Text : เบญจกาย
ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา วงการซีรีส์วายในบ้านเรามีเรื่องฉาว! สองเรื่องติดๆ กันค่ะ ตั้งแต่ ‘เดือนเกี้ยวเดือน 2’ ที่ซัดกันในโลกออนไลน์อย่างเมามันส์ ต่อด้วย ‘บังเอิญรัก เดอะซีรีส์’ ซึ่งซีซั่นแรกยังไม่ทันจบบริบูรณ์ดี ก็มีเรื่องวีนกันจนซีรีส์แตก ส่อแววว่าภาคสองจะไม่มีนักแสดงนำที่ชื่อ ‘เซ้นต์-ศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา’ ผู้รับบท ‘พีท’ อีกต่อไป
มองเผินๆ ทั้งสองกรณี เหมือนจะต่างกัน แต่เบื้องลึกที่ไม่ลับที่สุดนั้น ‘เหมือนกันทุกประการ’ มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ระหว่างใครน่ะหรือ? ถ้าไม่ใช่ ‘ผู้จัด’ และ ‘ผู้จัดการนักแสดง’
แล้วปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
เรื่องผลประโยชน์เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใครมาเนิ่นนานมากแล้ว แต่เคสของซีรีส์วายในบ้านเรา มันมาปะทุในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งไม่ได้มีแค่กรณีของซีรีส์ทั้งสองเรื่องที่เกริ่นไปเท่านั้น หลายเรื่องที่ไม่เป็นข่าวก็มีอยู่มาก เพียงแต่เรื่องพวกนั้นเขาตบตีกันก่อนจะเริ่มผลิต แล้วก็วีนกันวงแตกไปก่อนแล้ว เลยไม่มีดราม่าในโลกออนไลน์ให้เราได้เสพ เช่น ซีรีส์เกี่ยวกับเมียวิศวะ เป็นต้น
ก่อนจะแตะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อยากปูพื้นฐานความเข้าใจบางเรื่อง ให้คุณๆ ได้เข้าใจสักเล็กน้อยค่ะ เดี๋ยวพอเข้าประเด็นปุ๊บ จะได้ไม่ต้องมานั่งอธิบายอะไรให้ยืดยาวอีก
การทำซีรีส์หรือละคร ในยุคก่อนที่โซเชียลมีเดียจะบูมเหมือนในทุกวันนี้ นักแสดงส่วนใหญ่จะเซ็นสัญญาอยู่ 2 แบบ คือสัญญาระยะสั้น (เฉพาะในช่วงที่ต้องผลิตและโปรโมตละคร อาจจะแค่ 1-2 ปี ก็แล้วแต่จะตกลงกัน) และสัญญาระยะยาว หรือการเซ็นเพื่อเป็นนักแสดงในสังกัดของช่อง/บริษัท/ค่ายละคร โดยต้นสังกัดก็ต้องมีสิ่งที่จูงใจ อาทิ มีงานละครอย่างต่อเนื่องปีละกี่เรื่อง ก็แล้วแต่จะตกลง ความแตกต่างของการเซ็นสัญญาทั้งสองแบบนั้นต่างกันพอสมควร ถ้าเป็นสัญญาระยะสั้น นักแสดงอาจจะมีโมเดลลิ่ง หรือมีผู้จัดการส่วนตัวดูแลอยู่แล้ว แต่ยินดีร่วมงานกับผู้ผลิตหรือต้นสังกัดที่ผลิตซีรีส์หรือละครเรื่องนั้นๆ โดยผลประโยชน์ก็ตกลงกันไปว่า การรับงานจะต้องหักเงินเข้าผู้ผลิต (ต้นสังกัด) กี่เปอร์เซ็นต์ ผู้จัดการส่วนตัวได้กี่เปอร์เซ็นต์ และนักแสดงได้กี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนสัญญาระยะยาวดูจะง่ายกว่า เพราะเป็นการผูกสมัครรักใคร่เข้าเป็นนักแสดงในสังกัด เซ็นกันยาวๆ เริ่มต้นที่ 5 ปี หลังจากจบสัญญา ถ้าแฮปปี้ก็อยู่ต่อ ถ้าไม่แฮปปี้ก็ค่อยว่าย้ายสังกัด (เราจึงได้เห็นดาราช่อง 3 ช่อง 7 แกรมมี่ และค่ายอื่นๆ ย้ายสลับกันไปมาเป็นว่าเล่นไงล่ะ)
