หนุ่มวัย 25 ปี มีพ่อเป็นเจ้าของอาณาจักรสินค้าหรูค่าย LVMH ยามนี้ได้รับความไว้วางใจให้เข้าครองตำแหน่งผู้บริหาร TAG Heuer แบรนด์นาฬิกาสัญชาติสวิสที่ครองความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลกนาฬิกา
ผู้ประกอบการนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์ไม่ค่อยมีใครกล้าพูดถึง แต่มีการสาปแช่งผู้ผลิตนาฬิกาสวิสอยู่ในใจ เป็นการสาปแช่ง Rolex แบรนด์สัญลักษณ์รูปมงกุฎนึกจะทำอะไรก็ได้ตามใจอยากด้วยยอดจำหน่ายที่สูงกว่า เข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่าผ่านบรรดาคนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์รวมถึงส่วนแบ่งทางการตลาดในสัดส่วนที่ใหญ่กว่า
แม้กระทั่งในช่วงวิกฤตโรคระบาดผู้ซื้อยังต้องไปต่อคิวยาวเมื่อ‘Submarine’รุ่นใหม่เปิดตัวที่เจนีวา เท่ากับเป็นการประกาศว่า Rolex ยังเป็นผู้นำตลาดของวงการ และแบรนด์อื่นจำเป็นต้องถ่อมตัว
TAG Heuer ของค่าย LVMH เองก็เพิ่งเปิดตัว ‘Carrera’ นาฬิกาโครโนกราฟในตำนานไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า และมีการปรับเปลี่ยนให้แตกต่างจากรุ่นดั้งเดิมเพียงเล็กน้อย พอเรียกเสียงฮือฮาได้บ้าง แต่ไม่กึกก้องเท่าแบรนด์คู่แข่ง “ชื่อเสียงของ Carrera แผ่วไปบ้างเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นั่นเพราะเอกลักษณ์มันหายไป” ทายาทรุ่นหนุ่มของตระกูลอาร์โนลต์บอก
เฟรเดริก อาร์โนลต์ (Frédéric Arnault) เพิ่งเข้ารับตำแหน่งบริหารบริษัทนาฬิกาที่อายุยาวนานถึง 160 ปีเมื่อต้นเดือกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาเป็นลูกชายของแบร์นารฺด์ อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) หุ้นส่วนใหญ่วัย 71 ของ LVMH ซึ่งถือครองสินค้าหรูในเครือถึง 75 แบรนด์ ในไลน์นาฬิกานอกจาก TAG Heuer แล้วยังมี Hublot และ Zenith กิจการของ LVMH จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันมีมูลค่าราว 2.31 หมื่นล้านฟรังก์สวิส
ตระกูลอาร์โนลต์ถือครองหุ้นอยู่ 47 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้แบร์นารฺด์ อาร์โนลต์กลายเป็นผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุดในฝรั่งเศส และลูกๆ ของเขา…สี่ในจำนวนห้าคนล้วนนั่งแป้นบริหารกิจการบริษัทในเครือ เฟรเดริกคือทายาทคนล่าสุดที่เข้ามารับช่วงต่อในตำแหน่งสำคัญ
เฟรเดริก อาร์โนลต์สำเร็จการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคในปารีส มีประสบการณ์การทำงานกับ Facebook และบริษัท McKinsey & Company สามารถพูดได้สี่ภาษา ฝรั่งเศสและอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว ส่วนเยอรมันและอิตาเลียนระดับปานกลาง
นอกจากนั้นเขายังเชี่ยวชาญในการเล่นเปียโน อันเป็นพรสวรรค์ที่ได้รับจากน้องสาวของย่า-เอแลน แมร์ซีเยร์ (Hélène Mercier) นักเปียโนชื่อดัง เขาฝึกฝนเปียโนมาตั้งแต่อายุห้าขวบ เคยได้เข้าร่วมวงออร์เคสตรามอสโก ฟิลฮาร์โมนี เขาชื่นชอบกับการได้เล่นคอนเสิร์ตมาก แต่ยามนี้เขาไม่มีเวลามากพอที่จะฝึกซ้อมมันอีกแล้ว
LVMH เป็นธุรกิจครอบครัวที่เฟรเดริกคุ้นเคย และเป็นส่วนหนึ่งของมันตั้งแต่วัยเด็ก เขาเคยเข้าร่วมในการประชุมบริษัท เคยเดินทางติดตามพ่อของเขา และเคยเรียนรู้หลายสิ่งอย่างเกี่ยวกับแวดวงสินค้าหรู จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับเขาที่วันหนึ่งจะมีโอกาสได้เข้ามาทำงานในธุรกิจของครอบครัว
