เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์
Photo : https://unsplash.com
ความหมายของคำว่า ฮิปสเตอร์ (Hipster) บัญญัติไว้ในวิกิพีเดียว่า เป็นวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มคนผิวขาวในยุค Generation Y ในย่านเขตเมือง ซึ่งมีลักษณะร่วมที่สำคัญ เช่น ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่เลือกจะอยู่ในย่านที่พัฒนาแล้วตามเมืองใหญ่ ๆ นิยมฟังเพลงแนวอินดี้และอัลเตอร์เนทีฟ การเลือกใช้แฟชั่นที่ไม่ตามกระแส หรือใช้เสื้อผ้ามือสองหรือแนววินเทจ ถอยห่างจากการเมือง รับประทานอาหารแบบชีวจิตที่มาจากธรรมชาติ และรูปแบบการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง
ฮิปสเตอร์เป็นคำจำกัดความที่ปรากฏในสังคมอเมริกันยุคทศวรรษ ’40 และ ’50 โดยกลุ่มปัญญาชนรุ่นหนุ่มสาวที่นิยมการใช้ชีวิตแตกต่างจากคนทั่วไป ต้นแบบที่มีชื่อเสียงจากแวดวงวรรณกรรม ได้แก่ อัลเลน กินสเบิร์ก, แจ็ค เครูอัค และวิลเลียม เอส. เบอร์โรห์ส ชอบสมาคมและสังสรรค์ในกลุ่มแนวเดียวกัน และมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ในงานวรรณกรรมพวกเขามักบรรยายภาพตนเองเป็นคนดำผิวขาว ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิตมาจนไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรสามารถทำให้สะทกสะท้านได้อีก ฮิปสเตอร์ในยุคสมัยนั้นมีคำเรียกอีกอย่างว่า ‘บีท เจเนอเรชั่น’ (Beat Generation)
Hipster Effect ชอบความต่าง แต่หนีไม่พ้นความเหมือน
ฮิปสเตอร์ชอบความแตกต่างจากใครอื่น ไม่ตามกระแส ท้ายที่สุดก็เหมือนกันเอง วารสาร MIT Technology Review เผยแพร่รายงานการวิจัยของศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของฮิปสเตอร์ หัวข้อ ‘The hipster effect : Why anti-conformists always end up looking the same’ แล้วปรากฏมีชายหนุ่มคนหนึ่งเผยตัวออกมายืนยันผลวิจัยของเขาแบบไม่ตั้งใจ
โจนาธาน ทูบูล เป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยแบรนไดส์ ที่มักทำงานวิจัยเกี่ยวกับการขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารในสังคม และอิทธิพลของสื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์
ทูบูลทุ่มเทความสนใจกับสังคมที่ประกอบไปด้วยคนที่ชอบเลียนแบบคนส่วนใหญ่ และคนต่อต้าน (เขาเรียกว่าพวกฮิปสเตอร์) ที่ทำในสิ่งตรงข้าม หุ่นจำลอง ‘ประชากรฮิปสเตอร์’ ที่เขาพัฒนาขึ้นโดยการใช้สูตรทางคณิตศาสตร์และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ ต้องผ่านช่วงเวลา ‘ประสานซึ่งกันและกัน’ ระหว่างที่พยายามทำในสิ่งตรงข้ามกับที่คนส่วนใหญ่ทำ ถ้าคนส่วนใหญ่โกนหนวดเครา ประชากรฮิปสเตอร์ของทูบูลก็จะไว้หนวดเครา
