้ ความจริง ยึดตรงนั้นเป็นหลักว่ามันคือโลก ผมเลยคิดว่าจริงๆ แล้วการที่ทักษะพวกนี้มันหายไปปัญหาก็คือระบบการศึกษา กลายเป็นว่าเรื่องของทักษะกลับอยู่ในโรงเรียนอาชีวศึกษา ในโรงเรียนเกษตร เป็นวิชาช่างที่ใช้หาเลี้ยงชีพ ผมเลยมองว่าตรงนี้มันน่าสนใจที่เราจะชูมันขึ้นมาในระดับหนึ่ง
ในภาวะที่ประเทศถูกแช่แข็งทางการเมืองด้วยรัฐประหารมากว่าสี่ปี คุณมองเห็นปัญหาอะไรบ้าง
เห็นสิครับ (หัวเราะ) คือหลักๆ เลยมันทำให้กระแสการโฟกัสของคนเปลี่ยน ด้วยความขัดแย้งที่ผ่านมา มันมืดไปหมด มันทำให้คนหนีจากการเมืองไปพอสมควร คนหลายคนหันหลัง มองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ข่าวสารการเมืองที่เมื่อก่อนเป็นข่าวที่ขายดีดันขายไม่ออกกับคนรุ่นใหม่ กลับกลายเป็นว่ามันเป็นเรื่องที่เขารังเกียจ คำว่านักการเมือง มันกลายเป็นลบไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะพูดหรือจะเสนออะไรก็ตาม เขาจะไม่รับ เขาไปติดตามอย่างอื่นที่มันสบายสมองเขามากกว่า ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่นะ เพราะจริงๆ แล้ว เราในฐานะประชาชน เราควรใส่ใจเรื่องนี้ เพราะมันเป็นเรื่องของเรา ผมรู้สึกว่านี่คือปัญหาที่ผมต้องเข้ามาช่วยในระดับหนึ่งด้วยการสร้างพื้นที่ให้คนที่เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่ได้รับผลกระทบกับความขัดแย้งเข้ามาช่วยกัน
ในแง่ของโครงสร้างทางการบริหารประเทศที่คล้ายจะโดนคณะรัฐประหารริบไปล่ะ
ผมไม่ใช่คนความจำสั้น ผมยังจำได้ดีในวันที่เขาจะยิงกันอยู่แล้ว ผมยังจำได้ว่าประเทศต้องถูกแช่แข็งเพราะอะไร มันก็เพราะเราทะเลาะกัน เพราะเราไม่ฟังกันแล้ว ณ วินาทีนั้น เราพร้อมที่จะฆ่ากัน การแช่แข็งนี้ผมมองว่าเป็นกรรมการเข้ามาหยุดความขัดแย้งให้มันหายไป แต่พวกเราก็ลืม ให้ผมเทียบ เหมือนเด็กสองคนต่อยกัน แล้วมีกรรมการมาห้าม กรรมการก็จับแยก ทำไปทำมาสักพัก ไอ้เด็กนี่จะต่อยกรรมการแทน
แล้วพอถึงจุดนี้ทำไมเราถึงต้องมีการเลือกตั้ง
ผมมองว่าถึงจุดหนึ่งมันต้องมีขอบเขตสำหรับสิทธิเสรีภาพของประชาชน คนไทยส่วนใหญ่เขาอยากแสดงออกถึงความคิดของเขา แล้วในภาวะที่ถูกแช่แข็ง เขาทำได้ยาก การที่เราจะทำงานนโยบายที่จะขับเคลื่อนประเทศ เราไม่สามารถให้คนแค่กลุ่มหนึ่งมาทำเท่านั้น แล้วประชาธิปไตยจริงๆ มันก็ต้องฟังเสียงข้างน้อยด้วยนะ เช่น ที่สหรัฐอเมริกา มีเดโมแครตกับรีพับลิกัน มีฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่เมื่อถึงเวลา ถ้ามีนโยบายที่มันโดน ฝ่ายค้านเขาก็จะช่วยสนับสนุนเหมือนกัน แต่กลับมาที่ไทย ช่วงก่อนที่เราจะฟัดกันแหลกเนี่ย ไม่ว่านโยบายจะดีแค่ไหน เราไม่สนใดๆ ทั้งสิ้น เราตั้งป้อมที่จะทะเลาะกันอย่างเดียว และคนที่เสียผลประโยชน์คือประชาชน ดังนั้น ทำไมต้องมีการเลือกตั้ง เพราะตอนนี้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเท่าที่ควร การที่เราเปิดให้มีการเลือกตั้ง มันคือจุดแรกที่เราจะได้ฟังเสียงของประชาชน
กลัวไหมว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งอีกครั้ง
