โลกได้ขีดกำหนดมนุษย์ให้มี 2 เพศเท่านั้น คือหญิงและชาย หาได้ถามความรู้สึกอันปรารถนาทางเพศที่แท้จริงของมนุษย์ไม่ ใครที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสองเพศนี้มักถูกจองจำและลดค่าความเป็น ‘คน’ Mars Homme ชวนไปเปิดโลกใบเดิมให้กว้างขึ้นกับ ‘นิทรรศการ ชาย หญิง สิ่งสมมุติ Gender illumination’ ที่เคยจัดขึ้นที่มิวเซียมสยาม เก็บตกรายละเอียดของนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องราวของความหลากหลายทางเพศให้เราได้เรียนรู้ ศึกษา ยอมรับและเข้าใจตัวตนของทุกเพศให้มากขึ้น

นิทรรศการต้อนรับเราเข้าสู่โลกใบใหม่ผ่าน ‘เขาวงกตแห่งเพศ’ เป็นเขาวงกตที่สลับซับซ้อนทั้งเรื่องความหมายของคำและเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ‘สาวแตก มนุษย์ป้า ช้างเท้าหลัง วิปริตผิดเพศ ลูกผู้ชาย’และอีกมากมาย คำเหล่านี้ได้ถูกเรียงรายบนแผ่นสีขาวสะอาดตาแต่แฝงไปด้วยบทบาทเรื่องเพศอันอึมครึมที่มีอนุภาพกดทับตัวตนของเราเอาไว้อย่างไม่น่าเชื่อ

เขาวงกตเมื่อหลงเข้าไปแล้ว อาจจะเดินวนเวียนอยู่ในนั้นหลายรอบจนกว่าจะเจอทางออก แต่เขาวงกตแห่งเพศนี้ เราแค่เข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น สลายบทบาทคำเหล่านี้ที่กำลังตีกรอบเราไว้ เพียงเท่านี้เราก็จะพบทางออกไปสู่โลกใบใหม่ได้ไม่ยาก

‘ห้องน้ำไร้เพศ’ หากกล่าวถึงนิยามของห้องน้ำ คงหนีไม่พ้นเรื่องการปลดทุกข์แต่กำแพงความแตกต่างของห้องน้ำชายและหญิงได้บีบบังคับให้ทุกคนต้องเลือกเพศ แน่นอนว่า นั่นคือการเพิ่มความทุกข์ให้หนักเข้าไปอีกกลุ่มหลากหลายทางเพศจึงเกิดความสับสนคล้ายถูกจำกัดความเป็นตัวตนผ่านห้องน้ำ

โซนนี้ต้องการให้ทุกเพศเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ต้องการให้เพียงแค่กำแพงห้องน้ำที่ไร้ค่ามาแบ่งแยก ‘คุณค่า’ ของเพศด้วยกันเองเราควรจะมีห้องน้ำสำหรับทุกเพศและทุกคนเพื่อการปลดทุกข์ที่เท่าเทียม ซึ่งโซนนี้มีพระชาย วรธัมโม มาบรรยายแง่คิดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องเพศผ่านหน้าจอทีวีอีกด้วย
‘ห้องน้ำไร้เพศ’
‘ห้องน้ำไร้เพศ’

‘บันทึกเพศสยาม’ บอกเล่าเรื่องราวมาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบันชวนให้สะกิดใจกระตุกต่อมความคิดในเรื่องเพศเช่น กฎหมายตราสามดวงในอดีตได้กำหนดไว้ว่ากะเทยไม่สามารถเป็นพยานได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า กะเทยเป็นคนชายขอบ ที่ไม่ได้สิทธิเท่าเทียมเหมือนอย่างคนทั่วไป หรือในปี พ.ศ. 2478 หนังสือพิมพ์ศรีกรุงได้ตีข่าวการขายบริการทางเพศของเด็กชาย ซึ่งมีนายถั่วดำเป็นพ่อค้า แน่นอน คำว่า ‘ถั่วดำ’ จากอดีตครั้งนั้นได้กลายมาเป็นคำล้อเลียนและเหยียดหยามมาจนถึงปัจจุบันนี้

โซนนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศต่างๆ ตั้งแต่อดีตที่บางเรื่องอาจถูกเปิดเผยหรือถูกปิดบังไว้ เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นกับคนในสังคมไทย ทำให้เราได้รับรู้ ศึกษา หรือแม้กระทั่งตระหนักในเรื่องเพศให้มากขึ้น
‘บันทึกเพศสยาม’
‘บันทึกเพศสยาม’

ระหว่างทางเดินจะพบกับภาพวาดหลากหลายสีสันที่ล้วนสะท้อนสิทธิ เสรีภาพ ความรัก หรือแม้กระทั่งคุณค่าของตัวตนผ่านงานศิลปะที่นำมาจัดแสดง ซึ่งภาพแต่ละภาพ หากเราพินิจดูให้ลงลึกเข้าไปข้างใน เราจะพบกับเรื่องราวที่สื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้งโดยไม่ต้องการคำบรรยายใต้ภาพใดๆ เลย


‘ฉากชีวิต’ ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของนิทรรศการนี้ก็ว่าได้ เมื่อข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ จากหลากหลายเพศ หลากหลายคน และหลากหลายช่วงจังหวะของชีวิตได้ถูกนำมาจัดแสดง ณ ที่แห่งนี้ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวผ่านข้อความที่สั้นกะทัดรัดแต่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกก้นบึ้งในหัวใจของเจ้าของผลงานชิ้นนั้นได้เป็นอย่างดีสะท้อนเรื่องราวหลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตในครอบครัว ความทรงจำในวัยเด็ก การปลดปล่อยตัวตน หรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา มีทั้งรอยยิ้มของความสุขและคราบน้ำตาของความทุกข์คละเคล้ากันไป

