สองเส้นทางนำไปสู่การเมือง ทางหนึ่งเริ่มต้นจากข้างล่าง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาในท้องถิ่น สะสมความไว้วางใจและประสบการณ์ จากนั้นค่อยๆ ก้าวขึ้นไปจับประเด็นใหญ่ และในตำแหน่งที่สูงขึ้น หนทางนี้ดูเหมือนจะเป็นวิถีคลาสสิก ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลในกรุงมอสโกกำลังพยายามใช้เป็นแนวทาง และพวกเขาประสบความสำเร็จได้เมื่อสองปีก่อน โดยกวาดคะแนนเสียงในเขตเมืองต่างๆ เพื่อเป็นบันไดก้าวสู่สภาของเมือง จากตรงนั้นเหลือเพียงอีกก้าวเดียวก็สามารถเข้าสู่สภาของชาติได้แล้ว

เส้นทางที่สองไม่ได้เริ่มจากเบื้องล่าง แต่เริ่มจากข้างบน ด้วยระบบเส้นสาย เหมือนเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว วันที่ 9 สิงหาคม 1999 ตอนที่บอริส เยลต์ซินประกาศผ่านรายการถ่ายทอดสดทางทีวี แต่งตั้งวลาดิเมียร์ ปูตินขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของรัสเซีย ตราบถึงทุกวันนี้อดีตหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับยังคงเป็นที่ไว้วางใจของเยลต์ซินไม่เปลี่ยนแปลง

ข่าวตอนนั้นสร้างความตระหนกให้กับชาวรัสเซียนไม่น้อยทีเดียว แทบทุกคนรู้จักชื่อของปูติน เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย และผู้อำนวยการหน่วยราชการลับภายในประเทศ (FSB) เป็นคนมีอำนาจ แต่น้อยคนจะรู้จักตัวตนจริงๆ เขา อาชีพการงานของเขาในหน่วยงานราชการลับไม่เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน เป็นที่เปิดเผยก็เพียงว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในปีเตอร์สเบิร์กและมอสโก คลุกคลีอยู่กับงานฝ่ายความมั่นคง เขาเป็นทุกอย่าง ยกเว้นนักการเมือง แล้วจู่ๆ ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินก็คว้าตัวเขามารับตำแหน่งสำคัญเพื่อสืบทอดแทนตน

แต่หากมองย้อนกลับไป เส้นทางการก้าวสู่จุดอำนาจสูงสุดของปูตินดูคล้ายจะเป็นกระบวนการเฟ้นหา ปูทางไว้ล่วงหน้า กลุ่มผู้มีอำนาจรอบตัวของเยลต์ซินที่ป่วยกระเสาะกระแสะในตอนนั้น มองหาผู้สืบทอดอำนาจที่อยู่ในกรอบและไม่ก้าวก่ายพวกตน ปูตินเป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้น เพราะอย่างน้อยก็เป็นที่ประจักษ์ว่าเขามีความจงรักภักดี อย่างอื่นที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสื่อในสังกัดและผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของพรรค จากนั้นก็สร้างภาพให้ปูตินเป็น ‘ผู้นำที่แข็งแกร่ง’ ในพรรครัฐบาล

การก้าวขึ้นมาเป็นนักการเมืองคนใหม่ของวลาดิเมียร์ ปูตินนั้นมีสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศช่วยหนุน-สองวันก่อนหน้าที่เยลต์ซินจะประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ กลุ่มนักรบอิสลามจากสาธารณรัฐเชเชน (เชชเนีย) ได้บุกโจมตีดาเกสถาน-สาธารณรัฐเพื่อนบ้านในภูมิภาคคอเคซัสเหนือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเชเชนครั้งที่สอง ที่จบลงพร้อมกับการยึดครองเมืองหลวงกรอซนืยสำหรับมอสโก นอกจากนั้นยังมีการวางระเบิดก่อความไม่สงบในประเทศอีกเป็นระลอก

