โดย เบญจกาย

ชีวิตมนุษย์มักมี ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญในชีวิตเสมอค่ะ ทั้งเรื่องการงานและชีวิตส่วนตัว ส่วนเมื่อเผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนนั้นแล้วจะข้ามมันอย่างราบรื่นหรือขรุขระ ก็สุดแล้วแต่ ‘สติ’ ที่จะใช้ประคับประคองตัวเองให้ก้าวข้ามอุปสรรคนั้นๆ จนสำเร็จ สามปีก่อน เบญได้รู้จับกับหนุ่มน้อยช่างภาพชาวไทยที่ไปร่ำเรียนและทำงานที่นิวยอร์ก จนเริ่มมีผลงานด้านแฟชั่นกับเซเลบริตี้นิวยอร์ก จนเป็นที่รู้จักในหมู่คนทำงานสายนิตยสารในมหานครเก๋ๆ แห่งนี้ แต่ครานี้มาเจอกันอีกครั้ง ‘นัท-นัทเทีย สุนิศทรามาศ’ บอกสั้นๆ ว่า “นัทพร้อมที่จะ transition ตัวเองแล้วค่ะ เลยถือโอกาสกลับมาเมืองไทยเพื่อจัดการธุระให้เรียบร้อย”

ดิฉันยืนตบมือรัวๆ ให้สาวน้อยนาม ‘นัทเทีย’ อีกรอบในทันทีที่ทราบการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับนั่งคุยถึงที่มาที่ไปและอัพเดตหน้าที่การงานของเธอซะหน่อย หลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานาน ดิฉันสนับสนุนให้คนไทยประสบความสำเร็จค่ะ ยิ่งไปอยู่เมืองนอกเมืองนาแล้วทำให้ฝรั่งยอมรับ LGBT คนไทยได้นี่เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ที่มันน่าสนใจมากกว่านั้นคือการเป็นช่างภาพสาวสอง ไม่ใช่ง่ายนะคะ ยิ่งอยู่ในเมืองที่ต้องปากกัดตีนถีบด้วย บวกกับความเป็นสาวสองอีก ชีวิตเธอน่าสนใจค่ะ

Q : นัททำงานอยู่ที่นิวยอร์กมากี่ปีแล้วคะ
A : ทำงานอยู่ที่นิวยอร์กได้ 8 ปี แต่อยู่อเมริกาทั้งหมดประมาณ 10 ปีแล้วค่ะ

Q : ตอนนั้นตั้งใจไปเรียนหรือไปทำงานที่นั่น
A : เริ่มต้นเลยก็คือหลังจากที่เรียนจบคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เอกภาพยนตร์และภาพนิ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วมีโอกาสได้ฝึกงานกับนิตยสารอิมเมจ ได้มีโอกาสร่วมงานกับพี่ๆ รุ่นใหญ่ๆ ที่ถ่ายแฟชั่นกัน เราก็ชอบมาก มันเป็นอะไรที่ใช่ เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกา ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้ทำงานที่อเมริกาค่ะ คือพอจบปริญญาโท Master of Art in Photography จากมหาวิทยาลัย The Savannah College of Art and Design และ Master of Art in Photography, Video and Related Media ที่ Parsons The New School for Design แล้วมาเป็นช่างภาพที่นิวยอร์ก จนถึงวันนี้ค่ะ

Q : ตอนเรียนจบแล้วเริ่มต้นการเป็นช่างภาพที่นิวยอร์กอย่างไร เท่าที่ทราบคือนิตยสารในยุโรปและอเมริกานิยมจ้างช่างภาพฟรีแลนซ์มากกว่าประจำ เราไปไฟลต์กับเจ้าถิ่นอย่างไร
A : เริ่มต้นเลย เราถ่ายของเราเอง คือที่นิวยอร์กเขาจะมีระบบเรียกว่า test shoot เราเซ็ตทีมกับทีมงานเมกอัพอาร์ทิสต์ แฮร์สไตลิสต์ สไตลิสต์ พอได้งานก็เอาไป submission กับนิตยสารต่างๆ ทีมเราก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนจะมี career growth ของตัวเอง และเป็นการฝึกฝีมือให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ นะคะ จะเรียกได้ว่าเกือบจะทุกคนจะได้งานจากแมกกาซีนใหญ่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ประมาณนั้นค่ะ แต่กระบวนการทำงานมันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างตัวนัทเทียค่อนข้างโชคดี เพราะว่าอยู่ในช่วงอุตสาหกรรมที่ผลัดเปลี่ยนจากออฟไลน์เป็นออนไลน์พอดี ฉะนั้นขั้นตอนการทำงานเกือบทุกขั้นตอนจะอยู่ในอินเตอร์เน็ตเกือบหมด ส่งงานผ่านอินเตอร์เน็ต ติดต่อผ่านอินเตอร์เน็ต การทำงานก็เลยง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้สามารถทำงานกันข้ามโลกได้ค่ะ ช่างภาพในนิวยอร์กสามารถมีงานตีพิมพ์ในนิตยสารต่างประเทศได้ไม่ยาก

