หากจะเอ่ยถึงศิลปะป้องกันตัวบนโลกใบนี้ แน่นอนว่ามีหลากหลายแขนง อาทิ มวย, มวยไทย, เทควันโด, มวยปล้ำ, ยูโด ฯลฯ แต่น้อยคนนักที่จะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ยิวยิตสู’ หรือที่คนไทยมักเรียกกันว่า ‘ยูยิตสู’ ซึ่งเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่มีต้นตำรับมาจากประเทศญี่ปุ่น

ประวัติความเป็นมาของ ‘ยิวยิตสู’

จริงๆ แล้ว ‘ยิวยิตสู’ ในภาษาญี่ปุ่นจะออกเสียงว่า ‘จูจุสึ’ 柔術 Jūjutsu ซึ่งคำว่า จูจุสึ ในภาษาญี่ปุ่นนั้นมีความหมายว่า ‘ศิลปะของความอ่อน’ ในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นมีการบันทึกเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ในหลายๆ แขนงมาอย่างยาวนาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างประเทศของพวกเขา รวมไปถึงการสถาปนาราชวงศ์แห่งแดนอาทิตย์อุทัย หรือที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักกันในนามนักรบโนมิ โน เซคูมิ

เทคนิคที่ใช้ในการต่อสู้ก็ประกอบไปด้วยการทุ่ม ต่อย เตะ กอดล็อกคู่ต่อสู้ ซึ่งจะเป็นการต่อสู้กับอาวุธด้วยมือเปล่าที่มีชื่อเต็มๆ ว่า นิกอน คอร์ยุ ยิวยิตสู ที่มีมายาวนานตั้งแต่ในช่วงปี ค.ศ.1333-1573 ตามที่มีบันทึกในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และมีการบ่งบอกถึงระบบการต่อสู้ในสนามรบที่สามารถใช้ร่วมกับอาวุธชนิดต่างๆ ศิลปะการต่อสู้เหล่านี้มีชื่อเรียกเฉพาะที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น โคกุโซคุ, ยาวาร่า, คูมูยาจิ, ฮาคุดะ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้รวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า เซนโกคุ ยิวยิตสู ที่เป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธเบากับคู่ต่อสู้ที่ใช้อาวุธหนัก หรือมีเกราะป้องกันตัวในสนามรบอย่างเช่นนักรบซามูไร ที่ปกติจะใช้ดาบในการต่อสู้ แต่ศิลปะการป้องกันตัวชนิดนี้จะไม่พึ่งพาดาบในการต่อสู้




พัฒนาการของ ‘ยิวยิตสู’

กาลเวลาผ่านไปทุกสิ่งก็ย่อมพัฒนาตามไปด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งศิลปะการป้องกันตัวอย่างยิวยิตสู ที่สมัยก่อนนั้นถือว่าเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่มีท่าทางค่อนข้างอันตรายต่อคู่ต่อสู้ ด้วยท่าทางที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะไม่เหมือนใคร ยากในการต่อกร ทำให้ศิลปะการป้องกันตัวชนิดนี้ดูเหมือนจะโด่งดังแค่ในประเทศญี่ปุ่น และไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามชาติเจ้าของต้นตำรับยิวยิตสูอย่างประเทศญี่ปุ่น มีการพัฒนาอีกหนึ่งศิลปะการป้องกันตัวที่คล้ายๆ กับยิวยิตสู ที่คนไทยหลายๆ คนต่างรู้จักกันดี นั่นคือ ‘ยูโด’ เป็นการตัดทอนการฝึกท่าอันตรายที่ใช้สังหารคู่ต่อสู้โดยตรงออกไป เน้นการทุ่มเป็นหลัก มีกดล็อก หักแขน รัดคอ เหมือนกัน แต่จะเบากว่ายิวยิตสูพอสมควร

ในยิวยิตสูเองจะมีการเตะ ต่อย มีท่านอนปล้ำ ท่าทำลายฝั่งตรงข้ามที่เป็นเอกลักษณ์และลงรายละเอียดมากกว่ายูโด และส่วนใหญ่จะใช้ในยามสงครามเสียมากกว่า ก่อนที่ช่วงหลังจะพัฒนาและลดความรุนแรงลงมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นหนึ่งในกีฬาเฉกเช่นเดียวกับยูโด ณ ปัจจุบัน จริงๆ ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ ยิวยิตสูก็คล้ายๆ กับ ‘มวยโบราณ’ ที่เมื่อก่อนนั้นนอกจากมีการใช้อาวุธหมัด ศอก เท้า เข่า ก็ยังมีการทุ่ม ทับ จับ หัก อีกด้วย คือเรียกได้ว่ายิวยิตสูโหดกว่ายูโดหลายเท่า


