โดย เบญจกาย

โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วจนใครหลายคนตามไม่ทัน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้นนะคะ แต่เรื่องการจำแนกความแตกต่างของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) ที่เมื่อก่อนมีแค่ 4 ตัว แต่ปัจจุบันมีทั้ง L (เลสเบี้ยน) G (เกย์) B (ไบเซ็กชวล) T (ทรานส์เจนเดอร์) T-Transexual (ทรานส์เซ็กชวล) Q (เคียร์) I-Intersect (อินเตอร์เซ็กต์) P-Pansexual (แพนเซ็กชวล) และอีกมากมาย งงมั้ยคะคุณขา สรุปแล้วเบญจกาย หญิงร่า… ไร้นม อารมณ์เกิน(คน)ปกติ จะนิยามให้ตัวเองอยู่กลุ่มไหนดี

ครั้นพอฝรั่งพยายามจัดประเภทมนุษย์ให้ยิบย่อยขนาดนี้ แวดวงวิชาการเราตามทันหรือไม่? (อย่าถามคนทั่วไปเลยค่ะ ไม่ทันแน่นอน) เปรมปรีดา ปราโมช ณ อยุธยา นักวิชาการสาว ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นทรานส์เจนเดอร์ และทำวิจัยในหัวข้อทรานส์เจนเดอร์และไบเซ็กชวลมาอย่างต่อเนื่อง ตอบคำถามนี้ได้ดีค่ะ ปัจจุบัน นอกจากงานวิจัยที่ทำให้กับหลายหน่วยงานแล้ว เธอยังเป็นอุปนายกของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย อีกหนึ่งตำแหน่งด้วย



Q : ทำไมถึงสนใจหัวข้อ T (ทรานส์เจนเดอร์) กับ B (ไบเซ็กชวล) เป็นพิเศษคะ หรือเกิดจากที่ตัวเรานิยามตัวเองว่าเป็นทรานส์เจนเดอร์ หรือไม่?

A : ใช่ค่ะ มันมีหลายสิ่งรีเลตกับตัวเรา เริ่มจากเราก็ใส่ชุดนักศึกษาหญิงตั้งแต่เราเข้าไปเรียนด้านสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ มช. ค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องของการแต่งเนื้อแต่งตัวเข้าห้องเรียน ทีนี้สิ่งที่จุดประกายเราเลยเริ่มมาจากเพื่อนสนิทเราคนหนึ่ง จากคณะวิจิตรศิลป์ นางค่อนข้างเปรี้ยวค่ะ แต่งตัวเก๋ กลางวันเรียนหนังสือ กลางคืนเป็นนางโชว์ เพื่อหารายได้พิเศษเป็นค่าขนม ซึ่งสมัยก่อนพื้นที่ในการโชว์เนี่ยมีไม่กี่พื้นที่ คือต้องเข้าไปในบาร์เกย์เพื่อที่จะโชว์ คาบาเรต์สลับกับผู้ชายที่มาโชว์ตัวให้ลูกค้ามอง จริงๆ เพื่อนเราชวนเราไปดูหลายรอบนะ แต่ช่วงแรกๆ เขิน ไม่กล้าไป แต่พอเราตามไปดู เราดูด้วยแว่นตาของนักสังคมศาสตร์ เราก็เลยรู้สึกว่า อุ๊ย ข้อมูลตรงนี้มันเข้าถึงยาก มันน่าทำวิจัย ตอนที่เรียนจะจบปี 4 ซึ่งทำ independent study เป็นตัวจบ ก็เลยสนใจหัวข้อนี้มาก ยิ่งพอไปรีวิว literature หรือว่าทบทวนวรรณกรรม เราเห็นว่าหลายๆ งานวิจัยที่ทำเรื่องนางโชว์คาบาเรต์ แต่ใช้คำว่าเกย์ ซึ่งเรามองว่าอุ๊ย มันไม่ใช่ มันไม่ถูก ไม่ตรงกับข้อมูลที่เราไปพบด้วยตัวเอง ไม่ตรงกับความเป็นจริงเลย เราก็รู้สึกว่า อุ๊ย เราจะต้องทำวิจัยเรื่องนี้แล้วล่ะ

