หากเสิร์จชื่อของ ‘อุ๋ย บุดดาเบลส’ หรือชื่อจริง ‘นที เอกวิจิตร’ ในกูเกิล เราจะพบเรื่องราวของผู้ชายคนนี้ในฐานะสมาชิกวง ‘Buddha Bless’ อันหมายความถึง ‘พระพุทธเจ้าอวยพร’ ซึ่งถือกำเนิดจากกลุ่มก้านคอคลับ ประกอบด้วยตัวเขา, เอ็ม-กิตติพงษ์ คำสาตร์ และโต้ง-สุรนันต์ ชุ่มธาราธร ด้วยแนวเพลงเรกเก้ แดนซ์ ฮอลล์ ที่แจ้งเกิดในวงการเพลงช่วงปี 2549 และมีเพลงฮิตมาถึงปัจจุบันอย่าง ‘ปักตะไคร้’ ‘ลืมไปก่อน’ ‘ชิงหมาเกิด’ และ ‘เรื่องธรรมดา’
จนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะ ที่กลายเป็นประเด็นเห็นด้วยและขัดแย้งขึ้นในสังคมสื่อออนไลน์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุ๋ย บุดดาเบลสเป็นคนรักการอ่าน โดยเฉพาะหนังสือแนวจิตวิทยาและธรรมะ ที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่ครั้งที่ไปบวช และเรื่องราวจากภาพลักษณ์เด็กดื้อในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น
ทุกวันนี้ อุ๋ยมีบทบาทเพิ่มเติมจากการเป็นศิลปิน เมื่อเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้จัดการค่ายเพลงพร้อม+ ในสังกัดของ LoveIs Entertainment ซึ่งมีศิลปินในค่าย อาทิ ทศกัณฐ์ (กิตติกานต์ แซ่หลี) นายนะ (ปิยวัฒน์ เชิดเพชรรัตน์) นินิว (ศุภฤกษ์ บุณยานันต์) และไข่มุก เดอะ วอยซ์ (รุ่งรัตน์ เหม็งพานิช)
เรานัดหมายอุ๋ย บุดดาเบลสที่มุมสงบของย่านทองหล่อ สถานที่ซึ่งไม่ไกลจากที่พักของเขา บ่ายวันนั้นมีแสงแดดจ้า อาจมีฝุ่นพิษเจือปนอยู่ในอากาศพอประมาณ แต่บรรยากาศระหว่างการสนทนาเป็นไปแบบสบายๆ เสื้อผ้าที่เขาเลือกสวมใส่มาก็เข้ากับบรรยากาศของสถานที่ เป็นซัมเมอร์สวยๆ กันตั้งแต่ต้นปี
ธุรกิจของค่ายพร้อม+ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
สำหรับของผมตอนนี้ยังอยู่ในช่วงประคองตัว รายได้ของเรามาจากโชว์เป็นหลัก และจากช่องทางโซเชียลมีเดีย อย่างยูทูบ หรือดอสสตรีมมิงมาช่วยบ้าง แต่จริงๆ รายได้หลักของเรามาจากงานโชว์ ซึ่งก็ไม่ต่างจากแต่ก่อนมากนะครับ เพราะตอนที่ผมเริ่มทำอาชีพนี้เมื่อสิบสองปีที่แล้ว ตอนนั้น MP3 ก็มา กลายเป็นว่ารายได้ของเรามาจากโชว์ พอมาถึงยุคนี้มันมีช่องทางเพิ่มขึ้นด้วย นับว่าดีกว่าแต่ก่อนเสียอีก
ยุคนี้มีสตรีมมิงเข้ามา มียูทูบ Spotify ซึ่งเขาจ่ายเงินโอเค เท่าที่ทราบนะครับ ก็มีรายได้จากช่องทางนั้นด้วย เพราะมีศิลปินหลายคนที่ไม่รับงานคอนเสิร์ตเลย แต่ว่ามีรายได้จากยูทูบเยอะพอที่เขาจะอยู่เฉยๆ ได้สบาย
สำหรับค่ายเพลงล่ะครับ
