โดยเบญจกาย

แม้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับ LGBT ในบ้านเราหลายภาคส่วนจะช่วยกันเดินเรื่องผลักดันกฎหมายแต่งงานเพศเดียวมาอย่างต่อเนื่องนานหลายปีแล้วก็ตาม แต่ทุกครั้งก็มีเหตุให้เกิด ‘วิวาทะ’ ในหมู่คนกันเอง โดยประเด็นที่มองต่างก็เข้าทำนองขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง ได้คืบจะเอาศอก นั่นล่ะค่ะ สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจะได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อไหร่ ไม่แน่ใจนักว่าระหว่าง ‘วันพรุ่งนี้’ กับ ‘ชาติหน้า’ อย่างไหนจะมาก่อนกัน

วันนี้เบญจกายถือโอกาสชวน ‘แดนนี่-กิตตินันท์ ธรมธัช’ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย หัวหอกสำคัญที่เดินเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น มาเปิดอกแน่นๆ ของนาง ระบายอุปสรรคทุกอย่างที่เกิดขึ้น แดนนี่กล่าวสั้นๆ เพื่อนำเข้าสนทนาของเราว่า “ประเทศไทยจะมีกฎหมายสมรสเพศเดียวกันแน่นอน แต่ถ้าคุณจะรอให้มีสิทธิมนุษยชนเต็มใบก่อนเนี่ย ประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่มีกฎหมายนี้”


งานของสมาคมฟ้าสีรุ้งเป็นอย่างไรบ้าง

สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยดำเนินงานมาประมาณ 20 ปีแล้วนะครับ เราดูแลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และประเด็นสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราได้ทำงานควบคู่กัน จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ครับ

ทำไมถึงมาจับงานทางด้านนี้ได้

โหพูดถึงเหตุการณ์ก่อตั้งสมาคมฯ เนี่ย ต้องย้อนกลับไปปี 2527 จะเรียกว่าโต๊ะทำงานโต๊ะแรกของสมาคมฯ อยู่ที่สวนลุมพินีก็ไม่ผิดนะ ตอนนั้นเริ่มมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง HIV/AIDS เข้ามา พร้อมเรื่องสาวประเภทสอง ที่ถูกตีตราว่านำเชื้อ HIV เข้ามาในเมืองไทย พอคนนึกถึงเชื้อ HIV ก็จะนึกถึงสาวประเภทสองไปพร้อมกัน แล้วความรู้เรื่อง HIV/AIDS ยังน้อยมาก ทุกคนมองว่าเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง รักษาไม่ได้เลย แล้วปกติคนทั่วไปจะมองว่าสาวประเภทสองเป็นคนที่ผิดปกติทางจิตด้วย ผิดธรรมชาติด้วย พอมาเจอโรคนี้ด้วยก็ถูกกล่าวหาสำส่อนทางเพศไปอีก การต่อสู้ของสมาคมฯ ก็เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันนั้นมา ท่านนายกสมาคมฯ ท่านแรกคืออาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ท่านทำงานอยู่ในระยะ 2-3 ปีแรก แต่ในขณะเดียวกันพี่เข้ามาอยู่ในสมาคมฯ ในฐานะเป็นสมาชิกสมาคมฯ เป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ เป็นที่ปรึกษากฎหมายสมาคมฯ จนกระทั่งเป็นอุปนายก ในเวลาที่ท่านอาจารย์วิโรจน์ท่านเป็นนายกสมาคมฯ

และขณะเดียวกัน เวลานั้นพี่ก็รู้สึกว่า เราถูกกดดัน เหตุการณ์มันคล้ายๆ กับ Stonewall คือสมัยนั้นพี่ทำธุรกิจ Entertainment เพื่อคนหลากหลายทางเพศ มีทั้งผับ ร้านอาหาร โรงแรม ศูนย์สุขภาพต่างๆ เสร็จแล้วจะมีตำรวจเขามาล้อมจับ เขาบอกว่าผับที่พี่ทำจะอยู่ตรงถนนรัชดาภิเษกไม่ได้ พูดประมาณว่าพื้นที่ตรงนี้จะมีกลุ่มคนที่เป็นเกย์ไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงถูกกดดันจากเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะมาก ถ้าเป็นธุรกิจเกย์จะถูกฝังไว้คำเดียวคือคำว่าเธอผิดธรรมชาติ เธอสำส่อนทางเพศ เธออยู่ในพื้นที่ฉันไม่ได้ จนกระทั่งเราออกไปออกต่อสู้ในรายการทีวีรายการหนึ่ง แล้วเราก็ต่อสู้จนกระทั่งเราได้ชัยชนะกลับมา เราพยายามบอกพวกเขาว่าเราเป็นกลุ่มที่ถูกปกตินะ


ตั้งแต่วันนั้นมาเราก็รู้สึกว่าในเมื่อเรามีองค์กรที่จะสามารถจะคุ้มครองปกป้องสิทธิ์คนได้แล้ว เราก็เริ่มนับหนึ่งในการพยายามเพื่อสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้อยู่ในระดับที่เรียกว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดี เฉกเช่นชายคนหนึ่งทั่วไป ผลงานอันแรกที่จะเห็นได้ชัดเจนก็คือในปี พ.ศ. 2549 เราไปยื่นฟ้องศาลปกครอง ตอนนั้นสาวประเภทสองไปเกณฑ์ทหารจะถูกบรรจุอยู่ใน สด.43 ว่าเป็นโรคจิตอย่างถาวร วันนั้นเราไปกับอาจารย์วิโรจน์ แล้วก็มีคุณตุ้ม (ปริญญา) ที่เป็นนักมวยนะครับ แล้วก็น้องน้ำหวาน สามารถ มีเจริญ จนกระทั่งปี 2555 ศาลปกครองก็มีคำตัดสินออกมา แล้วก็มีการต่อสู้จนมีคำใหม่ในกระทรวงกลาโหมที่ทำขึ้นมา จากคำว่า ‘โรคจิตถาวร’ เป็น ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ วันนั้นเป็นวันที่ต่อสู้ที่ได้ชนะ ทำให้สาวประเภทสองขึ้นมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเราอ้างอิงถึง WHO ที่ระบุใน ICD-10 ว่าคนรักเพศเดียวกันไม่ได้เจ็บป่วยทางจิต แล้วก็เอาคนที่เป็นสาวประเภทสองออกจากกลุ่มคำว่าความผิดปกติทางด้านอัตลักษณ์ด้วย

