เพราะความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก มนุษย์จึงไม่อาจออกแบบหรือกำหนดกฎเกณฑ์ได้ว่าจะเลือกรักหรือรู้สึกกับใครอย่างไร บนโลกที่มีผู้คนมากมายราวดวงดาวรายล้อมพระจันทร์ ยังมีความรักอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องคอยหลบซ่อน ปกปิด และอำพรางตัวตนที่แท้จริงเอาไว้ นั่นคือความรักของเพศที่สาม แม้ใครหลายคนบอกกันว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม แต่ใครอีกเล่าจะรู้ว่าความรักยังมีอีกด้านที่ถูกฝังกลบเอาไว้คล้ายรอวันประตูแห่งอิสรภาพถูกเปิดออก Mars Homme ชวนสัมผัสกลิ่นอายความรักของเพศทางเลือกกับหนังที่จะทำให้เห็นอีกมิติหนึ่งของความรัก

The Danish Girl

ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงในยุค 1920 ผลงานการกำกับของ Tom Hooper ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ David Ebershoff เรื่องราวความรัก ความเข้าใจและการยอมรับตัวตนอันแท้จริงของคู่ชีวิต เมื่อเกอร์ดาจิตรกรสาวต้องการวาดภาพนางแบบให้เสร็จ จึงขอให้สามีของเธอนามไอนาร์ช่วยเป็นแบบให้ชุดขาวฟูฟ่องงดงามราวเจ้าหญิงได้ถูกเรือนร่างหนาของไอนาร์สัมผัสสวมใส่ วินาทีนั้นหัวใจของเขาเต้นรัวคล้ายกับแย่งกันตะโกนว่าสิ่งที่ถูกซ่อนไว้หยั่งลึกในใจกำลังจะถูกเผยออกมา เกอร์ดาได้พาสามีไปเข้าสังคมอย่างสนุกๆโดยให้เขาแต่งตัวเป็นผู้หญิงและตั้งชื่อใหม่ให้ว่า ลิลี่ ไอนาร์รู้ดีว่าลิลี่ซึ่งอยู่ในร่างเขาตอนนี้กำลังเริงเล่นเต้นระบำอย่างมีความสุขทว่าเขาเองก็มีความสุขไม่น้อยเช่นกัน เหตุนี้จึงทำให้เขาไม่อาจกลับไปเป็นชายและสามีของเกอร์ดาได้ดังเดิมอีก

เมื่อตัวตนของสามีได้ถูกเปิดเผยออกมา แน่นอนว่าจิตใจของเกอร์ดาร์จึงต้องพบกับความเจ็บปวด เสียใจ แต่ถึงกระนั้นความห่วงใยและความรักของเธอที่มีให้กับไอนาร์ก็ยังคงอยู่ดังเดิมไม่อาจลดน้อยลงไปได้ในวันที่ไอนาร์ต้องต่อสู้กับสายตาของสังคมที่มองว่าเพศที่สามเป็นตัวประหลาด เกอร์ดาคือดวงตาหนึ่งเดียวที่มองเขาอย่างปรารถนาดี เคียงข้างเสมอมา แม้เขาจะไม่ใช่สามีคนเดิมของเธออีกแล้วก็ตาม




มะลิลา

หนังไทยที่พาทุกคนดำดิ่งสู่ภวังค์ เมื่อธรรมชาติคือความจริงของสัจธรรม การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปจึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจหลีกหนีได้ มะลิลาเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มสองคนนามเชน เจ้าของสวนมะลิที่มีอดีตอันเจ็บปวดจากความรัก และพิช อดีตคนรักของเชนในวัยเยาว์ ทั้งสองได้ใช้บายศรีมาถ่ายทอดเรื่องราวความรักและยังเยียวยาบาดแผลในอดีตของกันและกันได้อย่างนุ่มลึกสวยงาม

