The Somchai เป็นช็อปเล็กๆ ดูสง่า ในซอยทองหล่อ 11 ที่เริ่มเปิดกิจการตั้งแต่ปีกลาย และมีชื่อในเรื่องของ ‘สูท’ Bespoke จากอิตาลี

‘ตอง’ ลภัส เมฆรักษาวนิช ผู้ร่วมก่อตั้งกับพาร์ตเนอร์จากสายมาร์เก็ตติ้ง ช่วยกันคิดชื่อร้าน “การคิดชื่อเป็นอะไรที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจ” เขาบอก “การหาแบรนด์อะไรสักแบรนด์มาทำ ยังง่ายกว่าการตั้งชื่อเองเสียอีก”

แต่ท้ายที่สุด ทั้งสองก็นำเอาความชอบในด้านดนตรีของอังกฤษ มาผสมกับสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ กระทั่งลงตัวกับชื่อ ‘สมชาย’ ที่ต่างก็คิดว่าฟังดูง่าย และไม่เป็นอังกฤษเกินไป

“เราคิดว่าชื่อ ‘สมชาย’ น่าจะดี เพราะช่วงอายุของเราแทบไม่มีใครตั้งชื่อสมชายกันอีกแล้ว มันเป็นชื่อที่เราคิดว่าสามารถนำมาเล่นใหม่ได้ และอยากจะนิยามความเป็นผู้ชายที่มีความสมัยใหม่ ก็เลยเลือกชื่อนี้ ซึ่งคงจะทำให้คนในเจเนอเรชั่นผมรู้สึกว่ามันแปลกดี”

แต่ก่อนจะมาเป็นช็อปแห่งนี้ ตองและพาร์ตเนอร์เริ่มทำธุรกิจด้านนี้มาก่อนเมื่อสาม-สี่ปีก่อน ด้วยการทำโชว์ตามโรงแรม โดยเชิญแบรนด์ที่ทำสูทจากอิตาลีมาจัดงานโชว์ Bespoke Suit

จากวิศวกรรมสู่โปรดักต์ ดีไซน์

หนุ่มวัย 35 เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนไปเรียนต่อปริญญาตรีอีกใบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ประเทศอิตาลี ใช้เวลาเรียนสามปี และทำงานต่ออีกหนึ่งปีที่มิลาน ก่อนกลับมาเมืองไทย และจับงานด้านออกแบบตกแต่งภายใน รวมถึงออกแบบผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นเขาก็ออกมาทำธุรกิจส่วนตัว คือออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง

“เรามีโรงงานของตัวเอง ซึ่งเน้นเรื่องการส่งออกมากกว่า พร้อมกันนั้นก็นำผลิตภัณฑ์ไปแสดงตามงานแฟร์ ทั้งที่ฟลอเรนซ์และปารีส ผมทำอย่างนี้มาสองปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่”

สินค้าแอกเซสซอรีส์เครื่องหนังของผู้ชายแบรนด์ LAPAS จึงมีวางจำหน่ายอยู่ในช็อป The Somchai เช่นกัน รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า และชุดสูท

สูทราคาหลักแสน

สูทของช็อป The Somchai มีแบรนด์หลักๆ อยู่สองแบรนด์ คือ Liverano & Liverano จากเมืองฟลอเรนซ์ และ Orazio Luciano จากเมืองเนเปิลส์ ซึ่งมีความแตกต่างกันตรงฟิตติ้งและวัฒนธรรมของสองสถานที่ และเป็นแบรนด์ติดอันดับต้นๆ ในโลกของสูท ที่ตองเรียนรู้จักตั้งแต่ครั้งยังร่ำเรียนอยู่ที่อิตาลี

บริการตัดเย็บสูทของช็อป The Somchai จะมีทั้งแบบ Ready-To-Wear, Made to Order, Made to Measure และ Bespoke ที่ต่างกันที่ระยะเวลาและราคา สูท Bespoke จะใช้เวลานานที่สุดคือ 10-12 เดือน

“ก่อนที่ลูกค้าจะได้สูท เขาจะต้องเดินเข้าร้านถึงสี่ครั้ง ครั้งแรกเป็นการพูดคุย-ปรึกษากันก่อน ซึ่งเราจะเน้นมากเรื่องการตัดสูท ลูกค้าจะต้องได้ใช้จริง เป็นสูทที่เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวัน เหมาะกับวาระต่างๆ ที่ต้องการใช้ จะต้องมีการสัมภาษณ์ก่อน เช่น ต้องการใช้สูทในวาระอะไร ขับรถหรือเปล่า ทำงานอินดอร์หรือเอาต์ดอร์ ก็จะสอบถามกันก่อนที่จะเริ่มวัดตัวเฉพาะจุด เพื่อจะนำไปขึ้นเป็นตัวอย่าง” จากนั้นเป็นการเลือกวัสดุผ้า มีการฟิตติ้ง โดยมีพนักงานของแบรนด์เดินทางจากอิตาลีมาเพื่อการนี้