ในแง่ของพัฒนาการทางด้านสิทธิมนุษยชนของเราก็ถือว่าดีกว่าหลายๆ ประเทศในแถบนี้และตอนนี้ที่กำลังไฟต์กันอยู่ก็คือเรื่องพ.ร.บ.แต่งงานเพศเดียวกันและการเปลี่ยนคำนำหน้าอยากให้เล่าถึงพัฒนาการของตัวพ.ร.บ.แต่งงานนิดหนึ่งว่าในประเทศไทยเริ่มต้นมาอย่างไรและตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ก่อนจะก้าวไปสู่กฎหมายอีก 2 ตัวนะ เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 30 ได้ระบุเอาไว้ว่าจะเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ ภาษา ความพิการ ไม่ได้ ซึ่งในคำว่าเพศเนี่ยมันถูกบรรจุไว้ในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า คำว่าเพศ ให้หมายความรวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศ คนที่มีวิถีทางเพศ แล้วแสดงความมีตัวตนของเพศขึ้นมา ตรงนั้นเราได้เอาคำว่าเพศมาขยายความในเจตนารมณ์ ซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งที่ประเทศไทยมีการยอมรับในรัฐธรรมนูญปี 50 ส่วนปัจจุบันฉบับปี 60 ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิมนะ


แต่ในขณะเดียวกันผลพวงของรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ มันได้มีการผลิตผลออกมาเป็นกฎหมายลูกฉบับหนึ่ง ก็คือพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี 2558 ซึ่งเวลานั้นออกตามอนุสัญญา CEDAW ซึ่งเรามีพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้ไปเซ็นลงนามไว้หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกติการะหว่างประเทศ ICCPR, ICESCR หรือแม้กระทั่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่มีอายุถึงวันนี้ร่วม 71 ปี อนุสัญญา CEDAW หลัก Yogyakarta ทำให้เราถูกขับเคลื่อนออกมาเป็นพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในปี 2558 ออกมา ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นชัยชนะอย่างยิ่งของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ต้องเข้าใจว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ใช้จำเพาะคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ใช้กับผู้ชายก็ได้ หญิงก็ได้ และผู้ที่มีการแสดงออกที่แตกต่างทางเพศโดยกำเนิดตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งถือว่าใครจะมาเลือกปฏิบัติไม่ได้

ใครจะมาเลือกปฏิบัติไม่ได้?

ใช่ เพราะกฎหมายเขียนไว้เลยว่า จะกระทำ/ไม่กระทำ จะมีการกีดกัน แบ่งแยก จำกัดผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเพศ ที่บุคคลนั้นจะเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือผู้ที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดไม่ได้ อันนี้ถือเป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในระดับสากลที่มีกฎหมาย ซึ่งบางประเทศยังไม่มีเลย แต่ประเทศเรามี มันอาจจะยังไม่ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องมีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนทุกๆ 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77นะครับ เพราะฉะนั้นพอเราพูดถึงเรื่องนี้ ต้องบอกว่าเรามีการพัฒนากฎหมายที่ก้าวหน้าไปมาก แต่เราก็มาคำนึงว่า เอ๊ะ สิ่งหนึ่งที่เรายังขาดและไม่ได้ตามสิทธิมนุษยชนในพระราชบัญญัติความเท่าเทียมมีอะไรบ้าง เวลานี้เห็นง่ายๆ หากต้องก้าวสู่สากลทั่วโลกก็คือ เรื่องของการสมรสเพศเดียวกัน เรายังไม่มี เรื่องของการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ซึ่งประเด็นที่เราพูดคือเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเนี่ย ถ้าเปลี่ยนแล้ว สิทธิและหน้าที่ก็ต้องเปลี่ยนไปตามเพศที่ข้ามด้วยนะ ไม่ใช่เปลี่ยนคำนำหน้าอย่างเดียว