มันก็คล้ายๆ กันครับ เพียงแต่ต้นทุนจะสูงกว่า เพราะว่าถ้าทำเองมันก็เหมือนกับ…เดี๋ยวนี้มีคอมพิวเตอร์ตัวเดียวก็จบงานได้แล้ว คนทำเอง ซึ่งก็แล้วแต่แนวเพลงนะครับ ถ้าแนวเพลงอย่างของผมนี่ มีน้องๆ หลายคนก็ทำเองในโฮมสตูดิโอที่บ้าน แล้วปล่อยลงยูทูบ ส่วนเอ็มวีก็ถ่ายแบบง่ายๆ ง่ายมากๆ (หัวเราะ) ก็มียอดหลักร้อยล้านวิวมาตั้งหลายเพลงแล้ว เพราะฉะนั้นผมว่ามันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ใครๆ ก็เปิดค่ายเพลงเองได้ ทำเองได้ แต่ค่ายเพลงรูปแบบเก่าๆ จะต้องลงทุน ทีมงานทำงานเยอะกว่า มันก็แตกต่างกัน ผมว่ามันอยู่ที่ว่าใครชอบแบบไหน สะดวกแบบไหนมากกว่า
คุณยังมีผลงานเพลงของตัวเองอยู่ไหม
มีครับ ผมยังทำอยู่ ของบุดดาเบลสไม่ได้ออกมานานแล้ว แต่ก็มีทำเก็บๆ ไว้ ยังไม่ได้ออกสักที ตอนนี้เหลือกันสองคน กับโต้ง สุรนันต์ ส่วนผลงานเดี่ยวก็มีออกอยู่เรื่อยๆ
มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นวงเหมือนเก่าอีกครั้งหรือเปล่า
ถ้าวงสองคนน่ะมีแน่ๆ ครับ เพราะทำกันอยู่ แต่ถ้าสามคน ไม่รู้อนาคต คงยากครับ
ชีวิตปัจจุบันโอเคไหม
โอเคครับ ผมว่าคนทุกคนนะ มีช่วงคิดมาก คิดไม่มาก ถ้าถามผมนะ ผมว่าผมบาลานซ์ได้โอเคมาก มีเวลาให้ครอบครัว มีเวลาส่วนตัว มีเวลาทำงาน ผมโอเคมากทุกวันนี้
พอจะเล่าเกี่ยวกับผลกระทบเรื่องความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมาได้ไหมครับ
ส่วนตัวผมก็จะมีแต่คอมเมนต์ในอินเตอร์เน็ตนะครับ เท่าที่รับรู้ได้ แต่ส่วนอื่นผมไม่เคยเจอ อย่างเดินมาพูดต่อหน้านี่ผมไม่เคยเจอเลย เคยมีบางสื่อเขียนว่ามีคนมาหาเรื่อง ซึ่งไม่เคยมีนะครับ ส่วนใหญ่มีคนเข้ามาพูดด้วย ก็พูดกันอย่างสุภาพ ถ้าหยาบคาย ก้าวร้าว หรือรุนแรง ก็มีแต่ในอินเตอร์เน็ตอย่างเดียว ในชีวิตจริงไม่เคยเจอ
เรื่องผลกระทบกับการทำงานผมก็ไม่ทราบ ผมไม่ทราบว่าเขาไม่ใช้งานเราเพราะเรามีความคิดเห็นทางการเมืองหรือความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกว่าใคร อันนี้ผมไม่ทราบ เขาไม่ได้มาบอกว่าเราไม่เลือกคุณเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ (ยิ้ม) ไม่ทราบ อาจจะมีแต่ผมไม่รู้
อย่างศิลปิน ดาราหลายๆ คน แม้กระทั่งคนทำหนังก็มีทั้งสองฝ่าย ที่มีความคิดแตกต่างกัน กระแสสังคมในอินเตอร์เน็ตอย่างหนึ่ง รายได้ในความเป็นจริงก็อีกอย่างหนึ่ง ผมว่ามันวัดยากมาก
ผมเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนที่เป็นพลังเงียบ เงียบจริงๆ (หัวเราะ) เงียบแบบ…แม้ว่ามีโซเชียลมีเดีย แต่เขาก็ไม่เข้าไปแสดงความคิดเห็น แล้วในโลกโซเชียลก็มีทั้งตัวจริงตัวปลอม มีอวตาร ผมว่ามันซับซ้อนไปหมด ยิ่งดูสารคดี ‘The Great Hack’ ที่อเมริกาก็ยังมีปัญหาการใช้โซเชียลมีเดียในการเปลี่ยนคิดคนด้านการเมือง ก็เห็นว่าเขายังเป็น ผมว่าเป็นทุกประเทศทั่วโลกนะ เพราะฉะนั้นมันวัดยากแล้วละว่า ความคิดของสังคมจริงๆ มันเป็นอย่างไร
ในฐานะเป็นศิลปินที่สังคมรู้จัก เคยรู้สึกเกรงหรือกลัวบ้างไหมว่าจะเกิดผลกระทบกับตัวเอง