หากลูกค้าประเภทต้องการแบบด่วนได้ มีให้เลือกทางเดียวคือสูท Ready-To-Wear ซึ่งเป็นสูทที่ทางร้านมีสำเร็จรูปอยู่แล้ว เพียงแค่ปรับ ขยาย หรือกระชับบางส่วนให้กว้างหรือเล็กลงเท่านั้น โดยช่างอินเฮาส์ที่ได้รับการอบรมฝึกฝนจากช่างของแบรนด์มาอย่างดี ทางเลือกนี้ใช้เวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ก็เสร็จ

“สูท Bespoke ราคาจะสูงกว่าแบบอื่นประมาณสี่สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะต้องขึ้นโครงใหม่และอะไรใหม่ทั้งหมด ซึ่งใช้เวลานานกว่าด้วย” ตองเน้นย้ำอีกว่า “เรื่องราคา ความจริงแล้วจะใกล้เคียงกันทั่วโลก”

คุณภาพของสูท

“ช่างทุกคนเก่งพอๆ กันอยู่แล้ว ความสำคัญคือช่างแต่ละคนใส่ใจในรายละเอียดของลูกค้าแค่ไหน ถ้าลูกค้าคนนั้นมีความต้องการที่แตกต่างกัน ถ้าช่างคนไหนสามารถเก็บรายละเอียดของลูกค้าแต่ละคนได้ดี ช่างคนนั้นละที่เหมาะสำหรับคุณ” ตองยกประโยคคำพูดของอันโตนิโอ ลิเวราโน เจ้าของแบรนด์ Liverano & Liverano มากล่าว

“ลูกค้าเวลาเลือกสูท ควรดูที่ช่างด้วยว่า เขาใส่ใจในตัวเราแค่ไหน ส่วนเรื่องผ้าหรือฟิตติ้ง ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นสูทสแตนดาร์ด เขามักจะดูตรงไหล่และความยาวของแจ็กเก็ต ดูความยาวของกางเกง และที่สำคัญที่สุด ต้องดูภาพรวมว่า สวมใส่แล้วดูสวย มีสัดส่วนลงตัว”

แต่สำหรับ The Somchai แล้ว ตองบอกว่า “หน้าที่ของเราคือพยายามทำให้ลูกค้ารู้สึกมีความมั่นใจ สูทคุณภาพดีสวมใส่แล้วสบาย รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เหมาะสมกับวาวระหรือโอกาส ลูกค้าก็จะมีความมั่นใจ และสามารถแสดงออกมาเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด จริงๆ แล้วนั่นคือ mission หลักของเราเลย

“ถ้าเราเริ่มสร้างตู้เสื้อผ้าของผู้ชายคนหนึ่ง ถ้าใช้สูทสำหรับทำงานหรือไปงาน เราจะแนะนำสูท (แจ็กเก็ตและกางเกง) สีเทา สีน้ำเงิน และสปอร์ต แจ็กเก็ต (แจ็กเก็ตเดี่ยวที่ไม่มีกางเกง) ถ้ามีสามตัวนี้ก็สามารถไปได้ทุกที่แล้ว เป็นสูทและแจ็กเก็ตหลักของตู้เสื้อผ้าเลยละ”

ผู้ชายแต่งตัว

“ผู้ชายควรมีความสง่า” ตองพูดถึงสิ่งที่เขาและทางร้านพยายามแนะนำลูกค้า “โอเค เราเป็นผู้ชาย เราอาจจะไม่แคร์สิ่งต่างๆ แต่สิ่งสุดท้ายเราก็ต้องแต่งตัวอยู่ดี ทุกเช้าตื่นมาเราก็ต้องเลือกว่าเราจะใส่อะไร ฉะนั้นการที่เราให้ความสำคัญกับเสื้อผ้า ก็เป็นการให้เกียรติตัวเอง และให้เกียรติคนที่เราไปพบด้วย ผมคิดว่าเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญ” และเขายังเชื่ออีกว่า มันไม่ใช่เรื่องน่าอายที่ผู้ชายจะหันมาสนใจเรื่องการแต่งตัว หากมันเป็นสิ่งที่ผู้ชายควรจะต้องทำ

“เวลาที่คนเห็นเรา เขาจะมีความรู้สึกที่แตกต่าง เป็นเอฟเฟ็กต์โดยตรงที่ตัวเราสามารถรู้สึกได้ เวลาที่เดินเข้าไปในธนาคารหรือในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านอาหาร การรับรู้ของคนที่เห็นเรา-ไม่ว่าจะเป็นพนักงานธนาคารหรือคนที่เราไปทำธุระด้วย-จะต่างกัน ฉะนั้นก็เป็นอะไรที่น่าสนใจที่เราจะมาทำความเข้าใจกับมัน และทำความเข้าใจกับตัวเองว่าเราชอบแบบไหน เราอยากให้คนมองเราแบบไหน

“สิ่งสำคัญที่สุดทั้งหมดก็มาจากตัวเรานั่นละ ว่าเป็นสิ่งที่เราอยากแสดงออก ไม่จำเป็นต้องใส่สูทก็ได้ แต่งตัวอย่างไรก็ได้ คำว่ากาลเทศะอาจจะฟังดูเก่า มีแต่คนแก่ที่พูดกัน แต่ว่ามันเป็นอะไรที่สำคัญกับการใช้ชีวิต”