เราเลยมีการต่อสู้ต่อนะครับ แล้วก็เรียกร้องให้มีกฎหมายนี้เกิดขึ้น เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าวิวัฒนาการของคนน่ะ มันเป็นเหมือน 3 กล่อง กล่องหนึ่งธรรมชาติ แต่เราโดนฝังอยู่กับคำว่าผิดธรรมชาติ วันหนึ่งเราออกมาจากกล่องนี้ได้ ความเป็นธรรมชาติเรามีแล้ว เราก็ไปหากล่องที่ 2 คือสิทธิมนุษยชนที่พี่พูดถึงจากอนุสัญญาต่างๆ กติกาต่างๆ จากนั้นเราก็ไปหากล่องที่ 3 กล่องที่ 3 เราไม่มีเลยไง เรามีแค่ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เรายังขาดกฎหมาย การอยู่กินฐานะคู่ชีวิต หรือสมรสเพศเดียวกัน แล้วกฎหมายการเปลี่ยนคำนําหน้าชื่อกับสิทธิ์และหน้าที่ของคำนำหน้าชื่อเพศที่ถูกข้ามไป เพราะฉะนั้นถ้าเราถึงเรื่องของกติกาในเรื่องของพระราชบัญญัติคู่ชีวิต หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Civil Partnership นะครับ ซึ่งมันแตกต่างกับคำว่ากฎหมาย marriage หรือกฎหมายสมรส เราก็ต้องคิดย้อนหลังกลับไปว่าวันนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2555 เมื่อมีคู่รักชายกับชายไปจดทะเบียนสมรสกันในเขตจังหวัดเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายไม่ได้รับการอนุญาต โดยอ้างเหตุผลว่าประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 บัญญัติไว้แค่เป็นชายและหญิงเท่านั้น คู่รักเกย์คู่นี้เขาเลยมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเวลานั้นปี 55 ยังไม่มีกฎหมาย พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศนะ ก็เลยต้องไปยื่นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้นำเรื่องเข้าไปสู่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร เขาทำออกมาจนกระทั่งมีร่างแรก ที่เราเรียกว่าร่าง 15 มาตรา ซึ่งได้มีการนำเอาร่างนี้ไปทำประชาพิจารณ์ 5 ภาค แล้วก็จบที่รัฐสภา แต่ยังไม่ทันได้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีก็เกิดปฏิวัติรัฐประหารเสียก่อนในปี 57 กฎหมายนี้เหมือนจะถูกตีตกไป แต่พอ คสช. เข้ามาดำเนินการรัฐประหารแล้ว ได้มีการหยิบยกร่างนี้ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการทบทวนอีกครั้ง จึงได้เกิดร่างที่ 2 หรือร่างของ 63 มาตรา ซึ่งได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณะประมาณวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เป็นวันงาน IDAHOT ที่หอศิลป์วัฒนธรรมตรงปทุมวัน ในขณะเดียวกัน เนื้อหาสาระมันไม่ตรงกับกฎหมายสมรสหรอก มันขาดตั้งแต่ตอนสมัย 15 มาตราแล้วนะครับ พอเป็น 63 มาตรา หรือร่างที่ 2 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมว่าความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ทำไมมันไม่เท่ากับของชายหญิง ทำไมยังขาดซึ่งสิทธิสวัสดิการ การรับการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน เรื่องการเซ็นยินยอมผ่าตัดก็ไม่มี การฟ้องร้องคดีอาญาแทนก็ไม่มี การจัดการงานศพก็ไม่ได้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะแยะ จนกระทั่งวันหนึ่งเขามีการทบทวนอยู่นะ จาก 63 มาตรา

ช่วงนี้พี่เริ่มมีบทบาทแล้วคือทางรัฐบาลเขามีนโยบายให้มีการทบทวนโดยให้ดูเรื่องกฎหมายต่างประเทศเป็นหลักว่าเขาทำกันอย่างไร เรื่องของศาสนาว่าศาสนามีข้อกีดกันหรือไม่สนับสนุนเช่นไร มีการดึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะทบทวนร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ด้วย วันที่พี่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งคือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 มีภาคประชาสังคม 7-8 ท่าน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 30 กว่าคนที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้ จนกระทั่งกลายมาเป็นร่างอัมพวาโมเดล ซึ่งมี 98 มาตรา แต่ร่างนี้เราไม่นับเป็นร่างใน 5 ร่างนะ เหตุว่าเราไปพยายามที่จะเอาเนื้อหาของกฎหมาย ที่แม้จะเป็นกฎหมายคู่ชีวิตหรือ Civil Partnership ให้มีเนื้อหาเท่ากัน เท่าเทียมกับกฎหมายชายหญิงของแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเราก็ทำสำเร็จ วันนั้นเราบรรจุอย่างที่พูดไป เรื่องการเซ็นยินยอม เรื่องการผ่าตัด เรื่องจัดการงานศพ สวัสดิการ บุตรบุญธรรม รับได้หมดเลยนะ แต่ปรากฏว่าพอกลับเข้ามาสู่คณะกรรมการของพัฒนากฎหมายของกรม ปรากฏว่าถูกตัดออกไป Final ก็ไปจบที่ 70 มาตรา ซึ่งนี่คือร่างที่ 3 พอ 70 มาตรา ได้มีการทำประชาพิจารณ์ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญไทย ทำออกมาจนกระทั่งได้เปอร์เซ็นต์ว่าเห็นด้วยประมาณ 79% กว่าๆ ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่สุดเลยนะ ก็เลยเข็นตรงนี้เพื่อจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรีรับร่าง แต่ร่าง 70 มาตรา กว่าจะเข้าไปได้ก็ถูกฝ่ายพัฒนากฎหมายตัดเหลือ 44 มาตรา แต่คำว่า 44 มาตราที่เป็นร่างที่ 4 นี้ อย่าไปกังวลว่าถูกตัดแล้วเนื้อหาจะหายไปนะ เพราะเนื้อหา 44 มาตรา ดีกว่า 70 มาตราอีก เนื่องจากว่าเขาไปยุบบางหมวดมารวมกัน ให้ไปใช้ประมวลแพ่งและพาณิชย์ โดยอนุโลม แต่เนื้อหาใจความเกี่ยวกับการเซ็นยินยอม การจัดการงานศพ การฟ้องร้องคดีก็มีแล้ว เพราะประชาพิจารณ์ทำมาเขาอยากให้มี แต่ประเด็นที่ยังขาดอยู่ก็คือเรื่องสวัสดิการภาครัฐภาคเอกชน รวมถึงเรื่องรับและปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน


ถือว่า 44 มาตรานี้ไม่ได้เลวร้ายถูกไหม?

