เผยเบื้องหลังโลกดนตรียุคใหม่กับ ‘นับ’ ทศวัชร โชติวงศ์ คนไทยหนึ่งเดียวที่ได้รับ Ableton Certified Trainer จากซอฟต์แวร์ทำเพลงอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Ableton ซึ่งในอดีตเขาผ่านงานในวงการดนตรีมามากมาย ด้วยการเป็น Music arranger ให้ศิลปินและค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทั่วประเทศไทย

ปัจจุบันเขาเป็นผู้บริหารและอาจารย์ที่ InEarBeat โรงเรียนสอนดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของเมืองไทย ซึ่งมีหลักสูตรมากมายสอนผ่านซอฟต์แวร์ Ableton Live ทั้งหลักสูตร Music arranging, Music Producing, DJ และ Live Performance นอกจากนี้ด้วยแพสชั่นทางดนตรีเขายังก่อตั้งค่ายเพลง MAdZ Entertainment ขึ้นมาอีกด้วยลองไปฟังทัศนคติต่อวงการจากคนดนตรีตัวจริงคนนี้ดูว่า วงการเพลงไทยกำลังอยู่ตรงจุดไหนของโลก

“เพลงของพวกมึงเป็นเพลงเฉพาะกลุ่มว่ะ เฮ้ยมันรุนแรงมากนะ คุณตามโลกไม่ทันหรือเปล่า อย่าเอาสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตมาเป็นตัวตัดสินสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตสิ”

เล่าให้เราฟังหน่อยว่า ซอฟต์แวร์ Ableton คืออะไรและมีอิทธิพลกับวงการดนตรีอย่างไรในยุคนี้

จริงๆ Ableton เป็นซอฟต์แวร์ดนตรีที่เกิดมาท้ายสุดหลังชาวบ้านเขาเลย อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆความพิเศษของซอฟต์แวร์ตัวนี้ คือผู้สร้างเขาเป็นนักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มิวสิกซึ่งแต่ก่อนเวลาไปโชว์เขาต้องยกเครื่องมืออะไรไปเยอะแยะเลย จนเขาบอกว่าไม่อยากยกแล้วเพราะมันหนักมากเลย เขาก็เลยคิดว่างั้นลองสร้างซอฟต์แวร์มาตัวหนึ่งสิ ที่มันจำลองอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ในการฟังเพลงและการแสดงสดต่างๆเอาไว้ในนั้น ซึ่งกลายเป็น Ableton ขึ้นมา และเป็นซอฟต์แวร์อันเดียวในโลกตอนนี้ที่ทำเพลย์ลิสต์โปรดักชั่นได้ครบทุกวงจร สามารถเล่นดีเจได้ สามารถแสดงสดได้ ซึ่งที่เราเห็นวงต่างๆ เล่นสดตามคอนเสิร์ตทุกวันนี้ แทบทั้งหมดใช้ Ableton ในการรันคอนเสิร์ตทั้งหมดเลย ซึ่งซอฟต์แวร์ตัวนี้สามารถทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเสียงได้หมด หรือแม้กระทั่งการตัดต่อ การจัดไลติ้งในโชว์ก็ทำได้ขอให้คุณจินตนาการเสียงอะไรก็ได้ Ableton สามารถทำได้ทุกอย่าง

แล้วคุณกลายมาเป็น Ableton Certified Trainer ได้อย่างไร

ผมไม่ได้เรียนด้านดนตรีมาด้วยซ้ำครับ จบเอกประชาสัมพันธ์คณะนิเทศศาสตร์มา (หัวเราะ) ถามว่าอยากเรียนดนตรีไหม อยากเรียน แต่ว่าค่าเรียนดนตรีมันแพงมาก เราเลยอยากช่วยพ่อแม่ด้วย เราอยากได้อาชีพที่สองที่ไม่ใช่ดนตรี แต่ก็เล่นดนตรีมาเรื่อยๆ นะ จนพอจบมหาวิทยาลัยปุ๊บ เราบอกพ่อแม่เลยว่าขอเวลา 1 ปีในการหางานเกี่ยวกับดนตรีที่เราชอบ มันเหมือนเราอึดอัด อยากทำเพลงมาตลอด อยากเป็นศิลปิน ตอนนั้นไปเสนอเพลงที่ค่าย Spicydisc ทุกอย่างโอเคแล้ว ค่ายตกลงทุกอย่าง แต่ก็มีปัญหากับทางวงนิดหนึ่ง เพื่อนที่เล่นด้วยกันอยู่ๆเขาก็ไม่ทำ ก็เลยหันมาทำงานเบื้องหลัง ไปเป็น Music arrangers แบบฟรีแลนซ์ทำหน้าที่เรียบเรียงเพลง ไปทำกับทุกค่ายเลยครับใครชวนก็ไปทำ อย่างลุลาอัลบั้มแรกก็เป็นเราที่ทำ แล้วไปทำค่ายใหญ่ๆ อย่างอาร์เอสบ้าง

