สีสันของกรุงเทพมหานครในช่วงปลายปี นอกจากงานใหญ่อย่าง Bangkok Art Biennale 2018 และลานเบียร์ที่กำลังเริ่มแล้ว บรรดาละครเวทีโรงเล็กทั่วกรุงเทพฯ ก็คึกคักไม่แพ้กัน ชอบสีสันของพระนครช่วงปลายปีก็ด้วยเหตุนี้ล่ะค่ะ มีอะไรให้ทำมากมาย ยิ่งถ้าเป็นคอละครเวที ดิฉันแนะนำให้หาโอกาสไปชมละครโรงเล็กๆ ตามสถานศึกษาและคณะละครอินดี้ที่ใช้สเปซในการจัดแสดงไม่มาก แต่ลดข้อจำกัดของขนาดพื้นที่ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการปรุงแต่งเรื่องราวให้สนุกสนาน น่าติดตาม
หนึ่งในสถานที่ที่แนะนำคือ ‘คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา’ ค่ะ คณะนี้ก่อตั้งมาได้ไม่นาน แต่กำลังกลายเป็นสาขาที่มีหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ สมัครเข้าเรียนกันล้นหลาม ไม่ใช่เฉพาะการเปิดกว้างให้นักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่เท่านั้น แต่ที่นี่ยังเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองไปในทางที่ถูกที่ควร เช่นเดียวกับประเด็นเรื่อง Queer Theatre ที่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย Queer Theatre และ Queer Study คืออะไร? ต้องสอบถาม ดร.สรร ถวัลย์วงศ์ศรี หัวหน้าสาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้ผลักดันเรื่องนี้โดยตรง
Q : ที่เลือกเรียนทางด้านศิลปะการแสดงตะวันตก เพราะความสนใจอะไรเป็นพิเศษหรือไม่
A : คือตอนแรกสมัยเด็กๆ เราเป็นเด็กสายวิทย์ เรียนวิทย์-คณิตมา ลูกพี่ลูกน้องที่บ้านเป็นหมอ เป็นเภสัช ทำงานสายหมอเสียส่วนใหญ่ มันเลยกลายเป็นธรรมเนียมของที่บ้านว่าต้องเรียนวิทย์ แต่เราอยากจะเรียนคณะที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะมากกว่าไง แล้วตอนนั้นทราบว่ามีโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคร ที่ธรรมศาสตร์ พอรู้ข่าวปุ๊บก็สมัครเลย และสอบเอนทรานซ์ ติดลำบากเหมือนกันนะ เพราะหนีแม่มาเรียน แม่ไม่ค่อยจะชอบสักเท่าไหร่ ตอนนั้นสอบมหาวิทยาลัยได้อายุ 16-17 เอง ถือว่าเรียนเร็ว เพราะเรียนข้ามชั้น สอบเทียบมา พอเข้าเรียนตอนแรกก็งงๆ เหมือนกันว่า ละครเวทีคืออะไร เพราะว่าเรามาจากสงขลา มาจากหาดใหญ่ เราคนต่างจังหวัดก็ไม่ได้รู้จักละครมากนัก แล้วคราวนี้พอเราเรียนปุ๊บ เราก็โอเค มันมีวิธีการของมันว่า เออ เรียนแล้วสนุก มีความหลากหลาย ต้องเรียนทั้งในแง่ออกแบบการแสดง ในแง่ของทำเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ในแง่ของกำกับ ในแง่ของการเป็นนักแสดง แล้วที่ธรรมศาสตร์จะเน้นความหลากหลายในความเป็นไทย เน้นให้เรียนรำไทยด้วย เรียนโขนด้วย เรียนเกี่ยวกับมูฟเมนต์การเคลื่อนไหว พอได้เรียนหลายอย่างมันก็รู้สึกว่าชอบ เกิดเป็นความชอบในละครเวทีไป
Q : การที่เราเริ่มชอบหรือว่ารักในศิลปะ มันเกี่ยวข้องกับความเป็น LGBT ในตัวเราหรือไม่?