และแม้ธุรกิจจะมีตัวเลือกมากมาย แต่เขาก็เลือกที่จะเข้ามาอยู่ที่แบรนด์ TAG Heuer เหตุผลเพราะเขาคุ้นเคยกับมัน เมื่อตอนอายุ 11 ขวบเขาเคยได้รับนาฬิกาเรือนแรกเป็นของขวัญ มันคือ TAG Heuer ‘Aquaracer’ ที่ทำให้เขารู้สึกหลงรัก
เฟรเดริกยังหลงใหลในคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์ ช่วงเป็นนักศึกษาปีสุดท้ายเขาทุ่มเทให้กับการประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ เช่น อัลกอรึทึม และปัญญาประดิษฐ์ จากภูมิหลังนี้ทำให้เห็นชัดว่าทำไมเขาจึงเลือกมาฝึกงานที่ TAG Heuer โดยเฉพาะกับนาฬิกาอัจฉริยะ
เฟรเดริกเริ่มงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเชื่อมต่อเทคโนโลยีเมื่อปี 2017 ปีถัดมาเขาได้รับการโปรโมตเป็นหัวหน้าฝ่ายดิจิทัล คุมทีมวิศวกรซอฟต์แวร์และดีไซเนอร์ปฏิสัมพันธ์ราว 30 คน ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาเข้า-เจเนอเรชั่นที่ 3 ของแบรนด์ TAG Heuer นำเสนอ ‘Connected’ ผลงานเรือนเวลาสมาร์ทวอตช์ ที่เขามีส่วนร่วมมาตั้งแต่เริ่มต้นการพัฒนา
ในแวดวงนาฬิกามีเสียงร่ำลือกันถึงเรื่องอายุอานามของผู้บริหารคนใหม่ นั่นเพราะ TAG Heuer มีประวัติศาสตร์มายาวนานถึง 160 ปี มีเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับนักแข่งรถในตำนาน-โจ ซิฟเฟิร์ต และดาราฮอลลีวูด-สตีฟ แม็คควีน ทั้งสองเคยสวมใส่นาฬิกาโครโนกราฟรุ่น Monaco แล้วเด็กหนุ่มที่เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์จะมาเข้าใจในศิลปะการทำนาฬิกาแบบประเพณีโบราณได้อย่างไร
เฟรเดริก อาร์โนลต์ไม่ได้โต้แย้งเรื่องนี้ เขารู้ซึ้งดีถึงประวัติของแบรนด์ – เอดูอาร์ด ฮอยเออร์ (Edouard Heuer) อายุเพิ่ง 20 ปีตอนที่เริ่มก่อตั้งโรงงานนาฬิกา หลังจากนั้นสมาชิกของครอบครัวฮอยเออร์ก็ทยอยรับช่วงกิจการต่อ แต่ละคนอายุระหว่าง 20-27 ปี ฉะนั้นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของ TAG Heuer ก็มีผู้บริหารรุ่นหนุ่มรวมอยู่ด้วย
ตัวเขาเองมีเป้าหมายชัดเจนที่จะนำพาแบรนด์ไต่ขึ้นอันดับ 4 ของวงการนาฬิกาสวิส ปัจจุบัน TAG Heuer มียอดขายราว 857 ล้านฟรังก์สวิส และอยู่ในอันดับที่ 9 กุญแจสำคัญในฐานะชาวดิจิทัลซึ่งเป็นผู้บริหารคนใหม่ ก็คือ เขาจะดูดซับทุกอย่างเกี่ยวกับงานฝีมือให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เขาใช้เวลาหมดไปกับการเรียนรู้กระบวนการดีไซน์ หรือสิ่งที่ต้องทำเพื่อสร้างคุณภาพสูงสุดในการผลิตนาฬิกาแต่ละซีรีส์ นอกจากนั้นเขายังต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคุ้มค่าของตัวเรือนและหน้าปัดนาฬิกาแต่ละเรือนด้วย
ระหว่างการเรียนรู้งานในความรับผิดชอบ เฟรเดริกยังใช้เวลาคลุกคลีกับทีมงาน สร้างสัมพันธ์ใกล้ชิด และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
“บรรยากาศในการทำงานที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ” เขาว่า “บางทีนามสกุลของผมอาจทำให้หลายคนรู้สึกกลัว แต่จะว่าไปแล้วใครๆ ก็รู้สึกอย่างนั้นกับซีอีโอทุกคนไม่ใช่หรือ”
เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์