“ทุกคนเคยวาดรูปครับ วิชาศิลปะเด็กๆทุกคนต้องเรียน เพียงแต่ว่าพอถึงช่วงเวลาหนึ่งทุกคนจะหยุดกันไป เพียงแต่ผมไม่หยุด ผมวาดรูปมาตลอด แล้ววันหนึ่งมันก็เลยกลายเป็นอาชีพ”

หลายคนน่าจะเคยมีโอกาสได้ไปเยือนถนนพระอาทิตย์ ถนนเก่าแก่แห่งมหานครกรุงเทพ นอกจากใกล้สถานที่สำคัญหลายๆแห่งทั้งป้อมพระสุเมรุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือตรอกข้าวสาร ยังเต็มไปด้วยร้านอาหารอร่อย และน่านั่งหลายร้าน แล้วแต่ไลฟ์สไตล์และแนวที่ชอบของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร

แต่ถ้าใครมาแล้วยังไม่รู้ว่าร้านไหนน่าสนใจอยากขอแนะนำร้าน ‘ครัวนพรัตน์’ ร้านอาหารเล็กๆที่อยู่บริเวณหัวมุมโค้งป้อมพระสุเมรุ ที่นอกจากรสชาติอาหารจะอร่อยถูกปากทั้งชาวไทยและต่างชาติแล้ว เรายังจะเพลิดเพลินกับงานจิตรกรรมที่สวยงามตระการตา ที่เป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากจิตรกรดาวโรจน์อย่าง ‘พัทธ์ ยิ่งเจริญ’ หนุ่มน้อยจิตรกรไฟแรงที่ทั้งวาดภาพสวย ทั้งมีทัศนคติสวยๆและน่าสนใจ เพราะเขาบอกกับเราว่าเขากำลังพิสูจน์ว่าเขาคือ ‘จิตรกรมืออาชีพ’ ให้โลกใบนี้ได้เห็นอยู่ในทุกวันนี้


แนะนำตัวพัทธ์ ยิ่งเจริญ

‘พัทธ์ ยิ่งเจริญ’ครับ อายุ 25 ปีย่าง 26 ปี อาชีพศิลปินอิสระ และมีอาชีพเสริมเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยศิลปากรครับ

เดินทางไหนถึงได้เป็นจิตรกร

ผมวาดรูปเก่ง ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ก็มองว่าอยากทำอาชีพเกี่ยวกับศิลปะ เพียงแต่ว่าตอนเด็กๆยังไม่รู้หรอกว่ามีอาชีพจิตรกร หรือจิตรกรมันเป็นยังไง มองแค่ว่าศิลปะที่มันเป็นอาชีพได้ มันมีอะไรบ้าง สถาปนิกหรือมันฑณศิลป์อะไรพวกนี้ตั้งใจแต่เด็กแล้วล่ะครับว่าเราจะดำรงชีพด้วยศิลปะ พอโตมาก็โฟกัสไปที่ด้านศิลปะเต็มตัวเลย แม้ว่าที่บ้านจะมีเปรยอยู่บ้างว่าอยากให้เรียนสายวิทย์ อยากให้เป็นหมอ อะไรเหล่านั้น แต่มันเหมือนมีภาพใหญ่ในใจเราอยู่ประมาณหนึ่งแล้วว่าเราอยากเรียนสายจิตรกร เรียนสายสามัญมาจนจบม.6 แล้วก็สอบเข้าคณะจิตรกรรมแบบที่ไม่ได้เลือกทางเลือกอื่นไว้เลยแล้วก็สอบติดจนเรียนจบ ก็ได้เป็นจิตรกรเลย เพราะบังเอิญได้เซ็นสัญญากับห้องจัดแสดงภาพที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน จากนั้นได้รับการทาบทามจากอาจารย์ที่สอนที่คณะตั้งแต่เรียนจบเลยได้เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยด้วยอาจจะมีไปทำงานดีไซน์บ้าง ไปช่วยทำลายเสื้อ ไปออกแบบบ้าน แต่ว่ามันก็จะเป็นงานที่เรารับเป็นจ๊อบๆเพื่อเพิ่มประสบการณ์มากกว่า สุดท้ายเราก็เลือกสายงานจิตรกรที่เราเดินทางมาตลอดเช่นเคย

