รองเท้าที่ดี อาจพาคุณไปยังที่ดี ๆ แต่สำหรับ ‘ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล’ ชายผู้หลงใหลสนีกเกอร์อย่างเข้าเส้น กลับพารองเท้าและร้านรองเท้าของเขาไปยังที่ดี ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งจากการได้ Collaboration กับแบรนด์ระดับโลก และปลุกปั้นร้านรองเท้า Carnival จนได้รับการคัดเลือกจาก Adidas ให้เป็นหนึ่งในร้านรองเท้าระดับโลก ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจในเรื่องสตรีทแฟชั่น และพาธุรกิจร้านสนีกเกอร์ของตัวเองไปสู่เป้าหมายที่มากกว่าที่ตั้งใจไว้ เราจะมาสำรวจความคิด ชีวิต และความหลงใหลของผู้ชายคนนี้ ว่าร้านรองเท้าของเขา จะพาความคิดของเราไปสู่ที่แห่งใด

“เราไม่จำเป็นต้องซื้อรองเท้ารุ่นที่เป็นกระแสหลัก ไม่ต้องซื้อรุ่นที่คนเขาฮิตกัน ราคาขึ้นหรือได้รับความนิยม เราควรซื้อรุ่นที่เราชอบ ที่เราอยากเก็บ รุ่นที่เราอยากใส่ รุ่นที่เรารู้สึกว่า เราใส่แล้วมันเข้ากับตัวเรา และเราใส่มันได้จริงๆ ในชีวิตจริงๆ มันถึงจะมีคุณค่ากับเรา”

เข้ามาทำธุรกิจร้านสนีกเกอร์ได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากความชอบก่อน สมัยเป็นวัยรุ่น เราแต่งตัวเยอะ แล้วรองเท้าเป็นไอเท็มจำเป็นของผู้ชายที่มันต้องมีหลายคู่ พอเราเริ่มซื้อ เริ่มศึกษาก็กลายเป็นความหลงใหลในตัวรองเท้า เราก็เลยมีความคิด ไอเดียที่จะเปิดร้านรองเท้ากับเพื่อน อยากมีร้านของเราเอง ที่จะขายของในแบบที่เราชอบ พรีเซ็นต์ในแบบที่เราชอบ ตกแต่งแบบที่เราอยากให้มันเป็น หรือกระทั่งคอนเซ็ปต์ของร้านเองที่เราไปเห็นในต่างประเทศมา จนเรารู้สึกว่า เราอยากมีร้านแบบนี้ในเมืองไทย เลยร่วมกับหุ้นส่วนเปิดร้านขึ้นมา

ทำไมต้องสนีกเกอร์?

เพราะเวลาเราแต่งตัว เราจะเริ่มจากรองเท้าก่อน เราเป็นคนชอบรองเท้า และเราไม่ใช่คนประเภทที่ว่า ใส่รองเท้าคู่เดียวจนมันพังแล้วเราซื้อใหม่ เรามีหลายคู่ หลายแบบ หลายสไตล์ เราเห็นความสำคัญของรองเท้า เวลาแต่งตัวเราเลือกรองเท้าก่อนเสื้อผ้า เราเลยอยากขายรองเท้า และอีกเรื่องที่เราชอบในตัวรองเท้าคือ ทุกๆ คู่ มันมีสตอรี่ มันมีเรื่องราวว่า คู่นี้เขาออกแบบมาเพื่ออะไร มีแรงบันดาลใจมาจากปีไหน เป็นการเอารองเท้าบาสเก็ตบอลมาทำ รองเท้าวิ่งมาทำ มันมีสตอรี่ได้ให้ศึกษาได้ให้ติดตาม
จริงๆสนีกเกอร์มันเป็นวัฒนธรรมที่มาคู่กับทั้งหนัง เพลง ทั้งกีฬา ดังนั้นคนที่เขาอินหนัง อินเพลง อินกีฬา มันเยอะมากในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะอายุหกสิบ เจ็ดสิบ แปดสิบ สมมุติเขาชอบวง Sex Pistols เขาอาจเก็บรองเท้า Converse กับ Sex pistols อะไรแบบนี้ รองเท้าจึงเข้าถึงคนได้หลากหลาย และอาจกลายเป็นรุ่นที่หายากๆ ซึ่งก็จะไม่มีคนขายออกมา