หลังจากนั้นเรารู้สึกว่า อุ๊ย เราอยากเรียนต่อปริญญาโท พอทำตัวจบปี 4 เสร็จ ปุ๊บ ก็วางแผนว่า ต้องเรียนปริญญาโทต่อเลยเพราะอยากทำวิจัยเรื่องกะเทยต่อ ก็เลือกเรียนทางด้านการพัฒนาสังคม ที่ มช. เน้นในเรื่องของมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ซึ่งก็ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของคนข้ามเพศต่อเลย เขาก็เป็นนักแสดงในโรงโชว์คาบาเรต์ ต้องไปเก็บข้อมูลที่พัทยา พอจบก็มาเรียนปริญญาโทใบที่สองด้านมานุษยวิทยาการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ พอจบแล้วก็ออกมาทำงานทางด้านการป้องกันการรับเชื้อเอชไอวี แล้วก็เคยร่วมงานกับสถานทูตอเมริกัน ทำเกี่ยวกับงานในคลินิกในการป้องกันการรับเชื้อเอชไอวี เรื่องยา PreP ก็คือการป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ ก่อนไปทำงานที่ยูเนสโกในตำแหน่งเกี่ยวกับเรื่อง HIV prevention ค่ะ

Q : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อนุญาตให้แต่งหญิงได้ แสดงว่าอาจารย์ที่นั่นหัวก้าวหน้ามากนะคะ น่าชื่นชม

A : ใช่ค่ะ แต่ก็มีเรื่องที่ย้อนแย้งในตัวนะ โดยเฉพาะกับสังคมภายนอกที่ไม่ได้พัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย สมัยเข้ามาปีหนึ่ง เราก็มีรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นทรานส์เจนเดอร์ยุคแรกๆ ที่ได้เรียนต่อปริญญาโท ชีเป็นคนที่สวยมาก เป็นนางโชว์เป็นตัวท็อปของ มช. เลยค่ะ เพราะว่า มช. เรามี Rosepaper ที่เป็นกลุ่มในประวัติศาสตร์ของกะเทยเชียงใหม่ เราเนี่ยเป็นรุ่นสุดท้ายของ Rosepaper รุ่นพี่ท่านนี้เป็นเหมือนไอดอลของน้องๆ สวยด้วย แต่ชีเรียนคณะศึกษาศาสตร์ไงคะ พอถึงวันหนึ่งที่ต้องไปฝึกสอน ด้วยระบบมันทำให้แกจะต้องแต่งตัวเป็นผู้ชายไปฝึกสอน พวกเราก็เริ่มรู้สึกสะเทือนใจมากนะ คือคนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ที่เราใช้เป็นกลุ่มอ้างอิง เป็นรุ่นพี่เรา เขาเป็นไอดอล กว่าจะพัฒนาตัวเองให้ดูสมจริงสมจัง ซึ่งสมัยนั้นเทคโนโลยีไม่ได้พร้อมขนาดนี้ พอพัฒนาตัวเองได้ดีแล้ว การศึกษาก็ดีด้วยเนี่ย แต่กลายเป็นว่าวันหนึ่งระบบมันทำให้เขาต้องแต่งตัวเป็นผู้ชายไปฝึกสอน ทุกคนตกใจ ถ้าเป็นเราเราคงไม่มีความมั่นใจแน่นอน




