ว่ากันว่า เราทุกคนต่างมีสองโลก โลกหนึ่งเต็มไปด้วยความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับ กับอีกโลกหนึ่งที่เราสามารถปล่อยตัวปล่อยใจและเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ หากต้องยกตัวอย่างขึ้นมาจริงๆ ชีวิตของ ‘หมอเปียง’ กันตพงศ์ทองรงค์ก็น่าจะใกล้เคียงมากที่สุด เขาเป็นแพทย์ทั่วไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นบล็อกเกอร์เจ้าของเพจ PYONG : Traveller X Doctor ที่มียอดคนติดตามหลายหมื่น จนกลายเป็นเพจท่องเที่ยวที่หลายคนพูดถึงในทุกวันนี้

“ผมเริ่มทำเพจมาได้ประมาณครึ่งปีแล้วครับ ยังเป็นน้องใหม่อยู่ จริงๆ แล้วเริ่มจากการชอบถ่ายรูปก่อน ส่วนการเดินทางนั้นมาทีหลัง ถ้าเราอยากได้รูปสวยๆ เราก็ต้องเดินทางไปในที่ต่างๆ ให้มากขึ้น ที่ที่มีอะไรเยอะๆ ให้เราได้ถ่ายรูปให้มากขึ้น พอเราอยากได้รูปเยอะๆ มันเลยทำให้เราเดินทางเยอะไปด้วย”

“สำหรับผม การถ่ายรูปถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง เดิมทีผมชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น สมัยนั้นเราประกวด (ศิลปะ) สีชอล์ก สีน้ำ สีโปสเตอร์ หลังจากนั้นเราก็เริ่มวาดการ์ตูน เริ่มสเกตช์ภาพ ก็เป็นไปตามวัย จนถึงตอนขึ้นปีหนึ่งที่ได้จับกล้อง ก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราสามารถสร้างงานศิลปะได้ แค่กดปุ๊บก็ได้งานศิลปะออกมาเลย เรารู้สึกว่ามันสนุก ก็เลยอยากถ่ายรูปมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกเริ่มจากการถ่ายมุมตึกต่างๆ แหงนบ้าง ก้มบ้าง อย่างในโรงพยาบาลเราก็เดินไปตามมุมต่างๆ ถ่ายลงอินสตาแกรม คนก็สงสัยว่าตรงนี้คือมุมไหน”

จากเด็กที่เคยประกวดรูปภาพมาสู่คุณหมอในวันนี้ หมอเปียงบอกว่ามันเป็นคนละส่วนที่สามารถไปด้วยกันได้ การรักษาคนไข้สำหรับเขาก็เป็นแพชชั่นอย่างหนึ่ง

“ผมรู้สึกว่าอาชีพหมอเป็นอาชีพที่เท่ เป็นฮีโร่คนหนึ่งที่เข้ามาช่วยคนในชีวิตช่วงหนึ่งที่เขากำลังวิกฤต คนที่กำลังป่วย กำลังจะพิการ กำลังจะตาย ก็เลยตัดสินใจเรียนหมอ ส่วนงานศิลปะมันเป็นสิ่งที่มากับเราอยู่แล้ว เราสนุกกับมัน ชอบมันมาตั้งแต่เด็ก การทำงานศิลปะมันเป็นส่วนของสมองซีกหนึ่ง ในขณะที่การเรียนแพทย์ก็เป็นการใช้สมองที่เกี่ยวกับตรรกะอีกซีกหนึ่ง พอเอามารวมกันผมคิดว่ามันไปด้วยกันได้และก็มีความสุขไปอีกแบบหนึ่ง มันไม่ได้ขัดกัน แต่มันช่วยส่งเสริมกันมากกว่า”


เพจของหมอเปียงเป็นเหมือนไดอารี่ ลักษณะการเล่าเรื่องเหมือนกับตัวเขาเองเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง พร้อมใส่รูปที่เขาชอบ ภาพโมเมนต์ที่เขาประทับใจในทริปนั้นๆ

“มันเริ่มต้นจากที่อยากโชว์รูปที่ถ่ายมาเยอะๆ ให้คนอื่นดู เพจจึงเป็นเหมือนพื้นที่กระจายผลงานของเรา แต่นอกเหนือไปกว่านั้น สิ่งที่เราอยากนำเสนอออกไปคือเรื่องการทำให้ชีวิตสมดุล ระหว่างการทำงานและการทำสิ่งที่เรารู้สึกมีความสุขกับมัน เราอยากแสดงให้เห็นว่า เราสามารถผสมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันและทำให้มันไปได้ดีทั้งสอง”