เท่าที่ผ่านมาผมก็แสดงออกมาโดยตลอด ไม่เคยกังวลครับ แต่ช่วงหลังๆ ผมต้องรอบคอบมากขึ้น ถามว่ากลัวไหม ผมว่าคำว่ากลัวคงไม่ถูกเสียทีเดียว ผมมีคนที่อยู่ในความรับผิดชอบในชีวิตผมหลายคน น้องในค่าย ค่ายเพลง พอเรามาเป็นคนบริหารค่าย ในการที่เราจะทำอะไรหรือแสดงความคิดเห็นอะไร มันมีผลกระทบกับคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นต้นทุนในการแสดงความคิดเห็นมันไม่ใช่เราคนเดียวแล้ว มันเป็นต้นทุนของชีวิตคนอื่นด้วย ผมเลยต้องคิดละเอียด รอบคอบมากกว่าเดิมมากในการแสดงความคิดในสื่อ
เมื่อก่อนผมคิดแค่ว่า ผมวงอิสระ ผมไม่ได้อยู่ค่ายแล้ว เพื่อนในวงก็ไม่มีการห้ามกัน ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ใครคิดอย่างไรแสดงเลย ตามสบาย ผมเองก็เต็มที่มาโดยตลอด แต่ทุกวันนี้ อย่างที่บอกต้นทุนในการแสดงออก เราไม่ใช่คนเดียวแล้ว ผมก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น
แต่ผมเชื่อว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการตีตรา ว่าคุณเป็นฝั่งนั้นฝั่งนี้ คุณเป็นสลิ่ม คุณเป็นเสื้อแดง คุณเป็นส้ม เป็นนั่นเป็นนี่ ผมเชื่อว่ามีบางอย่างที่คนเสื้อแดงคิดเหมือนเสื้อเหลือง คนเสื้อเหลืองคิดเหมือนคนฝ่ายอนาคตใหม่ เท่าที่เห็นมันจะมีบางอย่างที่ทับซ้อนกัน บางเรื่องเห็นต่างกันสุดโต่ง บางเรื่องก็เห็นเหมือนกัน แต่เพราะการแบ่งแยกมันผลักไปว่า คุณเห็นด้วยกับคนนี้ คุณต้องคิดเหมือนเขาหมดทุกอย่าง หรือถ้าคุณชมใครสักคนแปลว่าคุณต้องไปอยู่ฝั่งนั้นละ คุณไม่มีความเห็นอะไรเหมือนกับอีกข้างหนึ่ง
สำหรับผมนะ คนที่จะให้ความยุติธรรม ชมคนที่ทำสิ่งที่ควร ตำหนิติเตือนคนทำในสิ่งที่ไม่ควร มันเกิดกับทุกฝ่าย คนอย่างนั้นก็จะโดนหินรุมปาจากทุกฝ่าย (หัวเราะ) มึงมันพวกไม่เลือกข้าง ผมเลยเชื่อว่าหลายคนเอือมระอากับเรื่องนี้แล้ว จนไม่อยากแสดงออก ผมเชื่อว่ามีคนอย่างนั้นเยอะนะ ก็คิดว่าฝั่งนี้เขาก็ทำ เราไม่เห็นด้วยกับจุดใหญ่ๆ ของเขา แต่จุดเล็กๆ บางเรื่องเราเห็นด้วยกับเขานะ แต่ถ้าเกิดเราไปแสดงความเห็นด้วยกับเขา เดี๋ยวเราก็จะโดนสังคมอีกฝั่งรุมด่าแน่เลย สังคมมันเป็นอย่างนี้ จนบางคนไม่ค่อยอยากแสดงความคิดเห็นแล้ว
ทุกวันนี้คุณยังมีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับความเป็นไปของสังคมอยู่ไหมครับ
ตลอดเวลาครับ ผมพยายามถอยออกมานะ พยายามไม่คิด พยายามไม่มอง เพราะรู้ว่าคิดมากแล้วจะเครียดเอง ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะเราเห็นว่ามันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ของเราเอง แต่มันอดไม่ได้ มันเป็นเหมือนนิสัย สันดาน (หัวเราะ) ที่แบบ…(ยกโทรศัพท์มือถือขึ้น) เหมือนโดนดูดเข้าไปให้ต้องอ่าน ไถหน้าฟีด พยายามจะไถผ่านไปแล้ว