เพราะชีวิตมีได้หลายรสชาติ ‘หมอตั้ม-นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข’ หมอหนุ่มผู้กำลังไปได้ดีในด้านการแพทย์ จึงทดลองเพิ่มวัตถุดิบให้ชีวิตด้วยการเป็นเชฟเพราะความชอบทำอาหารเป็นทุนเดิม โดยเข้าร่วมแข่งขันการทำอาหารในรายการ MasterChef Thailand Season 2 ตามความตั้งใจที่จะใช้ความรักทั้งจากการรักษาคนไข้และการทำอาหาร หวังผสานออกมาเป็นตำราอาหารเพื่อสุขภาพ เขาจะปรุงฝันทั้งสองอย่างให้ผสมกลมกล่อมได้หรือไม่…ลองไปชิมกัน!

“ทุกๆ อย่างที่เข้ามามันเป็นบทเรียนให้ชีวิตตลอด และผมก็ถือว่ารสขมนี่แหละที่เป็นประสบการณ์ชีวิต ให้เราได้ปรับแก้ไขในเรื่องการดำเนินชีวิตต่างๆ”

จุดเริ่มต้นในการทำอาหารมาจากไหน

ผมเริ่มทำอาหารจริงๆ ก็ตั้งแต่ม.ต้นครับ ด้วยความที่มีเวลาว่างเยอะ เราก็เลยหากิจกรรมที่ทำในบ้านได้ เพราะทางบ้านจะควบคุมการเล่นเกมต่างๆ เราก็ไม่ได้ดูทีวีเล่นเกมแบบเด็กๆ คนอื่นๆ แล้วบ้านก็เป็นทาวน์เฮาส์เลยไม่ได้มีพื้นที่เยอะ ก็เลยไม่ได้วิ่งเล่นแบบเด็กทั่วไป เราก็เลยเข้าครัว เริ่มจากการหั่นผักหั่นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ในครัวที่บ้าน แล้วก็พัฒนาจนมาเป็นอาหารที่เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น

อาหารฝีมือตัวเองที่ติดอยู่ในความทรงจำคือเมนูอะไร

ก็คงเป็นเมนูแรกที่ได้ทำ เป็นน้ำพริกกะปิครับ ตอนนั้นทำให้ที่บ้านทานเป็นมื้อใหญ่เลย เพราะว่าแม่บ้านที่บ้านลาไปธุระพอดี เหลือแม่บ้านคนเดียว เราก็เลยเข้าไปทำอาหาร ไปตำน้ำพริกเอง ทอดไข่ชะอม มะเขือชุบไข่ทอด แล้วพอทำเสร็จคุณพ่อคุณแม่ก็ชมว่าอร่อย เราก็มีกำลังใจในการทำอาหารมากขึ้นครับ

เมนูแรกนั้นถือเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองเริ่มทำอาหารจริงจังเลยหรือเปล่า

ใช่ครับ แล้วอีกอย่างคือในช่วงม.ปลายเรามีโอกาสได้ออกไปทานร้านอาหารกับเพื่อนมากขึ้น พอไปทานร้านที่เรารู้สึกว่าอร่อย เราก็อยากกลับมาทำเองที่บ้าน ตอนั้นคุณพ่อคุณแม่ควบคุมเรื่องการใช้เงิน เราก็ไม่ได้มีเงินไปกินร้านที่ชอบบ่อยๆ ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงให้เราได้กินจานนั้นได้บ่อยๆ เราก็เลยพยายามแกะทำที่บ้าน ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตไม่ได้บูมเหมือนสมัยนี้ เราก็เลยไปตามหาวิธีทำตามร้านหนังสือว่าเขาทำยังไง มีเทคนิคอะไร แล้วก็พยายามมาปรับใช้ที่บ้าน บวกกับรสชาติที่เราเคยทานมา

แล้วรสอะไรที่เด่นชัดที่สุด

จริงๆ ก็คละเคล้ากันไปครับ แต่อย่างรสขมนี่ก็จะบ่อยหน่อย แทบจะตลอดเวลาเลย แต่ทุกๆ อย่างที่เข้ามามันเป็นบทเรียนให้ชีวิตตลอด และผมก็ถือว่ารสขมนี่แหละที่เป็นประสบการณ์ชีวิต ให้เราได้ปรับแก้ไขในเรื่องการดำเนินชีวิตต่างๆ คือทำให้เรารู้ว่าถ้าหากเราใส่ส่วนผสมนี้เข้าไปมันจะเป็นรสขม ในอนาคตเราก็พยายามเลี่ยงๆ และปรุงรสให้มันอร่อยยิ่งขึ้นครับ

การที่ได้เข้าแข่งขัน MasterChef Thailand Season 2 นั้นให้รสชาติแบบไหนกับเรา

ครบรสเลยครับ ช่วงแรกๆ คงสังเกตได้ว่ามันเป็นรสขม ด้วยความที่เรายังไม่รู้จักกับคนมากมาย และมั่นใจกับการทำอาหารพอสมควร พอเจอบรรยากาศการทำอาหาร ได้เจอคนเยอะแยะมากมาย ช่วงแรกก็เลยขมครับ รู้สึกดาวน์ไปช่วงหนึ่งเลย เพราะรู้สึกว่าเราทำอาหารไม่ค่อยได้ดีเท่าไร