ทำไมถึงเลือก Converse มาเป็นแบรนด์บุกเบิกของร้าน

เราชอบและสะสม Converse มาหลายปีแล้ว เราเลยอยากเริ่มที่แบรนด์นี้ เพราะในไทย ร้านที่นำเข้า Converse รุ่นหายากๆ รุ่นลิมิเต็ดจากทั่วโลกนี่ ยังไม่มี ส่วนมากเป็นตัวเบสิกแบบทั่วๆ ไป ในตอนนั้นเราก็เลยอยากรวบรวมรองเท้า Converse จากทั่วโลกมาขายที่ร้าน ผลตอบรับช่วงแรกก็ถือว่าค่อนข้างดี เพราะสมัยนั้นเราเป็นเจ้าแรกๆ ที่ใช้โซเชียลมีเดีย เราใช้เฟซบุ๊กเป็นหลัก เป็นเจ้าแรกๆ ในการทำตลาด สมัยตั้งแต่เฟซบุ๊กหน้าตายังไม่ใช่แบบนี้ ในราวๆ แปดปีที่แล้ว คนในโซเชียลก็ค่อนข้างตื่นตัวและให้ความสนใจกับร้านเรา เพราะยังไม่เคยมีร้านแบบนี้เปิดขึ้นมาในไทย หลังจากที่เราเริ่มปล่อยสินค้าออกมา สะสมโปรไฟล์ สร้างฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเนี่ย เราก็ต่อยอดไปยังแบรนด์อื่นๆ ได้

ถ้าหากเป็นนักสะสมสนีกเกอร์ รองเท้าแบบไหนที่ควรซื้อที่สุด

ผมจะบอกเสมอว่า การสะสมรองเท้า เราไม่จำเป็นต้องซื้อรุ่นที่เป็นกระแสหลัก ไม่ต้องซื้อรุ่นที่คนเขาฮิตกัน ราคาขึ้นหรือได้รับความนิยม เราควรซื้อรุ่นที่เราชอบ ที่เราอยากเก็บ รุ่นที่เราอยากใส่ รุ่นที่เรารู้สึกว่า เราใส่แล้วมันเข้ากับตัวเรา และเราใส่มันได้จริงๆ ในชีวิตจริงๆ มันถึงจะมีคุณค่ากับเรา ในขณะเดียวกันคู่ที่เขาว่าดี คนอื่นว่าดี คนอื่นว่าสวย หรือราคาขึ้น มันอาจไม่ใช่ตัวเราก็ได้ มันไม่ใช่รุ่นที่เราชอบจริงๆ มันเป็นการเก็บเพื่อมาโชว์ให้คนอื่นดู หรือคนอื่นชอบของเรา ซึ่งคุณค่าที่แท้จริงมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น

“สิ่งหนึ่งที่ผมยึดมาตลอดก็คือ ผมแข่งกับตัวเอง ผมมองดูคู่แข่งบ้างแต่น้อยมาก สิ่งที่เราทำมันเป็นสเต็ปที่เรามองอนาคตไว้ว่าเราอยากจะทำ เราไม่ได้ทำเพราะเราเห็นคู่แข่งทำ”

การทำในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่เป็นตัวเราถือเป็นแนวทางในการทำธุรกิจด้วยหรือเปล่า