Q : เวลาดีลกับท็อปโมเดลยากไหมคะโดยเฉพาะพวกที่มีงานเดินแบบของแบรนด์ดังบ่อยๆ
A : ตัวนายแบบนางแบบปกติไม่เรื่องมากนะคะ โปรเฟสชั่นนอลตัวจริงเขาจะรู้ว่ามาเพื่อทำงานอะไรบ้างอยู่แล้วมาถึงปุ๊บเขาจะรู้หมดเลยว่าคอลไทม์กี่โมง แต่งหน้าทำผมใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วมาถึงก็ถ่ายๆๆ พวกนี้เขาผ่านประสบการณ์เยอะเพราะฉะนั้นเขาจะรู้ว่าเวลาเท่านี้ๆ เขาจะใช้ประโยชน์ให้เกิดสูงสุดได้อย่างไร ในแง่การทำงานถือว่าไม่ยากค่ะ แต่เราก็ต้องตรงต่อเวลาด้วย จะเอ้อระเหยลอยชายแบบไทยๆ ไม่ได้ อย่างตัวนัทเทียเคยทำงานกับ River Viiperiและ Daisuke ก็เป็นนายแบบชื่อดังทั้งคู่ และมีวินัยในการทำงานสูงมาก

Q : ระบบการทำงานของแมกกาซีนฝรั่งต่างจากไทยอย่างไร
A : ระบบการทำงานของเมืองนอกจะไม่ซับซ้อนนะคะ บ.ก. หรือ editor จะเป็นคนคิดธีม และมีคำสั่งมาว่าอยากจะได้เนื้อเรื่องประเภทนี้ รูปภาพประมาณนี้ แล้วก็ให้ทีมแฟชั่นไปแตกโจทย์มา หรือเราจะเป็นคน purpose ไปก็ได้ว่ามีไอเดียแบบนี้แบบนั้น ปัจจุบันเทรนด์นี้กำลังมา ทาเลนต์คนนี้กำลังมา แล้วเราก็มาแต่งโจทย์ก่อน แล้วค่อยเสนอเป็น proposal ไปทาง บ.ก. นิตยสาร ถ้าเขาสนใจเขาจะเลือกเรา และเราก็จะมีโอกาสได้งานถ่ายมากขึ้นค่ะ


Q : ความเป็นเอเชียมีผลกับการที่เราต้องแข่งขันกับฝรั่งชาติอื่นๆ มั้ยคะ
A : การแข่งขันแน่นอนยากอยู่แล้ว นิวยอร์กเป็นเมืองที่ทุกคนมาทุกคนไป มาแข่งกันจากทั่วโลก ฉะนั้นมันยากแน่นอน ยากกว่าที่อื่นๆ เพราะที่อื่นๆ เราแข่งเฉพาะช่างภาพที่เป็นโลคอลเท่านั้น แต่นิวยอร์กเราต้องแข่งกับช่างภาพทั่วโลก ช่างภาพจากยุโรปก็มา ช่างภาพจากอเมริกาด้วยกันเองอีก หรือช่างภาพจากเอเชีย หรือตอนนี้มาแรงมากคือจีน สำหรับการเป็นเอเชียหรือการเป็นคนไทยไม่ค่อยมีผลนะคะ อันนี้ต้องพูดในฐานะที่เราอยู่นิวยอร์กก็แล้วกัน เพราะว่าเป็นเมืองที่มีทุกชนชาติ ฉะนั้นเขาเจอคนหลากหลายประเภทอยู่แล้ว ถ้างานเราดีพอ คุณภาพเราดีพอ เรามีโอกาสแน่นอนค่ะ