เทคนิคจิตรกรรมด้านไหนที่ถนัดที่สุด

ที่ถนัดที่สุดจะเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันเพราะใช้อยู่ด้วยในปัจจุบัน แต่ในการเรียนจิตรกรรมเราต้องเรียนทุกอย่างทั้งหมดมาก่อน เพราะฉะนั้นก็จะสามารถทำได้ทุกๆเทคนิคที่ใช้เยอะที่สุดจะเป็นสีน้ำมันกับอะคริลิคดรอว์อิ้งมีบ้างแต่ไม่เยอะเท่าไหร่ ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำงานมากกว่า เช่นเก็บข้อมูล เก็บรายละเอียด เพราะงานจริงๆที่ใช้จะเป็นสีน้ำมันเป็นหลัก


ที่มาของพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในร้านครัวนพรัตน์

ตอนเปิดร้าน (ครัวนพรัตน์) เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตพอดี ก็เลยตกแต่งร้านด้วยธีมนั้น แล้วมีความคิดว่าอยากเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ตลอดช่วงปีนั้น เพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยเขียนเลยครับ ตอนเปิดร้านเราคิดว่าจะทำชั้นล่างกับชั้นสองเป็นที่จัดแสดงภาพแบบหมุนเวียน เป็นการผสมกันระหว่างร้านอาหารกับห้องแสดงภาพ ปีแรกเราก็ชวนพี่ๆน้องๆที่รู้จักกันมาร่วมแสดงงาน พอพ้นปีแรกไปแล้วผมเองก็ค่อนข้างยุ่ง ทั้งงานที่มหาวิทยาลัย และงานที่ห้องแสดงภาพอื่นๆ เลยไม่ได้มีเวลาเข้ามาดู ไม่ได้หมุนเวียนภาพในร้าน พอหมดปีหนึ่ง ผมเลยคืนงานที่เอามาหมุนเวียนให้เจ้าของเขากลับไป แล้วผมมาแต่งผนังอีกฝั่งเอง เพราะไอเดียเก่ามันยุ่งยากเกินไป เราไม่มีเวลามาดูแลตรงนี้ เลยวาดภาพถาวรขึ้นมาอีกฝั่งหนึ่ง ที่เหลือก็เอางานเก่าๆของตัวเองมาตกแต่งไว้มีคนถามถึงภาพในหลวงพอสมควรครับ ทั้งคนที่ผ่านไปผ่านมา ลูกค้าใหม่ ลูกค้าประจำ จนกระทั่งนิตยสารหรือสื่อออนไลน์ต่างๆให้ความสนใจในช่วงปีสองปีแรก พอหลังจากช่วงปีสองปีแรกก็ยังมีให้ความสนใจมาเรื่อยๆครับ เพียงแต่ว่าช่วงหลังผมไม่ค่อยได้อยู่ที่ร้าน

ความโดดเด่นในงานจิตรกรรมของตัวเองคืออะไร

ในการสร้างสรรค์งานที่เอาไว้จัดแสดงตามงานต่างๆ ความโดดเด่นของผมมันอาจจะอยู่ที่การใช้เนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์มาอ้างอิง ซึ่งมีค่อนข้างเยอะพอสมควร การผสมเรื่องราวเกี่ยวกับปกรณัมต่างๆ ประวัติศาสตร์ พระคัมภีร์ รวมถึงเรื่องราวร่วมสมัยเข้าด้วยกัน แล้วเล่าออกมา เป็นคนชอบเรื่องเก่าแก่ ชอบเรื่องประวัติศาสตร์พวกนี้ครับ ก็เลยมีกลิ่นพวกนี้อยู่ในงานของเรา


