โดย เบญจกาย
เมื่อพื้นที่ทางการเมืองเปิดกว้างให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มันก็เกิดเป็นเหรียญสองด้านด้วยเช่นกันค่ะ ถ้าฝ่ายการเมือง (ใครหนอ?) นำเสรีภาพมาใช้จนเกินงาม แทนที่จะช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ มันจะกลายเป็นบูมเมอแรงกลับมาฟันคอตัวเองได้ง่ายๆ เช่นกัน ต้องไม่ลืมนะคะว่าภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองกลุ่มคนหลากหลายทางเพศนั้น มีทั้งคนที่สนับสนุนและคนต่อต้าน ฉะนั้น จะดีจะชั่ว นอกจากตัวเราจะทำด้วยตัวเราเองแล้ว มันก็มีกระจกคอยสะท้อนกลับมาเช่นกัน
พูดถึงฝ่ายการเมือง ก็มีประเด็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากค่ะ โดยเฉพาะการปรับตัวของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ ที่หลายๆ คนตราหน้าว่าเป็นเสมือนพรรค (เวรี่) คอนเซอร์เวทีฟอันดับหนึ่งของประเทศไทย ทั้งกลัวการเปลี่ยนแปลง และมักจะอยู่ในเซฟโซนของตัวเองเสมอ แต่วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์มาแนวใหม่ด้วยการตั้งคณะกรรมการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยมี ‘กฤษฏิ์ เพียรมุ่งสัมพันธ์’ รองอันดับหนึ่งมิสเตอร์เกย์ เวิลด์ ไทยแลนด์ ปีล่าสุด มาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการชุดดังกล่าว
ทำไมถึงตัดสินใจมาร่วมงานดูแลเรื่องความหลากหลายทางเพศกับพรรคประชาธิปัตย์
จริงๆ ต้องบอกว่าหลังจากที่ประกวดเสร็จ ทางพรรคได้ติดต่อเข้ามาถามว่า สนใจที่จะเข้ามาร่วมรณรงค์กับทางพรรคไหม ตอนนั้นต้องบอกว่าหลังจากที่เข้าประกวดนะครับ ผมได้มีส่วนร่วม ได้รับฟังเกี่ยวกับปัญหาที่มีการกดทับกลุ่ม LGBT ของบ้านเราค่อนข้างมาก ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับ LGBT ซึ่งเราควรจะเข้ามาทำในระดับของนโยบาย ในส่วนของการผลักดันกฎหมายหรือนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ LGBT บ้านเราครับ
ตอนที่คุยกับทางทีมประชาธิปัตย์ ได้คุยถึงเงื่อนไขในการทำงานหรือไม่ว่าเรามีอิสระแค่ไหน เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างมีภาพที่คอนเซอร์เวทีฟมากในสังคมไทย
ณ เบื้องต้น ผมมีการได้อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานที่ออกล่าสุดของทางพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเขามีการเปิดตัวว่าเขาให้ความใส่ใจที่จะรณรงค์เกี่ยวกับกลุ่ม LGBT ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขามีการจัดงานเกี่ยวกับเรื่องของความหลากหลายทางเพศ และในเรื่องของการให้สิทธิ์เท่าเทียมกัน ซึ่งผมคิดว่าถ้าเขาต้องการจะเปิดตัวว่าเขาสามารถรับกลุ่มเหล่านี้ได้ ผมก็สามารถที่จะเข้าร่วมกับทางพรรคได้ครับ
นโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับ LGBT มันค่อนข้างกว้างมาก ทั้งเรื่องแต่งงาน เรื่องการเหยียดเพศ เรื่องเปลี่ยนกฎหมายคำนำหน้า ฯลฯ ตอนนี้ทางพรรคได้จัดลำดับไว้หรือไม่ว่า เรื่องไหนที่เราจะเข้าไปช่วยผลักดันมากที่สุด