Q : ก็แค่แต่งชาย ทำไมต้องซีเรียส

A : มันไม่ใช่แค่นั้นสิคะ การทำกระใดๆ ที่มันต่างจากที่เคยทำในชีวิตประจำวันมันคือสิ่งไม่ปกตินะ ปกติเขาแต่งหญิง แต่พอต้องไปฝึกสอน เขาต้องแต่งตัวเป็นผู้ชาย ทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทุกคนตกใจกับเรื่องนี้มาก หลังจากนั้นพอแกเรียนจบแกต้องหางานทำ ยิ่งแย่ไปกว่าเดิมอีก แกต้องไปผ่าตัดหน้าอกออก นึกออกไหมคะ โอ้โฮ อันนี้ทุกคนช็อกมากกว่าเดิมอีกค่ะ กว่าเราจะฝ่าฟันพัฒนาตัวเองมาถึงขั้นนี้ได้ มันไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่อยู่กับวิถีชีวิตแบบนี้มันไม่ตลกในแง่ที่ว่า เวลาที่คุณใช้ยา ฮอร์โมน หรือว่ายาคุมกำเนิด ก็ต้องทนกับอะไรหลายๆ อย่าง แล้วพี่เขาก็เป็นคนแรกๆ ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ไปทำหน้าอก ทรานส์เจนเดอร์ทุกคนจะมองเขาว่าเป็นไอดอล เรื่องเรียนก็ดี เรื่องพัฒนาตัวเองก็ดี แต่กลายเป็นว่าการพัฒนาตัวเองของคุณมันกลายเป็นศูนย์ไปในทันที

Q : จากประสบการณ์ที่เราเห็นรุ่นพี่เรา ไอดอลของเราเจอปัญหา ตัวเราเองกับเพื่อนๆ ตอนนั้นเรา come out หรือยัง แล้วครอบครัวเรามีปฏิกิริยาอะไรกับเราบ้าง

A : โดยส่วนตัวเนี่ยจะพยายามสะกิดให้คนทั่วไปเข้าใจวิธีการปรับตัว หรือว่าวิธีการพัฒนาตัวเองของทรานส์เจนเดอร์ในเอเชียจะต่างจากตะวันตก คอนเซ็ปต์ come out เราว่ามันก็เป็นคอนเซ็ปต์หนึ่งของตะวันตก เพราะว่าสังคมตะวันตก เวลาที่เขาจะบอกให้คนรอบข้างรู้ว่าเขามีความเป็นเพศอะไร เขาจะใช้วิธีการเรียกครอบครัวมาพูด หรือหาวิธีการบอก ด้วยนำคู่มาให้พ่อแม่เห็นหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ว่าความเป็นทรานส์เจนเดอร์ในสังคมไทยมัน becoming เหมือนการพัฒนาความเป็นผู้หญิง วิธีการหรือกระบวนการเดียวกับที่ผู้หญิงพัฒนาความเป็นผู้หญิงเหมือนกัน เพราะว่าคนรอบข้างจะเริ่มเห็นเขามาเรื่อยๆ ว่าเขาใช้ความเป็นผู้หญิงอย่างไรบ้าง เด็กที่เป็นตุ๊ด เด็กที่เป็นกะเทยในสังคมไทย คนรอบข้างจะรู้ว่าอย่างน้อยที่สุดเนี่ย เขาจะต้องต่างจากเด็กผู้ชายทั่วไปแล้วล่ะ การเล่นการรวมกลุ่ม เพราะฉะนั้นเรามองว่า มันเป็น becoming ซึ่งที่บ้านก็จะเห็นมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าหนูชอบเล่นอะไร เช่นเขาจะไม่เคยเห็นเราไปเตะฟุตบอลกลางสนามหญ้าแน่นอน แต่เขาจะเห็นว่าเราชอบสะสมตุ๊กตา เช่นตุ๊กตาบาร์บี้ ซึ่งอันนี้แหละคือสิ่งที่คนรอบข้างน่าจะซึมซับความเป็นตัวเราไปทีละน้อย จนไม่ต้องถาม


Q : ตอนนั้นพอเราช็อกกับรุ่นพี่ เพื่อนๆ ในกลุ่มทรานส์เจนเดอร์มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง

A :
คือจริงๆ หลายๆ คนเนี่ยปรับตัวด้วยการก็คล้อยตามความคาดหวังของสังคม เพราะว่าโอกาสหรือช่องทางในการต่อสู้ที่เราจะทำตัวเองให้ต่าง มันยังน้อยมากนะคะ ช่องทางที่ยูจะไปสู้โดยใช้วิธีการอื่นที่ไม่ได้กลับมาแต่งชายเพื่อหางานทำมันยากมาก แล้วเรื่องนี้มันกลายเป็น word of mouth ที่บอกกันรุ่นต่อรุ่น สุดท้ายยูก็ต้องกลับมาแต่งตัวเป็นผู้ชายเพื่อที่จะหางานทำ เพราะยูต้องทำงาน ยูต้องตอบแทนครอบครัว ยูต้องอะไรต่างๆ อันนี้แหละมันก็เลยกลายเป็นว่า หลายๆ คนต้องทำตามนั้น แต่ตัวเราเองรู้สึก อุ๊ย เรายังไม่พร้อม เราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด คือมันไม่ใช่สิ่งผิดสิ่งบาปในการที่เราจะยืนยันความเป็นตัวเรา ช่องทางหนึ่งที่เราจะสู้ได้ก็คือ การเรียนต่อปริญญาโท แล้วบังเอิญว่าถือว่าโชคดีหรือว่าได้การสนับสนุนจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ต้องการที่จะไปเรียนด้วย ในช่วงของการสอบสัมภาษณ์เพื่อที่จะให้ได้เรียนปริญญาโท ต้องใช้คำว่าอาจารย์เขาเมตตาเรานะ แล้วเราพูดตั้งแต่ตอนสอบสัมภาษณ์เลยว่า เราอยากทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องกะเทย ก็กลายเป็นว่าเราได้โอกาสนั้นในการเข้าไปเรียนค่ะ

Q : ในยุคนั้นซึ่งสังคมไทยยังไม่ได้เปิดกว้างเหมือนตอนนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับ LGBT ก็ยังไม่กว้างขวาง เราศึกษาข้อมูลอย่างไร หรือว่าเน้นอ้างอิงกับเอกสารของต่างประเทศเป็นหลัก

A :
จริงๆ แล้วมีงานศึกษาในประเทศไทยอยู่บ้าง แต่งานศึกษาหลายชิ้นจะเป็น straight เป็นนักวิจัยชายหรือนักวิจัยหญิงที่มาสนใจการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของประเด็นต่างๆ ทางเพศ ตัวตนกะเทยถูกศึกษาเยอะนะ แต่ว่าเวลาเขาเขียน เขาจะเขียนว่า นักแสดงชายที่เป็นเกย์ในโรงโชว์คาบาเรต์ ซึ่งเรารู้สึกว่า มันไม่ใช่ แต่ว่างานศึกษาที่เรียกว่าคนในลุกขึ้นมาศึกษาเอง ก็คือคนที่เป็น LGBT ลุกขึ้นมาศึกษาเรื่องของความหลากหลายทางเพศ เราคิดว่ามันน้อยมาก แล้วก็กลายเป็นว่าเราก็ต้องศึกษาจาก textbook หรือว่างานวิจัยจากต่างประเทศค่อนข้างเยอะ เราต้องอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเพื่อที่จะดูว่า Case Study ต่างๆ เขาก็พูดเรื่องอะไรบ้าง สถานการณ์เป็นอย่างไร แล้วก็มาดูซิว่าบ้านเรามันเป็นอย่างไร ก็มีการศึกษาเปรียบเทียบโดยที่เรานี่แหละที่เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ลงมาทำการศึกษาเรื่อง LGBT แบบคนในลุกขึ้นมาศึกษาเอง ไม่ได้มองจากสายตาคนนอก




Q : จากหมวด Transgender มาสู่ Bisexual ที่เคยทำรีเสิร์ชที่มหิดล ทำไมมันถึงสวิตช์มาตัวนี้ได้ จาก T มาเป็น B

