เส้นทางภาพยนตร์ LGBT ของไทยอาจไม่ได้สดใสเหมือนชาติอื่นๆ แต่ก็ใช่ว่าจะมืดมนเสียทีเดียว หลายปีมานี้เรามีหนัง LGBT ได้ครองโรงฉายอยู่ไม่น้อย จากมุมมองของผู้กำกับที่นำเสนอความรักในอีกรูปแบบหนึ่งผ่านจอหนัง หนึ่งในนั้นคือผู้กำกับหนุ่ม ที่เคยเล่าเรื่องราวของสองคุณพ่อกับหนึ่งเด็กชายวัยซนบนแผ่นฟิล์มอย่างเรื่อง FATHERS มาวันนี้ ในห้วงเวลาแห่งการเติบโตที่มากขึ้น เราจึงชวนคุณซื้อตั๋ว เพื่อมาชมหนังอีกเรื่องของเขา แต่คราวนี้ไม่ใช่ผลงานผ่านหน้าจอ หากเป็นชีวิตจริงที่ว่าด้วยความรัก และคนของความรัก ของ ‘บูม-พลัฏฐ์พล มิ่งพรพิชิต’
“ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือละครชายหญิง ซีรีส์วาย หรือหนัง LGBT แต่ทั้งหมดทั้งมวลกำลังเล่าเกี่ยวกับความรักของมนุษย์ กำลังเล่าถึงมนุษย์ที่มีจิตใจ ไม่มีอะไรต่างกัน”
อะไรทำให้คุณตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านภาพยนตร์
จริงๆ ผมเป็นคนชอบเล่าเรื่อง และบอกตัวเองตั้งแต่เด็กๆ ว่าอยากเป็นผู้กำกับ แต่ระหว่างทางก็มีเขวบ้าง อยากเป็นสถาปนิก อยากเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ แต่พอผมรู้จักแฟนผม (วอร์ม) ตอนม.6 เขาก็กลายเป็นทั้ง passion และ inspiration เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราชัดเจนกับตัวเอง เขาผลักดัน ให้คำปรึกษา และทำให้ผมเลือกเรียนภาพยนตร์ในที่สุด แต่พอเข้าไปจริงๆ ก็รู้ว่าการเป็นผู้กำกับมันไม่ใช่เรื่องง่าย คือรุ่นผม 200 กว่าคนในคณะ มีคนที่เก่งกว่าผมมากมาย ผมก็ไม่รู้สึกว่าจะไปสู้อะไรเขาได้ แล้วผมไม่ใช่คนชอบสู้กับใคร ไม่ชอบแข่งกับใครนอกจากตัวเอง ผมเลยไปลองทำอย่างอื่น ทั้งแฟชั่น ออแกไนเซอร์ ลองทำอยู่สักพักหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ตอนนั้นแฟนได้งานแล้วแต่เรายังไม่ได้งาน เราก็รู้สึกว่าตัวเองห่วยว่ะ ก็เริ่มอยากทำอะไรให้ดีขึ้น
คุณทิ้งความกลัวแล้วเริ่มทำงานตามฝันตัวเองได้อย่างไร
ช่วงนั้นแฟนชวนผมไปดูหนัง แต่ผมปฏิเสธหมดเลยด้วยข้ออ้างสารพัด เพราะเรารู้สึกว่าการเข้าไปดูหนังคือการเข้าไปดูความฝันของคนอื่น เราเจ็บอยู่ลึกๆ จนคิดว่า ไม่ได้แล้ว เราต้องทำให้คนอื่นซื้อตั๋วเข้าไปดูความฝันของเราบ้าง เราเลยตัดสินใจเอาบทที่เคยเขียนตอนสมัยเรียนมาพัฒนา แล้วก็ส่งอีเมลไปที่บริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง เขาก็สนใจให้เราไปคุย นี่อาจเป็นข้อดีของการเรียนโปรดิวซ์ มันทำให้เรารู้ว่าเราจะนำเสนอลูกค้ายังไง ตอนนั้นเป็นวันศุกร์ พอวันจันทร์เขาก็ตอบกลับมาว่าโอเคค่ะ เดือนหน้าเงินเข้า