ตอนนี้หลังจากที่มีการประชุม สทพ. (คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ) ครั้งที่ผ่านมา ที่ท่านจุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ นั่งเป็นประธานในการประชุม ได้ให้แนวทางการทำงานตั้งแต่ในส่วนที่ต้องออกเป็นกฎหมาย หรือที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ประเด็นหลักๆ จะเป็นเกี่ยวข้องกับการยอมรับตัวตน เพราะเขามองว่าถ้าทางรัฐบาลหรือทางองค์กรใหญ่ๆ ต่างๆ เมื่อมีการยอมรับตัวตนของกลุ่ม LGBT แล้ว มันจะเป็นการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น อย่างเช่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมาย ท่านจุรินทร์มีคำแนะนำว่า ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหน่วยงานรัฐบาลเองก็ตาม หรือในส่วนของภาคเอกชน อยากจะให้มาจับมือร่วมกัน อย่างเช่นการใช้ห้องน้ำเพศกลางที่ไม่ต้องระบุเพศ หรือการแต่งกายได้ตามเพศสภาพที่คุณเป็น ซึ่งผมมองว่าถ้ามันมีการยอมรับในส่วนขององค์กรใหญ่ๆ ต่อไปในส่วนของในภูมิภาคหรือภาคส่วนอื่นๆ ก็จะมีการยอมรับเช่นกัน หรือกระทั่งถ้ามีการใช้ตัวชี้วัดที่เรียกว่า CGEO (Chief Gender Equality Officer)ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในส่วนของหน่วยงาน เอามาประเมินเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลความเท่าเทียมระหว่างเพศในองค์กรต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ตามครับ
แล้วเราจะเข้าไปช่วยผลักดันให้มันได้เป็นรูปธรรมจริงแค่ไหน
การประชุมที่ผ่านมาต้องบอกว่า ค่อนข้างเป็นเกียรติมากที่ผมได้เข้าไปร่วมรับฟังเกี่ยวกับการแก้ไขเนื้อหาในส่วนของกฎหมาย ต้องเรียกว่าปรับปรุงให้มันดีขึ้นดีกว่านะครับ ทีนี้ผมก็มีการเสนอในเรื่องเกี่ยวกับว่า การร้องเรียนว่าทำไมที่ผ่านมาการร้องเรียนมันถึงเป็นไปได้ช้า และจำนวนผู้ร้องเรียนมีเคสที่ค่อนข้างน้อย เพราะผมมองว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมันก้าวหน้ามากขึ้นไป ดังนั้นเราควรจะทำให้ผู้ร้องเรียนสามารถเข้าถึงหน่วยงานรัฐบาลได้ง่ายขึ้น ก็เลยเสนอในเรื่องของการทำแอพพลิเคชั่นร้องเรียนขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ท่านก็ได้รับฟัง แล้วท่านได้บอกเกี่ยวกับหัวหน้าของกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ว่า ให้นำไปปรับปรุงแล้วให้นำมาเสนอในวาระการประชุมต่อไป
ตอนนี้บรรดา พ.ร.บ. สำคัญ 2 ตัว ก็คือเรื่องของกฎหมายแต่งงานกับเปลี่ยนคำนำหน้าที่เข้าไปในขั้นกฤษฎีกาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายแต่งงาน คิดว่ามันจะเป็นรูปธรรมไหมในมุมมองของเรา
มุมมองของผมคิดว่าต้องบอกว่ามันน่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะอย่างล่าสุดในส่วนของพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ซึ่งมีการผ่านในชั้นของกระบวนการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และมีการเพิ่มเติมในส่วนของสิทธิ์บางอย่างที่เราควรจะได้ เช่น ในเรื่องของสิทธิ์การรับรองบุตรบุญธรรม หรือสิทธิ์ในการเซ็นในการยินยอมรักษาโรค หรือสิทธิ์ในการแบ่งทรัพย์สินมรดก ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับการแต่งงานของชายหญิงปัจจุบันครับ ผมมองว่าในอนาคตอันใกล้เราน่าจะได้ในส่วนของพระราชบัญญัติคู่ชีวิตออกมาครับ