ส่วนหนึ่งใช่ เพราะเรามองว่า Carnival ก็เหมือนกับตัวเรา มันพรีเซ็นต์ความเป็นคนคนหนึ่ง ซึ่งตัวแบรนด์ก็คือคน เราเป็นคนชอบสะสมรองเท้า ชอบแต่งตัว ชอบแฟชั่น แน่นอนว่าเราศึกษาจริงจัง ของที่เราเอามาก็ต้องสะท้อนความเป็นตัวเราด้วย ในขณะเดียวกัน เราจะเป็นตัวเราเองสุดโต่งก็ไม่ได้ เราต้องดูลูกค้าเป็นหลักด้วย เป็นการผสมผสาน เหมือนเราเป็นคอมมูนิตี้กลุ่มคนที่รู้จักกัน อันนี้ของที่เราชอบ อันนี้ของลูกค้าชอบผสมผสานกัน แต่สินค้าของ Carnival เอง มันก็ต้องไม่หลุดจากเราด้วย ไม่หลุดจากกรอบของการเป็นสตรีทแฟชั่นที่เราเซตมา

และสิ่งหนึ่งที่ผมยึดถือเป็นแนวทางมาตลอดก็คือ ผมแข่งกับตัวเอง ผมมองดูคู่แข่งบ้างแต่น้อยมาก สิ่งที่เราทำมันเป็นสเต็ปที่เรามองอนาคตไว้ว่าเราอยากจะทำ แล้วเราทำ เราไม่ได้ทำเพราะเราเห็นคู่แข่งทำ แล้วเราทำตาม หรือเราต้องการทำเพื่อเอาชนะใคร แต่เราทำเพราะอยากให้ร้านไปอีกระดับ พัฒนาสินค้าและการนำเสนอไปในอีกรูปแบบหนึ่ง มันเป็นเหมือนทำตามความฝันของเรามากกว่าแข่งกับคนอื่น

คู่ไหนที่ตัวเองภูมิใจที่สุดที่ได้ครอบครองในฐานะนักสะสม

จริงๆ ตอบยากเพราะมีหลายคู่มากๆ แต่คู่ที่ผมมักจะบอกหลายครั้งว่าชอบก็คือ Converse Mamafaka เพราะเขาทำกับพี่ตั้ม Mamafakaซึ่งเป็นศิลปินที่ผมชอบมากที่สุด ผมรู้จักสนิทสนมกับเขา และเป็นรองเท้ารุ่นแรกที่คนต่อคิวซื้อ ที่ Carnival มันเป็นความทรงจำที่เราประทับใจ และอีกคู่เป็น Converse Undefeated กับ Fragment Design ซึ่งรองเท้ารุ่นนี้ ผมได้ลายเซ็นของ ‘ฮิโรชิ ฟูจิวาระ’ บนรองเท้าด้วย ซึ่งคนคนนี้ถือว่าเป็น Godfather ของสตรีทแฟชั่นเลย มันก็เลยเป็นความประทับใจ

ผมจะแตกต่างจากนักสะสมคนอื่น คือผมไม่ได้สะสมที่ราคา ดังนั้นราคาสนีกเกอร์ที่ผมสะสมจะไม่สูง จะเป็นรุ่นทั่วๆ ไป แต่เป็นบางจังหวะมากกว่า ที่รุ่นที่ผมซื้อมาราคามันสูงเอง อย่าง Yeezy 350 ตัวแรกเลยที่ออก ตอนนี้ราคาน่าจะห้าหกหมื่น บางคู่เป็นแสนก็มี ผมก็ซื้อมาในราคารีเทลนี่แหละ หรือบางคู่ผมได้มาจากการเป็นเจ้าของร้านเท่านั้น หรือที่เรียกว่ารุ่น Friend and Family 100 คู่ทั่วโลก เขาก็ขายกันเป็นแสน แต่ผมไม่ได้ขายมัน ผมไม่ได้ดูที่มูลค่าเป็นหลัก

“Passion ไม่สามารถใช้ 100% ได้ คนสมัยนี้มักจะพูดว่า เราทำอะไรตาม Passion แต่ว่าบางทีมันไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริง คุณไม่ต้องทำทุกอย่างตาม Passion ก็ได้ บางคนที่เขาไม่มีทางเลือก เขาอาจจะไม่ต้องทำตาม Passion ก็ได้ แต่ทำตามสิ่งที่ทำให้เขาอยู่รอดได้”