“การทำบายศรี” ของทั้งคู่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวความไม่จีรังของชีวิตได้อย่างละเมียดละไม ดอกมะลิที่เป็นส่วนหนึ่งของบายศรีคงคล้ายกับชีวิตคน เพราะมะลิมีความหอม ความขาวบริสุทธิ์ ทั้งยังนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ดอกมะลิเหล่านี้ก็ต้องโรยราเหี่ยวเฉาไปตามธรรมชาติเหมือนอย่างชีวิตของคน

Any Day Now

เมื่อสังคมยังไม่เปิดรับเพศที่สาม ความรักของคนกลุ่มนี้จึงต้องถูกซ่อนไว้ภายใต้กฎเกณฑ์ที่คนส่วนมากกำหนดไว้ “ความประหลาดทางเพศ” จึงเป็นนิยามที่สังคมตีตราไว้ให้ แต่ถึงกระนั้นหัวใจของพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ประหลาดแต่อย่างไรหากแต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

เรื่องราวของ “รูดี้” นางโชว์ตามผับต่างๆ ได้พบรักกับทนายหนุ่มอนาคตไกลอย่างพอล ทั้งสองต้องคอยหลบซ่อนความสัมพันธ์ครั้งนี้เอาไว้ไม่ให้ใครรู้ เพราะยุคนั้นเพศที่สามยังไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคม

แต่แล้ววันหนึ่งพวกเขาทั้งสองได้พยายามทำให้โลกนี้มีความยุติธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่โดยการต่อสู้กับกฎหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาควรจะได้เท่าเทียมเหมือนอย่างคนทั่วไป เมื่อเพื่อนข้างห้องของรูดี้ถูกจับด้วยข้อหาค้ายา ลูกชายวัย 14 นามมาร์โคที่เป็นดาวน์ซินโดรมต้องถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว ด้วยความสงสารที่โลกได้กระทำกับเด็กน้อยคนนี้ เขาและพอลจึงสร้างโลกและครอบครัวขึ้นมาใหม่ให้มาร์โคอยู่ ทั้งคู่ต้องฝ่าฟันกับหลายสายตาที่มองว่าเป็นครอบครัวประหลาด พิการ แต่หารู้ไม่ว่าความประหลาดทางเพศของพวกเขานี้ได้ทำให้หัวใจของเด็กคนหนึ่งไม่ได้พิการแต่ยังแข็งแรงและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความรักของทั้งสองที่มอบให้

My Own Private Idaho

หากเปรียบถนนคือการเดินทาง การเรียนรู้ระหว่างทางคงเป็นเรื่องที่น่าประทับใจไม่น้อย ดังเรื่องราวของไมค์และสก็อต ชายหนุ่มผู้มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน นั่นคือการขายตัว หากแต่ไมค์ขายตัวเพราะบริบททางสังคมได้บีบบังคับเขาให้เป็น ครอบครัวที่แตกแยกได้สร้างแผลในใจอันยากที่จะเยียวยานี้ไว้ให้ เขาจึงขายตัวเพื่อออกตามหาแม่ ซ้ำร้ายยังเป็นโรค Narcolepsy ซึ่งเป็นโรคที่สลบไปเฉยๆเมื่อเจอกับภาวะที่เครียดมากๆซึ่งผิดกับสก็อตที่มีครอบครัวร่ำรวยพรั่งพร้อมไปด้วยเงินทอง แต่เลือกที่จะประชดพ่อผู้เป็นนักการเมืองครองอำนาจที่ประเทศ Portland ด้วยการขายตัว

การเดินทางของทั้งสองจึงเริ่มขึ้น เมื่อสก็อตอาสาช่วยไมค์ตามหาแม่ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ได้เริ่มก่อตัวขึ้นภายในใจ เกิดเป็นความรัก ความผูกพันที่ไม่อาจหักห้ามความรู้สึกของกันและกันได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วเส้นทางที่พวกเขาร่วมเดินกันมาก็ถึงคราที่ต้องแยกจากกัน คล้ายสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงแค่ห้วงความฝันในช่วงขณะหนึ่งเท่านั้น เพราะทั้งคู่ต้องตื่นจากภวังค์แล้วกลับเข้าสู่โลกแห่งความจริงดังเดิม