แต่ปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้ก็คือในสังคมไทย LGBT แตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งไม่ชอบคำว่าคู่ชีวิต หรือ civil partnership เขาต้องการที่จะใช้คำว่า same sex marriage หรือกฎหมายแต่งงาน ในเรื่องนี้เราจะอธิบายสังคมอย่างไรว่า จริงๆ แล้วมันจำเป็นจะต้องถึงขั้นนั้นไหม
ตรงนี้ต้องขอบคุณ พี่แดนนี่ (กิตตินันท์ ธรมธัช) นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งนะครับ ครั้งที่แล้วที่เราไปรัฐสภา ได้ถกประเด็นนี้เช่นกันว่า ทำไมเราจะต้องให้กล่อง 2 กล่องนี้ มันค่อนข้างแตกต่างกัน ระหว่างกฎหมายคู่ชีวิตของ LGBT กับกฎหมายสมรสเท่าเทียมของชายหญิง ถ้าเกิดคุณจับ 2 กล่องนี้มาเท่ากัน นั่นแสดงว่าทำไมกลุ่ม LGBT ถึงแตกต่างจากชายหญิงล่ะ ดังนั้น ความสำคัญหรือสิทธิประโยชน์ในเรื่องของ civil partnership หรือ same sex marriage มันจะลดหลั่นไม่เท่ากัน เพราะจริงๆ ในประเทศไทยก็เช่นกันนะครับ ถ้าเกิดว่าคู่ชายหญิงปกติ ถ้าคุณเป็นเจ้าสัวที่มีเงินค่อนข้างมหาศาล แต่งงานกับหญิงธรรมดาคนหนึ่ง เขาจะมีเรียกว่าสัญญาฉบับหนึ่งที่ว่าเราแต่งงานกันได้นะ แต่จะยกทรัพย์สินให้แค่ไหนกับคนคนนี้ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการเทคโอเวอร์ทั้งหมด ซึ่งผมมองว่ามันเป็นสิทธิ์ให้เลือกมากกว่า เราจะต้องพยายามแบ่งให้ออกให้ชัดเจนว่า civil partnership คุณได้สิทธิ์แค่ไหน same sex marriage ได้สิทธิ์แค่ไหน แต่เราต้องพยายามดึงทั้ง 2 กลุ่มนี้ ให้สามารถใช้กฎหมายร่วมกันได้ LGBT ก็สามารถใช้กฎหมายในส่วนของ same sex marriage ได้ แล้วsame sex marriage ก็สามารถใช้ civil partnership ได้ ทีนี้กฎหมายมันจะล้อไปด้วยกันได้ เพราะไม่อย่างนั้นถ้าเกิดคุณให้สิทธิ์เท่าเทียมกันทั้งสอง แล้วทำไมคุณถึงต้องแยกมันด้วยล่ะ นั่นแสดงว่าคุณไม่เหมือนกันเหรอ ทั้งๆ ที่ทุกคนคือมนุษย์เหมือนกันใช่ไหมครับ
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นลิเบอรัล เขาก็อ้างว่าถ้า Civil Partnership เปรียบเหมือนโทรเลข แต่ปัจจุบันเขาใช้โทรศัพท์มือถือกันแล้ว ทำไมเราต้องไปเริ่มต้นที่เป็นโทรเลขก่อน ไม่กระโจนมาที่โทรศัพท์มือถือ ทำไมต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่
อย่างนั้นมันจะกลับไปที่ผมอธิบายเมื่อสักครู่ ซึ่งจริงๆ แล้ว 2 กล่องนี้ ถ้ามันมีกฎหมายขึ้นมา มันควรจะแยกกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ทีนี้ในส่วนของที่เป็น same sex marriage ทางรัฐบาลก็ควรจะให้ LGBT สามารถมีสิทธิ์มาใช้ร่วมกันด้วย ซึ่งน่าจะเป็นในส่วนของการดำเนินนโยบายหรือการผลักดันขั้นต่อไป แต่ในเบื้องต้นผมมองว่าการที่เขามี 2 กล่อง แล้วให้สิทธิ์ความไม่เท่าเทียมกันน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องในปัจจุบันแล้วครับว่า เพราะถ้าเกิดคุณมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ทำไมคุณต้องแยกกฎหมายเป็น 2 ฉบับ ถ้าเกิดคุณให้สิทธิ์ความเท่าเทียมคุณก็ใช้กฎหมายฉบับเดียวก็ได้ คุณไม่ต้องแยกครับ