เทคนิคการต่อสู้แบบยิวยิตสูตอนนี้กลายเป็นพื้นฐานของการต่อสู้มือเปล่าทางการทหารอย่างเช่นในกองทัพสหราชอาณาจักร, กองทัพสหรัฐอเมริกา หรือกองทัพรัสเซีย มีการฝึกอย่างเป็นกิจจะลักษณะที่เน้นไปในเรื่องของการทุ่ม กดล็อกคู่ต่อสู้ การล็อกข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงการรัดคอทำให้คู่ต่อสู้เพลี่ยงพล้ำ ซึ่งนักยิวยิตสูอาชีพจะมีการฝึกฝนในท่าที่ทำอันตรายร้ายแรงต่อคู่ต่อสู้ได้ แต่ในการฝึกซ้อมนั้นจะมีการสอนการล้มที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดการฝึกซ้อมที่ปลอดภัย ไม่ได้ทำให้คู่ต่อสู้ถึงขั้นเสียชีวิตแต่อย่างใด และในปัจจุบันยิวยิตสูลดทอนความรุนแรงลงเรื่อยๆ จนมีการบรรจุเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาต่างๆ เหมือนกับศิลปะการป้องกันตัวชนิดอื่นๆ

ลักษณะท่าทางต่างๆ ของเทคนิคใน ‘ยิวยิตสู’

> ท่าการต่อสู้ด้วยมือเปล่านั้นส่วนมากจะเน้นที่การหักข้อต่างๆ ในทิศทางย้อนกับการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ โดยการใช้แรงกดเพื่อให้กล้ามเนื้อในส่วนนั้นไม่สามารถต้านทานได้ ตามด้วยการดึงคู่ต่อสู้ลงหรือการทุ่ม หรือเทคนิคการทุ่มและล็อก

> ในบางครั้งก็ใช้เทคนิคการต่อยหรือเตะไปยังเป้าหมายที่เป็นจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ ซึ่งเป็นการทําให้เสียสมดุลเพื่อการล็อก กด หรือทุ่ม

> การใช้การเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้ให้เป็นประโยชน์ในการกดล็อกหรือหักข้อเพื่อทําให้เสียสมดุลและต่อด้วยการทุ่ม

> ร่างกายของผู้ป้องกันวางอยู่ในท่าที่ได้เปรียบเหนือผู้เข้ากระทําเพื่อที่จะไม่เป็นเป้าหรือแสดงจุดอ่อนให้น้อยที่สุด

> การฝึกฝนอาวุธเป็นเป้าหมายหลักของซามูไร ซึ่งอาจจะรวมถึงหอกยาว 6 ฟุต (Roku Shoku Bo) หอกยาว 3 ฟุต (Hanbo) ดาบยาว (Katana) ดาบสั้น (Wakizashi) หรือ (Kodashi) มีดพก (Tanto) หรือขอสั้น (Jitte)

สิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกฝนในลักษณะท่าทางต่างๆ ของยิวยิตสู ที่ผู้เข้าฝึกจะต้องทำตามกระบวนท่าต่างๆ เห็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดในการกลายเป็นนักยิวยิตสูอาชีพ


เมื่อ ‘ยิวยิตสู’ เข้ามาสู่ประเทศไทย

ในช่วงปี พ.ศ.2464 ยิวยิตสูถูกนำมาเผยแพร่ในไทยอย่างเป็นทางการ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมทั้งในไทยเองและในต่างประเทศ ต่อมาเมื่อเกิดกีฬายูโดขึ้น ยิ่งทำให้ยิวยิตสูจางหายไปเรื่อยๆ ซึ่งหลายคนมองว่ายิวยิตสูมีความรุนแรงเกินไป แรงเกินกว่าที่จะมาใช้แข่งขันกันเป็นกีฬาได้และหันไปเล่นกีฬาที่เบากว่าอย่างยูโดแทน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ายิวยิตสูจะเลือนหายไปเลยซะทีเดียว เพราะศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้มีการตั้งศูนย์ฝึกหรือโรงเรียนในการฝึกทักษะอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เช่น โรงฝึกเรนบูกัน (โรงฝึกยิวยิตสูแรกของไทย), ห้องยิมของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่มีชื่อเสียงมากในการฝึกสอนยิวยิตสู กำเนิดนักยิวยิตสูที่เก่งกาจของไทยอย่างมากมาย อาทิ ฉลวย อัศวนนท์, ประจันต์ วัชรปาน, จำรัส ศุภวงศ์, แถม สุดกังวาล, ปิ่น วิจารณ์บุตร, เชษฐ์ วิลิตกุล, สำราญ สุขุม ซึ่งบางคนในนี้เป็นผู้ที่รับวิชายูโดเข้ามาเผยแพร่ต่อในประเทศไทย