“เรารู้สึกว่าการเข้าไปดูหนังคือการเข้าไปดูความฝันของคนอื่น เราเจ็บอยู่ลึกๆ จนคิดว่า ไม่ได้แล้ว เราต้องทำให้คนอื่นซื้อตั๋วเข้าไปดูความฝันของเราบ้าง”
เส้นทางการทำภาพยนตร์เป็นอย่างที่หวังไว้ไหม
จริงๆ ตอนถ่ายไปเงินก็ไม่พอหรอกครับ แต่สักพักก็โชคดีมีธนาคารแห่งหนึ่งเขาติดต่อเข้ามาจะสปอนเซอร์เพิ่ม แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันก็ไม่พอนะครับ สุดท้ายหลังจบภาพยนตร์เรื่องแรก (ประโยคสัญญารัก, 2013) ผมเป็นหนี้อยู่ประมาณเกือบสองล้าน ต่อจากนั้นก็ไปทำงานที่เวิร์กพอยต์ ทำอยู่ประมาณปีกว่า แล้วก็รับงานเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเองจนใช้หนี้เกือบหมด เหลืออยู่ไม่กี่แสน มาหมดจริงๆ ก่อนเรื่อง FATHERS นิดหนึ่ง
ดูเหมือนการทำหนังครั้งแรกโหดร้ายมาก ทำไมถึงยังทำเรื่อง FATHERS (2016) เป็นเรื่องที่สองอีก
มีคนเตือนผมหลายคนว่าอย่าหาเรื่องเลย ทำงานประจำก็มั่นคงอยู่แล้วนะ แต่ตอนทำหนังเรื่องแรก ผมรู้สึกว่ามันเหมือนการขี่จักรยานน่ะครับ ถ้าขี่จักรยานครั้งแรกล้มแล้วเลิกขี่ มันก็จะไม่ได้อะไรเลยนอกจากเจ็บตัวฟรี แต่ถ้าเราได้เรียนรู้ว่าล้มเพราะอะไร แล้วลองทำมันอีกครั้ง นำประสบการณ์ที่เราเคยเจ็บตัวมาใช้ให้มันดีขึ้น ผมว่ามันน่าจะดีกว่า ไม่งั้นเราก็จะได้รู้แค่ว่าความเจ็บเป็นยังไงแค่นั้นเอง
“ผมตั้งใจทำหนัง LGBT เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจกับสังคมว่าหนังเกย์ไม่ใช่หนังโป๊… แต่จริงๆ มันก็คือความรักเหมือนชายหญิงทั่วไป มีสุข เศร้า เหงา รัก”
ทำไมถึงหยิบเรื่อง LGBT มาเล่าผ่านหนัง
มันเป็นเรื่องใกล้ตัวมั้งครับ แล้วผมก็อยากนำเสนอให้คนรู้สึกว่าความรักของ LGBT ก็ไม่ต่างกับความรักของชายหญิงทั่วไป ทุกคนต้องมี coming of age ต้องเอนทรานซ์ ต้องเข้ามหา’ลัย คือเส้นชีวิตทุกคนเหมือนกันหมด และอีกส่วนที่ผมตั้งใจทำหนัง LGBT เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจกับสังคมว่าหนังเกย์ไม่ใช่หนังโป๊ ณ ช่วงหนึ่งมันมีความเข้าใจผิด อาจจะด้วยซีรีส์หรือภาพยนตร์บางเรื่องได้เล่าเรื่องออกมาในการเน้นเซ็กซ์ รูปร่าง หรือจุดขายที่เขามองว่าเป็นการตลาดของเขา มันเลยทำให้คนเข้าใจว่า หนังเกย์เท่ากับหนังโป๊ แต่จริงๆ มันก็คือความรักเหมือนชายหญิงทั่วไป มีสุข เศร้า เหงา รัก ชายหญิงมียังไง LGBT ก็เป็นอย่างนั้น
ตอนทำเรื่อง FATHERS หวังว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรไหม
ผมเป็นแค่เม็ดทรายเม็ดหนึ่งที่ไม่สามารถไปเปลี่ยนมุมมองของทุกคนในสังคมได้ แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นกระบอกเสียงที่ทำให้เขาเข้าใจว่า ความรักของ LGBT มันเป็นเรื่องปกติน่ะครับ แล้วจริงๆ FATHERS คือหนังครอบครัวด้วยซ้ำ หนังว่าด้วยคู่รักคู่หนึ่งที่พยายามจะสร้างครอบครัวแค่นั้นเอง
ประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากการทำภาพยนตร์เรื่อง FATHERS คืออะไร
ตอนทำเรื่องนี้ผมไม่ได้คิดหวังว่าจะรวยอะไรเลย แล้วก็ตั้งใจส่งไปฉายเมืองนอกเพื่อเปิดหูเปิดตาตัวเอง ซึ่งประสบการณ์ที่ได้ก็คือการไปเทศกาลภาพยนตร์ การได้ไปเจอคนต่างชาติ หรือคนที่มีมุมมองต่อ LGBT ในหลายๆ แบบ เราจะเห็นว่า ในหลายๆ ประเทศเขาไม่ได้เรียกร้องให้ LGBT มีสิทธิ์เท่าเทียมชายหญิงเท่านั้น แต่มันหมายถึงความเท่าเทียมของทุกเพศ ผมได้ไปไต้หวัน ก็ได้รู้จักผู้ชายคนหนึ่งที่มีลูกสาว แต่เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันงาน LGBT ด้วยความที่ไต้หวันมีวัฒนธรรมจีนเยอะ ผู้หญิงก็ได้รับการยอมรับน้อยกว่าผู้ชาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาทำในวันนี้ เขาหวังว่าวันหนึ่งที่ลูกสาวโตขึ้น ลูกสาวเขาจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ได้รับการยอมรับเทียบเท่ากับเขาเขาหวังแค่นี้เอง เขาเลยออกมาเรียกร้องเพื่อ LGBT เพราะหวังว่าทุกเพศจะเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
“บางอย่างอาจเป็นมรดกตกทอดได้ อย่างเงินหรือกิจการ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นมรดกตกทอดให้กันไม่ได้คือความดีและความสามารถ”
คุณคิดว่าแนวคิดสำคัญที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมคืออะไร
อย่างแรกคือต้องมองทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ มนุษย์แต่ละคนแตกต่างกันแค่ในด้านบุคลิก รูปลักษณ์และอุปนิสัยการแสดงออกเท่านั้น เมื่อเรามองทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ ก็จะไม่ตัดสินใครจากเพียงภายนอก เคารพชื่นชมกันในเรื่องผลงานความสามารถของกันและกัน
คิดเห็นอย่างไรกับการที่ LGBT ถูกนำมาล้อเลียนหรือเป็นตัวตลกอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้
สำหรับผมผมก็ไม่ค่อยชอบหรอกครับที่ LGBT ถูกมองเป็นตัวตลก หรือมีการเอาพฤติกรรมของเพศสัมพันธ์มาเป็นคำในการกลั่นแกล้งคน LGBT แต่เราคงไม่สามารถไปเปลี่ยนใจหรือความคิดคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้อย่างเดียวคือปรับมุมมองและทัศนคติของเราให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข คือแก้ไขคนอื่นไม่ได้ก็แก้ไขที่ตัวเราเองครับ
ตัวคุณเองเคยโดนโจมตีในความเป็น LGBT ไหม