หมอเปียงบอกว่าเคล็ดลับการสร้างสมดุลในชีวิตของเขาคือ การแบ่งความสำคัญออกเป็น 3 อย่างคือ หนึ่งการทำงาน สองการทำสิ่งที่ชอบ และสามการดูแลตัวเอง ถ้าสมมุติว่าในวันนั้นไม่สามารถทำทั้งสามอย่างให้ดีได้ ให้ลองถอยออกมาก่อนว่าถ้าเป็นสัปดาห์ จะทำไหวไหม ถ้าภายในสัปดาห์ยังไม่สามารถทำงานและแบ่งเวลาทำงานอดิเรกหรือไปออกกำลังกายได้ ให้ถอยออกมาว่าในหนึ่งเดือนจะทำได้ไหม

“ถ้าเราไม่ได้มองแยกส่วนแบบนี้ เราจะรู้สึกว่ามันเยอะ และยังไงก็ไม่มีทางทำสำเร็จ ผมเลยจะมองแยกส่วนเสมอเวลาจะทำอะไร และผมเป็นคนที่จัดตารางละเอียด สมมุติวันหนึ่งผมจะจัดตารางประมาณว่า 6 โมงเย็น เลิกงาน 6 โมงถึงหนึ่งทุ่ม เล่นฟิตเนส หนึ่งทุ่มถึงสองทุ่ม เป็นเวลากินข้าวพักผ่อน ผมจะค่อนข้างมีตารางเวลาที่ชัดเจน แต่ถึงจะชัดเจนยังไงก็ตาม เราไม่ได้ทำตามเป๊ะๆ ทุกครั้งหรอก เราทำเพื่อจะได้รู้ว่าวันนี้เราต้องทำอะไรบ้างมากกว่า”

เมื่อชีวิตสมดุลแล้ว เขาเลยมีเวลามาทำงานอดิเรกที่เขารักซึ่งก็คือการเดินทางและการถ่ายรูป โดยปกติจะชวนเพื่อนๆ ออกเดินทางไปหาสถานที่ใหม่ๆ ด้วยกัน แต่เขาเพิ่งได้มีโอกาสเที่ยวคนเดียวเป็นครั้งแรก ทริปนั้นก็กลายมาเป็นทริปที่เขาประทับใจที่สุดโดยปริยาย

“ล่าสุดไปสิงคโปร์ มันจะมีช่วงที่ผมอยู่คนเดียวประมาณ 3-4 วันได้ ต้องวางแผนทุกอย่างคนเดียว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบิน รวมถึงการไม่ทิ้งเพจไปก็คือต้องมีรูปตัวเองในทริป (หัวเราะ) จะตั้งกล้องไหม ให้คนอื่นถ่ายไหม สำหรับผมถือว่าท้าทายมาก เพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมออกเดินทางคนเดียวจริงๆ ปกติเวลาไปกับเพื่อนผมจะทำหน้าที่เป็นตากล้อง ใครจะไปไหนเดี๋ยวเราตามไป จะไม่ค่อยคิดอะไรพอไม่มีใครนำ เราต้องคิดเองทั้งหมด คิดทุกอย่างให้ครอบคลุม ตารางเวลาต่างๆ เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง (ยิ้ม)”


“แค่ทริปเดียวก็รู้สึกว่าโตขึ้นนะ จัดการอะไรได้ดีขึ้น ได้ฝึกคิดให้สุดทาง ซึ่งจริงๆ อาชีพหมอก็ต้องคิดแบบนั้น เวลาเจอคนป่วยคนหนึ่ง เราต้องคิดให้จบเลยว่า เขามาด้วยอาการอะไร วินิจฉัยเป็นอะไร เราจะทำอะไรต่อไป เราต้องคิดเผื่อญาติ เพราะเขามีลูก มีพ่อ มีแม่ มีพี่น้อง ถ้าผู้ป่วยคนนี้จะต้องเป็นอัมพาต ใครจะดูแลเขา ค่าใช้จ่ายแต่ละวันเท่าไหร่ แล้วพอเขาหาย เขาจะต้องอยู่ยังไงต่อไป เราต้องคิดทั้งหมด การเดินทางคนเดียวกับการรักษาผู้ป่วยจึงไม่ต่างอะไรกัน เดินทางก็เหมือนกัน เราไปคนเดียว เราไปกับเพื่อน แล้วเพื่อนมากับแฟน หรือเราพาพ่อแม่ไปด้วย แล้วจะไปตรงนั้นยังไง พ่อแม่เราเดินไหวไหม แต่เดินทางคนเดียวเหงา ไปกับเพื่อนดีกว่า”
(หัวเราะ)