ไม่ได้เลวร้าย แต่พอนำเสนอสู่สาธารณะก็ต้องยอมรับว่าจำนวนมาตราลดลง คนก็นึกว่ามันน้อยลงแล้วจะไม่ดี แต่แท้จริงไม่ใช่ เพียงแค่เขายุบบางหมวดให้ไปใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยอนุโลมในบางบทเท่านั้นเอง จากเนื้อหา 70 มันก็เลยเหลือ 44 แต่ตรงฉากสำคัญที่สุดก็คือปัจจุบัน พอหลังจากคณะรัฐมนตรีรับร่าง 44 มาตราไปแล้ว ตอนนั้นยังอยู่ยุค คสช. นะ รับร่างไปแล้วนะ โดยท่านประจิน จั่นตอง แต่พอภายหลังจากที่ได้เข้าไปสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ แต่คำว่า ‘ชุดพิเศษ’ เนี่ยไม่ใช่หมายความว่าเรื่องเราเป็นเรื่องพิเศษ หมายความว่าเรื่องที่เร่งด่วน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีการประชุมตั้งแต่ช่วงมีนาคม 2562 ประชุมกัน 12-15 ครั้งนะครับ จนกระทั่งออกมาเป็นเหลือ 44 มาตรา อันนี้คือร่างที่ 5 พอได้ร่างที่ 5 พี่ก็ไปทำประชาพิจารณ์เมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่สิ่งที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำถามมาก็คือเนื่องจากว่า กฎหมาย 44มาตราที่เข้าไปเนี่ย มันยังไม่มีหลักการในบางเรื่อง ท่านก็เลยมีคำถามมาให้ทางกรมคุ้มครองสิทธิ์ไปทำประชาพิจารณ์ เช่น คำถามว่าควรจะมีบุตรบุญธรรมรับและปกครองด้วยกันไหม คนที่อายุ 20 กับ 20 ที่จะแต่งงานกัน ตามขณะที่ 44 มาตราใส่เข้าไปเนี่ย แล้วเราจะลด age เหลือ 17กับ 17 โดยผู้ปกครองยินยอมตามประมวลการแพ่งและพาณิชย์เนี่ยเห็นด้วยไหมนะครับ?

ในขณะเดียวกันที่คนไทยแต่งงานกับคนไทย คนไทยแต่งงานกับต่างชาติ จะให้ต่างชาติกับต่างชาติมาแต่งกันในไทยได้ด้วยดีไหม เพราะเป็นเรื่องของสิทธิพลเมืองใช่ไหม? ท่านก็เปิดใจหลายเรื่องเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ต่างชาติจะเข้ามา เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวหรือนำเงินนำทองเข้ามาประเทศไทยเราท่านมีคำถามถึง 7-8 ประเด็น คำถามของกฤษฎีกาเนี่ยเป็นคำถามที่เปิดใจมาก แล้ววันนั้นถ้าหากว่าทุกคนตอบว่าเห็นด้วย เห็นด้วยเพราะเหตุผลอะไร ขณะที่พี่กำลังสัมภาษณ์อยู่นี้ มันอยู่ในระหว่างการประมวลผลนะ แต่เราต้องอย่าไปกังวลว่า คำว่าสวัสดิการสังคม หรือแม้กระทั่งการเซ็นยินยอมผ่าตัด การจัดการงานศพ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการฟ้องร้องคดีอาญาแทนเนี่ย ที่ทุกคนกังวล เขาบรรจุไว้ในมาตรา 19 มาตรา 19 ของพระราชบัญญัติของกฤษฎีกาที่ออกมา 40 มาตรา เขาได้พูดถึงเรื่องของสิทธิและประโยชน์ เรื่องความรับผิดชอบหน้าที่ ให้ไปนำความระหว่างสามีภรรยาของประมวลแพ่งและพาณิชย์ให้มาใช้กับเรื่องนี้โดยอนุโลม


คำว่าอนุโลมที่ถกเถียงกันนัก ซึ่งจริงๆ เราในฐานะนักกฎหมายมองว่าคำว่าอนุโลมตามวิถีชีวิต กับอนุโลมตามกฎหมาย มันคนละเรื่องกันนะ อนุโลมตามวิถีชีวิตอาจจะอนุโลม ของเขามีหลักไว้ 10 อย่าง อนุโลมตามวิถีชีวิตอาจจะเหลือสัก 7 หรือ 8 อย่าง แต่อนุโลมตามกฎหมายเนี่ยคือเขาให้เอามาใช้ได้ทั้งหมด เท่าที่จะใช้ได้ หมายความว่าถ้าหากว่าชายหญิงมีอะไร แล้วคู่สมรสเพศเดียวกันมีอะไร ก็ไปใช้ของชายหญิงได้เลย ซึ่งเวลานี้การเซ็นยินยอมผ่าตัดก็นำมาใช้ได้เลย การอุปการะเลี้ยงดู การฟ้องร้องคดีอาญา เขาก็มีบัญญัติไว้ในมาตราถัดมา มาตรา 20 ให้ไปใช้วิธีพิจารณาความอาญาได้ หรือการฟ้องร้องในคดีอาญาก็ออกมาชัดเจน สิทธิและหน้าที่การจัดการงานศพ การเซ็นยินยอมผ่าตัด แม้กระทั่งสวัสดิการสังคมของภาครัฐภาคเอกชน มันก็นำของชายหญิงมาใช้ได้เลย เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าเนื้อหาสาระสำคัญที่มันครบ แต่สำคัญที่สุดก็คือสองเรื่องที่มันยังไม่มาเป็นหลัก ก็คือเรื่องของรับบุตรบุญธรรมร่วมกันกับเรื่องสวัสดิการสังคม ซึ่งทุกคนกังวล แต่พี่คิดว่ามันอยู่ในมาตรา 19 เรียบร้อยแล้ว

ทีนี้มาประเด็นที่พี่มีความกังวลดีกว่า ถ้าสมมุติมันครบถ้วนแล้ว สมมุติว่ามันครบถ้วนในหลักของ Civil Partnership พอเสร็จปั๊บกฤษฎีกาก็ต้องให้ทางกระทรวงยุติธรรมคอนเฟิร์ม คอนเฟิร์มก็คอนเฟิร์มกลับไปว่า โอเค ทำตามนี้โอเคนะ กระทรวงยุติธรรมก็ต้องคอนเฟิร์ม ก็จะกลับไปสู่ระบบรัฐสภา คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็สมาชิกวุฒิสภา ตรงนี้พี่แค่มีความกังวลอยู่ 2 เรื่อง ใช้คำว่าเป็นความกังวลนะ ในฐานะที่เป็นคนที่ร่วมร่างแล้วก็ร่วมผลักดันเรื่องนี้ กังวลเรื่องที่ 1 คือสมมุติว่า Civil Partnership ไปมีข้อความทุกอย่างครบถ้วนหมดตามประมวลแพ่งและพาณิชย์แล้ว marriage ของชายหญิงครบ Civil Partnership ของเพศเดียวกันก็ครบ ในคอนเทนต์เนื้อหาเท่ากันหมด ก็อาจจะมีการตั้งประเด็นว่า ถ้าเช่นนั้นน่ะในเมื่อครบแล้ว ทำไมต้องแยกล่ะ ทำไมไม่เอาประมวลแพ่งและพาณิชย์ล่ะ ยังมีความคิดเห็นบางส่วนบางคณะว่ามันเป็นการเลือกปฏิบัติกัน หมายความว่าถ้ากฎหมายสมรสมีอย่างนี้ กฎหมาย Civil Partnership มีอย่างนี้ แล้วมันครบแล้ว ทำไมต้องแยกกัน ก็จับมารวมกันตรงนี้เสียสิ อันนี้เป็นความกังวลข้อที่ 1