นอกจากนั้น อ.จำรัส ศุภวงศ์, อ.ประจันต์ วัชรปาน, อ.สมศักดิ์ กิตติสาธร, อ.ทนง ชุมสาย และอ.นาคา โมโต ยังเป็นกลุ่มแรกของไทยที่ได้ไปศึกษาวิชายูโดโดยตรงถึงประเทศญี่ปุ่น และในภายหลังโรงฝึกยิวยิตสูในไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรงฝึกยูโดเกือบจะทั้งหมด และในปัจจุบันพบว่าวิชายิวยิตสูแบบแท้ๆ ในไทยนั้นหาได้น้อยมากๆ

‘ยิวยิตสู’ ในปัจจุบัน

เวลาหมุนไปเรื่อยๆ แต่ยิวยิตสูยังไม่ได้จางหายไปไหน มีการฝึกฝนสืบทอดต่อกันมาเรื่อยๆ มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในญี่ปุ่น รวมไปถึงนอกญี่ปุ่นเอง ปัจจุบันยังคงมีการต่อสู้แบบดั้งเดิม อย่างการหัก ล็อก ทุ่ม ที่สำคัญยังมีการพัฒนาไปไกลถึงประเทศบราซิล และได้กำเนิด ‘บราซิเลียน ยิวยิตสู’ เน้นการต่อสู้ในท่านอนมากกว่าแบบดั้งเดิม สไตล์คล้ายๆ มวยปล้ำที่จับคู่แข่งล็อกข้อต่างๆ ทำให้คู่ต่อสู้เคลื่อนไหวได้ช้าลง และกำลังเป็นที่นิยมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนักกีฬาโดยเฉพาะในศิลปะการต่อสู้แบบผสม หรือ MMA มีการไปเรียนทักษะบราซิเลียน ยิวยิตสูกันแทบทุกคน เพราะมันมีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในสังเวียนแข่งขัน


เมื่อ ‘ยิวยิตสู (ยูยิตสู)’ กลายเป็น ‘กีฬา’

ยิวยิตสูพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในกีฬาที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีการตั้งกฎกติกา มีอุปกรณ์ในการฝึกซ้อม อุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่างๆ มีการแข่งขันระดับทวีป ระดับโลก ซึ่งเป็นกีฬาที่คล้ายๆ ยูโด แต่มีรายละเอียดที่มากกว่า มีเทคนิคการเตะ ต่อย ล็อก รัดคอ ทุ่ม หักแขน และปัจจุบันมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการในประเทศไทย มีสมาคมยูยิตสูแห่งประเทศไทย มีอาจารย์ปราโมทย์ เมษะมาน เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ไทย ก็มีนักกีฬายูยิตสูลงทำการแข่งขันในรายการต่างๆ ทั่วโลกตลอด

ยูยิตสูถูกบรรจุเข้าสู่มหกรรมกีฬาเป็นครั้งแรกในรายการเอเชียน มาร์เชียล อาร์ต เกมส์ 2009 ระหว่างวันที่ 1-9 สิงหาคม 2552 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตอนนั้นแข่งขันกันที่ศูนย์ฝึกเยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ใช้เวลาแข่งขัน 3 นาที (ยกเดียว) แบ่งออกเป็นฝ่ายแดงและฝ่ายน้ำเงิน นักกีฬาจะต้องแต่งชุดยูยิตสูสีขาว คาดสายแบ่งแดงและน้ำเงิน สวมนวมเปิดนิ้วมือ พร้อมใส่สนับขาคลุมหลังเท้าด้านในชุด รวมไปถึงต้องใส่กระจับป้องกันจุดสำคัญและฟันยาง ซึ่ง ณ เวลานั้น ไทยทำผลงานได้ยอดเยี่ยม คว้าไป 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมายูยิตสูก็กลายเป็นกีฬาที่มีการจัดการแข่งขันกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นชิงแชมป์เอเชีย หรือชิงแชมป์โลก



นอกจากนี้ในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ยูยิตสูก็ถูกบรรจุให้มีการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่กีฬาชนิดนี้เข้าสู่การแข่งขันเอเชียนเกมส์อย่างเป็นทางการ ซึ่งทีมชาติไทยส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน 7 รุ่น ประเภทเนวาสซ่า และทางพล.อ.อ.ชูชาติ บุญชัย นายกสมาคมกีฬายูยิตสูแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าเอาไว้ 1 เหรียญทองเป็นอย่างน้อย



ปัจจุบัน ‘ยิวยิตสู’ หรือ ‘ยูยิตสู’ มีโรงเรียนที่เปิดสอนอยู่หลายแห่ง

– ชมรมกีฬายูยิตสูจังหวัดสมุทรปราการ
– เพาเวอร์ จูเนียร์ มาร์เชียล อาร์ต ที่ปทุมธานี
– แพ็ทเทิร์น มาร์เชียลอาร์ต เทควันโด คลับ ที่กรุงเทพฯ
– จิตริน ยูยิตสู แถวติวานนท์ กรุงเทพฯ
– สถานบันไทยสหยุทธ์ สมุทรปราการ
– ทริปเปิลเจ ยูโด และยูยิตสู กรุงเทพฯ