หรือ ‘ครูตอง วันชิน’ นักกีฬาและโค้ชฝึกสอน MMA จะมาบอกเล่าถึงศิลปะการต่อสู้พร้อมเส้นทางไฟเตอร์ของตัวเองให้เราได้เห็นโลกแห่งความตื่นเต้นของกีฬาชนิดนี้ไปด้วยกัน

“ในความเจ็บปวด มันก็เหมือนค้อนที่ตอกที่หล่อหลอมให้เราเรียนรู้ อดทน และทุ่มเทกับมัน แล้วกว่าเราจะสร้างตัวตนขึ้นมาได้ เราจะรู้ว่าความเจ็บปวดที่ได้รับมันมีมากแค่ไหน แล้วพอเราได้รับ เราอยากจะเอาของมีค่าชิ้นนี้ไปใช้ยังไงในชีวิต”




“เมื่อก่อนที่ฝึกมาแค่นิดๆ หน่อยๆ ผมก็รู้สึกว่าอยากจะใช้ อยากจะลองสู้ดูว่าเราเจ๋งมั้ย…ตอนนี้กลับรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างนั้น เราสามารถปล่อยผ่านไปได้ง่ายขึ้น อันนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่มากที่สุดที่ MMA ให้กับผมเลยก็ว่าได้”


เมื่อฝึกมามากพอ คุณจะไม่อยาก ‘ลองของ’

มีคนบอกว่า คนเราเมื่อมีอะไรเต็มเปี่ยมแล้ว ก็จะไม่ต้องแสวงหา ผมรู้สึกว่าผมฝึกและมีฝีมือในระดับหนึ่งแล้ว และมีพื้นที่ให้แสดงออก ให้ทำประโยชน์กับประเทศชาติ ให้คนรุ่นหลังที่สนใจกีฬานี้ ผมเลยรู้สึกว่า มันไม่จำเป็นต้องแสดงวิชาเหล่านี้ในพื้นที่ที่ไม่มีประโยชน์ อย่างข้างถนน ในบาร์ หรือในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อก่อนที่ฝึกมาแค่นิดๆ หน่อยๆ ผมก็รู้สึกว่าอยากจะใช้ อยากจะลองสู้ดูว่าเราเจ๋งมั้ย คนมาหาเรื่องก็อยากจะลองสวนเลย ตอนนี้กลับรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างนั้น เราสามารถปล่อยผ่านไปได้ง่ายขึ้น อันนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่มากที่สุดที่ MMA ให้กับผมเลยก็ว่าได้

สิ่งที่เหนือกว่าความเจ็บปวดทางกายและทางใจ ในการก้าวเข้าสู่สังเวียน MMA

เวลาแข่งหรือซ้อมแล้วเจ็บ ให้ลองคิดถึงเวลาเราไปนวด เราโดนกดโดนบีบ ยิ่งแรงยิ่งเจ็บยิ่งทรมาน แต่พอคลายปุ๊บ ร่างกายแล้วสบายขึ้น ดีขึ้น เคลื่อนไหวคล่องตัวมากขึ้น มันเหมือนกันน่ะครับ ในความเจ็บปวด มันก็เหมือนค้อนที่ตอกที่หล่อหลอมให้เราเรียนรู้ อดทน และทุ่มเทกับมัน แล้วกว่าเราจะสร้างตัวตนขึ้นมาได้ เราจะรู้ว่าความเจ็บปวดที่ได้รับมันมีมากแค่ไหน แล้วพอเราได้รับ เราอยากจะเอาของมีค่าชิ้นนี้ไปใช้ยังไงในชีวิต จริงๆ เราบอกตรงๆ ไม่ได้หรอกว่า ความเจ็บปวดจากสิ่งนี้มันให้อะไร แต่เราจะเริ่มรู้ว่า เราจะนำผลผลิตจากความเจ็บปวดเหล่านี้ไปทำอะไรมากกว่า


เข้าใจวิถีการไฟต์ในสไตล์ ‘MMA’

