เข้าสู่เดือนกันยายนทีไร เบญช้อบชอบค่ะ จะได้แต่งตัวสวยๆ ไปร่วมงานแฟชั่นวีคย่านใจกลางเมือง อีเว้นต์ที่รวมคนสะตอๆ แกลมๆ ทั่วฟ้าเมืองไทย งานนี้สายตอและแฟชั่นนิสต้าไม่พลาดสักครั้ง พูดถึงแฟชั่นก็นึกขึ้นได้ว่าเพิ่งไปชมงานธีสิสของบัณฑิตคณะสาขาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาหมาดๆ เมื่อไม่นานมานี้ค่ะ เห็นไอเดียและแนวคิดของโปรเจ็กต์ชื่อว่า POST-THESIS น่าสนใจดี จนต้องชวนมาคุยเป็นกิจจะลักษณะ ‘นะโม-ติณห์ ตันโสภณ’ เป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้น POST-THESIS คืออะไร และเกี่ยวข้องกับเครื่องแบบนักเรียนอย่างไร อ่านความคิดของเขากันค่ะ

Q : เล่าโปรเจ็กต์ POST-THESIS ให้ฟังหน่อย เท่าที่เห็นเหมือนจะ inspire มาจากเรื่องเครื่องแบบนักเรียน

A : มันเริ่มมาจาก Thesis นี่แหละ POST-THESIS แปลว่าหลังจาก Thesis คือผมอยากจะทำเป็นสินค้าขายให้กับคนทั่วไปเข้ามาดูได้ อยากจะสะท้อนว่า Thesis ที่ผมทำมันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ก็เลยเอาเรื่องนี้มาพัฒนาต่อ ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องมีกฎอะไรตายตัว เราสามารถเอามาประยุกต์ให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่นได้

Q : มีความเป็นมาอย่างไรถึงไปคลิกกับไอเดียนี้

A : ด้วยความที่ตัว Thesis ตอนแรกไม่ได้เริ่มจากชุดนักเรียน เพราะ Thesis มันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างจะกว้าง มีบริบทหลายๆ เรื่องที่เราคิด ตอนแรกอยากผมทำเรื่องระบบการศึกษาเกี่ยวกับคุณครูว่ามีอิทธิพลต่อเด็กอย่างไรบ้าง เกิดอะไรขึ้นระหว่างเด็กกับครู พอรีเสิร์ชไปก็เจอบริบทที่อยู่ข้างใน นักเรียนมีความสำคัญมากในระบบการศึกษาโรงเรียนมีอะไรหลายอย่างที่เราสนใจ เราจึงหยิบมาเป็นเรื่องราวที่อยากจะนำเสนอ เรื่องที่เป็นปัญหาในสังคมไทยปัจจุบัน ทางครูเหมือนจะมองว่า เฮ้ย เด็กต้องแต่งตัวถูกระเบียบนะ จะได้ฝึกวินัยให้กับเด็ก มันก็กลายเป็นการสร้างอำนาจบางอย่างให้ครูในการข่มขู่เด็กในเชิงที่เด็กแต่งตัวไม่เรียบร้อย มีการทำโทษเด็ก แต่เด็กจะเอาไปใช้อะไรต่อได้ในอนาคตบ้าง เพราะท้ายที่สุดพอเด็กออกจากโรงเรียนปุ๊บ เด็กก็ไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนแล้ว เรามานั่งดูว่า แล้วกฎระเบียบมันเกิดมาได้อย่างไร มันเริ่มมาจากคนที่ควบคุมการศึกษา ระบบการศึกษา หรือพวกผู้ใหญ่ คุณครูทั้งหลายแหล่ ทำให้เรามองในมุมมองที่ว่า ถ้าชุดนักเรียนไม่ได้เป็นตัวกลางในการควบคุมกฎระเบียบต่างๆ เด็กจะเป็นอย่างไรบ้าง ผมเลยมองว่าถ้าเราลองนำเสนอชุดนักเรียนที่สามารถจะตอบโจทย์กับโลกปัจจุบันได้คงจะดี


