“สวัสดีครับผมเอิร์ธ ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานครในโอกาสที่ผมได้เข้ามารับหน้าที่ดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพฯ อย่างเต็มตัวผมจะขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในการแนะนำตัวเองเพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจถึงเจตนารมณ์และเป้าหมายในการเข้ามารับตำแหน่งโฆษกกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นก้าวแรกสำหรับการทำความรู้จักกันระหว่างเรานะครับ…”

นั่นคือประโยคแนะนำตัวที่ปักหมุดในกระดานเฟซบุ๊กของ ‘เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง – Earth Pongsakorn Kwanmuang’ ที่มียอดไลค์กว่า 7 หมื่น และผู้ติดตามกว่า 7.2 หมื่น


หมวดเอิร์ธสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 53 และปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 69 เคยปฏิบัติหน้าที่ราชการตำรวจตำแหน่งรองสารวัตร (สืบสวน) สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคนสุดท้องในครอบครัวพี่น้องสามคนของพลตำรวจเอกอัศวิน และวาสนา ขวัญเมือง

หมวดหนุ่มวัย 27 ปี ผิวขาว ร่างสูงกว่า 180 เซนติเมตร เป็นที่สะดุดตา และเคยเป็นหนึ่งในบุคคลที่สังคมโลกโซเชียลติดแฮชแท็ก #ตำรวจหล่อบอกด้วย มาก่อนหน้าที่จะลาออกจากราชการไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ กระทั่งปีที่แล้วเขากลับมา และได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกในทีมของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร

เป็นบทบาทใหม่ที่เขาเปรียบเทียบคล้าย ‘การเมืองอาสา’ ที่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของสังคม


บทบาทของ ‘โฆษกกรุงเทพมหานคร’ มีอะไรบ้าง

ชื่อก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นโฆษก แต่สำหรับผม การเป็นโฆษกคงไม่ใช่แค่การพูดอย่างเดียวในการชี้แจง เพราะสิ่งสำคัญสำหรับผมมีสองอย่างคือ หนึ่ง-การชี้แจงนโยบายให้ทุกคนทราบ และอีกอย่างคือการประสานงาน โดยการรับฟังหน่วยงานหรือคนที่แสดงความเห็นต่าง ๆ

การรับฟังมีอะไรบ้าง เท่าที่ผ่านมาผมได้ลองทำงานหลายๆ อย่างจนสำเร็จ โดยเฉพาะการดึงภาคเอกชนหรือประชาชนมาร่วมในการทำงาน อย่างเช่น สะพานด้วน หรือตอนนี้ที่เรียกว่าสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ซึ่งนั่นก็เป็นการร่วมงานกันระหว่ากรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และภาคีพัฒนา ที่ผมประสานงานส่วนหนึ่ง หรือการออกแบบป้ายรถเมล์ใหม่ ที่ทำร่วมกับกลุ่มเมย์เดย์ การรณรงค์เรื่องพื้นที่สีเขียวมากขึ้นในโครงการ Green Bangkok นั่นคือหน้าที่ของโฆษกอีกหน้าที่หนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาคนคิดว่าเรามีหน้าที่พูดชี้แจงอย่างเดียว ความจริงแล้วเรายังทำหน้าที่รับฟังและประสานงานด้วย


ก่อนหน้านี้เคยช่วยงานคุณพ่อมาระยะหนึ่งใช่ไหม

ตอนนั้นผมไม่ได้ช่วยเต็มที่นัก เพราะว่าเมื่อห้าปีที่แล้วผมเรียนจบตำรวจมาสักพักหนึ่ง ตอนนี้มีโอกาสได้ให้คำแนะนำบ้าง เพราะคุณพ่อเพิ่งได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้มาช่วยอย่างเต็มที่ ผมช่วยได้ในบางเรื่องอย่างเช่นการประสานงาน หรือคิดไอเดียใหม่ๆ

ตอนที่ช่วยได้เยอะก็เป็นช่วงที่ผมไปเรียนต่อที่อังกฤษ สองปีที่ผมไปเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด ผมเรียนเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งเกี่ยวกับการบริหารงาน กทม. ช่วงนั้นมีโอกาสได้ช่วยเยอะหน่อย หลังจากเรียนจบกลับมาเมื่อปีที่แล้ว ผมก็เข้ามาช่วยในทีมโฆษกของกรุงเทพมหานคร แต่ผมก็ไม่ได้มองว่าเป็นการช่วยพ่อนะครับ ผมช่วยกรุงเทพมหานครมากกว่า