Q : เคยร่วมงานกับช่างภาพบิ๊กเนมบ้างมั้ย อาทิ Steven Klein, Bruce Weber, Terry Richardson, Jengen Teller ฯลฯ
A : ยังไม่เคยร่วมงานกับช่างภาพระดับนั้นนะคะ แต่ว่ามีโอกาสร่วมงานโปรเจ็กต์ด้วยกัน แต่ไม่ได้เจอตัวจริง พอดีว่าเราเคยมีโอกาสถ่าย Top influencer ของอเมริกาชื่อ Lilly Singh ที่มียอดฟอลโลเวอร์ทั้งหมด 14 ล้าน ใน YouTube นะคะ เป็น Top Female YouTuber ผลงานก็ไปอยู่เทียบเคียบกับช่างภาพระดับท็อปเหมือนกัน แต่ว่าเราไม่ได้ร่วมงานด้วยกันโดยตรงค่ะ

Q : ทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว พอใจในจุดที่เรายืนหรือยังครับ
A : ยังค่อนข้างไม่พอ

Q : แล้วจริงๆ เรามีเป้าหมายอะไรในชีวิต
A : ส่วนตัว ตอนที่เด็กกว่านี้ อยากจะกลับมาถ่ายแฟชั่นให้นิตยสารไทย แต่ด้วยความที่เราไปอยู่อเมริกา แล้วเราก็มีโอกาสได้ทำกับนิตยสารต่างประเทศค่อนข้างเยอะ เราก็อยากจะก้าวไปถึงจุดใหม่ๆ ของชีวิต ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นัทเทียมีโอกาสไปทำงานกับเซเลบริตี้ของอเมริกามากขึ้น ก็รู้สึกว่ามันไปในจุดหนึ่งที่เรายังไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นช่วงที่จะกลับไปในปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป จะมุ่งไปทางเซเลบริตี้ที่ฮอลลีวูดค่ะ

Q : คือจะข้ามฝั่งไปทำงานฝั่งเวสต์โคสต์แทน
A : ใช่ค่ะ จะข้ามไปทำที่แอลเอ


Q : ที่ผ่านมาร่วมงานกับใครแล้วประทับใจมากที่สุดคะ
A : ถ้าที่ประทับใจมากเนี่ย ถ้าเป็นเซเลบริตี้ น่าจะเป็น Alex Wolff เขาเป็นดารารุ่นเด็กนะคะ แต่กำลังมาค่ะ เขาเคยเล่นหนังเรื่อง Patriots Day กับ Matt Damon และแสดงเรื่อง Jumanji ภาคล่าสุดกับเดอะร็อก และเล่นหนังสยองขวัญเรื่อง Hereditary ด้วยค่ะ เป็นคนที่ทำงานง่าย เป็นกันเองมาก ด้วยความที่เขายังเด็กด้วยแหละ เราก็เลยค่อนข้างมีความสุขกับการทำงานกับเขา ไม่ได้เรื่องเยอะ มาตรงเวลา ให้ทำอะไรก็ทำ ถ่ายกันเหมือนเล่นมากกว่า เราก็ได้ทดลองงานใหม่ๆ ด้วย ส่วนนายแบบนางแบบที่ทำมาแล้วมีความสุข คิดว่าน่าจะเป็น River Viiperiลูกครึ่งสแปนิช กิ๊กเก่าปารีส ฮิลตัน คนนี้ค่อนข้างเป็นกันเอง เขายังเด็ก แล้วก็ถอดเสื้อเก่ง รู้จักขายของ (หัวเราะ)

Q : ความเป็น LGBT ของเรากับการทำอาชีพตรงนี้ ทำให้เรามีจุดแข็งอะไรบ้าง
A : หลักๆ ก็คือเราเข้ากับทุกคนได้ง่าย ไม่มีอคติ มีหัวใจที่เปิดกว้าง แล้วก็ทำงานอย่างสร้างสรรค์

Q : ตอนที่เจอกับนัทใหม่ๆ ตอนนั้นยังดูบอยๆ อยู่เลยใช่ไหมคะ
A : ใช่ค่ะ พอดีเพิ่งกลับมา แล้วก็ทำเรื่องทำการ transition ได้ประมาณ 2 ปี ตอนก่อนหน้าค่อนข้างจะเป็นผู้ชายอยู่ (ยิ้ม)