ถ้ามัวแต่กลัวเราก็จะไม่ได้ทำอะไร คือมันจะวนเป็นลูปเดิม ทีนี้เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านั้น และเราต้องมองให้เห็นว่า ณ ตอนนี้ ถ้ายังขัดแย้งต่อเราจะไม่ไปไหน เราต้องเปิดใจให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาใจเราบอดกันพอสมควรเหมือนกัน
พอมีหนทางที่เป็นรูปธรรมไหม
คนส่วนใหญ่เขาไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งนะครับ คนส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่คนส่วนใหญ่ก็อยู่นิ่งๆ และปล่อยให้ความขัดแย้งมันเกิด ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากทำคือการสื่อสารกับพลังเงียบเหล่านั้นว่า คุณต้องเข้ามาช่วยกัน คุณต้องแสดงให้เขาเห็นว่า พวกคุณนี่แหละที่จะหยุดความขัดแย้งเหล่านี้ แต่ถ้าถามว่ารูปธรรมคืออะไร มันก็ต้องเริ่มต้นด้วยการลงมือทำ ต้องก้าวออกมา และสิ่งที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยกำลังทำคือการทำให้สมาชิกพรรครู้สึกเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง
ในภูมิทัศน์การเมืองไทยตอนนี้ แต่ละพรรคที่เปิดตัวไปแล้วได้มีการนำเรื่องของ ‘คนรุ่นใหม่’ มาเป็นตัวชูโรงพอสมควร มันเกิดอะไรขึ้น
มองไปที่โครงสร้างสังคมนะครับ ดูที่เจเนอเรชั่นอย่างเบบี้บูมเมอร์รุ่นก่อนๆ ตอนนี้คนพวกนั้นก็อายุเยอะกันมากแล้วนะครับ (หัวเราะ) และถ้าผมจำไม่ผิด อีก 2-3 ปี เรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แปลว่า 2 ใน 6 ของประชากรจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่ตามเกณฑ์คือ 65 ปี แต่ช่องว่างที่ดึงเราออกจากกันมันเยอะมาก กลายเป็นในช่วงที่เราขัดแย้งกันสิบปี มันทำให้แทบจะไม่มีบุคลากรใหม่ๆ เข้าไปในวงการการเมืองเลย มีแต่คนกลุ่มเดิมที่มีอายุที่ยังอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น และยังคงฟัดกันแบบนั้นต่อไป ดังนั้น ช่วงนี้มันเป็นช่วงที่มันเปิด และด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ปิดช่องให้คนที่เคยมีคดีต่างๆ เช่น เคยทุจริต มีคดีอาญา ถูกฟ้อง ไม่สามารถเข้ามาได้ ตรงส่วนนี้แหละครับที่คอยกรองบุคลากรเก่าๆ ที่เคยทำความผิดเอาไว้ไม่ให้เข้ามา ทำให้มันเปิดช่องว่างให้แก่คนรุ่นใหม่ที่อยากทำประโยชน์ให้ส่วนรวมได้เข้ามา
ด้วยอายุที่ยังไม่ถึง 30 ปี คุณคงเป็นคนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการถูกปรามาสว่าเป็นไก่อ่อนทางการเมืองไม่ได้
จะปรามาสก็ปรามาสได้นะครับ ผมก็ไม่ปฏิเสธนะ (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่า มันควรจะจบได้แล้วกับการทำการเมืองที่ชูบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมาเป็นเทพเจ้า ตามความเป็นจริงมันไม่มีใครคนใดเป็นเทพเจ้าหรอก ไม่มีใครรู้หมดทุกสิ่ง ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากจะชูคือ ชูความมีส่วนร่วม ชูความเป็นทีม ชูคนจริงๆ เลิกได้แล้วกับการชูเขตรัฐให้ขึ้นมา และเขตรัฐต้องเป็นนักการเมืองที่เก่งที่สุด ทำได้ทุกอย่าง เพราะมันไม่ใช่ความเป็นจริง เรื่องจริงคือผมมีทีม ผมก็จะยกทีมของผมขึ้นมา คุณปรามาสผมได้ แต่ผมมาเป็นทีม ไก่อ่อนมันอาจจะอ่อน แต่ถ้ามันมาหลายตัวมันก็พร้อมจิกนะครับ
การขาดประสบการณ์ไม่ใช่จุดอ่อน?