จนทำไปสักพัก เรารู้สึกว่าอยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งงานในฐานะ Music arrangers กำลังไปได้ดีเลยนะ แต่เรารู้สึกว่ามีจังหวะก็ไปดีกว่า เพราะตอนนั้นพี่ชายไปอยู่ที่อเมริกา เราให้ไปเรียนดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มิวสิกที่นั่น อยู่ไปอยู่มาอยู่เกือบ 5 ปี (หัวเราะ) มันเหมือนกับว่าอยู่ที่นู่นเรามีความสุขมาก เราได้เรียนดนตรีอย่างที่เราอยากเรียน จนพอเรียนจบเราตัดสินใจแล้วแหละว่าอยากจะเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นู่น แต่ตอนนั้นเขาบอกว่าคนที่จะสอนโปรแกรม Ableton ได้ต้องสอบใบอนุญาต Ableton Certified Trainer ก่อน ซึ่งกฎตอนนั้นก็เข้มงวดมากกำหนดเลยว่าคนที่จะมีสิทธิ์สอบเป็นเทรนเนอร์ต้องมีประสบการณ์สอนดนตรีไม่ต่ำกว่า 3 ปี ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เอ้า แล้วเราจะสอนยังไง ก็ที่นั่นไม่ให้สอนถ้าไม่มีใบรับรอง (หัวเราะ) เราวางแผนว่าจะต้องบินกลับมาเมืองไทยเพื่อสอนดนตรีที่นี่


แต่ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ในเมืองไทยมีคนสนใจอิเล็กทรอนิกส์มิวสิกเหรอ

ตอนนั้นคนไทยยังไม่รู้จักอิเล็กทรอนิกส์มิวสิกเลยว่าคืออะไร เฟสติวัล EDM แบบนี้ก็ไม่มี ทุกอย่างเป็นของแปลกมากสำหรับคนไทย ซึ่งพอเรากลับมาก็วิ่งไปที่ค่ายเพลงก่อนเลย เอาแนวเพลงไปเสนอเพราะอย่างน้อยๆ เราคิดว่าถ้าขายผ่าน จะได้มีอะไรทำไปพลางๆ พร้อมเปิดสอนไปด้วย แต่กลายเป็นว่าเราเอาซาวด์แบบ Dubstep แบบ Skrillex ไปเสนอเขาเลย โปรดิวเซอร์เขาก็บอกว่ามันแปลกๆ นะ (หัวเราะ) พอเจออย่างนี้เราเริ่มรู้ชัดแล้วว่าการไปกับค่ายไม่ใช่ทางเราแล้วแหละ เลยมาตั้งใจทำโรงเรียนอย่างจริงจังเลยดีกว่า

ตอนนั้นเริ่มเปิดโรงเรียนง่ายๆ ที่บ้านก่อน เริ่มตั้งแต่วางหลักสูตร สอนอย่างไรควรจะมีอุปกรณ์การเรียนอะไรบ้าง เราพยายามจะจำลองอุปกรณ์การเรียนที่เราเรียนเมืองนอกมาไว้ที่นี่เลย จนสอนไปได้ครึ่งปีเราก็คิดว่างั้นขยับมาที่ปากซอยอารีย์ตรงนี้เลยดีกว่า กลายเป็นโรงเรียน InEarBeat ทุกวันนี้สอนไปสอนมามีคนเรียนเยอะๆ เราก็มาคิดว่าเราจะไปสอนที่เมืองนอกอีกทำไมวะเนี่ย ตัดสินใจทำโรงเรียนที่นี่ต่อแต่ไปสอบจนได้ในอนุญาตมา

