ช่วงสัปดาห์ปลายเดือนที่ผ่านมา โชเฟอร์ขับรถจากัวร์คันสีเงินพาบอริส จอห์นสัน พร้อมขบวนนำของสก็อตแลนด์ ยาร์ดมุ่งหน้าสู่พระราชวังบัคกิงแฮม โดยมีสื่อมวลชนบนเฮลิคอปเตอร์คอยบันทึกภาพถ่ายทอดให้ผู้ชมเฝ้าติดตามกันในสำนักงาน ห้องนั่งเล่นในบ้าน หรือตามคาเฟ่แบบสดๆ

บอริส จอห์นสันเข้าพบสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อรับการประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร

ณ จุดนี้ นับว่าความฝันของเขาบรรลุเป้าเรียบร้อยแล้ว – ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กน้อย คำถามประเภท “โตขึ้นแล้วอยากเป็นอะไร” ตอนนั้นเขาให้คำตอบว่า “พระราชาของโลก” ก็นับตั้งแต่ครั้งนั้นแล้วละที่เขาฉายแววเป็นคนกระหายอยากในอำนาจ มักใหญ่ใฝ่สูง และมีความทะเยอทะยาน อย่างน้อยตำแหน่งใหม่ในฐานะผู้นำรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรก็เติมเต็มความฝันวัยเด็กได้เกินกว่าครึ่งแล้ว

ระหว่างการเขียนผิดและการโกหก

บอริส จอห์นสัน บุตรชายของครอบครัวฐานะมั่งคั่ง มีโอกาสได้ร่ำเรียนในโรงเรียนชั้นนำ ตั้งแต่อีตันจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จากนั้นก็เริ่มงานอาชีพนักหนังสือพิมพ์ ครอบครัวฝากฝังให้ไปทำงานกับ The Times หนังสือพิมพ์แถวหน้าของอังกฤษ แต่เขาก็รักษาตำแหน่งงานไว้ได้แค่ผ่านพ้นปี เพราะเขียนคำกล่าวอ้างผิดๆ ลงในบทความของตนเอง

ปีต่อมาจอห์นสันได้เป็นคอลัมนิสต์ของ Daily Telegraph จากนั้นเดินทางไปทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวที่กรุงบรัสเซลส์ และเริ่มกลายเป็นที่รู้จักของใครๆ ในสภาอียูว่าเป็นนักข่าวที่ชอบเขียนเรื่องโกหก แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานที่เทเลกราฟก็พูดเรื่องโกหกกับเขาเป็นประจำ อย่างเช่น จอห์นสันปรักปรำสหภาพยุโรปว่าเริ่มดำเนินการให้มี ‘ตำรวจกล้วย’ ออกกฎหมายห้ามผลิตชิพรสกุ้ง หรือคณะกรรมาธิการมีแผนสร้างหอคอยบาเบลความสูง 3 กิโลเมตรสำหรับเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป… ทั้งหมดนั้นล้วนไม่จริง แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมของอังกฤษก็ยังปักใจเชื่อ

แม้จะเขียนข่าวเท็จหลายต่อหลายเรื่อง แต่กลับไม่มีผลกระทบอะไรกับงานอาชีพของเขา ปี 1994 จอห์นสันได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าคอลัมนิสต์สายการเมืองของ Daily Telegraph

ต้นปี 2000 ขณะจอห์นสันอายุ 35 เขาได้รับข้อเสนอตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร The Spectator ในช่วงเวลานั้นเองที่เขาเริ่มมีบทบาททางการเมือง และรู้สึกตัวในขณะนั้นเองว่า เขาอยากเป็นนักการเมืองมากกว่านักข่าว เมื่อแรงจูงใจมีเพิ่มมากขึ้น วันหนึ่งเขาก็ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนในสังกัดพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากลอนดอนเปรียบเสมือนฐานที่มั่นของพรรคแรงงาน-พรรคใหญ่อันดับสองของอังกฤษ ที่ผูกขาดตำแหน่งนายกเทศมนตรีมายาวนาน ทว่าจอห์นสันก็ทำได้สำเร็จอย่างเหลือเชื่อ

ช่วงปีทอง

ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ระหว่างปี 2008-2016 น่าจะถือเป็น ‘ปีทอง’ ของบอริส จอห์นสัน แต่ระหว่างที่เป็นพ่อเมืองนั้นเขายังคงฟุ่มเฟือยด้วยคำพูดที่ยิ่งใหญ่และทำการเมืองเชิงสัญลักษณ์มากมาย เช่นให้การสนับสนุนโครงการใหญ่มูลค่านับล้านอย่างเคเบิลคาร์เหนือแม่น้ำเทมส์ที่ไร้ประโยชน์ หรือสะพานในสวนที่ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้ก่อสร้าง

ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเขามักผิดนัดบ่อยครั้ง คำสัญญาว่าจะสร้างที่อยู่อาศัยเป็นสังคมสงเคราะห์ก็ไม่เกิดขึ้นจริง นอกจากนั้นเขายังกล่าวเท็จเรื่องสถิติอาชญากรรมในวัยรุ่นว่ามีปริมาณลดลง ทั้งที่ความจริงแล้วเพิ่มสูงขึ้น เขาเน้นย้ำว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสอดส่องทั่วกรุงลอนดอนมากขึ้น แต่จำนวนเจ้าหน้าที่กลับลดน้อยลง

เมื่อพ้นตำแหน่งนายกเทศมนตรี จอห์นสันได้ที่ทางใหม่ในรัฐสภาอังกฤษ และผันตัวเองเข้าไปอยู่ในฝ่ายสนับสนุน Brexit

ปี 2016 จอห์นสันได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ

บอริสติดดิน เอื้อมถึง สัมผัสได้

ทำไมบอริส จอห์นสันกลายเป็นที่รักใคร่ของชาวอังกฤษ ทั้งๆ ที่ประวัติของเขาดูด่างพร้อย เป็นคนมีเงื่อนงำ ชอบโป้ปด

ชาวลอนดอนเคยรักใคร่เมื่อครั้งเขาเป็นนายกเทศมนตรี นั่นเพราะเขามักมีเรื่องราวดีๆ นำเสนอผ่านวิทยุและโทรทัศน์สม่ำเสมอ หรืออาจเพราะ ‘บอริส ไบค์’ จักรยานสำหรับประชาชนยืมใช้ที่พร้อมให้บริการแทบทุกหัวมุมถนน หรือเพราะเขาเคยไปร่วมรายการรถโชว์ Top Gear กับเจเรมี คลาร์กสัน-พิธีกรคนดัง แล้วพูดจาได้น่าฟังแถมยังตลก หรืออาจจะเป็นเพราะความตรงไปตรงมา ความบูดบึ้ง ความมีเสน่ห์ หรือผมทรงไม้กวาดของเขา เวลาบอริส จอห์นสันพูด คล้ายกับว่าเขากำลังเขย่าต้นไม้ใหญ่ และผู้ฟังคล้ายจะล้มฟุบได้โดยไม่รู้ตัว

จอห์นสันเป็นคนมีคาแรกเตอร์ ที่ชาวอังกฤษเรียกแค่ชื่อ ‘บอริส’ อย่างนิยมชมชอบ เขาดูเป็นคนติดดินธรรมดาๆ ที่เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วกลายเป็นนักการเมืองที่แปลก มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากนายกรัฐมนตรีคนเก่าๆ ของอังกฤษ

และเพราะแรงดึงดูดใจในแบบของเขานี่เอง ที่ทำให้ผู้คนพากันลืมความผิดพลาดของเขา และพร้อมยกประโยชน์ให้เขา


ชีวิตส่วนตัวที่ยังไม่ลงตัว

นอกจากเรื่องราวทางการเมืองแล้ว บอริส จอห์นสันยังมีเรื่องราวชีวิตส่วนตัวเป็นประเด็นให้นักข่าวสายกอสสิปได้เกาะติดอีกด้วย

จอห์นสันแต่งงานครั้งแรกเมื่อปี 1987 กับอัลเลกรา มอสทีน-โอเวน แล้วหย่าร้างกันเมื่อปี 1993 ในปีเดียวกันนั้นเขาแต่งงานใหม่อีกหนกับทนายความ-มารินา วีเลอร์ และมีทายาทด้วยกันสี่คน บุตรชายสอง-บุตรสาวสอง

ปี 2009 เฮเลน แม็คอินไทร์ ให้กำเนิดบุตรสาวชื่อสเตฟานี แล้วมีข่าวซุบซิบหลุดออกมาว่า พ่อของเด็กคือบอริส จอห์นสัน ที่ครั้งนั้นยังครองสภาพแต่งงานกับวีเลอร์อยู่ ข่าวยังล้วงลึกอีกว่า จอห์นสันน่าจะยังมีบุตรนอกสมรสเพิ่มเติมอีกคนหนึ่งด้วย

เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 จอห์นสันและวีเลอร์กลายเป็นข่าวอีกครั้งว่า พวกเขาแยกทางกันแล้ว และจะหย่าร้างกันอย่างเป็นทางการ

ล่าสุดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จอห์นสันเริ่มสัมพันธ์รักใหม่กับแคร์รี ซีมอนด์ส-ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง เวลาที่จอห์นสันตอบคำถามสื่อเรื่องการพบรักกับแฟนใหม่ เขาให้คำตอบที่วิจารณ์ตนเองไปในตัว “ผมใช้เวลาครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเอง กับการคุยกับใบหน้าตัวเอง”

เธอเป็นหญิงงาม วัยอ่อนกว่าเขา 24 ปี แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา และหากว่าเรื่องราวการหย่าร้างกับภริยาคนเก่าเสร็จสิ้นแล้ว บุคคลทั้งสองก็สามารถเข้าพิธีแต่งงานได้

และพร้อมจะเข้าไปใช้ชีวิตคู่อยู่ที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง สตรีท

เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์