A : ต้องขออนุญาตเอ่ยชื่ออาจารย์ซูเปอร์ไวเซอร์ ท่านอาจารย์ยศ สันตสมบัติ ที่ดูแลการทำวิทยานิพนธ์เรา ท่านมีคำถามๆ หนึ่งถามเราตอนช่วงทำวิจัยว่า ใครคือคู่ของทรานส์เจนเดอร์? ซึ่งคำถามที่ได้จากอาจารย์ยศ สันตสมบัติ นี่แหละที่จุดประกายเรา perception ของเราตอนที่เป็นนักเรียน สมัยที่เรายังไม่ทรานส์ฟอร์มบอดี้ มากนัก คือร่างกายเรายังมีความเป็นเพศเดิมอยู่ แล้วใครนะจะมาเป็นคู่ของทรานส์เจนเดอร์ ณ ยุคนั้นทรานส์เจนเดอร์ 90-95% ก็ไม่ได้ทรานส์ฟอร์มบอดี้ด้วยนะคะ ก็เลยเกิดคำถามในใจว่า เออ จะตอบอย่างไรดี เพราะว่าเราลงพื้นที่ก็แล้ว อะไรก็แล้วเนี่ย เราก็ยังไม่ค่อยจะเห็นทรานส์เจนเดอร์มีคู่ด้วย ในแง่ของคู่ประจำหรือคู่ชีวิตน่ะ เราก็เลยตอบคำถามนี้ไม่ได้ 

มันเป็นคำถามที่ค้างอยู่ในใจว่า เออ ทำไมนะ เรายังไม่รู้เลยว่าใครเป็นคู่ของทรานส์เจนเดอร์ แต่นั่งคิดไปคิดมา คนที่จะรับความเป็นผู้หญิงด้วยบุคลิกกิริยามารยาทของทรานส์เจนเดอร์ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องรับร่างกายที่ยังเป็นเพศเดิมของทรานส์เจนเดอร์ได้เนี่ย เขาคือใคร เขาอาจจะเป็นไบเซ็กชวลหรือเปล่า จนกระทั่งมาเรียนปริญญาโทใบที่สอง ได้มีเวลาศึกษาทบทวนแนวคิดทฤษฎีอะไรเพิ่มขึ้น แล้วก็มีเวลาได้ทำเทอมเปเปอร์ แล้วมีอยู่เปเปอร์หนึ่งซึ่งเราแบบใช้วิธีการแบบเสิร์ชข้อมูลออนไลน์ ตอนนั้นเทรนด์ในการวิจัยออนไลน์เริ่มเข้ามา เราก็เลยไปตั้งกระทู้เอาไว้ที่ Sanook.com เพื่อที่จะพิสูจน์คำถามนี้แหละที่มันยังค้างในใจเราว่า ใครคือคู่ของทรานส์เจนเดอร์ สมมติฐานก็คือว่า เป็นไบเซ็กชวลหรือเปล่า เราก็เลยไปแชทโดยที่ตั้งชื่อว่า ‘ตามหาเสือไบ’ ลองถามเขาดูว่า ทำไมเป็นไบเซ็กชวล คนก็จะเห็นชื่อห้องแชทของเรา แล้วมันก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาสนใจเรื่องไบเซ็กชวล เมื่อประมาณปี 2007 ค่ะ

Q :  แล้วพอเรารีเสิร์ชแล้วเนี่ย ไบเซ็กชวลรับเพศสภาพของคนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ซึ่งยังไม่ได้แปลงเพศจริงๆ ได้หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วคนที่จะมาเป็นคู่ของทรานส์เจนเดอร์คือผู้ชายแท้