Q : ในมุมมองของน้อง มันเคยมีข่าวอยู่พักหนึ่งว่า มีคนกลุ่มหนึ่งแอนตี้การใส่ยูนิฟอร์ม จะให้ยกเลิก เพราะไปมองว่ามันคือการกดขี่ ในฐานะที่เป็นคนดีไซน์ คิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร

A : ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราน่าจะให้ความสำคัญ การแต่งกายปัจจุบัน ถ้าเราพูดถึงโรงเรียน ที่ไม่ใช่องค์กรอื่นนะ เรามองว่าโรงเรียนเราได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้บ้าง ถ้าเอาจริงๆ ชุดเครื่องแบบมีความสำคัญในเรื่องของกาลเทศะ เราต้องเรียนรู้ในส่วนนั้น แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราต้องบังคับว่า ถ้าเธอใส่กางเกงขาสั้นกว่าเข่าเกินไป เธอจะถูกทำโทษ ถ้าเธอผูกเนกไทเอียงสั้นเท่านี้ เธอจะถูกทำโทษ บางอย่างมันเกินไป ในมุมมองผมนะ ถ้าเราเปรียบเทียบกับโลกภายนอก การแต่งกายของเรามันไม่ได้มีแค่ชุดนักเรียนตามที่โรงเรียนเคยสอนเด็ก ครูจะคิดว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนต้องแต่งชุดนักเรียนอย่างเดียว เขาจะไม่มองภาพอื่นว่าเด็กคนนี้เวลาเขาอยู่ข้างนอก เขาแต่งตัวอย่างไร เขาจะมองแค่ว่า เด็กต้องทำตามระเบียบโรงเรียน ซึ่งผมมองว่า การแต่งกายชุดนักเรียนในปัจจุบันเราต้องมานั่งคิดกันใหม่แล้วว่า มันสำคัญแค่ไหน

Q : แสดงว่าเครื่องแบบที่มีอยู่ไม่เหมาะสม?

A : บางอย่างถือว่าความเหมาะสมของชุดนักเรียนที่ใส่ มันไม่ได้เหมาะสมกับลักษณะหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศบ้านเรา เราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เด็กต้องใช้ชีวิตที่โรงเรียน ดังนั้น การใช้ชีวิตในโรงเรียนย่อมมีอุปสรรคหลายๆ อย่าง ทั้งอากาศร้อน เด็กต้องเดินไปเรียนกลางแดดไหม เราต้องคำนึงถึงว่า เนื้อผ้าสำคัญไหม การแต่งกายรูปแบบไหนที่สามารถทำให้เด็กรู้สึกใส่แล้ว โอเค สบาย ไม่อึดอัดจนเกินไป เพราะว่าด้วยความที่โรงเรียนไม่ใช่ค่ายทหาร เด็กจะต้องอย่างนี้ๆๆๆ เป๊ะๆๆๆ คือมันไม่ใช่ โรงเรียนในอุดมคติที่แท้จริง คือแหล่งปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ชีวิต แล้วออกไปใช้ชีวิตที่เราเรียนรู้ต่อได้หลังจากเรียนจบ ชุดนักเรียนมันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความกดดัน ความกักขังไอเดียเด็ก ทำให้เด็กไม่สามารถหลุดออกนอกกรอบได้


Q : แต่บางคนเขาก็อ้างว่าถ้าไม่มีเครื่องแบบมันจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางฐานะ?

