เพิ่งมีโอกาสชม Bohemian Rhapsody (2018) ในรอบท้ายๆ ก่อนจะหลุดโปรแกรม ดีเลย์มาหลายวันเชียวค่ะ มีหลายสิ่งที่น่าประทับใจจนต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง ใครที่ยังไม่ได้ชม แต่ไม่ต้องกลัวนะคะ เดี๋ยวช่วงประกาศผลรางวัลจากสถาบันต่างๆ ต้นปี หนังจะกลับมาฉายอีกรอบแน่นอน เพราะสาขานักแสดงนำชายน่าจะต้องมีชื่อ ‘รามี่ มาเล็ค’ เข้าชิงหลายสถาบันอยู่ (แต่ ณ ตอนนี้มีชื่อเข้าชิงและคว้าลูกโลกทองคำไปก่อนนะคะรามี่)

Bohemian Rhapsody ไม่ใช่หนังที่พาเราไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ แห่งวง Queen เท่านั้น แต่หนังยังชวนให้นึกถึง gay icon ที่เผอิญร่วมสมัยกับเฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ อีกท่านหนึ่งแบบบังเอิ๊ญบังเอิญค่ะ Touko Laaksonen หรือเจ้าของฉายา Tom of Finland ชื่อนี้คนไทยอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ได้เห็นภาพวาดของเขา เกย์ไทยและเกย์ทั่วโลกจะร้อง อ๋อ ทันที

น่าแปลกใจที่ชีวิตของสองเกย์ผู้ยิ่งใหญ่ ถูกหยิบยกเอามาทำเป็นหนังในเวลาไล่เลี่ยกัน Tom of Finland ออกฉายในปี 2017 และหนึ่งปีถัดมาเป็นปีของ Bohemian Rhapsody ที่หลายคงได้ชมกันแล้ว จะพบว่านอกจากหนังจะฉายไล่เลี่ยกันแล้ว เวลาในชีวิตจริงของทั้งสองท่านต่างมีชื่อเสียงโด่งดังในทศวรรษเดียวกันด้วย (1970-1991) และที่สำคัญ ทั้งคู่ยังเสียชีวิตเดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน แต่ห่างกันแค่ 17 วัน (Laaksonen เสียชีวิต 7 พ.ย. 1991 ส่วนเฟรดดี้ เสียชีวิต 24 พ.ย. ปีเดียวกัน) ดิฉันไม่แน่ใจนักว่าเขาทั้งคู่รู้จักกันส่วนตัวหรือไม่ แต่การอ้างอิงถึงกันในหนังทั้งสองเรื่อง บ่งบอกได้ว่าทั้งสองท่านรู้จักชื่อเสียงของกันและกันข้ามทวีปแน่นอน

Touko Laaksonen เกิดทศวรรษ 20s ในครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองคาริน่า ประเทศฟินแลนด์ เป็นคนมีพรสวรรค์ด้านการขีดๆเขียนๆ มาตั้งแต่ในวัยรุ่น เข้าศึกษาด้านโฆษณาในเมืองเฮลซิงกิ แต่ดันเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเสียก่อน Laaksonen จึงถูกเกณฑ์ไปร่วมรบโดยปริยาย ทว่าในสนามรบนี้เองที่ตัวตนของเขาชัดเจนขึ้น เขามีเซ็กซ์กับเพื่อนทหาร และอีกหลายคนในสวนสาธารณะ ทั้งยังได้รู้ความลับของนายพลชั้นผู้ใหญ่ว่าใจเดียวกันอีกด้วย

ความชัดเจนในตัวตน ทำให้ Laaksonen เริ่มวาดภาพคนในเครื่องแบบที่มัดกล้ามใหญ่โต กล้ามเนื้อฟิตไปทุกส่วน (ซึ่งจริงๆ ก็ตั้งใจให้มันใหญ่โตไปทุกส่วนแหละ รวมทั้งอวัยวะเพศด้วย) ก่อนจะพัฒนาภาพเขียนของตัวเองไปสู่นายแบบแจ็กเก็ตหนัง หนวด บิ๊กไบค์ รองเท้าท็อปบู๊ตแบบทหาร และอีกมากมาย แต่ภาพวาดทั้งหมดเผยแพร่ไม่ได้ เพราะในทศวรรษ 50s นั้น เกย์เป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมยุโรป ขืนโป๊ะแตกมีหวังโดนตื้บตาย แต่แล้ววันหนึ่งก็เหมือนพระเจ้าทรงโปรด ในปี 1956 เขาส่งผลงานไปให้นิตยสาร Physique Pictorial ของอเมริกา ซึ่งถูกอกถูกใจ Bob Mizer บรรณาธิการเป็นยิ่งนัก งานของเขาได้รับการตีพิมพ์ในฤดูใบไม้ผลิปีถัดมา พร้อมกับฉายา Tom of Finland ที่บรรณาธิการ Physique Pictorial เป็นผู้ตั้งให้