MMA เป็นกีฬาต่อสู้รูปแบบผสมผสาน ที่เปิดโอกาสให้ทุกกีฬาต่อสู้มือเปล่าสามารถมาสู้กันได้ในกติกาที่ยุติธรรมที่สุดครับ คือจะเปิดให้ใช้อาวุธทุกอย่างทั้งหมัด เท้า เข่า ศอก ทุ่มลงไปที่พื้น แล้วก็ยังสามารถตามไปชกต่อยต่อได้ หรือแม้แต่การรัดคอ หักแขน หักขาก็ทำได้ครับ เหมือนจะฟังดูโหดร้าย แต่จริงๆ ก็จะมีกติกาที่คอยควบคุมไม่ให้มันรุนแรงเกินไปอยู่อย่างการห้ามจิ้มตา ห้ามแทงคอหอย ห้ามโจมตีจุดซ่อนเร้น ไปจนถึงห้ามโจมตีแนวกระดูกสันหลัง ทั้งหมดนี้เพื่อความปลอดภัย สมมุติเขาก้มหลังอยู่ เราจะมาจามศอกลงไปกลางกระดูกสันหลังเนี่ยก็อันตรายและสร้างความเจ็บปวดระยะยาว หรือบางอย่างก็แล้วแต่องค์กร เช่นเมื่อนอนลงไปแล้วบางองค์กรก็ห้ามเตะหรือเข่าที่ศีรษะซ้ำ แล้วแต่ว่าองค์กรไหนจะเป็นผู้จัดครับ

ย้อนรอยการต่อสู้ข้ามสายพันธุ์ เมื่อมวยปล้ำพบมวยสากล

ถ้าพูดถึงที่มาของ MMA แล้ว ตั้งแต่ยุคเก่าๆ ถ้าเรานึกดีๆ มันจะมีการต่อสู้ข้ามสายพันธุ์ เช่น ‘มูฮัมมัด อาลี’ เคยชกกับนักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่น ‘อันโตนิโอ อิโนกิ’ คราวนี้กติกามันก็หาจุดลงตัวไม่ได้ตรงที่ว่า อาลีก็ใส่นวมใส่รองเท้าแบบมวยสากล ส่วนนักมวยปล้ำก็ใส่กางเกงตัวเดียว คนหนึ่งก็จะนอนสู้อย่างเดียว อีกคนก็ไม่ยอมลงไปนอน ก็หากติกาที่ลงตัวไม่ได้ หรือแม้แต่นักสู้ชาวไทยของเราก็มีอย่าง ‘น้องตุ้ม ปริญญา’ ที่เคยไปชกข้ามสายพันธุ์กับนักมวยปล้ำหญิงชาวญี่ปุ่น ตอนนั้นก็หากติกาที่ลงตัวไม่ได้เหมือนกัน และยังมีการจัดการแข่งขันแบบนี้อีกทั่วโลก เลยมีการคิดกันว่า ควรมีกติกากลางที่จะให้ทุกการต่อสู้มาสู้กันอย่างแฟร์ๆ และได้เห็นการต่อสู้ที่ต่างกัน คือปกติมวยก็ต้องสู้กับมวย เทควันโดก็สู้กับเทควันโด แต่ถ้ามวยกับซูโม่อยากจะเจอกัน กติกาแบบไหนจะแฟร์ที่สุด บวกกับทางตะวันตกในประเทศบราซิลมีการแข่งขันประเภทนี้อยู่แล้ว เรียกว่า ‘Vale Tudo’ ที่แปลว่า ทำอะไรก็ได้ ซึ่งก็เปิดให้ทำอะไรก็ได้จริงๆ ไม่ใส่นวมด้วย พอการต่อสู้แบบ Vale Tudo มาโด่งดังในอเมริกา ก็เกิดการสร้างกติกาที่เป็นกลางมาตรฐานขึ้นมา มีการใส่นวม มีการกำหนดกติกาที่ปลอดภัย ก็เลยมีการตั้งชื่อที่เป็นทางการขึ้นมาว่า ‘Mix Martial Arts (MMA)’ ซึ่งแพร่หลายทั้งในตะวันตกและตะวันออกครับ