A : เกี่ยวไหมเหรอ สมัยที่เรียนมัธยมก็ทำกีฬาสีนะ เป็นประธานกีฬาสี ทำเชียร์ด้วย อาจจะเป็นเพราะว่าเด็ก LGBT ส่วนมากเป็นคนชอบทำกิจกรรมมากกว่า แล้วก็คิดว่าการที่เราชอบทำกิจกรรม หรือชอบทำงานที่เป็นงานปฏิบัติ ก็เลยทำให้เราชอบศิลปะการแสดง ชอบงานละครเวที หรืองานที่ต้องเต้นไปด้วย
Q : ในบรรดาศิลปะการแสดงทั้งหมด ชอบอะไรมากที่สุด เพราะเห็นว่าเคยเรียนบัลเลต์มาด้วย
A : ยากมากเลย คือมาเรียนบัลเลต์เอาตอนประมาณปี 4 แล้ว ตอนนั้นได้ลองเข้าไปทำงานกับ Bangkok City Ballet ไปแสดงละครเป็นคุณพ่อ แล้วพอดีไดเร็กเตอร์ของโชว์เป็นคนญี่ปุ่น เขาเห็นว่าเราหน่วยก้านดี รูปร่างดี ตัวสั้นขายาว แล้วตอนนั้นกำลังเรียนการเคลื่อนไหว มาชอบการมูฟเมนต์ ชอบเรียนละครใบ้ด้วย อาจารย์ญี่ปุ่นเขาก็บอกว่าอยากจะขอให้ทุนเรียนฟรี เรามาเรียนกับเขาไหม ช่วงนั้นคาบเกี่ยวระหว่างกำลังจะเข้าปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ เรียนบริหารวัฒนธรรม ประมาณปี 44-45 พอเข้าไปเรียนตอนแรกก็ท้อนะ เรียนบัลเลต์ยาก แต่ว่าพอเรียนๆ ไปสัก 2-3 ปี รู้สึกว่าชินแล้วก็ชอบ ชอบวิธีการ ชอบความมีระเบียบ ชอบ discipline ชอบวิธีการของคน อาจจะเป็นเพราะอาจารย์ที่สอนเป็นคนญี่ปุ่นด้วย ทำให้มีระเบียบนิดหนึ่ง เราเลยชอบตรงจุดนั้น แต่ถามว่าทั้งละคร ทั้งนาฏศิลป์ หรือว่าทั้งนาฏศิลป์สากล หรือบัลเลต์ ชอบทั้งสองอย่างนะ แต่ส่วนมากจะไม่มีงานแสดงไหนหรือรูปแบบฟอร์มไหนที่ชอบเป็นพิเศษ แต่ว่ายุคหลังๆ มานี่จะชอบงานที่เป็น queer theatre มากขึ้น เพราะว่าเคยทำโรงละครเล็กที่สีลม เป็นโรงละครทางเลือก เคยจัดเป็นเทศกาลละคร queer festival ด้วยเมื่อหลายปีก่อน
Q : queer festival ที่มี The 4 sisters + 1 อยากให้เล่าถึงเรื่องนี้หน่อยว่า ตอนนั้นไปจอยกับคณะนี้ได้อย่างไร
A : The 4 sisters +1 จริงๆ ถ้าจำไม่ผิดคือปี 2545 ตอนแรกเปิดเป็น The 4 sisters เล่นกับคณะไลฟ์เธียเตอร์ ซึ่งตั้งโดยอาจารย์หนิง ผศ.พันพัสสา ธูปเทียน อาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์พี่หนิงเป็นรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพี่เอกการละครเรา 2-3 ปี จุดตั้งต้นตอนแรกเขาตั้งใจเอา LGBT เอาตุ๊ดสามคนมาเจอกัน คนละรุ่น แล้วก็เล่าเรื่องตัวเองให้ฟัง แต่พอคนเขียนบทได้ไปดูคาบาเรต์โชว์ที่สีลมเรื่องมันก็เปลี่ยน กลายเป็นเรื่องของ drag queen หรือนางโชว์ในบาร์ใกล้จะเจ๊ง