ในโซน ‘ฉากชีวิต’ ยังมีสิ่งของอีกมากมายนับร้อยชิ้นที่ซุกซ่อนน้ำตาเอาไว้เช่น เรื่องราวของมีดอีโต้กับชุดชั้นใน ที่ครั้งหนึ่งแม่ได้เอามีดอีโต้มาสับชุดชั้นในออกเป็นสองท่อนหลังลูกชายแอบไปซื้อมา เรื่องราวที่ซึ้งกินใจกับการสารภาพว่าตนเองเป็นกะเทยให้แม่ได้รู้ เรื่องราวของการสลัดฮิญาบที่ปลดเปลื้องตัวตนออกจากความเป็นหญิง หรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดที่ตนเองเลือกแล้วสำหรับการใส่อุปกรณ์ป้องกันมดลูกตีบตันหลังผ่าตัดแปลงเพศ





‘ตบแต่งตัวตน’ อุปกรณ์แต่งกายชนิดต่างๆ ให้เราได้ลองสวมใส่ คล้ายกับกำลังบอกเราว่า ถึงแม้ครั้งหนึ่งทั้งชายและหญิงได้ถูกอาภรณ์จำกัดตัวตนเอาไว้ให้เป็นไปตามแบบแผนที่ควรจะเป็น แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะหญิงหรือชายเราก็สามารถก้าวออกจากดินแดนของค่านิยมนี้ไปสู่ดินแดนแห่งอิสระในการเลือกสวมใส่ชิ้นใดตามแต่ใจที่เราจะปรารถนา

‘ตบแต่งตัวตน’
‘ตบแต่งตัวตน’

ก่อนจะก้าวออกจากนิทรรศการจะให้ผู้เข้าชมงานได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านกล่อง ใช่หรือไม่ว่าชายหญิงเป็นเพียงสิ่งสมมุติและเป็นกล่องใบหนึ่งที่ครอบมนุษย์เราเอาไว้เท่านั้น ไม่มีเพศใดผิดหรือถูก มีแต่ตัวตนที่แท้จริงไร้ซึ่งการสวมบทบาทและปรุงแต่งจากสังคม ให้หัวใจนำทางหาใช่เพศกำหนดไม่ กล่องสมมุติใบนี้ก็จะถูกกลบฝังลงดินไว้ตลอดกาล


“แม่จะคอยซื้อลิปสติกแล้วก็เครื่องสำอางให้… เขาระแคะระคาย เพราะคนแถวบ้านบอกว่าเราพาผู้หญิงเข้าบ้าน แม่เลยพูดว่า ฉันเกลียดมากเลยนะ ไอ้ประเภททอมดี้อย่าให้ฉันได้เห็น” ผลงานศิลปะที่แม่ตอกย้ำถึงเรื่องการเกลียดทอมดี้ ถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นผ่านลิปสติกที่ผู้เป็นแม่ซื้อให้ไปสู่ลูกสาว

“ครั้งหนึ่งที่พ่อรู้ว่าผมอ่านนิยายเกย์ พ่อโมโหและเอาไปทิ้ง ครั้งที่สองพ่อฉีกหนังสือผมต่อหน้าต่อตา เล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ถูกทิ้ง ผมฝังใจมากเลยไปตามหาซื้อมาเก็บไว้”

“ฉันชอบเรียนหนังสือและมองตัวเองเป็นนักเรียนมาตลอด ในยุคที่การประกวดและอาชีพนางโชว์เบ่งบาน ฉันไม่เคยสนใจคิดด้วยซ้ำว่าการประกวดไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนคุณค่าที่แท้จริง จนกระทั่งจับพลัดจับผลูได้ไปประกวดมิสควีนเรนโบว์สกาย 2012 และได้ตำแหน่ง นับจากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนไป เพราะนี่คือโอกาสที่ได้เรียนรู้ พาฉันไปสู่โลกใบใหม่ที่กว้างขึ้น และทำให้เห็นว่าตัวเรามีคุณค่า”

‘ตุ๊กตาเพื่อนรัก’ ที่เจ้าของเล่าว่า “ตั้งแต่ยังเด็กอยู่แต่ในกลุ่มเพื่อนที่เป็นผู้หญิง เล่นกับผู้หญิงมาตลอด รู้สึกว่าตนไม่ใช่ผู้ชาย เล่นตุ๊กตาที่เป็นของผู้หญิง”

“เราสามารถที่จะเป็นอะไรตราบใดที่เราพอใจ อัตลักษณ์เราไม่ได้ตายตัวไม่ได้มีกรอบอะไรขนาดนั้น อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกโชคดีเพราะเราไม่ต้องกลัวอะไร ไม่เห็นมีอะไรที่ต้องรู้สึกว่ามันผิดประหลาด”

“ผมเคยใส่กระโปรงเข้าสอบเนื่องจากว่าตามบัตรประชาชนผมเป็นเพศหญิงและได้เปลี่ยนแปลงเพศ โดยการใช้ฮอร์โมนและใช้ชีวิตเป็นผู้ชาย ผมก็เลยทำเรื่องไปที่อธิการบดีแล้วก็สภามหาวิทยาลัยให้ช่วยแก้ไขกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยในการให้นักศึกษาหญิงใส่กระโปรงเข้าห้องสอบ”

“การได้รับรางวัลจากการประกวดมิสเตอร์อัญจารีเมื่อปี 2552 ทำให้เรามีส่วนในการทำความเข้าใจกับสังคมไทยเกี่ยวกับหญิงรักหญิง ทอมดี้ และคนข้ามเพศ”

เรื่อง: แพรพรรณ โพธิ์งาม