ความกังวลข้อที่ 2 ถ้าสมมุติว่าเกิดมันไม่ครบจริงนะ ก็ยังมีความคิดเห็นด้านหนึ่งไปสู่ว่าควรจะแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยการที่นำ 3 ข้อไปจับวางเลย คือเอาคำว่าบุคคลทั้งสอง ไปแทนชายหญิง เอาคำว่าคู่สมรส ไปแทนสามีภรรยา เอาคำว่าบุพการี ไปแทนคำว่าพ่อแม่ ซึ่งสามีภรรยาก็หมายถึงชายหญิง พ่อแม่ก็หมายถึงชายหญิงใช่ไหมครับ ก็เอาไปแทนกันเลย เอาคำว่าบุคคลไปแทน เอาคำว่าคู่สมรสไปแทน เอาคำว่าบุพการีไปแทน น่าจะแก้ปัญหาได้หมด แต่ความเป็นจริงในฐานะที่เราเป็นนักกฎหมาย เราคิดว่าอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้และสิ่งที่ถูกต้องนะ แต่กระบวนการกลไกของมัน ไม่ใช่จะเป็นไปตามนั้นได้ดุจกามนิต เข้าใจที่พูดไหม เพราะเหตุว่าการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กระบวนการองคาพยพเนี่ยมันจะต้องแก้ราชบัญญัติที่มันเกี่ยวเนื่องกับคำว่าชายหญิงไม่ต่ำกว่า 50-60 ฉบับ ในขณะเดียวกันใน 50-60 ฉบับนี้ก็ยังมีกฎกระทรวง มีระเบียบ มีประกาศอะไรอีกมากมาย อาจจะรวมๆ แล้วถึง 500-600 ฉบับ ซึ่งมันกระจายอยู่ตามกระทรวง ฉะนั้นถ้าหากว่าภาครัฐไปทำ คือสมมุติว่าถ้าไปสู่ระบบ ส.ส. ส.ว. แล้ว ก็ต้องไปตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ไปตั้งอนุกรรมการสามัญเพื่อไปดูแลเรื่องนี้นะ ทุกที่ต้องถามกลับไปตามกระทรวงต่างๆ สุดท้ายกระทรวงก็ต้องตอบกลับมาว่ามีการแก้ ทุกคนไม่ได้มีการขัดแย้งหรือไม่ได้เห็นด้วยนะ แต่เพียงแต่กลไกกระบวนการที่นำไปสู่ให้เห็นเป็นประมวลแพ่งและพาณิชย์ มันอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง


ต้องทำอย่างไรต่อไป

ดังนั้นพี่ถึงจะตอบโจทย์ว่า เวลานี้สภาพปัญหาของคู่รักเพศเดียวกันมันมีมานมนานแล้ว เราไม่ต้องบอกว่านานแค่ไหนนะ นานตั้งแต่มีโลกมนุษย์เลยก็ได้ แต่เวลานี้สภาพปัญหามันกำลังจะถูกการแก้ไขให้ขจัดปัญหาไปโดยส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้ากรณีไม่ครบนะ เราจะยินดีที่จะรับในสิ่งนี้ไหม เพราะมันได้ สภาพปัญหามีอยู่ 100 อย่าง มันแก้ไปได้ 80-90 จะเอาไหม แล้วค่อยไปพัฒนากฎหมายไปในรูปลักษณ์ของการเป็นประมวลแพ่งและพาณิชย์แบบกฎหมายสมรสอีกทอดหนึ่ง เหมือนอย่างที่ต่างประเทศเขาทำกัน

คือถ้าเราจะพูดตรงๆเราควรจะต้องรับเพราะว่าในแง่การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนเพศเดียวกันในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นอังกฤษฝรั่งเศสหรือเยอรมันก็ดีก่อนที่เขาจะมาเป็น same-sex marriage เขาก็เป็นกฎหมาย Civil Partnership มาก่อนแล้วค่อยๆ ไปแก้ตามจุดต่างๆ แล้วดีเวลลอปขึ้นมาเป็น same-sex marriage