แล้วก็เกิดมีปัญหากัน ซึ่งจริงๆ ประเด็นของเรื่องไม่ได้โฟกัสที่การรับรู้เรื่องของ LGBT แต่มันไปโฟกัสเรื่องที่ว่าไม่ว่าคุณจะมีความหลากหลายทางเพศอะไร แต่ว่าความสัมพันธ์ในความเป็นเพื่อน ในความเป็นพี่น้องมันก็เป็นครอบครัวแบบหนึ่ง มันทำให้เกิดคำว่าเป็นแฟมิลี่ในมุมมองของสังคมสมัยใหม่ สังคมเมือง ที่บางครั้งเราอาจจะเป็นคนโสด อาจจะเป็นคนที่ไม่ใช่ครอบครัวขยาย ไม่ใช่ครอบครัวใหญ่ แต่เราอยู่รวมกันแบบโสดๆ เรามีเพื่อนเป็นครอบครัวของเรา เรามีพี่น้องเป็นครอบครัวของเรา
Q : คนทั่วไปมองวงการละครว่า ส่วนใหญ่จะมีแต่ LGBT มาเรียน มีผู้ชายบ้างไหม แล้วถ้าผู้ชายมาเรียนจะซัฟเฟอร์ไหมที่เจอแต่ตุ๊ด
A : มีนะ มีจริงๆ มันก็อาจจะเป็นแนวคิดเดิมๆ นะว่า ผู้ชายจะมีเปอร์เซ็นต์น้อยในการเรียน เป็นตั้งแต่สมัยเราเรียนธรรมศาสตร์แล้วล่ะ ก็มีผู้ชาย จริงๆ ส่วนมากในการทำงานด้านนี้ โดยมากจะเป็นผู้หญิงที่เข้ามาเรียนสัก 70-80% สมมุติรับประมาณ 50 คน จะเป็นผู้หญิงสัก 40 คน แต่ว่าผู้ชาย 10 คน อาจจะมีความเป็น LGBT ผสมอยู่ แต่ถ้าคุณเป็นผู้ชายก็ไม่ซัฟเฟอร์นะ มันเหมือนกับผู้ชายเรียนบัลเลต์ ถ้าคุณคิดว่ามันทุกข์ มันก็ทุกข์ แต่ถ้าคุณคิดว่ามันแบบ อุ๊ยเราได้เรียนกับผู้หญิงหลายคนนะ มันก็น่าจะสนุกดี เราจะต้องเป็นช้างเผือกในป่าใหญ่
Q : แล้วพอเราต้องมาเป็นอาจารย์สอนการแสดง บทบาทของเราจากที่เคยเป็นนักแสดงเด็กๆ กับตอนนี้เราต้องมาสอน หน้าที่มันเปลี่ยนไปเยอะไหม
A : มันต่างเยอะนะ เพราะตัวเราเองเคยทำมาหลายๆ อย่าง ทั้งเลือกทำ Bangkok Queer Theatre Festival เมื่อปี 2014 แล้วตอนทำวิทยานิพนธ์ ป.เอก ที่จุฬาฯ ก็ทำเรื่องเกี่ยวกับ creation ในงานนาฏศิลป์ร่วมสมัยที่มีคอนเซ็ปต์เรื่องเจนเดอร์ไดเวอร์ซิตี้ หรือความหลากหลายทางเพศ และมีไปโครงการแลกเปลี่ยนกับ Kent State University ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาด้วย ได้ไปดูงาน ไปดูตึกที่ทำละคร โอ้โฮใหญ่มาก แต่เราติดใจอยู่อย่างหนึ่งคือ เราชอบที่เขามีศูนย์ LGBT นะ ที่อเมริกา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มมีศูนย์ที่ทำนิตยสารเกี่ยวกับ LGBT ชื่อนิตยสาร Diversity มันมีการรวมตัวของคนที่หลากหลายทางเพศที่ต้องการสร้างความรับรู้ อาจจะเป็นเพราะสังคมอเมริกันมีการเหยียด มีการต่อสู้ มีการรณรงค์ แต่สังคมไทยอาจจะยังไม่ค่อยมีภาวะนั้น ภาวะที่ต้องแข่งขัน ภาวะที่โต้แย้งโต้เถียง