ในทศวรรษ 60s ชื่อเสียงของ Tom of Finland เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในอเมริกา แล้วค่อยๆ ลามไปยุโรป และงานของเขายังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่เกย์ใช้ในการสื่อสารตัวตนซึ่งกันและกัน แม้จะจำกัดอยู่ในแวดวงชาวเราในช่วงแรกก็ตาม จนกระทั่งทศวรรษที่ 70s ไม่มีเกย์คนไหนในโลกที่ไม่รู้จัก Tom of Finland งานของเขากลายเป็นต้นแบบของหนังสือโป๊และอุตสาหกรรมหนังโป๊ในเวลาถัดมา Laaksonen ได้รับเชิญมาปรากฏตัวในอเมริกาบ่อยครั้ง Laaksonen กลายเป็นเซเลบริตี้ที่เกย์อเมริกันยุคนั้นต้องรู้จักและเคยซื้องานของเขาไป ‘ติ้ว’ ที่บ้านไปโดยปริยาย

ตัดกลับมาที่เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ เขาได้รับการยอมรับให้ร่วมวงกับไบรอัน เมย์ และโรเจอร์ เทย์เลอร์ ในปี 1970 ในชื่อวง Smile จนกระทั่งจอห์น ดีคอน เข้ามาร่วมวงในปีถัดมา ชื่อวงจึงมีการเปลี่ยนใหม่เป็น Queen และเริ่มสร้างชื่อเสียงที่โด่งดังอย่างรวดเร็วจากยุโรปสู่อเมริกา แม้ความโด่งดังจะทำเฟรดดี้กลายเป็นร็อกไอคอนของหนุ่มสาวยุคนั้นอย่างรวดเร็ว แต่ดูเหมือนตัวตนของเขาก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากการออกทัวร์ในสถานที่ต่างๆ และได้สัมผัสกับ ‘ประสบการณ์ตรง’ จนทำให้เขายอมรับกับแมรี่ ออสติน แฟนสาวที่เขาแต่งเพลง Love of My Life ให้นั่นแหละ ว่าเขาเป็นไบเซ็กชวล แต่สิ่งที่แมรี่ตอบกลับ ดันกลายเป็นประโยคที่ว่า ‘No Freddie, you are gay’

เฟรดดี้และแมรี่แยกทางกันในปี 1976 หลังจากนั้นไม่นาน เฟรดดี้ก็ตัดผมสั้นและไว้หนวดในสไตล์ Tom of Finland เป๊ะๆ เพื่อนในวงยังแซวเลยว่า You look gay. แต่นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ผู้กำกับใส่ไปในหนังเพื่อให้ได้อารมณ์สนุกสนานก็เป็นได้ หนังจะเริ่ดกว่านี้ หากเฟรดดี้หยิบงานของ Tom of Finland มาชม แต่แม้จะไม่ได้พาดพิงถึง ทั้งลุคใหม่ของเขาและฉากการเข้าผับในลุคแจ็กเก็ตหนัง ปราศจากเสื้อตัวใน และคนในผับก็แต่งตัวแบบเดียวกัน มันบ่งบอกไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า เขาได้เข้าไปในบาร์เกย์นั่นเอง

ในยุคที่เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก Laaksonen ก็โด่งดังมากเช่นกัน เพียงแต่ความโด่งดังของทั้งคู่ต่างกัน Laaksonen คือเกย์ไอคอนในช่วงปี 1970-1991 แต่เฟรดดี้โด่งดังมาในฐานะศิลปินร็อกผู้มีเสียงร้องและการแสดงบนเวทีที่ยอดเยี่ยม ไม่มีใครยอมรับในความเป็นเกย์ของเขา แม้จะมีข่าวฉาวรุนแรงในทศวรรษ 80s แต่สุดท้ายเฟรดดี้ก็ไม่ได้ปิดตัวเองแต่อย่างใด หลังคอนเสิร์ต Live Aid ในปี 1985 เขาใช้ชีวิตร่วมกับแฟนหนุ่ม จิม ฮัตตัน จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1991 เดือนเดียวกับ Laaksonen อย่างที่บอกไป ต่างกันก็ตรง Laaksonen เสียชีวิตด้วยโรคชรา แต่เฟรดดี้จากไปด้วยโรคเอดส์ ทิ้งไว้แต่ผลงานให้เราจดจำเขาทั้งคู่ตราบจนนิรันดร์

Text : เบญจกาย