A : ใช่ อันนี้ก็เป็นคำถามที่ค้างในใจอยู่ว่า คู่ของทรานส์เจนเดอร์คือไบเซ็กชวลหรือว่าคือผู้ชายแท้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วตอบไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะมันก็ขึ้นอยู่กับความพอใจส่วนตัวของแต่ละบุคคลจริงๆ แต่มันก็มีบางแง่มุมของคนที่เป็นไบเซ็กชวลเขาเปิดพื้นที่ให้กับการเป็นคู่ของทรานส์ได้ด้วย เพราะว่าข้อค้นพบของเราก็คือมีปัจจัย (factors) อื่นๆ ในการที่เขามีความพอใจแบบที่เรียกว่า โพลีเซ็กชวล (Polysexual) คือพอใจมากกว่าหนึ่งเพศ แฟกเตอร์หนึ่งที่เห็นเลยก็คือเรื่องของเรื่องของไฟแนนเชียลซัพพอร์ต ซึ่งอันนี้กลายเป็นว่า ณ เวลานั้นที่เราเรียนรีเสิร์ช และทำการพูดคุยออนไลน์ ทำให้เราเห็นว่า “ในท่ามกลางกระแสทุนนิยม มีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่เขามองว่าการมีปฏิสัมพันธ์หรือการคบหากับคนมากกว่าหนึ่งเพศเป็นโอกาสในชีวิตของเขา รวมถึงโอกาสในการมีไฟแนนเชียลซัพพอร์ต ก็คือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งเรื่องการเงินด้วย ในการดำเนินชีวิต” 



Q : ดิฉันเคยอ่านงานวิจัยของนักวิชาการฝรั่งท่านหนึ่ง เขาพูดประโยคว่า จริงๆ แล้ว Bisexual ก็คือเกย์ที่ยังไม่ยอมรับตัวเอง เห็นด้วยหรือไม่

A :
มันก็จะมีข้อโต้แย้งหลายๆ อย่างนะ มันจะมีหลายมูฟเมนต์ ที่สังคมอเมริกัน เขาจะมีแคมเปญออกมาเลยว่า เขาเป็นไบเซ็กชวลนี่หมายความว่าเขาไม่ได้สับสนนะ แล้วก็มันไม่ใช่แค่เฟสใดเฟสหนึ่งของชีวิตเขา แต่ว่าเขาเลือกที่จะเป็นแบบนี้ เพราะเขาชอบได้มากกว่าหนึ่งเพศ เขาจะโต้แย้งกับวาทกรรมหรือว่าความเชื่อของคนในสังคมที่มองว่า อุ๊ย เดี๋ยวช่วงหนึ่งพอยูพร้อมยูก็ไปเป็นเกย์ ไปเป็นเลสเบี้ยน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วหลายคนก็บอกว่า ฉันก็จะชอบมากกว่าหนึ่งเพศไปตลอดชั่วชีวิตของฉันนั่นแหละ อะไรอย่างนี้

Q : แล้วมันต่างจาก Pansexual อย่างไร เพราะมีบางคาแร็กเตอร์ที่ทับซ้อนกับความเป็นไบเซ็กชวล