เอือมระอากับเรื่องพวกนี้ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องอ่าน แล้วเวลาเราเห็นในโซเชียลมีเดียบ่อยๆ ว่ามีคนแชร์ข่าวปลอม จนเราอยากเข้าไปเตือน เราเห็นเลยว่ามันเตือนไม่ได้แล้ว แต่ก่อนจะรู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลยที่เราจะปล่อยให้ข่าวปลอมแบบนี้ถูกเผยแผ่ออกไป โดยที่คนเข้าใจผิดกันทั้งบ้านทั้งเมือง เราควรจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องนะ ถ้าเราเป็นคนที่เหมือนมีไมโครโฟนอยู่ในมือ มีกระบอกเสียง ก็อยากสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่หลายๆ ครั้งเห็นแล้ว พิสูจน์กับชีวิตตัวเองแล้วว่าไม่มีประโยชน์ คนในสังคมไทยไม่ได้ต้องการเหตุผล พอ ทำตามอารมณ์ดีกว่า
คนนี้เป็นคนที่เราเกลียด เขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราก็ไม่อยากชม เพราะเราเกลียดเขาไปแล้ว คนนี้เป็นคนที่เราชื่นชม แต่พอเขาทำสิ่งที่ชั่วร้าย เราก็ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เขา เพราะว่าเรารักเราชอบเขาไปแล้ว
มันกลายเป็นสังคมแบบนั้นไปแล้ว ผมเห็นชัดเจนมากว่ามันเป็นอย่างนั้น แล้วทุกคนดันเป็นสังคมของการชอบแสดงความคิดเห็นโดยที่ไม่หาข้อมูล มันเลยยิ่งทวีคูณ หนักขึ้นไปอีก เฟซบุ๊กเองก็พูดเองว่าเขารับผิดชอบเฟคนิวส์ไม่ไหว ขอให้รัฐบาลทุกประเทศให้ความร่วมมือจัดการกับเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง เพราะเฟซบุ๊กถึงจะมีหน่วยงานที่คอยรับคำร้องเรียนเวลามีคนแจ้งเตือนไปว่าข่าวปลอม ใช้ถ้อยคำหยาบคาย เขาบอกว่าเขาดูแลไม่ไหว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กก็ออกมายอมรับเอง
แต่มันก็เป็นปัญหาเดิม ให้รัฐบาลแต่ละประเทศเป็นคนดูแลเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลเข้ามาดูแลจริงก็กลายเป็นว่าไม่มีใครไว้ใจ ทุกประเทศในโลกไม่มีใครไว้ใจรัฐบาลตัวเองว่าคุณจะไม่เอียงข้าง ถ้ารัฐบาลดูแล คุณก็ต้องปิดกั้นสื่อฝั่งตรงข้าม ตามสูตร แล้วคุณก็ต้องอวยพวกเดียวกันเอง มันมีแค่นั้น ฉะนั้นรัฐบาลควบคุมไม่ได้ เพราะถ้าควบคุมก็จะกลายเป็นจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น
ผมว่าทุกวันนี้โลกโซเชียล อย่างในทวิตเตอร์ มันเซ็นเซอร์อะไรไม่ได้ เช่นเรื่องสมัยก่อนที่คนไทยพูดกันไม่ได้ เรื่องบางเรื่อง กลัวมาตรานั้นมาตรานี้ ก็กลายเป็นว่ายิ่งกว่าพูดไม่ได้ด้วยซ้ำ มันกลายเป็นสร้างเรื่องบิดเบือน แล้วรีทวีตกันเป็นเรื่องราวใหญ่โต ทั้งเรื่องจริงและไม่จริง ปนกันเละเทะไปหมด มันไม่มีเบรกอยู่แล้วละ (ยิ้ม) ทำให้ผมรู้สึกว่ามันเกินที่เราจะยื่นมือลงไป บอกว่าอย่าเข้าใจผิดเรื่องนี้นะ ความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ มีข้อมูลหลักฐานชัดเจน ข้อกฎหมายเป็นแบบนี้ ทุกคนอย่าเพิ่งใช้อารมณ์ ทำความเข้าใจ ก็เห็นมีคนพยายามทำนะ แต่ก็สู้คลื่นของอารมณ์ไม่ไหว คลื่นของอารมณ์มวลชนมันมามากกว่าเหตุผลอยู่เสมอ ในทุกๆ สมัยนะ ผมเห็นเป็นแบบนั้น แต่โซเชียลมีเดียยิ่งทำให้มันเป็นคลื่นลูกใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเราได้แต่…ยืนมองไปแล้วกัน (ยิ้ม)