A : ใช่ มีคนอ้างว่า ชุดนักเรียนเนี่ยมันทำเพื่อลดเรื่องของความเหลื่อมล้ำ แต่ถ้าเราศึกษาดี ๆ มันมีช่องโหว่ในเรื่องของการใช้ชีวิตในโรงเรียน เราไม่ได้มีชุดนักเรียนอย่างเดียวที่เราใส่ เรายังมีของที่เราใช้ ไม่ว่าจะเป็นกล่องดินสอ ยางลบ กระเป๋า เสื้อกันหนาว นาฬิกา ต่างหู บางโรงเรียนอาจจะให้ใส่ต่างหูได้ แต่ห้ามใส่แบบเวอร์ๆ รายละเอียดพวกนี้เด็กก็สามารถเห็นแล้วอิจฉากันได้อยู่แล้วนะ ตอนนี้มันเหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราควรจะสอนเด็กไหมว่าโอเค พื้นฐานของเราเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นเด็กคนนี้เขาอาจจะใส่ของมีราคามาได้นะ แล้วถ้าเราจะอยากได้ล่ะ อยากได้ไม่ผิดนะ แต่เราต้องสั่งสอนว่า การควบคุมอารมณ์คืออะไร ไม่ใช่ว่า เฮ้ยเราอยากได้เราไปขอพ่อแม่ซื้อในวัยที่อาจจะยังไม่เหมาะสม เราจะสั่งสอนเด็กอย่างไรให้ไม่ได้ไปตัดโอกาสเขาว่า ทุกคนห้ามใส่ เพราะในอนาคตเมื่อเด็กออกไปจากโรงเรียน การทำงานมันก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่แล้วในชีวิตเรา เด็กควรจะปรับตัวอย่างไร ต้องปรับตัวอย่างไรถึงจะรู้สึกว่ามันเหมาะสมกับตัวเขา

Q : ประสบการณ์ส่วนตัว เคยมีอะไรที่ฝังใจกับเรื่องการใส่ยูนิฟอร์มไหม

A : ถ้าบอกแล้วจะตกใจ เพราะว่าผมเป็นคนที่เรียบร้อยมากเลย ผมจะไม่ค่อยทำผิดกฎอะไรเท่าไร จะทำตามกฎตลอด ด้วยความที่เราไม่อยากมีปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราแต่งตัวเรียบร้อยแล้วเราจะไม่ได้มีความคิดในเชิงขบถนะ เรามองว่า ณ โมเมนต์นั้น ณ เวลานั้น เราก็เห็นเพื่อนใส่กางเกงสั้นจู๋เลย แบบว่าสั้นมาก กระโปรงผู้หญิงนี่สั้นมาก เราก็มองว่าเราก็โอเค เด็กก็เรียนได้อยู่ เราไม่ได้หมายความว่าเฮ้ย เราเห็นตัวเด็กแต่งตัวอย่างนั้นแล้วเป็นเด็กเลว ทั้งๆ ที่การแต่งกายมันไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกลักษณะนิสัยเด็กเลย ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจิตใจอย่างเดียว คือคุณสั่งสอนเด็กอย่างไร ไม่ได้หมายความว่า สั่งสอนเด็กไม่ดี คือเท่ากับการแต่งกายไม่ดี ถ้าเราเปรียบเทียบกับยุคสมัยปัจจุบัน ผู้หญิงแต่งตัวเซ็กซี่ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะแรด คือเขาอาจจะภูมิใจในร่างกายของเขา เขาเลยแต่งตัวเซ็กซี่ ตราบใดที่มันไม่อนาจาร เรามองว่ามันโอเค

Q : เป็นเด็กเรียบร้อยอยู่ในระเบียบ แล้วทำไมอยู่ๆ เลือกมาเรียนทางด้านแฟชั่นดีไซน์

A : ความจริงอยากเรียนแฟชั่นมาตั้งแต่สมัยมัธยมต้น ตอนนั้น จุดกำเนิดที่ชอบแฟชั่นมันไม่ได้มาจากการไปอ่านแมกกาซีนนะ นะโมค่อนข้างเป็นเด็กเนิร์ดๆ ไม่ค่อยดี๊ด๊าร่าเริง ผมจะอยู่กับเกม เป็นเด็กติดเกม เดี๋ยวนี้ก็ยังเล่นอยู่ แต่ว่าเราชอบดูตัวละครในเกมที่เราสามารถแบบแต่งตัวนู่นนี่ได้ ตัวละครมีให้แต่งตัวสวยๆ ได้ เราก็รู้สึกว่าชอบแต่งตัว ถ้าเรามาใช้หลักการที่เราเล่นในเกมในชีวิตจริงมันจะมีอาชีพอะไรบ้างที่จะทำได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ว่ามันก็พัฒนามาเรื่อยๆ เช่นเราอาจจะเห็นโลกภายนอกมากขึ้น เห็นนิตยสารแฟชั่นมากขึ้น เริ่มสนใจในกระบวนการทำงานแฟชั่น สนุกดี เป็นการสร้างสรรค์ที่เรามองว่าสามารถเล่นอะไรได้อีกเยอะ มันเริ่มจากตรงนั้น