สิ่งที่ทูบูลให้ความสำคัญกับหุ่นจำลองของเขาก็คือ เวลา ที่มันใช้ในการจดจำและตอบสนองต่อเทรนด์ใหม่ในสังคม ซึ่งแตกต่างกันของฮิปสเตอร์แต่ละคน และอาจเป็นไปได้ว่า หุ่นจำลองแสดงพฤติกรรมต่อต้านเทรนด์ใหม่ ในขณะที่คนอื่นๆ เคยคิดแบบเดียวกันก่อนหน้านี้ ดังนั้นการประสานซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้น สะท้อนผลวิจัยว่า ประชากรฮิปสเตอร์แม้จะแปลกแยกจากสังคมส่วนใหญ่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มีความคล้ายคลึงกันในกลุ่มของตนเอง
วารสาร MIT Technology Review ตีพิมพ์รายงานผลวิจัยนี้ของโจนาธาน ทูบูล พร้อมลงภาพสต็อกเป็นภาพถ่ายชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งไว้หนวดเครา สวมหมวกและเสื้อเชิ้ตลายตาราง หลังจากวารสารถูกเผยแพร่ออกไปปรากฏว่ามีใครบางคนติดต่อกลับไปทางทีมงานวารสาร และแจ้งว่า เขาคือชายในภาพนั้น พร้อมทั้งกล่าวหาทีมงานวารสารว่าหมิ่นประมาท ที่นำภาพถ่ายของเขาไปตีพิมพ์ประกอบบทความที่เกี่ยวข้องกับฮิปสเตอร์
กิเดียน ลิคต์ฟีลด์ บรรณาธิการวารสาร จึงแจ้งไปทาง Getty Images และขอให้ช่วยตรวจสอบลิขสิทธิ์ภาพว่าไม่ชอบมาพากลอย่างไร กระทั่งได้คำตอบว่า ผู้ชายในภาพประกอบบทความนั้นเป็นคนละคนกับผู้ชายที่โทรศัพท์ไปต่อว่าทีมงานวารสาร
ชายหนุ่มหัวร้อนคนนั้นดูเหมือนจะเพ้อพกไปเอง แต่ก็สามารถเป็นหลักฐานยืนยันทฤษฎีของโจนาธาน ทูบูลได้แบบไม่ตั้งใจ กิเดียน ลิคต์ฟีลด์นำเรื่องนี้โพสต์ลงในทวิตเตอร์ด้วยอารมณ์ขัน
“ฮิปสเตอร์หน้าตาคล้ายกันมาก จนแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร”
หมายเหตุ : ฮิปสเตอร์
ทรงผม : Side cut, Undercut (และไว้หนวดเคราอย่างแพร่หลาย)
เสื้อผ้า : ฮาร์ดคอร์ พังก์, อีโมชั่นแนล ฮาร์ดคอร์ (หรืออีโม), เสื้อสักหลาด, ผ้าพันคออเนกประสงค์, กางเกงชิโน, กางเกงยีนส์ปลายขาลีบ, รองเท้าหนัง หรือรองเท้าผ้าใบ Vans และ Converse, สักและเจาะ, หมวกไหมพรม
แกดเจต : สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊กของ Apple
โซเชียลมีเดีย : อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ และ Tumblr
สัญลักษณ์ : บนเสื้อยืด รวมถึงแผ่นปกซีดี หรือรอยสัก คือ รูปสามเหลี่ยม ▲
ถิ่นอาศัย : Williamsburg (นิวยอร์ก), Kreuzberg (เบอร์ลิน), Dalston (ลอนดอน), Canal St.Martin (ปารีส), Malasana (แมดริด), Gracia (บาร์เซโลนา), Södermalm (สต็อกโฮล์ม), Nørrebro (โคเปนเฮเกน), Kallio (เฮลซิงกิ), Amsterdam-Noord (อัมสเตอร์ดัม), Pigneto (โรม), Florentin (เทลาวีฟ), Fitzroy (เมลเบิร์น), Kalamaja (ทาลินน์), Miera Iela (รีกา), District VII (บูดาเปสต์), Beyoğlu (อิสตันบูล)
ขำขัน : ทำไมฮิปสเตอร์หูหนวกจึงนับเป็นสุดยอดฮิปสเตอร์?
“เพราะว่าพวกเขาชอบวงดนตรีที่ตนเองก็ไม่เคยฟัง”