คุณมีวิธีจัดการอย่างไรกับตัวเองเวลาเกิดอารมณ์กับเรื่องที่มันมากับสื่อโซเชียล
ผมก็ดีท็อกซ์ด้วยการห้ามตัวเองไม่ให้เข้าไป ออกไปใช้ชีวิตประจำวัน อยู่กับคนที่เห็นหน้าเห็นตา พูดคุยกันได้จริงๆ ซึ่งมันยากนะ เพราะมันติด คนติดโซเชียลมีเดียนี่ผมเข้าใจนะ ผมติดจนเลิก แล้วกลับมาติดใหม่จนเลิก ติดอย่างนี้มาไม่รู้กี่รอบแล้ว เพราะผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นว่าทุกวันนี้ไม่ต้องมีหนังสือ มีโทรศัพท์เครื่องเดียว อยากอ่านอะไรก็กดเข้าไป มันพาเราไหล จมอยู่ในนั้น อยู่ได้เป็นวันๆ มันมีนู่นมีนี่ให้อ่านอยู่เรื่อยๆ ซึ่งอย่างที่บอก จริตเดิมมันชอบลากเข้าไปเรื่องพวกนี้ อยากให้แบบ…เห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม ทนเห็นความไม่ยุติธรรมไม่ไหว แต่ก็ได้เรียนรู้หลายๆ ครั้งแล้วว่า… (หัวเราะ ถอนหายใจ)
มองเห็นทางออกของสังคมไทยไหมครับ
ผมเห็นทางออกนะ แต่เป็นทางออกที่มันต้องใช้เวลา และเรียกว่าต้องเกิดความฉิบหาย จนกว่าจะเรียนรู้กัน ต้องเรียนรู้จากความเดือดร้อน ความทุกข์ใจ อย่างนั้นผมว่าคนในสังคมถึงจะเข้าใจ พูดกันดีๆ ไม่ค่อยเข้าใจ หลายๆ ประเทศในโลกผมไม่เห็นเขาเป็นแบบนี้นะ อย่างคนเยอรมันเกลียดกลัวสงครามมากๆ เพราะประสบกับตัวเอง แบบถึงใจแล้ว แต่พอผ่านมาถึงยุคหนึ่ง คนยุคใหม่ที่เขาไม่เคยสัมผัสสงครามแบบคนยุคเก่าก็มีความคิดเปลี่ยนไป ไม่ได้เข็ดหลาบ แต่การศึกษาในเยอรมนี เท่าที่ทราบคือ เขาเอาความจริงมาเผยแผ่ว่าคนในชาติเดียวกันเองเคยทำอะไรโหดร้ายไปแค่ไหนบ้าง ให้เด็กรู้สึกขยาดกลัว จะได้ไม่วนกลับมาซ้ำอีก
แต่อย่างประเทศเรา ไม่ได้เอาความจริงมาตีแผ่และย้ำเตือนกันบ่อยๆ ว่าคนในชาติกันเองทำอะไรกันบ้าง แม้กระทั่งความจริงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมายังถูกบิดเบือนไปอีกเรื่องหนึ่ง จากขาวเป็นดำได้เลย นับประสาอะไรกับสิบสี่ตุลา หกตุลา ที่ทุกวันนี้ยังเถียงกันไม่เลิกว่าฝั่งนั้นทำอย่างนั้น ฝั่งนี้ทำอย่างนี้ ความจริงมีอยู่แต่ถูกบิดเบือน เพื่อผลประโยชน์ของแต่ละคน จนมันหาความจริงไม่ได้แล้ว มันกลายเป็นว่า ใครอัดสื่อได้มากกว่า ใครดึงคนที่เด็กฟังได้เยอะกว่ามาเป็นคนพูด อันนั้นจะกลายเป็นความจริง โกหกบ่อยๆ จะกลายเป็นความจริง