แต่เคสที่มีปัญหาเสมอคือสัญญาระยะสั้น เพราะเมื่อตลาดทีวีดิจิตอลและแอพพลิเคชั่นอย่าง LineTV เปิดโอกาสให้มีผู้จัดหน้าใหม่ๆ ได้จำนวนมาก มันก็กลายเป็นช่องทางในการหารายได้จากตัวเด็กในช่วงเวลาหนึ่งๆ ไปด้วย ไม่ต้องแปลกใจเลยค่ะว่าทำไมถึงมีนักแสดงรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายกว่าแต่ก่อนโดยที่ป้าแก่พ่อเฒ่าอย่างเราก็ตามไม่ทัน
หลายท่านอาจกำลังคิดอยู่ว่า การทำซีรีส์วายนี่กำไรมันเป็นกอบเป็นกำขนาดนั้นเลยหรือ? ขนาดละครดังๆ ยังยอดโฆษณาตกเลย คุณคิดถูกค่ะ รายได้จากการขายโฆษณาทางทีวีไม่ได้ดีเท่าไหร่ เผลอทำได้ก็แค่เสมอตัว เพราะพฤติกรรมการชมละคร/ซีรีส์ เปลี่ยนจากการดูตามช่วงเวลาออนแอร์ไปสู่การดูผ่านมือถือ และจะดูเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ เม็ดเงินโฆษณาจะเทไปสู่ LineTV และบรรดาแพลตฟอร์มที่เป็น contents provider อื่นๆ อย่างเป็นกอบเป็นกำ
เมื่อกำไรจากโฆษณาหด แต่ช่องทางการทำกำไรอื่นๆ ยังมีอยู่ สิ่งเดียวที่ผู้จัดซีรีส์วายจะต้องทำให้ได้ก็คือการสร้างฐานแฟนคลับสาววายให้กับนักแสดง หรือการปั้นให้เป็นคู่จิ้นที่มีคนเลิฟมากๆ ก่อนจะไปหารายได้จากการพาเด็กออกอีเว้นต์แทน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะคะ ว่า micro influencer จะมีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้ามากกว่าดาราดังๆ หลายท่าน ยิ่งคู่จิ้นคู่ไหนแฟนคลับเยอะ เวลาออกงานทีสามารถยึด #hashtag ในทวิตเตอร์ได้เป็นหมื่นเป็นแสน ราคาค่าตัวก็ไม่แพงเท่าดาราบิ๊กเนมที่แสนจะเรื่องเยอะ อานิสงส์ในการประชาสัมพันธ์ก็จะไปตกอยู่กับเจ้าของสินค้าหรือเจ้าของงานอีเว้นต์โดยปริยาย (ใครที่ไม่เคยเห็นศักยภาพของสาววาย กรุณาเดินออกจากถ้ำมาชมโลกกว้างบ้าง แล้วจะเข้าใจ) เพราะบรรดาแฟนคลับสาววายนี้ พวกเธอจิตใจงดงามมาก เวลานักแสดงบอกให้ช่วยติด #hashtag อะไร พวกนางจะช่วยด้วยความเต็มใจและเต็มที่ เพราะสาววายต่างรู้สึกแบบเดียวกันว่า ขอบคุณเจ้าของสินค้าและเจ้าของงานที่สนับสนุนนักแสดงที่ตัวเองรัก
คุณเริ่มเห็นเค้าลางของปัญหาแล้วใช่มั้ยคะว่าจะเกิดอะไรขึ้น? ในลำดับต่อไป
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผู้จัดการส่วนตัว(หรือโมเดลลิ่ง) ไม่ยอมเซ็นสัญญากับผู้จัดซีรีส์ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม แค่ยินยอมให้นักแสดงร่วมแสดงกับซีรีส์นั้นๆ ได้ ปัญหาที่จะตามมาก็หนีไม่พ้น เมื่อซีรีส์ออนแอร์แล้ว นักแสดงดังแล้ว แฟนคลับทะลักทะล้น นักแสดงก็พร้อมที่จะเฉิดฉิ่งไปทางใครทางมันได้ (หากผลประโยชน์ไม่ลงตัว) โดยมองข้ามความรู้สึกของแฟนซีรีส์ไปอย่างไม่มีเยื่อใย (ถ้าเป็นซีรีส์ที่มีภาคเดียวจบคงไม่มีปัญหาค่ะ แต่นิยายวายสมัยนี้ เขียนกัน 3-4 เล่มจบ แล้วแยกไปแต่งนิยายอีกเหลายเรื่อง เพื่อรองรับการจิ้นตัวละครอื่นๆ ด้วย การทำซีรีส์แค่ภาคเดียวมันก็เลยรองรับความฟินได้ไม่เต็มร้อย โดยเฉพาะคนที่เคยอ่านนิยายมาก่อน)
หลายท่านอาจจะกำลังนึกตามอยู่ว่า ทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ? ทำไมผู้จัดยอม เดี๋ยวครั้งหน้าจะมาแจกแจงให้ฟังค่ะ เรื่องมันยาว