ดูเหมือนว่าเส้นทางด้านการทำอาหารจะไปได้ดี แล้วแบบนี้จะยังเป็นหมออยู่มั้ย

ยังทำอาชีพหมอแน่นอนครับ เพราะเราอยากนำความรู้ด้านอาหารผนวกกับความรู้ด้านการแพทย์ แล้วทำให้มันออกมาเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เราเลยตั้งใจว่าเราจะเผยแพร่ความรู้ตรงนี้ให้แพร่หลายมากขึ้น ให้คนหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งในแง่อาหาร และอาจขยายไปเรื่องออกกำลังกายด้วยในอนาคต

ทำไมถึงอยากผนวกรวมศาสตร์ด้านอาหารกับการแพทย์

มันเป็นจุดประสงค์เดียวกับที่เข้ามาสมัครมาสเตอร์เชฟนี่แหละครับ คือเราตรวจคนไข้ไปเรื่อยๆ แล้วเนี่ย ส่วนใหญ่ 70-80% ที่เข้ามาตรวจจะเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคพวกนี้จะเกิดขึ้นจากการกิน และไลฟ์สไตล์เป็นส่วนใหญ่ คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาหาก็จะคุมน้ำตาล ไขมันไม่ค่อยได้ เราก็พยายามอธิบายเรื่องการทานอาหารการออกกำลังกายให้กับคนไข้ไป ปรากฏว่าพอเขากลับมาตรวจกับเรา ก็ยังคุมไม่ได้อยู่ดี สาเหตุส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะว่า หนึ่งอาจจะเป็นเพราะภาษาที่เราใช้มันก็เป็นทางการหรือว่ามันเป็นวิชาการไปหน่อย เขาก็เลยเข้าใจยาก สองการปฏิบัติตัวตาม เขาอาจจะรู้สึกว่ามันยาก เขาเลยไม่ทำ

นั่นเลยทำให้เราเริ่มแนวคิดเรื่องตำราอาหารสุขภาพเลยมั้ย

ใช่ครับ คือมีช่วงหนึ่งที่ผมไปนั่งรีเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตเลยว่า มันเคยมีการเขียนบทความอะไรพวกนี้ขึ้นมาหรือยัง เพื่อที่เราจะได้พรินต์แล้วเอาไปให้เขาดูเลยว่าวิธีการทำง่ายๆ มันเป็นยังไง ปรากฏว่าเสิร์ชปุ๊บ ขนาดเราเป็นหมอ เรายังเสิร์ชไม่เจอเลย แต่ตอนผมไป Elective ต่างประเทศ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายมาก เราก็เลยมีความตั้งใจแล้วแหละว่าเราอยากทำอะไรที่เป็นบทความที่คนจะเข้าถึงได้ง่ายๆ ครับ


ก็เลยเกิดเป็นเพจ Eat Matters ขึ้นมา?

ใช่ครับ เนื่องจากว่านิสัยคนไทยอาจจะไม่ได้สนใจในด้านวิชาการลึกขนาดนั้น เราก็เลยพยายามจะปรับให้มันเข้ากับวิถีคนไทยก็คือ อาจจะทำเป็นสูตรอาหารง่ายๆ เลย แล้วเราคำนวณทั้งหมดมาให้ สารอาหารทั้งหมดหรือพลังงานทั้งหมดที่เขาต้องกิน แล้วเรากำหนดให้เลยว่า ต้องปรุงแบบนี้ ใช้วัตถุดิบแบบไหน เขาก็จะง่ายกับการใช้ชีวิตมากขึ้นครับ

ฝากคำแนะนำในฐานะหมอและเชฟ

ผมอยากบอกกับทุกๆ คนว่า การที่เราจะรูปร่างดีได้ ไม่ได้มาจากการอดอาหารนะครับ ต้องเข้าใจก่อนว่า การที่เราจะผอมลงได้ ต้องมีการบาลานซ์กันระหว่าง input หรือสิ่งที่เรากินเข้าไป กับ output หรือการใช้พลังงาน ซึ่ง output ก็แบ่งเป็นสองส่วน คือการใช้พลังงานพื้นฐานของร่างกายเรา (BMR) อีกส่วนหนึ่งคือกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น การออกกำลังกาย หรือการทำงานที่ใช้แรงเยอะๆ พอเป็นแบบนี้คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าถ้าเราลด input ลง แล้ว output เท่าเดิม เราก็จะผอมลง แต่ในความเป็นจริง เราจะผอมลงอยู่ช่วงเดียว เพราะพอถึงจุดจุดหนึ่งร่างกายเราฉลาดพอที่จะเริ่มปรับพลังงานสู้กับอาหารที่เราอดไป จนตอนหลังกินเท่าเดิมแล้วน้ำหนักมันจะขึ้นอีก เรียกว่าโยโย่เอฟเฟ็กต์ ก็จะยิ่งทำให้การทานอาหารและการใช้ชีวิตของเรายิ่งทรมาน

สิ่งที่ผมแนะนำก็คือ ควรทำควบคู่ไปทั้งการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ต้องใช้การจำกัดอาหาร กินให้อิ่ม แต่ว่าเลือกกินให้ถูกต้อง แล้วก็ออกกำลังกายให้เพียงพอ น้ำหนักเราก็จะลดลง แล้วสุขภาพเราก็จะดีด้วยครับ