เห็นว่าการสอบมีเปอร์เซ็นต์ที่ได้น้อยมากๆ บรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ด้วยความที่โปรแกรมนี้มันสามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่แต่งเพลงยันแสดงสด ทำให้ผู้สอนต้องรู้ทุกเรื่องไม่ใช่แค่ฉันเคยเป็นคนทำเพลงแล้วฉันมาสอนได้เราต้องรู้เรื่องซาวด์ดีไซน์ รู้เรื่องการแสดงสด การเล่นดีเจ การทำเพลง มันเลยส่งผลให้การสอบไม่เหมือนการสอบทั่วไป ซึ่งเป็นการสอบคัดจากคนทั้งโลก และทั้งปีเขาเปิดแค่รอบเดียว ซึ่งบางปีเขาไม่เปิดด้วยนะถ้าเขารู้สึกว่าคนสอนเขาเยอะแล้ว (หัวเราะ) ซึ่งตอนนี้ผมเป็นคนไทยคนเดียวที่มีใบอนุญาตโปรแกรมนี้ และปัจจุบันโรงเรียนของผมกลายเป็นเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ของเขารู้สึกว่ามีไม่ถึงห้าที่ในเอเชียมีอุปกรณ์และหลักสูตรทุกอย่างเหมือนที่ผมเคยเรียนที่ต่างประเทศเลย

“คุณต้องไปถามคนฟังก่อนว่าเขาอยากฟังอะไร เพราะเราไม่สามารถเอาคนฟังลูกทุ่งมาฟังเพลงป๊อป เราไม่สามารถเอาคนฟังเพลงป๊อปมาฟังเพลงลูกทุ่งได้ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ที่ไหน เอาจุดที่คุณอยู่ก่อน”

มาพูดถึงเรื่องดนตรีกันบ้าง การมาถึงของอิเล็กทรอนิกส์มิวสิกเปลี่ยนทัศนคติของคนในวงการเพลงไปแค่ไหน

มันเป็นการทำให้ทุกคนที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังตื่นตัว ทำให้เห็นว่าวันนี้ถ้าคุณจะทำเพลงก็ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ในสตูดิโอใหญ่แล้ว ที่คุณเห็นคนนั่งกดคอมพ์เล่นๆ ในห้องนอน นั่นคือสตูดิโอของเขาการทำเพลงวันนี้มันไม่ได้จำกัดโอกาสในเรื่องของอายุและความสามารถอีกต่อไปแล้ว ทุกคนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ และมันรองรับถึงขั้นที่คุณไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางดนตรีเลย คุณก็สามารถทำเพลงได้แล้ว นี่คือคอนเซ็ปต์หลักของโรงเรียนผมเลย ไม่ต้องมีพื้นฐานดนตรีคุณก็สามารถทำเพลงได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นนักการเมือง ที่ผมพูดมานี่เคยเป็นนักเรียนของผมมาหมดแล้วนะครับ (หัวเราะ) มันหลากหลายมาก

คือมันรองรับคนที่อยากทำ เขาอาจไม่มีความรู้เรื่องดนตรี แต่ว่าเขามีอะไรอยู่ในหัว และอยากเอาออกมา ซึ่งซอฟต์แวร์มันพาเขาไปถึงขนาดนั้น บางทีเราเห็นเด็กตัวเล็กๆ ทำเพลงเล่นๆ ลองไปฟังดูดีๆ จะรู้ว่าไม่ธรรมดาเลยนะฮะ เทคโนโลยีมันก้าวกระโดดไปเร็วมาก ซึ่งศิลปินอย่างพี่ป๊อดพี่เมธี โมเดิร์นด็อกก็มาเรียนที่นี่ หรือพี่เป็กวงซีล พี่บี พีรพัฒน์ พี่ๆ ศิลปินเหล่านี้เขาไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก พวกเขาเป็นฮีโร่ของเราสมัยเด็กๆ หมดเลยนะ เรารู้สึกตื่นเต้นที่พี่ๆ เขาสนใจเรื่องนี้และเขาอยากเอาไปพัฒนางานเพลงต่อ เรายังจำได้วันที่โมเดิร์นด็อกออกอัลบั้มคาเฟ่ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์มิวสิกขนาดนั้น ถ้าเป็นเทคโนโลยีในวันนี้ มันจะสุดยอดขนาดไหน