การขาดประสบการณ์อาจจะเป็นจุดแข็งก็ได้นะครับ ดาบมีสองคม คนที่มีประสบการณ์มากอาจมาพร้อมอีโก้ก็ได้ เขาอาจจะไม่พร้อมรับฟังใคร เพราะมาพร้อมอคติที่เยอะมาก แต่ผมมาแบบใสๆ เลยนะ (หัวเราะ) ผมพร้อมจะรับฟัง มาพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว มาพร้อมที่จะปรับตัวตามสภาพใหม่ ผมมองว่าเป็นจุดแข็งด้วยซ้ำ
กลัวไหมว่า คำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ จะเป็นแค่กิมมิกที่ไม่สามารถส่งผลใดๆ ก็ตามในเชิงปฏิบัติ
ผมรู้ตัวดีว่าผมทำงานหนักขนาดไหนในการทำการบ้าน ในการพูดคุยกับคนเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเข้าไป คนอื่นผมไม่รู้ แต่สำหรับผม ผมไม่กลัวเลย ในส่วนของพรรครวมพลังประชาชาติไทย เราก็กำลังจะเปิดสโมสรเยาวชน ซึ่งผมเป็นประธานคณะกรรมการทำงาน ที่จะเปิดพื้นที่ให้เยาวชนอายุ 15-25 ปี เข้ามาเสนอความคิดเห็น และให้ผมเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขา เพราะอีก 5-10 ปี เขาพวกนี้นี่แหละครับที่จะมีบทบาทมากในการกระเพื่อมการพัฒนาของประเทศ เราก็ต้องเอาเขาเข้ามามีสิทธิ์มีเสียงในวันนี้เลยว่า เขาอยากได้โลกแบบไหน
คุณคิดอย่างไรกับ ‘ระบบอาวุโส’ โดยเฉพาะในเชิงการเมือง
ถ้ามองด้วยอคติมันก็ดูแย่ อาจจะเป็นผู้ใหญ่ไม่ฟังเด็ก ผู้ใหญ่เป็นไดโนเสาร์ แต่ผมไม่ได้มองว่ามันมีแบบนั้นแบบเดียว เพราะมันมีอย่างอื่นที่สวยงามด้วยไง มันมีแง่ที่ผู้ใหญ่เขาต้องการจะดูแลเพราะเป็นห่วงจริงๆ เขาพร้อมที่จะปกป้อง พร้อมจะให้คำแนะนำ พร้อมจะสอน ให้ข้อคิดเราจริงๆ นี่คือข้อเท็จจริงที่เราไม่พูดถึงกันเลย เพราะเราแค่พูดว่าระบบซีเนียร์มันแย่ ใช่ มันมีความแย่ในตัวของมันอยู่สำหรับผู้ใหญ่ที่ใจบอด กับผู้ใหญ่ที่ใจแคบ คือพูดง่ายๆ ว่า วุฒิภาวะไม่ได้มาตามอายุนะครับ บางคนอายุเยอะแล้ว แต่ยังคิดไม่ได้ นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามีวุฒิภาวะนะ แต่ในชีวิตของผมที่ผ่านมา ผมค่อนข้างได้เจอผู้ใหญ่ที่มีความคิดที่เป็นคนรุ่นใหม่น่ะครับ เขาเปิดใจรับฟังผม เขาให้โอกาสผม และผมก็อยากมอบต่อโอกาสนี้ให้แก่คนอื่น ให้เข้ามาเจอผู้ใหญ่ที่มีความคิดเป็นคนรุ่นใหม่ในพรรครวมพลังประชาชาติไทย
ไม่ได้มองว่าการไต่ไปตามลำดับขั้นโดยใช้อายุเป็นตัวตัดสินมันเป็นปัญหา?
