ชวน ‘ทอย-ภัครพงษ์ขวยเขิน’ เจ้าของตำแหน่ง Mister Gay World Thailand 2018 พูดคุยถึงโลกแห่งความหลากหลาย เส้นทางการฝ่ากระแสดราม่า ในรูปแบบเหยียดในเหยียดจากชาว LGBT ด้วยกันในโลกออนไลน์ รวมถึงประสบการณ์สุดล้ำค่าในชีวิต จากการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวด Mister Gay World 2018 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ลองไปรู้จักมุมมองความเชื่อในความแตกต่างหลากหลายในมนุษย์ของเขาได้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้




“เราคือหนึ่งในความหลากหลาย ถ้าเราคิดแค่ว่าผู้ชายเป็น 1 ผู้หญิงเป็น 2 โลกนี้จะเป็นเส้นตรง แต่ในความเป็นจริงโลกเรามีคนหลายแบบ 1 2 3 และสิ่งนี้ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นมา”

ทำไมตอนนั้นคุณถึงตัดสินใจเข้าประกวดเวที Mister Gay World 2018

เราคิดว่าจุดนั้นเราอยากทำอะไรเพื่อสังคม เพราะว่าสังคมทุกสังคมในโลกไม่ได้สมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมดหรอก เราอยากให้สังคมมันดีขึ้นกว่าทุกวันนี้ และคิดว่าการที่เราเข้าไปประกวดอย่างน้อยทำให้เราได้เป็นกระบอกเสียงของชาว LGBT แล้ว เราได้แชร์กิจกรรมดีๆ ของกลุ่ม อย่างรณรงค์การตรวจเลือด เป็นที่ปรึกษาเวลาที่เพศที่สามถูกคุกคามในโลกออนไลน์ เราเป็นกระบอกเสียงหนึ่งในนั้นที่จะช่วยแชร์


แล้วในสายตาคุณวันนี้ภาพรวมสังคม LGBT เปลี่ยนไปแค่ไหน

ในกลุ่ม LGBT มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ในสิบปีที่แล้วเราเดินผ่านสถานที่สักที่หนึ่ง เราจะเห็นคนที่กล้าแสดงออกว่าตัวเองเป็นเกย์สักหนึ่งคน แต่สิบปีผ่านมาคนไทยเริ่มมีการยอมรับมากขึ้น พ่อแม่และคนในครอบครัวมีการยอมรับมากขึ้น เราจะเห็นคนกล้าเป็นตัวของตัวเอง สังคมเรามีการเปิดกว้างขึ้น มีการยอมรับ มีความรู้เกี่ยวกับ LGBT มากขึ้น

แต่ยังมีอะไรน่าห่วงไหม

เมื่อก่อนจะมีความเข้าใจผิดว่า เป็นเกย์ต้องเป็นเอดส์ แต่มันไม่เสมอไป ผู้ชายเป็นเอดส์ ผู้หญิงเป็นเอดส์ก็มี แต่คนจะมองว่าเราเป็นเพศที่ต้องเป็นเอดส์เท่านั้น คือจริงๆ มนุษย์คือความหลากหลาย หลายคนมองเกย์ มองตุ๊ดว่าต้องตลกนะ แต่ว่าหน้าฉากกับหลังฉากคนเราไม่เหมือนกัน ก็มีเกย์ที่ไม่ตลก มีตุ๊ดที่จริงจังกับโลกไม่อยากให้เราเอาตัวเองไปตัดสินใคร เพราะแค่ว่าเขาไม่เหมือนคนที่คุณคาดหวังไว้ คือทุกคนมีศักยภาพของตัวเองไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ไม่มีใครหรอกที่ทำอะไรไม่เก่งเลย ทุกคนมีความเก่ง มีความเป็นตัวของตัวเอง

แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีที่เรามองโลกเหมือนมีกระดาษสีขาวหนึ่งแผ่น มีจุดดำจุดเดียว แล้วคนก็จะมองแค่จุดดำจุดนั้นประเทศเราก็แปลก ในกลุ่ม LGBT เองก็จัดประเภทกันเยอะเหลือเกิน ตัวเล็กหน่อยเป็นกุ้งนาง อ้วนหน่อยเป็นหมี มีกล้ามโตๆ เป็นปู แล้วไงอ่ะ เขาก็คือเกย์คนหนึ่ง เขาก็คือความหลากหลาย จะไปจำกัดเขาว่าเกย์ต้องหุ่นดีเสมอไป อ้าวแล้วอย่างนี้กุ้งนางทำยังไง ก็โดนด่าไปสิ มึงแม่งสาวว่ะ แล้วเราจะไปว่าเขาทำไม มันคือเหยียดในเหยียดในเหยียดอีกที เราอยากให้เปลี่ยนทัศนคติ คือไม่ต้องมองจุดดำตรงนั้นหรอก มันยังมีส่วนที่ขาวอยู่ ถามว่าชาว LGBT เราแตกต่างกับคนอื่นไหม ไม่ต่างครับ แต่ว่าเราคือหนึ่งในความหลากหลาย ถ้าเราคิดแค่ว่าผู้ชายเป็น 1 ผู้หญิงเป็น 2 โลกนี้จะเป็นเส้นตรง แต่ในความเป็นจริงโลกเรามีคนหลายแบบ 1 2 3 และสิ่งนี้ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นมา มันกลายเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนกันของแต่ละคน


ในเวที Mister Gay World 2018 คุณเองก็โดนกระแสโซเชียลมีเดียโจมตีไม่น้อยเลยนี่

ตอนไปโดนโจมตีเยอะมาก บอกว่าเราสาวบ้างล่ะ ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งบ้าง เธอมันไม่สวย…แต่เพื่อนๆ ทุกคนที่เราไปเจอในเวทีประกวดกลับเข้ามากอดเราและบอกกับเราว่า ถ้าคุณก้าวข้ามความแตกแยกนี้ได้ ประเทศคุณก็จะก้าวข้ามมันไปได้เหมือนที่คุณก้าวข้ามในวันนี้

“ความรู้สึกที่แย่ที่สุดสำหรับเราเลยคือคนที่เหยียดกันส่วนใหญ่เป็น LGBT เองด้วยซ้ำนะ เรารู้สึกเสียใจว่าเราเป็นกลุ่ม LGBT เหมือนกัน เรายังเหยียดกันเอง แล้วเราจะไปเรียกร้องกฎหมาย ไปเรียกร้องพ.ร.บ.แต่งงานเพศเดียวกันได้ยังไง”

คำที่ทำให้รู้สึกแย่ที่สุดคือคำว่าอะไร

ความรู้สึกที่แย่ที่สุดสำหรับเราเลยคือคนที่เหยียดกันส่วนใหญ่เป็น LGBT เองด้วยซ้ำนะ เรารู้สึกเสียใจว่าเราเป็นกลุ่ม LGBT เหมือนกัน เรายังเหยียดกันเอง แล้วเราจะไปเรียกร้องกฎหมาย ไปเรียกร้องพ.ร.บ.แต่งงานเพศเดียวกันได้ยังไง เพราะเรายังบั่นทอนกลุ่มเรากันเองอยู่ ทำไมเราไม่ส่งพลังบวกให้กันล่ะ แทนที่ที่เราจะออกมาให้กำลังใจดีกว่าไหม ช่วยเชียร์ตัวแทนประเทศไทยไม่ว่าใคร สิ่งที่เจอทำให้เรารู้สึกว่าประเทศไทยยังแตกแยกกันอยู่


ประสบการณ์จากเวทีนี้ ทำให้คุณได้เรียนรู้ไหมว่าคุณค่าของความเป็น LGBT อยู่ตรงไหน

เวทีนี้ไม่เหมือนเวทีประกวดอื่นๆ เวทีอื่นเขาจะไม่มีสอบข้อเขียน แต่ไปประกวด 5 วัน เราโดนสอบข้อเขียนไปทั้งหมด 4 วัน (หัวเราะ) ทุกๆคืนจะเป็นข้อสอบสายฟ้าแลบ กินข้าวเสร็จปุ๊บสอบเลย แล้วในข้อสอบมันวัดกึ๋นเลยว่าคุณมีความรู้เกี่ยวกับสังคม ศาสนา วัฒนธรรมขนาดไหน มีคำถามแบบ 5 ประเทศล่าสุดที่การแต่งงานของชาว LGBT ถูกกฎหมายคือประเทศอะไรไม่ได้แค่มีการให้คะแนนจากหน้าตา คะแนนชุดว่ายน้ำ การแสดงออกเท่านั้นแต่เขายังเน้นเรื่องความรู้รอบด้าน และแคมเปญรณรงค์ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเวทีนี้ต้องการคนที่จะมาทำเพื่อสังคม และไม่ได้มีเงินรางวัลเยอะเหมือนเวทีอื่น ไม่ได้มีเงินประจำตำแหน่งทุกเดือนๆ ให้คุณกิน แต่เป็นการทำเพื่อสังคมเสียสละตัวเองเพื่อที่จะมายืนในจุดจุดนี้ และก็เป็นกระบอกเสียงเป็นตัวแทนของกลุ่ม

ในช่วงเวลาที่เราโดนทัศนคติลบๆ โจมตี เราสามารถเปลี่ยนมันเป็นพลังบวกได้ไหม

ตอนที่อยู่ที่นู่นคนเดียวรู้สึกเหมือนนั่งเรือไปในที่มืดๆ คนเดียวนะแต่พอเรากลับมาคิดว่าประเทศไทยก็มีคนที่ชมนี่นา เราจะมายอมแพ้ตรงนี้เหรอ ยอมแพ้เพราะว่าคนดูถูก ยอมทิ้งทุกๆ อย่างไปก็เอาคนที่รักมาเป็นพลังบวกให้ตัวเอง และทำเพื่อคนเหล่านั้น

“เราจะกลัวไปทำไม ถ้าเราเลือกมายืนในจุดที่เรามีตัวตน เป็นตัวของตัวเองแล้ว เรากำลังทำสิ่งที่เรารัก ล้มก็แค่ลุก ไม่ใช่ว่าเราล้มแล้วต้องตาย แค่ลุกแล้วก็เดินต่อ”

การจะก้าวข้ามความขัดแย้งได้อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

เราควรจะปลูกฝังทัศนคติกันมาตั้งแต่เด็ก มันไม่ใช่การบอกเขาปุ๊บแล้วเขาจะเปลี่ยนทัศนคติได้ทันทีเลย คือไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก คนที่มาคอมเมนต์เราวันนั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ไม้อ่อนแล้ว เราอยากให้สังคมปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ว่าเราไม่ควรที่จะดูถูกใครเลยจริงๆ ต่อให้เขาดำ เขาเรียนไม่เก่ง แต่เขาก็อาจจะเก่งกีฬา เหมือนปลาที่ว่ายเก่งแต่ปลาก็ปีต้นไม้ไม่ได้ หลักการคิดเป็นระบบมันสำคัญมาก คิดให้เหตุและผลมันเท่ากันมันจะดีกว่าไปตัดสินเลยว่า คนอื่นโง่ คนนี้ขี้เหร่ ซึ่งข่าวหรือเรื่องที่เราพูดคุยกันบนอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ มันมีแต่อารมณ์ล้วนๆ เลยอ่ะ คือก็ต้องเข้าใจและข้ามผ่านไปให้ได้

การออกมายืนในจุดที่คุณยืนอยู่วันนี้ ดูเหมือนต้องผ่านความกดดันหลายอย่างมาก ทั้งจากครอบครัวสังคม คุณทำอย่างไรจึงสามารถเป็นตัวของตัวเองได้แบบวันนี้

หนึ่งเลยอยู่ที่การปลูกฝังของครอบครัว มันต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเลยนะ ต้องบอกก่อนว่าครอบครัวของเราเองไม่ได้สมบูรณ์แบบที่สุด แต่เป็นครอบครัวที่เข้าใจเรามากที่สุด แม่ของเราเป็นอาจารย์ด้านอาหาร เขาจะมีลูกศิษย์ที่เป็นเกย์เป็นทรานเจนเดอร์เยอะมาก แรกๆ แม่เขาก็เข้าใจว่าคนพวกนี้ต้องเป็นคนหัวรุนแรง จนถึงวันนี้เขาเปลี่ยนทัศนคติไป เขามองชาว LGBT ว่าเป็นเพศที่น่ารัก และมีแค่คนบางคนเท่านั้นที่จะก้าวร้าว ไม่ใช่เพศที่สามทุกคนจะก้าวร้าวทั้งหมด