ฟีดแบ็กจากพี่ๆ ศิลปินที่มาเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

เขาบอกว่ามันเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำให้จินตนาการของเขามันง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะ จากแต่ก่อนเวลาเขาจะเอาจินตนาการของตัวเองออกมา เขาต้องไปสตูดิโอ ไปใช้เครื่องมือต่างๆ แต่ตอนนี้เขาสามารถทำทุกอย่างได้ที่คอมพิวเตอร์ตัวเองเครื่องเดียว

แล้วความง่ายมันจะมาพร้อมกับความมักง่ายในวงการเพลงหรือเปล่า

จริงๆ แล้วมันอยู่กับสิ่งที่เราปลูกฝังให้กับนักเรียนของเรามากกว่า ถามว่าความมักง่ายมีไหม มันเต็มไปหมดเลยฮะในเพลงที่เด็กๆ ทำ แต่จริงๆ แล้วลึกๆ ในนั้นผมไม่อยากเรียกว่าความมักง่ายหรอกแต่ดนตรีมันเป็นเรื่องของไอเดียมากกว่า เขาอาจจะไม่รู้ทฤษฎีเล่นเครื่องดนตรีไม่เป็น แต่ว่าเขาทำออกมาได้ดีไง คนรู้ทฤษฎีก็เหมือนปกป้องตัวเอง ว่าทำอย่างนี้จะมักง่ายไหม แต่ไม่ต้องห่วงเราปล่อยเขาทำตามไอเดียไปก่อน แล้วทฤษฎีค่อยมาเสริมกันทีหลังได้ ถ้าวันนี้เขาทำดีแล้ววันนี้เขามีทฤษฎีมาเสริม มันยิ่งดีกว่าเดิมสิ แต่ถ้าวันนี้เขามีทฤษฎีแต่ไม่มีไอเดีย อันนี้สิยากกว่า ผมว่าในอนาคตสิ่งสำคัญที่ควรสอนเด็กๆ ในมหาวิทยาลัยในห้องเรียน คือการเปิดโอกาสไอเดียและให้พื้นฐานเขา สองสิ่งนี้เอง ให้ความสำคัญกับคำว่าพื้นฐาน สิ่งที่เหลือให้เขาไปต่อยอดเอาเอง

มีความเข้าใจอะไรผิดๆ เกี่ยวกับดนตรียุคใหม่อีกไหม

ผมเคยพานักเรียนที่สอนไปแข่งดนตรีแล้วเอาอุปกรณ์ที่เขาไม่เคยเห็นพวกนี้ไปเล่น ก็โดนฟีดแบ็กกลับมาว่าเพลงของพวกมึงเป็นเพลงเฉพาะกลุ่มว่ะ เฮ้ยมันรุนแรงมากนะ คุณตามโลกไม่ทันหรือเปล่า อย่าเอาสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตมาเป็นตัวตัดสินสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตสิ ผมมองว่าถ้าผู้ใหญ่ทุกวันนี้เปิดใจและลองเข้ามาดูกันสักนิดว่าเกิดอะไรขึ้น มันมีอะไรน่าสนใจเยอะมาก บางอย่างเป็นองค์ความรู้ในอดีตจริง แต่มันมีของใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเยอะมาก อย่าเอาอายุหรือประสบการณ์มาเป็นตัวกั้น ทุกวันนี้ผมเองก็ยังเรียนอยู่เลยฮะ

จริงๆ เสน่ห์ของดนตรีมันคือการไม่ไปตัดสินรสนิยมของคนอื่นหรือเปล่า แต่คนไทยชอบตัดสินกันเหลือเกิน

ผมว่ามันเป็นธรรมชาติของอุตสาหกรรมดนตรีของไทยมากกว่า ที่ถูกสร้างและปลูกฝังมา แต่ถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมามันดีไหม ในแง่มุมหนึ่งมันดี เพราะว่าในอดีตระบบพวกนี้ทำให้เรามีเพลงไทยป๊อปดังๆ มากมาย แต่ระบบนั้นมันไปสร้างความฝันทางดนตรีในอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนคิดว่าต้องเข้าไปที่ค่ายเพลง ต้องออกอัลบั้มเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งมันก็ดีที่ทำให้เกิดระบบมืออาชีพ และมาตรฐานให้เกิดขึ้นในวงการ เพราะถ้าคุณไม่มืออาชีพพอคุณจะไปถึงจุดนั้นไม่ได้