มาที่เรื่อง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล สำหรับ 9 กลุ่มอัตลักษณ์เปราะบางกันบ้างดีกว่า ช่วยเล่าให้หน่อยว่ามันคือกฎหมายอะไร
จริงๆ กฎหมายตัวนี้ เขาเรียกว่า พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล สำหรับ 9 กลุ่มอัตลักษณ์เปราะบาง ซึ่ง LGBT หรือว่ากระทั่งกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV จัดอยู่ในกลุ่ม 9 อัตลักษณ์เปราะบางด้วย เพราะว่าเขามองว่าในกลุ่มของ 9 อัตลักษณ์เปราะบาง จะถูกเหยียดหรือถูกกระทำจากสังคมที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการให้สิทธิ์กับเขา ถ้าเกิดว่าเขาถูกกระทำที่ไม่เป็นธรรม เขาสามารถร้องเรียนได้ ซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่าตอนนี้ในไทยเรามีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศอยู่ฉบับหนึ่ง ซึ่งเสร็จในปี พ.ศ. 2558 แล้วใช่ไหมครับ ซึ่งตรงนี้เราสามารถยื่นเรื่องได้ว่าเราถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมอย่างไรกับ วลพ. (คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ) แล้วเขาก็จะมีการพิจารณาอย่างที่ผมบอกเมื่อการประชุม สทพ. ที่ผ่านมานะครับ
เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติมันจะ practical ไหม
practical ขนาดไหน ต้องบอกว่าประชาชนทั่วไปหรือ LGBT เอง ผมว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าเรามีสิทธิ์ตรงนี้ เราสามารถเรียกร้องสิทธิ์ของเราได้ ซึ่งมันคงจะต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจครับ ทั้งสังคมเองแล้วก็ตัว LGBT เองว่า ถ้าเกิดคุณถูกกระทำหรือคุณถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม คุณสามารถร้องเรียนได้ที่ไหนและสิทธิ์อะไรบ้างที่คุณจะได้รับ มันก็จะกลับมาในส่วนของเรื่องของการศึกษาและให้ความรู้ครับ ซึ่งในเรื่องของสิทธิ์ อย่างที่ผมบอกไปว่า LGBT บ้านเราไม่ค่อยแคร์เรื่องสิทธิมนุษยชนสักเท่าไร เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ได้ถูกกระทำอย่างรุนแรง หรือเราไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรง ดังนั้นเราจะรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต่อชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะได้รับ ถ้าทุกคนมีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันครับ
ด้วยความที่บ้านเมืองเราเปิดกว้างมานานแล้วในเรื่องของ LGBT แม้ว่าคุณจะเป็นอะไรอย่างนี้ บางคนอาจจะมีรังเกียจมาก แต่ไม่ถึงขนาดไปบูลลี่เหมือนในเมืองนอก ซึ่งเรากลับไม่มองข้อดีในเรื่องนี้ เราพยายามจะไปทำให้เหมือนฝรั่ง คิดว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