Q : แล้วทางครอบครัวว่าอย่างไรบ้างคะ
A : ครอบครัวรับได้นะคะ คือจริงๆ ทางบ้านเขาค่อนข้างรับรู้มานานแล้ว แล้วเราก็อยากให้เขายอมรับเรามานานแล้วล่ะ โดยรวมๆ ก็เกือบ 10 ปีนะ มันเคยมีเหตุการณ์ในอดีตที่เรากระทำความผิดลงไปขั้นเข้าโรงพยาบาล เพราะช่วงนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ยังรับไม่ได้ และทุกคนก็ไม่อยากการกล่าวถึงอีก มันก็เหมือนเป็นปมหนึ่งของเราในการทำงาน ซึ่งปมอันนี้มันก็เป็นข้อดีของเราจุดหนึ่งที่ทำให้เราอยากต้องต่อสู้เพื่อให้เขายอมรับเราในสิ่งที่เราเป็น เราก็เลยสู้ในการเป็นช่างภาพที่นิวยอร์ก เราต้องประสบความสำเร็จให้ได้ เมื่อเราถึงจุดนี้ เราก็เลยตัดสินใจว่า เอ๊ะ มันถึงเวลาของเราแล้วแหละ ที่เราต้องเดินด้วยตัวเราเอง ก็เลยตัดสินใจขอไปคุยกับคุณพ่อคุณแม่ เขาก็รับได้ เราก็ยินดี

Q : ในเมืองนอกมีช่างภาพที่เป็นทรานส์เจนเดอร์เยอะไหม หรือว่าส่วนใหญ่เป็นเกย์
A : เท่าที่รู้ยังไม่มีนะคะ จะมีก็เป็นสองพี่น้อง Wachowski ที่ทำเรื่อง The Matrix แต่คนนั้นเป็นผู้กำกับ ช่างภาพภาพนิ่งโดยตรงที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ยังไม่เคยเจอนะคะ จะมีเหมือนกัน แต่จะออกไปทางแนวไฟน์อาร์ต แต่ไม่ใช่คอมเมอร์เชียลที่เป็นแฟชั่นเท่าไร

Q : ถ้าเป็นในสังคมไทย ช่างภาพที่เป็นเกย์มักจะโดนเมาท์ว่าต้องกินนายแบบสนั่นแน่เลย ที่เมืองนอกเขามีเมาท์กันอย่างนี้บ้างไหม
A : ก็มีนะคะ มีเพื่อนๆ ที่เป็นช่างภาพผู้ชายที่เป็นเกย์นะคะ เขาก็มี ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเมาท์หรือเปล่า แต่เราก็ได้ยินข่าวทำนองนี้บ้าง แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องปกติค่ะ บางที affection ในกองถ่ายหรือในการทำงานมันก็มี แล้วช่างภาพเดี๋ยวนี้ก็ดูแลตัวเองใช่ไหม คนที่เป็นนายแบบเอง เราต้องรู้ว่าเขาเป็นอะไร แล้วเขาก็อาจจะแบบสนใจอะไรบางอย่าง ณ จุดนั้น มันก็มีอะไรเกิดขึ้นได้ ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าไม่กระทำการล่วงเกิน ถ้ายอมรับได้ทั้งสองฝ่าย ก็เป็นเรื่องปกติค่ะ

Q : เราเป็นช่างภาพ เคยมีช่างภาพในดวงใจไหมว่า เราชอบงานคนนี้มากเลย เป็นไอคอนของเราเลย
A : มีค่ะ เมื่อก่อนนัทเคยดูรายการสุริวิภา เป็นเทปที่สัมภาษณ์พี่ณัฐ ประกอบสันติสุข เขาก็โชว์ภาพ ซึ่งเป็นช่างภาพที่เขาชื่นชอบอีกทีหนึ่งนะคะ ชื่อว่า Sarah Moon ตอนนั้นเรายังเด็ก 10 กว่าปี เราก็จำไม่ได้หรอกว่าเขาคือใคร แต่พอเราไปเห็นภาพเขาอีกที ถึงกับร้อง เอ๊ะ! ภาพของคุณซาราห์ มูนนี่มันตราตรึงใจจริงๆ เลยเป็นหนึ่งในช่างภาพที่เราชอบมาก ถ้าปัจจุบัน ด้วยความที่เราอยากจะไปทำทางด้านเซเลบริตี้กับบุคคลสำคัญก็เลยค่อนข้างชื่นชอบภาพของ Mark Seligerกับ Annie Leibovitz เสียส่วนใหญ่ช่วงนี้