ผมไม่มองว่าเป็นอุปสรรค ผมมองว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ อายุน้อยเหล่านี้จะได้เก็บเกี่ยววิชา ถามว่าเด็กจบใหม่เข้าใจบริบท วัฒนธรรมความเป็นประเทศไทยจริงๆ ที่มีมานานขนาดนี้หรือเปล่า คุณรู้หรือเปล่าว่าประเทศไทยมีนอกกรุงเทพฯ ด้วย คุณเข้าใจความคิดคนต่างจังหวัดหรือเปล่า สำหรับตัวผมเอง ตอนออกมาจากมหาวิทยาลัยแรกๆ ผมไม่เข้าใจนะ ผมเพิ่งมาสัมผัส และผมเพิ่งรู้จัก ถามว่าเด็กที่คิดว่าตัวเองเก่ง ร้อนวิชา จริงๆ แล้วเด็กเก่งขนาดไหน เด็กก็ต้องถามตัวเองเหมือนกันนะครับว่า ใจเราปิดหรือเปล่า หรือเราไปมัวแต่มองว่าเสียงเราไม่ดัง ต้องถามว่าสิ่งที่เราพูดมันเป็นไปได้หรือไม่ และคุณพร้อมจะนำเสนอในแง่ที่ดี ที่ไม่ก้าวร้าว และพร้อมมานั่งคุยกับผู้ใหญ่ดีๆ หรือเปล่า
ในฐานะทีมโฆษกพรรค ด้วยความที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยจัดตั้งขึ้นมาโดยมีแกนนำ กปปส. อย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ มันจะกลายเป็นการละทิ้งประชาชนบางกลุ่มที่อาจไม่ได้เห็นด้วยกับ กปปส. มาตั้งแต่ต้นหรือเปล่า
ผมไม่ใช่ กปปส. นะครับ (หัวเราะ) ถามว่ากลัวไหม ถ้ากำนันสุเทพอยู่ในพรรคแล้วจะถูกมองเป็น กปปส. หรือมองเป็นฝั่งสีเหลือง ผมค่อนข้างไม่กังวลนะครับ คือที่สำคัญที่สุด ถ้าเกิดว่าเราไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองที่อยู่ในวงการมา 40 กว่าปี เด็กอย่างผม คนธรรมดาอย่างผมเนี่ย ก้าวแรกก็ตายแล้วนะครับ แต่ถ้าเกิดผมมีอาจารย์ที่คอยให้คำแนะนำ ผมกลับมองว่ามันเป็นความเข้มแข็งด้วยซ้ำ ไม่ใช่จุดอ่อน
พรรคอื่นมีเยอะแยะทำไมคุณถึงเลือกรวมพลังประชาชาติไทย
ตัวต่อพรรคเองถ้าเรามองไปที่ผู้ร่วมจัดตั้งพรรค เรามีคนจากหลายฝ่ายนะครับ ตำรวจ ทหาร พยาบาล หมอก็มี อาจารย์ก็มี นักศึกษายังมี อายุน้อยที่สุดสำหรับผู้ร่วมจัดตั้ง ถ้าผมจำไม่ผิด คือ 22 ปี ผมอยากให้มองถึงเรื่องตรงนี้มากกว่า ประเด็นหลักๆ เลยคือเรามีสมัชชาเพื่อเลือกผู้บริหาร เลือกปาร์ตี้ลิสต์ เลือก ส.ส. แบ่งเขตกันก่อนภายในพรรค คือถ้าคุณไม่ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก แล้วคุณเลือกกันเอง มันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยนะครับ เราต้องการจะเปลี่ยนสถาบันทางการเมืองให้เป็นของประชาชนจริง ๆ
อีกประเด็นคือเรื่องความเป็นไทย ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมาหลายคนมักเอากรอบคิดทฤษฎีของประเทศอื่นมาครอบ ซึ่งยิ่งครอบยิ่งหงุดหงิด เพราะผมก็เคยครอบมาแล้ว (หัวเราะ) ผมก็เคยเอาเสรีนิยมประชาธิปไตยเข้ามาตีกรอบกับประเทศไทย แล้วคิดไม่ออกว่าทำไมเราไปไม่ได้สักที มองว่าเราด้อยพัฒนา ขาดตรงนู้นตรงนี้ แต่เราดึงตัวเองกลับไป และมองว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกาที่ผมเคยไปอยู่มา เขาถูกสร้างขึ้นมาจากโครงสร้างสังคม ประชากร และประวัติศาสตร์ของเขา