คนไทยรู้จักย่าน ‘พัฒน์พงศ์’ บนถนนสีลมเป็นอย่างดี แต่ภาพลักษณ์ที่คนไทยจดจำต่อย่านนี้ พูดกันตรงๆ ก็คือ ‘ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก’ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ‘เซ็กซ์’ ซึ่งอัศจรรย์ใจถึงขนาดที่คนดังระดับโลก ยังต้องหาโอกาสมาชมด้วยตาตัวเอง “โอ้แม่เจ้า เธอใช้ ‘จิมิ’ เป่าลูกดอกได้อย่างไร ไอไม่อยากจะเชื่อเลย”

แต่เบื้องหลังการกำเนิดของพื้นที่พัฒน์พงศ์ มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมร้อยปี ผ่านกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่มี ‘ซีไอเอ (Central Intelligence Agency)’ ของอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องกับย่านนี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้เปลี่ยนพื้นที่ที่ทันสมัยที่สุดในพระนคร ให้กลายเป็นแหล่งโลกีย์ที่สุดของกรุงเทพมหานคร

ซีไอเอเข้ามาเกี่ยวข้องอะไรกับพัฒน์พงศ์เป็นเรื่องที่ควรย้อนอดีตไปศึกษาให้จัดเจน ผ่านพิพิธภัณฑ์ใหม่ในย่านนี้ที่ชื่อ ‘พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์’ ที่ก่อตั้งโดยนายไมเคิล เมสเนอร์ (Mr.Michael Messner) ฝรั่งชาวออสเตรีย ที่เติบโตมาในบ้านที่คุณพ่อเป็นศิลปินและเคยดูแลพิพิธภัณฑ์ที่บ้านเกิดมาก่อน แต่โชคชะตาพาเขามาที่ประเทศไทยและได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวไทย


ไมเคิลตัดสินใจลงหลักปักฐานที่นี่ เริ่มธุรกิจจากร้านอาหารในย่านพัฒน์พงศ์ เมื่อเวลาผ่านไปเขาได้สัมผัสประสบการณ์จากลูกค้าขาประจำย่านนี้ล้วนมีเรื่องเล่าที่ไม่ธรรมดา และมีจำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นทหารผ่านศึกจากช่วงสงครามเวียดนาม บ้างเป็นสายสืบให้กับ CIA บ้าง เป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นละแวกนี้ เขาจึงมีไอเดียริเริ่มที่จะสะสมร่องรอยประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 ปี รวมถึงเกร็ดความรู้ ความเป็นมา เบื้องหลังแสงสีและความเย้ายวนใจของถนนพัฒน์พงศ์อันเป็นย่านบันเทิงยามราตรีเก่าแก่ และมีชื่อเสียง ที่มีความผูกพันในเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างชาวไทยกับชาวอเมริกัน


พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์มีพื้นที่ 300 ตารางเมตร จัดแสดงเอกสารและสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุคสมัยสงครามเย็น (Cold War) ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อันมีสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) และจีนเป็นแกนนำ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่การเริ่มต้นเป็นพื้นที่สังสรรค์ของสายลับ CIA มาสู่แหล่งท่องเที่ยวย่านโคมแดงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมถึงดารา นักร้องชื่อดังระดับโลก ซึ่งพิพิธภัณฑ์มุ่งเน้นให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ และนำเสนอแง่มุมอันลึกลับของพัฒน์พงศ์อย่างนุ่มนวล ผ่านเทคนิคต่างๆ ที่ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชม มีการนำระบบแสง สี เสียง พร้อมสร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชม ด้วยการนำแท็บเล็ตขึ้นมาส่องภาพเงาบนผนังเพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติมของผู้คนในอดีตที่เคยเข้ามาในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นย่านที่จัดจ้านและน่าค้นหามากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ


ก่อนจะมาเป็นพัฒน์พงศ์ในวันนี้ ต้องย้อนเวลาสู่อดีตกันหน่อย

พัฒน์พงศ์เริ่มต้นที่เจ้าของที่ดิน นายตุ้น แซ่ผู่ ชาวจีนไหหลำ ผู้อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาตั้งรกรากที่ประเทศไทย ความขยัน อดทนทำงานหนัก และได้แต่งงานกับภรรยาชาวไทย จนเจริญก้าวหน้า ร่ำรวย และต่อมาได้รับสัมปทานทำเหมืองดินขาว ที่ต่อมากลายเป็นบริษัทปูนซีเมนต์ไทยในปัจจุบัน หลังจากนั้นไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงโปรดเกล้าพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ‘หลวงพัฒน์พงศ์พานิช’

ปี พ.ศ. 2470 หลวงพัฒน์พงศ์พานิชได้ซื้อที่ดินจำนวน 17 ไร่ เป็นทรัพย์สินของตัวเอง ในราคา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาที่ดินผืนนี้มีถนนตัดผ่านสองด้าน แนวคู่ขนาน คือถนนสีลม และถนนสุรวงศ์ จึงทำให้ที่สวนกล้วยพร้อมบ้านพักไม้สักค่อยๆ เปลี่ยนโฉมและพัฒนาขึ้นตามลำดับ หนึ่งในหัวจักรสำคัญก็คือลูกชายคนที่ 4 จากลูกทั้งหมด 7 คนของหลวงพัฒน์พงศ์พานิช หรือนายอุดม พัฒน์พงศ์พานิช ที่เดินทางกลับจากไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา และเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวกรองกลางของรัฐบาลสหรัฐ (CIA) เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2