กระทั่งในวันสิ้นปี 1999 ที่บอริส เยลต์ซินประกาศลงจากตำแหน่ง และแต่งตั้งวลาดิเมียร์ ปูตินเป็นผู้สืบทอดนั้น คะแนนความนิยมของปูตินก็ดีขึ้นตามลำดับ จาก 31 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคม 1999 พุ่งสูงถึง 84 เปอร์เซ็นต์ในเดือนมกราคม 2000 ส่งผลให้การลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในเดือนมีนาคม 2000 แทบปราศจากคู่แข่ง

ทว่าแววความสำเร็จของวลาดิเมียร์ ปูตินในทางการเมืองยุคเริ่มต้นนั้นยังไม่แจ่มจรัส ปี 1999 ยังมีคู่แข่งในทางการเมืองและสื่อ เครมลินยังไม่สามารถยึดครองพื้นที่ทางการเมืองได้แบบเบ็ดเสร็จ ในช่วงนั้นศัตรูทางการเมืองรายสำคัญของทีมเยลต์ซินคือ นายกรัฐมนตรีเยฟกินี พริมาคอฟ และพรรคคอมมิวนิสต์

หลังจาก ‘ระบอบปูติน’ ผ่านมาสองทศวรรษ ทุกอย่างเปลี่ยนไป พื้นที่ทางการเมืองถูกปัดกวาด ควบคุม และแทบไม่มีพื้นที่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่เหยียบย่างลงสนาม เพราะเครมลินได้เข้ามาแทนที่การแข่งขันทางการเมืองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยการเลียนแบบ โดยมีปูตินเป็นผู้ควบคุมเกม ใครที่ก่อนเคยนึกภาพไม่ออกว่าผู้ชายคนนี้เข้ามาสู่เส้นทางการเมืองได้อย่างไร ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า ไม่มีใครนึกภาพออกว่าหากปราศจากปูตินแล้วจะเป็นอย่างไร และแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปูตินให้นึกเห็นภาพ

แต่ปูตินก็ยังต้องร่วงโรยตามวัย ปีหน้าเขาจะครบ 68 ปี เท่ากับเยลต์ซินตอนที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และถึงแม้ว่าปูตินจะแข็งแรง สุขภาพดีกว่าประมุขคนก่อนหน้า แต่อย่างช้าที่สุดเขาก็ต้องวางมือ ถอดตำแหน่งภายในปี 2024 หากปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นใครจะมาเป็นผู้สืบทอดแทนเขา จะหาใครสักคนเหมือนเขาตอนที่เยลต์ซินเฟ้นหาหรือไม่

หรืออาจจะเป็นฝันร้ายสำหรับเครมลิน หากผู้สืบทอดคนนั้นจะเป็นนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง ที่ทำงานไต่เต้าขึ้นมาจากข้างล่าง ได้รับคะแนนสนับสนุนจากประชาชน และเป็นคนนอกรัศมีความไว้เนื้อเชื่อใจของเครมลิน

เหมือนเช่นทุกวันนี้ที่นักการเมืองฝ่ายค้านกำลังรุกคืบ สร้างฐานกำลังขึ้นในกรุงมอสโก แม้การเลือกตั้งเขตย่อยจะมีเครมลินเป็นผู้คุมเกม แต่ก็ไม่วายถูกคนรุ่นใหม่จากพรรคฝ่ายค้านเก็บโกยคะแนนเสียงไปได้

“ประธานาธิบดีเข้มแข็ง ประเทศก็เข้มแข็ง” เคยเป็นคำขวัญติดปากของปูติน ทว่ายามนี้เขาคงรู้สึกคล้ายคนทำสวน ที่เฝ้าถนอมรักษาสนามหญ้าให้สดเขียว ฉ่ำชื่นตามานานกว่า 20 ปี บัดนี้เขาต้องมาหงุดหงิด หัวเสียกับการเมืองวัชพืชของคนรุ่นใหม่ในชุดอัศวินขี่ม้าขาว เข้ามาจ้องทำลายผลงานสร้างของเขา

การกำจัดวัชพืชไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ

เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์