“ไทยเราเป็นแหล่งฝึก MMA ที่ดังมากมาเกือบจะสิบปีแล้วนะครับ อย่างภูเก็ตนี่มีค่าย MMA อยู่สามค่ายที่เป็นค่ายใหญ่ และทั้งหมดติดอันดับท็อป 10 ของโลกเลย”

MMA ในประเทศไทย ใหม่…แต่ดี

ถ้าพูดถึงความนิยมของ MMA ในไทยก็ถือว่ายังใหม่มากๆ เพราะบ้านเราอาจจะยังชินกับการดูกีฬาประเภทมวยไทย มวยสากล หรือกีฬาต่อสู้มาตรฐานแบบโอลิมปิกมากกว่า แต่จริงๆ แล้วสถานที่ที่ฝึก MMA ในไทยมีเยอะพอสมควรครับ พูดได้ว่าไทยเราเป็นแหล่งฝึก MMA ที่ดังมากมาเกือบจะสิบปีแล้วนะครับ อย่างภูเก็ตนี่มีค่าย MMA อยู่สามค่ายที่เป็นค่ายใหญ่ และทั้งหมดติดอันดับท็อป 10 ของโลกเลย ในจังหวัดอื่นๆ เช่นอุบลราชธานี เชียงใหม่ ก็มีค่าย MMA ที่ชาวต่างชาติไปตั้งรกรากและเริ่มจัดทำค่ายจริงจังมากขึ้น และในตอนนี้กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีค่าย MMA มากขึ้น ทั้งสอนให้กับนักกีฬา MMA และบุคคลทั่วไปเลยครับ


เวทีแรกของ MMA ในประเทศไทย

การแข่งขัน MMA ในไทยมีมานานแล้วครับ แต่ที่เป็นจริงเป็นจังโด่งดังมากก็จะเป็นช่วงปี 2008 ที่สนามมวยอัศวินดำ ซึ่งกลุ่มผู้สนใจกีฬา MMA รวมตัวกันแล้วก็จัดการแข่งขันระดับสมัครเล่นขึ้นมา แล้วก็มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันให้ปลอดภัย ตรงตามมาตรฐานสากลมากเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มีการจัดแข่งขันในระดับอาชีพช่วงปี 2011 ครับ

ทุกคนสามารถฝึก MMA และได้อะไรมากกว่าการต่อสู้

สำหรับคนที่สนใจ MMA ผมบอกได้เลยว่า MMA เป็นกีฬาต่อสู้ที่คล้ายการต่อสู้จริงที่สุด แต่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้ตอนนี้ครับ ถ้าคุณมาฝึก MMA คุณจะรู้ว่าต้องป้องกันตัวยังไง คุณจะรู้ว่าการต่อสู้จริงจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก หรือผู้สูงอายุ ก็จะเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวได้มากขึ้นแล้วก็มีสุขภาพที่ดีขึ้น สำหรับคนที่สนใจในเส้นทางของกีฬา MMA ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีทักษะการต่อสู้แบบไหน หรืออยากจะเริ่มจากการต่อสู้แบบไหน ถ้าคุณเข้ามาใน MMA มันจะเปิดโอกาสให้คุณใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้ลองค้นพบตัวเองได้เต็มที่ในเส้นทางการต่อสู้ครับ

สำหรับใครที่สนใจเรียน MMA ในกรุงเทพฯ ก็มีหลายแห่งเปิดสอน ลองสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกันได้เลย

•Bangkok Fight Labซอยสุขุมวิท 50 (https://www.bangkokfightlab.com)
•JittiGym ซอยโชคชัยร่วมมิตร แยก 29 (https://www.facebook.com/JittiGym/)
•Bigfoot Brazilian JiuJitsu Bangkok พระราม 4 (https://www.facebook.com/bigfootbjjbkk/)
•ZendokaiShingi Dojo มีหลายสาขา เช่น พระโขนง, ทองหล่อ, พร้อมพงษ์ (http://shingi-gym.com/)
•Master Thong Muaythai Gym ซอยอ่อนนุช 17 (https://www.facebook.com/MTmuaythai/)
•Elite Fight Club, Bangkok ซอยสุขุมวิท 30/1 (https://www.facebook.com/ebfightclub/)