แต่กลับกันในวันนี้พอมีอุปกรณ์ที่คนทำเพลงได้เอง สามารถส่งเพลงไปถึงผู้ฟังได้ด้วยตัวเองมันไม่มีตรงกลางแล้ว แต่มันก็ทำให้เราอยู่ในยุคที่มีเพลงที่ดีและไม่ดีผสมกัน ซึ่งบางทีเพลงที่ไม่ดีมันดันมีบางจุดที่ไปกระแทกใจคนฟังเลยดัง ข้อเสียคืออย่าให้คนฟังคิดว่าเพลงไม่ดีพวกนี้คือมาตรฐาน มันจะทำให้คนที่ทำมาตรฐานดีๆ หมดกำลังใจจะทำ อันนี้ผมต้องขอพูดในเรื่องการก๊อปเพลงจากต่างประเทศนะ ซึ่งเราเห็นว่ามีเยอะมาก แล้วพอถูกจับได้ก็บอกว่า ขอโทษครับรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมจะลบเพลงละกัน แต่พอลบเพลงไปแล้ว เพลงมันดังไปแล้ว ร้านเขาก็จ้างแล้ว มันกลายเป็นความมักง่ายไปแล้วนะในวงการเพลง

เราอยู่ในโลกที่ง่ายและเร็ว มีคนสำเร็จล้มเหลวเป็นรายวินาที คนทำเพลงทุกวันนี้ควรจะจัดการตัวเองอย่างไร

มันอยู่ที่การตั้งเป้าเลย ว่าเราทำเพลงขึ้นมาเพื่ออะไร เราจะสร้างรายได้จากมัน หรือเป็นที่ปลดปล่อยแรงบันดาลใจของเรา เพราะถ้าคุณทำเพื่อแรงบันดาลใจ ก็อย่าไปตัดพ้อเรื่องยอดวิว ทำไมเราทำเพลงดีขนาดนี้ไม่มีคนฟัง อย่าไปตัดพ้อ แต่ถ้าอีกครึ่งหนึ่งคุณอยากทำเพลงให้คนฟัง คุณต้องไปถามคนฟังก่อนว่าเขาอยากฟังอะไร เพราะเราไม่สามารถเอาคนฟังลูกทุ่งมาฟังเพลงป๊อป เราไม่สามารถเอาคนฟังเพลงป๊อปมาฟังเพลงลูกทุ่งได้ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ที่ไหน เอาจุดที่คุณอยู่ก่อนวันนี้คุณอยู่กรุงเทพฯ คุณก็ลองทำเพลงให้คนกรุงเทพฯ ฟังก่อน ถ้าคุณอยู่อีสาน คุณรู้ไหมว่าแต่ละภาคเขามีบีทของเขานะ ถ้าคุณเลือกอีสานใต้ คุณก็เลือกทำบีทให้คนอีสานใต้ฟัง แบบนี้ได้ไปงานวัดทุกวัน คนอีสานใต้เขาก็จ้างคุณตลอดนั่นแหละ

แล้วค่ายเพลงจำเป็นแค่ไหนในยุคนี้เพราะปัจจุบันคุณเองก็มีค่าย MAdZ Entertainment ของคุณเองด้วย

ถามว่าปัจจุบันค่ายเพลงจำเป็นไหม ผมพูดในฐานะคนที่เคยผ่านการทำงานกับค่ายใหญ่มา และทุกวันนี้ก็เปิดค่ายเพลงของตัวเองนะ คือเมื่อก่อนตอนที่เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน ผมเข้าใจว่าค่ายเพลงเริ่มไม่จำเป็นแล้วนะ แต่จริงๆ มันจำเป็นบางคนเป็นเน็ตไอดอลทำเพลงเอง มันจะไปได้ถึงจุดเดียว เขาจะดังได้แค่ในโซเชียล แต่เขาไม่สามารถดังออกไปนอกวงของเขาได้ ซึ่งค่ายเพลงต่างๆ ก็จะมาซัพพอร์ตตรงนี้ จะทำยังไงให้คุณออกจากวงโซเชียลมาสู่วงอื่นๆ ได้ ผมว่าค่ายเพลงก็คือที่ปรึกษา สำหรับคนที่มีเพลงอยู่แล้วและอยากให้เพลงนี้กระจายไปสู่วงนอก หรือใครที่ร้องเพลงเป็น แต่ทำเพลงไม่ได้ หรือคุณไม่มีงบประมาณในการสร้างงานต่างๆ ค่ายเพลงก็ช่วยคุณตรงนี้ได้ ค่ายเพลงจึงจำเป็น และในขณะเดียวกันเราแค่เป็นพี่เลี้ยงเขา ให้เขาประสบความสำเร็จ และมันจะเป็นความสำเร็จร่วมกัน ผมเลยตัดสินใจเปิดค่ายเพลง ในทางกลับกัน ถ้าค่ายเพลงล้มหายตายจาก นั่นหมายความว่า เพลงดีๆ จะไม่มีวันส่งถึงคนบางคนแน่นอน