คิดว่าอะไรคือลายเซ็นในงานจิตรกรรมของตัวเอง

ผมคิดว่ามันคือ ‘ความตรง’ งานของผมส่วนใหญ่จะเป็นการวิพากษ์แบบไม่อ้อมค้อมเท่าไหร่ เป็นเชิงเปรียบเทียบแต่ไม่ได้แรงขนาดถึงขั้นรับไม่ได้ ไม่ได้เขียนภาพประวัติศาสตร์แบบสวยๆงามๆอย่างเดียว แต่เราเลือกเขียนภาพประวัติศาสตร์ที่ตรงแล้วก็มีเรื่องราวที่ดูเหมือนมีความรุนแรง แต่ไม่ได้ถึงขนาดที่จะดูไม่ได้อะไรขนาดนั้น มันจะมีความมืดมนหน่อยๆอยู่ในงาน มีความดาร์คนิดๆ แต่ไม่ได้ถึงขั้นด่ากราด มันเป็นทัศนคติของผมเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่ผมแสดงมันออกมาผ่านงานศิลปะของตัวเองงานของผมผมจะใช้การหยิบยืมภาพจากประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แล้วมาใช้ เช่น ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ ภาพเขียนในอดีต แล้วเอามาประกอบเข้ากันใหม่ ในทางศิลปะจะใช้คำว่า Appropriation artที่เป็นการค้นเข้าไปในกล่องข้อมูลในอดีตแล้วไปนำข้อมูลมาใช้ ผมจะใช้เรื่องที่มีอยู่แล้วมาประกอบกันในแนวทางของผมเอง

งานแบบไหนที่เราไม่เคยคิดจะสร้างสรรค์ขึ้นมาเลย

ถ้าเป็นการว่าจ้าง ถ้าคุยกันรู้เรื่องทั้งผู้จ้างและตัวผมเองก็โอเค ผมสามารถทำให้ได้ในทุกๆขอบเขตนะครับ เพราะผมเองก็เคยทำงานมาทุกอย่างแล้ว ตั้งแต่ภาพเหมือน ภาพทางศาสนา ภาพต่างๆนานา แต่งานที่จะไม่รับส่วนใหญ่คืองานที่ผู้จ้างมีทัศนคติไม่ตรงกับตัวเราเช่น มีทัศนคติเกี่ยวกับศาสนาที่เราไม่เห็นด้วย เราก็จะไม่เอา หรือถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ถ้ามีทัศนคติแบบสุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งแล้วเรารู้สึกว่ามันเกินไป เราไม่ได้มีความคิดแบบนั้น เราก็จะไม่ทำ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นงานที่ผมคิดเอง ผมจะไม่ทำเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ผมไม่ค่อยวาดภาพเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ไม่ใช่ผมไม่สนใจนะแต่ผมไม่มีประเด็นอะไรที่จะวิพากษ์อยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่ในบริบทแบบนั้น เราไม่ไปแตะเราก็โอเคอยู่แล้ว บางทีมันหาสัญญะหรือท่าทีในการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ยากพอสมควร เพราะศาสนาพุทธในไทยเราจะมีขอบเขตในการพูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างแคบ พอสื่อสารไปแล้วอาจเกิดปัญหา ผมเลยคิดว่าเรื่องแบบนี้เลี่ยงได้เลี่ยงดีกว่า หรือเรื่องที่มันเป็นการเมืองแบบสุดโต่งก็จะเลี่ยงเหมือนกัน แต่ไม่ถึงขั้นไม่พูดเลย แต่จะใช้วิธีการอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบแฝงเอาไว้ในงานของเรามากกว่า

เคยเจอผลกระทบเกี่ยวกับงานของตัวเองบ้างไหม

มีบ้างแต่น้อยครับ ที่เจอในการแสดงงานส่วนใหญ่ เป็นเรื่องการตีความคนละแบบกันกับที่เราคิดหรือสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไป ผมเคยโดนชายผิวสีคนหนึ่งเดินมาคุยกับผมในงานแสดงภาพว่าเขาคิดว่างานของผมคืองานเหยียดผิว เพราะผมเขียนภาพประติมากรรมกรีกที่เป็นคนผิวขาว ทำให้เขาไม่สบายใจ เพราะเราเป็นเอเชียที่ไปวาดภาพเกี่ยวกับประติมากรรมกรีก เพราะเขามองว่าประติมากรรมกรีกนั้นจริงๆแล้วพูดถึงความหลากหลายของชนชาติมากกว่าการจะพูดถึงแต่คนผิวขาว จะเป็นเรื่องเข้าใจผิดมากกว่า แต่ไม่เคยเจอที่แบบขัดแย้ง ไม่เห็นด้วยกับงานของเราแบบตรงข้ามเลยอันนี้ยังไม่เคยมีครับ อาจเพราะเราอ่านประวัติศาสตร์ ทัศนคติ หรือกรอบความคิดทางสังคมมาเยอะอันไหนหลีกเลี่ยงได้เราก็หลีกเลี่ยง เราเข้าใจว่าบางเรื่องเมื่อถูกพูดถึงในที่สาธารณะการตีความของคนที่มีความเชื่อต่างกันมันอาจจะส่งผลที่มันรุนแรงได้


นอกจากศึกษาศิลปะแล้ว เรายังศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมด้วย?