หรือภาวะที่เอาเป็นเอาตาย แต่ในมุมมองของเรา มองว่าเราก็ต้องพยายามจะผลักดันการรับรู้เหล่านี้ให้เกิดขึ้น ทั้งในระบบของสถาบันการศึกษาของเรา เริ่มจากที่เราเป็นสาขาวิชา เราอาจจะต้องเริ่มจากสาขาวิชาของเราก่อนว่าเราจะทำอย่างไรให้เด็กในสาขาวิชาเราเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ โดยที่เราไม่ได้ให้มันดูเจตนาจนมากเกินไปนัก ให้มันอยู่ในวิถีชีวิต เช่น เริ่มที่จะมีวิชาสังคมวิทยาเพื่อการแสดงเข้ามา เด็กก็จะได้เรียนเรื่องของ postmodernism หรือหลังสมัยใหม่นิยมกับการแสดง หรือเรียนเรื่องของงานที่เกี่ยวกับงานสัญวิทยา semiotics หรือเกี่ยวกับการสื่อสาร แล้วพาร์ตหนึ่งเราก็สอนเรื่อง Gender Study ทำให้เด็กรู้ว่า อ๋อ มันมีการศึกษาเรื่องเพศภาพ เรื่องเพศสภาวะที่มีผลต่องานแสดง มันก็จะทำให้เกิดเป็น Queer Theatre ได้อะไรอย่างนี้ครับ
Q : ความสัมพันธ์ของเรากับพ่อแม่เป็นอย่างไรบ้าง พ่อแม่รู้ว่าเราเป็นเกย์มาตั้งแต่เด็กหรือไม่?
A : รู้นะ แม่นี่รู้ ไม่บอกเขาก็ไม่ตอบ แต่ว่าแม่เขาเหมือนกับแม่ทุกคนแหละ แม่จะชอบไหมที่เวลาเด็กๆ เพื่อนผู้ชายมาเรียกลูกแม่ว่ากะเทย อันนี้เขาจะไม่ยอม เขาจะบอกว่าลูกแม่ก็เป็นผู้ชาย เป็นผู้ชายน้อยๆ ของเขา เขาจะพูดอย่างนี้เสมอ ซึ่งอันนี้มันคือความลักลั่นของประเทศชาติเนาะ นึกออกไหม เราใช้อะไร LGBT เราใช้อะไรก็กะเทยไปหมด ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ใช่ไง กะเทยตามศัพท์แล้ว ฉันต้องเกิดมามี 2 เพศ แต่นี่ฉันก็เกิดมาเป็นผู้ชาย เพียงแค่ว่าคนไม่เข้าใจว่าการที่ผู้ชายไปชอบผู้ชายเป็นอีกรสนิยมหนึ่ง แต่คิงก็ไม่ได้บอกว่าคิงเป็นเกย์ คิงก็ไม่ได้บอกว่าคิงจะไปแปลงเพศนะ นึกออกไหม
เรื่อง Gender หรือในความเป็นเพศสภาพ เพศสภาวะ เรายังมองในวันนี้เลยว่ามันลื่นไหลนะ ถ้าสมมุติว่าเราคิดกลับกัน ถ้าในอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าผมบอกว่าผมมีครบแล้ว ผมมีตำแหน่งวิชาการแล้ว ผมเป็นรองคณบดีเป็นคณบดีแล้ว สมมุติอายุผม 50 สมมุติผมอยากแต่งงานมีเมียมีลูก ถามว่าผมเป็นเกย์ไหมวันนี้ เห็นไหม คือเราอย่าคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันถูกฟิกซ์ไปตามกรอบ มนุษย์มันไหลมันลื่นได้ ดังนั้นอยากให้ทุกคนคิดถึงการรับรู้ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของเพศสภาวะที่มันมีความ fluid คือมันลื่นไหลไปตามกระแสสังคม