“โอกาสจะไม่รอคุณ พรุ่งนี้โอกาสอาจจะไม่มาเลยก็ได้ และมันจะไม่มานั่งถามว่าคุณทำได้หรือเปล่า เพราะถ้าคุณทำไม่ได้โอกาสนั้นจะเดินผ่านคุณไปเลย”

กลัวการแข่งขันในอุตสาหกรรมดนตรียุคนี้ไหม

ผมไม่เคยกลัวเลยว่าวันนี้จะมีคู่แข่งเกิดใหม่ เพราะผมคิดใหม่ทำใหม่ทุกวัน เพราะโรงเรียนนี้มันเริ่มจากไอเดียใหม่ และมีใหม่ทุกเดือนทุกปี มีการปรับหลักสูตรทุกปี ใครจะมาก๊อปเราก็ไม่กลัว เพราะไอเดียเราไม่มีวันหมด ถ้าคนก๊อปเขาก็จะได้แค่ก๊อป เราทำของเราใหม่ไปเรื่อยๆ เหมือนกันกับค่ายเพลง ผมรู้สึกว่า มันยังมีช่องทางที่คนไม่เห็นอีกเยอะ ใครจะไปรู้ว่า พวกแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่สร้างมาอย่างเฟซบุ๊ก เขารู้ไหมว่าเขาจะรวย หรือแกรบไบค์ ไม่มีใครรู้หรอก แต่เขากล้าคิดและกล้าทำ

ประสบการณ์ในวงการดนตรีที่ผ่านมาให้อะไรกับคุณบ้าง

มันสอนให้เราต้องหาความรู้เยอะๆ อย่าคิดว่าเรารู้แล้ว อินเทอร์เน็ต กูเกิลไม่ได้บอกทุกเรื่อง ผมโชคดีที่ได้เห็นสังคมสองรูปแบบ น้องๆ หลายคนอาจจะเห็นสังคมรูปแบบเดียวเลยคิดว่าสิ่งอยู่ในโซเชียลคือทุกอย่าง ผมเคยนั่งอยู่ในห้องอัดเป็นเดือนๆ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เราได้เห็นสิ่งที่หนังสือเรียนไม่ได้บอกเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้เราได้รู้จักกับพี่ๆ นักดนตรี ไปตามติดเขาเลยครับ ไปเรียนรู้จากเขาเลย หรือถ้ามีโอกาสทำ ก็ทำเลย

แต่สิ่งที่อย่าลืมคือ โอกาสไม่ได้มาตลอดเวลา อย่าไปคิดว่าฉันจะรอไป 1-2 ปี แล้วครั้งหน้าค่อยทำให้มันดี เพราะโอกาสจะไม่รอคุณ พรุ่งนี้โอกาสอาจจะไม่มาเลยก็ได้ และมันจะไม่มานั่งถามว่าคุณทำได้หรือเปล่า เพราะถ้าคุณทำไม่ได้โอกาสนั้นจะเดินผ่านคุณไปเลย ผมว่าชีวิตเรามีโอกาสไม่เกิน 2-3 ครั้งหรอก ผมเคยมีโอกาสและก็เคยเสียมันไปแล้วครั้งหนึ่งซึ่งมันก็เกินพอแล้ว อย่าให้คนรอบตัวหรืออะไรมาปิดกั้นเรา เราคิดแล้วต้องทำเลย ทุกอย่างอยู่ในคอมพ์แล้ว ลุยเลย ทำเลย และถึงจุดหนึ่ง อย่าหลงว่าตัวเองเก่ง ทุกวันนี้ผมยังเรียนอยู่