Q : Annie Leibovitz นี่เป็นครูเลยนะ
A : ใช่ค่ะ เป็นครูของช่างภาพอีกทอดหนึ่ง

Q : อยู่นิวยอร์กไลฟ์สไตล์ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง ช่างภาพไปแฮงก์เอาต์อะไรอย่างไร
A : แรกๆ ตอนที่เรายังใหม่ๆ อยู่ เราก็คิดว่า เอ๊ะ เราต้องเข้าวงการ ต้องมี networking ต้องรู้จักคนเยอะๆ มีไปปาร์ตี้คอมบ้าง ปาร์ตี้คอม หมายถึงไปปาร์ตี้กลางคืนกับกลุ่มนี้ ผ่านไป 2 ชั่วโมง เราก็วิ่งไปอีกบาร์หนึ่ง เพราะฉะนั้นนี่คือเมาทั้งคืนนะคะ แต่ว่าพอถึงจุดหนึ่งที่เราทำงานแล้วเรารู้ว่าการจะได้งานต้องทำอย่างไร connection คืออะไร หลักๆ เลยไม่ค่อยได้ไปเท่าไหร่ แต่ว่าคุยงานกับทีมที่ดีลงานด้วยกันให้รู้เรื่องมากกว่า

Q : อยู่ในนิวยอร์กมาตั้งนาน อยากให้เล่าถึงความหลากหลายทางเพศในนิวยอร์กว่าปัจจุบันนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง แลกเปลี่ยนให้คนไทยได้ฟัง เผื่อว่าคนกรุงเทพฯ อาจจะยังไม่เคยเห็นซีนในนิวยอร์กว่า LGBT ที่นั่นเป็นอย่างไร เพราะว่าที่นี่ก็จะมีคาแร็กเตอร์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันต่างกันค่อนข้างเยอะ
A : ความหลากหลายทางเพศของนิวยอร์ก มันมีหลากหลายมากกว่าคำว่าทางเพศนะคะ ถ้าเอาจริงๆ มันมีคนทุกประเภท ทุกหมู่ ทุกชนชั้น ทุกความคิด เวลาเดินบนถนน เราก็จะเห็นคนที่หลากหลาย การแต่งตัว expression การแสดงออกที่แตกต่างจากเรา เขาอาจจะใส่ชุดสีรุ้งเรนโบว์ หรือใส่ชุดเขียวทั้งตัว ซึ่งหรือมีนกบนหัว หรือบางคนก็จูงสัตว์อะไรสักอย่าง ที่เคยเห็นนกยูงก็มีนะคะ เขาถือสิ่งนี้เป็นเหมือนกับเพื่อนคู่ใจเขา เหมือนเราเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว เพราะฉะนั้นความแตกต่างมันทำให้นิวยอร์กมีเสน่ห์ ในขณะที่เมืองไทยเราเดินไปไหน เราจะเห็นคนที่ไม่แตกต่างกันนัก อาจจะด้วยความที่เราเป็นชาติคนหัวดำกลุ่มเดียว ความแตกต่างมันมีจริง แต่ว่าเราอาจจะมองเห็นได้ยากกว่า

Q : แสดงว่านิวยอร์กนี่เปิดและรับรองสิทธิการแสดงออก
A : โดยรวมๆ โอเพ่นนะคะ แล้วเขาก็มีกฎหมายรองรับป้องกันสิทธิ เช่น Discrimination laws คือห้ามลิดรอนสิทธิของผู้อื่น เบสออนเชื้อชาติ สีผิว หรือการแสดงออก อีกอย่างนิวยอร์กเป็นเมืองที่เจริญแล้ว คนไม่ค่อยแคร์กันเท่าไร นานๆ เราจะมีข่าวเสียทีว่ามีการทำร้ายร่างกายเพราะการแสดงออกทางด้าน gender expression หรือคำพูด หรือเชื้อชาติสีผิวนะคะ แต่รวมๆ ไม่ค่อยมี ที่เราจะเห็นเรื่องการทำร้ายร่างกายหนักๆ จะเป็นรัฐอื่นๆ มากกว่า ซึ่งส่วนมากจะเป็นโซนกลางๆ ของประเทศอเมริกา ที่เขาเรียกว่าเป็น White dominance ก็คือกลุ่มชนคนขาวเสียส่วนใหญ่ ทำให้เขาไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอกับคนที่แตกต่างจากตัวเขาเอง เขาก็เลยค่อนข้างแอนตี้

Q : คิดจะขอซิติเซนที่นั่นหรือเปล่าคะ
A : ยังไม่ได้ขอค่ะ แต่คิดว่าจะแต่งงานค่ะ (หัวเราะ)