หรือไปตามสิ่งที่ต้องการ ณ วันเวลานั้น โมเมนต์นั้น สมมุติคิงต้องการลูก คิงบอกว่าอ้าวถ้าคิงไม่ยืนยันว่าคิงเป็นเกย์ คิงก็อยากจะมี adopt เด็กเนาะ หรือถ้าไม่อยากจะไปรับเด็กมาเป็นอุปการะ อยากมีลูกของตัวเอง อาจจะมีทำกิฟต์ก็ได้ นึกออกไหม มันมีหลายเคสที่เราเห็นจากเพื่อนเรา เช่น อย่างครอบครัวคนจีนที่เป็นคู่ชายชายหญิงหญิง เขาก็แต่งงานกันอย่างนี้นะ ชายคู่กับหญิงคู่ แต่งกันก็แยกเป็นหญิง-ชาย หญิง แล้วเขาทำกิฟต์กัน แล้วทั้งคู่มีครอบครัว แต่เวลาเขาอยู่ด้วยกันเป็น 4 คนผัวเมีย แต่ว่าอยู่เป็นคู่ดี้เลสเบี้ยนคู่หนึ่ง กับคู่เกย์คู่หนึ่ง เห็นไหมว่ามนุษย์มันแหกกฎได้ทุกเมื่อ แล้วอย่าคิดว่ากฎนั้นเป็นกฎตายตัว คิดว่าทำอย่างไรให้อยู่ในสังคมแล้วมีความสุข ไม่เบียดเบียนคนอื่นพอ
Q : อยากให้เล่าถึงโปรเจ็กต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นหน่อย
A : ถ้าโปรเจ็กต์ตอนนี้นะ พฤศจิกายนของเราก็จะมีละคร thesis เรื่อง I AM ซึ่งเป็นละครเพลงที่เด็กคิด เป็นบทต้นฉบับเพลง ที่กำลังถ่ายทำอยู่นี้แหละ เป็นฉากของละครเรื่องนี้เลยนะครับ แล้วเรื่องต่อไปเป็นเรื่อง ‘อลหม่านหลังบ้านทรายทอง’ ซึ่งก็เป็นเรื่องเป็นละคร comedy สนุกสนาน หลังจากนั้นก็จะมีโปรเจ็กต์ Body Paint กับ Costume Contest อันนี้เป็นงานแสดงเป็นโชว์เคส ทุกๆ ปี เรามีมาประมาณ 10 ปีแล้ว แต่ว่าปีนี้จะพิเศษหน่อยคือจะมีธีมเป็นไดเวอร์ซิตี้ ไดเวอร์ซิตี้คือความหลากหลาย แต่เราไม่ได้เจาะจงนะ แต่เน้นไปที่ความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายทางเชื้อชาติศาสนา คือจริงๆ แล้วถ้าเรามีมุมมองเรื่อง Queer Study ทุกอย่างมันมีความหลากหลาย ตัวตนมันไม่มีอยู่จริง มันเหมือนกับว่าทุกอย่างสามารถลื่นไหลไปได้ ปรับไปได้ ดังนั้นเราต้องยอมรับทั้งความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายทางศาสนา ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทุกอย่างมันคือความเป็นมนุษย์นะ ถ้าเรายอมรับความหลากหลายซึ่งกันและกัน ไม่เห็นความต่างเป็นการเหยียด ไม่เห็นความต่างเป็นสิ่งที่เป็นอื่น เห็นความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เพศไหน ศาสนาไหน เชื้อชาติไหน สูงต่ำดำขาว อ้วนผอมก็เป็นมนุษย์เท่าเรา ดังนั้นอยากเชิญชวนนะ วันที่ 19 ธันวาคม จะจัดที่โรงละครนี้ มี 2 รอบ รอบห้าโมงกับรอบหนึ่งทุ่ม อยากจะเชิญชวนเข้ามาดูงานที่ศิลปกรรม สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ในเรื่องงานโชว์เคส ก็เป็นเรื่องงานบอดี้เพนต์ อุ๊ย บอดี้เพนต์สวยมาก จะมีนายแบบนางแบบเพนต์ในธีมไดเวอร์ซิตี้ แซ่บๆ