งานรองของผมที่เป็นงานสอน ผมก็สอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จิตรกรรม แล้วก็เทคนิคจิตรกรรมโบราณด้วยครับ คือถ้าไม่ได้เป็นจิตรกร ผมว่าทางที่ผมชอบอีกทางคือเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ผมจะชอบเกี่ยวกับความคิดเชิงปรัชญาสังคม หรือด้านประวัติศาสตร์ แต่มันก็ยังอยู่ในสาย comparative art (ศิลปะเชิงเปรียบเทียบ)สุดท้ายมันจะย้อนกลับไปเริ่มต้นที่ศิลปะอยู่ดีครับ เพราะศิลปะที่ผมชอบมันเป็นศิลปะโบราณ แล้วจิตรกรโบราณเค้าไม่ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับตัวเขา เขาเขียนเรื่องเกี่ยวกับปกรณัม ศาสนา อะไรพวกนี้มากกว่า เวลาเราเห็นเราจะอยากเข้าใจงานชิ้นนั้นๆที่เราชอบ เราก็ต้องเข้าใจในเนื้อหาที่เขาสื่อออกมา กลายเป็นที่มาให้เราต้องย้อนกลับไปอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องที่เขาพยายามจะสื่อสาร รวมทั้งบริบทเกี่ยวกับตัวเขาด้วย มันเลยกลายเป็นว่าเราอ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ ที่สุดท้ายต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆ เช่น ปริภูมิของประวัติศาสตร์ วรรณคดี วรรณกรรม ต่างๆ นานา

งานศิลป์ระดับโลกที่เป็นแรงบันดาลใจ

มันเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงอายุครับ แต่ละช่วงมีจิตรกรที่ผมจะชอบมากๆ เช่นตอนเด็กๆจะเป็น William-Adolphe Bouguereau เป็นชาวฝรั่งเศส คนนี้เป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็กเลย งานของเค้าจะสวยมากแต่อาจจะไม่ได้ลึกซึ้งเท่าไหร่ จะเน้นทักษะที่สูงมาก พอโตมาอีกหน่อยผมจะชอบย้อนกลับไปอีกเช่นงานของ venetian school, Titian หรือ Tintorettoแล้วศิลปินร่วมสมัยที่ชอบก็มีหลายคนครับทั้งสายประติมากรรม หรือสาย painting อย่าง Francis baconมันเหมือนการกินอาหารครับ เราอาจจะชอบหลายๆเมนู แต่ละช่วงแต่ละเมนูเราก็จะมีการชอบที่ไม่เหมือนกัน บางทีเราชอบรสเปรี้ยว บางอย่างเราชอบรสกลมกล่อม ศิลปะก็จะคล้ายๆ กันครับ