จะแก้ปัญหาอย่างไร ตรงนี้มันคือการแก้ไข mindset ครับ ผมว่าเรามีการถกกันมาพักหนึ่งเช่นกันว่า การที่เราจะลดการเหยียดการตีตรากับกลุ่ม LGBT แบบนี้ เราจะทำได้อย่างไร ซึ่งตอนนี้ที่เราแก้ปัญหาอยู่มันเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่จริงๆ เราควรจะต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุ แต่การแก้ไขต้นเหตุ ในเรื่อง Perception หรือ Attitude ที่เขามองกลุ่ม LGBT ว่าจริงๆ แล้วบางคนเขาอาจจะไม่อยากเปิดตัว หรือบางคนเขาอยากจะเปิดตัว นั่นมันเป็นสิทธิ์ของเขา สิทธิ์ของครอบครัวของเขา ซึ่งตรงนี้เราต้องยอมรับสิทธิ์ร่วมกัน แต่เราจะต้องทำความเข้าใจกับสังคมว่า คนกลุ่มนี้เขาเป็นอะไร แล้วเขาเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนมีการยอมรับอัตลักษณ์ที่มีความแตกต่างร่วมกันได้ ผมว่าปัญหาจะไม่เกิด แต่ทีนี้มันต้องอาศัยระยะเวลาในการแก้ไขและเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราก็ต้องให้ความรู้ความเข้าใจและมีการพูดคุยกัน เราจะไม่สามารถบอกได้ว่า ถ้าฉันเปิดตัวขึ้นมาว่าเราเป็น LGBT เราจะมีความสุข หรือฉันปิดตัวฉันจะมีความสุข ทุกคนควรจะเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกันครับ
ใน Process ของการรณรงค์เพื่อเปลี่ยน Mindset หรือสร้าง Attitude ใหม่ ในเมืองนอก นอกจากให้ความรู้ที่เป็นเชิงวิชาการ แล้วก็ยังมีการจัดงาน Pride เพื่อที่จะให้ทุกคนได้แสดงอัตลักษณ์ แต่ปัญหาของเมืองไทยคือ community ของ LGBT ไม่แข็งแรงเลย ในฐานะที่เราเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้แล้ว คิดถึงปัญหาหรือไม่ แล้วคิดว่าในอนาคตเราจะทำอย่างไรให้เกย์ community ในเมืองไทยแข็งแรงขึ้น
ผมต้องมองว่า ที่เขาไม่มีส่วนร่วมหรือที่เรามองว่ามันไม่แข็งแรงเท่ากับต่างประเทศ มันมี 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือการถูกกระทำ การเหยียดหรือการบูลลี่ของเราไม่รุนแรงเท่าเมืองนอก เพราะการที่เราจะออกมาเรียกร้องสิทธิ์ นั่นคือเราถูกกระทำ ถูกเหยียดอย่างรุนแรง หรือมีการฆ่ากัน อย่างเคสที่ Stonewall Inn ในอเมริกา เหตุการณ์นั้นจุดประกายให้พวกเขาต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ์ว่า ทำไมถึงทำกับเขาราวกับว่าเขาไม่ใช่คน ประเด็นพวกนี้มันเป็นประเด็นเปราะบาง ผมมองว่าเราต้องมีการเข้าไปแสดงตัวตน แล้วก็บอกให้เขาเห็นว่า สิทธิ์พวกนี้มันเกี่ยวข้องกับปากท้องเขาอย่างไร มันเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตเขาอย่างไร มันสามารถพัฒนาสังคมและบ้านเมืองได้อย่างไร ถ้าเกิดเขาเข้าใจในสิทธิ์ตรงนี้ครับ ผมว่าการเรียกร้องต่อไปมันจะง่ายขึ้น แต่ตอนนี้เขาจะรู้สึกว่า ฉันยังทำงานได้เหมือนเดิม ทำไมฉันต้องไปเรียกร้องสิทธิ์ด้วย ทำไมฉันจะไปเดินงาน Gay Pride ด้วย ซึ่งตรงนี้ถ้าเรามีการกระตุ้น อย่างน้อยก็มีตัวผมเองได้ออกมาพูด แต่เราคนเดียวคงไม่สามารถทำได้ เราหวังว่าเราทุกคนจะเข้าใจในการตระหนักรู้ถึงสิทธิตรงนี้ แล้วออกมาร่วมกัน ต่อไปพอเรามี 1 คน ก็จะเพิ่มเป็น 2 คน 3 คน เพิ่มไปเรื่อยๆ แต่มันต้องเริ่มมีคนกล้าที่จะออกมาคุย พูดถึงเรื่องนี้ก่อนครับ
ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่ ตอนที่เราเข้ามาประกวด หรือแม้กระทั่งเข้ามาจอยงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ทางออฟฟิศมี feedback อะไรไหม