ไลฟ์สไตล์ที่ The Somchai

หากถามถึงกลุ่มเป้าหมายของ The Somchai ตองบอกว่าคนที่สนใจในสินค้าที่ร้านจะมีตั้งแต่ยี่สิบต้นๆ จนถึงสี่-ห้าสิบปี

“หลายคนเข้ามาที่ร้าน บอกว่าไม่มีความรู้เรื่องสูท ให้ช่วยแนะนำหน่อย เราจะแฮปปี้มาก เราเริ่มกันตั้งแต่บทแรกเลยในการแนะนำลูกค้า ค่อนข้างกว้างเหมือนกันครับ มีทั้งคนที่ชอบเสื้อผ้าสไตล์นี้ และรู้จักแบรนด์นี้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะต้องบินไปญี่ปุ่นหรือฮ่องกง เพื่อซื้อแบรนด์เหล่านี้ แต่พอรู้ว่าเรามีที่นี่ เขาก็รู้สึกดีที่ไม่ต้องเดินทางไปที่อื่น และไม่ต้องมีกำแพงเรื่องภาษา เราสามารถพูดคุยกับเขาได้อย่างเป็นกันเอง”

นอกจากสูทแล้ว The Somchai ยังสามารถแต่งตัวให้ผู้ชายได้ครบ อย่างที่บอกว่าตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า “ตั้งแต่กางเกงธรรมดา กางเกงยีนส์ มีเสื้อโปโล เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต ถุงเท้า รองเท้า เนกไท กระเป๋า จิวเวลรี และในอนาคตเราก็จะมีสินค้ากรูมมิงมาเพิ่มเติม ก็พยายามจะเป็นช็อปที่ลูกค้าสามารถเข้ามาใช้บริการได้ค่อนข้างนาน”

ส่วนคาเฟ่ด้านข้าง ในอาณาบริเวณเดียวกันกับช็อป ก็เปิดให้บริการหลังจากที่ร้านเปิดได้ประมาณสาม-สี่เดือน “จริงๆ แล้ว The Somchai ต้องการที่จะแนะนำไลฟ์สไตล์มากกว่า เสื้อผ้า-การแต่งตัวเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ เราอยากนำเสนอเรื่องการใช้ชีวิตอื่นๆ ด้วย อย่างการดื่ม การกิน และอาจจะมีงานศิลปะเข้ามาในพื้นที่ด้วย”

เหมือนที่ใครว่า เรารู้จักสวมใส่ชุดสูท แต่เราไม่รู้จักการใช้ชีวิตนั้น คงไม่ใช่เรื่องถูกต้องนัก The Somchai จึงมีคาเฟ่ และต่อจากนั้นก็จะมีร้านอาหาร โดยที่ตัวคอนเซ็ปต์จะวนอยู่รอบสิ่งที่เจ้าของร้านเชื่อในร้านเสื้อผ้าอยู่แล้ว

และที่สำคัญ “ตัวโปรดักต์ของเราทั้งหมดที่มีในร้านจะมีส่วนประกอบหลักอยู่สองอย่าง คือวัสดุที่ดี กับงานฝีมือที่ดี ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ”

ผลิตภัณฑ์หรู

“ตอนผมอายุสามสิบต้นๆ การมีสูทตัวหนึ่งราคาสองแสนห้า มันค่อนข้างเป็นอะไรที่หนักหน่วงอยู่เหมือนกัน เพราะเงินเดือนแค่สาม-สี่หมื่น ต้องเก็บเงินปีหนึ่ง เพื่อให้ได้สูทมาชุดหนึ่ง ไม่ต้องกินข้าว” ตองเล่าพลางหัวเราะ “ผมเคยถามคุณทากะฮิโระ โอซากิ ซึ่งทำงานกับคุณอันโตนิโอ ลิเวราโนมานานถึงสิบห้าปีว่า เราจะขายสูทราคาแพงอย่างไรดี เพราะลูกค้าในเมืองไทย คนที่มีอายุเยอะแล้วเขาคงไม่ซื้อสูท จะมีก็แต่คนอายุเท่าเรานี่ละที่เริ่มสนใจ และคนที่โตหน่อย ที่อาจต้องใช้สูท

“คุณทากะบอกว่า จริงๆ แล้ว Luxury Product น่ะ มันต้องลอง ถ้าเขาลองแล้วรู้สึกชอบ เขาก็จะมาตัดอีก เขายังบอกอีกว่า ถ้าคุณยังไม่มีเงิน โอเค คุณก็เก็บเงิน ปีหนึ่งตัดหนึ่งตัว สิบปีคุณได้สิบตัว คุณสามารถใช้สูทสิบตัวนี้ไปตลอดชีวิตเลย เพราะว่าสูทตัวหนึ่งอยู่ได้ค่อนข้างนานมาก ถ้าเราดูแลรักษาตามวิธีที่ถูกต้อง

“ตัดครบสิบตัวก็ไม่ต้องมาเจอกันอีกแล้ว” ตองจบประโยคด้วยเสียงหัวเราะ





เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์