ที่บ้านเขาเข้าใจเรามากๆ เราไม่เคยเจอประสบการณ์การเป็นเกย์แล้วแม่พาไปหาหมอ คือมันไม่ใช่โรค มันรักษาไม่หาย บางคนพาไปหาหมอผี เฮลโหล (ดีดนิ้ว) เป็นเกย์ไม่ใช่ผีเข้า เราเป็นคนปกติ มันอยู่ที่ความเข้าใจ และเมื่อครอบครัวเข้าใจมันเหมือนมีภูมิคุ้มกันเข้ามาแล้ว 1 ชั้น และยิ่งมีความเข้าใจเข้ามาเยอะๆ เราก็ต้องเริ่มเปิดใจพูดคุยกับเขาเหมือนกัน สิ่งที่เราเป็นไม่ได้ทำให้ใครเสียหายไม่ได้ทำให้ใครตาย

เพิ่งดูหนังเรื่อง Love,Simon มา ในหนังเขาถ่ายทอดความรักของเพศเดียวกันออกมาเหมือนหนัง Coming of age ทั่วไปเลย แต่วินาทีที่พระเอกบอกว่าตัวเองเป็นเกย์กับครอบครัว มันดูยากมากๆ อยู่ดี

ใช่มันยากมากครับ แต่เราจะกลัวไปทำไม ถ้าเราเลือกมายืนในจุดที่เรามีตัวตน เป็นตัวของตัวเองแล้ว เรากำลังทำสิ่งที่เรารัก ล้มก็แค่ลุก ไม่ใช่ว่าเราล้มแล้วต้องตาย แค่ลุกแล้วก็เดินต่อเราต้องคิดก่อนว่าเรากำไรตั้งแต่เกิด วันแรกที่เกิดมาเราไม่มีอะไรเลย แต่ตอนนี้เราได้เป็นตัวเอง ได้ออกมาทำเพื่อสังคม เรารู้สึกว่านี่มันคือโคตรกำไรของชีวิตแล้ว


ก้าวต่อไปในตำแหน่งคุณจะทำอะไรบ้าง

เราอยากทำให้สังคมดีขึ้น อยากออกแคมเปญมาสักแคมเปญที่รณรงค์ลดการ Bully ถึงแม้จะช่วยให้ลดลงได้แค่ 1% แต่ปีต่อไปก็เพิ่มไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันอาจจะเหลือแค่ 10% ก็ได้ เพราะทุกวันนี้มันมากกว่า 70% ในสังคม LGBT มีเด็กฆ่าตัวตายเยอะมาก อย่างเราโตแล้วอายุ21 พอจะมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง แต่กับเด็กบางคนเขาจะขาด Self Esteem ไปเลยนะ เราต้องปลูกฝังให้เขามีภูมิคุ้มกันที่ดีตั้งแต่เด็กๆ พอเขามีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อให้เขาโดนกลั่นแกล้งหนักๆ เขาก็แค่ปิดโทรศัพท์ และกลับมากอดคนที่บ้าน แบตเตอรี่ก็เต็มร้อยแล้วครับ

คือทุกๆ คนมีความปรารถนาให้สังคมดีขึ้น ซึ่งเราก็เหมือนกัน แต่เราไม่ได้คิดอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่โต คือหวังแค่เล็กๆ อยากแค่ให้คนทุกคนเข้าใจถึงความแตกต่างของแต่ละคน และยอมรับมัน สามารถมีความสุขได้สิ่งที่ตัวเองเป็นและสิ่งที่คนอื่นเป็นดีกว่า ความแตกต่างคือสิ่งดี และก็อาจจะกลายเป็นจุดด้อยของใครหลายๆ คน อยากให้เข้าใจตรงนี้แล้วเราจะมอบความรักให้คนอื่นได้