ถ้าตัดสนีกเกอร์ออกไปจากชีวิต คุณมี Passion จากอะไรอีกบ้าง

นอกจากสนีกเกอร์แล้วผมมีเรื่องที่ชอบเต็มไปหมด ชอบท่องเที่ยว ชอบอาหาร ชอบออกกำลังกาย แต่จริงๆ แล้ว Passion ไม่สามารถใช้ 100% ได้ คนสมัยนี้มักจะพูดว่า เราทำอะไรตาม Passion แต่ว่าบางทีมันไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริง คุณไม่ต้องทำทุกอย่างตาม Passion ก็ได้ บางคนที่เขาไม่มีทางเลือก เขาอาจจะไม่ต้องทำตาม Passion ก็ได้ แต่ทำตามสิ่งที่ทำให้เขาอยู่รอดได้ ทำตามที่เขาถนัด เขาอาจทำงานเก่ง ถนัด แต่ไม่ใช่ตาม Passion เขาก็ได้ ผมจะผสมผสานอะไรที่ทำจาก Passion แบบไม่ได้เงินก็มี เราทำเพราะความชอบ แต่อะไรที่ทำเพื่อให้ได้เงินก็มี เราต้องหาสมดุลของสิ่งเหล่านี้

หลักสำคัญที่ทำให้ร้าน Carnival มาถึงจุดนี้ได้คืออะไร

สำหรับ Carnival ผมว่าจุดสำคัญคือความจริง ความแท้จริง สิ่งที่เราพรีเซ็นต์คือเราจริงๆ ลูกค้าจะสัมผัสได้ว่า สิ่งที่ร้านเสนอ คือเหมือนเจ้าของมาขายของเองน่ะ สมมุติว่าเราขายโดยไม่รู้จักของหรือสตอรี่ หรือเราไม่ได้ใส่ของเหล่านั้นจริง อยู่แต่ในออฟฟิศแล้วมาขายสนีกเกอร์ มันไม่มีความจริง ผมมองว่าผมเสนอความเป็นตัวเอง ใช้ตัวเองพรีเซ็นต์ รีวิวสินค้าเอง ลูกค้าจะสัมผัสได้ว่าเรามีความจริงต่อเขา อันนี้คือหลักสำคัญของ Carnival และผมมองว่าสนีกเกอร์มันคือวัฒนธรรม เขาไม่ใช่แค่ของที่คุณเอามาวางที่ไหนก็ได้แล้วขายได้ วัฒนธรรมมันคือการซึมซับ สัมพันธ์กับเพลง ไลฟ์สไตล์ ชีวิต สื่อทุกอย่างที่เสพ ผมเลยมองว่าสนีกเกอร์มันควรจะนำเสนอจากตัวตนของร้าน ร้านควรมีเอกลักษณ์ของตัวเองในการนำเสนอ

“สนีกเกอร์มันคือวัฒนธรรม เขาไม่ใช่แค่ของที่คุณเอามาวางที่ไหนก็ได้แล้วขายได้ วัฒนธรรมมันคือการซึมซับ มันสัมพันธ์กับเพลง ไลฟ์สไตล์ ชีวิต สื่อทุกอย่างที่เสพ ผมเลยมองว่าสนีกเกอร์มันควรจะนำเสนอจากตัวตนของร้าน ร้านควรมีเอกลักษณ์ของตัวเอง”

ข้อคิดสำคัญในการทำงานของเราคืออะไร

ผมเป็นคนที่ค่อนข้างเสี่ยงในการทำ เราจะใช้เวลาในการคิดน้อย ทำเร็ว มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือสมัยนี้ ผมมองว่า เวลาที่เราคิดจะทำอะไร มันไม่ใช่เราคนเดียวที่คิด และบางคนเริ่มทำไปแล้ว เพราะฉะนั้น อะไรที่ทำแล้วมีความเสี่ยงแต่ผลลัพธ์ไม่ได้เสียหายมาก ผมทำก่อนเลย แล้วอะไรที่ประสบความสำเร็จมันก็ดี อะไรที่ไม่ประสบความสำเร็จ ผมก็ไม่เสียใจเพราะอย่างน้อยเราได้เรียนรู้ ได้ลองแล้วว่ามันดีหรือไม่ดี ผมล้มเหลวบ่อยมาก เพราะต้องการทดลองอะไรใหม่ๆ มันเป็นห้องทดลองของเรา เราจะได้เรียนรู้ไปกับมัน โตไปกับมัน ต่อไปเราก็จะตัดสินใจผิดพลาดน้อยลง ถ้าเราทำก่อนเราจะเป็นผู้นำไปโดยอัตโนมัติ