ประยุกต์ความเป็นเมืองของลอนดอนจากประสบการณ์มาใช้กับกรุงเทพมหานครอย่างไรบ้าง

ทุกอย่างเลยครับ ลอนดอนสำหรับผมเป็นเมืองหลวงที่ใหญ่ระดับโลก ได้เห็นการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ที่เราจะเริ่มใช้กันปลายเดือนกรกฎาคมนี้คือ ป้ายรถเมล์ที่จะบอกเวลามาถึงของรถเมล์ ที่ผ่านมาหลายคนต้องไปทำงานสายกันเพราะไม่รู้ว่ารถเมล์จะมาถึงเมื่อไหร่ ครั้งนี้เราบูรณาการรถเมล์ทั้งระบบ ทำให้เป็นป้ายรถเมล์ที่สามารถดูเวลาได้ และมีกล้องวงจรปิดที่ทำให้ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงความสะดวกในเรื่องของ Wi-Fi

ประสบการณ์ที่ลอนดอนเป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้เรียนในห้องเรียน แต่เป็นประสบการณ์จากการใช้ชีวิตในเมืองหลวงของโลก ทำให้ผมคิดว่า สิ่งใดที่ผมจะนำมาพัฒนาเมืองหลวงของเราได้


ในกรุงเทพฯ มันจะเป็นจริงได้อย่างไรในเมื่อการเดินรถยังขึ้นอยู่กับการจราจรเป็นหลัก

ลอนดอนก็ขึ้นอยู่กับการจราจรเหมือนกันครับ ทำไมจะเป็นจริงไม่ได้ และจะเป็นจริงให้เห็นในเร็ววันนี้ด้วย เพราะมันมีเทคนิคหรือหลักการในการคำนวณความเร็วกับเวลาเดินรถ เหมือนจีพีเอส และอีกหลักการคือการเอาประวัติการเดินทางโดยเส้นทางรถจากจุดหนึ่งเฉลี่ยจะไปถึงที่ป้ายเท่าไหร่ ตรงนี้ทำได้อยู่แล้วครับ ไม่มีปัญหา

จำเป็นต้องมีบัสเลนเหมือนเมื่อก่อนไหม

ไม่จำเป็นครับ เราคำนวณได้

แผนหรืองบประมาณหลักของ กทม.ถูกใช้ไปในทิศทางไหนบ้าง

ผมขอพูดในภาพรวมก่อนนะครับว่า ตอนนี้เงินจากสำนักงบประมาณทั้งหมดทุ่มไปเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 การที่จะต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ การช่วยเหลือ การกักตัว ตรงส่วนนี้เราใช้งบประมาณหลักเลย นอกนั้นก็เป็นงบประมาณทั่วไป ที่เราจะทุ่มไปกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ เช่นถ้าเราทุ่มงบประมาณทั้งหมดไปกับการก่อสร้าง แต่เราไม่ได้พัฒนาการศึกษาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องใช้งบประมาณในภาพรวมอย่างเท่าเทียมกัน


การรับฟังของหน่วยงานโฆษก ส่วนใหญ่มีเรื่องร้องเรียนหรือแสดงความเห็นเรื่องอะไรบ้าง

มีเยอะมากเลยครับ (ยิ้ม) ส่วนใหญ่มีปัญหาร้องเรียนที่ กทม.ได้รับ คือตอนนี้เรามีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนอยู่สามช่องทาง หนึ่งคือไลน์ ‘อัศวิน คลายทุกข์’ (ID @aswinbkk) ช่องทางที่สองร้องเรียนผ่านสายด่วน 1555 และทางเฟซบุ๊กของผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ

เรื่องร้องเรียนที่พบอันดับหนึ่งเป็นเรื่องการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งตอนนี้เรามีนโยบายที่จะให้ส่วนแบ่งจากค่าปรับ แต่ถามว่านโยบายนี้จะทำให้คนหยุดขับขี่บนทางเท้าหรือไม่-ก็ไม่ครับ เรายอมรับว่ามันยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จากการประเมินตัวเลขโชว์ให้เห็นว่ามันดีขึ้นประมาณห้าสิบเปอร์เซ็นต์ มีการขับขี่บนทางเท้าน้อยลง