ซึ่งไม่ต้องไปพูดถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เอาแค่ยุคปัจจุบัน เรื่องม็อบแค่ไม่กี่ครั้งที่ผ่านมา ยังถูกบิดเบือนจากขาวเป็นดำได้สารพัดเรื่อง จนหาความจริงกันไม่เจอแล้ว เด็กที่เกิดใหม่ในยุคนี้ ถ้ามานั่งอ่านข้อมูลในโซเชียลมีเดีย เสิร์จย้อนกลับไปอ่าน ทั้งม็อบเสื้อเหลืองเสื้อแดง กลายเป็นว่าเขาหาความจริงไม่เจอแล้วว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น ใครกันแน่ที่เป็นคนทำ ความจริงหาไม่ได้แล้ว หรือต่อให้เป็นความจริงคนก็เลือกจะเชื่อในสิ่งที่เขาพอใจ
คุณเข้าวัย 40 แล้ว มีวิธีคิดแตกต่างไปจากเดิมอย่างไรบ้าง
ถ้านับจากอายุสิบห้า-สิบหก ผมผิดขั้วตรงข้ามเลยครับ อย่างความคิดเรื่องสังคม-การเมืองอะไรพวกนี้ แต่ยี่สิบแปดถึงสี่สิบ หรือสิบกว่าปีที่ผ่านมาที่เกิดความชุลมุนวุ่นวายในบ้านเมือง มีผู้ใหญ่หลายคนพูดกับเราซ้ำแล้วซ้ำอีก ตอนที่เราอินกับเรื่องนี้มากๆ เขาบอกว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่างเปลี่ยนได้เสมอ คนที่คิดแบบนี้ คนที่เราไปเชียร์เขา ไปเห็นด้วยกับเขา วันหนึ่งเขาก็เปลี่ยนร้อยแปดสิบไปอีกข้างหนึ่งได้นะ อย่าไปอะไรมาก
ผมยังคิดว่ามันจะเป็นไปได้เหรอ เขาเอาชีวิตเข้าแลกเลยนะ ซึ่งก็เห็นหลายๆ คนกลับด้านร้อยแปดสิบองศาแบบ…เรายังตะลึง หือ…(ยิ้ม) พี่ไปอยู่กับพวกคนอย่างนี้ได้อย่างไร กลายเป็นว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นคำที่ผู้ใหญ่พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่เราได้ยินเข้าหู แล้วไม่รู้สึกจริงๆ ว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องผลประโยชน์ มีคนได้ผลประโยชน์กัน มีเบี้ยตายระหว่างทางเยอะแยะ ไอ้ที่มึงออกไปเป็นเบี้ยให้เขา วนเวียนไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ บางครั้ง สมัยก่อนเราจะรู้สึกว่าเราอยู่เฉยไม่ได้ เราทนความอยุติธรรมแบบนี้ไม่ได้ พอเวลาผ่านมาเราก็จะเห็นว่าหลายๆ คนก็กลายเป็นเบี้ยฟรีเปล่าๆ ไป แต่ถามว่าผมจะต่อต้านคนที่จะออกไปเป็นเบี้ยให้คนอื่นไหม ผมไม่ต่อต้านนะ เพราะผมก็ต้องเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตัวเอง ผมก็เชื่อว่าคนเหล่านั้นหรือคนรุ่นใหม่ เขาต้องไปเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตัวเองเหมือนกัน
มีความผิดพลาดในอดีตที่เป็นบทเรียนบ้างไหมครับ
สำหรับผม ถ้ามันเป็นบทเรียนก็คือ (คิด) จะอธิบายว่าผมไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่เคยทำแม้แต่เรื่องเดียวเลย ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ อะไรที่เกิดขึ้นกับชีวิตผมมันดีเสมอ ถึงมันจะทำให้เป็นทุกข์ แต่มันก็สอนเรา ได้ทุกเรื่องจริงๆ
ถามว่าอะไรบ้างที่เป็นบทเรียน มันเยอะนะ อย่างการควบคุมอารมณ์ในการแสดงออก ถามว่ารู้สึกผิดไหมในการแสดงออกไป ผมไม่รู้สึกผิดเลยแม้แต่นิดเดียว และรู้สึกว่าย้อนกลับไปในเวลานั้น ผมก็คงจะทำแบบนั้น ถามว่าทำแบบนั้นแล้วอะไรที่เป็นบทเรียน คือลักษณะท่าทีในการแสดงออก มันไม่ควรจะประกอบด้วยอารมณ์
