“แต่เดิมนั้น มนุษย์มิได้มีธรรมชาติเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งมิได้แบ่งเป็นสองเพศอย่างทุกวันนี้ ทว่าพวกเขามีสามเพศ คือ ชาย-ชาย หญิง-หญิง และชาย-หญิง ที่เกิดจากการรวมกันระหว่างเพศทั้งสอง…”

นั่นคือเรื่องเล่าจากปากคำของ ‘อริสโตฟาเนส’ ตัวละครจากงานเขียนอันลือลั่นของนักปรัชญาชาวกรีกผู้โด่งดังนาม ‘เพลโต’ — Symposium คือชื่อของงานเขียนชิ้นนั้น มันเป็นปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก ไต่ระดับมาตั้งแต่การอ้างถึงความรักซึ่งมาในรูปแบบของเทพเจ้า จนไปถึงเรื่องราวสุดแสนโรแมนติกของแนวคิด ‘เพศภาวะ’ (gender) ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคสมัยที่การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มบุคคล ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ (หรือที่รู้จักกันในนาม LGBT ซึ่งเป็นตัวอักษรย่อของเลสเบี้ยน, เกย์, ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ) ยังไม่เข้มข้นเท่าทุกวันนี้

เรื่องโรแมนติกของอริสโตฟาเนสเกิดขึ้นด้วยเหตุที่ว่า เพราะมนุษย์เหล่านี้มีพลังมากเกินไป และมักรังควานปวงเทพอยู่เสมอ เทพซีอุส (ราชาแห่งทวยเทพทั้งมวลตามตำนานกรีก) จึงหาทางกำราบพลังของพวกเขาลง ด้วยการจับมนุษย์มาผ่าแยกออกจากกันเป็นสองส่วน

“หลังจากมนุษย์ถูกตัดแบ่งร่างกายออกเป็นสอง (ชาย-หญิง) แต่ละส่วนยังคงโหยหาอีกซีกที่หายไปของตน เมื่อมาประสบพบกัน ต่างพุ่งเข้ากอดรัดและกระหวัดซึ่งกันและกันไว้ ประหนึ่งว่าจะหลอมรวมเข้าด้วยกันอีกครั้ง ทั้งสองปิ่มว่าจะขาดใจด้วยความปรารถนาและโหยหา ด้วยไม่ต้องการจะแยกจากกันอีก”

นี่คืออุปมาซึ่งแสดงให้เห็นภาพชัดที่สุดของความรักในปัจจุบัน ยุคสมัยที่กรงขังนามร่างกายของมนุษย์กำลังถูกฉีกออกด้วยหัวใจหาใช่ฝ่ามือ มนุษย์ผู้มีความรักเปี่ยมล้นกำลังโบยบินไปในโลกกว้างเพื่อตามหาอีกซีกหนึ่งของตัวเองที่ขาดหาย โดยไม่สนใจข้อแม้และบรรทัดฐานของสังคมอันล้าสมัยซึ่งครอบเอาไว้ด้วยกฎข้อห้ามเคร่งครัดของแนวคิดสองเพศ (ชาย-หญิง) เพียงเท่านั้น คำสาปของซีอุสกำลังสิ้นสุด โลกกำลังเปลี่ยนไป มันไม่ได้เป็นสีขาวและสีดำ ไม่ได้มีเพียงเพศหญิงและชายอย่างเดิมอีกแล้ว โลกมีความหลากหลาย และมีสีสันมากมายราวสายรุ้ง มายาคติอันน่ารังเกียจ มรดกตกทอดเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ภายใต้วลีที่ว่า ‘หญิงเป็นควายชายเป็นคน’ จะโดนกลบฝังลงไปลึกสุดหยั่งอยู่ในหลุมที่มีชื่อว่า ‘เสรีภาพ’

เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหน จะเป็นชาย เป็นหญิง ชายผู้มีหัวใจเป็นหญิง หรือหญิงผู้มีหัวใจเป็นชาย เราทุกคนก็ล้วนมีศักดิ์ศรีของความเป็น ‘มนุษย์’ เท่าเทียมกัน
John Money : God Father of Transgender / PHOTO: Intersexionfilm.com