A :
เราพยายามทำความเข้าใจอยู่เหมือนกันนะคะ แล้วก็มีข้อสังเกตว่า เรากำลังพูดจากรากศัพท์ที่มาจากยุคสมัยไหนด้วย สมัยก่อนที่พูดถึงเรื่อง LGBT คือคนที่ไม่ระบุนิยามอัตลักษณ์ให้ชัดเจน ณ ยุคหนึ่ง ก็สามารถที่จะบอกว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวลได้ เพราะว่าเขาไม่ใช่เกย์ ไม่ใช่เลสเบี้ยน แล้วเขาก็ไม่ใช่ทรานส์ด้วย เพียงแต่ว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่มี sexual orientation ก็คือความโน้มเอียงทางเพศที่ชอบมากกว่าหนึ่งเพศ ซึ่งสิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างเลสเบี้ยน เกย์ แล้วก็ไบเซ็กชวลเนี่ย ต่างจากเพื่อนกลุ่มอื่นในแง่ที่ว่า เขาไม่ได้มีตัวตนที่เห็นเด่นชัด ซึ่งเกย์มีตัวตนในแง่ของการแต่งเนื้อแต่งตัว หรือว่าการรวมกลุ่ม ไลฟ์สไตล์ พื้นที่ในการไปรวมกลุ่ม แต่ว่าไบเซ็กชวลเนี่ยไม่มี เดินออกมาแทบไม่มีใครรู้ว่า อุ๊ย คนนี้แหละไบเซ็กชวล เพราะฉะนั้นเนี่ยไบเซ็กชวลเนี่ยต่างจากกลุ่มอื่นในแง่ที่ว่าไบเซ็กชวลคือ sexual orientation เป็นความโน้มเอียงความพอใจทางเพศที่ชอบมากกว่าหนึ่งเพศ ส่วนคำว่า Pansexual และอีกหลากหลายคำ มันเพิ่งเกิดขึ้นมาในยุคโพสต์โมเดิร์นนี่เองค่ะ พอมาถึงยุคนี้ซึ่งเป็นยุคที่ให้ความสำคัญกับ self-identification มากขึ้น คนก็เริ่มสรรหาถ้อยคำ ภาษาต่างๆ มานิยามหรือจัดประเภทตัวเองมากขึ้น




Q : ถ้าเอา context ในสังคมไทย การบอกตัวเองว่าเป็นเกย์ มันจะมีความเนกาทีฟอยู่นิดหนึ่ง แต่ถ้าเราบอกว่า เฮ้ย ฉันเป็นไบนะ ฉันได้ทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชาย มันจะทำให้เขารู้สึกว่า คนคนนี้ดูพิเศษกว่าเกย์

A :
ใช่ค่ะ มันแล้วแต่ background ของวัฒนธรรมด้วย เรามองว่าในสังคมที่เป็น patriarchy หรือชายเป็นใหญ่ ในสังคมที่ยังให้คุณค่ากับความเป็นผู้ชายมากกว่า พอเราพูดว่าตัวเองใช้ femininity มันเหมือนแบบถูกลดทอนคุณค่าลงไปเยอะมาก แล้วก็มีราคาที่ต้องจ่ายเยอะแยะมากมายในการที่เราจะแบบไปอิงกับ femininity แต่เมื่อใดก็ตามที่เราแบบว่าไปอิงกับ masculinity มันจะง่ายขึ้นมากขึ้น ฉะนั้น บางคนที่เป็นไบเซ็กชวล ยกตัวอย่างเช่น คือเขาไม่ใช่ผู้ชายแบบเมนสตรีมทั่วไป พอยูต่างไปจากความเป็นผู้ชายกระแสหลักปุ๊บ ราคาที่คุณต้องจ่ายเยอะขึ้น แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณบอกว่า คุณเนี่ยก็ยังดำรงคุณค่าบางอย่างที่ผู้ชายทั่วไปก็ทำ ยังมีเมียได้ มีลูกได้ ผลิตซ้ำสมาชิกให้กับสังคมได้ เหมือนอย่างกับที่ผู้ชายทุกคนทำ แต่มีสิ่งที่ extra ขึ้นมาก็คือว่าคุณไม่ได้ชอบแค่ผู้หญิง คู่ที่เป็นผู้ชายคุณก็มีได้ด้วย ซึ่งนั่นน่ะผู้ชายทั่วไปทำไม่ได้ อันนี้มันจะมี value ขึ้นมาทันที หรือแม้แต่ในกลุ่มเกย์เอง ต่อให้คุณเป็น effeminate male หรือว่าออกสาว ซึ่งปกติเนี่ยราคาต่ำลง แต่ถ้าคนที่ออกสาวพอบอกว่ามีเมียได้ด้วยนะ คบผู้หญิงด้วยนะ มีผู้หญิงคอยตามเขานะ ขอเขาเป็นแฟนนะ ราคามันขึ้นมาทันที มันก็เลยกลายเป็นว่าต้องประเมินราคาจากเรื่องของการใช้ masculinity femininity อยู่ตลอดเวลาค่ะ