เขามีการเหยียดสีผิว เขามีการจับคนผิวสีมาเป็นทาส เพราะฉะนั้นเขาต้องใช้ของพวกนี้ในการที่จะดึงระดับความเท่าเทียมของมนุษย์ขึ้นมาให้เท่ากัน เขาจึงมีเสรีภาพที่สูง ในขณะเดียวกันภายใต้ความเสรีที่ใครก็ตามสามารถเรียกร้องสิทธิได้เนี่ย มันก็ต้องถูกบีบให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่เข้มงวดที่สุด ผมเคยเห็นมาแล้วนะครับ ตำรวจอเมริกาถ้าต้องยิงเขายิงเลยนะครับ ตำรวจไทยนี่ยังใจดีมาก ย้อนกลับมาในประเทศไทย เราก็ต้องถามว่าคนไทยพร้อมจะเคารพกฎหมายขนาดไหน พร้อมจะอยู่ในกรอบขนาดไหน อันนี้เราก็ต้องถามตัวเองด้วยว่ากฎหมายเราเข้มงวดมากพอหรือยัง
ขณะเดียวกันผมก็เคยไปอยู่ที่จีนมา ภายใต้กรอบที่เรามักมองว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเผด็จการ ผมกลับรู้สึกว่าผมไปอยู่แล้วผมมีความสุข กลับรู้สึกว่าคล่องตัว สามารถขยับขยายทำอะไรได้มากกว่าตอนอยู่อเมริกาด้วยซ้ำ ผมรู้สึกว่าผมเป็นส่วนหนึ่งมากกว่า อาจจะเพราะหน้าตาผมคล้ายๆ คนจีนหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ) แต่มันก็ทำให้ผมสนใจนะครับว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศจีน ผมก็เลยไปศึกษาประวัติศาสตร์จีนและพบว่า ตอนที่จีนนำระบบสังคมนิยมเข้ามา ในตอนแรกเขามีความคิดที่จะเอาของโซเวียตเข้ามาทั้งดุ้น ปรากฏว่ามันไม่ตรงกับบริบทของประชากรในประเทศเขา เขาก็เปลี่ยน ดึงแต่ของที่มันใช่ออกมา อันไหนที่ทำแล้วใช้ไม่ได้เขาเอาออก เขาไม่ได้ก๊อปปี้มาวางทั้งดุ้น ไม่ได้เอามาตรฐานของคนอื่นมาวัด สุดท้ายมันกลายเป็นระบบสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์เป็นแบบจีน และทำให้จีนเป็นจีนทุกวันนี้ ที่กำลังจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกอยู่แล้ว สิ่งนี้กระตุกให้ผมคิดว่า ถ้าเกิดเมืองไทยสามารถหาอัตลักษณ์ของตัวเองได้ เรื่องความเป็นสากล ความเป็นนานาชาติ ความทันสมัยไม่จำเป็นต้องเอามาตรฐานของต่างชาติมาวัดเรานะครับ ไม่ควรเอามาตรฐานต่างชาติมานำ แต่เราต้องหาความเป็นไทยที่มันเป็นสากล ความเป็นไทยที่ร่วมสมัย ที่มันสามารถนำเราไปสู่การเป็นสากลโลก
แล้วรูปธรรมของประชาธิปไตยที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทยเป็นตัวนำคืออะไร
สถาบันพระมหากษัตริย์คือหนึ่งในนั้น เพราะหลายร้อยปีมาแล้วเราไม่เคยขาดสถาบัน คุณธรรมก็ใช่ ที่ผ่านมาเราไปลืมว่าศาสนานี่แหละที่สอนให้เราเป็นคนดี ลองมองคนไทยง่ายๆ จากแก่นนะครับ ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนกลัวบาปที่สุด อะไรก็อย่าทำเลย เพราะมันบาปนะ แค่ไอ้ความกลัวบาปเนี่ยมันหยุดให้เราทำความชั่วได้แล้วนะ
ดูจะอนุรักษนิยมเกินไปหน่อยหรือเปล่า