History of Homosexuality
ประวัติศาสตร์ฉบับย่นย่อของรักร่วมเพศ

ปี 1979 โลกต้องอึ้งเมื่อ BBC พยายามทำสารคดีเจาะลึกไปยังการทดลองของนายแพทย์คนหนึ่ง…
ดร. จอห์น มันนี นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน พยายามพิสูจน์สมมุติฐานของเขา ผ่านฝาแฝดเพศชายสองคนที่มีอายุเพียงไม่กี่เดือน แฝดคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุจนอวัยวะเพศพิการ พ่อแม่ของเขากลัวว่ามันจะกลายเป็นปมด้อยเมื่อเขาเติบโตขึ้น มันนีจึงเสนอทางเลือกด้วยการผ่าตัดอัณฑะทั้งสองข้างของแฝดคนที่ประสบอุบัติเหตุทิ้งไปเพื่อกำจัดแหล่งสร้างฮอร์โมนเพศชาย ‘บรูซ’ คือชื่อของเด็กชายคนนั้น เขาจะไม่เปลี่ยนเป็นหนุ่มเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ได้รับการเลี้ยงดูเหมือนผู้หญิง เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘แบรนดา’ ต้องรับฮอร์โมนเพศหญิงอีกหลายปีนับจากนี้
และดูเหมือนว่าแบรนดาจะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้หญิงจริงๆ
มันนีสรุปว่า ‘คนเราเหมือนผ้าขาว การจะเป็นชายหรือหญิงนั้นอยู่ที่การเลี้ยงดู’
หลายปีต่อมามันนีก็ต้องพบว่าเขาคิดผิด! –สุดท้าย แบรนดาตัดสินใจเลือกดำเนินชีวิตเป็นเพศชายอีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เดวิด’ และแต่งงานกับหญิงคนหนึ่ง เขารับการผ่าตัดอีกครั้งโดยครั้งนี้เขาเลือกเอง ด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายเทียมขึ้นมา
แต่ในที่สุด เขาก็ฆ่าตัวตาย
แม่ของเขายกความผิดทั้งหมดไปที่มันนี ที่ทำให้ชีวิตลูกชายของเธอไม่มีความสุข
คำถามก็คือ หากบรูซ, แบรนดา หรือเดวิด มีจิตใจที่จะเป็นหญิงมาตั้งแต่ต้น โศกนาฏกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่?

‘เด็กชาย’ ‘เด็กหญิง’ ‘นาย’ ‘นาง’ ‘นางสาว

ใช่หรือไม่ว่าเราล้วนโดนแปะป้ายคำนำหน้าเหล่านี้มาตั้งแต่เกิด นี่คือแนวคิดหนึ่งซึ่งฝังรากลึกในวิถีชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนาน มันเริ่มต้นมาจากการที่ใครบางคนเริ่มจัดหมวดหมู่สิ่งของต่างๆ โดยกำหนดขึ้นมาตามลักษณะการใช้งาน หรือลักษณะทางกายภาพ — แน่นอน แนวคิดเช่นนี้มีคุณูปการใหญ่หลวง มันทำให้เราจดจำเรื่องราวต่างๆ แบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกจากกันได้ง่ายมากขึ้น

แต่สำหรับมนุษย์ผู้เชื่อว่าตัวเองมีเจตจำนงเสรี (free will) มีอิสรเสรีในการเลือกที่จะเป็นอะไรก็ได้ มันดูเหมือนจะง่ายเกินไปที่จะจำกัดพื้นที่ของหัวใจเอาไว้ในกรงขังแห่งร่างกายด้วยเพศชายและหญิงเพียงเท่านั้น มนุษย์มีความหลากหลาย และมีอิสระที่จะรัก ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเลือกรักเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันในนาม ‘รักร่วมเพศ’ (homosexual) ก็ตาม…



รักร่วมเพศ
แท้จริงแล้วปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ตั้งแต่ยุคแรกๆ ก่อนที่แนวคิดทางศีลธรรมของเพศสองเพศที่โดนประดิษฐ์ขึ้นในภายหลังจะรุ่งเรือง การดึงดูดทางเพศและความต้องการทางเพศระหว่างผู้ชายด้วยกันมีมาอย่างยาวนาน โดยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรย้อนไปไกลถึงยุคกรีก ต่อเมื่อศาสนาต่างๆ เข้ามากำหนดรูปแบบทางวัฒนธรรมขึ้นใหม่ ในบางวัฒนธรรมก็กลับมีการตรากฎหมายออกมา โดยถือว่าการร่วมเพศทางทวารหนักเป็น ‘อาชญากรรมฝืนธรรมชาติ’ ที่ผู้ฝ่าฝืนจะต้องโทษรุนแรง ด้วยการเผาไฟทั้งเป็น (เพื่อชำระบาป!) –หรือแม้แต่ในศาสนาพุทธเอง รักร่วมเพศก็ยังถูกนำไปอธิบายร่วมกับความเชื่อเรื่องกรรม โดยมีคำอธิบายว่า เพศที่สามนั้นเป็นคนมีกรรมมาแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้จึงเกิดมาผิดเพศ — ในยุโรป ยุคที่คริสต์ศาสนามีอำนาจทางสังคมอย่างสูง พฤติกรรมชายรักชายถูกมองว่าเป็นบาป ในตำนานการสร้างโลกของคริสต์ มีการกล่าวอ้างว่า เกย์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าลงโทษมนุษย์ด้วยไฟบรรลัยกัลป์ มนุษย์ควรมีเซ็กซ์เพื่อเหตุผลในการสืบพันธุ์เท่านั้น เลยไปไกลจนถึงขั้นชาย-หญิงเองก็ห้ามร่วมรักกันทางทวารหนัก ห้ามช่วยตัวเอง หรือออรัลเซ็กซ์ให้แก่กัน เป็นต้น — ต่อมาในศตวรรษที่ 19 การแพทย์ก็อธิบายว่า รักร่วมเพศคือผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่ต้องได้รับการบำบัด — จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 20 นั่นแหละ นักวิชาการถึงเริ่มอธิบายว่า รักร่วมเพศไม่ใช่โรคจิต แต่เป็นวิถีชีวิตที่ต่างไปจากชายหญิง แต่แนวคิดนี้ก็หาได้ทำให้อะไรดีขึ้น