Q : อยากถามเรื่องความเป็น LGBT ของตัวเรา กับการเป็นครู คือในเจเนอเรชั่นของเรา ก็จะมี perception อย่างหนึ่งของการเป็น LGBT เด็กรุ่นใหม่นี่เป็นอย่างไรบ้าง ต่างจากรุ่นเราเยอะไหม
A : ต่างมาก แต่เราอาจจะไม่แปลกใจ เพราะเราเป็นคนที่เปิดรับง่ายมาก แต่อาจารย์ใหม่ๆ เริ่มแปลกใจ เช่น มีน้องตุ๊ดนี่แหละเขามาเรียนใช่ไหม เป็นลูกสาว แล้วนางหลายๆ คนก็จะเปลี่ยนไปแบบแต่งเป็นหญิงบ้าง อันนี้เราก็ไม่แปลกใจ แต่การที่เขาไปคบผู้หญิงด้วยกัน แล้วเขาเป็นเลสเบี้ยน อันนี้เราก็เออมีความแปลกใหม่ คือแต่งหญิงแล้วแทนที่จะคิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แล้วก็จะไปหาแฟนผู้ชายใช่ไหม เปล่า เขาก็คบผู้หญิงเป็นแฟน ก็กลายเป็นเลสเบี้ยนไป เราก็รู้สึกว่าเออเนี่ยเห็นไหม นี่คือหลากหลาย เจนเดอร์เขาคือผู้หญิงข้ามเพศที่แต่งหญิง แต่รสนิยมทางเพศเขาสามารถที่จะไปคบผู้หญิงด้วยกันได้ เป็นเลสเบี้ยน มันเป็นความแปลกใหม่ของเรา หรือบางทีเด็กเราบางคน ผู้หญิงก็เห็นมีแฟนเป็นผู้ชายบ้าง มีแฟนเป็นผู้หญิงบ้าง แต่เขาไม่ได้บอกเขาเป็นไบนะ ซึ่งเราก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว เออ ในสังคมปัจจุบันเราไม่อยากให้ทุกคนไปอยู่ในลิ้นชักใดลิ้นชักหนึ่ง รู้ว่ามีอีกลิ้นชัก แล้วลิ้นชักมันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะ มันก็จะมี LGBTQQI+ อย่ายัดความเป็นมนุษย์ไปไว้ที่ลิ้นชักใดลิ้นชักหนึ่ง ลิ้นชักมันสามารถสวิตช์กันได้ เราจะเป็นลิ้นชักไหนก็ได้ อยู่ที่เราเลือกที่จะเป็นมากกว่า อันนั้นที่สำคัญ
Q : อยากให้ฝากถึงเด็กๆ รุ่นใหม่ที่สนใจงานทางด้านการแสดง แล้วอยากจะเข้ามาเรียนทางศาสตร์ด้านนี้ เขาควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
A : การเตรียมตัวมาอย่างดี หลายๆ ครั้งที่มีวัตถุดิบในตัว เช่น ร้องเพลงเพราะ แต่ไม่ได้เตรียมตัวมา บางครั้งพลาดเรื่องไม่มี backing track ไม่กล้าร้องบ้าง ชุดไม่พร้อมบ้าง หลายๆ ครั้งคือ เรามองว่าเด็กที่จะเข้ามาเรียนที่นี่ หลักๆ ใจต้องมาก่อน เหมือนความตั้งใจที่จะเข้ามาเรียน มีความตั้งใจที่จะเข้ามาฝึกปฏิบัติ เวลาเราดูสัมภาษณ์ในออดิชั่น เด็กที่เข้ามาทุกๆ ปี