อีกเรื่องคือเรื่องสายไฟและสายสื่อสาร กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สวยมาก แต่กลับมีสายไฟระโยงระยาง ซึ่งตอนนี้เราได้เอาสายไฟลงดินไปแล้วราวเจ็ด-แปดกิโลเมตรแล้ว และจะพยายามเอาลงดินเพิ่มให้มากที่สุด นอกนั้นก็เป็นเรื่องร้องเรียนอื่นๆ อีกมากครับ


คุณเอิร์ธมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับคนหลายเจเนอเรชั่นบ้างไหม

หลายคนเคยบอกว่าไปฟังคนรุ่นเก่าๆ ทำไม บางคนมีความคิดที่เรียกว่า outdate หรือไม่ทันสมัย แต่ผมไม่คิดอย่างนั้นนะครับ และไม่เคยมองว่าการทำงานร่วมกับคนรุ่นเก่าๆ จะเป็นปัญหา เพราะว่าการทำงานไม่ใช่มีแค่เรา ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ แต่การทำงานทุกอย่างทุกด้านมักจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน การได้ทำงานกับคุณหมอในช่วงโควิด-19 ก็ทำให้เห็นมุมมองของหมอกับการแพร่ระบาดของโรค การได้ทำงานกับนักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ทำให้เห็นความสำคัญของภาคเศรษฐกิจในภาพรวมของเมือง

ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าผมไม่คิดว่าเป็นปัญหา จะมีปัญหาคือคนที่จะทำงานกับเขา คือตัวผม ถ้าผมทำตัวมีปัญหา ผมคิดว่าคนรุ่นเก่าคือผู้ที่มีประสบการณ์และมีความรู้มาก อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรในการนำความรู้และประสบการณ์ของเขามาเป็นแนวคิดใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานคร ซึ่งตอนนี้อยากบอกว่า ผมไม่มีปัญหาเลย และคิดว่าทำได้ดีมาก

พูดถึงสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้กรุงเทพมหานครมีมาตรการล่าสุดอะไรบ้าง

ผมขอพูดถึงภาพรวมที่เราทำมาทั้งหมดดีกว่านะครับ กทม.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานต้นทาง ตอนนั้นมียอดติดเชื้อไวรัสวันละร้อยกว่า กรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งดูดาย ตอนนั้นทางผู้ว่าฯ ได้ออกมาตรการเพื่อที่จะควบคุม จากวันละร้อยกว่าจนตอนนี้เหลือผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์มาสองเดือนแล้ว เป็นความสำเร็จที่ไม่ใช่ของ กทม. แต่เป็นความสำเร็จของชาวกรุงเทพมหานครที่เสียสละในการให้ความร่วมมือกับ กทม.ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดล็อคดาวน์เฟส 1-2-3-4 ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ช่วงแรกเราให้มีฉากกั้น ช่วงต่อมาก็เป็นการเว้นระยะห่าง หรือแม้กระทั่งในเรื่องของสถานบริการ ซึ่งถ้าใครไปเที่ยวสถานบริการจะเห็นว่าไม่เหมือนสถานบริการสมัยก่อน ที่จะอยู่ใกล้ชิดติดกันได้ แต่จะมีการเว้นระยะห่าง การควบคุมปริมาณคน ทุกอย่างคือมาตรการที่เราทำสำเร็จ

และในอดีตผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องทำเรื่องนโยบายโควิด-19 ผมพยายามหาบทความหรือข่าวสารจากทั่วโลกที่เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาด


ความพร้อมในการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกที่สอง

เราพร้อมแน่นอน และคิดว่าแพร่ระบาดระลอกที่สองคงจะไม่รุนแรงเท่ากับระลอกแรก เพราะต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดระลอกแรกนั้นเรายังไม่มีมาตรการป้องกัน เราได้แต่เฝ้ามองและรอสถานการณ์ แต่ตอนนี้ต่อให้มีการระบาดรอบสอง เราเชื่อว่าการเปิดเมืองแบบมีมาตรการป้องกันน่าจะใช้ได้ผลดี อาจจะมีมาตรการที่เข้มขึ้น แต่สุดท้ายแล้วเชื่อว่าคงยังไม่ถึงขั้นล็อคดาวน์ ถ้าจะมีการปิดก็น่าจะปิดแค่บางสถานที่ ซึ่งเราคิดว่าคงจะไม่ปิดด้วยซ้ำ แต่จะมีการเพิ่มมาตรการป้องกันที่เข้มขึ้น

ตอนนี้เราพร้อมจะรับมือกับการแพร่ระบาดรอบที่สอง แต่เราไม่อยากให้มี และเราคิดว่าเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบที่สองครับ

ตั้งสมมุติฐานกันหรือไม่ว่า การแพร่ระบาดรอบที่สองจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

เราไม่ได้ตั้งสมมุติฐานขนาดนั้น แต่เราเฝ้าระวังตลอดเวลาครับ


อุปสรรคในการทำงาน ในฐานะโฆษกกรุงเทพมหานครมีอะไรบ้าง

การทำงานบางเรื่องอาจติดขัดเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรค ก็เรื่องของความเยาว์วัย คือความเป็นเด็กของผมอาจทำให้ใครหลายคนตัดสินว่าผมเป็นเด็กวานซืนบ้าง อาจเป็นจริงอย่างนั้นในสายตาของเขาก็ได้ แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรตัดสินกันเพียงแค่เรื่องวัยวุฒิ

วัยวุฒิเป็นเรื่องสำคัญ และผมคิดว่าเราควรเคารพผู้อาวุโส แต่บางเรื่อง… อย่างคุณไม่เคยเล่นรักบี้มาก่อน แต่ผมเล่นรักบี้มาห้าปีแล้ว ถามว่า ถ้าผมจะมาฟังเรื่องรักบี้จากคุณ คุณจะสอนผมได้ไหม อาจจะสอนไม่ได้ เพราะผมมีประสบการณ์เรื่องรักบี้มากกว่า ดังนั้นถ้าจะตัดสินผมเรื่องอายุ โอเค คุณตัดสินได้ แต่อยากให้วัดผมด้วยประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานหรือเรียนรู้ในหลายๆ เรื่องก่อนที่จะตัดสินผม นั่นเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าครับ


มีความรู้สึกหวั่นไหวหรือกดดันบ้างไหมที่มาทำงานกับคุณพ่อ

ไม่เลยครับ ผมสบายใจ ผมใช้ความเป็นมืออาชีพในการทำงานตรงนี้ ที่ต้องแยกแยะเรื่องความสัมพันธ์กับเรื่องการทำงานออกจากกัน บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะแต่งตั้งคนใกล้ตัวมาทำงานตรงนี้ แต่ผมยืนยันได้ว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ผมทำโดยไม่มีเงินเดือน ฉะนั้นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน อีกอย่างผมไม่มีอำนาจสั่งการ ผมมีหน้าที่แค่ประชาสัมพันธ์ ทำอย่างไรให้คนรู้ข่าวสารของกรุงเทพมหานคร ผมไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ดังนั้นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจึงไม่มี

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับผมคือ การมีโอกาสได้ทำงานรับใช้ ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ดีขึ้น เพราะผมเป็นคนกรุงเทพฯ ถ้าเมืองดีขึ้นผมก็อยากทำ ทุกวันนี้ผมทำแต่ประโยชน์ ไม่ได้มาหาผลประโยชน์ครับ

ปัจจุบันทำอาชีพอะไรเป็นหลัก

ตอนแรกผมอยากจะทำงานต่อในต่างประเทศครับ แต่พอมีโอกาสได้มาทำตรงนี้ผมก็เลยมาช่วยสอนก่อน เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย แต่ผมก็ทำไปได้แป๊บเดียว เพราะไม่ไหว ผมต้องทำตรงนี้ด้วย ก็เลยหยุดงานสอนไว้ก่อน แต่ย้อนกลับไป ผมมองว่าการเมือง ซึ่งตอนนี้ผมยังไม่ได้เป็นนักการเมืองนะครับ ผมมองว่าการเมืองเป็นงานอาสา สุดท้ายแล้วพอทุกคนหมดหน้าที่ก็ต้องกลับบ้าน ไปใช้ชีวิตในที่ที่ตัวเองทำที่ตัวเองชอบ