มาเป็นตัวนี้ แต่ในขณะเดียวกัน การที่เราจะเข้าไปแก้ประมวลแพ่งและพาณิชย์เมื่อสักครู่ที่พี่พูด องคาพยพ 50-60 ฉบับ 500-600 กฎกระทรวง อะไรก็แล้วแต่เนี่ย มันต้องใช้เวลา คำว่าใช้เวลา อีกกี่ปีล่ะ กับสิ่งที่มันกำลังจะคลอด กับสิ่งที่มีจะต้องอีกกี่ปี อันนี้หนึ่ง อันที่สองคือ เมื่อเราเข้าไปสู่กลไกของกฎหมายชายหญิงแล้ว เวลาที่ทำเวทีประชาพิจารณ์ อย่าลืมว่าวันนั้นที่พี่ไปมี 400 คน แต่ส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ มันเป็นสภาพปัญหาของเขา เขาก็มาใช่หรือเปล่า แต่ประเด็นพอเป็นกฎหมายชายหญิง เวลานี้ชายต้องมา หญิงก็ต้องมา ศาสนาทุกศาสนาก็มา ศาสนานี่สำคัญนะ แล้วอีกอันคืออะไรรู้ไหมครับ องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่ได้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเลย เพราะเป็นประเด็นของสังคมทั่วไป อาจจะ 400 คน มา 4,000 คน แล้วก็ต้องเตรียมการในการทำประชาพิจารณ์ผ่านเว็บไซต์ ต้องมีชายหญิง มีองค์กร NGO ทุกส่วน ศาสนาทุกอย่าง เข้ามาตอบหมด นี่คือปัญหาสำคัญ เพราะเวลานี้เรากำลังบอกว่า กฎหมายที่มันถูกการขับเคลื่อนจากพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่ปัญหามันยังน้อยอยู่เพราะศาสนาเขาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องนะ รู้ไหมครับว่าศาสนามุสลิมเขาพูดโดยชัดเจนเลย เขาบอกว่าถ้าเป็นพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เขาบอกว่าเขาไม่มีการขัดแย้ง เพราะเนื่องจากชื่อมันก็เป็นแค่หุ้นส่วนชีวิต แต่ถ้าเป็นกฎหมายสมรส เขาบอกยังไงก็ไม่ได้ มันต้องเป็นคำว่าชายกับหญิงเท่านั้นไง ซึ่งถ้าเป็นหญิงกับหญิง ชายกับชาย ก็ถือว่านี่ขัดกับหลักศาสนาเขา นี่พี่กำลังยกตัวอย่างให้เห็นว่าการที่เราจะก้าวล่วงไปถึงการแก้ไขแพ่งและพาณิชย์เนี่ย ปัญหาอุปสรรคมันก็มีอีกหลายอย่าง แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะแก้ไขไม่ได้ แต่มันจะกลับไปสู่การพัฒนาการจากส่วนหนึ่งที่เป็น Civil Partnership ไปสู่กระบวนแพ่งและพาณิชย์


แต่รู้ไหมครับว่ามันก็มีอีกแนวคิดหนึ่งที่ดูตลกๆ นะ แต่เขาก็กล้าพูดคำนี้ออกมา เขาบอกว่าถ้า Civil Partnership เปรียบเหมือนประเทศไทยที่สมัยใช้โทรเลข แล้วปัจจุบันเราขับเคลื่อนมาสู่การใช้โทรศัพท์มือถือแล้ว ทำไมเราต้องไปเริ่มต้นที่เป็นโทรเลขก่อน เขามองอย่างนี้ เขามองว่าทำไมไม่กระโจนเข้าไปสู่การแก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์ เปรียบเหมือนมันใช้นำไปเป็นเรื่องโทรศัพท์มือถือเลยล่ะ ทำไมต้องไปเริ่มต้นจากโทรเลขก่อน ในเมื่อประวัติศาสตร์มันเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมเราต้องไปทำตามประวัติศาสตร์ เพราะปัจจุบันนี้เราก็ไม่ใช้โทรเลขกันแล้ว อย่างนี้เป็นต้น นึกออกไหม เขามองแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกันพี่ก็ไม่ได้บอกว่าพี่เห็นแย้งหรือเห็นต่าง แต่เรามีกระบวนการที่เรามองเรื่องของเวลาและเรื่องของกระบวนการที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ หนึ่งมันต้องใช้เวลา สองใช้กระบวนการ แล้วสามมันต้องผ่านอุปสรรคอะไรอีกมากมายพอสมควรอย่างที่พี่ชี้แจงแล้ว แต่ถ้าวันหนึ่งเราเอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต Civil มาใช้ก่อนเลย มันก็เป็นการขจัดสภาพปัญหาที่มีอยู่มากกว่า 80% น่ะ โอเคมันอาจจะไม่ครบ เราเข้าใจ ความเสมอภาคต่อร่างกฎหมาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรมันต้องเท่ากัน เข้าใจ แต่ถ้าเราจะขจัดปัญหามากกว่า 80% ควรนำมาก่อนไหม แล้วก็สู่การพัฒนาการไปสู่แพ่งและพาณิชย์ พี่กลับมองเห็นว่าเป็นสิ่งดี เพราะอะไรรู้มั้ย สมมุติว่าของที่ออกมามันไม่ดี ยกตัวอย่างง่ายๆ เราคบแฟนคนหนึ่ง มันไม่ดี 100% แน่นอนก็อยากหาแฟนใหม่ให้ครบ 100 อะไรที่มันออกมาไม่ดีไม่ครบ มันจะนำไปสู่การแก้ไข ไปหาสิ่งที่ดี 100% มันง่ายขึ้นนะเพราะมีอดีตเปรียบเทียบว่านี่มันไม่ดีไง ถ้ามันไม่ดีก็ไปหาสิ่งที่มันดีสิ แต่เวลานี้มันเป็นอากาศธาตุไปหมดทุกอย่าง พ.ร.บ. ก็ยังไม่ออกมา คู่ชีวิตก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ให้เป็นรูปธรรม มันไม่ครบ เมื่อมันขาดก็เป็นการนำไปสู่ในสิ่งที่มันครบ 100 ได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำไปนะ เราต้องมองในแง่นี้