ผมโชคดีที่คนรอบตัวผมรับได้ พ่อแม่ ครอบครัวตัวเอง ครอบครัวแฟน เพื่อนที่ทำงาน ทุกคนคือต้นทุนทางสังคมที่ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องเงิน สำหรับผม ผมว่าต้นทุนทางสังคมที่ดีที่สุดของผมคือคนรอบข้าง มันก็เลยไม่เป็นภาระที่ต้องทำให้เราเครียด แฟนผมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ทำให้ครอบครัวผมเข้าใจ สามารถเข้ากับน้องสาวเราได้ ช่วยดูแลที่บ้านได้ ผมว่าเราทั้งคู่ช่วยกันทำให้ครอบครัวของเราทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน
“ผมโชคดีที่คนรอบตัวผมรับได้… ต้นทุนทางสังคมที่ดีที่สุดของผมคือคนรอบข้าง มันก็เลยไม่เป็นภาระที่ต้องทำให้เราเครียด”
หนังหรือละครชายหญิงกับ LGBT มีจุดเหมือนหรือจุดต่างกันอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือละครชายหญิง ซีรีส์วาย หรือหนัง LGBT แต่ทั้งหมดทั้งมวลกำลังเล่าเกี่ยวกับความรักของมนุษย์ กำลังเล่าถึงมนุษย์ที่มีจิตใจ ไม่มีอะไรต่างกัน ผมเชื่อว่าทุกเรื่องก็มีเรื่องจิตใจของมนุษย์เป็นที่ตั้งอยู่แล้ว และมีเรื่องความสัมพันธ์เป็นตัวเชื่อมโยง ไม่ว่าจะแฟนตาซี ไซไฟแค่ไหน ดังนั้นเรากำลังเล่าเรื่องของมนุษย์ที่มีจิตใจครับ ถ้าจะต่างก็ต่างแค่รสนิยมและการแสดงออกเท่านั้นเอง
แสดงว่าสำหรับคุณแล้วความรักเป็นสิ่งที่สำคัญมาก?
สำหรับผม ผมอยู่ได้เพราะความรัก ผมอยู่ได้เพราะแฟน เพราะครอบครัว ผมมีแรงทำงาน มีแรงที่จะพยายามทำสิ่งใดๆ ก็เพราะแฟนผม เขาเป็นพลังของเรา ผมเชื่อว่าทุกคนมีพลังของตัวเอง อย่างบางคนพอมีลูก ลูกคือพลังในการทำงาน บางคนแม่ป่วยหนัก เขาก็ยอมทำงานหนัก แม่เป็นแรงผลักดันของเขาดังนั้นไม่ว่าจะในฐานะพ่อ แม่ หรือลูก ความรักมันทำให้คนคนหนึ่งมี passion ในการทำงานหรือใช้ชีวิตนะครับ
นี่ถือเป็นสูตรที่ทำให้คุณคบกับแฟนมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมจนถึงตอนนี้หรือเปล่า
จริงๆ แล้วความรักของผมไม่มีสูตรสำเร็จ เช่นเดียวกับสิ่งที่ผมเล่าในภาพยนตร์เรื่อง FATHERS คือสุดท้ายแล้วการเลี้ยงลูกก็ไม่มีสูตรสำเร็จ ทั้งสองอย่างมันต้องอาศัยความเข้าใจ การปรับตัวซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่รักประเภทไหนก็ตาม ความรักเริ่มต้นจากคนสองคน ผู้ชายกับผู้หญิง ผู้ชายกับผู้ชาย หรือผู้หญิงกับผู้หญิง แต่เมื่อไรก็ตามที่เรากำลังจะสร้างครอบครัว มันก็ไม่ใช่เรื่องของคนสองคนอีกต่อไปแล้ว จะบอกว่าเรารักกันชั่วนิรันดร์ ครอบครัว เพื่อนจะเป็นยังไงไม่สนใจ มันไม่ใช่ มันมีคนที่สามสี่ห้า จักรวาลไม่ได้มีแค่ความรักของเรา เราต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจและประคับประคองกันไป
“ความรักเริ่มต้นจากคนสองคน… แต่เมื่อไรก็ตามที่เรากำลังจะสร้างครอบครัว มันก็ไม่ใช่เรื่องของคนสองคนอีกต่อไปแล้ว… จักรวาลไม่ได้มีแค่ความรักของเรา เราต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจและประคับประคองกันไป”
เชื่อเรื่องรักนิรันดร์ไหม
ผมตอบไม่ได้หรอกว่า ความรักความสัมพันธ์ใดมันจะนิรันดร์ เพราะก็ยังไม่เคยเห็นคำว่า ‘นิรันดร์’ ไม่ว่าจะความทรงจำดีๆหรือความทรงจำร้ายๆ สุดท้ายก็อยู่ภายใต้สังขารของสมอง ดีหรือร้ายแค่ไหน แก่ไปสมองก็หลงๆลืมๆ ใจเที่ยง แต่กาลเวลาไม่เที่ยง ก็ทำอะไรไม่ได้ สำหรับผมไม่ว่าความรักในสถานะไหนก็ตามความรักเป็นสิ่งที่คนสองคนต้องเรียนรู้กันและกันไปตลอดชีวิตจนกว่าจะจากกันวันหนึ่งมันจะมาถึง ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตายซึ่งนั่นมันก็ทำให้ผมยิ่งกลัวการสูญเสีย ผมจินตนาการชีวิตที่ไม่มีวอร์มไม่ออกเลย แต่รู้เลยว่าเป็นชีวิตที่ยากมากแน่ๆ สำหรับผม คิดไปก็นอยด์ แค่ทุกวันนี้ดีและสุขใจ…ก็โอเคแล้วครับ
ถ้าเปรียบเทียบความรักของตัวเองเป็นหนังสักเรื่อง คิดว่าจะเป็นเรื่องอะไร
จริงๆ เวลาโดนถามเรื่องนี้ ผมก็เขินนะที่จะตอบ เพราะคำตอบของผมมันก็คงตรงกับใครหลายๆ คน มันคือเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ ครับ ด้วยหนังที่พูดเรื่องครอบครัว ทัศนคติ การแสดงออกแบบนี้มันมีไม่เยอะ ถามว่าทำไมมันใกล้เคียง เพราะมันเป็นบริบทของสังคมไทย และ ‘โต้ง’ ในเรื่อง บริบท จุดขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาของพ่อกับแม่ พี่กับน้องค่อนข้างคล้ายกับบริบทครอบครัวของผม ครอบครัวผมก็มีจุดขัดแย้งอะไรบางอย่างที่ทำให้ทัศนคติไม่ตรงกันและต้องเลือก เช่นเดียวกันกับ ‘มิว’ ที่มีอาม่าเล่นเปียโน แฟนผมก็โตมากับอากงอาม่าเหมือนกัน อากงจากไปก่อน แล้วอาม่าก็จากไปตามรอยต่อของช่วงเวลาเหล่านั้นคือผมเจอวอร์มที่เรียนพิเศษ มีความทรงจำที่สยามฯ ร่วมกันแต่ผมก็เขินแล้วก็เกรงใจผู้สร้างเวลาบอกว่ามันคล้ายเรานะครับ (หัวเราะ)
โดยรวมแล้วตอนนี้มีความสุขกับชีวิตแค่ไหน
ก็ค่อนข้างมีความสุขนะ เดือนที่แล้วอยู่ๆ ผมก็รู้สึกว่า ทำไมชีวิตไม่มีความทุกข์เลยวะ ขับรถฟังเพลงเศร้าก็ไม่รู้สึกอะไร แต่มันก็ปกติแหละ เป็นความรู้สึกของคน สมมุติถ้าเราเศร้าอกหัก เปิดเพลงอะไรมาเราก็ร้องไห้เสียใจทั้งนั้น แต่ถ้าชีวิตเราแฮปปี้ดี ต่อให้เปิดเพลงยังไงก็ไม่รู้สึกอะไร ตอนนี้ลูกน้องดี เจ้านายดี ที่บ้านดี แฟนดี ก็โอเคแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีมันก็ทำให้เราทำอะไรได้สบายใจสบายกายจริงๆ ครับ