เมื่ออุดมกลับมาประเทศไทยหลังจากสงครามโลกยุติลงไปแล้ว อุดมเข้ามาพัฒนาที่ดินของครอบครัว โดยเริ่มจากการตัดถนนผ่านที่ดินของตัวเอง ซึ่งแม้จะได้รับการคัดค้านจากครอบครัว เพราะตามหลักฮวงจุ้ยที่ถือว่าการตัดถนนผ่านที่ของตัวเองเป็นเรื่องไม่ควรกระทำ แต่นายอุดมกลับโต้แย้งว่าถ้าจะทำการค้าต้องทำแบบนี้ ทั้งยังสร้างอาคารพาณิชย์รูปแบบที่ทันสมัยเพื่อทำเป็นร้านต่าง ๆ และตั้งชื่อว่า ‘ซอยพัฒน์พงศ์’ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ด้วยความที่มีเพื่อนพ้องที่เป็น CIA จำนวนมากมาย เขาจึงเชิญชวนให้มิตรสหายเข้ามาทำธุรกิจในพัฒน์พงศ์ แต่เบื้องลึกที่ลึกกว่าการทำธุรกิจก็คือ ย่านนี้เป็นเซฟเฮ้าส์ของสำนักงานลับของซีไอเอในช่วงสงครามเวียดนาม ที่ใช้เป็นที่กบดาน เชื่อมประสานระหว่างอเมริกา-ไทย และเป็นจุดศูนย์กลางสั่งงานสงครามในเวียดนาม กัมพูชา และลาว เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

ในช่วงเวลานั้น จะกล่าวว่าย่านพัฒน์พงศ์ ‘เจริญสุด’ ในกรุงเทพมหานครก็ไม่ผิดนัก เพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ ทั้งบริษัทน้ำมัน และสายการบินจากทั่วโลก เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในย่านนี้อย่างครบถ้วน จนทำให้พัฒน์พงศ์กลายเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในขณะนั้น


จุดเปลี่ยนของพัฒน์พงศ์เกิดขึ้นในช่วงกลางยุค 70s ที่บริษัทต่างชาติเริ่มทยอยย้ายออกจากพื้นที่ไปตั้งสำนักงานที่อื่นๆ และพื้นที่ย่านนี้ถูกแทนที่ด้วยไนท์คลับต่างๆ ไนท์คลับเหล่านี้เอง กลายเป็นแหล่งแฮงก์เอ้าต์ของบรรดาซีไอเอทั้งหลาย แต่แล้ววันหนึ่ง หญิงสาวที่กำลังร่าเริงกับเสียงเพลงและเพลิดเพลินไปกับรสสุราที่จิบมาแต่หัวค่ำ ก็ทำให้เธอขึ้นไปเต้นบนเวทีอย่างเมามันส์ตำรวจสันติบาลได้เข้ามาห้าม โดยแจ้งแก่เจ้าของบาร์ว่า ‘ผิดกฎหมายไทย’ แต่เจ้าของบาร์ผู้ช่ำชองกฎหมายพอสมควรได้โต้แย้งว่า กฎหมายไทยห้ามการเต้นรำเป็นคู่ แต่เธอผู้นั้นเต้นเพียงคนเดียว จะผิดกฎหมายไทยได้อย่างไร ตำรวจไทยทำอะไรไม่ได้ จึงต้องปล่อยเลยตามเลย

วันต่อมา เจ้าของบาร์ได้จ้างผู้หญิงมาเต้นแบบเดี่ยวๆ หลายสิบคน จนกลายเป็นจุดกำเนิดของบาร์อะโกโก้แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นภาพลักษณ์ของย่านพัฒน์พงศ์ ก็เป็นเหมือนที่เรารู้สึก จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น World's most famous red-light districts

ประวัติศาสตร์ทั้งหมดของย่านพัฒน์พงศ์ถูกย่อมาไว้ในที่นี้ พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์แห่งนี้ อยากให้ทุกท่านไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่มีจุดกำเนิด ณ ที่นี่ โดยเฉพาะตัวละครผู้พันวอลเตอร์ อี. เคิร์ตซ์ในภาพยนตร์เรื่อง Apocalypse Now ของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ที่ได้แรงบันดาลมาจาก โทนี โพ (Tony Poe) นายพลจอมตัดหู ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ และเคยอาศัยในย่านพัฒน์พงศ์มาแล้ว


พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์

ค่าเข้าชม 350 บาทต่อท่าน (ไม่รวมเครื่องดื่มอื่นๆ ที่บาร์ของพิพิธภัณฑ์)
โปรโมชั่นซื้อบัตรเข้าชม 1 ใบ แถม 1 ใบ พร้อมรับเครื่องดื่มชา กาแฟ ฟรี
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 20.00 น. ที่พัฒน์พงศ์ซอย 2 (ตรงข้าม Food Land)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/patpongmusuem