ความรู้ทางจิตวิทยาและศาสนานี่เอง ที่นำไปสู่การสร้างวาทกรรมเรื่อง ‘ผิดเพศ’ ขึ้นมา จนกลายเป็นแนวคิดกระแสหลักที่สร้างมายาคติให้แก่เพศที่สามมาจนถึงปัจจุบัน

แม้กระนั้น หลังจากเพศที่สามโดนรังเกียจเดียดฉันท์อย่างหนักหน่วงมาหลายทศวรรษ พวกเขาก็ได้รับการยอมรับตามกฎหมายในที่สุด พวกเขามีกลุ่มสังคมเป็นของตัวเอง มีบทบาทสำคัญในแวดวงต่างๆ ทั้งบันเทิง ศิลปะ และการเมือง

อเมริกากลายเป็นหัวหอกของโลกอีกครั้ง ด้วยการปลดแอกเพศที่สามสู่การยอมรับของสังคม ปี 1955 องค์กรสิทธิทางการเมืองของเกย์และเลสเบี้ยนแห่งแรกที่มีชื่อว่า The Daughters of Bilitisถูกก่อตั้งขึ้น ชุมชนรักร่วมเพศเกิดการรวมกลุ่ม และนำเอาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นพลเมือง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มาเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ ขบวนการนี้พยายามที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่ชีวิตของเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศภายใต้โครงสร้างที่มีอยู่เดิม โดยการเคลื่อนไหวผ่านชื่อย่อ LGBT ใช้ธงสีรุ้งเป็นสัญลักษณ์ รวมตัวกันอย่างแข็งขัน ก่อนขยับขยายไปทั่วโลก และกำลังเฝ้ารอเวลาให้โลกเปิดรับความหลากหลายอย่างแท้จริง


ในขณะที่เราต้องเฝ้ารอกันอีกพักใหญ่ให้โลกปรับตัว และยอมรับความหลากหลายทางเพศได้แบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมบริโภคนิยมสมัยใหม่ ก็ได้เปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ได้มีที่ทางของตัวเองมากขึ้น โดยการสร้างนิยามการเป็น ‘ผู้บริโภค’ ขึ้นมา เกย์จะได้พบเจอความสุขในบาร์ที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ เกิดเวทีการประกวดประชันความงามต่างๆ ในหมู่ของสาวข้ามเพศ กลุ่มทอมดี้จะรู้สึกว่าตนมีความสุขเมื่อพบคนรักในงานปาร์ตี้ที่จัดขึ้นสำหรับตัวเอง การตลาดที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย LGBT เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการยอมรับความหลากหลายที่มนุษย์จะสามารถแสดงออกทางเพศอย่างเสรีมากขึ้น

หัวข้อต่อไป เราจะโฟกัสไปยังกลุ่ม ‘ทอมดี้’ หรือ ‘เลสเบี้ยน’ กลุ่มหญิงรักหญิงที่ดูเหมือนหน้าประวัติศาสตร์จะละเลยมาโดยตลอด ทั้งในแง่ของบทบันทึก หรือเรื่องเล่าเชิงวรรณกรรม จนกระทั่งไดอารี่ของนักเขียนสาวตลอดกาลอย่างเวอร์จิเนีย วูล์ฟ ซึ่งพรรณนาถึงความรักที่มีต่อเพื่อนสาวนามวิตา แซควิลล์-เวสต์ ถูกตีพิมพ์ขึ้น นั่นคือเบาะแสแรกของความรักระหว่างหญิงกับหญิงที่พอจะสามารถสืบย้อนกลับไปได้ เพราะก่อนหน้านั้นเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยปรากฏขึ้นเลยจนกระทั่งศตวรรษที่ 20 เรื่องราวของพวกเธอเงียบกริบราวความว่างเปล่า

ในขณะที่เรามีบทบันทึก และเรื่องเล่าของชายรักชายอยู่มากมาย ทำไมเรื่องราวของหญิงรักหญิงจึงคล้ายไม่เคยมีอยู่ แต่กลับมาเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลในทศวรรษนี้…?