“ผมล้มเหลวบ่อยมาก เพราะต้องการทดลองอะไรใหม่ๆ มันเป็นห้องทดลองของเรา เราจะได้เรียนรู้ไปกับมัน โตไปกับมัน ต่อไปเราก็จะตัดสินใจผิดพลาดน้อยลง ถ้าเราทำก่อนเราจะเป็นผู้นำไปโดยอัตโนมัติ”

ประเทศไทยกับการเป็น Sneaker Collector เป็นอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าคนไทยนี่ดีกว่าประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศทั่วโลก และบางอย่างคนไทยนำต่างประเทศด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าคนไทยเป็นคอลเล็กเตอร์อันดับหนึ่งของโลก มีเยอะที่สุด คอลเล็กชั่นต่างๆ ที่หายากที่สุดเนี่ย คนไทยเรามีครบและเยอะกว่าด้วยซ้ำ กระทั่งรองเท้าที่ขายต่างประเทศไม่หมด แต่ขายในไทยหมด เพียงแต่เราเป็นประเทศเล็กๆ ในแผนที่โลก มันต้องใช้เวลาจนกว่าเขาจะมาโฟกัสที่ไทย เราถึงจะได้ของดีๆ มาขาย ซึ่งผมพยายามไฟต์มาตลอดว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศโลกที่สามแล้วนะ ของที่ลูกค้าไทยอยากได้แต่ไม่มีในไทย ผมอยากให้มีเข้ามา

นอกจากแฟชั่นต่างประเทศที่เข้ามาในไทยแล้ว ไทยเราเองมีการนำเสนอออกไปด้วยไหม

จริงๆ เราสามารถพรีเซ็นต์ความเป็นไทยออกไปได้มากกว่านี้อีก ผมกำลังทำ Collaboration กับแบรนด์ระดับโลก ที่นำเสนอความเป็นไทยออกไป อยากให้ติดตามดูว่าจะเป็นอะไร เป็นรองเท้ารุ่นพิเศษที่มีความเป็นไทย อาจจะถึงขั้นมีภาษาไทยในรองเท้าด้วยนะ

จากธุรกิจที่ทำมาจนถึงตอนนี้ ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง

เรียกว่าผมพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มากกว่า เพราะมันเกินกว่าที่เราคิดเอาไว้ แต่มันมีเป้าหมายอีกเยอะมากๆ ที่ยังไปไม่ถึง และเส้นทางอีกยาวไกลมันมีบันไดที่ทำให้เราก้าวไปอีกมาก แต่อย่างน้อยตอนนี้เรามาไกลได้อีกขั้น และเรื่องหนึ่งที่ผมดีใจมาก คือการที่ร้าน Carnival ได้รับคัดเลือกจาก Adidas ให้เป็นหนึ่งในร้านรองเท้าระดับสูงสุด หรือ Adidas Consortium ถือว่าเป็นเลเวลที่สูงที่สุดของ Adidas ซึ่งมีไม่ถึง 100 ร้านในโลก ที่ได้คัดเลือกเข้ามา นั่นหมายความว่า เขามองไทยเราแล้วว่า เรามีศักยภาพ เรามีอิทธิพลพอ ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เราทำสำเร็จแล้ว และความเปลี่ยนแปลงก็คือ เราจะได้สินค้าจาก Consortium เข้ามาขายครั้งแรกในประเทศไทย จากสิบกว่าปีที่คนไทยไม่เคยสัมผัสไลน์สินค้านี้เลย คราวนี้มันจะมาให้คนไทยซื้อได้อย่างง่ายแล้ว