แล้วอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เรามองดูเป็นตรรกะชีวิตนะ คนล้มหายตายจากกับคนที่มีสภาพปัญหาคนรักเพศเดียวกันเนี่ย มันหมดไปกี่ร้อยกี่พันคนคู่แล้วในประเทศไทย ตั้งแต่เกิดมาเพื่อนพี่ตายไปกี่คนแล้ว ทั้งๆ ที่อยู่กินกันมา 10-20 ปี สภาพปัญหาไม่ถูกขจัด จนกระทั่งเขาตาย ล้มหายตายจากกันไป แล้วอีกอย่างสภาพปัญหาที่แม้กระทั่งคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เนี่ย ไม่ต้องอะไรมาก คนที่ตายก็ตายไป แต่คนที่ยังไม่ตายล่ะ ปัญหาก็คือว่าข้างหนึ่งอยู่ ข้างหนึ่งตาย แต่ทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่หามาด้วยกันก็ไปตกอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายที่ตาย หามาได้ 10 ล้าน ไปอยู่กับพ่อแม่เขาหมดเลย คนนี้ที่หามาด้วยแทบตาย ไม่ได้อะไรเลย ปัญหาแบบนี้ ทรัพย์สินระหว่างสมกฎหมายที่สามารถจะแก้ไขปัญหานี้ได้มากกว่า 80% ในเรื่องของทรัพย์สินส่วนตัว ทรัพย์สินระหว่างสมรส การอุปการะเลี้ยงดูด้วยกัน การที่จะเป็นโมฆะ โมฆียะ ของการสมรส การที่จะเลิก การที่จะจดทะเบียน มันครอบคลุมเหมือนประมวลแพ่งและพาณิชย์ทุกอย่าง ใช้ได้ผลเท่ากัน 80-90% มันก็ยังขาดไปสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ อย่างเช่นการรับและปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน คือเขามองในแง่ 2 นัย นัยหนึ่งฝ่ายทางภาครัฐ เขาอาจจะมองประเด็นว่าการเลี้ยงดูบุตรของคนที่เป็นชายชายหญิงหญิง เด็กอาจจะเกิดมามีมีปัญหา ก็อาจจะมีที่ว่าต้องมีการทำงานวิจัยเพิ่มเติมว่าการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ พ่อพ่อ แม่แม่เนี่ย จะสมบูรณ์ได้ไหม ก็อาจจะขอร้องไว้ก่อนในส่วนหนึ่งนี้ แต่ในส่วนของภาคประชาสังคมในบางเครือข่ายที่เขามองว่าการเลี้ยงดูบุตร ไม่ว่าจะเป็นรักต่างเพศพ่อแม่ หรือพ่อพ่อ แม่แม่ ก็เลี้ยงดูบุตรได้ดีเท่ากัน คือประเด็นนี้มันมองเรื่องของสิทธิเด็กน่ะ คือภาครัฐเนี่ยมองเรื่องของสิทธิเด็ก คือมองคนละข้างกัน แต่ในภาคประชาสังคมบางเครือข่ายเนี่ยเขามองเรื่องของการเลี้ยงดู คือมองไปทางเรื่องของกลุ่มหลากหลายทางเพศว่าเลี้ยงดูได้ดี แต่ภาครัฐเนี่ยมองในเรื่องของสิทธิเด็กที่จะเกิดขึ้นมามีปัญหา

ซึ่งจริงๆ เรื่องรับดูแลบุตรไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลยอยู่กันให้รอดก่อนจะดีมั้ยเห็นหลายคู่รักกันมากแต่พอคบไปสักระยะก็เลิกกันแล้วจะเอาแค่เรื่องเดียวมาตั้งแง่จนต้องยอมเสียประโยชน์ที่ควรจะได้อีก 80% ไปไม่น่าจะใช่เรื่องสมเหตุผล

มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่ มันเป็นการพัฒนาการ ไหนๆ เล่าแล้วก็เล่าอีกสักนิดหนึ่ง อย่างกรณีที่ไต้หวันที่ผ่านมานี่ เอาให้เห็นเด่นชัดเลยนะ ขอเท้าความนิดหนึ่งว่า หลายๆ ท่านอาจจะพอรู้แล้วก็ได้นะครับ 2 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันบอกว่าศาลสูงเขาบอกว่าจะต้องแก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์ให้ได้ผลเลย เพราะถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญของเขา เขาบอกให้แก้ 2 ปี ถ้าแก้ไม่ได้ เสร็จก็เอาคำสั่งของศาลสูงไปใช้ได้เลย แต่ระหว่างเดินทางมาแค่ 1 ปี เขาก็มีการทำประชามติกัน 13 ล้าน ต่อ 3 ล้านเสียง ไม่เห็นด้วย 13 ล้าน เนี่ยมาจาก 6 กับ 7 นะ คือส่วนหนึ่งบอกว่า อย่าไปใช้กฎหมายชายหญิงของเขานะ อีกส่วนหนึ่งบอกว่าถ้าคุณจะมีคุณไปทำ Civil Partnership ต่างหากฉันไม่ว่าอะไร เพราะฉะนั้นใน 6 กับ 7 มันรวมกันได้ 13 มันก็ไปต่อสู้กับ 3 ล้าน สุดท้ายประชามติมันก็กลายเป็น 13 ล้าน ไม่เห็นด้วยกับ 3 ล้าน

แต่ฝ่ายนิติบัญญัติเขาเก่งมาก เขาเก่งขนาดไหนรู้ไหม ในเมื่อเขาไม่สามารถขัดกับศาลสูงได้ ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่อยากขัดกับประชามติที่เกิดขึ้น ก็เลยทำกฎหมายสมรสขึ้นมาฉบับหนึ่งเป็นการแยกเพศเดียวกัน ชายหญิงมีแล้ว แต่ทำกฎหมายสมรสไปฉบับหนึ่ง ได้ผลเลย เขาก็เลยมี same-sex marriage เกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่คุณรู้ไหมว่าการที่มีกฎหมายสมรสที่เท่ากัน เขาไม่ได้มี Civil นะ เขามี marriage กับ marriage