นับจากนี้ไป เป้าหมายในชีวิตชัดเจนขึ้นไหม
ผมก็คิดเหมือนเดิมมานานสิบกว่าปีแล้วนะครับ ก็ยังเหมือนเดิมคือ ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ และเป้าหมายก็เหมือนทางพุทธนั่นละว่า เราอยากไปถึงทางไหน ก็คือละวางให้ได้ในระดับหนึ่งที่เราพอใจ ก็พยายามตรงนั้น และระหว่างละวางสิ่งเหล่านั้น ก็พยายามหากินหาอยู่ ทำหน้าที่ตัวเองให้เดือดร้อนตัวเองและสังคมน้อยที่สุด
ตอนเด็กๆ เคยมีความฝันอะไรบ้าง
ตอนเด็กผมอยากเป็นนายกฯ ครับ พอโตมาก็รู้ว่าเราเป็นคนที่ทนต่อการสาดโคลนไม่ไหว แค่เราโดนเฟคนิวส์ เอาเราไปบิดเบือน บางทีเรายังเดือดร้อนเลย ถ้าไปอยู่ในจุดนั้นเราไม่มีวันทนไหวแน่นอน จิตยังไม่แกร่งขนาดนั้น (ยิ้ม) เปลี่ยนมานานแล้วครับความคิดที่อยากเป็นนายกฯ
ตั้งแต่ยี่สิบกว่าเป็นต้นมาก็คิดอยู่แค่นี้ละครับว่า ผมอยากจะอยู่เป็นโสดาบันขั้นต่ำ พูดไปแล้ว คนศาสนาอื่นหรือคนที่ไม่สนใจศาสนาอาจจะถามว่าคืออะไรวะ เพ้อเจ้อ แต่นั่น ถ้าถาม ผมตอบสั้นๆ ว่าผมอยากเป็นแบบนั้น
แล้วเป้าหมายของค่ายพร้อม+ ล่ะครับ
ผมอยากให้ทุกคนในค่ายสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ใช้ตรงนี้เป็นอาชีพได้ อยู่ไปได้นานๆ มีเงินคืนนายทุน ไม่ทำให้เขาขาดทุน และแถมอีกนิดว่าถ้าผลงานของเขามันสร้างอะไรดีๆ ให้กับสังคมได้ก็จะเพอร์เฟ็กต์เลย แต่ถ้ามันทำไม่ได้ขนาดนั้น เอาแค่เลี้ยงตัวเองรอด ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม ก็พอแล้ว
ตอนนี้ธุรกิจของค่ายสามารถ break event ได้หรือยังครับ
ยังครับ ยากครับ (ยิ้ม)
ความจริงแล้วมันเป็นโจทย์ที่ต้องคิดตั้งแต่ก่อนเริ่มทำใช่ไหม
ใช่ครับ คือผมว่ามันคล้ายๆ ธุรกิจภาพยนตร์เหมือนกันนะครับ ค่ายเพลงก็จะมีศิลปินหลายๆ คน ทำคนนี้ขาดทุน คนนี้เท่าทุน คนนี้กำไรนิดหน่อย ถ้ามีเบอร์หนึ่งที่ดังเปรี้ยงขึ้นมาก็อาจจะเป็นรายได้ของคนคนเดียวที่สามารถเลี้ยงคนทั้งค่าย ก็ต้องพยายามทำให้ถึงจุดนั้น แต่ว่าอย่างที่บอก ธุรกิจนี้มันเหมือนธุรกิจภาพยนตร์ เราควบคุมได้แค่ปัจจัยของเรา มันไม่มีสูตรน่ะ ว่าเพลงนี้ฮิตล้านเปอร์เซ็นต์ หนังเรื่องนี้ฮิตล้านเปอร์เซ็นต์ เราก็ทำได้แต่ในสิ่งที่เราคิดว่ามันดีที่สุด ส่วนที่เป็นปัจจัยแวดล้อมภายนอก คนจะชอบไม่ชอบ มันจะมาหรือไม่มา เหมือนกับออกมาวัดดวง แค่ควบคุมความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด
จริงๆ มีคนทำรอดเยอะครับ อย่างเด็กรุ่นใหม่ๆ ค่ายเล็กๆ ที่เขาไม่ใช่แค่รอด แต่รวยเลยก็มี มันวัดยากจริงๆ พูดภาษาชาวบ้านก็เหมือนพึ่งดวงครึ่ง/ครึ่ง แต่ว่าผมก็ไม่ได้เชื่อเรื่องดวงนะ ผมเชื่อเรื่องความพยายามกับผลบุญผลกรรมละกัน (ยิ้ม) มันไม่มีสูตรหรอกครับ เพราะถ้ามีสูตรก็คงสำเร็จกันหมดแล้ว แม้แต่ค่ายใหญ่ๆ ก็ต้องปรับตัว ค่ายใหญ่นี่ปิดไปแล้วก็มี ค่ายใหญ่ที่ย่อส่วนลงก็มี ค่ายเล็กๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ก็มี ค่ายเล็กที่เกิดจนโตแล้วดับไปก็มี ฉะนั้นถ้ามันมีสูตร มันก็ไม่มีดับสิใช่ไหม มันต้องโตๆๆ ไปเรื่อยๆ หาคนใหม่มาทำแล้วดัง นี่มันธรรมชาติครับ คือการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างคือความเปลี่ยนแปลง
เคยนึกเปรียบเทียบกับความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมาบ้างไหมครับ
ฮืมม์…มีบ้างครับ แต่ผมไม่เอามาเป็นสาระ เพราะผมรู้สึกว่า แม้กระทั่งคนที่เป็นระดับอาจารย์ในการเขียนเพลงที่เรานับถือหลายๆ คน เคยไปคุยกับเขา เขาบอกว่าพี่เขียนเพลงฮิตเป็นร้อย แต่เขียนเพลงไม่ฮิตเป็นพัน (หัวเราะ) อย่างที่บอกละครับ ไม่มีสูตร แล้วก็มันมีขึ้นมีลง มันเป็นรสนิยม เป็นแฟชั่น เพลงบางเพลงเราฟังแล้วเราไม่ชอบเลยก็เป็นเพลงที่ติดชาร์ต บางเพลงก็ได้รางวัลเยอะแยะมากมาย แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมในแง่ธุรกิจ เรื่องพวกนี้พูดยาก มันเป็นเรื่องของศิลปะและธุรกิจ แล้วมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ผมว่าเพลงเดียวกัน ออกคนละเวลา ก็ยังให้ผลลัพธ์ต่างกันเลย ฉะนั้นมันวัดกันยากมาก เพราะช่องทางการนำเสนอมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สมัยก่อนยังไม่มียูทูบ สมัยนี้มียูทูบ มี Spotify ช่องทางการโฆษณามีเยอะแยะ ไปลงแอพฯ Tik Tok หรืออะไรใหม่ๆ ที่คนยุคก่อนไม่รู้จัก มันก็มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่รู้ว่าเดือนหน้า …มันไม่ได้นับเป็นปีแล้ว ตอนนี้นับหลักเดือนหลักอาทิตย์กันแล้วว่า อาทิตย์หน้าหรือเดือนหน้าจะมีช่องทางอะไรใหม่ แล้วเด็กรุ่นใหม่ไปเสพสื่อกันตรงนั้น มันไวมาก ทุกคนพร้อมจะเจ๊งและพร้อมจะเกิดครับ (หัวเราะ)
ในฐานะคนทำค่ายเพลง พอจะมองออกไหมครับว่าทิศทางของเพลงไทยจะไปถึงไหน
มองไม่ออกเลยครับ ผมเชื่อว่าคนที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ เขาเองก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้ จริงนะ ผมเชื่อแบบนั้นเลย คือคนที่ success ในวันนี้ เด็กหลายๆ คนที่ผมเคยเห็นและคุยสัมภาษณ์ เขาบอกว่าเขาก็แค่ทำ ไม่คิดว่ามันจะมาถึงขนาดนี้ด้วย แม้กระทั่งตัวเขาเองยังไม่รู้เลยว่ามันมาได้อย่างไร มันไม่มีสูตรจริงๆ เพราะฉะนั้นผมมองไม่ออก ไม่กล้าทำนายเลยครับ
ทำธุรกิจค่ายเพลงมาปีกว่า คิดว่าประสบความสำเร็จแล้วสักแค่ไหน
ผมว่าผมยังไม่ประสบความสำเร็จนะครับ และยังต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เรียนรู้อีกเยอะพอสมควรครับ