เป็น Regional Sales Manager ครับผม ที่ทำงานค่อนข้างสนับสนุนครับ ต้องบอกว่าเจ้านายของผม ณ วันแรกที่ไปสัมภาษณ์ ซึ่งที่นี่เป็นบริษัทแรกเลยนะครับที่มีการถามว่าคุณเป็น LGBT หรือเปล่า ก่อนที่จะเข้ามาทำงาน ตอนแรกผมก็คิดว่าเป็นคำถามที่ละลาบละล้วงสิทธิเราเกินไปหรือเปล่า ปกติผมไม่เคยเจอการสัมภาษณ์แบบนี้ แต่ผมก็ยอมรับตัวตนว่าผมเป็นครับพี่ แต่ผมก็คิดว่าผมสามารถทำงานได้ไม่แพ้ผู้ชายหรือผู้หญิงทั่วไป ซึ่งในสมัยนั้น เราอาจจะมองว่า LGBT ค่อนข้างที่จะเกรี้ยวกราด ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้แต่เจ้านายก็บอกว่า “ไม่ พี่ไม่ได้รู้สึกอะไร พี่แค่รู้สึกว่าเราควรจะเป็นในสิ่งที่เราเป็น ถ้าเรามีการยอมรับตัวเองแล้ว เราจะสามารถใช้ความรู้ความสามารถเราได้อย่างเต็มที่ เราจะไม่ถูกปิดกั้นเอาไว้ เราจะสามารถปลดปล่อยมันออกมาได้หมด” ครับ
ตอนที่เราไปประกวดทางออฟฟิศเขาว่าอย่างไรบ้าง
ออฟฟิศบอกว่าทำให้เต็มที่นะ แล้วเขาก็สนับสนุนครับ เพราะเขามองว่ามันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราน่าจะไม่เคยเจอมาก่อน แล้วผมก็บอกว่าผมอยากจะลองพิสูจน์ตัวเองด้วยว่า ตัวผมมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเวทีนี้เป็นแรกในชีวิตเหมือนกัน
กลับมาที่อัตลักษณ์ทั้ง 9 หมู่ มีเรื่องผู้ติดเชื้อด้วย
อย่างที่บอกตอนแรก ถ้าเกิดว่าเรามองกลับไปในส่วนของขจัดการเลือกปฏิบัตินะครับ หน่วยงานบางหน่วยงานเขามองว่า การเลือกปฏิบัติมันมีหลายเหตุผล ดังนั้นเขาก็เลยสร้างตัวชี้วัดที่เรียกว่า CGEO Chief Gender Equality Officer ซึ่งตรงนี้หัวหน้าแต่ละหน่วยงานต้องมีการเรียนรู้ เพื่อประเมินว่า เขามีความเป็นธรรมในการดูแลลูกน้องเขาที่เป็นเพศทางเลือกอย่างไรบ้างครับผม ทีนี้ในส่วนของการเลือกปฏิบัติ มันก็จะมีในส่วนของที่เป็น LGBT เอง หรือเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งในส่วนนี้ งานบางงานเขาจะสามารถทำได้ แต่จริงๆ แล้วในส่วนของการรณรงค์ของผม มันไม่ใช่เกี่ยวกับแค่การ prevention อย่างเดียว มันจะมีส่วนของการ treatment ด้วย ผมอยากจะให้ทางรัฐเข้ามาสนับสนุนเกี่ยวกับการออกผลตรวจเชื้อให้เป็น normal กับ abnormal แทนที่จะออกเป็น negative หรือ positive เพราะถ้าเกิดออกผลตรวจเชื้อแบบนั้นเขาจะถูกตีตราจากสังคม ซึ่งการออกผลเชื้อแบบนี้เป็นการลดการตีตราอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคม และจะทำให้ผู้ป่วยติดเชื้ออยากจะเข้ามาตรวจเลือดและรู้ผลเลือดตัวเอง พอเขารู้ผลเลือดเราจะสามารถทำการบำบัดรักษาเขาได้
พอพูดถึงการ treatment ของผู้ติดเชื้อ ผมก็มีแคมเปญหนึ่งที่ทำตอนที่ประกวด Mister Gay World Thailand ครับผม เกี่ยวกับเรื่องของการใช้เวชสำอางรักษาบาดแผล เขาเรียกว่า ริ้วรอยของผู้ติดเชื้อใช่ไหมครับ ซึ่งตรงนี้ถ้าเกิดว่าริ้วรอยเขาลดลงเนี่ย มันก็จะเป็นการลดการตีตราจากสังคมได้ส่วนหนึ่ง เพราะต่อให้ผลเลือดคุณเป็นปกติ หลังจากที่คุณเทคยาจน U=U เรียบร้อยแล้ว คือว่าไม่ตรวจพบเชื้อในกระแสเลือด เท่ากับไม่ส่งต่อ แต่ถ้าเกิดว่าคุณยังมีริ้วรอยหรือว่ารอยแผลเป็นบนผิวหนัง คนก็จะเริ่มตีตราคุณว่า คุณเป็นใช่ไหมครับ ซึ่งตรงนี้มันก็จะเป็นการ treatment อีกอย่างหนึ่งด้วยครับ