The Wound

ผลงานการกำกับของ John Trengove เมื่อประเพณีพิธีกรรมได้กลายมาเป็นความเชื่อ การขลิบที่ปลายอวัยวะของเด็กหนุ่มจึงเป็นพิธีเปลี่ยนผ่านจากเด็กเข้าสู่ผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ โดยเด็กหนุ่มกลุ่มนี้จะต้องออกจากบ้านของตนเอง หลังจากนั้นต้องไปอยู่บนเขาเป็นเวลาสามสัปดาห์ ซึ่งระหว่างนี้จะต้องพบกับแบบทดสอบเพื่อพิสูจน์ความเป็นชายจากเหล่าครูฝึกผู้เข้มงวด

โซลานี ได้มาเป็นผู้ดูแลพิธีเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ หน้าที่ของเขาที่ได้รับมอบหมายนั่นคือ การอบรมสั่งสอน และเฝ้าเคี่ยวเข็ญอย่างสุดแรงเกิด เพื่อผลิตชายหนุ่มให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่สังคมบัญญัติไว้ แต่หารู้ไม่ว่าภายใต้อำนาจหน้าที่นี้ หัวใจของเขากำลังร่ำร้องถึงคนรักเก่าอย่าง วิจา ชายหนุ่มผู้แต่งงานมีครอบครัวและลูกแล้ว

เรื่องราวเริ่มปะทุความเจ็บปวดขึ้น เมื่อ ควาโล เด็กหนุ่มที่ถูกครอบครัวส่งมาที่นี่ เนื่องจากเขามีกิริยาคล้ายผู้หญิงไม่สมชายชาตรี ได้บังเอิญไปเห็นโซลานีและวิจากำลังทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ตนเองพร่ำสอน นั่นคือ การมีสัมพันธ์สวาทอันลึกซึ้ง ความจริงที่ถูกเก็บงำไว้นานแรมกำลังจะถูกเปิดเผย ก่อเกิดเป็นบาดแผลที่ต่างฝ่ายต่างโบยตีไว้ให้ซึ่งกันและกันอันยากที่จะเยียวยาได้

love ,simon

“I’m just like you” ประโยคคลาสสิกของเรื่องที่สื่อเรื่องราวความรักของไซมอนได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนบนโลกย่อมมีความลับที่ไม่อาจเปิดเผยออกไปได้ เช่นกันกับไซมอน เด็กหนุ่มผู้มีความลับเก็บงำไว้กับตัวเองไม่กล้าบอกใครแม้กระทั่งครอบครัว แต่เขากล้าที่จะบอกกับบลู นามแฝงบนโซเชียลที่อ้างว่าตนเองก็เป็นเกย์เช่นกัน ความรักความผูกพันจึงเริ่มก่อตัวขึ้นโดยมีหน้าจอและแป้นพิมพ์เป็นสื่อกลางระหว่างความสัมพันธ์ครั้งนี้

คำกล่าวที่ว่า “ความลับไม่มีในโลก” เห็นจะเป็นเรื่องจริง เมื่อเรื่องราวความสัมพันธ์ในอีเมลแชทของไซมอนกับบลูกำลังจะถูกเปิดเผยในขณะที่เขายังไม่พร้อมเนื้อเรื่องจึงอบอวลไปด้วยความรักระหว่างเขากับบลูที่กำลังเบ่งบาน ขณะเดียวกันเขาก็ต้องเหี่ยวเฉาเพราะต้องปกปิดความเป็นเกย์ไปด้วยควบคู่กัน

เรียบเรียงโดย แพรพรรณ โพธิ์งาม
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต