เดือนตุลาคมเมื่อสองปีก่อน เคนโซ ทากาดะยังง่วนอยู่กับการทำงาน บนชั้นหกของอาคารเก่าแก่บนถนนแซเฟรส์ ขณะนั้นเขาอายุย่างเข้า 79 ปีแล้ว แต่ปฏิเสธที่จะวางมือจากงาน ในห้องด้านข้างผู้ร่วมงานของเขาก็ขะมักเขม้น “ผมชอบทำงาน” เขาบอกเหตุผล และโปรเจ็กต์ที่เขากำลังทำอยู่นั้นคือการออกแบบน้ำหอมให้กับบริษัทเครื่องสำอาง Avon


เวลาพูดเล่าถึงชีวิตการทำงาน เคนโซมักจะกล่าวถึงการสร้างสรรค์ที่เขาชื่นชอบ นั่นคือ สี มันคือภาษาที่เขาเข้าใจมานาน ก่อนที่เขาจะเดินทางออกจากถิ่นกำเนิดมาสร้างชื่อ มาก่อร่างสร้างบริษัทใหญ่โตในฝรั่งเศส ภาษาของสีช่วยให้เขาก้าวพ้นอุปสรรคต่างๆ ได้ดีมาตลอด

เคนโซ ทากาดะ เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1939 ที่เมืองฮิเมจิ จังหวัดโอซากะ เขาเคยเล่าว่าตนเองใฝ่ฝันมาตั้งแต่วัยเยาว์ที่จะเติบใหญ่เป็นนักออกแบบเสื้อผ้า หรือไม่ก็จิตรกร ส่วนอาชีพอื่นใดนอกเหนือจากนั้นนั้นเขานึกไม่ออก แต่การร่ำเรียนด้านการออกแบบเสื้อผ้าในญี่ปุ่น ต้องใช้เวลาเรียนถึงห้าปี และมีสอนในสถาบันที่ล้วนมีแต่ผู้หญิงเท่านั้น ที่สำคัญ พ่อแม่ของเขายังไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของเขา แต่ก็ห้ามไม่สำเร็จ เคนโซ ทากาดะเป็นผู้ชายคนแรกที่เรียนจบจาก Bunka Fashion College จากนั้นเริ่มงานอาชีพสไตลิสต์ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว


ปี 1965 เคนโซ ทากาดะขึ้นเรือบรรทุกสินค้ามุ่งหน้าสู่ยุโรปจุดหมายปลายทางในฝันของเขายามนั้นคือกรุงปารีสในกระเป๋าของเขามีเงินติดตัวอยู่เพียงน้อยนิดอีกทั้งยังพูดหรือฟังภาษาฝรั่งเศสไม่ได้การเดินทางใช้เวลาหนึ่งเดือนก่อนเรือบรรทุกจะจอเทียบท่าที่เมืองมาร์เซย์  จากนั้นเขานั่งรถต่อไปยังปารีส เมืองปลายทางที่ดูซึมเซา ครึ้มเย็น ผิดแผกไปจากภาพที่เขาเคยรู้จัก

ชีวิตในกรุงปารีสช่วงเริ่มต้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก  แต่เคนโซทากาดะก็บากบั่นจนผลักดันตนเองขึ้นเป็นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นคนแรกของฝรั่งเศสละม้ายคล้ายคลึงกับเส้นทางอาชีพของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ปี1970 เขามีโอกาสได้นำเสนอผลงานแฟชั่นโชว์ครั้งแรกและกวาดเสียงชื่นชมได้ดี นิตยสาร Elle ตีพิมพ์ผลงานโชว์ของเขาเป็นภาพปก ความสำเร็จแรกเกิดขึ้นความสำเร็จครั้งถัดไปก็ตามมาอย่างรวดเร็ว


ในปีเดียวกันนั้น เคนโซเปิดบูติกชื่อ Jungle Jap ในกาเลอรี วิเวียนน์ (ต่อมาในปี 1985 เปลี่ยนเป็นบูติก Jean-Paul Gaultier) ปี1971 เขาส่งผลงานไปแสดงทั้งในนิวยอร์กและญี่ปุ่น แต่ปีถัดมาแฟชั่นโชว์ของเขารีบร้อนจนเกินไปทำให้ต้องหยุดชะงัก ขณะเดียวกันเขายังได้รับรางวัลจาก Fashion Editor Club of Japan

ปี1976 บูติก KENZO แห่งแรกได้เปิดอย่างเป็นทางการ พร้อมสำนักงานที่ถนนปลาซ เดส์ วิกตัวร์ในปารีสที่ซึ่งปัจจุบันยังเป็นแฟล็กชิปสโตร์ของ KENZO ถึงตอนนั้นเคนโซ ทากาดะเริ่มเข้าใจกระแสแฟชั่นแบบตะวันตกมากขึ้น และเริ่มใช้ดราม่าเข้าช่วยเพื่อเรียกกระแส อย่างปี 1978-1979 ที่เขากางเต็นท์ละครสัตว์จัดโชว์ และออกแบบชุดโปร่งใสให้นักแสดงขี่ม้ารวมทั้งตัวเขาเองยังขึ้นหลังช้างในช่วงฟินาเล่

แฟชั่นหลากสีสันและสนุกสนานของเคนโซเกิดจากการผสมผสานสีและลวดลายที่แปลกใหม่บ่อยครั้งเขามักตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้ใบไม้เชื่อมต่อกันตลอดเวลา  โดยได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางของตนเอง อย่างที่เรียก “อิทธิพลแบบเอเชียผสมความสมัยใหม่ของยุโรป”


ปี 1983 เคนโซหันมาจับแฟชั่นบุรุษ พร้อมแตกไลน์เป็น KENZO Studio, KENZO Jungle, KENZO Jeans และแฟชั่นสำหรับเด็ก ก่อนจะมีไลน์น้ำหอมแบรนด์ KENZO ตามออกมาในปี 1988 เริ่มแรกเป็นน้ำหอมสำหรับสตรีออกแบบฝาปิดขวดเป็นรูปทรงกลีบดอกกุหลาบ ปี 1991 น้ำหอมสำหรับบุรุษขวดแรก KENZO pour Homme ออกแบบขวดเป็นรูปทรงต้นไผ่ และยังมีน้ำหอมภายใต้ชื่อ KENZO ออกมาอีกเรื่อยๆ

ปี 1993 เคนโซขายแบรนด์ KENZO ให้กับกลุ่ม LVMH ในราคา 482 ล้านฟรังก์ (ราว 2,500 ล้านบาท) ทว่ายังคงครอตำแหน่งเชฟดีไซเนอร์อยู่จนกระทั่งถึงปี 1999 ขณะอายุได้ 60 ปี และผ่านการทำงานในฐานะดีไซเนอร์มา 30 ปี เขาจึงถอนตัวออกจากแบรนด์ KENZO และโลกแฟชั่น เพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและการเดินทาง


ในมุมชีวิตส่วนตัว เคนโซ ทากาดะเคยใช้ชีวิตคู่อยู่กับซาวิเยร์ เดอ คาสเทลญา (Xavier de Castella) นานหลายปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในปี 1990 เขาพบซาวิเยร์ครั้งแรกในงานดินเนอร์ปาร์ตี้ฉลองวันเกิดของปาโลมา ปิกัสโซ-ลูกสาวของปาโบล ปิกัสโซ ซึ่งมีคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์กับชายคนรัก-ฌากส์ เดอ บาสเชอร์ร่วมอยู่ด้วย และซาวิเยร์นั้นนั่งตรงข้ามกับเขา