เมื่อกี้เราพูดถึงเรื่องกฎหมายรับรองเพศสภาพไปอยู่นิดหนึ่ง มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า มีคนโจมตีกฎหมายฉบับนี้ว่า สมมุติว่าเราไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งสวยมาก และอยากจะแต่งงานกัน แต่มารู้ทีหลังว่าเป็น transgender แต่ใช้คำว่านางสาว มันจะเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ ก็เลยมีกลุ่มที่แอนตี้กฎหมาย พ.ร.บ. นี้ว่าไม่ควรจะรับรองเพศสภาพ
รับรองเพศสภาพหรือเปลี่ยนคำนำหน้านาม ต้องบอกว่าขอแยกเป็น 2 ประเด็น ในส่วนของตัวผู้ที่เป็นกลุ่มทรานส์เอง เมื่อเขามีการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพเขาแล้ว ดังนั้นเวลาทรีตหรือปฏิบัติกับเขาก็ควรจะเป็นเพศใหม่ที่เขาได้รับ อย่างเช่นถ้าเกิดเราเปลี่ยนเป็นผู้หญิงใช่ไหมครับ เวลาเรามีการเข้าหวอดหรือว่าการรักษาผู้ป่วย เขาก็ต้องการรักษาอย่างผู้ป่วยเพศหญิง การใช้ห้องน้ำหรือการใช้ห้องพยาบาลต่างๆ ก็ต้องเป็นอย่างผู้ป่วยเพศหญิง แต่บางโรงพยาบาลจะยึดถือตามเพศสภาพเดิมที่เขาเคยเป็น ซึ่งมันไม่ดีต่อกลุ่มที่แปลงเพศไปแล้ว หรือแม้กระทั่งเวลาคุณเดินทางไปต่างประเทศ ฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง เขาจะตรวจเช็กตามคำนำหน้านามของคุณ ถ้าเกิดคุณเป็นชาย เขาก็จะตรวจตามความเป็นชายของคุณ ซึ่งบางคนที่ผ่านการแปลงเพศเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เขาเป็นผู้หญิง เขาจะต้องไม่รู้สึกสะดวกสบายใจในการที่จะถูกตรวจค้นอย่างเพศชายใช่ไหมครับ ตอนนี้มีบางประเทศที่เขาให้ไม่ขอระบุเพศว่าเป็นเมลหรือฟีเมล ให้กาช่อง x ไปเลย คุณมีเพศ x ที่ไม่ระบุเพศว่าคุณเป็นแบบไหน ซึ่งอันนี้ผมว่ามันเป็นการเปิดกว้างทางสังคมที่มากขึ้นครับ
เราควรจะต้องทำอย่างนั้น ก่อนที่จะมี พ.ร.บ. รับรองเพศสภาพหรือเปล่า
จริงๆ ผมว่ามันทำคู่กันไปได้ เพราะจะเป็นกฎหมายมันมีขั้นตอนกระบวนการค่อนข้างนาน กว่าจะแก้ไขตัวบทกฎหมายได้ แต่อะไรที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกฎหมายสามารถแก้ไขได้เลย อามิ แบบฟอร์มการกรอกหรือการตรวจทางสรีรวิทยา ส่วนเรื่องของการหลอกลวงหรือไม่หลอกลวงที่พูดเมื่อสักครู่นี้ ผมมองว่าการที่มีคนคนหนึ่งไปหลอกคนคนหนึ่งให้แต่งงาน ด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายเมื่อความจริงมันปรากฏ ชีวิตคู่เขาไปไม่รอด แต่เราไม่ควรจะเอาตัวอย่างตัวอย่างเดียวมาเป็นการตัดสินคนทรานส์ทั้งหมดว่า เขาคือกลุ่มที่หลอกลวง ถูกใช่ไหมครับ ดังนั้นผมว่าสุดท้ายแล้วเวลาถ้าเกิดเราจะแต่งงานกัน หรือว่าเรามีความรักกัน สิ่งที่สำคัญคือการไม่ปิดบัง ความบริสุทธิ์ใจที่มีต่อคู่ชีวิตของคุณ ซึ่งคุณจะอยู่กับการหลอกลวงหรือปิดบังไปได้นานแค่ไหน ผมว่ามันคือการเปิดเผยความจริง การที่คุณจะแต่งงานกับใครสักคนหนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อใจและความไว้ใจกันครับ
ถามตรงๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาจับกลุ่ม LGBT เพราะว่าเห็นว่าพรรคอนาคตใหม่เขามุ่งประเด็นนี้ แล้วทำให้ได้คะแนนเสียงท่วมท้นหรือไม่
จริงๆ ผมมองว่าไม่น่าจะใช่ทั้งหมดนะ เอาจริงๆ คือตอนนี้ถ้าคุณพูดตัวเลขของสถิติ คุณสามารถการันตีได้ไหมว่า ตอนนี้ประชากรของประเทศไทย 60 กว่าล้านคน เป็น LGBT กี่คน คุณยังไม่สามารถ proportion ได้เลยว่าเขามี 1 ล้าน 2 ล้าน หรือจริงๆ แล้วเขามีน้อยกว่านั้น ซึ่งการที่คุณมาเปิดตัวยอมรับ คุณไม่รู้หรอกว่าตัวเลขที่คุณจะได้รับกลับมาคือเท่าไหร่ แต่ผมมองว่ามันเป็นวิสัยทัศน์มากกว่า มันเป็นการเปิดกว้างของท่านหัวหน้าพรรคที่มองว่าสังคมมันไปถึงไหนแล้ว เรามีการยอมรับที่มากขึ้น มันเป็นการเปิด Vision มากกว่า ให้เรารู้สึกว่าเรามีการเปิดกว้างทางสังคม คนทุกคนคือมนุษย์อย่างเท่าเทียมครับ
ส่วนตัวเราเปิดตัวมานานหรือยัง ชีวิตวัยเด็ก ครอบครัวเป็นอย่างไรบ้าง
จริงๆ แล้วชีวิตวัยเด็กผมค่อนข้างเรียบง่าย ไม่ได้หวือหวาสักเท่าไรนัก ผมมาจากครอบครัวในจังหวัดสุรินทร์ แล้วเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ และก็ทำงานที่นี่ ตอนเด็กผมไม่ได้เดินไปบอกว่าคุณพ่อครับ แม่ครับ ผมเป็นเกย์นะครับ แต่ว่ามันอาศัยการอยู่ร่วมกันและเข้าใจกันมากกว่า สุดท้ายเขาเข้าใจว่าถ้าเรามีความสุขในสิ่งที่เราเป็นก็ดำเนินชีวิตต่อไป ถ้าเราไม่ได้คดโกงใคร เราทำงานสัมมาอาชีพสุจริตอย่างนี้ครับ เราก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติครับ
หมายถึงว่ามีการพูดคุยกันในครอบครัวเพื่อเปิดตัว หรือว่าพ่อแม่เขารับรู้ได้เอง
เข้าใจไปโดยปริยายมากกว่า เพราะว่าจริงๆ ผมมาจากครอบครัวคนจีน ที่ค่อนข้างจะ sensitive มากกับเรื่องพวกนี้ และสังคมต่างจังหวัดด้วย ในยุคของผม คนที่เป็นเกย์เขาจะไม่ได้รับการยอมรับมากในสังคม จะค่อนข้างถูกเหยียดและถูกล้อเลียน เราจึงต้องมีการปิดตัวเองไว้ แต่พอยุคสมัยมันเปลี่ยนไป มีการเปิดตัวมากขึ้น สังคมมีการยอมรับมากขึ้นเกี่ยวกับกลุ่ม LGBT ครับ พอมีข่าวสารมากขึ้น เขาก็เริ่มรู้ว่าอ๋อลูกเราเป็นเกย์นะ
คิดอย่างไรกับการที่สมัยก่อน mindset ของคนไทยจะคิดว่า เกย์คือคนที่จะต้องตุ้งติ้งและออกสาว แต่ในสังคมปัจจุบันเฉดสีของเกย์เองก็มีหลายแบบ มีตั้งแต่ออกสาวไปจนถึงแมนมากๆ
จริงๆ ผมมองว่ามันไม่เกี่ยวกับความตุ้งติ้งนะครับ ผมว่าจริงๆ แล้วมันน่าจะเป็นชุดแนวคิดเรื่องปิตาธิปไตยมากกว่าที่มองบุรุษเป็นใหญ่ในสังคม ดังนั้นเขาจะรู้สึกว่าในโลกนี้มันมีแค่เพศหญิงและเพศชาย การที่คุณทำอะไรที่นอกกรอบ นั่นแสดงว่าคุณกำลังแตกต่าง คุณกำลังผิดปกติจากสังคมครับ มันคือโครงสร้างที่ถูกกดทับมาตั้งแต่ต้น เขาก็เลยมีการล้อเลียนเชิงเหยียดว่าเป็นตัวประหลาด ซึ่งผมมองว่าถ้าเรามีการทำความเข้าใจ สร้างความเข้าใจใหม่ให้กับพวกเขา การเหยียดพวกนี้มันก็จะน้อยลงครับ ซึ่งไม่เกี่ยวกับว่าคุณจะตุ้งติ้งหรือไม่ตุ้งติ้ง เพราะถ้าเกิดคุณแค่ชอบผู้ชาย ต่อให้คุณเป็นผู้ชายด้วยกัน ต่อให้คุณไม่ออกกิริยาสาวใดเลย คุณก็โดนเหยียดอยู่ดี อย่างเช่นคำว่าสายเหลือง ซึ่งผมว่าก็ต้องมีการแก้ mindset กันใหม่