Q : อยากให้พูดถึงกฎหมายแต่งงานนิดหนึ่ง ตอนนี้ไทยกำลังพุชเรื่องนี้อยู่ แล้วอนาคตยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรนะ คิดว่าประเทศไทยควรจะมีกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันไหม
A : กฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน ในมุมมองของนัทเทีย อันนี้ส่วนตัวนะคะ คิดว่าถ้ามีจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก่อนที่จะมี มันก็มีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า เช่น เรื่อง HIV เรื่อง discrimination laws เพราะว่ากฎหมายการแต่งงานโดยปกติมันเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง แต่ว่ากฎหมายพื้นฐานที่เป็นเรื่องของการแสดงออกต่างๆ หรือเรื่องสุขภาพ มันเป็นของทุกชนชั้น เลยอยากจะให้พุชทางด้านนั้นมากกว่า นี่คือส่วนตัวนะคะ

Q : เมืองไทยเรากำลังจะมีเลือกตั้งปีหน้า คิดว่าสิ่งที่นักการเมืองควรจะทำให้ LGBT ในเมืองไทยมีอะไรบ้าง
A : ในมุมมองของนัทเทีย จากการที่ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกามา มองว่าอยากจะให้นักการเมืองหรือกลุ่มคนที่มีพาวเวอร์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม หันมาสนใจกับเรื่องการปรับภาพลักษณ์ของ LGBT มากกว่า จำได้เลย ตอนสมัยยังเป็นผู้ชายอยู่ ตอนนั้นเราก็ยังงงๆ กับชีวิต คือเรารู้แหละว่าเราเป็นเกย์ เราชอบผู้ชาย แล้วเราจำได้ว่าเคยไปเดินพาเหรดครั้งแรกที่อเมริกาในงาน gay pride แล้วตอนนั้นไม่เข้าใจคำว่า gay pride คืออะไร จนไปเห็นการเฉลิมฉลองจริงๆ ของเขาที่อเมริกาว่า มันคือความภาคภูมิใจจริงๆ ถึงแม้เขาจะใส่จีสตริงตัวเดียวแล้วเดินเต้นระบำอยู่กลางถนน แต่ว่าเขามีความภาคภูมิใจ อันนี้รู้สึกว่าเมืองไทยยังขาดในจุดนี้ อาจจะมีจริง แต่ว่ามันยังอยู่ในกรุงเทพฯ หรือบางจังหวัดนะคะ

Q : อันนี้พี่ตอบได้ค่ะ ที่กรุงเทพฯ หรือเมืองไทยมันไม่มีงาน pride ใหญ่โตอย่างนั้น เพราะ gay community ในไทย มันไม่เข้มแข็งเหมือนยุโรปและอเมริกา คือยุโรปและอเมริกา เขาจะมีการรวมกลุ่มกันที่เหนียวแน่น แล้วเวลาที่เขามีประเด็นที่จะพุชเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่ง เขาจะมีความ unity ในการที่จะออกไปพร้อมกัน แต่ในเมืองไทยมันยังมีวัฒนธรรมเรื่องคำว่า หมั่นไส้กัน มันก็เลยกลายเป็น…
A : ค่ะ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย หวังว่าอีกไม่นานน่าจะ unity กันมากขึ้น

Q : อยู่ที่นั่นได้เข้าไปจอย gay community กับเขาหรือเปล่าคะ
A : เข้านะคะ ก่อนจะกลับมาเมืองไทย ค่อนข้าง involve กับ HIV Positive Group นะคะ แล้วอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ transgender community ค่ะ ตอนนั้นยังไม่ได้ transition เราก็เข้าไปนั่งฟัง เข้าไปเข้าใจความคิดของเขา ซึ่งเราค่อนข้างรู้แหละว่าเราอยากเป็นผู้หญิง ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ก็มีโอกาสได้เข้าไปนั่งฟังเขา ซึ่งตรงนี้ก็เหมือนกัน ที่เมืองไทยไม่มีนะคะ ในการที่พี่มาพูดให้น้องฟังเกี่ยวกับเรื่องการแปลงเพศ หรือ struggle ในการแปลงเพศ หรือการใช้ชีวิตอะไรก็ตามแต่ เมืองไทยเราไม่เห็นมี ส่วนใหญ่ในบ้านเราจะเป็นแบบ informal คือเรารู้จักใครเขามาเล่าให้ฟังกันส่วนตัว แต่มันไม่มีกลุ่มที่เป็น unity รวมกันเพื่อพุชagenda ขึ้นมา

ติดตามผลงานของนัทเทียได้ที่
Web : www.nuttia.com
Instagram : nuttia_s
faceboook : https://www.facebook.com/Nuttiayakshare