Q : การที่เราเริ่มหันมาชอบสนใจการแต่งตัวตั้งแต่ตอน ม.ต้น เป็นเพราะว่าตัวเราเป็น LGBT ด้วยหรือไม่

A : เราเป็น LGBT คนหนึ่งนะ แต่ว่าเราเป็น LGBT ที่ไม่ได้สังสรรค์ เข้างานสังสรรค์ปาร์ตี้ แต่เราก็เป็นคนที่ไม่ได้ปิดกั้นตัวเองทางเพศด้วยแหละว่าเราจะเป็นเกย์ เราจะเป็นตุ๊ด เราจะเป็นกะเทย ใครจะเรียกเราอย่างไรก็ได้ มันก็มีบริบทของบ้านเราที่ยังมีภาพอย่างนี้อยู่

Q : แล้วทำไมถึงตัดสินใจที่จะเรียนแฟชั่นดีไซน์ ที่ม.กรุงเทพ

A : ตอนแรกที่ผมเลือก ม.กรุงเทพ เพราะเขาโทรเชิญให้เรียน ตอนแรกเราก็ไม่รู้เรา แต่โอเคน่าสนใจดีก็เลยลองไปดูงานของมหาวิทยาลัยฯ ก็ไม่ได้แย่มาก น่าจะสามารถพัฒนาการเรียนเรื่องแฟชั่น สามารถเรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจได้ เพราะว่าเห็นผลงานแฟชั่นของ ม.กรุงเทพแล้วน่าสนใจดีนะ

Q : ตอนนี้เรามีดีไซเนอร์หรือว่ามีคนที่เป็นไอดอลของเราไหม

A : ตัวผมเป็นคนที่ไม่ค่อยเสพดีไซเนอร์นะ ไม่ได้เจาะจงว่าเราชอบคนนี้ ติดคนนี้ เล่าตั้งแต่สมัยมัธยมเลยแล้วกัน ณ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราชอบ Alexander McQueen มาก เฮ้ย ผลงานเขาดูแบบล้ำมากๆ มีการเล่าเรื่องเป็น conceptมากๆ แต่เราไม่ต้องยึดติดขนาดนั้น เราก็ชอบไปเรื่อยๆไลฟ์สไตล์ส่วนตัวไม่ได้เป็นคนที่มานั่งเจาะจงดีไซเนอร์ มันไม่จำเป็นว่าเราจะทำงานสายแฟชั่น แล้วเราจะต้องมีดีไซเนอร์ที่ชอบไหม มันไม่เกี่ยว เราชอบศิลปินคนอื่น แนวอื่นก็ได้นะ

Q : อยากจะถามถึง LGBTQ ซีนในมหาวิทยาลัยกับช่วงสมัยที่เรียนมัธยมที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

A : มันก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวเนื้อหา เรื่องของมุมมองในการใช้ชีวิต เราจะถูกบี้ว่าเราเป็นเด็กผู้หญิง เราก็จะอยู่กับแก๊งผู้หญิง ก็จะโดนพวกเพื่อนผู้ชายล้อเป็นตุ๊ดๆ โดนอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กเลย มันก็เหมือนเป็นปมของเรานิดหนึ่งในช่วงมัธยม มันทำให้เรารู้สึกว่า เราอึดอัด ณ จุดนั้น พอเรามองย้อนกลับไปจุดนั้นนะ พอเราเข้ามหาวิทยาลัยเรารู้สึกว่าเราปิด คนหลายๆ คนเพื่อนหลายๆ คน ที่เขามี personality หลากหลาย เรารู้สึกว่าเฮ้ย ทำไม เขาทำไปเพื่ออะไร ปิดกั้นตัวเองไปเพื่ออะไร เรามีความสุขในสิ่งที่เราเป็น เราไม่ได้ไปฆ่าคน เราก็มีความสุขของเราได้