ผมเองถ้าหมดหน้าที่ตรงนี้แล้ว ถ้ายังอยู่เมืองไทยก็คงจะสอนหนังสือเป็นอาจารย์พิเศษ หรือหาโอกาสไปทำงานที่เมืองนอก ซึ่งมีหลายที่ติดต่อมา แต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์และผมยังทำงานอยู่ตรงนี้… โอกาสอย่างนี้มันไม่ได้มีทั้งชีวิต ผมเลยอยากทำให้เต็มที่ และอาจจะมูฟไปส่วนอื่นๆ ไปทำเอ็นจีโอ หรือทำธุรกิจ

ตอนนี้หาเลี้ยงชีพด้วยอะไรครับ

เรื่องหาเลี้ยงชีพผมไม่มีปัญหาครับ ผมมีธุรกิจส่วนตัวของที่บ้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรืออะไรที่ต่างจังหวัด ก่อนหน้านี้ก็มีรายได้จากการสอนครับ


เล่าเรื่องชีวิตระหว่างที่อยู่ในอังกฤษให้ฟังหน่อยได้ไหม

อยู่อังกฤษปีแรกผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (UCL) ช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงที่มีความสุข และสิ่งที่สำคัญคือ ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ไปเรียนที่นั่น ทำให้ผมได้เห็นการใช้ชีวิตของชาวลอนดอน เมืองที่เก่าแก่ในสมัยโรมันเรียกว่า ‘ลอนดิเนียม’ ถูกเผาไปแล้วครึ่งเมืองยังกลับมาเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ได้เหมือนเดิม มันเป็นประสบการณ์ที่ผมไม่ได้มองแค่ตึกรามบ้านช่อง แต่ผมมองถึงการพัฒนา ถึงแก่นรากของลอนดอน ที่นั่นมี Mother of parliaments หรือแม่ของทุกรัฐสภา เพราะรัฐสภาแห่งแรกที่สำคัญก็คือ รัฐสภาที่ลอนดอน ทำให้เราเห็นว่าการเกิดขึ้นของประชาธิปไตยทั่วโลก เกิดขึ้นที่ตรงนี้ ในห้องรัฐสภาที่เล็กๆ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง มันเป็นประสบการณ์ที่ผมชอบ

แต่อีกปีหนึ่ง ผมได้รับทุน Chevening จากรัฐบาลอังกฤษให้ได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ตอนนั้นก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เพราะผมเป็นเด็กที่เรียนโรงเรียนรัฐแล้วเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ นับเป็นโอกาสดีที่ได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของโลก มหาวิทยาลัยที่บ่มเพาะผู้นำระดับโลกหลายคน ได้เห็นว่าเขาคิดอย่างไร เขาเรียนอย่างไร และเขาบริหารประเทศสำเร็จได้อย่างไร


เป็นการเรียนที่ยากหรือง่าย?

ยากครับ (หัวเราะ) เหนื่อยมาก เพราะภาษาอังกฤษของผมไม่ได้เรื่องเลย ต้องใช้เวลากับการแปล การเขียน การพูดคุย แต่การใช้ชีวิตนั้นไม่ค่อยยาก เพราะผมใช้ชีวิตได้ทุกที่อยู่แล้ว หลักๆ เป็นเรื่องของการทำงานวิชาการ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งผมจบมาทางสายตำรวจ ถึงแม้จะเรียนด้านบริหารรัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration) มันก็ค่อนข้างจะแคบ แต่ตอนนี้ผมต้องมาทำในภาพรวมของการเมือง เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา กฎหมาย ทุกอย่างเป็นเรื่องระหว่างประเทศหมดเลย ทำให้… อาจจะยากกว่าคนอื่นหน่อยครับ เพราะบางคนเขาเรียนมาก่อน