“ตอนแรกเห็นเขา ผมนึกถึงนักแสดงชื่อคลินต์ อีสต์วูด เขาชอบลูบหนวดเวลาที่รู้สึกเขินอาย” เคนโซเคยเล่าระหว่างให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia หลังจากนั้นทั้งสองค่อยๆ สานความสัมพันธ์ ก่อนจะร่วมกันออกแบบรังรักขนาดใหญ่ด้วยกันในปี 1987

เคนโซ ทากาดะได้ชื่อว่าเป็นดีไซเนอร์ขี้อาย เก็บตัว และพูดภาษาฝรั่งเศสแบบขาดๆ เกินๆ เขาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปารีสต่อไปแม้จะถอนตัวออกจาก KENZO แล้ว และมีบ้านพักหลักอยู่ในโมนาโค อพาร์ตเมนต์บนชั้นสามของอาคารใกล้บาสติลญ์ในกรุงปารีส พื้นที่ขนาด 1,200 ตารางเมตรนั้น เขากับคาสเตลญาเคยออกแบบให้เป็นที่พักสไตล์ญี่ปุ่นร่วมกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วเคนโซต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตามลำพังนานถึง 20 ปี ก่อนจะขายต่อให้กับปาสคาล เบรต็อง-โปรดิวเซอร์รายการทีวีฝรั่งเศสในราคา 12 ล้านยูโร ส่วนตัวเขาเองย้ายไปอยู่อดีตบ้านเรือขนาด 250 ตารางเมตร


ปี 2004 ชื่อของเคนโซ ทากาดะหวนกลับเข้ามาในสื่อและโลกแฟชั่นอีกครั้ง เมื่อเขานำเสนอแบรนด์ Gokan Kobo (สตูดิโอสัมผัสที่ห้า) สองปีถัดมาเขาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Takada by Kenzo Takada เป็นแบรนด์เครื่องเรือน ชุดเครื่องนอน เก้าอี้ เครื่องถ้วยชาม เสื้อผ้าสตรี และแฟชั่นชุดว่ายน้ำ แต่เนื่องจากความสำเร็จไม่ถึงเป้าหมายเขาจึงยุติธุรกิจนี้ไปในปี 2007

และเพราะเขายังมีสิทธิในชื่อแบรนด์ KENZO แม้จะขายกิจการให้กับ LVMH ไปแล้ว เขาจึงทำงานออกแบบร่วมกับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ต่างๆ มากมาย จนกระทั่งถอนตัวอย่างถาวรจาก KENZO ในปี 2010 เคนโซหันมาเริ่มงานจิตรกรรม วาดภาพพอร์เทร็ตให้กับแกลเลอรีศิลปะในกรุงปารีส


ต่อจากนั้นยังทำงานออกแบบตกแต่งภายในให้กับโรงแรม เรือคาตามารัน รวมถึงเครื่องประดับภายใต้ชื่อแบรนด์ 10 Royale by Kenzo Takada

“ผมเดินทางเยอะ ชอบไปนวด ดูนิทรรศการศิลปะ แล้วกลับบ้านไปนั่งทำงานนิดหน่อย ไม่ทุกวันหรอก แต่ก็สม่ำเสมอ” เคนโซ ทากาดะเคยให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อสองปีก่อน

และหากเขาไม่เสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมาเสียก่อน โลกนี้ก็คงยังมีผลงานออกแบบของดีไซเนอร์วัยกว่า 80 ปีให้ชื่นชมต่อไป


เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์

photo by ig : Kenzo takada

อ้างอิง :
https://www.faz.net/aktuell/stil/mode-design/trauer-um-kenzo-takada-ein-leben-fuer-die-farben-16986037.html
https://www.kleinezeitung.at/service/nachrufe/5877054/Er-schuf-eine-Weltmarke_Modeschoepfer-Kenzo-Takada-an-Covid19
https://www.kleinezeitung.at/service/nachrufe/5877054/Er-schuf-eine-Weltmarke_Modeschoepfer-Kenzo-Takada-an-Covid19