คำว่ากฎหมาย ศักดิ์ของกฎหมายเท่ากัน ทางด้านกฎหมายเขาเรียกว่าศักดิ์ของกฎหมายที่เท่ากัน แท้จริงข้างในก็ต้องเหมือนกันจริงไหม ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ หนึ่งเขาบอกบุตรบุญธรรมรับก็ไม่ให้อยู่ดี ก็ถ้าชายหญิงเขามี เห็นไหม สองคืออะไร คือการที่ชาวไต้หวันจะไปแต่งงานกับคนต่างชาติ คนต่างชาติฝั่งโน่นจะต้องมีกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งเวลานี้เราก็ต้องเข้าใจว่ามีอยู่ 26 ประเทศ แสดงให้เห็นว่าคนที่จะไปแต่งงานกับไต้หวันถูกจำกัดได้เพียงแค่ 20 กว่าประเทศ เท่านั้น ซึ่งถือว่าชายหญิงก็ไม่ได้กำหนด แสดงให้เห็นว่าแม้กฎหมายศักดิ์เท่ากัน เนื้อหาเขายังต่างกันเลย คุณจะไปคิดอะไรกับคำว่า Civil Partnership กับ marriage ซึ่งเวลานี้ปัญหามันก็ต่างกันอยู่แล้ว ถูกไหม แต่ในขณะเดียวกันอย่างไต้หวันที่ติดกับบ้านเราเลยเนี่ย เอเชียเนี่ย เขามี marriage ด้วยกันทั้งคู่ แต่เขายังต่างกันด้วยเนื้อหา ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายเขาก็มีไม่เท่ากันเลย

ก็ต้องใช้เวลาอีก

ต้องใช้เวลา พี่ก็เลยขอให้เทียบเคียงกับของทางไต้หวัน ที่แม้จะเป็นกฎหมายสมรสเท่ากันแล้วก็ตาม

ถามคำถามสุดท้ายคิดว่าในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งบอกว่าประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ในแง่กฎหมายสิทธิมนุษยชนต่างๆ ถือว่าเรามีพัฒนาการที่ดีกว่าทุกประเทศในเอเชียมากเลยคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

พี่พูดประจำในทุกๆ เวทีว่า ประเทศไทยจะมีกฎหมายสมรสเพศเดียวกันแน่นอนแต่ถ้าคุณจะรอให้มีสิทธิมนุษยชนเต็มใบก่อนเนี่ยประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่มีกฎหมายนี้ เข้าใจที่พี่พูดคำนี้ไหม นั่นมีความหมายที่พี่ท้าทายว่า ถ้าคุณต้องการสิทธิมนุษยชนทุกอย่างเต็มใบ เพื่อจะขับเคลื่อนกฎหมายอะไรแต่ละอย่างเนี่ย คุณน่าจะเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่ได้ เพราะคุณต้องรอมันไง เพราะเวลาที่คุณคิดว่าคุณกำลังเอากฎหมายต่างประเทศมาเทียบเคียง คุณเจาะเข้าไปทุกอันเลยได้ไหม เวลานี้ Civil Partnership มี 20 กว่าประเทศ นะครับ marriage ก็มี 20 กว่าประเทศ โดยรวมแล้วประมาณ 50 นะ ในเนื้อหาใจความของมัน มันย่อมมีข้อบกพร่องและไม่ครบอยู่ดี แต่คุณไม่เคยเอาของเขามาพูด เอาแค่ว่าเขามี เราก็แค่อยากมี แต่พอเรามีเราบอกเราต้องมีให้เต็มที่ แต่ในขณะที่เขามีแล้วเขาไม่ได้เต็มที่ แม้เพียง Civil Partnership บางประเทศก็ยังไม่มีเรื่องบุตรบุญธรรมอยู่ดี สวัสดิการก็ไม่มี กฎหมายสมรสที่พี่พูดให้ฟังอย่างไต้หวันก็ยังไม่ได้เลย เห็นไหม แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราจะรอสิทธิมนุษยชนเต็มใบ เราน่าจะเป็นประเทศสุดท้ายในโลก เพราะว่าเราต้องคำนึงว่าคำว่าประชาธิปไตย มันคือเรื่องของการทำงานเพื่อความเป็นส่วนใหญ่และถูกขับเคลื่อนให้มันผ่าน คำว่าสิทธิมนุษยชน ตัดเข้าไปเพื่อจะให้ถึงฝั่งฝัน แต่หมายความว่าการแตะของสิทธิมนุษยชนหรือ human rights เนี่ยมันก็ต้องเอาสภาพปัญหาก็มาแตะ แล้วพี่จะคาดคำนึงอีกเรื่องหนึ่งว่า พี่บอกว่าสิทธิมนุษยชนเนี่ยใครจะพูดก็แล้วแต่ถ้าพูดอยู่ฝ่ายเดียวหมายถึงสิทธิมนุษยชนทุกกลุ่มนะไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์เด็กสตรีคนพิการอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอยู่ฝั่งเดียวมันจะเป็นสิ่งที่เห็นแก่ตัวหมดน่ะ สิทธิมนุษยชนเนี่ยถ้าพูดอยู่คนเดียวเป็นคนเห็นแก่ตัวนะ แต่ถ้าจะให้ได้ผลสมบูรณ์ 100% เพื่อการขับเคลื่อนกฎหมายด้วยนะ จะต้องเห็นและคำนึงถึงคุณค่ากับสังคมที่อยู่ร่วมกัน


พี่พูดอย่างนี้ประจำว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้าพูดคนเดียว มันจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวหมด ฉัน want ฉัน need แต่ถ้าเราไม่คำนึงถึงคุณค่าของสังคมที่อยู่ร่วมกัน มันไม่ใช่สิทธิมนุษยชนที่สมบูรณ์ ในเมื่อไม่ใช่สิทธิมนุษยชนที่สมบูรณ์แล้ว การขับเคลื่อนกฎหมายก็จะไปด้วยโดยลำบาก กระบวนการทางกฎหมายเนี่ย ต้องออกไปเพื่อให้ถือว่ารับรู้รับทราบว่าสังคมที่คุณอยู่ด้วย คุณให้คุณค่าเขาแค่ไหน ถ้าหากว่าเรานำ 2 ส่วน มารวมกันเรื่องสิทธิมนุษยชนสมบูรณ์เกิดแน่ แต่ถ้าหากฟังแค่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สุดท้ายก็ไม่ได้ออกมาใช้สักที


ขอบคุณสถานที่ : Noxx Cafe ถนนพระราม 9 โทร 0 2643 0804