ในฐานะจิตรกรมองสังคมไทยกับศิลปะไปในทิศทางใด

สำหรับผมมองว่ามันอยู่ที่มุมมองของคำว่าศิลปะ มากกว่าการที่เราจะมองว่าอะไรเป็นศิลปะ หรืออะไรไม่เป็น ทีนี้ถ้าเราตีความศิลปะแคบๆว่ามันคือผลงานที่แสดงในห้องแสดงภาพที่เป็นบริบทของศิลปะเท่านั้น มันก็จะมีท่าทีเฉพาะที่เหมือนกับว่าเราต้องเข้าไปทำความเข้าใจมัน แต่ถ้าเกิดว่าเรามองว่างานศิลปะเป็นเรื่องของความกระหายในการสร้างสรรค์ ถ้าเราไม่ได้แบ่งแยกว่าศิลปะเป็นพื้นที่เฉพาะ ผมว่ามันก็ไม่ได้ยากในการที่จะทำความเข้าใจ ศิลปะจริงๆแล้วมันคล้ายๆกับการสื่อสารด้วยไวยากรณ์หนึ่ง หรือรูปแบบภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้นเอง เวลาเราเข้าไปในห้องแสดงภาพต่างๆ เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่ามันมีไวยากรณ์เฉพาะ มีภาษาเฉพาะที่เราต้องทำความเข้าใจ การปรับตัวเหล่านี้นั่นแหละครับที่มันต้องใช้การศึกษาทำความเข้าใจ ในลักษณะเดียวกันกับที่เราศึกษาเรื่องมารยาททั่วไปในพื้นที่ทางสังคมต่างๆนั่นแหละครับ แค่ทุกวันนี้เรายังไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจมันมากพอ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราเข้าใจมันยาก โดยเฉพาะงานศิลปะที่มันไม่เกี่ยวกับเรา แต่ถ้าเป็นงานศิลปะที่มันใกล้เคียงกับวัฒนธรรมของเราเอง เราจะเข้าถึงมันง่าย ไม่ใช่ว่าศิลปะจะยากเสมอไป ผมมองว่าศิลปะมันคือภาษาหนึ่งที่ศิลปินใช้สื่อสารกับสังคม

แนวทางอาชีพจิตรกรแบบมืออาชีพ

กรณีของผมมันค่อนข้างจะมีตารางเวลาหรือว่าระเบียบในชีวิตค่อนข้างชัดเจน เพราะผมทำงานกับห้องแสดงภาพที่กำหนดให้ว่าเราต้องแสดงงานปริมาณเท่าไหร่ ในแต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน แต่ละปี ที่ไหนอย่างไรเขาจะจัดการให้เราหมด หน้าที่ของผมมีแค่จัดระเบียบตัวเองให้สามารถทำงานให้ได้คุณภาพและตรงตามเวลาที่เขากำหนดมาให้ ดังนั้นมันจะมีระเบียบการทำงานที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมชัดเจน เราเลยต้องทำงานตามระเบียบนั้น และทำให้มันดีที่สุด อย่างที่ผมบอกแหละครับไม่ว่าเราจะอยากทำหรือไม่อยากทำ ถ้าเรามัวแต่อ้างว่าเราไม่อยากทำ เพราะงานมันจะออกมาไม่ดี เราเลยไม่ทำดีกว่า ให้มองอาชีพอื่นที่เขาไม่สามารถเลือกที่จะไม่ทำเพราะไม่อยากทำได้ อย่างหมอหรือทนายความเขาก็คงไม่อยากผ่าตัดหรือว่าความตลอดเวลา เพียงแต่มันเป็นเงื่อนไขในอาชีพที่เขาประกอบอยู่นั่นเอง เราจะจัดระเบียบตัวเองอย่างไรเพื่อให้งานของเราเสร็จสมบูรณ์ได้ 100% เท่านั้นเองครับ ส่วนเรื่องรายได้นั้นมากน้อยขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละคนครับ ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกัน เอาเป็นว่า ณ ปัจจุบันผมก็มีรายได้ที่ค่อนข้างจะโอเค ขนาดที่ว่าเลี้ยงชีพได้แล้วก็ไม่ได้ลำบากหรือไปทำอาชีพอื่นเสริม

หลักการใช้ชีวิตของอาชีพจิตรกร

ผมคิดว่าจริงๆแล้วมันก็ไม่ใช่แค่จิตรกรหรอกครับ อาจรวมไปถึงอาชีพศิลปิน ที่โดยทั่วไปนั้นเราเป็นนักสื่อสาร เพียงแต่การสื่อสารของเรานั้นใช้ภาษาที่มันแตกต่างออกไปจากคนอื่นแค่นั้นเอง และประเด็นการสื่อสารของเราก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นรูปธรรมมากนัก บางทีมันเป็นประเด็นในเชิงศิลปะ ความงาม ความรู้สึก หรือความจริงในทัศนะของศิลปิน ซึ่งมันอาจไม่ใช่ความจริงทางสังคมเหมือนนักข่าว แล้วเราก็มีหน้าที่ มีขอบเขตในการทำงานค่อนข้างชัดเจน เพราะฉะนั้นสำหรับผม จิตรกรมีพันธะทางอาชีพในการสื่อสารประเด็น สื่อสารความจริงที่เราเชื่อต่อสังคม และเราควรทำหน้าที่ของเราให้ดี