ถ้าจะมองให้มันโบราณ มันก็คงโบราณครับถ้ามองอย่างมีอคติ แต่ถ้าจะมองให้เห็นแง่บวกมันก็มีแง่บวก ทีนี้ผมเลือกมองในแง่บวก ผมรู้สึกว่าถ้ามองในแง่บวก แล้วขยายมันออกมา มันจะมีประโยชน์มากกว่าไปมองแบบแคบๆ แล้วไปด่า ไปดูถูก ถ้าแบบนั้นผมคงทำอะไรต่อไม่ได้ จะให้ผมบอกว่าอย่างไร ศาสนาเป็นเรื่องงมงายเหรอ ผมไปสัมผัสเอง ผมก็ไม่คิดว่ามันงมงายนะ ถึงเวลาผมเครียดขึ้นมา ศาสนาก็เป็นที่พึ่งทางจิตใจของผมได้ ศาสนาก็กันผมออกจากการทำชั่ว การทำผิด เพราะมันทำให้ผมรู้สึกในใจว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นบาป มันก็เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทย มันอาจดูเป็นเรื่องตลก แต่ว่ามันมีอยู่จริงไงครับ
ในอนาคตที่จะถึงซึ่งกำลังจะมีเลือกตั้ง คุณอยากเห็นภูมิทัศน์การเมืองไทยคลี่คลายไปในทิศทางไหน
งั้นวาดฝันเลยนะครับ (หัวเราะ) ผมอยากเห็นคนไทยถอดสีเสื้อ ผมไม่อยากเห็นความขัดแย้งแล้ว ผมอยากเห็นการเมืองที่ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล นโยบายอันไหนหรือกฎหมายฉบับไหนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมอยากให้เขาร่วมมือช่วยกันทำ ผมไม่อยากเห็นการเมืองแบบเดิมๆ ที่ฝ่ายค้านตั้งเป้าแต่จะค้าน แต่จะด่า หรือรัฐบาลที่คิดแต่จะดันงบ ผมอยากเห็นประเทศเดินไปด้วยกัน
คิดว่าเป็นไปได้ไหม
จะได้หรือไม่ได้มันก็อยู่ที่ประชาชนคนไทยด้วยนะครับ เพราะประชาชนคือหัวใจที่จะเข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันทำ เราจะพาเขาเข้าไปในสภาผ่านกลไกพรรค
ถามแบบซื่อ ๆ ว่า ทำไมประเทศไทยถึงเป็นประเทศที่ไม่พัฒนาเสียที
ผมว่าพวกเราคนธรรมดาต้องเริ่มถามตัวเองกันดูว่าที่ผ่านมาเราช่วยส่วนรวมขนาดไหน ที่ผ่านมาเวลามีความขัดแย้ง มีอะไรไม่ดี เรานั่งอยู่เฉยๆ ดูอย่างเดียว วิจารณ์อย่างเดียวหรือเปล่า พวกเราเอง เคยคิดที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งหรือเปล่า เคยคิดที่จะเข้ามาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า หรือว่าเรารอจนกระทั่งมันไม่เหลืออะไรแล้ว เราถึงจะออกมา ทำไมเราไม่เริ่มตั้งแต่วินาทีที่มันสร้างได้ล่ะ เราต้องเลิกชี้นิ้ว เลิกวิจารณ์อย่างเดียว พูดมันง่าย ทำมันยากครับ เราต้องเริ่มทำกันแล้วครับ เราต้องถามกันบ้างแล้วว่าที่ผ่านมาเรามีส่วนมากน้อยแค่ไหนกับการที่ประเทศยังไม่พัฒนา กับความติดขัดเหล่านี้
ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร
โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าผมไม่มีขอบ เมื่อเข้ามาทำงาน ผมไม่ได้เล็งว่าผมต้องเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ผมเล็งแค่ว่าผมจะสามารถทำอะไรได้บ้างในฐานะพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงระบบ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของผมมันก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวตอนนี้ผมยังมองไม่เห็นขอบของมัน ผมรู้สึกว่าผมสามารถผลักไปได้เรื่อยๆ ผมไม่อยากสร้างขีดจำกัดให้แก่ตัวเองว่า เป้าหมายเรามีแค่นี้ และเราจะทำแค่นี้