คิดถึงงานตำรวจบ้างไหม

ผมรักอาชีพตำรวจครับ วันนี้ผมก็ยืนยันว่าผมรักตำรวจ และคิดว่าผมยังจิตวิญญาณเป็นตำรวจ เป็นลูกตำรวจเป็นน้องตำรวจอยู่ แต่ที่ลาออกมาเพราะผมคิดว่าตัวเองยังสามารถที่จะทำอะไรดีกว่างานหน้าที่ตำรวจ อาจทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มากกว่า แต่สุดท้ายแล้วผมคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากกว่าการเป็นตำรวจ

สนใจอาชีพนักการเมืองไหม

อย่างที่ผมบอกละครับว่า การทำงานการเมืองสำหรับผมเป็นอาชีพอาสา ผมมองแค่ว่าผมอยากจะทำอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายอย่าง เป็นงานอาสา ผมไม่อยากเป็นนักการเมืองอาชีพครับ

เคยได้ยินคุณพ่อบ่นเรื่องงานหรืออะไรบ้างไหม

พ่อไม่ค่อยบ่นอะไรครับ ก็สบายๆ พ่อเป็นตำรวจ ทุกวันนี้ท่านก็ยังเป็นตำรวจ เพราะท่านก็คล้ายผม เพียงแต่ไม่ได้ลาออก ท่านอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนยศพลตำรวจ ยังไม่ได้เป็นนายสิบนะครับ จนเป็นพลตำรวจเอก ท่านฟันฝ่าทุกอย่างขึ้นมาจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ท่านรักในอาชีพตำรวจมาก ฉะนั้นท่านคงไม่ใช่นักการเมืองหรอกครับ แต่เป็นนักการเมืองอาสา

อาจจะมีบ่นบ้างในเรื่องการทำอะไรบางอย่างที่โดนตำหนิ เล็กๆ น้อยๆ แต่ท่านคงไม่ท้อหรอกครับ เพราะงานการเมืองอาสา เสร็จแล้วก็แยกย้าย แต่ถ้าถามว่าพ่อทำอาชีพอะไร ผมก็ยังยืนยันว่าท่านเป็นตำรวจ ถึงแม้ว่าจะเกษียณแล้ว แต่จิตวิญญาณท่านก็ยังเป็นตำรวจอยู่ครับ


กลับมาที่เรื่องกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ยังมีแผนงานที่จะต้องทำอะไรอีกบ้าง

ก็อยู่ที่ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ครับ ถ้าเลือกตั้งได้เร็วก็คงต้องให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ซึ่งไม่รู้ว่าใครทำต่อ แต่ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เรากำลังทำเรื่องป้ายรถเมล์ใหม่ที่เล่าให้ฟังตอนต้น เรื่องที่สองคือระบบ Feeder คือระบบข้อต่อที่จะเชื่อมด้วยระบบรถโดยสารเข้าระบบ อย่างเช่นการเดินทางจากแอร์พอร์ตเรลลิงค์ไปที่ลาดกระบัง ปกติเวลาคนเดินทางไปขึ้นรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชน จะต้องนั่งแท็กซี่ไป แต่ระบบ Feeder นี้จะช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ตอนนี้เราทำระบบนำร่องไปสามเส้นทางแล้ว มีที่ดินแดง ลาดกระบัง และที่บางหว้า-ราชพฤกษ์ และเราจะทำให้ระบบมันยั่งยืนให้ได้

และยังมีการพัฒนาอีกเรื่อง ผมมองพื้นที่ที่เรียกว่าสะพานเขียว ซึ่งสร้างมายี่สิบปีแล้ว เป็นพื้นที่ยาวจากสวมลุมไปถึงสวนป่าเบญจกิติ ความจริงสวนทั้งสองแห่งอยู่ไกลกันมาก แต่มีสะพานเชื่อม เราอยากพัฒนาบริเวณนั้นเป็นเส้นทางสำหรับคนวิ่ง ปั่นจักรยาน ทางเชื่อมเกือบสิบกิโลเมตรมีอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มันสวยและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย นั่นคือแผนงานที่เราพยายามจะให้เสร็จก่อนหมดวาระ

คิดว่าจะมีการเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่า กทม.เมื่อไหร่

มีครับ แน่นอน แต่ผมไม่ทราบว่าเมื่อไหร่ และผมสนับสนุนให้มีการเลือกผู้ว่า กทม.อย่างชัดเจนครับ


เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์
 
ภาพจาก ig: earthpongsakorn