คิดยังไงกับคำว่า ‘ศิลปินเข้าใจยาก’ หรือ ‘ติสต์’

ส่วนตัวผมเองไม่ค่อยถูกทักเรื่องนี้ เพราะผมเป็นจิตรกรที่ไม่ได้แยกตัวเองออกจากคนอื่นๆ ผมอยู่ในสังคมปกติ มีเพื่อนต่างอาชีพ และผมไม่ได้รู้สึกตัวเองแปลกแยกหรือแตกต่างจากใคร เพียงแต่ผมเรียนจบด้านศิลปะมา และผมก็รู้สึกว่าคนที่เรียนกับผมมาก็มีจำนวนน้อยนะที่ดูแปลก ส่วนใหญ่ก็ปกติเหมือนเราๆนี่แหละครับ ผมว่าคำว่า ‘ติสต์’ มันถูกเอาไปใช้แบบตีความกว้างเกินไป แล้วบางครั้งเราจะนิยามสิ่งที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ว่าติสต์ไว้ก่อน อย่างบางคนจะถึงวันแสดงงานทำงานไปได้แค่ครึ่งเดียวและบอกไม่มีอารมณ์ทำ อันนี้ไม่ใช่ติสต์ มันคือไม่มีความรับผิดชอบ ผมว่าเราต้องแยกกันให้ชัด แต่ว่าศิลปะมันก็มีบางแง่มุมครับที่มันเข้าใจยาก บางแง่มุมที่มันเป็นนามธรรมมันไม่สามารถอธิบายได้

ความสุขในอาชีพจิตรกร

จริงๆความสุขในการทำงานของผมมันจะอยู่ที่กระบวนการทำงานมากกว่าครับ ผมอาจจะมีความสุขประมาณหนึ่งเวลาได้เปิดงานแสดงหรือได้จัดแสดงผลงาน แต่ผมกลับรู้สึกว่าความสุขจริงๆของผมมันอยู่ในกระบวนการการทำงานของผมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงของการค้นคว้าหาข้อมูล หรือช่วงที่กำลังทำผลงานแต่ละชิ้นอยู่ มันเหมือนเวลาเราเล่นเกมหรือต่อโมเดล มันเป็นกิจกรรมที่มีกระบวนการยาวๆเป็นระยะเวลา 10 วันหรือ 1 เดือน ช่วงเวลานั้นเราจะลืมทุกอย่างเลย แล้วพอเราทำเสร็จ เราจะรู้สึกอยากทำชิ้นใหม่ เหมือนเราอยากเล่นเกมๆใหม่อีก มันจะมีความสุขกับกระบวนการทำงานไปเรื่อยๆครับ ผมเชื่อว่าความสุขของจิตรกรเกือบทุกคน มันก็น่าจะอยู่ตรงนี้แหละ

จิตรกรฝากถึงจิตรกรในอนาคต

ผมเชื่อว่าคนทุกคนอาจจะมีครอบครัวที่มีอิทธิพลในชีวิตอยู่แล้วส่วนหนึ่งไม่ว่าจะมากจะน้อย เราไม่มีทางเป็นตัวเราเองร้อยเปอร์เซ็นต์ จริงๆแล้วไม่ว่าเราจะชอบอะไรก็แล้วแต่นะครับ พยายามอย่าหยุดทำ เว้นแต่ว่าเราพอใจอยากจะหยุดไปเอง ทุกคนเคยวาดรูปครับ วิชาศิลปะเด็กๆทุกคนต้องเรียน เพียงแต่ว่าพอถึงช่วงเวลาหนึ่งทุกคนจะหยุดกันไป เพียงแต่ผมไม่หยุด ผมวาดรูปมาตลอด แล้ววันหนึ่งมันก็เลยกลายเป็นอาชีพ ผมคิดว่าวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือถ้าเราไม่อยากหยุดทำอะไรก็ตาม ก็พยายามทำมันต่อไป ทำมันไปเรื่อยๆ ทำมันอย่างจริงจัง แล้ววันหนึ่งมันจะกลายเป็นอาชีพได้


ขอบคุณสถานที่: ครัวนพรัตน์