ใบพอร์ตฟอลิโอที่ส่งเข้ามาก็ทำพอร์ตให้ดีหน่อย เพราะจะมีการวัดจากการทำพอร์ตด้วย ทำพอร์ตให้มันเป็นเหมือนกับหน้าตา มันก็เป็นใบเบิกทางหนึ่งของเรา คือเราเห็นความตั้งใจปุ๊บ เรารู้เลยว่าคุณมีความตั้งใจมา แล้วเวลาเข้ามาออดิชั่นปั๊บ ถ้าคุณมีความตั้งใจในการออดิชั่น เตรียมงานมาดี เตรียมสิ่งที่จะนำมาเสนอดี และพูดจาฉะฉาน มีการครีเอทีฟ ให้บทละครแล้วสามารถตีความได้ มันก็ช่วยทำให้คุณติดเข้ามาเรียนที่สถาบันนี้มากขึ้น เพราะว่าตอนนี้เรามี ป.โท แล้วปีหน้าก็จะเปิดดุษฎีบัณฑิตเกี่ยวกับศิลปะการแสดงที่แรกของประเทศ เป็นปริญญาเอกด้านศิลปะการแสดง ก็ประมาณปลายปี หรือช่วงสิงหาคม 2562 ตอนนี้ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่มีอาจารย์ที่มีวุฒิด็อกเตอร์มากที่สุด ทั้งนาฏศิลป์ ทั้งของเรา รวมประมาณน่าจะ 8 คน
Q : เทรนด์ของศิลปะการแสดงในเมืองไทยมันจะโตไปได้อีกไหม
A : โตนะ ถ้าเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว อย่างเทรนด์ละครเพลงมาเยอะมาก ตั้งแต่เราเล่นรัชดาลัยเรื่องแรก เรื่อง ‘ฟ้าจรดทราย’ นานแล้วนะ พอ 10 ปีผ่านมา เราก็รู้สึกว่าเทรนด์ละครเพลงเดี๋ยวนี้ดัง มหิดลก็มี เอกละครเพลงเลยนะ เห็นไหมว่ามันสามารถทำเป็นสาขาวิชาได้เลย คือมันมีดีมานด์ มันมีความต้องการที่จะเรียนกันตรงสาขามากขึ้น ดังนั้น อย่าคิดว่ามันไม่โต แต่เพียงแต่ว่า จริงอยู่ว่าประชากรนักศึกษาลดลง คือประชากรวัยเรียนของเราลดลง อาจจะลงไปเยอะที่จะเข้ามาเรียนในระบบมหาวิทยาลัย แต่เราอย่าลืมว่า ถ้าเรามีความแข็ง มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง มีความเฉพาะตัวของตัวเอง สาขาวิชานั้นก็อยู่ได้ สาขาวิชาที่จะต้องปิดไปก็คือ สาขาวิชาที่มีความทั่วไปเกินไป ไม่มีความโดดเด่นในการที่จบมาแล้วจะไปทำอะไรต่อ ดังนั้น เทรนด์การแสดงมันน่าจะปรับได้อีกเยอะ หรือเทรนด์ที่เราเอาเข้ามาเป็น queer theatre ก็มีมุมมองว่า มีการรับรู้ด้านความหลากหลายทางเพศ แล้วก็มันเริ่มมีละครที่รณรงค์ ละครที่เรียกร้องสิทธิ ละครที่สร้างความรับรู้ความหลากหลายทางเพศมากขึ้น หรือละครเชิง physical theatre ละครที่ใช้ทั้งกายวิภาค ใช้ทั้งการเต้น ใช้ทั้งการมูฟเมนต์เข้ามา พูดน้อยลง ใช้วิชวลมากขึ้น เพราะว่าคนดูอาจจะเริ่มฟังน้อยลง ชอบมองชอบเห็นภาพมากขึ้น หรือละคร หรืองานแสดงที่ใช้มัลติมีเดียมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ก็อาจจะเริ่มเข้ามา