Q : เมื่อกี้ที่นะโมบอกว่าไม่อยากจะไปฟิกซ์กับคำว่า LGBT เพื่อที่จะไปสเตอริโอไทป์ตัวเองว่า ฉันต้องเป็นอย่างนี้ และฉันต้องทำอย่างนี้ ณ ปัจจุบันมันก็มีกลุ่มหนึ่งที่ได้ชื่อว่า non-binary คือพยายามจะไม่ยึดติดกับเพศใดๆ เลย เรามองเรื่องพวกนี้อย่างไรบ้าง ในฐานะที่เป็นเด็กรุ่นใหม่

A : ผมมองว่าพวกเพศสภาพ หรือ non-binary หรืออะไรก็แล้วแต่นะ เราควรจะมองในเชิงที่ไม่ต้องไปจริงจังกับมันขนาดนั้น เราอยู่บนโลกนี้เราไม่ต้องไปจำกัดว่าเราอยู่จุดไหนก็ได้ อย่างการที่คุณบอกว่าคุณเป็น non-binary โอเค คุณเป็น non-binary ใช่ไหม แต่ว่ามันไม่ใช่จะต้องไปยืนยันว่าฉันคือ non-binary นะ เราอย่าไปติด label ตัวเองว่า ฉันเป็นแบบนี้ๆๆ คุณใช้ชีวิตปกติตามธรรมชาติไปเลย เวลาเราออกสู่สังคมเราก็ใช้ชีวิตตามปกติ เราชอบผู้ชายก็ได้ เราชอบผู้หญิงก็ได้ เราชอบเพศทุกเพศอะไรก็ได้ เพราะว่าคนยังยึดติดอยู่กับว่า คุณเป็นเพศนี้ต้องชอบเพศนี้นะ ทำไมต้องไปจำกัดมัน ในเมื่อคนเราอยู่บนโลกด้วยกัน การรักคนอื่นไม่ใช่สิ่งที่ผิด เรารักคนที่เด็กกว่าเราก็ไม่ผิด เรารักคนที่แก่กว่าเราก็ไม่ผิด ผมจึงมองว่าปัจจุบันทำไมคนถึงยังติดกับเรื่องเพศสภาพเดิมๆ อยู่

Q : ครอบครัวเป็นอย่างไรcome out หรือยัง

A : ครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่มีโลกส่วนตัวสูง ต่างคนเขาก็ต่างมีโลกส่วนตัว คุณพ่อผมก็จะแบบหนึ่ง ชอบเล่นกีตาร์ในห้องเขาคนเดียว ไม่สนอะไรเลย เราก็ไม่ได้คุยกับคุณพ่อเยอะนะ แม่เราก็ทำงานเยอะ แม่เรากลับบ้านมาเขาก็พัก ไม่ได้เจอแม่ตลอด เราก็จะอยู่กับคุณยาย คุณยายเลี้ยงดูเรา เราเข้าใจคนในครอบครัวเรา เราไม่ได้บอกว่าพ่อเราไม่ได้อยู่กับเรา แม่เราไม่ค่อยอยู่บ้าน แล้วเราเป็นเด็กที่ไม่อบอุ่น มันไม่ใช่ เราเข้าใจในเรื่องของมุมมองของเขาว่า เขามีโลกส่วนตัวของเขา เราควรที่จะเคารพเขาในมุมมองนี้ และนี่คือสิ่งที่ครอบครัวผมมีข้อดีข้อหนึ่งคือต่างคนต่างเข้าใจกันว่า เรามีพื้นที่ส่วนตัวของเรา เราไม่ควรจะไปละเมิดเขา