การเดินทางของหมอเปียงคือการรวมสิ่งที่เขารักไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการได้ไปยังที่ใหม่ๆ ได้ถ่ายรูป และยังได้นำเรื่องราวความประทับใจกลับมาเล่าในเพจต่อ การเดินทางของเขาคือการออกจาก comfort zone มันคือที่พักผ่อนหลังจากการทำงานหนัก เมื่อได้พักแล้วก็กลับมาทำงาน

“รู้ไหมว่าการท่องเที่ยวมันเป็นเรื่องหนึ่งที่เราสามารถคุยกับผู้ป่วยได้ บางทีกว่าเราจะเข้าใจผู้ป่วยได้ต้องมีการพูดคุยกันก่อน เพราะผู้ป่วยบางคนเขาไม่ได้เปิดใจกับเราเต็มที่ หลายๆ ครั้งเราจึงไม่สามารถวินิจฉัยโรคที่เขาเป็นได้ ยิ่งเรามีคลังข้อมูลอยู่ในหัวมาก เราก็สามารถคุยกับเขาได้มาก ข่าวสารบ้านเมืองทั่วไป การท่องเที่ยว แค่เปิดแฟ้มประวัติมาแล้วเห็นว่า คนนี้เชียงใหม่ก็ เอ้ย หมอเคยไปเที่ยวคาเฟ่นี้มา เป็นยังไงบ้าง เคยไปหรือเปล่า มันเหมือนกับเป็นความรู้รอบตัวที่พอเราได้ไปสัมผัสจริงๆ เราก็มาเล่ามาคุยได้”



เคยเจอแฟนเพจไปหาหมอบ้างไม??

“ยังไม่เคยเจอแบบในห้องตรวจ แต่ที่โรงพยาบาลเคยเจอ เขาเข้ามาทักว่า ใช่หมอเปียงหรือเปล่า? (หัวเราะ) เฮ้ยมีคนรู้จักเราด้วย ก็ตกใจเหมือนกัน”

แสงแดดที่ส่องผ่านเข้ามาทางหน้าต่างชั้นสองเริ่มค่อยๆ จางหายไปพร้อมกับเข็มนาฬิกาบอกเวลาเย็นคำถามสุดท้ายก่อนจะแยกย้ายกับหมอเปียงในวันนั้น คือเราจะเดินตามความฝันในโลกความจริงได้อย่างไร เขายิ้มสดใสก่อนตอบว่า

“ผมคิดว่าทุกคนมีความฝัน ทุกคนมีสิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยากจะทำให้ได้ แต่หลายๆ อย่างมันมาครอบเราเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ถ้าเรามีโอกาส โอกาสใดๆ ก็ตามในชีวิต บางทีมันอาจจะไม่ได้ตรงกับความฝัน หรือไม่เกี่ยวข้องเลยก็ได้ แต่ด้วยความชอบ ด้วยความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่เดิม ผมคิดว่า การที่เราตอบรับหลายๆ โอกาสที่เข้ามาในชีวิต บางครั้งมันพาเราไปในที่ที่คิดไม่ถึง บางทีเราไม่รู้หรอกว่าผลลัพธ์มันคืออะไร แต่มันก็สนุกดีนะที่จะได้เจอกับสิ่งที่คิดไม่ถึงมาก่อน ผมพูดเสมอว่า เราควรจะมีแผน ในขณะเดียวกันผมก็ชอบตอบรับโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิต หลายๆ อย่างเราวางแผนไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะตอบรับมันได้ ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ลองใส่ความกล้าเข้าไปอีกนิด แล้วทำมันไปเลย ต่อให้มันจะล้มเหลว จะเป็นยังไง มันก็คุ้มค่าที่เราจะลองทำในสิ่งที่อยากทำสักครั้ง”

No Comments Yet

Comments are closed