Q : กลับมาที่ POST-THESIS ต่อไปจะดีเวลลอปมันไปอย่างไร จะสร้างเป็นแบรนด์ไหม

A : ณ ตอนนี้โพสต์ POST-THESIS ก็มีไอเดียหลายๆ อย่างที่ผมยังไม่เปิด แต่ว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ในอนาคตมันจะเป็นในรูปแบบไหน ขึ้นอยู่กับ passion ในการทำงาน เราไม่ได้หมายความว่า เราจะคิดไว้ก่อนว่าเราจะทำอย่างนี้ คือมันขึ้นอยู่กับ passion ว่า เรามีอารมณ์ทำอย่างนี้ เราอยากจะทำแบบนี้ โอเคอนาคตอาจจะอยากทำร้านก็ได้ หรือว่าเราอยากจะทำเฉพาะในโซเชียลต่อก็ได้ เพราะว่าเรามองว่าโซเชียลมันอาจจะสื่อสารกับคนได้มากกว่านะ หรือว่าได้คุยกับคนเยอะ

Q : มองวงการแฟชั่นไทยปัจจุบันอย่างไร

A : ถ้าพูดถึงแฟชั่นในมุมมองของเด็กที่เรียนแฟชั่น ผมมองว่าเพื่อนผมหลายๆ คนเริ่มมีไอเดียที่ใหม่ขึ้น แล้วก็หลุดออกไปจากกรอบเดิมๆ ได้มากขึ้น เด็กรุ่นใหม่จะชอบอะไรบางอย่างที่สามารถทำให้มองแล้วรู้สึกว่า คิดได้ไง บางอย่างมันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเรามาก เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก สิ่งรอบตัวเราก็สามารถทำให้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้นได้ ถ้าเรามองในเรื่องของ passion ผมรู้สึกว่ามันยังไม่มีการขับเคลื่อน การให้ความสนใจของสภาพสังคมบ้านเรา มันไม่ได้ถูกปลูกฝังเหมือนต่างประเทศในเรื่องของแฟชั่นเป็นหลายๆ รูปแบบ ด้วยความที่ว่าคนไม่ได้เปิดรับไอเดีย ดังนั้นผมว่าปัจจุบันโอเคเด็กรุ่นใหม่นี่แหละเป็นตัวกลางที่จะทำให้แบบเราสามารถพัฒนาไปอีกขั้นได้ ไปในเชิงที่ให้คนในสังคมรอบๆ โลกมองเราว่า เด็กไทยก็ไม่ได้แพ้ชาติอื่น เราก็มีไอเดียที่เราพอจะไปสู้เขาได้

Q : เมื่อกี้ที่บอกว่าแฟชั่นบ้านเรามันดูค่อนข้างนิ่ง มันนิ่งเพราะว่านโยบายของรัฐไม่ขับเคลื่อน หรือมันนิ่งเพราะว่า creativity ของตัวดีไซเนอร์เองก็ไม่กล้าที่จะแบบฉีกแนวออกไป

A : ผมว่าเรื่อง creativity ปัจจุบันเริ่มมีเยอะแล้ว แต่ว่าปัญหาคือด้วยเหตุที่มันควรจะต้องมีการสนับสนุนต่อยอด ปัจจุบันเด็กทำ Thesis จบมาน่าสนใจทั้งนั้นเลยนะ แต่ไม่ได้เอาไปพัฒนาต่อ เราไม่ได้พูดแค่แฟชั่น เราพูดถึงศิลปะ ความเป็นอาร์ตในบ้านเรามันมีข้อจำกัด ค่านิยมเก่าๆ ที่คนหลายๆ รุ่น คนที่เป็นผู้ใหญ่ที่เขาไม่ได้เห็นโลกเยอะ แต่ค่อนข้างกีดกันว่าศิลปะจะต้องเป็นลายไทยพวกลายกนก ถ้าคุณไม่ทำลายกนก มันไม่ใช่ มันไม่ใช่เลย มันเป็นการมองด้านเดียวที่ไม่เปิด ดังนั้น ในรุ่นต่อๆ ไปก็เลยมีมุมมองว่ามันควรจะเปิดกันได้แล้ว อย่าปิดกั้น การเปิดกว้างคือสิ่งที่สำคัญ


ขอบคุณสถานที่ : ร้านปลาร้า สนามบินน้ำ โดยตำยำแหลก นนทบุรี